บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า วิสาขาย มิคารมาตุยา นตฺตา กาลกตา โหติ ได้แก่ เด็กหญิงผู้เป็นธิดาของบุตรแห่งมหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ถึงแก่กรรม. ได้ยินว่า เด็กหญิงนั้นสมบูรณ์ด้วยวัตร เลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา เป็นผู้ไม่ประมาท ได้กระทำการขวนขวายที่ตนจะพึงทำ แก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลาย ผู้เข้าไปยังบ้านของมหาอุบาสิกา ทั้งเวลาก่อนอาหารและหลังอาหาร. ปฏิบัติคล้อยตามใจของยายตน. ด้วยเหตุนั้น มหาอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา เมื่อออกจากเรือนไปข้างนอก ได้มอบหน้าที่ทั้งหมดแก่เด็กหญิงนั้นนั่นแลแล้วจึงไป และเธอก็มีรูปร่างน่าชมน่าเลื่อมใส ดังนั้น เธอจึงเป็นที่รักที่ชอบใจโดยพิเศษของวิสาขามหาอุบาสิกา. เธอถูกโรคครอบงำจึงถึงแก่กรรม. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็สมัยนั้นแล หลานของนางวิสาขามิคารมารดาผู้เป็นที่รักที่ชอบใจ ได้ถึงแก่กรรม. ลำดับนั้น มหาอุบาสิกา เมื่อไม่อาจจะอดกลั้นความโศก เพราะการตายของหลานได้ จึงเป็นทุกข์เสียใจ ให้คนเอาศพไปเก็บไว้ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า ไฉนหนอในเวลาเราไปเฝ้าพระศาสดา จะพึงได้ความยินดีแห่งจิต. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถโข วิสาขา มิคารมาตา ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิวาทิวสฺส แปลว่า ในกลางวัน. อธิบายว่า ในเวลาเที่ยง. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบว่า นางวิสาขายินดียิ่งในวัฏฏะ เพื่อจะทรงทำความเศร้าโศกของเธอให้เบาบางลงด้วยอุบาย จึงตรัสคำมีอาทิว่า ดูก่อนวิสาขา เธอปรารถนาหรือ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวติกา แปลว่า มีประมาณเท่าใด. ได้ยินว่า ในกาลนั้น คน ๗ โกฏิอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายตรัสถามว่า ดูก่อนวิสาขา คนในกรุงสาวัตถีที่ตายไปทุกวันๆ วันละเท่าไร. นางวิสาขาจึงทูลตอบว่า วันละ ๑๐ คนบ้าง พระเจ้าข้า ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตีณิ แก้เป็น ตโย แปลว่า ๓ คน. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้แหละ. บทว่า อวิวิตฺตา แปลว่า ไม่ว่าง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะประกาศความประสงค์ของพระองค์ จึงตรัสว่า เธอ๑- เป็นผู้ไม่มีผ้าเปียก ไม่มีผมเปียก เป็นบางครั้งบางคราวบ้างหรือ. พระองค์ทรงแสดงว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อนางวิสาขาถูกความเศร้าโศกครอบงำตลอดกาล เธอพึงมีผ้าเปียก มีผมเปียก โดยการลงน้ำ โดยเฉียดกับสิ่งที่ไม่เป็นมงคลของบุตรเป็นต้นที่ตายไปมิใช่หรือ? ____________________________ ๑- ปาลิยํ อลฺลวตฺถา อลฺลเกสาติ ทิสฺสติ. อุบาสิกาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงเกิดความสังเวช ปฏิเสธว่าไม่เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า จิตของตนกลับจากความเดือดร้อนถึงสิ่งที่เป็นที่รักแด่พระศาสดา จึงกราบทูลว่า พอละ พระเจ้าข้า ด้วยพวกบุตรและหลานซึ่งมีมากถึงเพียงนั้น สำหรับหม่อมฉัน. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่นางว่า ขึ้นชื่อว่าทุกข์นี้ มีสิ่งที่น่ารักเป็นเหตุ สิ่งที่น่ารักมีประมาณเพียงใด ทุกข์ก็มีประมาณเพียงนั้น เพราะฉะนั้น เธอผู้รักสุขเกลียดทุกข์ พึงให้จิตเกิดความสลดจากวัตถุที่เป็นที่รัก โดยประการทั้งปวง จึงตรัสคำมีอาทิว่า ดูก่อนวิสาขา คนเหล่าใดมีสิ่งอันเป็นที่รัก ๑๐๐ คนเหล่านั้นก็มีทุกข์นับได้ ๑๐๐ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ ปิยานิ ได้แก่ สิ่งอันเป็นที่รัก ๑๐๐. อาจารย์บางพวกกล่าว สตํ ปิยํ ดังนี้ก็มี. ก็ในคำนี้นับตั้งแต่ ๑ จนถึง ๑๐ ชื่อว่ามีการนับเป็นประธาน ฉะนั้น บาลีจึงมาโดยนัยมีอาทิว่า ผู้ใดมีสิ่งที่เป็นที่รักนับ ๑๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์นับ ๑๐. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวโดยนัยมีอาทิว่า ผู้ใดมีสิ่งอันเป็นที่รักนับ ๑๐ ผู้นั้นก็เป็นทุกข์นับ ๑๐. คำนั้นไม่ดี เพราะเหตุที่การนับตั้งแต่ ๒๐ จนถึง ๑๐๐ ชื่อว่ามีการนับเป็นประธานเหมือนกัน ฉะนั้น เพราะถือเอาเฉพาะสิ่งอันเป็นที่รักซึ่งมีการนับเป็นประธานแม้ในข้อนั้น บาลีจึงมาโดยนัยมีอาทิว่า เยสํ โข วิสาเข สตํ ปิยานิ สตํ เตสํ ทุกฺขานิ ดังนี้. บาลีของอาจารย์ทั้งปวงว่า ชนเหล่าใดมีสิ่งอันเป็นที่รักอันหนึ่ง ชนเหล่านั้นก็มีทุกข์อันหนึ่ง ดังนี้ แต่บาลีว่า ทุกฺขสฺส ดังนี้ ไม่มี. ก็ในฝ่ายนี้ เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีรสเป็นอันเดียวกันเทียว เพราะฉะนั้น พึงทราบบาลีซึ่งมีนัยตามที่กล่าวแล้วนั้นแล. บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวง ซึ่งอรรถนี้ว่า ทุกข์ทางใจและทุกข์ทางกาย มีโสกะและปริเทวะเป็นต้น มีสิ่งที่น่ารักเป็นเหตุ ย่อมปรากฏในเมื่อมีสิ่งที่น่ารัก ย่อมไม่ปรากฏในเมื่อสิ่งที่น่ารักไม่มี จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงความนั้น. คำแห่งอุทานนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีลักษณะทำจิตของคนพาล ผู้ถูกความวอดวายแห่งญาติ โภคะ โรค ศีลและทิฏฐิถูกต้องแล้ว หม่นไหม้อยู่ในภายใน ให้เดือดร้อนก็ดี ความเศร้าโศกชนิดใดชนิดหนึ่งต่างโดยอย่างอ่อนและปานกลางเป็นต้นก็ดี ความรำพันมีลักษณะบ่นเพ้อด้วยวาจา อันแสดงถึงความเศร้าโศกที่ให้ตั้งขึ้นของชนผู้ถูกความเศร้าโศกเหล่านั้นนั่นแล ถูกต้องแล้ว ให้ตั้งขึ้นก็ดี ทุกข์มีการบีบคั้นกายของบุคคลผู้มีกายอันโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนากระทบแล้วก็ดี โทมนัส สัตว์เหล่านั้นแม้ทั้งหมดย่อมอาศัย คืออิงพึ่งพิงสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก คือมีชาติเป็นที่รัก ได้แก่ทำให้เป็นปัจจัยเกิดขึ้น คือบังเกิดขึ้น. เมื่อวัตถุอันเป็นที่รักตามที่กล่าวแล้วนั้น คือเมื่อสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักไม่มี ได้แก่ละฉันทราคะ อันกระทำความเป็นที่รัก ความเศร้าโศกเป็นต้นเหล่านั้น ก็ย่อมไม่เกิดในกาลบางคราว. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒- ความเศร้าโศกย่อมเกิดแต่สัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ฯลฯ ความเศร้าโศกย่อมเกิดแต่อารมณ์อันเป็นที่รักเป็นต้น และว่า๓- การทะเลาะ การวิวาท ความร่ำไร และความเศร้าโศก อันเกิดแต่สัตว์ และสังขารอันเป็นที่รัก ย่อมมาพร้อม ด้วยความตระหนี่ ดังนี้เป็นต้น. ____________________________ ๒- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๖ ๓- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๘ ก็ในที่นี้ ท่านกล่าวด้วยลิงควิปลาสว่า ปริเทวิตา วา ทุกฺขา วา. อนึ่ง เมื่อควรจะกล่าวว่า ปริเทวิตานิ วา ทุกฺขานิ วา ดังนี้ พึงทราบว่า ท่านทำการลบวิภัตติเสีย. บทว่า ตสฺมา หิ เต สุขิโน วีตโสกา ความว่า เพราะเหตุที่ความเศร้าโศกเป็นต้น อันเกิดแต่สัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ย่อมไม่มีแก่ชนเหล่าใด ฉะนั้น ชนเหล่านั้นนั่นแล ชื่อว่ามีความสุข และปราศจากความเศร้าโศก. ก็คนเหล่านั้นคือใคร? คือ ชนผู้ไม่มีสัตว์และสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ. อธิบายว่า ก็ชนเหล่าใด คือพระอริยะย่อมไม่มีสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก คือภาวะเป็นที่รัก ว่าบุตรก็ดี ว่าพี่น้องชายก็ดี ว่าพี่น้องหญิงก็ดี ว่าภริยาก็ดี ไม่มีในโลกไหนๆ คือในสัตวโลก และในสังขารโลก เพราะปราศจากราคะโดยประการทั้งปวง คือสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ได้แก่ความรักไม่มีในสังขารโลกว่า นี้เป็นของเรา เราได้อยู่ เราจักได้ซึ่งความสุขชื่อนี้ด้วยสิ่งนี้. บทว่า ตสฺมา อโสกํ วิรชํ ปฏฺฐยาโน ปิยํ น กยิราถ กุหิญฺจิ โลเก ความว่า ก็เพราะเหตุที่สัตว์ผู้ปราศจากความเศร้าโศก ชื่อว่ามีความสุข เพราะปราศจากความเศร้าโศกนั่นแล จึงชื่อว่าไม่มีความรักในอารมณ์ไหนๆ เพราะฉะนั้น บุคคลเมื่อปรารถนาความไม่เศร้าโศก คือภาวะไม่มีความเศร้าโศก เพราะไม่มีความเศร้าโศกดังกล่าวแล้วแก่ตน ชื่อว่าผู้ปราศจากธุลี คือภาวะที่ไม่มีธุลี เพราะปราศจากธุลีคือราคะ ได้แก่ความเป็นพระอรหัต คือพระนิพพาน อันได้นามว่าอโสกะ และว่าวิรชะ เพราะไม่มีความเศร้าโศก และเพราะเหตุแห่งความไม่มีธุลี คือราคะเป็นต้น จึงเกิดฉันทะด้วยอำนาจความพอใจในกุศล คือความปรารถนาเพื่อจะทำ ไม่พึงทำ คือไม่พึงให้สัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก คือความรักให้เกิดในธรรมมีรูปเป็นต้น โดยที่สุดแม้ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนาในโลกไหนๆ. สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า๔- ภิกษุทั้งหลาย แม้ธรรม พวกเธอก็ควรละเสีย จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า. ____________________________ ๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๘๐ จบอรรถกถาวิสาขาสูตรที่ ๘ ----------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ วิสาขาสูตร จบ. |