ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 235อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 236อ่านอรรถกถา 25 / 237อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ปฐมวรรค ตัณหาสูตร

               อรรถกถาตัณหาสูตร               
               ในตัณหาสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               กิเลสชาติ ชื่อว่าตัณหา เพราะหมายความว่าทะยานอยาก.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าตัณหา เพราะหวั่นไหวอารมณ์มีรูปเป็นต้น. บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงแยกตัณหานั้นจึงตรัสคำมีอาทิว่า กามตัณหา ดังนี้.
               บรรดาตัณหาทั้ง ๓ นั้น ราคะที่ประกอบไปด้วยเบญจกามคุณ ชื่อว่ากามตัณหา. ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพ ความใคร่ในฌาน ราคะที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิและความปรารถนาด้วยอำนาจแห่งภวราคะ ชื่อว่าภวตัณหา. ราคะที่สหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่าวิภวตัณหา.
               อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาที่เหลือแม้ทั้งหมด เว้นตัณหาสองอย่างข้างหลัง ชื่อว่ากามตัณหาทั้งนั้น.
               สมดังคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ในตัณหาเหล่านั้น ภวตัณหาคืออะไร? คือความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความกำหนัดกล้าแห่งจิตอันสหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ นี้เราตถาคตเรียกว่า ภวตัณหา.
               ในตัณหาเหล่านั้น วิภวตัณหาคืออะไร? คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความกำหนัดกล้าแห่งจิต นี้เราตถาคตเรียกว่า วิภวตัณหา.
               ตัณหาที่เหลือเรียกว่า กามตัณหา.๑-
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๓๓

               ก็ตัณหาทั้ง ๓ เหล่านี้แยกแต่ละอย่างออกเป็น ๖ โดยประเภทอารมณ์ คือรูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา จึงเป็นตัณหา ๑๘ อย่าง ตัณหาเหล่านั้นรวมเป็น ๓๖ คือ ตัณหาในรูปภายในเป็นต้น ๑๘ ตัณหาในรูปภายนอกเป็นต้น ๑๘ ดังนั้นจึงรวมเป็นตัณหา ๑๐๘ โดยแยกเป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ (แต่) ตัณหานั้น เมื่อทำการสงเคราะห์อีก จัดโดยไม่เกี่ยวกับการแยกประเภทตามกาล (ทั้ง ๓) ก็มี ๓๖ เท่านั้นเอง เมื่อไม่ทำการจำแนกรูป (ตัณหา) เป็นต้นออกเป็นภายในภายนอกก็จะมี ๑๘ เท่านั้น เมื่อกระทำเพียงการจำแนกตามอารมณ์มีรูปเป็นต้นก็เหลือ ๖ เท่านั้น ตัณหาเหล่านั้น เมื่อจัดโดยไม่ทำการจำแนกไปตามอารมณ์ ก็มีเพียง ๓ เท่านั้นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้
               บทว่า ตณฺหาโยเคน ความว่า ด้วยเครื่องผูกคือตัณหา เชื่อมความว่าประกอบด้วยกามโยคะและภวโยคะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ถูกประกอบไว้ในภพเป็นต้น เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า รตฺตจิตฺตา ภวาภเว มีจิตยินดีแล้วในภพน้อยและภพใหญ่.
               อธิบายว่า มีจิตข้องอยู่แล้วในภพน้อยและภพใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภโว ได้แก่ สัสสตทิฏฐิ.
               บทว่า อภโว ได้แก่ อุจเฉททิฏฐิ เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้นเป็นผู้มีจิตติดข้องอยู่ในภวาภวะ คือสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิทั้งหลาย ด้วยคำว่าภวาภวะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงภวตัณหาและวิภวตัณหา.
               ในธรรมฝ่ายนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงกามตัณหาอย่างเดียวไว้ด้วยบทนี้ว่า ตณฺหาโยเคน ดังนี้.
               บทว่า เต โยคยุตฺตา มารสฺส ความว่า บุคคลเหล่านั้นคือผู้เป็นอย่างที่ว่ามานี้ถูกประกอบแล้ว คือถูกผูกไว้แล้วด้วยเครื่องผูกกล่าวคือบ่วงแห่งมาร เพราะว่าราคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นเครื่องผูกของมาร เป็นบ่วงของมาร.
               สมดังที่มารกราบทูลว่า
                         บ่วงนี้ใดที่มีอยู่ในใจ เที่ยวไปได้ในอากาศ
                         สัญจรไปอยู่ เราจักผูกท่านด้วยบ่วงนั้น
                         ดูก่อนสมณะ ท่านจักไม่พ้นเรา
๒- ดังนี้.
____________________________
๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๓๓   สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๔๕๙

               เหล่าสัตว์ชื่อว่าผู้ไม่เกษมจากโยคะ เพราะยังไม่ได้บรรลุนิพพาน และพระอรหัตที่ชื่อว่าเป็นแดนเกษมจากโยคะ เพราะถูกโยคะทั้ง ๔ ขัดขวาง ชื่อว่าชน เพราะเป็นที่เกิดกิเลสและอภิสังขารทั้งหลายติดต่อกันไป ชื่อว่าสัตว์ เพราะติดคือข้องอยู่ในรูปเป็นต้น จะไปสู่สงสาร กล่าวคือการเกิดขึ้นต่อๆ แห่งขันธ์เป็นต้น ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า
                         ลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งหลาย
                         เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย เรียกว่าสงสาร
               คือ จะไม่พ้นไปจากสงสารนั้น.
               เพราะเหตุไร
               เพราะประกอบด้วยเครื่องผูกคือตัณหา. สัตว์ทั้งหลายผู้มีปกติไปสู่ความเกิดความตาย คือเป็นผู้มีปกติเข้าถึงความเกิด ความตายบ่อยๆ นั่นเอง
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัฏฏะด้วยคำมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะจึงตรัสคาถาว่า เย จ ตณฺหํ ปหนฺตวาน ดังนี้.
               พระคาถานั้นเข้าใจง่ายอยู่แล้ว เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง.

               จบอรรถกถาตัณหาสูตรที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ปฐมวรรค ตัณหาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 235อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 236อ่านอรรถกถา 25 / 237อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5532&Z=5548
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=5000
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=5000
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๖  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :