ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 247อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 248อ่านอรรถกถา 25 / 249อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ตติยวรรค มิจฉาทิฐิสูตร

               ติกนิบาตวรรณนา               
               วรรควรรณนาที่ ๓               
               อรรถกถามิจฉาทิฏฐิสูตร               
               ในมิจฉาทิฏฐิสูตรที่ ๑ แห่งวรรคที่ ๓ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทิฏฺฐา มยา ความว่า สัตว์ทั้งหลายอันเราตถาคตเห็นแล้ว คืออันเราตถาคตเห็นแล้ว ได้แก่รู้ประจักษ์แล้วด้วยสมันตจักษุและทิพยจักษุ. ด้วยคำว่า ทิฏฺฐา มยา นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้านการได้ฟังตามๆ กันมาเป็นต้น และความข้อนี้จักมีมาในพระบาลีในบัดนี้แหละ.
               บทว่า กายทุจฺจริเตน สมนฺนาคตา ความว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต.
               บทว่า อริยานํ อุปวาทกา ความว่า เป็นผู้ว่าร้ายคือด่า ได้แก่ติเตียนพระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยที่สุดแม้พระโสดาบันผู้เป็นคฤหัสถ์ โดยการกล่าวตู่ที่ไม่เป็นจริง อันเป็นเหตุกำจัดคุณความดี (ของท่าน).
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกา ได้แก่ ผู้มีความเห็นผิด.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกมฺมสมาทานา ความว่า ผู้ได้สมาทานกรรมนานาชนิด เหตุที่มีความเห็นผิดนั่นแหละ จะสมาทานกรรมแม้อย่างอื่นอีก มีกายกรรมเป็นต้น ที่มีมิจฉาทิฏฐิเป็นมูลฐาน.
               ก็เมื่ออริยุปวาทกรรมและมิจฉาทิฏฐิ พระองค์ทรงถือเอาแล้วด้วยศัพท์วจีทุจริต และมโนทุจริตนั่นแหละ ในที่นี้แล้ว การตรัสซ้ำอีกก็เพื่อจะทรงแสดงว่า อริยุปวาทกรรมและมิจฉาทิฏฐิมีโทษมาก ด้วยว่า บรรดา ๒ อย่างนั้น อริยุปวาทมีโทษมาก เท่ากับอนันตริยกรรม.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มพระอรหัตผลในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด
               ดูก่อนสารีบุตร ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราตถาคตกล่าวว่า ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้น ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังนี้.๑-
               กรรมอื่นที่ชื่อว่าจะมีโทษมากกว่ามิจฉาทิฏฐิ ไม่มี.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่น ที่เป็นธรรมอย่างเอก ที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้.๒-
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๖๖
๒- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๙๑

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภคำมีอาทิว่า ตํ โข ปน ไว้เพื่อทรงแสดงยืนยันเนื้อความตามที่ตรัสไว้ว่าเป็นธรรมที่ประจักษ์แก่พระองค์เอง คำนั้นเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               บทว่า มิจฺฉา มนํ ปณิธาย ความว่า ตั้งจิตไว้โดยไม่แยบคาย ด้วยสามารถแห่งธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น.
               บทว่า มิจฺฉาวาจํ อภาสิย ความว่า กล่าววาจาผิดด้วยสามารถแห่งมุสาวาทเป็นต้น.
               บทว่า มิจฺฉา กมฺมานิ กตฺวาน ความว่า ทำกายกรรมด้วยสามารถแห่งปาณาติบาตเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มิจฺฉา มนํ ปณิธาย ความว่า ตั้งจิตไว้พลาด ด้วยสามารถแห่งมิจฉาทิฏฐิ.
               แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงเหตุในการประพฤติทุจริตอย่างนั้นของเขา.
               บทว่า อปฺปสฺสุโต มีอธิบายว่า เว้นจากสุตะที่จะนำประโยชน์เกื้อกูลมาให้ตนและผู้อื่น.
               บทว่า อปุญฺญกโร ความว่า ต่อนั้นไปนั่นเอง จะทำความผิด คือจะมีความชั่วเป็นธรรมดา เพราะความเป็นผู้ไม่ฉลาดในอริยธรรม.
               บทว่า อิมสฺมึ อิธ ชีวิเต ความว่า ในชีวิตอันนิดหน่อย ในโลกนี้คือมนุษยโลก.
               สมดังที่ตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่ได้นาน ก็อยู่ได้เพียงร้อยปี หรือเกินไปเล็กน้อย.๓-
               และตรัสว่า มนุษย์ทั้งหลายมีอายุน้อย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพหูสูต มีปัญญา เร่งรีบทำบุญ แล้วจะได้ไปสวรรค์ หรือดำรงอยู่ในพระนิพพาน. ส่วนผู้ใดศึกษาน้อย ไม่บำเพ็ญบุญ ผู้นั้นจะเป็นคนมีปัญญาทราม เข้าถึงนรกเพราะกายแตกสลายไป.
____________________________
๓- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๕   สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๔๔๐

               จบอรรถกถามิจฉาทิฏฐิสูตรที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ตติยวรรค มิจฉาทิฐิสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 247อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 248อ่านอรรถกถา 25 / 249อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5748&Z=5768
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=5473
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=5473
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :