ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 216อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 217อ่านอรรถกถา 25 / 218อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต
ทุติยวรรค เทศนาสูตร

               อรรถกถาเทศนาสูตร               
               ในเทศนาสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ปริยายศัพท์ในบทว่า ปริยาเยน นี้ มาในความว่าเทศนา ในบทมีอาทิว่า มธุปิณฺฑิกปริยาโย เตฺวว นํ ธาเรหิ ท่านจงทรงจำเทศนานั้นไว้ว่า เป็นมธุปิณฑิกปริยายเทศนา ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๕๐

               มาในความว่าเหตุ ในบทมีอาทิว่า อตฺถิ เขฺวส พฺราหฺมณ ปริยาโย เยน มํ ปริยาเยน สมฺมา วทมาโน วเทยฺย อกิริยวาโท สมโณ โคตโม ดูก่อนพราหมณ์ เหตุนี้มีอยู่แล เมื่อจะกล่าวกะเราโดยชอบด้วยเหตุ พึงกล่าวว่า สมณโคดมเป็นอกิริยวาท (วาทะว่า ไม่เป็นอันทำ) ดังนี้.๒-
____________________________
๒- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๒

               มาในความว่าวาระ ในบทมีอาทิว่า กสฺส นุ โข อานนฺท อชฺช ปริยาโย ภิกฺขุนิโย โอวทิตุํ ดูก่อนอานนท์ วันนี้ถึงวาระของใครจะสอนภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้.๓-
____________________________
๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๗๖๗

               ก็ในที่นี้ สมควรทั้งในวาระ ทั้งในเหตุ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ธรรมเทศนา ๒ อย่าง ของตถาคตย่อมมีขึ้นโดยเหตุ และโดยวาระตามสมควร ดังนี้. นี้เป็นอธิบายในบทนี้.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า บางครั้งทรงจำแนกกุศลธรรมและอกุศลธรรม ตามสมควรแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ควรเสพ ธรรมเหล่านี้ไม่ควรเสพ ดังนี้. ทรงแสดงให้รู้โดยไม่ปนอกุศลธรรมเข้ากับกุศลธรรม ทรงแสดงธรรมว่า พวกเธอจงเห็นบาปโดยความเป็นบาป. บางครั้งทรงประกาศโทษ โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาตที่บุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ให้เป็นไปในนรก ให้เป็นไปในกำเนิดเดียรัจฉาน ให้เป็นไปในเปรตวิสัย ปาณาติบาตที่เบากว่าบาปทั้งปวง ทำให้มีอายุน้อย ดังนี้.๔- ทรงให้พรากจากบาปด้วยนิพพิทาเป็นต้น ทรงแสดงธรรมว่า พวกเธอจงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด ดังนี้.
____________________________
๔- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๑๓๐

               บทว่า ภวนฺติ ได้แก่ ย่อมมี คือย่อมเป็นไป.
               บทว่า ปาปํ ปาปกโต ปสฺสถ ความว่า พวกเธอจงเห็นธรรมอันลามกทั้งปวง โดยเป็นธรรมลามก เพราะนำสิ่งไม่เป็นประโยชน์ และทุกข์มาในปัจจุบันและอนาคต.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า นิพฺพินฺทถ ความว่า พวกเธอเห็นโทษมีอย่างต่างๆ กัน โดยนัยมีอาทิว่า บาปชื่อว่าเป็นบาป เพราะเป็นของลามก โดยความเป็นของเลวส่วนเดียว. ชื่อว่าเป็นอกุศล เพราะเป็นความไม่ฉลาด. ชื่อว่าเป็นความเศร้าหมอง เพราะทำจิตที่เคยประภัสสร และผ่องใสให้พินาศจากความประภัสสรเป็นต้น. ชื่อว่าทำให้มีภพใหม่ เพราะทำให้เกิดทุกข์ในภพบ่อยๆ. ชื่อว่ามีความกระวนกระวาย เพราะเป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย คือความเดือดร้อน. ชื่อว่ามีทุกข์เป็นวิบาก เพราะให้ผลเป็นทุกข์อย่างเดียว. ชื่อว่าเป็นเหตุให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไป เพราะทำให้มีชาติ ชรา และมรณะในอนาคตตลอดกาลนานไม่มีกำหนด สามารถกำจัดประโยชน์สุขทั้งหมดได้
               และเห็นอานิสงส์ในการละบาปนั้นด้วยปัญญาชอบ จงเบื่อหน่าย คือถึงความเบื่อหน่ายในธรรมอันลามกนั้น เมื่อเบื่อหน่ายพึงเจริญวิปัสสนาแล้วจงคลายกำหนัด และจงปลดเปลื้องจากบาปนั้นโดยความเป็นบาป ด้วยบรรลุอริยมรรค หรือจงคลายกำหนัดด้วยการคลายอย่างเด็ดขาด ด้วยมรรค แต่นั้นจงปลดเปลื้องด้วยปฏิปัสสัทธิวิมุตติด้วยผล.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาปํ ได้แก่ ชื่อว่าบาป เพราะเป็นของลามก.
               ถามว่า ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ตอบว่า ชื่อว่าบาป เพราะเป็นสิ่งน่ารังเกียจ คือพระอริยะเกลียดโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นต้น ยังสัตว์ให้ถึงทุกข์ในวัฏฏะ.
               ถามว่า ก็บาปนั้นเป็นอย่างไร
               ตอบว่า เป็นธรรมชาติทำให้เกิดในภูมิ ๓ พวกเธอเห็นบาปโดยความเป็นบาป มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว.
               เจริญวิปัสสนาโดยนัยมีอาทิว่า โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นโรค โดยความเป็นลูกศร โดยความเป็นของชั่ว โดยความเบียดเบียน ดังนี้ จงเบื่อหน่ายในบาปนั้น.
               บทว่า อยมฺปิ ทุติยา ได้แก่ ธรรมเทศนาประการที่ ๒ นี้เป็นการเลือกปฏิบัติจากธรรมนั้น อาศัยธรรมเทศนาประการที่ ๑ อันแสดงถึงสิ่งไม่เป็นประโยชน์และความฉิบหายโดยความแน่นอน.
               พึงทราบอธิบายในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               บทว่า พุทฺธสฺส ได้แก่ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า.
               บทว่า สพฺพภูตานุกมฺปิโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหมดด้วยมหากรุณา.
               บทว่า ปริยายวจนํ ได้แก่ การกล่าว คือการแสดงโดยปริยาย.
               บทว่า ปสฺส คือ ทรงร้องเรียกบริษัท ท่านกล่าวหมายถึงบริษัทผู้เป็นหัวหน้า แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ปสฺส หมายถึงพระองค์เท่านั้น.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในบาปนั้น.
               บทว่า วิรชฺชถ ความว่า พวกเธอจงละความกำหนัด.
               บทที่เหลือมีนัยดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.

               จบอรรถกถาเทศนาสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต ทุติยวรรค เทศนาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 216อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 217อ่านอรรถกถา 25 / 218อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5141&Z=5160
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=3835
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=3835
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :