ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 223อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 25 / 225อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต
ทุติยวรรค สิกขาสูตร

               อรรถกถาสิกขาสูตร               
               ในสิกขาสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               ชื่อว่า สิกฺขา ในบทว่า สิกฺขานิสํสา นี้ เพราะต้องศึกษาสิกขานั้นมี ๓ อย่าง คือ อธิสีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑. ชื่อว่า สิกฺขานิสํสา เพราะมีสิกขา ๓ อย่างนั้นเป็นอานิสงส์ มิใช่ลาภ สักการะและความสรรเสริญ.
               บทว่า วิหรถ ได้แก่ เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์อยู่เถิด.
               อธิบายว่า เธอทั้งหลายจงเป็นผู้เห็นอานิสงส์ในสิกขา ๓ อย่างนั้น คือเห็นอานิสงส์ที่ควรจะได้ด้วยสิกขา ๓ อย่างนั้นอยู่เถิด.
               บทว่า ปญฺญตรา ความว่า ชื่อว่ามีปัญญายิ่ง เพราะในสิกขา ๓ อย่างนั้นมีปัญญา ได้แก่อธิปัญญาสิกขา ปัญญานั้นยิ่ง คือเป็นประธานประเสริฐสุด.
               อธิบายว่า ผู้ที่มีสิกขาเป็นอานิสงส์อยู่ เป็นผู้มีปัญญายิ่ง ดังนี้.
               บทว่า วิมุตฺติสารา ได้แก่ ชื่อว่ามีวิมุตติเป็นสาระ เพราะมีวิมุตติอันได้แก่อรหัตผลเป็นสาระ.
               อธิบายว่า ถือเอาวิมุตติตามที่กล่าวแล้วนั่นแล โดยความเป็นสาระแล้วตั้งอยู่.
               จริงอยู่ ผู้ที่มีสิกขาเป็นอานิสงส์และมีปัญญายิ่ง ย่อมไม่ปรารถนาภพวิเศษ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชนทั้งหลายหวังความเจริญ ย่อมปรารถนาวิมุตติเท่านั้นโดยความเป็นสาระ.
               บทว่า สตาธิปเตยฺยา ได้แก่ ชื่อว่ามีสติเป็นใหญ่ เพราะมีสติเป็นใหญ่ด้วยอรรถว่า ทำให้เจริญ อธิปตินั่นแลทำให้เป็น อธิปเตยฺยํ อธิบายว่า มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ขวนขวายในการเจริญสมถะและวิปัสสนา ด้วยหลักวิปัสสนามีกายานุปัสสนาเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความในบทนี้อย่างนี้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ กระทำการศึกษาสิกขา ๓ อย่าง ในการได้ขณะที่ได้ยากเห็นปานนี้ ให้เป็นอานิสงส์อยู่เถิด และเมื่ออยู่อย่างนี้ จงเป็นผู้มีปัญญายิ่ง คือยิ่งด้วยปัญญา จงเป็นผู้ประกอบด้วยโลกุตรปัญญาอยู่เถิด ครั้นเป็นอย่างนี้แล้ว จงเป็นผู้มีวิมุตติเป็นสาระ มีนิพพานเป็นสาระ ไม่มีอย่างอื่นเป็นสาระอยู่เถิด ข้อที่เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสติเป็นใหญ่ จงเป็นผู้ขวนขวายในการเจริญสติปัฏฐาน หรือจงเป็นผู้มีจิตมีสติรักษาในที่ทั้งปวงอยู่เถิด นั้นเป็นอุบายของความเป็นอย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชักชวนภิกษุทั้งหลายในสิกขา ๓ ด้วยประการฉะนี้ ทรงแสดงถึงอุบายที่จะให้สิกขา ๓ ที่ควรศึกษาถึงความบริบูรณ์โดยสังเขป.
               บัดนี้ เมื่อจะทรงประกาศถึงความปฏิบัตินั้นไม่เป็นโมฆะด้วยเห็นผลวิเศษของผู้ปฏิบัติตามที่ได้สอนไว้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า สิกฺขานิสํสานํ ดังนี้.
               ข้อนั้นมีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้ว.
               ในคาถาทั้งหลายมีอธิบายดังต่อไปนี้
               บทว่า ปริปุณฺณสิกฺขํ ได้แก่ พระอเสกขะผู้มีสิกขาบริสุทธิ์ด้วยการบรรลุผลอันเลิศ วิมุตติทั้งหลายอันกำเริบ ท่านเรียกว่า หานธรรม (มีความเสื่อมเป็นธรรมดา) ในบทว่า อปหานธมฺมํ นี้.
               ก็ปหานธรรม ได้แก่ มีความเสื่อมเป็นธรรม มีความกำเริบเป็นธรรมดา
               ชื่อว่า อปหานธมฺโม เพราะไม่มีความเสื่อมเป็นธรรมดา บาลีว่า อกุปฺปธมฺโม อปหานธมฺโม ดังนี้บ้าง มีความอย่างเดียวกัน
               ชื่อว่า ขยนฺโต เพราะมีความสิ้นไปเป็นที่สุด ความสิ้นไปแห่งชาติ ชื่อว่า ชาติขยนฺโต ได้แก่ นิพพานนั้นเอง. ชื่อว่า ชาติขยนฺตทสฺสี เพราะเห็นนิพพานนั้น
               บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะที่สุดแห่งการถึงฝั่งแห่งชรานี้ เป็นอานิสงส์แห่งการทำสิกขาให้บริบูรณ์.
               บทว่า สทา คือ ตลอดกาลทั้งหมด.
               บทว่า ฌานรตา ได้แก่ ยินดีแล้วในฌาน ๒ อย่าง คือ ลักขณูปนิชฌาน (การเข้าไปเพ่งลักษณะ) ๑ อารัมมณูปนิชฌาน (การเข้าไปเพ่งอารมณ์) ๑ คือมีจิตตั้งมั่นจากฌานนั้น.
               บทว่า มารํ สเสนํ อภิภุยฺย ได้แก่ ครอบงำมาร ๔ อย่างพร้อมด้วยเสนามาร อันได้แก่เสนา คือกิเลสและเสนา คือความพินาศ ไม่ให้เหลือ.
               จริงอยู่ กิเลสทั้งหลายท่านเรียกว่าเสนา เพราะเข้าถึงความเป็นสหายแม้ของเทวปุตตมารในการฆ่าคุณความดี. อนึ่ง ความพินาศมีโรคเป็นต้น ก็เป็นเสนาของมัจจุมาร.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         กามา เต ปฐมา เสนา    ทุติยา อรติ วุจฺจติ
                         ตติยา ขุปฺปิปาสา เต    จตุตฺถี ตณฺหา ปวุจฺจติ
                         ปญฺจมี ถีนมิทฺธนฺเต    ฉฏฺฐา ภิรู ปวุจฺจติ
                         สตฺตมี วิจิกิจฺฉา เต    มกฺโข ถมฺโภ จ ปวุจฺจติ
                         โลโภ สิโลโก สกฺกาโร    มิจฺฉา ลทฺโธ จ โย ยโส
                         โย จตฺตานํ สมุกฺกํโส    ปเร จ อวชานติ
                         เอสา นมุจิ เต เสนา    กณฺหฺสสาภิปฺปหาริณี
                         น นํ อสุโร ชินาติ    เชตฺวา จ ลภเต สุขํ
                                   กามทั้งหลายเหล่านั้น ท่านกล่าวว่าเป็นเสนาที่ ๑
                         ความริษยาเป็นเสนาที่ ๒ ความอยากความกระหายเป็น
                         เสนาที่ ๓ ตัณหาเป็นเสนาที่ ๔ ถีนมิทธะเป็นเสนาที่ ๕
                         ความขลาดเป็นเสนาที่ ๖ ความสงสัยเป็นเสนาที่ ๗ ความ
                         ลบหลู่ ความหัวดื้อ ความโลภ ความสรรเสริญ สักการะ
                         ความเห็นผิด ยศที่ได้รับแล้ว การยกตนและการข่มผู้อื่น
                         เป็นเสนาที่ ๘ การทำลายนั้นเป็นเสนาของท่าน มีปกติ
                         ทำลายความชั่วร้าย อสูรชนะมารนั้นไม่ได้ ก็ครั้นชนะ
                         ได้แล้ว ย่อมได้ความสุข.๑-
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕๕   ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๑๓๔

               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ    โก ชญฺญา มรณํ สุเว
                         น หิ โน สงฺครนฺเตน    มหาเสเนน มจฺจุนา
                                   ควรทำความเพียร ในวันนี้ทีเดียว ใครจะรู้ว่า
                         ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้ เพราะการผัดเพี้ยนความ
                         ตายอันมีเสนาใหญ่นั้นของเราทั้งหลายมีไม่ได้เลย
                         ดังนี้.๒-
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๕๒

               บทว่า ภวถ ชาติมรณสฺส ปารคา ได้แก่ เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะ คือถึงนิพพานเถิด.

               จบอรรถกถาสิกขาสูตรที่ ๙               
               ------------------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทุกนิบาต ทุติยวรรค สิกขาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 223อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 224อ่านอรรถกถา 25 / 225อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5295&Z=5315
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=4286
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=4286
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :