ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 195อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 196อ่านอรรถกถา 25 / 197อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ทุติยวรรค เภทสูตร

               อรรถกถาเภทสูตร               
               ในเภทสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า เอกธมฺโม ได้แก่ ความตั้งขึ้นของพระสูตรนี้เป็นไฉน คือ อตฺถุปฺปตฺติโก (มีเรื่องเกิดขึ้น) ความย่อในข้อนั้นมีดังต่อไปนี้
               มีเรื่องว่า พระเทวทัตชักชวนพระเจ้าอชาตศัตรูให้ถือผิด ให้ฆ่าพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระชนกของพระองค์บ้าง ชักชวนนายขมังธนูให้ฆ่าบ้าง กระทำโลหิตุปบาทด้วยการกลิ้งศิลาบ้าง โทษนั้นยังไม่ปรากฏก่อน แต่ที่ปรากฏตอนปล่อยช้างนาฬาคิรี.
               ครั้งนั้น มหาชนได้เกรียวกราวขึ้นว่า พระราชาทรงเที่ยวคบคนชั่วเห็นปานนี้ ได้มีประกาศกันแพร่หลาย. พระราชา ครั้นสดับดังนั้นจึงรับสั่งให้งดถาดอาหาร ๕๐๐ ที่พระองค์พระราชทาน ไม่เสด็จไปอุปถัมภ์พระเทวทัตอีกต่อไป แม้ชาวเมืองก็พากันไม่ให้อาหารเพียงทัพพีหนึ่งแก่พระเทวทัตผู้เข้าไปหาตระกูล.
               พระเทวทัตนั้นเสื่อมจากลาภและสักการะ ประสงค์จะดำรงชีวิตด้วยการหลอกลวง จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอวัตถุ ๕ ประการ ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามด้วยพุทธดำรัสมีอาทิว่า๑- อย่าเลยเทวทัต ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรเถิด.
               พระเทวทัตยังชนผู้เลื่อมใสในความเศร้าหมอง เป็นคนโง่ให้เห็นชอบด้วยวัตถุ ๕ ประการนั้น ให้ภิกษุวัชชีบุตร ๕๐๐ จับสลาก แล้วทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ได้พาภิกษุเหล่านั้นไปยังคยาสีสประเทศ.
____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๓๘๔

               ลำดับนั้น พระอัครสาวก ๒ รูป โดยพระพุทธดำรัสของพระศาสดาพากันไป ณ คยาสีสประเทศนั้น แสดงธรรมให้ภิกษุ ๕๐๐ เหล่านั้นตั้งอยู่ในอริยผล แล้วนำกลับมา. ส่วนภิกษุเหล่าใด ชอบใจลัทธิของพระเทวทัตผู้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์ ยังยกย่องอยู่อย่างเดิม เมื่อสงฆ์กำลังจะแตก และแตกแล้วได้เกิดความชอบใจ ข้อนั้นได้ปรากฏเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ภิกษุเหล่านั้น.
               ในไม่ช้านั่นเอง พระเทวทัตก็ถูกโรคเบียดเบียน อาพาธหนัก ใกล้จะตาย คิดว่า เราจักถวายบังคมพระศาสดา จึงให้เขานำขึ้นบนเตียงไปวางไว้ ณ ฝั่งสระโบกขรณีใกล้พระเชตวัน ขณะนั้นแผ่นดินก็แยกออก พระเทวทัตตกลงไปบังเกิดในอเวจีมหานรก ร่างของพระเทวทัตสูง ๑๐๐ โยชน์ ถูกหลาวเหล็กขนาดลำตาลเสียบอยู่ตลอดกัป และตระกูลประมาณ ๕๐๐ ที่ฝักใฝ่กับพระเทวทัต ยึดมั่นในลัทธิของพระเทวทัตนั้น พร้อมด้วยพวกก็ไปเกิดในนรก.
               วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากัน ณ ธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เป็นการทำกรรมหนักนัก.
               ลำดับนั้น พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังธรรมสภา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร. เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว เมื่อจะทรงแสดงถึงโทษในการทำลายสงฆ์ จึงได้ตรัสพระสูตรนี้.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นความที่พระเทวทัตและผู้ฝักใฝ่ในพระเทวทัตนั้น บังเกิดในนรกอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงโทษในการทำลายสงฆ์ จึงทรงแสดงพระสูตรนี้ด้วยอัธยาศัยของพระองค์เอง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอกธมฺโม ได้แก่ ธรรมมีโทษมาก เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง.
               บทว่า โลเก ได้แก่ สัตวโลก.
               ในบทว่า อุปฺปชฺชมาโน อุปฺปชฺชติ นี้ มีอธิบายว่า เมื่อการบาดหมางเป็นต้น อันเป็นไปในการทำลาย เกิดขึ้นในสงฆ์ก็ดี พูดด้วยจะแสดงเภทกรวัตถุ (เรื่องทำให้แตกกัน) ๑๘ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง มีอาทิว่า ธรรม อธรรม ดังนี้ก็ดี ประกาศเพื่อให้เกิดความชอบใจในการทำลายสงฆ์นั้นก็ดี ครั้นประกาศจับสลากแล้วก็ดี สังฆเภทเป็นอันชื่อว่าเกิดขึ้น เมื่อให้จับสลากแล้ว ภิกษุ ๔ รูปหรือเกินกว่า ๔ รูปแยกกันกระทำอุเทศหรือสังฆกรรมเมื่อใด เมื่อนั้น สังฆเภท ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               เมื่อทำสังฆเภทแล้ว ชื่อว่าการทำลายได้เกิดขึ้นแล้ว กรรมก็ดี อุเทศก็ดี เป็นข้อกำหนดในเหตุแห่งการทำลายสงฆ์ ๕ เหล่านี้ คือกรรม อุเทศ โวหาร อนุสสาวนะ (การประกาศ) สลากัคคาหะ (การจับสลาก). ส่วนโวหาร อนุสสาวนะและสลากัคคาหะ เป็นส่วนเบื้องต้น.
               ในบทว่า พหุชนาหิตาย เป็นต้น มีเนื้อความเชื่อมกันดังนี้
               ธรรมอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เกื้อกูลแก่มหาชน โดยห้ามสมบัติมีฌานและมรรคเป็นต้น เพื่อไม่ใช่ความสุขแก่มหาชน โดยห้ามสมบัติคือสวรรค์ เพื่อความฉิบหายแก่มหาชน โดยเป็นเหตุให้เกิดในอบาย เพื่อความไม่เกื้อกูลแก่มหาชนโดยอกุศลธรรม เพื่อทุกข์ทางกาย ทางใจ อันจะทำให้เกิดในสุคติ เพราะไม่มีมรรคเกื้อกูล.
               บทว่า เทวมนุสฺสานํ นี้ แสดงถึงบุคคลชั้นยอดในเมื่อท่านกล่าวว่า พหุโน ชนสฺส ดังนี้.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า พหุชนาหิตาย ได้แก่ เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก คือแก่หมู่สัตว์มาก. อธิบายว่า เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพ.
               บทว่า อสุขาย ได้แก่ เพื่อไม่ใช่ความสุขในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพ. อธิบายว่า เพื่อความทุกข์สองอย่าง.
               บทว่า อนตฺถาย ได้แก่ เพื่อพลาดประโยชน์อย่างยิ่ง. จริงอยู่ พระนิพพาน ชื่อว่าประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าพระนิพพานนั้นไม่มี.
               บทว่า อหิตาย ได้แก่ เพื่อพลาดสวรรค์และมรรค. จริงอยู่ ชื่อว่าประโยชน์เกื้อกูลยิ่งกว่ามรรค อันเป็นทางให้ถึงประโยชน์เกื้อกูล คือพระนิพพาน ไม่มี.
               บทว่า ทุกฺขาย ได้แก่ เพื่อทุกข์ในวัฏฏะโดยพลาดจากอริยสุข. จริงอยู่ ผู้ที่พลาดจากอริยสุขเสียแล้ว ไม่ควรบรรลุอริยสุขนั้น เขาย่อมน้อมไปในวัฏทุกข์. จริงอยู่ ชื่อว่าสุขยิ่งกว่าอริยสุขไม่มี.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒- สมาธินี้ เป็นสุขในปัจจุบันและเป็นผลของสุขต่อไป.
____________________________
๒- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๔๑๘  องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๗

               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโดยสรุปของ บทว่า สํฆเภโท แล้ว เพื่อทรงประกาศภาวะแห่งสังฆเภทนั้น เป็นเหตุของความไม่เกื้อกูลเป็นต้นโดยส่วนเดียว จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า สํเฆ โข ปน ภิกฺขเว ภินฺเน ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ภินฺเน เป็นสัตตมีวิภัตติ ในอรรถว่า นิมิตเหมือนอย่างว่า ในเพราะทรัพย์ไม่เกิดแก่คนไม่มีทรัพย์. อธิบายว่า เพราะเหตุแตกกัน.
               บทว่า อญฺญมญฺญภณฺฑนานิ ได้แก่ เถียงกันและกันว่า นี้ธรรม นี้ไม่ใช่ธรรม ของบริษัท ๔ และของผู้ที่เป็นฝ่ายของบริษัทนั้น. จริงอยู่ ความบาดหมางเป็นเบื้องต้นของการทะเลาะ.
               บทว่า ปริภาสา ได้แก่คุกคามโดยให้เกิดความกลัวว่า เราจักทำความฉิบหายนี้ๆ แก่พวกท่าน ดังนี้.
               บทว่า ปริกฺเขปา ได้แก่ ดูหมิ่นด้วยชาติเป็นต้น คือด่าและสบประมาท ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐.
               บทว่า ปริจฺจชนา ได้แก่ ขับไล่ให้ออกไปโดยทำอุกเขปนียกรรม (การลงโทษให้ออกจากหมู่) เป็นต้น.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในเพราะสงฆ์แตกกันนั้น หรือในเพราะความบาดหมางกันเป็นต้น อันเป็นนิมิตแห่งสังฆเภทนั้น.
               บทว่า อปฺปสนฺนา ได้แก่ ชนผู้ไม่รู้ถึงคุณของพระรัตนตรัย.
               บทว่า นปฺปสีทนฺติ ได้แก่ไม่เลื่อมใสอย่างอาการเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ประพฤติธรรม เป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอเป็นต้น หรือไม่สนใจที่จะฟัง จะเชื่อภิกษุเหล่านั้น.
               อนึ่ง เป็นผู้ไม่เลื่อมใสในพระธรรมและในพระศาสดาก็เหมือนกัน.
               บทว่า เอกจฺจานํ อญฺญถตฺตํ ได้แก่ ปุถุชนผู้มีศรัทธาไม่แก่กล้าก็จะเลื่อมใสอย่างอื่นไป.
               จะอธิบายในคาถาต่อไป
               ในบทว่า อาปายิโก เป็นต้น ชื่อว่า อาปายิโก เพราะควรจะไปบังเกิดในอบาย. ชื่อว่า เนรยิโก เพราะจะต้องเกิดในมหานรก คืออเวจีนั้น.
               ชื่อว่า กปฺปฏฺโฐ เพราะตั้งอยู่ในมหานรกนั้นตลอดอันตรกัปหนึ่งบริบูรณ์.
               ชื่อว่า วคฺครโต เพราะยินดีในพวกทำลายสงฆ์ด้วยกัน.
               ชื่อว่า อธมฺโม เพราะไม่ใช่ธรรม.
               ชื่อว่า อธมฺมฏฺโฐ เพราะตั้งอยู่ในอธรรม คือทำลายสงฆ์ด้วยเภทกรวัตถุ (เรื่องทำการทำลาย)
               บทว่า โยคกฺเขมโต ได้แก่ ย่อมกำจัด คือย่อมเสื่อมจากธรรมอันเกษมจากโยคะนั้น. พระอรหัตและพระนิพพาน ชื่อว่าเกษมจากโยคะ เพราะปลอดจากโยคะ ๔ แต่ไม่ควรพูดถึง ในการกำจัดพระอรหัตและพระนิพพานนั้นจากธรรมอันเกษมจากโยคะนั้น.
               ชื่อว่า สํฆํ เพราะอรรถว่า สืบต่อจากความเป็นผู้มีทิฏฐิและศีลเสมอกัน.
               ชื่อว่า สมคฺคํ คือ ให้ความเกื้อกูลกัน เพราะประกอบแบบแผนมีกรรมอย่างเดียวกัน.
               บทว่า เภตฺวาน ได้แก่ ทำลายโดยให้สงฆ์แตกกัน อันมีลักษณะดังที่ได้กล่าวมาก่อนแล้ว.
               บทว่า กปฺปํ ได้แก่ อายุกัป ก็อายุกัปในที่นี้ คืออันตรกัปนั่นเอง.
               บทว่า นิรยมฺหิ ได้แก่ อเวจีมหานรก.

               จบอรรถกถาเภทสูตรที่ ๘               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ทุติยวรรค เภทสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 195อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 196อ่านอรรถกถา 25 / 197อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4676&Z=4694
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=1666
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=1666
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :