บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า ตปนียา ความว่า ธรรมชื่อว่า เป็นเหตุให้เดือดร้อน เพราะเดือดร้อน เบียดเบียน รบกวนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชื่อเป็นเหตุให้เดือดร้อน เพราะความเดือดร้อนเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายหนุนให้ทุกข์นั้นเกิด และให้ทุกข์นั้นเกิดกำลังทั้งในปัจจุบัน และสัมปรายภพ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าตปนะ เพราะเป็นเครื่องเดือดร้อน อธิบายว่า ความเดือดร้อนตามแผดเผาในภายหลัง. ชื่อว่าตปนียา เพราะหนุนโดยความเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น. บทว่า อกตกลฺยาโณ ชื่อว่า อกตกลฺยาโณ เพราะไม่ทำความดี ความเจริญ คือบุญไว้. สองบทที่เหลือเป็นไวพจน์ของบทว่า อกตกลฺยาโณ นั้น. จริงอยู่ บุญ ท่านเรียกว่ากัลยาณะ เพราะอรรถว่าเจริญ เพราะเกื้อกูลความเป็นอยู่ และเพราะเป็นสุขต่อไป. เรียกว่ากุศล เพราะอรรถว่ากำจัดความน่าเกลียดและความชั่วเป็นต้น. เรียกว่าต่อต้านความกลัว เพราะอรรถว่าป้องกันความกลัวทุกข์ และความกลัวสงสาร. บทว่า กตปาโป ชื่อว่าทำบาป เพราะทำ คือสั่งสมแต่ความชั่ว. สองบทที่เหลือเป็นไวพจน์ของบทว่า กตปาโป นั่นเอง. ก็อกุศลกรรม ท่านเรียกว่า บาป เพราะอรรถว่าลามก. เรียกว่า ลุทฺธ (หยาบช้า) เพราะเป็นสภาวะร้ายกาจทั้งในขณะที่ตนยังเป็นไปอยู่ ทั้งในขณะให้ผล และเรียกว่า กิพฺพิส (กล้าแข็ง) เพราะถูกกิเลสประทุษร้าย. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงโดยธัมมาธิฏฐานว่า เทฺว ธมฺมา ตปนียา ธรรม ๒ ประการเป็นเหตุให้เดือดร้อนดังนี้แล้ว จึงทรงแสดงกุศลธรรมที่ยังมิได้ทำ และอกุศลธรรมที่ทำแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นเหตุให้เดือดร้อน จึงตรัสว่า บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนว่า เราไม่ได้ทำกรรมดีดังนี้บ้าง ย่อมเตือนว่า เราทำแต่บาปดังนี้บ้าง ด้วยประการฉะนี้. อธิบายว่า เขาย่อมเดือดร้อน ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง ย่อมเศร้าโศกในภายหลังดังนี้. ในคาถาทั้งหลายพึงทราบความดังต่อไปนี้ ชื่อว่าทุจริต เพราะประพฤติน่าเกลียด หรือประพฤติความชั่วเพราะเน่าด้วยกิเลส. ประพฤติชั่วทางกาย หรือประพฤติชั่วเป็นไปทางกาย ชื่อว่ากายทุจริต แม้วจีทุจริต มโนทุจริต ก็พึงเห็นอย่างนี้. อนึ่ง กายทุจริตเป็นต้นเหล่านี้ ท่านประสงค์เอากรรมบถ. บทว่า ยญฺจญฺญํ โทสสณฺหิตํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึง อกุศลกรรมอันไม่ถึงเป็นกรรมบถ. บทนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ และอกุศลกรรมอย่างอื่น ย่อมนับว่าเป็นกายกรรมเป็นต้นไม่ได้โดยตรงเพราะยังไม่ถึงความเป็นกรรมบถ ชื่อว่าประกอบด้วยโทษ เพราะเกี่ยวข้องกับกิเลส บทว่า นิรยํ ได้แก่ ทุคติแม้ทั้งหมดที่ได้ชื่อว่านรก เพราะอรรถว่าไม่มีความยินดี หรือเพราะอรรถว่าไม่มีความพอใจ หรือนิรยทุกข์ในสุคติทั้งหมด เพราะห้ามสุข คือความเจริญ พึงเห็นความในบทนี้อย่างนี้ว่า บุคคลนั้น คือบุคคลเช่นนั้นย่อมเข้าถึงเช่นนี้ อนึ่ง ในสูตรนี้ ควรกล่าวถึงเรื่องของบุคคลเหล่านี้ คือนันทโคฆาตกะ สองพี่น้อง คนหนึ่งชื่อนันทยักษ์ คนหนึ่งชื่อนันทมาณพ โดยเป็นเหตุที่ให้เดือดร้อน เพราะกายทุจริต เรื่องมีอยู่ว่า สองพี่น้องนั้นฆ่าแม่โคแล้วแบ่งเนื้อออกเป็นสองส่วน แต่นั้นคนน้องพูดกะคนพี่ว่า ฉันมีลูกมาก พี่จงให้ไส้ใหญ่เหล่านี้แก่ฉันเถิด ทีนั้น พี่ชายพูดกะน้องชายนั้นว่า เนื้อทั้งหมดแบ่งออกเป็นสองส่วนแล้ว เจ้าจะเอาอะไรอีกเล่า จึงตีน้องชายตาย พี่ชายหันกลับดูน้องชายเห็นตายแล้ว เกิดเสียใจว่าเราทำกรรมหนักนักเราฆ่าน้องชายโดยไม่ใช่เหตุเลย. พี่ชายเกิดความเดือดร้อนอย่างแรงกล้า เขานึกถึงกรรมนั้นทั้งในที่ยืนทั้งในที่นั่ง ย่อมไม่ได้ความผ่องใสใจเลย. แม้การกิน การดื่ม การเคี้ยวของเขาก็มิได้แผ่ความอร่อยไปในร่างกายเลย ได้ปรากฏเพียง ลำดับนั้น พระเถระรูปหนึ่งได้ถามเขาว่า ดูก่อนอุบาสก ท่านซูบซีดเหลือเกินมีเพียงหนังหุ้มกระดูกเท่านั้น ท่านเป็นโรคอะไร หรือมีกรรมอะไรที่ทำให้ท่านเดือดร้อน. เขาได้สารภาพเรื่องราวทั้งหมด. ลำดับนั้น พระเถระกล่าวแก่เขาว่า ดูก่อนอุบาสก ท่านทำกรรมผิดในที่ไม่น่าจะผิดไว้หนักมาก. ด้วยกรรมนั่นแล เขาตายไปเกิดในนรก เดือดร้อนเพราะวจีทุจริต ควรกล่าวถึงเรื่องสุปปพุทธสักกะ โกกาลิกะและนาง เดือดร้อนเพราะมโนทุจริต ควรกล่าวถึงเรื่องอุกกณะและวัสสัคคัญญะเป็นต้น. จบอรรถกถาตปนียสูตรที่ ๓ -------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต ปฐมวรรค ตปนียสูตร จบ. |