ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 169อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 175อ่านอรรถกถา 25 / 176อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ ทวิธาปถสูตร

               อรรถกถาทวิธาปถสูตร               
               ทวิธาปถสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อทฺธานมคฺคปฏิปนฺโน ได้แก่ เป็นผู้เดินทางระยะยาว คือทางไกล.
               บทว่า นาคสมาเลน ได้แก่ พระเถระผู้มีชื่ออย่างนั้น.
               บทว่า ปจฺฉาสมเณน ได้แก่ ในกาลนั้น พระเถระนี้ได้เป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จดำเนินทาง โดยมีพระนาคสมาละเป็นปัจฉาสมณะ.
               จริงอยู่ ในประถมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้มีอุปัฏฐากประจำนานถึง ๒๐ ปี. หลังจากนั้น จนถึงปรินิพพาน ท่านพระอานนท์ได้อุปัฏฐาก ดุจเงาถึง ๒๕ ปี. แต่กาลนี้ ไม่ใช่มีอุปัฏฐากเป็นประจำ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อายสฺมตา นาคสมาเลน ปจฺฉาสมเณน ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า เทฺวธาปถํ ได้แก่ หนทาง ๒ แพร่ง. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ทฺวิธาปถํ ดังนี้ก็มี.
               ท่านนาคสมาละ เพราะเหตุที่ตนคุ้นกับทางนั้นมาก่อน และเพราะหมายถึงทางนั้นเป็นทางตรง จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ นี้ทาง.
               ก็ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ทางนั้นมีอันตราย จึงมีพระประสงค์จะเสด็จไปทางอื่นจากทางนั้น จึงตรัสว่า นาคสมาละ นี้ทาง. และเมื่อพระองค์ตรัสว่า ทางนี้มีอันตราย จึงไม่เชื่อแล้วพึงทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทางนั้นไม่มีอันตราย การที่ท่านพระนาคสมาละไม่เชื่อแล้วทูลอย่างนั้น จะพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสว่า มีอันตราย.
               ท่านนาคสมาละกราบทูลถึง ๓ ครั้งว่า นี้ทาง เสด็จไปทางนี้เถิด ในครั้งที่ ๔ จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ปรารถนาจะเสด็จไปทางนี้ และทางนี้แหละเป็นทางตรง เอาเถอะ เราจักถวายคืนบาตรและจีวรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เดินไปทางนี้ เมื่อไม่อาจจะมอบบาตรและจีวร ในพระหัตถ์ของพระศาสดาจึงวางไว้ที่พื้น อันกรรมของตนซึ่งเป็นทางแห่งทุกข์ ปรากฏขึ้น ตักเตือนอยู่ มิได้เอื้อเฟื้อพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย จึงหลีกไป.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระนาคสมาละวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่พื้นดิน ในทางนั้นนั่นเอง แล้วหลีกไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภควโต ปตฺตจีวรํ ได้แก่ ซึ่งบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งอยู่ในมือของตน.
               บทว่า ตตฺเถว ความว่า วางไว้ที่พื้นดิน คือบนแผ่นดินในทางนั้นนั่นเองแล้วหลีกไป.
               อธิบายว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นี้บาตรและจีวรของพระองค์ ถ้าพระองค์ปรารถนา ก็จงรับไปเถอะ ถ้าพระองค์ประสงค์จะไปเฉพาะทางที่พระองค์ปรารถนา. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาบาตรและจีวรของพระองค์ด้วยพระองค์เอง เสด็จดำเนินไปสู่ทาง ตามที่ทรงพระประสงค์.
               บทว่า อนฺตรามคฺเค โจรา นิกฺขมิตฺวา ความว่า ได้ยินว่า ในกาลนั้น บุรุษ ๕๐๐ คนเป็นนักเลงมีฝ่ามือเปื้อนเลือด ผิดต่อพระราชา เข้าไปสู่ป่า เลี้ยงชีพด้วยโจรกรรม คิดว่า พวกเราจักตัดทางเจริญของพระราชาโดยความเป็นข้าศึกต่อกัน ดังนี้แล้ว จึงซุ่มอยู่ในป่าใกล้หนทาง.
               บุรุษเหล่านั้นเห็นพระเถระกำลังเดินทางไป จึงคิดว่า สมณะนี้มาทางนี้ ใช้หนทางที่ไม่สมควรจะใช้ ไม่รู้ว่าเป็นของเรา เอาเถอะ เราจักให้ท่านรู้ ดังนี้แล้วโกรธ รีบออกจากพงป่าตบเตะพระเถระให้ล้มลงที่พื้นดินโดยเร็ว แล้วทุบบาตรดินของท่าน ฉีกจีวรให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ เพราะเห็นว่าเป็นบรรพชิต จึงปล่อยไปด้วยสั่งว่า พวกเราจะยังไม่ฆ่าท่าน ตั้งแต่นี้ต่อไป ท่านจงรู้ว่า หนทางนี้มีอันตราย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข อายสฺมโต ฯเปฯ วิปฺผาเลสุํ ดังนี้เป็นต้น.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระนาคสมาละนี้ไปทางนั้น ถูกโจรเบียดเบียนแสวงหาเรา จักมาในบัดเดี๋ยวนี้แล ดังนี้แล้ว เสด็จไปหน่อยหนึ่ง แวะลงจากทางประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง. ฝ่ายท่านนาคสมาละแลย้อนกลับมา ยึดเอาหนทางที่พระศาสดาเสด็จไปนั่นแล กำลังเดินไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้าที่โคนไม้นั้น จึงเข้าไปเฝ้าแล้วถวายบังคม กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข อายสฺมา นาคสมาโล ฯเปฯ สงฺฆาฏิญฺจ วิปฺผาเลสุํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบว่าท่าน พระนาคสมาละไม่เอื้อเฟื้อต่อคำของพระองค์แล้ว เดินไปยังทางที่ไม่ปลอดภัย และทรงทราบว่า พระองค์ดำเนินไปยังทางที่ปลอดภัยนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงความนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธึ จรํ แปลว่า เที่ยวไปร่วมกัน.
               บทว่า เอกโต วสํ นี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า สทฺธึ จรํ นั้นนั่นแล. อธิบายว่า อยู่ร่วมกัน.
               บทว่า มิสฺโส อญฺญชเนน เวทคู ความว่า ชื่อว่าถึงเวท เพราะถึงคือบรรลุ ด้วยอริยมรรคญาณคือสัจจะ ๔ กล่าวคือเวท เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงรู้ หรือเพราะถึงฝั่งแห่งเวท คือไญยธรรมทั้งสิ้น. ชื่อว่าผู้ไม่รู้ เพราะไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ของตน. อธิบายว่า ผู้ไม่รู้ คือคนเขลา. เป็นผู้ปะปนด้วยคนไม่รู้นั้น คือปะปนโดยเหตุเพียงเที่ยวไปร่วมกัน.
               บทว่า วิทิตฺวา ปชหาติ ปาปกํ ความว่า ผู้รู้คือทราบโดยภาวะที่ถึงเวทนั้น ย่อมละสิ่งชั่ว คือสิ่งไม่เจริญ ได้แก่สิ่งที่นำทุกข์มาให้ตน หรือละคนชั่ว คือคนไม่ดีงาม.
               เปรียบเหมือนอะไร?
               เปรียบเหมือนนกกระเรียน ดื่มแต่น้ำนมเว้นน้ำ.
               อธิบายว่า นกกระเรียน เมื่อเขานำน้ำนมที่เจือด้วยน้ำเข้าไป ชื่อว่าดื่มแต่น้ำนม เพราะเว้นน้ำ ดื่มแต่น้ำนมเท่านั้น ย่อมละคือเว้นน้ำ กล่าวคือแม่น้ำอันไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด
               ได้ยินว่า บัณฑิตก็ฉันนั้น แม้อยู่ร่วมกับคนทรามปัญญา ในอิริยาบถมีการยืนและการนั่งเป็นต้น ก็ละบุคคลผู้ทรามปัญญานั้น โดยเอื้อเฟื้อ คือแม้ในกาลบางคราวก็ไม่ยอมปะปนกับพวกเขา.

               จบอรรถกถาทวิธาปถสูตรที่ ๗               
               -----------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ ทวิธาปถสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 169อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 175อ่านอรรถกถา 25 / 176อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4280&Z=4306
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=10123
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=10123
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :