บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒] หน้าต่างที่ ๘ / ๑๒. ข้อความเบื้องต้น ธิดาเศรษฐีรักพรานกุกกุฏมิตร ในเวลาเย็นวันหนึ่ง แลไปในระหว่างถนนทางหน้าต่าง เห็นนายพรานคนหนึ่งชื่อกุกกุฏมิตร ผู้ถือบ่วง ๕๐๐ และหลาว ๕๐๐ ฆ่าเนื้อทั้งหลายเลี้ยงชีพ ฆ่าเนื้อ ๕๐๐ ตัวแล้วบรรทุกเกวียนใหญ่ให้เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่งบนแอกเกวียนเข้าไปสู่พระนคร เพื่อต้องการขายเนื้อ เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในนายพรานนั้น ให้บรรณาการในมือหญิงคนใช้ ส่งไปว่า "เจ้าจงไป จงให้บรรณาการแก่บุรุษนั้น รู้เวลาไป (ของเขา) แล้วจงมา." หญิงคนใช้ไปแล้ว ให้บรรณาการแก่นายพรานนั้นแล้ว ถามว่า "ท่านจักไปเมื่อไร?" นายพรานตอบว่า "วันนี้ เราขายเนื้อแล้ว จักออกไปโดยประตูชื่อโน้นแต่เช้าเทียว." หญิงคนใช้ฟังคำที่นายพรานนั้นบอกแล้ว กลับมาบอกแก่นาง. ธิดาเศรษฐีลอบหนีไปกับนายพราน ฝ่ายนางก็เดินตามหลังนายพรานนั้นไป. เขาเห็นนางจึงพูดว่า "ข้าพเจ้าไม่รู้จักเจ้าว่า เป็นธิดาของผู้ชื่อโน้น แน่ะแม่ เจ้าอย่าตามฉันไปเลย." นางตอบว่า "ท่านไม่ได้เรียกฉันมา, ฉันมาตามธรรมดาของตน, ท่านจงนิ่ง ขับเกวียนของตนไปเถิด." เขาห้ามนางแล้วๆ เล่าๆ ทีเดียว. ครั้นนางพูดกับเขาว่า "อันการห้ามสิริอันมาสู่สำนักของตนย่อมไม่ควร" นายพรานทราบการมาของนางเพื่อตนโดยไม่สงสัยแล้ว ได้อุ้มนางขึ้นเกวียนไป. มารดาบิดาของนางให้คนหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่พบ สำคัญว่า "นางจักตายเสียแล้ว" จึงทำภัตเพื่อผู้ตาย๑- แม้นางอาศัยการอยู่ร่วมกับนายพรานนั้น คลอดบุตร ๗ คนโดยลำดับ ผูกบุตรเหล่านั้นผู้เจริญวัยเติบโตแล้ว ด้วยเครื่องผูก คือเรือน๒- ____________________________ ๑- ทำบุญเลี้ยงพระแล้วอุทิศผลบุญให้ผู้ตาย. ๒- จัดแจงแต่งงานให้มีเหย้าเรือน. กุกกุฏมิตรอาฆาตในพระพุทธเจ้า พระศาสดาทรงแสดงรอยพระบาทที่ใกล้บ่วงของเขา แล้วประทับนั่งที่ใต้ร่มพุ่มไม้พุ่มหนึ่งข้างหน้า. นายพรานกุกกุฏมิตรถือธนูไปสู่บ่วงแต่เช้าตรู่ ตรวจดูบ่วงจำเดิมแต่ต้น ไม่พบเนื้อแม้ตัวเดียวซึ่งติดบ่วง ได้เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาแล้ว. ทีนั้น เขาได้ดำริฉะนี้ว่า "ใครเที่ยวปล่อยเนื้อตัวติด (บ่วง) ของเรา" เขาผูกอาฆาตในพระศาสดา เมื่อเดินไปก็พบพระศาสดาประทับนั่งที่โคนพุ่มไม้ คิดว่า "สมณะองค์นี้ปล่อยเนื้อของเรา เราจักฆ่าสมณะนั้นเสีย" ดังนี้แล้ว ได้โก่งธนู. พระศาสดาให้โก่งธนูได้ (แต่) ไม่ให้ยิง (ธนู) ไปได้. เขาไม่อาจทั้งเพื่อปล่อยลูกศรไป ทั้งลดลง มีสีข้างทั้ง ๒ ปานดังจะแตก มีน้ำลายไหลออกจากปาก เป็นผู้อ่อนเพลีย ได้ยืนอยู่แล้ว. ครั้งนั้น พวกบุตรของเขาไปเรือนพูดกันว่า "บิดาของเราล่าช้าอยู่ จักมีเหตุอะไรหนอ?" อันมารดาส่งไปว่า "พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปสู่สำนักของบิดา" ต่างก็ถือธนูไปเห็นบิดายืนอยู่เช่นนั้น คิดว่า "ผู้นี้จักเป็นปัจจามิตรของบิดาพวกเรา." ทั้ง ๗ คนโก่งธนูแล้ว ได้ยืนอยู่เหมือนกับบิดาของพวกเขายืนแล้ว เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า. กุกกุฏมิตรเลิกอาฆาตในพระพุทธเจ้า นายพรานกุกกุฏมิตรได้ยินเสียงนั้นแล้ว คิดว่า "เราฉิบหายแล้วหนอ นัยว่า ผู้นั้นเป็นพ่อตาของเรา, ตายจริง เราทำกรรมหนัก." แม้พวกบุตรของเขาก็คิดว่า "นัยว่า ผู้นั้นเป็นตาของเรา, ตายจริง เราทำกรรมหนัก." นายพรานกุกกุฏมิตร เข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ว่า "คนนี้เป็นพ่อตาของเรา." แม้พวกบุตรของเขาก็เข้าไปตั้งเมตตาจิตว่า "คนนี้เป็นตาของพวกเรา." ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มารดาของพวกเขาพูดว่า "พวกเจ้าจงทิ้งธนูเสียโดยเร็ว แล้วให้บิดาของฉันอดโทษ." เขาทั้งหมดสำเร็จโสดาปัตติผล ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสอนุปุพพีกถาแก่พวกเขา. ในเวลาจบเทศนา นายพรานกุกกุฏมิตรพร้อมทั้งบุตรและสะใภ้มีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต ได้เสด็จไปสู่วิหารภายหลังภัต. ลำดับนั้น พระอานนทเถระทูลถามพระองค์ว่า "วันนี้พระองค์เสด็จไปไหน? พระเจ้าข้า." พระศาสดา. ไปสำนักของกุกกุฏมิตร อานนท์. พระอานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายพรานกุกกุฏมิตร พระองค์ทำให้เป็นผู้ไม่ทำกรรม คือปาณาติบาตแล้วหรือ? พระเจ้าข้า. พระศาสดา. เออ อานนท์ นายพรานกุกกุฏมิตรนั้นมีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่คลอนแคลน เป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓ เป็นผู้ไม่ทำกรรมคือปาณาติบาตแล้ว. พวกภิกษุกราบทูลว่า "แม้ภริยาของเขามีมิใช่หรือ? พระเจ้าข้า" พระศาสดาตรัสว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย นางเป็นกุมาริกาในเรือนของผู้มีตระกูลเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว." พระโสดาบันไม่ทำบาป พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้" ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต แต่นางได้ทำอย่างนั้น ด้วยคิดว่า เราจักทำตามคำสามี จิตของนางไม่มีเลยว่า สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต จริงอยู่ เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้ฉันใด ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลาย มีธนูเป็นต้นออกให้ เพราะไม่มีอกุศลเจตนาฉันนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
แก้อรรถ บทว่า หเรยฺย แปลว่า พึงอาจนำไปได้. ถามว่า "เพราะเหตุไร?" แก้ว่า "เพราะยาพิษไม่ซึมไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล" จริงอยู่ ยาพิษย่อมไม่อาจซึมซาบเข้าสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้ เพราะไม่มีอกุศลเจตนา ฉันนั้นเหมือนกัน แท้จริง บาปย่อมไม่ติดตามจิตของบุคคลนั้น เหมือนยาพิษไม่ซึมเข้าไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผลฉะนั้น ดังนี้แล. ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว. บุรพกรรมของกุกกุฏมิตรพร้อมด้วยบุตรและสะใภ้ พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้." ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล หมู่ชนจัดสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระกัสสปทสพล กล่าวกันอย่างนี้ว่า "อะไรหนอ จักเป็นดินเหนียว? อะไรหนอ จักเป็นน้ำเชื้อแห่งเจดีย์นี้?" การสร้างเจดีย์ในสมัยก่อน พวกเขา เมื่อเจดีย์สำเร็จแล้ว จนถึงกาลจะบรรจุพระธาตุ คิดกันว่า "ในกาลบรรจุพระธาตุ ต้องการทรัพย์มาก, พวกเราจักทำใครหนอแล ให้เป็นหัวหน้า?" แย่งกันเป็นหัวหน้าในการบรรจุพระธาตุ เศรษฐีในกรุงนั้นได้ยินถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า "เราจักให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้วเป็นหัวหน้า" ได้ให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้ว. เศรษฐีบ้านนอกคิดว่า "เราเองจักเป็นหัวหน้า" ได้ให้ทรัพย์ ๓ โกฏิ. ครั้นเศรษฐีทั้ง ๒ เพิ่มทรัพย์กันด้วยอาการอย่างนั้น เศรษฐีในกรุงได้ให้ทรัพย์ ๘ โกฏิแล้ว. ส่วนเศรษฐีบ้านนอกมีทรัพย์ ๙ โกฏิเท่านั้นในเรือน. เศรษฐีในกรุงมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ. เพราะฉะนั้น เศรษฐีบ้านนอกจึงคิดว่า "ถ้าเราให้ทรัพย์ ๙ โกฏิไซร้. เศรษฐีนี้จักกล่าวว่า "เราจักให้ ๑๐ โกฏิ." เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมดทรัพย์ของเราจักปรากฏ" เธอจึงกล่าวอย่างนี้ว่า "เราจักให้ทรัพย์ประมาณเท่านี้ และเราทั้งลูกและเมียจักเป็นทาสของเจดีย์" ดังนี้แล้ว พาบุตรทั้ง ๗ คน สะใภ้ทั้ง ๗ คนและภริยา มอบแก่เจดีย์พร้อมกับตน. เศรษฐีบ้านนอกได้เป็นหัวหน้า เมื่อชนเหล่านั้นอยู่ในเทวโลกตลอด ๑ พุทธันดร ในพุทธุปบาทนี้ ภริยาจุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็นธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์. คติของผู้ไม่เห็นสัจจะไม่แน่นอน จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสคำนี้ไว้ว่า ความรักนั้น ย่อมเกิด เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ อย่างนี้ คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ ดุจดอกบัวเกิดในน้ำ (เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำ) ฉะนั้น. ธิดาของเศรษฐีนั้นได้ไปสู่ตระกูลของพรานเนื้อ เพราะความสิเนหาในปางก่อน แม้พวกบุตรของนางก็จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องของนางนั่นแล. แม้เหล่าสะใภ้ของนางบังเกิดในที่นั้นๆ เจริญวัยแล้ว ได้ไปสู่เรือนของชนเหล่านั้นนั่นแหละ. ชนเหล่านั้นทั้งหมดปฏิบัติเจดีย์ในกาลนั้น ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น ดังนี้แล. เรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙ |