ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 240อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 241อ่านอรรถกถา 25 / 242อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ทุติยวรรค อัทธาสูตร

               อรรถกถาอัทธาสูตร               
               ในอัทธาสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               กาล (เวลา) ชื่อว่าอัทธา. ในคำว่า อตีโต อทฺธา เป็นต้นมีบรรยายไว้ ๒ อย่าง คือบรรยายตามพระสูตร ๑ บรรยายตามพระอภิธรรม ๑.
               ในบรรยาย ๒ อย่างนั้น โดยการบรรยายตามพระสูตร เวลาก่อนแต่ปฏิสนธิกาล ชื่อว่าอดีตอัทธา. เวลาหลังจากจุติ ชื่อว่าอนาคตอัทธา. เวลาในระหว่างแห่งปฏิสนธิกับจุติ รวมทั้งจุติและปฏิสนธิ ชื่อว่าปัจจุบันนัทธา.
               โดยการบรรยายตามพระอภิธรรม เวลาที่ดับไปแล้วตามธรรมดา เพราะผ่านขณะทั้ง ๓ เหล่านี้ คือ อุปปาทักขณะ ฐิติขณะ ภังคขณะไป ชื่อว่าอตีตอัทธา. เวลาที่ยังไม่ถึงขณะแม้ทั้ง ๓ ชื่อว่าอนาคตอัทธา. เวลาที่พรั่งพร้อมไปด้วยขณะทั้ง ๓ ชื่อว่าปัจจุบันนัทธา.
               อีกนัยหนึ่ง ก็การจำแนกกาลมีอดีตเป็นต้นนี้ พึงทราบว่ามี ๔ อย่างด้วยสามารถแห่งอัทธา ๑ สันตติ ๑ สมัย ๑ ขณะ ๑. บรรดา ๔ อย่างนั้น การจำแนกโดยอัทธาได้กล่าวมาแล้วด้วยอำนาจแห่งสันตติ รูปทั้งหลายนี้เหมือนกัน มีฤดูเดียวกันเป็นสมุฏฐาน และมีอาหารอย่างเดียวกัน เป็นสมุฏฐาน แม้กำลังเป็นไป ด้วยสามารถแห่งเบื้องต้นและเบื้องปลายเป็นปัจจุบัน รูปทั้งหลายที่มีฤดูและอาหาร ไม่เหมือนกันเป็นสมุฏฐาน ก่อนแต่นั้นเป็นอดีต หลังจากนั้นเป็นอนาคต รูปทั้งหลายที่เกิดจากจิต อันมีวิถีเดียวกันและมีสมาบัติเดียวกันเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจุบัน ก่อนแต่นั้นเป็นอดีต หลังจากนั้นเป็นอนาคต สำหรับรูปทั้งหลายที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เฉพาะอย่างด้วยสามารถแห่งสันตติ แต่พึงทราบว่า รูปเฉพาะอย่างนั้นเป็นอดีตเป็นต้นด้วยสามารถเป็นผู้อุปถัมภ์ รูปเหล่านั้นนั่นแหละ ที่มีฤดู อาหาร และจิตเป็นสมุฏฐาน (แต่) ด้วยอำนาจแห่งสมัย รูปทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่ ด้วยสามารถแห่งการสืบต่อ ในสมัย (ต่างๆ กัน) เช่น ครู่เดียว เช้าเดียว เย็นเดียว คืนเดียว วันเดียวเป็นต้น ชื่อว่าเป็นปัจจุบัน ในสมัยนั้นๆ ก่อนหน้านั้นเป็นอดีต หลังจากนั้นเป็นอนาคต นี้เป็นนัยในรูปธรรมก่อน.
               ส่วนในอรูปธรรมทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งขณะ ธรรมทั้งหลายที่นับเนื่องในขณะทั้ง ๓ มีอุปปาทักขณะเป็นต้น เป็นปัจจุบัน ก่อนแต่นั้นเป็นอดีต หลังจากนั้นเป็นอนาคต.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยผ่านไปแล้วเป็นอดีต ธรรมทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นเหตุเสร็จแล้ว แต่ทำหน้าที่เป็นปัจจัยยังไม่สำเร็จ เป็นปัจจุบัน ธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ถึงพร้อมด้วยกิจ (ยังไม่ทำหน้าที่) ทั้ง ๒ อย่าง เป็นอนาคต.
               อีกอย่างหนึ่ง ในขณะแห่งกิจของตน ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจุบัน ก่อนแต่นั้นเป็นอดีต หลังจากนั้นเป็นอนาคต บรรดาสภาวะทั้ง ๔ มีอัทธาเป็นต้น การกล่าวถึงขณะเท่านั้น เป็นการบรรยายโดยตรง ที่เหลือเป็นการบรรยายโดยอ้อม ด้วยว่าขึ้นชื่อว่าความต่างกันแห่งกาลมีอดีตเป็นต้นนี้ มีสำหรับธรรมทั้งหลาย ไม่มีสำหรับกาล แต่ว่ากาล โดยปรมัตถ์ถึงจะไม่มี เพราะหมายเอาธรรมที่มีอดีตเป็นต้นเป็นประเภท แต่ในที่นี้ก็พึงทราบว่า พระองค์ตรัสไว้โดยคำมีอาทิว่า อตีโต โดยโวหารนั่นเอง
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อกฺเขยฺยสญฺญิโน นี้ดังต่อไปนี้
               คำพูดชื่อว่า อักเขยยะ เพราะอันเขาพูด คือกล่าว ได้แก่ให้ผู้อื่นรู้ (บัญญัติ) คือกถาวัตถุ โดยเนื้อความได้แก่เบญจขันธ์มีรูปเป็นต้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               บุคคลพึงกล่าวกถาปรารภอดีตอัทธาบ้าง กล่าวปรารภอนาคตอัทธาบ้าง กล่าวปรารภปัจจุบันอัทธาบ้าง ดังนี้๑-
               อนึ่ง ในข้อนี้พึงแสดงเนื้อความแม้ด้วยสูตรที่กล่าวถึงคลองแห่งนิรุกติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปใดที่เป็นอดีต ได้ดับไปแล้ว ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการกล่าวถึงรูปนั้นว่าได้มีแล้ว มีการร้องเรียกรูปนั้นว่าได้มีแล้ว มีการบัญญัติรูปนั้นว่าได้มีแล้ว ไม่ใช่มีการกล่าวรูปนั้นว่าจักมี ไม่ใช่มีการกล่าวรูปนั้นว่ากำลังมี ดังนี้.๒-
               ผู้มีความสำคัญหมายในเรื่องที่จะต้องกล่าวถึง ด้วยสามารถแห่งความสำคัญหมายในขันธบัญจก กล่าวถึงเรื่องที่จะต้องกล่าวถึงโดยความเป็นกถาวัตถุที่เป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า เรา ของเรา เทวดา มนุษย์ หญิงและชาย ด้วยประการดังกล่าวแล้ว.
               อธิบายว่า เป็นผู้มีความสำคัญในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นต้น สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่แล้วในสิ่งที่จะต้องพูดถึงด้วยสามารถแห่งการยึดถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ.
____________________________
๑- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๒๘
๒- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๓๔

               อีกอย่างหนึ่ง ตั้งอยู่แล้วโดยอาการ ๘ ด้วยสามารถแห่งราคะเป็นต้น.
               อธิบายว่า ผู้กำหนัดแล้วเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งราคะ ผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้วเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งโทสะ ผู้หลงแล้วเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งโมหะ ผู้ถูกทิฏฐิจับต้องแล้วเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ ผู้มีกิเลสแรงกล้าเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งอนุสัย ผู้ที่ถูกกิเลสรัดรึงไว้ เป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งมานะ ผู้ที่ยังตกลงใจไม่ได้เป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยสามารถแห่งวิจิกิจฉา ผู้ที่มีความฟุ้งซ่านเป็นผู้ดำรงอยู่แล้วด้วยอำนาจอุทธัจจะดังนี้.
               บทว่า อกฺเขยฺยํ อปริญฺญาย ความว่า เพราะไม่รู้สิ่งที่จะต้องพูดถึงนั้น ในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ด้วยปริญญาทั้ง ๓ ได้แก่เหตุที่ไม่รู้สิ่งนั้น.
               บทว่า โยคมายนฺติ มจฺจุโน ความว่า เข้าถึงเครื่องประกอบ (ข่าย) ของมรณะ คือ เครื่องผูก (สัตว์) ไว้กับด้วยมรณะนั้น. อธิบายว่า ไม่พรากจากกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โยคะ ได้แก่ อุบาย. ท่านอธิบายไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงข่ายคือความพินาศและข่ายคือกิเลส อันเป็นที่ตั้งแห่งมารและเสนามารที่ดักไว้ ขึงไว้ด้วยอุบายนั้น.
               สมจริงดังคำที่ตรัสไว้ว่า
                         เพราะความผัดเพี้ยน ด้วยพญามัจจุราช
                         ผู้มีเสนามาก ย่อมไม่มีเลย ดังนี้.
๓-
____________________________
๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๕๒๗   ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๔๔๑

               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัฏฏะด้วยพระพุทธพจน์มีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะจึงตรัสคำมีอาทิว่า อกฺเขยฺยญฺจ ปริญฺญาย ไว้.
                ศัพท์ในบทคาถาว่า อกฺเขยฺยญฺจ ปริญฺญาย นั้น ลงในอรรถว่า พฺยติเรก (แปลกออกไป) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังคุณพิเศษที่พึงได้ด้วยการกำหนดรู้สิ่งที่กล่าว คือที่กำลังตรัสถึงอยู่นั่นแหละให้แจ่มแจ้งด้วย ศัพท์นั้น.
               บทว่า ปริญฺญาย ความว่า เพราะกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ด้วยมัคคปัญญาที่ประกอบด้วยวิปัสสนา คือเพราะก้าวล่วงทุกข์นั้นด้วยการละกิเลสที่เนื่องด้วยทุกข์นั้น หรือเพราะยังกิจแห่งปริญญาแม้ทั้ง ๓ ให้ถึงที่สุด.
               บทว่า อกฺขาตารํ น มญฺญติ ความว่า พระขีณาสพชื่อว่าไม่สำคัญหมาย (ว่ามี) ผู้บงการ เพราะละความสำคัญหมายได้โดยประการทั้งปวง. อธิบายว่า ไม่เชื่ออะไรๆ ที่เป็นสภาวะมีผู้สร้างเป็นต้น (ว่า) เป็นอัตตา.
               บทว่า ผุฏฺโฐ วิโมกฺโข มนสา สนฺติปทมนุตฺตรํ ความว่า เพราะเหตุที่พระขีณาสพถูกแล้วคือต้องแล้ว ได้แก่ถึงธรรมคือพระนิพพาน ที่ได้นามว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากสังขตธรรมทุกอย่าง (และ) ได้นามว่าสันติบท เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความสงบระงับความเร่าร้อน อันเกิดแต่กิเลสทั้งมวล ฉะนั้น ท่านจึงไม่สำคัญหมายว่ามีผู้บงการ.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสการบรรลุทุกขสัจด้วยปริญญากิจ และบรรลุสมุทยสัจด้วยปหานกิจแล้ว บัดนี้ จึงตรัสการบรรลุมรรคด้วยภาวนากิจ และนิโรธด้วยสัจฉิกิริยากิจ ด้วยคำนี้ว่า ผุฏฺโฐ วิโมกฺโข มนสา สนฺติปทมนุตฺตรํ (ท่านถูกต้องวิโมกข์ด้วยใจ ท่านถูกต้องสันติบทอันเยี่ยม).
               คำนั้นมีอธิบายว่า อริยมรรคชื่อว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งมวลด้วยสามารถแห่งการตัดขาด (สมุจเฉทปหาน). ก็วิโมกข์นั้น ท่านถูกต้องแล้ว คือสัมผัสแล้ว ได้แก่เจริญแล้วด้วยมรรคกิจ ด้วยเหตุนั้นเอง พระนิพพานที่เป็นสันติบทอันยอดเยี่ยม เป็นอันท่านถูกต้องแล้ว คือสัมผัสแล้ว ได้แก่ทำให้แจ้งแล้ว.
               บทว่า อากงฺเขยฺยสมฺปนฺโน ความว่า ผู้หลุดพ้นดีแล้วจากอักเขยยนิมิตนั้น เพราะละวิปัลลาสในโลกที่ถูกวิบัติชนิดต่างๆ กำจัดแล้วเสียได้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วซึ่งอักเขยยนิมิต คือประกอบแล้วด้วยสมบัติทั้งหลายที่เกิดแล้วจากการกำหนดรู้สิ่งที่จะต้องกล่าวถึง.
               บทว่า สงฺขาย เสวี ความว่า เป็นผู้มีปกติพิจารณา คือใคร่ครวญแล้วจึงเสพปัจจัยมีจีวรเป็นต้น เพราะถึงความไพบูลย์แห่งปัญญา.
               อนึ่ง เป็นผู้มีปกติพิจารณาอารมณ์แม้ทุกอย่างที่มาสู่คลอง ซ่องเสพอยู่ด้วยสามารถแห่งฉฬังคุเบกขา เพราะเป็นผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว.
               บทว่า ธมฺมฏฺโฐ ความว่า เป็นผู้ดำรงอยู่แล้วในอเสกขธรรม หรือนิพพานธรรมนั่นเอง.
               บทว่า เวทคู ความว่า ผู้ถึงเวท (จบไตรเพท) เพราะถึงฝั่งแห่งอริยสัจ ๔ ที่จะพึงรู้. ผู้มีคุณอย่างนี้เป็นพระอรหันต์ ย่อมไม่ชื่อว่าเข้าถึงการนับว่าเป็นมนุษย์หรือเทวดา เพราะไม่มีภพใหม่ในบรรดาภพทั้งหลาย ภพไหนๆ อีกต่อไป คือถึงความเป็นผู้หาบัญญัติไม่ได้เลย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยอนุปาทาปรินิพพานด้วยประการดังพรรณนามานี้.

               จบอรรถกถาอัทธาสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ทุติยวรรค อัทธาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 240อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 241อ่านอรรถกถา 25 / 242อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5628&Z=5646
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=5275
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=5275
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :