ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 228อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 229อ่านอรรถกถา 25 / 230อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปฐมวรรค ธาตุสูตร

               อรรถกถาธาตุสูตร               
               ในธาตุสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ธาตุโย ความว่า ชื่อว่าธาตุ เพราะหมายความว่า ทรงไว้ซึ่งผลและสภาวะของตน. เพราะว่า บรรดาผลและสภาวะทั้ง ๒ อย่างนี้ สิ่งที่ให้เกิดผล ชื่อว่าธาตุ เพราะหมายความว่า ทรงไว้ซึ่งผลของตนและสภาวะของตน นอกจากนี้ ชื่อว่าธาตุ เพราะหมายความว่า ทรงไว้เฉพาะสภาวะอย่างเดียว.
               รูปภพ ชื่อว่ารูปธาตุ ที่มาของธาตุพึงกำหนดด้วยภพที่มาของภพ พึงกำหนดด้วยธาตุ ดังนั้น ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการกำหนดด้วยภพ เพราะฉะนั้น รูปธาตุ คือรูปาวจรธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า
               รูปาวจรธรรม คืออะไร? คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ท่องเที่ยวไปในภพนี้ คือนับเนื่องในภพนี้ โดยเบื้องต่ำกำหนดเอาเทวโลกเป็นที่สุด เบื้องบนกำหนดเทพ (พรหม) ชั้นอกนิฏฐาไว้ในภายใน ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่ารูปาวจร.๑-
               อรูปภพ ชื่อว่าอรูปธาตุ ถึงในพระสูตรนี้ก็ตรัสถึงการกำหนดด้วยภพ ดังนั้น อรูปธาตุ คืออรูปาวจรธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า
               อรูปาวจรธรรม คืออะไร? คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ท่องเที่ยวไปในภพนี้ คือนับเนื่องในภพนี้โดยเบื้องต่ำกำหนดด้วยเทพ (พรหม) ผู้เกิดในชั้นอากาสานัญจายตนะ ไว้ในภายใน เบื้องบนกำหนดด้วยเทพ (พรหม) ที่เกิดในชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าอรูปาวจรธรรม.๒-
               พระนิพพานพึงทราบว่า ชื่อว่านิโรธธาตุ.
____________________________
๑- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๒๙
๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๓๐

               อีกนัยหนึ่ง ความเป็นไปแห่งธรรมที่ประกอบด้วยรูป คือเนื่องด้วยรูป ชื่อว่ารูปธาตุ ได้แก่ปัญจโวการภพและเอกโวการภพ. กามภพและรูปภพทั้งสิ้นสงเคราะห์เข้ากับปัญจโวการภพและเอกโวการภพนั้น.
               ความเป็นไปแห่งธรรมที่เว้นจากรูป ชื่อว่าอรูปธาตุ ได้แก่จตุโวการภพ. อรูปภพสงเคราะห์เข้ากับอรูปธาตุนั้น ดังนั้น ด้วยบททั้งสองจึงเป็นอันทรงแสดงถึงภพ ๓ อันเป็นไปในสังสารทั้งหมด.
               แต่ด้วยบทที่ ๓ ทรงสงเคราะห์อสังขตธรรมเท่านั้น ดังนั้นในสูตรนี้ มรรคและผลทั้งหลายจึงชื่อว่าเป็นธรรมที่พ้นจาก ๓ ภพ.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่าด้วยบททั้งสองว่า ธรรมที่เป็นสภาวะของรูป ชื่อว่ารูปธาตุ. ธรรมที่เป็นสภาวะของอรูป ชื่อว่าอรูปธาตุ ดังนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงเบญจขันธ์โดยไม่มีส่วนเหลือ และว่าธรรมที่เป็นอารมณ์ของรูปตัณหา ชื่อว่ารูปธาตุ. ที่เป็นอารมณ์ของอรูปตัณหา ชื่อว่าอรูปธาตุ. คำทั้งหมดนั้นมิได้ทรงประสงค์เอาในสูตรนี้ เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้
               บทว่า รูปธาตุํ ปริญฺญาย ความว่า กำหนดรู้ความเป็นไปแห่งธรรมอันเนื่องด้วยรูป ด้วยปริญญา ๓ มีญาตปริญญาเป็นต้น.
               บทว่า อรูเปสุ อสณฺฐิตา ความว่า ไม่ประดิษฐานอยู่แล้ว คือไม่พัวพันอยู่ในธรรมทั้งหลายที่เป็นอรูปาวจร ด้วยอำนาจภวราคะและด้วยอำนาจภวทิฏฐิ. ภิกษุทั้งหลายสวดกันว่า อรูเปสุ อสณฺฑิตา ก็มี. ความหมายก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดรู้ธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               บทว่า นิโรเธ เย วิมุจฺจนฺติ ความว่า ชนผู้เป็นผู้พระขีณาสพเหล่าใด พ้นจากกิเลสโดยไม่มีเหลือในพระนิพพานที่เป็นอารมณ์ด้วยสมุจเฉท (วิมุตติ) และปฏิปัสสัทธิ (วิมุตติ) ด้วยสามารถแห่งมรรคผลชั้นสูง.
               บทว่า เต ชนา มจฺจุหายิโน ความว่า ชนผู้เป็นพระขีณาสพเหล่านั้น ล่วงพ้นความตายได้แล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการบรรลุอมตธรรมโดยการก้าวล่วงธาตุทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว เมื่อจะยังอุตสาหะในการบรรลุอมตธรรมนั้นแก่ชนเหล่านั้นว่า ปฏิปทานี้ด้วย ทางที่เราตถาคตดำเนินไปแล้วด้วย เราตถาคตแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายดังนี้ จึงตรัสพระคาถาที่สอง (ต่อไป).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเยน ความว่า ด้วยนามกาย (หรือ) ด้วยมรรคและผลทั้งหลาย.
               บทว่า ผุสิตฺวา แปลว่า บรรลุแล้ว.
               บทว่า นิรูปธึ ความว่า เว้นจากอุปธิทุกอย่างมีขันธูปธิเป็นต้น.
               บทว่า อุปธิปฏินิสฺสคฺคํ ได้แก่ เหตุเป็นเครื่องสละ คืออุปธิเหล่านั้นนั่นแหละ เพราะว่าอุปธิทั้งหมดเป็นอันพระขีณาสพสละคืนแล้ว ด้วยการกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานด้วยมรรคญาณ เพราะฉะนั้น การกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานด้วยมรรคญาณนั้น จึงเป็นเหตุแห่งการสละคืนอุปธิเหล่านั้น.
               บทว่า สจฺฉิกตฺวา ความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หาอาสวะมิได้ ทรงกระทำ (อมตธาตุ) ให้ประจักษ์แก่พระองค์ด้วยการเข้าผลสมาบัติตามกาลที่สมควร ทรงแสดงบท คือพระนิพพานนั่นแหละที่ไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรกระทำความขะมักเขม้น เพื่อบรรลุบทคือพระนิพพานนั้น.

               จบอรรถกถาธาตุสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปฐมวรรค ธาตุสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 228อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 229อ่านอรรถกถา 25 / 230อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5418&Z=5432
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=4582
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=4582
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :