ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 230อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 231อ่านอรรถกถา 25 / 232อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปฐมวรรค เวทนาสูตรที่ ๒

               อรรถกถาทุติยเวทนาสูตร               
               ในทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทุกฺขโต ทฏฺฐพฺพา ความว่า สุขเวทนาพึงเห็นด้วยญาณจักษุว่าเป็นทุกข์ ด้วยอำนาจแห่งวิปริฌามทุกข์.
               บทว่า สลฺลโต ทฏฺฐพฺพา ความว่า ทุกขเวทนาพึงเห็นว่าเป็นเหมือนลูกศร เพราะความเป็นทุกขทุกข์ (เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้) โดยหมายความว่า นำออกไปได้ยาก คือโดยความหมายว่ารบกวน ได้แก่มีความหมายว่า บีบคั้นในภายใน.
               บทว่า อนิจฺจโต ความว่า อทุกขมสุขเวทนา พึงเห็นว่าไม่เที่ยง เพราะมีแล้วกลับไม่มี เพราะมีการเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปในที่สุด เพราะเป็นของชั่วคราว และเพราะเป็นของขัดแย้งกับความเที่ยง.
               ก็ในเรื่องเวทนานี้ ถึงเวทนาทั้งหมดต้องเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงก็จริง แต่เพราะพระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้ว่า การเห็นทุกข์เป็นเครื่องหมายแห่งวิราคะ เป็นความยินดียิ่งกว่าการเห็นความไม่เที่ยง จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุขเวทนาพึงเห็นโดยความเป็นทุกข์ ทุกขเวทนาพึงเห็นโดยความเป็นเหมือนลูกศร.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้อย่างนั้นเพื่อจะให้เกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายที่ปุถุชนยึดมั่นว่าเป็นสุข ด้วยคำว่า ทุกขฺโต นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความที่สุขเวทนานั้นว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ประจำสังขาร. เพราะเหตุที่ความสุขเป็นวิปริณามทุกข์ โดยพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุขเวทนาต้องเห็นโดยความเป็นทุกข์ ดังนี้แล้ว เพราะเหตุที่ทุกขเวทนาเป็นทุกขทุกขะ (ทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้) สำหรับชนทั้งหลายผู้คิดอยู่ว่า แม้ความสุขยังเป็นถึงเช่นนี้ ความทุกข์จะถึงขนาดไหนเล่า? ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ทุกขเวทนาต้องเห็นโดยเป็นเหมือนลูกศร. แต่เมื่อจะทรงแสดงว่า เวทนานอกนี้เป็นทุกข์ เพราะเป็นสังขารทุกข์นั่นเอง จึงได้ตรัสว่า อทุกขมสุขเวทนาต้องเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ดังนี้.
               อนึ่ง บรรดาคำเหล่านั้น ด้วยคำนี้ว่า สุขเวทนาต้องเห็นโดยความเป็นทุกข์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงอุบาย สำหรับถอนราคะ เพราะว่าราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ (ในสันดาน) เพราะสุขเวทนา.
               ด้วยคำนี้ว่า ทุกขเวทนาต้องเห็นโดยเป็นเหมือนลูกศร. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุบายสำหรับถอนโทสะ เพราะปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ (ในสันดาน) เพราะทุกขเวทนา.
               ด้วยคำนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนาต้องเห็นโดยความไม่เที่ยง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุบายสำหรับถอนราคะ โทสะ โมหะ เพราะอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ (ในสันดาน) เพราะอทุกขมสุขเวทนา.
               ทำนองเดียวกันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการละสังกิเลสคือตัณหา ด้วยพุทธพจน์ข้อแรก เพราะสังกิเลสคือตัณหานั้น เป็นเหตุให้พอใจในสุข. ทรงแสดงการละสังกิเลสคือทุจริต ด้วยพระพุทธพจน์ข้อที่ ๒ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายไม่รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง จึงประพฤติทุจริต เพื่อแก้ทุกข์นั้น. ทรงแสดงการละสังกิเลสคือทิฏฐิ ด้วยพระพุทธพจน์ข้อที่ ๓ เพราะผู้ที่เห็นอทุกขมสุขโดยความไม่เที่ยงอยู่ จะไม่มีสังกิเลสคือทิฏฐิ.
               อนึ่ง ทรงแสดงอทุกขมสุขเวทนาว่าเป็นเครื่องหมายแห่งอวิชชา เพราะความที่สังกิเลสคือทิฏฐิ เป็นเครื่องหมายแห่งอวิชชา.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยพระพุทธพจน์ข้อแรก ทรงแสดงถึงการกำหนดรู้วิปริณามทุกข์. ด้วยข้อที่ ๒ ทรงแสดงถึงการกำหนดรู้ด้วยทุกขทุกขะ. ด้วยข้อที่ ๓ ทรงแสดงถึงการกำหนดรู้สังขารทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยพุทธพจน์ข้อแรก ทรงแสดงถึงการกำหนดรู้อิฏฐารมณ์. ด้วยพระพุทธพจน์ข้อที่ ๒ ทรงแสดงถึงการกำหนดรู้อนิฏฐารมณ์. ด้วยพระพุทธพจน์ข้อที่ ๓ ทรงแสดงถึงการกำหนดรู้ด้วยมัชฌัตตารมณ์ เพราะเมื่อคลายกำหนัดธรรมารมณ์เหล่านั้นแล้ว แม้อารมณ์ทั้งหลาย ก็เป็นอันคลายกำหนัดไปด้วย พึงทราบดังพรรณนามานี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า การหลุดพ้นโดยไม่มีที่ตั้งด้วยทุกขานุปัสสนา เป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยการกำหนดการละราคะ เป็นข้อแรก. การหลุดพ้นโดยไม่มีนิมิตด้วยอนิจจานุปัสสนา เป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยการกำหนดการละโทสะ เป็นข้อที่ ๒. การหลุดพ้นโดยเป็นของว่างเปล่าด้วยอนัตตานุปัสสนา เป็นอันทรงแสดงแล้วด้วยการกำหนดการละโมหะ เป็นข้อที่ ๓.
               บทว่า ยโต เท่ากับ ยทา หรือ ยสฺมา (แปลว่า เมื่อใดหรือเพราะเหตุใด).
               บทว่า อริโย ความว่า เป็นผู้อยู่ไกลจากกิเลสทั้งหลาย คือเป็นผู้บริสุทธิ์.
               บทว่า สมฺมทฺทโส ความว่า มีปกติเห็นเวทนาทั้งหมด หรือสัจจะทั้ง ๔ ไม่ผิดพลาดไป.
               บทว่า อจฺเฉจฺฉิ ตณฺหํ ความว่า ตัดตัณหาอันมีเวทนาเป็นราก ด้วยมรรคเบื้องปลาย ได้แก่ตัดขาดโดยไม่เหลือ.
               บทว่า วิวตฺตยิ สํโยชนํ ความว่า หมุนสังโยชน์ ๑๐ อย่างไปได้โดยรอบ คือทำให้ไม่มีราคะ.
               บทว่า สมฺมา ได้แก่ โดยเหตุ คือโดยการณ์.
               บทว่า มานาภิสมยา ความว่า เพราะตรัสรู้ด้วยการเห็น หรือเพราะตรัสรู้ด้วยการละซึ่งมานะ. อธิบายว่า อรหัตมรรคเห็นมานะ ด้วยอำนาจแห่งกิจ นี้เป็นการบรรลุด้วยการเห็นซึ่งมานะนั้น. ก็มานะที่อริยมรรคเห็นแล้วนั้น อันอริยมรรคนั้นย่อมละได้ในทันใดนั้นเอง เหมือนชีวิตของสัตว์ที่ถูกกัดแล้ว ย่อมละได้ด้วยพิษที่กัดแล้ว นี้เป็นการบรรลุด้วยการละซึ่งมานะนั้น.
               บทว่า อนฺตมกาสิ ทุกฺขสฺส ความว่า พระอริยสาวกได้ทำที่สุดกล่าวคือเงื่อน ได้แก่สุดสายปลายทางแห่งวัฏทุกข์ทั้งหมด. มีอธิบายว่า ได้กระทำทุกข์ให้เหลือไว้เพียงร่างกายในชาติสุดท้าย.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้
               บทว่า โย ได้แก่ พระอริยสาวกใด.
               บทว่า อทฺทา แปลว่า ได้เห็นแล้ว. อธิบายว่า เห็นสุขเวทนาโดยเป็นทุกข์. แท้จริง สุขเวทนาเป็นเสมือนโภชนะที่เจือด้วยยาพิษ ในเวลาบริโภคจะให้ความอร่อย ในเวลาเปลี่ยนแปลงไป ย่อมเป็นทุกข์อย่างเดียว.
               บทว่า ทุกฺขมทกฺขิ สลฺลโต ความว่า ทุกขเวทนาเมื่อเกิดขึ้นก็ดี ถึงฐิติขณะ (ดำรงอยู่) ก็ดี แตกดับไปก็ดี ย่อมเบียดเบียนทั้งนั้น เหมือนลูกศรกำลังเสียบเข้าสรีระก็ดี หยุดอยู่ก็ดี กำลังถอนออกก็ดี ย่อมให้เกิดความเจ็บปวดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เห็นทุกข์นั้นโดยเป็นลูกศร.
               บทว่า อทกฺขิ นํ อนิจฺจโต ความว่า เห็นอทุกขมสุขเวทนานั้น แม้ที่เกิดขึ้นละเอียดกว่า เพราะเป็นภาวะที่ละเอียดกว่าสุขและทุกข์โดยความไม่เที่ยง เพราะมีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด.
               บทว่า สเว สมฺมทฺทโส ความว่า พระอริยสาวกนั้นเอง มีปกติเห็นเวทนาทั้ง ๓ โดยเป็นทุกข์เป็นต้นโดยถูกต้องถ่องแท้.
               บทว่า ยโต ก็เท่ากับ ยสมา (แปลว่า เพราะเหตุใด).
               บทว่า ตตฺถ แปลว่า ในเวทนา.
               บทว่า วิมุจฺจติ ความว่า ย่อมพ้นด้วยสามารถแห่งสมุจเฉทวิมุตติ.
               มีคำอธิบายดังนี้ เพราะเหตุที่ท่านเห็นสุขเป็นต้น โดยความเป็นทุกข์เป็นต้น ฉะนั้น ท่านจึงหลุดพ้นในเวทนานั้น ด้วยสามารถแห่งการตัดขาด เพราะละฉันทราคะที่เนื่องด้วยเวทนานั้น. ด้วยว่าเมื่อกล่าวถึง ยํ ศัพท์ ก็ควรนำเอา ตํ ศัพท์มากล่าวไว้ด้วย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยโต ความว่า สำรวมแล้ว คือมีตนอันระวังแล้วด้วยกาย วาจาและใจ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระอริยสาวกชื่อว่า ยโต เพราะพยายาม คือเริ่มตั้งความเพียร. อธิบายว่า สืบต่อกันไป.
               บทว่า อภิญฺญาโวสิโต ความว่า เสร็จสิ้นแล้ว คือทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยอภิญญา ๖ เพราะเจริญกรรมฐานมีสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์โดยมีเวทนาเป็นหลัก.
               บทว่า สนฺโต ได้แก่ ผู้สงบแล้วด้วยการสงบกิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า โยคาติโค ความว่า พระโยคาวจรผู้ก้าวล่วงโยคะทั้ง ๔ อย่างมีกามโยคะเป็นต้น ชื่อว่ามุนี เพราะรู้ประโยชน์เกื้อกูลทั้งสองอย่าง

               จบอรรถกถาทุติยเวทนาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปฐมวรรค เวทนาสูตรที่ ๒ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 230อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 231อ่านอรรถกถา 25 / 232อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5448&Z=5468
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=4861
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=4861
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :