บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า อายสฺมา ได้แก่ คำอันเป็นที่รัก. บทว่า ทพฺโพ ได้แก่ เป็นชื่อของพระเถระนั้น. บทว่า มลฺลปุตฺโต ได้แก่ โอรสของพระเจ้ามัลละ. จริงอยู่ ท่านผู้มีอายุนั้นได้บำเพ็ญอภินิหารไว้แทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ได้ก่อสร้างบุญไว้ตลอดแสนกัป แล้วบังเกิดในพระครรภ์ของพระราชเทวีแห่งเจ้ามัลละ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา ในเวลาตนมีอายุได้ ๗ ขวบโดยกำเนิด จึงเข้าไปหาบิดามารดาขออนุญาตบรรพชา เพราะค่าที่ตนได้สร้างบุญญาธิการไว้. ฝ่ายบิดามารดาทั้งสองนั้นก็ได้อนุญาตว่า ลูกเอ๋ย! เจ้าบวชแล้ว จงศึกษาในอาจาระ ถ้าลูกไม่ยินดีการศึกษาอาจาระนั้น ลูกก็จงกลับมาในที่นี้อีก. เธอจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา. ฝ่ายพระศาสดาทรงตรวจดูความสมบูรณ์แห่งอุปนิสัยของเธอแล้ว จึงทรงอนุญาตการบรรพชา. ในเวลาเธอบรรพชา ภพสามปรากฏแก่เธอเหมือนไฟติดทั่วลุกโพลงตามโอวาทที่พระศาสดาทรงประทานแล้ว. เธอจึงเริ่มตั้งวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตในขณะจรดปลายมีดโกนทีเดียว. เธอบรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระสาวกพึงบรรลุทั้งหมด มีอาทิอย่างนี้ว่า วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และโลกุตรธรรม ๙ เธอจึงได้ถูกจัดเข้าในภายในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐. สมจริงดังคำที่ท่านผู้มีอายุนั้นกล่าวไว้ว่า เราได้ทำให้แจ้งแล้วซึ่งพระอรหัตโดยอายุ ๗ ขวบแต่กำเนิด เราได้บรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่พระสาวกพึงบรรลุได้ทั้งหมด ดังนี้เป็นต้น. ____________________________ ๑- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๕๓๙ บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า ได้ยินว่า วันหนึ่ง ท่านผู้มีอายุนั้นเที่ยวไปบิณฑบาต ลำดับนั้น ท่านผู้มีอายุออกจากสมาบัติตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ตรวจดูอายุสังขารของตน. อายุสังขารเหล่านั้นของเธอสิ้นไปแล้ว ปรากฏเพียงชั่วครู่เล็กน้อย. เธอคิดว่า ข้อที่เราไม่กราบทูลพระศาสดา เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายก็จะไม่ทราบ จักนั่งปรินิพพานในที่นี้แหละ ไม่สมควรแก่เราเลย ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ให้พระองค์อนุญาตการปรินิพพานเสียก่อน แล้วแสดงวัตรแก่พระศาสดา เมื่อจะประกาศอิทธานุภาพของเรา เพื่อจะแสดงว่า พระศาสนาเป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ จึงนั่งในอากาศเข้าเตโชธาตุแล้ว พึงปรินิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เหล่าชนผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใสในเรา ก็จักเกิดความเลื่อมใส ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เขาเหล่านั้นตลอดกาลนาน. ก็แลท่านผู้มีอายุนั้น ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทำข้อนั้นทั้งหมดโดยประการนั้นนั่นแล. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ท่านทัพพมัลลบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า ปรินิพฺพานกาโล เม ความว่า พระทัพพมัลลบุตรแสดงว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า กาลเป็นที่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ได้ปรากฏแก่ข้าพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะกราบทูลการปรินิพพานนั้น แล้วจะปรินิพพาน. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระเถระยังไม่แก่และยังไม่ป่วยไข้ก่อน ท่านทูลลาพระศาสดาเพื่อปรินิพพาน ในข้อนั้นมีเหตุดังนี้ คือภิกษุพวกเมตติยะและภุมมชกะ เมื่อก่อนได้พากันโจทเราด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล แม้เมื่ออธิกรณ์นั้นสงบไป ก็ยังด่าอยู่นั่นแหละ ฝ่ายปุถุชนพวกอื่นเชื่อภิกษุเหล่านั้น จึงกระทำความไม่เคารพและความดูหมิ่นในเรา และเพราะนำภาระคือทุกข์นี้อันไร้ประโยชน์ไป จะมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้น เราจักปรินิพพาน ณ บัดนี้แล พระเถระกระทำการตกลงดังว่ามานี้ จึงทูลลาพระศาสดา. ข้อนั้นไม่ใช่เหตุ. จริงอยู่ พระขีณาสพทั้งหลาย เมื่ออายุสังขารยังไม่สิ้นไป ย่อมไม่จงใจพยายามเพื่อปรินิพพาน เพราะกลัวคนอื่นจะว่าร้ายเป็นต้น และไม่ดำรงอยู่ได้นาน เพราะเหตุคนเหล่าอื่นสรรเสริญเป็นต้น. โดยที่แท้ พระขีณาสพเหล่านั้นรอการสิ้นอายุสังขารของตนพร้อมด้วยกิจของตนนั่นแล. อย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า๒- เราไม่หวังความตาย ไม่หวังความเป็นอยู่ แต่หวังเวลา เหมือนคนรับจ้าง หวังค่าจ้างฉะนั้น ดังนี้. ____________________________ ๒- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๒๙๕ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอายุสังขารของเธอ รู้ว่าสิ้นไปแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนทัพพะ เธอจงสำคัญกาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด. บทว่า เวหาสํ อพฺภุคฺคนฺตวา ได้แก่ เหาะขึ้นเวหาส. อธิบายว่า ไปในเวหาส. จริงอยู่ บทว่า เวหาสํ อพฺภุคฺคนฺตวา นี้ เป็นทุติยาวิภัตติ เพราะประกอบด้วยอภิศัพท์. แต่พึงทราบอรรถด้วยอำนาจสัตตมีวิภัตติ. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า เหาะไปในอากาศทำไม? จึงกล่าวคำมีอาทิว่า นั่งขัดสมาธิในอากาศ คือในกลางหาวดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตโชธาตุํ สมาปชฺชิตฺวา ความว่า เข้าจตุตถฌานสมาบัติอันมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์. จริงอยู่ ในกาลนั้น พระเถระถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กระทำประทักษิณ ๓ รอบแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สุดข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์อยู่ในที่นั้นๆ กับพระองค์ บำเพ็ญมาตลอดแสนกัป หมายเอาประโยชน์นี้เท่านั้น จึงได้บำเพ็ญประโยชน์นี้นั้น ถึงที่สุดแล้วในวันนี้ นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย. ในบรรดาภิกษุปุถุชน ผู้เป็นพระโสดาบันและพระสกทาคามีในที่นั้น บางพวกได้มีความกรุณาอย่างใหญ่ บางพวกถึงความร้องไห้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบวารจิตของเธอแล้วตรัสว่า ดูก่อนทัพพะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่เรา และแก่ภิกษุสงฆ์. ในขณะนั้นนั่นเอง ภิกษุสงฆ์ทั้งหมดประชุมกัน. ลำดับนั้น ท่านทัพพะแสดงปาฏิหาริย์ทั้งหมดอันทั่วไปแก่พระสาวก อันมาโดยนัยมีอาทิว่า แม้คนคนเดียวก็กลายเป็นหลายคนได้ ดังนี้ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า เหาะไปในอากาศอีก นิรมิตแผ่นดินขึ้นในอากาศ นั่งขัดสมาธิในอากาศนั้น ทำบริกรรมด้วยเตโชกสิณสมาบัติ เข้าสมาบัติ ออกแล้วรำพึงถึงร่างกาย เข้าสมาบัติอีก อธิษฐานเตโชธาตุในอันยังร่างกายให้ไหม้แล้วปรินิพพาน. พร้อมด้วยการอธิษฐาน ร่างกายทั้งหมดจึงได้ถูกเพลิงติดทั่ว. ก็ในขณะนั้นนั่นเอง เพลิงนั้นได้เป็นเหมือนเพลิงประจำกัป ไหม้สังขารเพียงอณูหนึ่งก็ดี เพียงเป็นเขม่าก็ดี ไม่เหลืออะไรๆ ในสังขารนั้นไว้เลย ด้วยพลังแห่งอธิษฐานแล้วปรินิพพาน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ท่านทัพพมัลลบุตร ดังนี้เป็นต้น. ____________________________ ๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๓๙ ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๕๓ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุฏฺฐหิตฺวา ปรินิพฺพายิ ความว่า ออกจากจิตที่สำเร็จด้วยฤทธิ์แล้ว ปรินิพพานด้วยภวังคจิต. บทว่า ฌายมานสฺส ได้แก่ อันไฟโพลงอยู่. บทว่า ฑยฺหมานสฺส นี้ เป็นไวพจน์แห่งบทว่า ฌายมานสฺส นั้นนั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ฌายมานสฺส ท่านกล่าวหมายเอาขณะที่ไฟโพลงขึ้น. บทว่า ฑยฺหมานสฺส ท่านกล่าวหมายเอาขณะที่ปราศจากถ่านเพลิง. บทว่า ฉาริกา ได้แก่ ขี้เถ้า. บทว่า มสิ ได้แก่ เขม่า. บทว่า น ปญฺญายิตฺถ ได้แก่ ไม่เห็น. อธิบายว่า สิ่งทั้งหมดอันตรธานไป โดยขณะนั้นนั่นแลด้วยพลังแห่งการอธิษฐาน. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระเถระจึงแสดงปาฏิหาริย์ อันเป็นอุตริมนุสธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสห้ามการทำอิทธิปาฏิหาริย์ไว้ มิใช่หรือ? ตอบว่า ข้อนี้ไม่พึงทักท้วง เพราะพระองค์ตรัสห้ามการทำปาฏิหาริย์ต่อหน้าพวกคฤหัสถ์ทั้งหลาย และข้อนั้นตรัสห้าม โดยอำนาจการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ไม่ตรัสห้ามด้วยอำนาจการอธิษฐาน ก็ท่านผู้มีอายุนี้อันพระธรรมสวามีตรัสสั่งแล้ว จึงแสดงปาฏิหาริย์. บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระองค์ทรงทราบโดยอาการทั้งปวง ถึงการที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานนี้ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงความนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อเภทิ กาโย ความว่า รูปกายอันมีสันตติ ๔ โดยความต่างแห่งภูตรูป และอุปาทายรูปทั้งหมดแตกไป พินาศ อันตรธานไป โดยไม่มีส่วนเหลือ คือถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรม. บทว่า นิโรธิ สญฺญา ได้แก่ สัญญาทั้งหมดต่างด้วยรูปสัญญาเป็นต้น เพราะมีรูปายตนะเป็นต้นเป็นอารมณ์ ดับไปแล้วโดยการดับสนิท หาปฏิสนธิมิได้. บทว่า เวทนา สีติภวึสุ สพฺพา ได้แก่ เวทนาแม้ทั้งหมด คือวิปากเวทนาและกิริยาเวทนา ได้เป็นธรรมชาติเย็น เพราะไม่มีความกระวนกระวายแห่งเวทนา แม้มีประมาณเท่าอณูหนึ่ง เพราะดับสนิทด้วยการดับหาปฏิสนธิมิได้. แต่กุศลเวทนาและอกุศลเวทนา ถึงความดับสนิทในขณะแห่งอรหัตผลทีเดียว. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สีติรหึสุ เว้นจากความเย็น ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ได้เป็นธรรมชาติสงบดับไป. บทว่า วูปสมึสุ สงฺขารา ความว่า ธรรมคือสังขารขันธ์ มีผัสสะเป็นต้นแม้ทั้งหมดต่างโดยวิบากและกิริยา สงบแล้วโดยพิเศษทีเดียว เพราะดับสนิท ด้วยการดับสนิทโดยหาปฏิสนธิมิได้นั่นเอง. บทว่า วิญฺญาณํ อตฺถมาคมา ความว่า แม้วิญญาณทั้งหมดต่างโดยวิบากและกิริยา ได้ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ คือความพินาศ ได้แก่ความขาดสูญ เพราะดับสนิทโดยหาปฏิสนธิมิได้นั่นแล. ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทาน อันเปล่งออกด้วยกำลังแห่งปิติ เพราะอาศัยความที่ขันธ์ทั้ง ๕ ของท่านพระทัพพมัลลบุตรดับสนิท ด้วยการดับหาปฏิสนธิมิได้ เหมือนไฟที่หมดเชื้อฉะนั้น เพราะดับอุปาทานคือกิเลสและอภิสังขารในกาลก่อน ได้โดยสิ้นเชิงแล. จบอรรถกถาปฐมทัพพสูตรที่ ๙ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ ทัพพสูตรที่ ๑ จบ. |