ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 218อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 219อ่านอรรถกถา 25 / 220อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต
ทุติยวรรค ปัญญาสูตร

               อรรถกถาปัญญาสูตร               
               ในปัญญาสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สุปริหีนา ได้แก่ เสื่อมสุด.
               บทว่า เย อริยาย ปญฺญาย ปริหีนา ความว่า สัตว์เหล่าใดเสื่อมจากวิปัสสนาปัญญา และมรรคปัญญาอันเป็นอริยะ คือบริสุทธิ์ เพราะตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งหลาย ด้วยการรู้ความเกิดและความเสื่อมของขันธ์ ๕ และด้วยการแทงตลอดอริยสัจ ๔ สัตว์เหล่านั้นเสื่อม คือเสื่อมมากเหลือเกินจากสมบัติอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ.
               ถามว่า ก็สัตว์เหล่านั้นเป็นจำพวกอะไร.
               ตอบว่า เป็นความจริงดังนั้น สัตว์เหล่าใดประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม สัตว์เหล่านั้นเสื่อม คือพร่อง คือเสื่อมมากโดยส่วนเดียว โดยความเป็นผู้แน่นอนต่อความเห็นผิด.
               ดังที่ท่านกล่าวว่า ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา ทุคติเป็นอันหวังได้ ดังนี้ แม้พร้อมเพรียงด้วยเครื่องกั้นคือวิบาก ก็เสื่อม. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบในธรรมฝ่ายขาว ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิเว้นจากเครื่องกั้น ๓ อย่าง และเป็นผู้ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ ชื่อว่าไม่เสื่อม.
               คำที่เหลือ พึงทราบโดยทำนองอันมีนัยดังที่กล่าวแล้ว.
               ในคาถาทั้งหลายพึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้ บทว่า ปญฺญาย เป็นปัญจมีวิภัตติ. ความว่า เพราะความเสื่อมไปจากวิปัสสนาญาณและมรรคญาณ หรือบทว่า ปญฺญาย นี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ความว่า เพราะเสื่อมไปแห่งญาณดังที่ได้กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง การไม่ให้เกิดขึ้นแห่งญาณที่ควรให้เกิดนั่นแล เป็นความเสื่อมในบทนี้.
               บทว่า นิวิฏฺฐํ นามรูปสฺมึ ได้แก่ ผู้ตั้งมั่นแล้ว คือหยั่งลงแล้วในนามรูป คือในอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิโดยนัยมีอาทิว่า เอตํ มม นั่นของเราดังนี้ เพราะความเสื่อมไปจากปัญญานั้น
               บทว่า อิทํ สจฺจนฺติ มญฺญติ ได้แก่ ย่อมสำคัญว่านามรูปนี้เท่านั้นเป็นของจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะดังนี้.
               พึงเปลี่ยนวิภัตติเป็น สเทวเก โลเก ดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงธรรมฝ่ายเศร้าหมองในคาถาที่ ๑ อย่างนี้แล้ว
               บัดนี้เมื่อจะทรงประกาศอานุภาพแห่งปัญญาว่า กิเลสวัฏย่อมเป็นไปด้วยความมั่นหมายและยึดมั่นในนามรูป เพื่อมิให้เกิดอันใด การเข้าไปตัดวัฏฏะเพื่อให้เกิดอันนั้น ดังนี้ จึงตรัสคาถาว่า ปญฺญา หิ เสฏฺฐา โลกสฺมึ ปัญญาแล ประเสริฐที่สุดในโลก ดังนี้
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โลกสฺมึ ได้แก่ สังขารโลก ธรรมเช่นกับปัญญาในสังขารทั้งหลาย ในสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่มีดุจพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               จริงอยู่ กุศลธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นอย่างยิ่ง และธรรมอันไม่มีโทษทั้งปวงเป็นอันสำเร็จ เพราะความสำเร็จแห่งปัญญา
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า สมฺมาทิฏฺฐิสฺส สมฺมาสงฺกปฺโป โหติ ความดำริชอบย่อมมีแก่ผู้เห็นชอบดังนี้.
               ก็ปัญญาที่ประสงค์เอาในที่นี้ ท่านยกย่องว่าประเสริฐที่สุด เพื่อทรงแสดงถึงความเป็นไปนั้น จึงตรัสว่า ยายํ นิพฺเพธคามินี ปัญญาอันให้ถึงความชำแรกกิเลส ดังนี้เป็นต้น.
               อธิบายความแห่งบทนั้นว่า
               ปัญญาใดอันให้ถึงความชำแรกกิเลสว่า ปัญญานี้ถึงความชำแรก คือทำลายกิเลสมีกองโลภะเป็นต้นอันยังไม่เคยชำแรก ยังไม่เคยทำลาย ย่อมไป ย่อมเป็นไป.
               โยคาวจรย่อมรู้ ย่อมทำให้แจ้งนิพพานและอรหัตอันเป็นที่สิ้นไป เป็นที่สุดแห่งชาติ กล่าวคือความเกิดครั้งแรกแห่งขันธ์ทั้งหลายในหมู่สัตว์ ในภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติและสัตตาวาสนั้นๆ และกรรมภพอันมีชาตินั้นเป็นนิมิต โดยชอบไม่วิปริต ด้วยปัญญาใด ปัญญานี้เป็นมรรคปัญญาพร้อมด้วยวิปัสสนา ประเสริฐที่สุดในโลก ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงยกย่องพระขีณาสพ ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยบุญญานุภาพตามที่กล่าวแล้ว จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายยว่า เตสํ เทวา มนุสฺสา จ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมรักใคร่ต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ดังนี้.
               อธิบายความแห่งบทนั้นว่า
               เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมกระหยิ่มรักใคร่ต่อพระขีณาสพเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าเป็นสัมพุทธะด้วยการตรัสรู้อริยสัจ ๔ เพราะสำเร็จโสฬสกิจ มีปัญญาเป็นต้นในอริยสัจ ๔ ชื่อว่าผู้มีสติ เพราะมีสติไพบูลย์ ชื่อว่าผู้มีปัญญาร่าเริง ด้วยถึงความไพบูลย์แห่งปัญญา เพราะถอนความลุ่มหลงเสียได้โดยนัยดังกล่าวแล้ว หรือว่า ชื่อว่าผู้มีปัญญาร่าเริง ความโสมนัส ความยินดี ความบันเทิง ตั้งแต่เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้นในส่วนเบื้องต้น จนถึงทำนิพพานให้แจ้ง. ชื่อว่าผู้ทรงไว้ซึ่งสรีระอันมีในที่สุด เพราะเป็นผู้สิ้นภวสังโยชน์โดยประการทั้งปวง ย่อมปรารถนาเพื่อบรรลุความเป็นอย่างนั้นบ้างว่า บุญญานุภาพน่าอัศจรรย์ ถ้ากระไร แม้เราก็ควรเป็นผู้ข้ามพ้นทุกข์ทั้งปวงเช่นนี้ได้บ้าง ดังนี้.

               จบอรรถกถาปัญญาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต ทุติยวรรค ปัญญาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 218อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 219อ่านอรรถกถา 25 / 220อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5178&Z=5198
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=3909
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=3909
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :