ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 252อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 253อ่านอรรถกถา 25 / 254อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
ตติยวรรค อวุฏฐิกสูตร

               อรรถกถาอวุฏฐิกสูตร               
               ในอวุฏฐิกสูตรที่ ๖ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า อวุฏฺฐิกสโม ความว่า เช่นกับด้วยเมฆที่ไม่ทำฝนให้ตก. เพราะเมฆบางกลุ่มหนาตั้ง ๑๐๐ ชั้น ๑,๐๐๐ ชั้นตั้งขึ้น ร้องกระหึ่ม แลบแปลบปลาบ ไม่ให้ฝนแม้หยดเดียวตกลงมา แล้วผ่านเลยไป. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงว่าบุคคลบางจำพวกก็มีอุปมาเช่นนั้น จึงตรัสว่า อวุฏฺฐิกสโม (บุคคลผู้เสมอด้วยฝนไม่ตก) ดังนี้.
               บทว่า ปเทสวสฺสี ความว่า เช่นกับเมฆที่ทำฝนให้ตกบางท้องที่.
               อธิบายว่า บุคคลชื่อว่า ปเทสวาสี เพราะเป็นเหมือนกับเมฆที่ทำฝนให้ตกบางท้องที่ เมฆบางกลุ่ม เมื่อคนทั้งหลายยืนอยู่ในที่แห่งเดียวกันนั่นเอง ตกหยิมๆ โดยที่คนบางพวกก็เปียก บางพวกก็ไม่เปียก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบุคคลบางพวกผู้มีอุปมาอย่างนั้นว่า เป็นเหมือนฝนตกเฉพาะบางท้องที่.
               บทว่า สพฺพตฺถาภิวสฺสี ความว่า เสมอกับเมฆที่ให้ฝนตกทั่วไปทุกแห่งหนคือในประเทศ คือแผ่นดินมีพื้นปฐพี ภูเขาและสมุทรเป็นต้น.
               อธิบายว่า เมฆบางกลุ่มกระจายไปทั่วสากลจักรวาล ให้ฝนตกทั่วทุกหนทุกแห่งทีเทียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สพฺพตฺถาภิวสฺสี ดังนี้ โดยทรงเปรียบเทียบมหาเมฆที่ตั้งขึ้นใน ๔ ทิศนั้นกับบุคคลบางจำพวก.
               บทว่า สพฺเพสานํ เท่ากับ สพฺเพสํ.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ (ในพระบาลี) ก็เป็นอย่างนี้แหละ.
               บทว่า น ทาตา โหติ ความว่า เป็นผู้มีปกติไม่ให้ทาน.
               อธิบายว่า ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ เพราะเป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงเขตและไทยธรรมโดยการจำแนก จึงตรัสคำมีอาทิว่า สมณพฺราหฺมณา ดังนี้. ในคำว่าสมณพฺราหฺมณานั้น พระองค์ทรงประสงค์เอาทั้งสมณะที่ลอยบาปแล้ว ทั้งสมณะเพียงสักว่าบรรพชา ทั้งพราหมณ์ผู้ลอยบาปแล้ว และพราหมณ์เพียงกำเนิดในที่นี้.
               คนตกยากคือคนเข็ญใจ ชื่อว่ากปณะ (คนกำพร้า). คนเดินทางที่สิ้นเสบียง ชื่อว่าอัทธิกา (คนเดินทาง). คนเหล่าใดเชิญชวนคนใน (การทำ) ทาน เที่ยวชมเชยสรรเสริญทาน โดยนัยมีอาทิว่า ท่านทั้งหลายจงมีจิตใจสูง มีจิตเลื่อมใสบริจาคของที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ หาโทษมิได้ ตามกาล ท่านทั้งหลายจะไปสู่สุคติ จะไปสู่พรหมโลก คนเหล่านั้นชื่อว่าวณิพพกา (วณิพก). คนเหล่าใดเที่ยวขอของเล็กๆ น้อยๆ อย่างเดียวว่า ขอท่านทั้งหลายจงให้เพียงกำมือเดียว เพียงกอบเดียว เพียงขันเดียวเถิดดังนี้ คนเหล่านั้นชื่อว่ายาจก (ผู้ขอ).
               บรรดาศัพท์เหล่านั้น ด้วยศัพท์ว่าสมณะและพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงขอบเขตของคุณความดีและขอบเขตของอุปการะ ด้วยศัพท์ว่าสมณพราหมณะ ทรงแสดงถึงเขตแห่งกรุณา ด้วยศัพท์ว่ากปณะ เป็นต้น.
               บทว่า อนฺนํ ได้แก่ ของควรเคี้ยว และของควรบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ปานํ ได้แก่ เครื่องดื่ม มีน้ำดื่มที่คั้นจากผลมะม่วงเป็นต้น.
               บทว่า วตฺถํ ได้แก่ เครื่องปกปิด มีผ้านุ่งและผ้าห่มเป็นต้น.
               บทว่า ยานํ ได้แก่ วัตถุที่ยังการเดินทางให้สำเร็จ มีรถและวอเป็นต้นโดยที่สุดจนถึงรองเท้า.
               บทว่า มาลา ได้แก่ ดอกไม้ทุกชนิด แยกประเภทออกเป็นดอกไม้ที่ร้อยและไม่ได้ร้อย.
               บทว่า คนฺธํ ได้แก่ คันธชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง และอุปกรณ์แห่งเครื่องหอม ทั้งที่บดแล้วและยังไม่ได้บด.
               บทว่า วิเลปนํ ได้แก่ เครื่องประเทืองผิว.
               บทว่า เสยฺยา ได้แก่ เครื่องนอน มีเตียงและตั่งเป็นต้น และผ้าปาวาร ผ้าโกเชาว์เป็นต้น (ผ้ามีขนอ่อนและผ้าทำด้วยขนแกะ) ก็แม้อาสนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาแล้ว ด้วยศัพท์ว่า เสยฺย ในคำว่า เสยฺยาวสถํ นี้.
               บทว่า อาวสถํ ได้แก่ ที่อาศัยอันเป็นเครื่องบรรเทาอันตรายมีลมและแดดเป็นต้น.
               บทว่า ปทีเปยฺยํ ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์แห่งแสงสว่างมีประทีปและตะเกียงเป็นต้น.
               บทว่า เอวํ โข ภิกฺขเว ความว่า เมื่อไทยธรรมมีอยู่ บุคคลไม่ให้ของที่จะต้องให้อย่างนี้แก่ปฏิคาหกทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง ย่อมเป็นเช่นกับเมฆที่ไม่ให้ฝนตก.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมฆหนา ๑๐๐ ชั้น ๑,๐๐๐ ชั้นตั้งขึ้นแล้ว ไม่โปรยอะไรๆ ลงมาเลย จางหายไปฉันใด คนใดรวบรวมสมบัติอันโอฬารและไพบูลย์ อยู่ครอบครองเรือนก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ให้ภิกษาแม้ทัพพีเดียว หรือข้าวยาคู เพียงกระบวยเดียวแก่ใครๆ หลีกไปเสีย หมดอำนาจ ย่อมไปสู่ปากแห่งมัจจุ คนผู้นั้นย่อมชื่อว่าเหมือนเมฆ ที่ไม่ให้ฝนตกดังนี้.
               แม้ในบทที่เหลือ พึงทราบพระดำรัสตรัสย้ำโดยนัยนี้.
               ก็ในบุคคล ๓ จำพวกเหล่านี้ บุคคลพวกแรกพึงถูกตำหนิโดยส่วนเดียวเท่านั้น. คนพวกที่สองน่าสรรเสริญ คนพวกที่สามน่าสรรเสริญกว่า (คนพวกที่สอง).
               อีกนัยหนึ่ง บุคคลพวกแรก พึงทราบว่าเลวกว่าบุคคลทุกประเภท พวกที่ ๒ พึงทราบว่าปานกลาง พวกที่ ๓ พึงทราบว่าสูงสุดดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               บทว่า สมเณ เป็นพหูพจน์ โดยเป็นทุติยาวิภัตติ แม้ในบทที่เหลือก็เช่นนั้น.
               บทว่า ลทฺธาน แปลว่า ได้ (ปฏิคาหก) แล้วปรารถนา สมณะผู้เป็นทักขิไณยบุคคลแล้วถูกถามแล้ว ก็ไม่จัดแบ่งให้.
               บทว่า อนฺนปานญฺจ โภชนํ ความว่า ไม่จัดแบ่งข้าวหรือน้ำ หรือโภชนะอันควรแก่การบริโภคอย่างอื่น ที่มีอยู่.
               ก็ในพระคาถานี้มีความสังเขปดังนี้.
               ก็ผู้ใดได้สมณะผู้เป็นปฏิคาหก ผู้เข้าไปหาแล้ว โดยที่ตนเองก็มีไทยธรรมอยู่ก็ไม่กระทำ แม้เพียงการแจกแบ่งวัตถุมีข้าวเป็นต้น ผู้นั้นจักให้ทานอย่างอื่นได้อย่างไร? บัณฑิตกล่าว คือเรียกขานเขาผู้ตระหนี่เหนียวแน่น เห็นปานนั้น เป็นบุรุษอาธรรม เป็นคนเลวว่า เป็นผู้เหมือนกับเมฆที่ไม่ให้ฝนตก ดังนี้.
               บทว่า เอกจจานํ น ททาติ ความว่า แม้เมื่อของที่จะต้องให้มีอยู่มากมาย ก็ไม่ยอมให้ แก่คนบางจำพวก ด้วยอำนาจแห่งความโกรธเคืองในคนเหล่านั้น หรือด้วยอำนาจแห่งความโลภในไทยธรรม.
               บทว่า เอกจฺจานํ ปเวจฺฉติ ความว่า แต่ให้แก่บุคคลบางจำพวกเท่านั้น.
               บทว่า เมธาวิโน ได้แก่ คนที่มีปัญญา คือเป็นบัณฑิต.
               บทว่า สุภิกฺขวาโจ ความว่า ผู้ใดสั่งให้เขาให้ของนั้นๆ แก่ยาจกทั้งหลายผู้เข้าไปหาแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ท่านทั้งหลายจงให้ข้าว ท่านทั้งหลายจงให้น้ำ ผู้นั้นชื่อว่า สุภิกฺขวาโจ เพราะวิเคราะห์ว่า ผู้มีการออกปากของ่าย เหตุมีการขอที่หาได้โดยง่าย.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สุภิกฺขวสฺสี ดังนี้ ก็มี ชาวโลกมีภิกษาหาได้โดยง่ายฉันใด มหาเมฆที่ยังฝนให้ตกชุก ทุกหนแห่ง ย่อมชื่อว่าโปรยลงมา (ให้ภิกษา) หาง่ายฉันนั้น แม้บุคคลนี้ก็ฉันนั้น เป็นผู้ยังฝนให้ตกลงในที่ทุกหนแห่ง ด้วยมหาทาน (ช่วยให้) หาภิกษาได้โดยง่าย.
               บทว่า อาโมทมาโน ปกิเรติ ความว่า บุคคลผู้มีมนัสอันยินดีและร่าเริงแล้ว ให้ทานด้วยมือของตน ย่อมเป็นเสมือนหว่านไทยธรรมลงในนาคือปฏิคคาหก แม้วาจาก็พร่ำพูดอยู่ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ทานเถิด ทานทั้งหลายจงให้ทานเถิด ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงภาวะที่เมฆให้ฝนตกทำให้ภิกษาหาได้ง่าย จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยถาปิ เมโฆ ดังนี้.
               แม้ในพระคาถานั้น มีความสังเขปดังต่อไปนี้.
               ฟ้า (มหาเมฆ) ร้องด้วยเสียงเบาๆ ก่อน แล้วจึงร้องกึกก้องไปทั่วทุกห้วงน้ำและลำธารอีก แล้วโปรยฝนลงมา ไหลไปให้ที่ลุ่มและที่ดอนทั่วทุกหนแห่งเต็มเจิ่งไปด้วยอุทกวารี ทำให้เป็นห้วงน้ำห้วงเดียวกันฉันใด บุคคลที่ใจกว้างบางคนในที่นี้คือในโลกนี้ก็ฉันนั้น เพราะเป็นผู้มีใจเสมอในคนทั่วไป เหมือนมหาเมฆนั้น เพราะต้องให้ฝนตกลงมา เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน โดยที่ทรัพย์เป็นของได้มาด้วยความหมั่น คือเกิดขึ้นด้วยความขยันหมั่นเพียรของตน รวบรวมทรัพย์นั้นไว้โดยธรรม คือโดยชอบ ยังวณิพกทั้งหลายผู้ถึงแล้วคือมาถึงแล้วให้อิ่มคือให้อิ่มหนำสำราญ โดยชอบคือพอเหมาะแก่กาลเทศะ และเหมาะสมแก่ความต้องการ โดยชอบทีเดียวด้วยข้าวน้ำและไทยธรรมอย่างอื่นที่เกิดจากทรัพย์ที่รวบรวมไว้นั้น ดังนี้.

               จบอรรถกถาอวุฏฐิกสูตรที่ ๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ตติยวรรค อวุฏฐิกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 252อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 253อ่านอรรถกถา 25 / 254อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=5864&Z=5901
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=5955
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=5955
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :