ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 19อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 25 / 21อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๑.

               ๑๐. เรื่องพระปิโลติกเถระ [๑๑๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปิโลติกเถระ
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "หิรินิเสโธ ปุริโส" เป็นต้น.

               พระอานนท์จัดการให้ปิโลติกะบวช               
               ความพิสดารว่า ในวันหนึ่ง พระอานนท์เถระเห็นทารกคนหนึ่ง นุ่งผ้าท่อนเก่า ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานอยู่ จึงพูดว่า "เจ้าบวชเสียจะไม่ดียิ่งกว่าการเที่ยวไปอย่างนี้เป็นอยู่หรือ?" เมื่อเขาตอบว่า "ใครจักให้ผมบวชเล่า? ขอรับ" จึงกล่าวรับรองว่า "ฉันจะให้บวช" แล้วพาเขาไปยังวิหาร ให้อาบน้ำด้วยมือของตน ให้กรรมฐานแล้วก็ให้บวช.
               ก็พระอานนท์เถระนั้นคลี่ท่อนผ้าเก่าที่ทารกนั้นนุ่งแล้ว ตรวจดูไม่เห็นส่วนอะไรๆ พอใช้สอยได้ แม้สักว่าทำเป็นผ้าสำหรับกรองน้ำ จึงเอาพาดไว้ที่กิ่งไม้กิ่งหนึ่งกับกระเบื้อง.

               พระปิโลติกะอยากสึก               
               เขาได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว บริโภคลาภและสักการะอันเกิดขึ้นเพื่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นุ่งห่มจีวรที่มีค่ามากเที่ยวไปอยู่ เป็นผู้มีสรีระอ้วน กระสันขึ้นแล้ว คิดว่า "ประโยชน์อะไรของเราด้วยการนุ่ง (ห่ม) จีวรอันชนให้ด้วยศรัทธาเที่ยวไป เราจะนุ่งผ้าเก่าของตัวนี่แหละ" ดังนี้แล้ว ก็ไปสู่ที่นั้นแล้ว จับผ้าเก่าทำผ้านั้นให้เป็นอารมณ์ แล้วจึงโอวาทตนด้วยตนเองว่า "เจ้าผู้ไม่มีหิริ หมดยางอาย เจ้ายังปรารถนาเพื่อจะละฐานะ คือการนุ่งห่มผ้าทั้งหลายเห็นปานนั้น (กลับไป) นุ่งผ้าท่อนเก่านี้ มีมือถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน (อีกหรือ)."
               ก็เมื่อท่านโอวาท๑- (ตน) อยู่นั้นแหละ จิตผ่องใสแล้ว. ท่านเก็บผ้าเก่าผืนนั้นไว้ที่เดิมนั้นแล้ว กลับไปยังวิหารตามเดิม. โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ท่านกระสันขึ้นอีก ไปกล่าวอย่างนั้นแหละ แล้วก็กลับ. ถึงกระสันขึ้นอีก ก็ไปกล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วก็กลับด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑- อีกนัยหนึ่ง แปลว่า "ก็จิตของท่านผู้โอวาท (ตน) อยู่นั่นแล ผ่องใสแล้ว" ก็ได้.

               พระปิโลติกเถระบรรลุพระอรหัต               
               ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่อย่างนั้น จึงถามว่า "ผู้มีอายุ ท่านจะไปไหน?"
               ท่านบอกว่า "ผู้มีอายุ ผมจะไปสำนักอาจารย์" ดังนี้แล้ว ก็ทำผ้าท่อนเก่าของตนนั่นแหละให้เป็นอารมณ์ โดยทำนองนั้นนั่นเองห้ามตนได้, โดย ๒-๓ วันเท่านั้น ก็บรรลุพระอรหัตผล.
               ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า "ผู้มีอายุ บัดนี้ ท่านไม่ไปสำนักอาจารย์หรือ? ทางนี้เป็นทางเที่ยวไปของท่านมิใช่หรือ?"

               คนหมดเครื่องข้องไม่ต้องไปๆ มาๆ               
               ท่านตอบว่า "ผู้มีอายุ เมื่อความเกี่ยวข้องกับอาจารย์มีอยู่ ผมจึงไป แต่บัดนี้ ผมตัดความเกี่ยวข้องได้แล้ว เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่ไปสำนักอาจารย์."
               พวกภิกษุกราบทูลเรื่องราวแด่พระตถาคตว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระปิโลติกเถระอวดอ้างพระอรหัตผล."
               พระศาสดา. เธอกล่าวอย่างไรเล่า? ภิกษุทั้งหลาย.
               พวกภิกษุ. เธอกล่าวคำชื่อนี้ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า "ถูกละ ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา เมื่อความเกี่ยวข้องมีอยู่ จึงไปสำนักอาจารย์ แต่บัดนี้ ความเกี่ยวข้องเธอตัดได้แล้ว เธอห้ามตนด้วยตนเอง บรรลุพระอรหัตแล้ว"
               ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
                         ๗. หิรินิเสโธ ปุริโส    โกจิ โลกสฺมิ วิชฺชติ
                         โย นิทฺทํ อปโพเธติ    อสฺโส ภโทฺร กสามิว
                                        อสฺโส ยถา ภโทฺร กสานิวิฏฺโฐ
                                        อาตาปิโน สํเวคิโน ภวาถ
                                        สทฺธาย สีเลน จ วีริเยน จ
                                        สมาธินา ธมฺมวินิจฺฉเยน จ
                                        สมฺปนฺนวิชฺชาจรณา ปติสฺสตา
                                        ปหสฺสถ ทุกฺขมิทํ อนปฺปกํ.
                         บุรุษผู้ข้ามอกุศลวิตกด้วยหิริได้ น้อยคนจะมีในโลก,
                         บุคคลใดกำจัดความหลับ ตื่นอยู่ เหมือนม้าดีหลบแส้
                         ไม่ให้ถูกตน, บุคคลนั้นหาได้ยาก. ท่านทั้งหลายจงมี
                         ความเพียร มีความสลดใจ เหมือนม้าดีถูกเขาตีด้วย
                         แส้แล้ว (มีความบากบั่น) ฉะนั้น.
                         ท่านทั้งหลายเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธา ศีล วิริยะ
                         สมาธิ และ ด้วยคุณเครื่องวินิจฉัยธรรม มีวิชชาและ
                         จรณะถึงพร้อม มีสติมั่นคง จักละทุกข์อันมีประมาณ
                         ไม่น้อยนี้ได้.

               แก้อรรถ               
               คนผู้ชื่อว่า หิรินิเสธบุคคล ในพระคาถานั้น ก็เพราะอรรถว่า ห้ามอกุศลวิตกอันเกิดในภายในด้วยความละอายได้.
               สองบทว่า โกจิ โลกสฺมึ ความว่า บุคคลเห็นปานนั้น หาได้ยาก จึงชื่อว่าน้อยคนนักจะมีในโลก.
               สองบทว่า โย นิทฺทํ ความว่า บุคคลใด ไม่ประมาทแล้ว ทำสมณธรรมอยู่ คอยขับไล่ความหลับที่เกิดแล้วแก่ตน ตื่นอยู่ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่ากำจัดความหลับ ตื่นอยู่.
               บทว่า กสามิว เป็นต้น ความว่า บุคคลใดกำจัดความหลับ ตื่นอยู่ เหมือนม้าดีคอยหลบแส้อันจะตกลงที่ตน คือไม่ให้ตกลงที่ตนได้ฉะนั้น บุคคลนั้นหาได้ยาก.
               ในคาถาที่ ๒ มีเนื้อความสังเขปดังต่อไปนี้ :-
               "ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีความเพียร มีความสลดใจ เหมือนม้าดีอาศัยความประมาท ถูกเขาฟาดด้วยแส้แล้ว รู้สึกตัวว่า ‘ชื่อแม้ตัวเรา ถูกเขาหวดด้วยแส้แล้ว’ ในกาลต่อมา ย่อมทำความเพียรฉะนั้น.
               เธอทั้งหลายเป็นผู้อย่างนั้นแล้ว ประกอบด้วยศรัทธา ๒ อย่างที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ ด้วยปาริสุทธิศีล ๔ ด้วยความเพียรเป็นไปทางกายและเป็นไปทางจิต ด้วยสมาธิสัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘ และด้วยคุณเครื่องวินิจฉัยธรรม มีอันรู้เหตุและมิใช่เหตุเป็นลักษณะ,
               ชื่อว่ามีวิชชาและจรณะถึงพร้อม เพราะความถึงพร้อมแห่งวิชชา ๓ หรือวิชชา ๘ และจรณะ ๑๕,
               ชื่อว่าเป็นผู้มีสติมั่นคง เพราะความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นแล้ว จักละทุกข์ในวัฏฏะอันมีประมาณไม่น้อยนี้ได้."
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องพระปิโลติกเถระ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ทัณฑวรรคที่ ๑๐
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 19อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 20อ่านอรรถกถา 25 / 21อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=618&Z=661
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=882
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=882
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :