ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 260อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 261อ่านอรรถกถา 25 / 263อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต
จตุตถวรรค จวมานสูตร

               อรรถกถาจวมานสูตร               
               ในจวมานสูตรที่ ๔ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ยทา แปลว่าในกาลใด บทว่า เทโว ได้แก่เทวดาเหล่าอุปบัติเทพ.
               ก็เทวดามี ๓ จำพวก คือ สมมติเทพ ๑ อุปบัติเทพ ๑ วิสุทธิเทพ ๑.
               ในเทวดา ๓ จำพวกเหล่านั้น กษัตริย์ผู้เป็นพระราชาทั้งหลายชื่อว่าสมมติเทพ. เทวดาผู้สูงกว่านั้นขึ้นไปเริ่มแต่เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาเป็นต้น ชื่อว่าอุปบัติเทพ. พระขีณาสพ ชื่อว่าวิสุทธิเทพ.
               แต่ในพระสูตรทรงประสงค์เอาเทพชั้นกามาวจร ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า บทว่า เทโว ได้แก่ อุปบัติเทพ.
               บทว่า เทวกายา ความว่า จากชุมนุมแห่งเทพ หรือจากตำแหน่งแห่งเทพ. อธิบายว่า จากเทวโลก เพราะว่ากายศัพท์นี้ บ่งถึงการอยู่กันเป็นหมู่.
               บทว่า จวนธมฺโม ความว่า มีความตายเป็นธรรมดา. อธิบายว่า มีมรณะปรากฏแล้ว เพราะสิ้นอายุหรือเพราะสิ้นบุญ.
               บทว่า ปญฺจสฺส ปุพฺพนิมิตฺตานิ ปาตุภวนฺติ ความว่า บุพนิมิตแห่งความตาย ๕ ประการย่อมเกิดขึ้น หรือปรากฏแก่เทพนั้นผู้มีมรณะปรากฏแล้ว.
               บทว่า มาลา มิลายนฺติ ความว่า ดอกไม้ที่เทพบุตรนั้นประดับนั้นจะเหี่ยวคือหมดความงดงาม เหมือนโยนไปที่แดดในเวลาเที่ยง.
               บทว่า วตฺถานิ กิลิสฺสนฺติ ความว่า (อาภรณ์คือ) ผ้าที่เทพบุตรนั้นนุ่งห่มแล้วมีสีเหมือนพระอาทิตย์อ่อนๆ ที่ทอแสงอยู่ในอากาศที่ปราศจากเมฆหมอกในสรทสมัย มีสีต่างๆ จางลง ไม่แวววาว เศร้าหมอง เหมือนถูกโยนลงไปในโคลนแล้วขยำในขณะนั้นทีเดียว.
               บทว่า กจฺเฉหิ เสทา มุจฺจนฺติ ความว่า ในขณะนั้น หยาดเหงื่อหลั่งไหลออกจากรักแร้ทั้งสองของเทพบุตร ผู้มีร่างปราศจากคราบเหงื่อไคลมาก่อน เหมือนแก้วมณีโดยกำเนิดที่บริสุทธิ์ดี และเหมือนรูปหล่อทองคำที่ศิลปินผู้เชี่ยวชาญตกแต่งแล้ว ก็ไม่ใช่ไหลออกจากรักแร้อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่เหงื่อกาฬก็จะไหลออกจากร่างกายทั้งสิ้นของเทพบุตรนั้น โดยที่กายของเทพบุตรเป็นเสมือนหนักอึ้งด้วยข่ายที่ประดับประดาล้วนไปด้วยข่ายแห่งมุกดาที่ตนประดับแล้ว.
               บทว่า กาเย ทุพฺพณฺณิยํ โอกฺกมติ ความว่า ในชั้นต้นเริ่มแต่ปฏิสนธิ ร่างกายจะแผ่รัศมีพวยพุ่งไปตลอดสถานที่โยชน์ ๑ บ้าง ๒ โยชน์บ้าง จนถึงที่ประมาณ ๑๒ โยชน์บ้าง ตามอานุภาพ (ของตน) จะปราศจากชราภาพ มีฟันหักและหนังย่นเป็นต้น ความหนาว ความร้อน จะไม่เข้าไปกระทบกระทั่ง จะเป็นเหมือนเทพธิดารุ่นสาวอายุราว ๑๖ ปี จะเป็นเหมือนเทพบุตรรุ่นหนุ่มอายุราว ๒๐ ปี (แต่) ในขณะนั้นเอง ความผิดรูปผิดร่าง (ขี้เหร่) จะเข้ามาแทนที่ คือสถิตอยู่ในกายที่สิ้นรัศมี หมดเดช.
               บทว่า สเก เทโว เทวาสเน นาภิรมติ ความว่า จะไม่ยินดี คือไม่ได้ความชื่นใจในทิพอาสน์สำหรับเล่นและบำเรอกับด้วยหมู่สาวสวรรค์ของตน.
               ได้ยินว่า ความตายจักมีแก่เทพบุตรนั้นโดย ๗ วันด้วยการนับวันในมนุษย์ เพราะฉะนั้น บุพนิมิตเหล่านี้จึงปรากฏด้วยการเกิดขึ้นแห่งบุพนิมิตนั้น เทพบุตรนั้นย่อมถูกความโศกมีกำลังครอบงำด้วยคิดว่า เราต้องพลัดพรากจากสมบัติเห็นปานนี้ ด้วยเหตุนี้ ความกระวนกระวายอย่างใหญ่หลวงย่อมเกิดขึ้นในกายของเทพบุตรนั้น ด้วยเหตุนั้น เหงื่อจึงไหลออกจากลำตัวโดยประการทั้งปวง เทพบุตรบางองค์ที่มีทุกข์หาประมาณมิได้ตลอดกาลเนิ่นนานมา เมื่อไม่สามารถจะยับยั้งทุกข์นั้นไว้ได้ คร่ำครวญปริเทวนาการอยู่ว่า เราร้อน เรากลุ้ม ไม่ได้ความแช่มชื่นในที่ไรๆ พรำเพ้อ ละเมอ เที่ยวไปในที่นั้นๆ บางองค์ตั้งสติได้ แม้ไม่ได้แสดงความผิดปกติทางกายและวาจา เมื่ออดกลั้นทุกข์ คือความพลัดพรากจากของรักไม่ได้ จะเดือดร้อนเที่ยวไป.
               ก็บุพนิมิตเหล่านี้ย่อมปรากฏเฉพาะเทวดาผู้มเหศักดิ์ทั้งหลายเท่านั้น เหมือนนิมิตทั้งหลายมีอุกกบาต แผ่นดินไหวและจันทรคราสเป็นต้น จะปรากฏแก่ผู้มีบุญใหญ่ในโลก เช่นพระราชาและราชมหาอมาตย์เป็นต้น หาปรากฏแก่คนทั่วไปไม่.
               ก็เทวดาบางเหล่ารู้นิมิตเหล่านั้นที่เกิดแล้วว่า นิมิตเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบุพนิมิตแห่งมรณะ ไม่ใช่รู้หมดทุกองค์.
               ในเทพบุตรเหล่านั้น เทพบุตรที่เกิดด้วยกุศลธรรมอย่างอ่อน ก็จะกลัวไปว่า บัดนี้ใครเล่าจะรู้ว่า เราจักเกิดในที่ไหน?
               ส่วนพวกที่มีบุญมากจะไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ด้วยคิดว่าเราได้ให้ทานได้รักษาศีล ได้สั่งสมบุญไว้มากแล้ว เราจุติจากโลกนี้แล้ว เป็นอันหวังได้สุคติทีเดียว. ก็เทวดาทั้งหลาย ครั้นถือเอาบุพนิมิตที่ปรากฏขึ้นอย่างนี้นั้นแล้ว ย่อมเข้าไปสู่สวนนันทนวัน สวนนันทนวันมีประจำอยู่ในเทวโลกทุกชั้นทีเดียว.
               บทว่า ตีหิ วาจาหิ อนุโมทนฺติ ความว่า เทวดาทั้งหลายย่อมอนุโมทนาด้วยคำทั้ง ๓ ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวในบัดนี้ คือย่อมยังความรื่นเริงบันเทิงใจให้เกิดขึ้น ย่อมให้สบายใจ หรือกระทำความบันเทิงอันสมควรแก่สภาพการณ์ในขณะนั้น ด้วยสามารถแห่งความสบายใจนั้น. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวความของบทว่า อนุโมทนฺติ เป็นโอวทนฺติ.
               บทว่า อิโต ความว่า จากเทวโลก.
               บทว่า โภ เป็นอาลปนะ (คำร้องเรียก).
               บทว่า สุคตึ ได้แก่ คติที่ดี อาจารย์ทั้งหลายกล่าวหมายถึงมนุษยโลก.
               บทว่า คจฺฉ ความว่า เข้าถึงด้วยสามารถแห่งการถือปฏิสนธิ.
               บทว่า เอว วุตฺเต ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงถ้อยคำที่เทวดาเหล่านั้นจะพึงกล่าวแก่เทพบุตรนั้น โดยนัยมีอาทิว่า ท่านจากเทวโลกนี้แล้วจงไปสู่สุคติเถิด ในครั้งนั้นอย่างนี้ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง คือรูปหนึ่งผู้ไม่ปรากฏโดยนามและโคตร นั่งอยู่ในบริษัทนั้น เป็นผู้ฉลาดในอนุสนธิ ได้กราบทูลคำนี้อาทิว่า กึ นุ โข ภนฺเต อะไรหนอแล พระพุทธเจ้าข้า นี้ด้วยประสงค์ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสุคติเหล่านี้ไว้โดยไม่แปลกกัน ไม่แจ่มแจ้งเลย อย่ากระนั้นเลย เราจักให้พระองค์ตรัสสุคติเป็นต้นเหล่านั้นให้ชัดเจน (กว่านี้อีก) ความเป็นมนุษย์อันเทวดาทั้งหลายประสงค์ยิ่งนัก โดยเป็นเหตุแห่งการได้เฉพาะซึ่งคุณพิเศษมีศรัทธาเป็นต้น และโดยเป็นเหตุแห่งการเข้าถึงความเป็นเทวดา เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความเป็นมนุษย์แล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลายดังนี้
               บทว่า สุคติคมนสงฺขาตํ ความว่า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วโดยชอบว่า ไปสู่สุคติ. อธิบายว่า ทรงสรรเสริญ คือทรงชมแล้ว.
               บทว่า ยํ ในคำว่า ยํ มนุสฺสภูโต นี้เป็นกิริยาปรามาส ด้วยบทว่า ยํ นั้น ท่านเท้าความถึงกิริยาคือการได้เฉพาะ ในบทว่า ปฏิลภติ นี้. อธิบายว่า ได้เฉพาะซึ่งศรัทธา.
               บทว่า มนุสฺสภูโต ความว่า เกิดแล้วในมนุษย์ทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ถึงความเป็นมนุษย์ เพราะเหตุที่ผู้ที่เกิดในเทวโลกโดยมากยากที่จะได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตเจ้า ไม่เหมือนมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า มนุสฺสภูโต ดังนี้.
               บทว่า ตถาคตปฺปเวทิเต ธมฺมวินเย ความว่า ในคำสอนที่สงเคราะห์ด้วยสิกขา ๓ ที่พระตถาคต คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               เพราะว่า คำสอนนั้น ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะชื่อว่าธรรม เหตุที่ไม่ปราศไปจากธรรม และชื่อว่าวินัย เพราะฝึกเวไนยสัตว์ตามสมควรแก่กิเลส.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะแนะนำผู้มีกำเนิดแห่งบุคคลผู้มีนัยน์ตามีธุลีน้อย. ที่ชื่อว่าเป็นธรรม เพราะไม่ปราศไปจากธรรม เหตุที่สมบูรณ์ไปด้วยอุปนิสัย.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะฝึกด้วยธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่ฝึกด้วยท่อนไม้และศาสตรา.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะการฝึกนั้นประกอบด้วยธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะนำเข้าไปหาธรรมเพื่อมรรคผลและนิพพานตามลำดับ.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะเป็นเครื่องแนะนำที่เป็นไปแล้วโดยธรรมมีมหากรุณาและพระสัพพัญุตญาณเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะพระธรรมเป็นเครื่องนำเข้าไปหาธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นองค์ธรรม เป็นธรรมกาย เป็นธรรมสวามี ไม่ใช่นำเข้าไปหาธรรมของนักตรรกวิทยาทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าธรรมวินัย เพราะเป็นเครื่องแนะนำที่เป็นไปแล้วในธรรม คือมรรคผลหรือในธรรมอันเป็นวิสัยที่จะพึงให้สำเร็จในพระธรรมวินัยนั้น.
               บทว่า สทฺธํ ปฏิลภติ ความว่า ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นโดยนัยมีอาทิว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม (ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว).
               อธิบายว่า ผู้มีศรัทธา เมื่อปฏิบัติในธรรมวินัยนี้ตามที่ทรงสอนไว้ ย่อมยังใจให้ยินดีในทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์ และปรมัตถประโยชน์.
               ในบทว่า สุลทฺธลาภสงฺขาตํ นี้ มีอธิบายว่า
               การใช้เงิน ทอง นาและสวนเป็นต้น ย่อมนำความสุขในการใช้สอยมาให้สรรพสัตว์ ห้ามทุกข์มีความหิวและความระหายเป็นต้น บรรเทาความยากจนเงินทองเสียได้ เป็นเหตุให้ได้รับรัตนะมีมุกดาเป็นต้น และนำมาซึ่งสันตติในโลกมาให้ฉันใด
               แม้ศรัทธาที่เป็นโลกิยะและโลกุตระก็ฉันนั้น จะนำวิบากสุขที่เป็นโลกิยะและโลกุตระมาให้ตามที่เกิดขึ้น จะหักห้ามทุกข์มีชาติชราเป็นต้นเสียได้ จะระงับความยากจนคุณธรรมเสียได้ จะเป็นเหตุให้ได้รับรัตนะมีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น และจะนำมาซึ่งสันตติในโลกแก่เหล่าชนผู้ปฏิบัติด้วยสัทธาธุระ.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศและโภคะ
                         จะอยู่ประเทศใดๆ ก็เป็นผู้ที่เขาบูชาแล้วในประเทศนั้นๆ
                         ทีเดียว ดังนี้.๑-
____________________________
๑- ขุ. ธ. ๒๕/๓๑

               พึงทราบความได้เฉพาะซึ่งศรัทธา เป็นลาภอันบุคคลได้ดีแล้วดังพรรณนามานี้.
               ก็เพราะเหตุที่การได้เฉพาะซึ่งศรัทธานี้ เป็นลาภที่ติดตามตนไปได้ ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เป็นเหตุให้ได้สมบัติทุกอย่าง และเป็นเหตุแห่งการได้โลกิยทรัพย์ มีเงินทองเป็นต้น.
               อธิบายว่า ผู้มีศรัทธาเท่านั้นจะทำบุญมีทานเป็นต้นได้ แล้วจะประสบทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจอันมโหฬาร และจะยังประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นนั่นแหละให้ถึงพร้อมด้วยบุญนั้น แต่บุญเหล่านั้นจะไม่อำนวยประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ผู้ไม่มีศรัทธาเลย.
               พึงทราบว่า ศรัทธาเป็นลาภที่ได้ด้วยดี ด้วยประการดังพรรณนามานี้.
               จริงอย่างนั้น ท่านพรรณนาศรัทธาไว้ด้วยเหตุมิใช่น้อยในฐานะต่างๆ กันว่า ศรัทธารวบรวมเสบียงไว้บ้าง ศรัทธาเป็นเพื่อนที่สองของบุรุษบ้าง๒- ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจของบุรุษในโลกนี้บ้าง๓- ช้างตัวประเสริฐมีศรัทธาเป็นงวงบ้าง๔- ศรัทธาเป็นพืช เป็นตบะ เป็นฝนบ้าง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกดำรงอยู่ในศรัทธาบ้าง๖- ย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธาบ้าง๗- ดังนี้.
____________________________
๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๒๑๖   สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๑๓
๓- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๒๐๓   ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๑๑
๔- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๑๔   ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๘๔
๕- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๗๔   ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๙๘
๖- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๖๔
๗- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๘๔๓

               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำมีอาทิว่า สา โข ปนสฺส ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงถึงศรัทธาชนิดที่หยั่งลงลึก อันเป็นเหตุให้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงมั่นในกุศลธรรมในพระศาสนา.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺส นี้มีความหมายเท่ากับ ภเวยฺย แปลว่า พึงเป็น.
               บทว่า นิวิฏฺฐา ความว่า ตั้งมั่น คือแซกซึมเข้าไปสู่จิตสันดาน.
               บทว่า มูลชาตา ได้แก่ มีรากเกิดแล้ว.
               ถามว่า ก็อะไรเล่า ชื่อว่าเป็นรากของศรัทธา?
               ตอบว่า การทำไว้ในใจโดยอุบาย อันเป็นเหตุแห่งความเชื่อในวัตถุที่ควรเชื่อ เป็นรากของศรัทธา.
               อีกประการหนึ่ง พึงทราบองค์แห่งโสดาปัตติมรรค ๔ อย่างคือ
                         การคบหาสัตบุรุษ ๑
                         การฟังธรรม (ของสัตบุรุษ) ๑
                         การทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑
                         การปฏิบัติธรรมโดยสมควรแก่ธรรม ๑
               ว่าเป็นรากแห่งศรัทธา.
               บทว่า ปติฏฺฐิตา ได้แก่หยั่งลงแล้ว โดยเป็นภาวะที่ใครๆ ให้หวั่นไหวไม่ได้ เพราะบรรลุอริยมรรค.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทฬฺหา อสํหาริยา ดังนี้.
               บทว่า ทฬฺหา แปลว่า มั่นคง.
               บทว่า อสํหาริยา ความว่า เป็นสิ่งที่อันใครๆ ไม่สามารถเพื่อจะนำไปได้ หรือให้หายไป หรือนำออกไปได้.
               เทวดาเหล่านั้นหวังจะให้เทพบุตรนั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล จึงกล่าวอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ เพราะว่า เทวดาเหล่านั้นปรารถนาพระอริยบุคคลผู้สมควรแก่การเข้าไปเสวยกามสุขในเทวโลกของตนเท่านั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ดูก่อนเทพ ท่านจงมาบ่อยๆ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้.
               แม้การตายเพราะหมดบุญ ย่อมมีได้ด้วยการเข้าไปตัดขาดแห่งชีวิตินทรีย์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ย่อมจุติเพราะสิ้นอายุ.
               บทว่า อนุโมทตํ ความว่า ผู้อนุโมทนาอยู่.
               บทว่า มนุสฺสานํ สหพฺยตํ ได้แก่ ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกันด้วยมนุษย์ทั้งหลาย
               ชื่อว่าสหัพยะ เพราะอรรถว่าอยู่ร่วม ได้แก่เป็นไปด้วยกัน. ภาวะแห่งสหัพยะนั้น ชื่อว่าสหัพยตา.
               บทว่า นิวิฏฺฐสฺส ความว่า พึงเป็นคุณชาติตั้งมั่นลง.
               บทว่า ยาวชีวํ ความว่า เพียงไรแต่การดำเนินไปแห่งชีวิต. อธิบายว่า จนกว่าจะถึงปรินิพพาน.
               บทว่า อปฺปมาณํ ความว่า เว้นจากประมาณด้วยสามารถแห่งการกระทำให้มาก ให้โอฬารและทำให้มากครั้งด้วยความเคารพ.
               บทว่า นิรูปธึ ความว่า เว้นจากอุปธิ คือสังกิเลส. อธิบายว่า บริสุทธิ์อย่างยิ่ง คือปราศจากมลทินโทษ.
               ก็เพราะเหตุที่เทวดาเหล่านั้นไม่ปรารถนามหัคคตกุศล เพราะยังไม่อยากพ้นไปจากกามโลก ย่อมปรารถนาเฉพาะบุญที่เป็นกามาวจรอย่างเดียว.
               ฉะนั้น ในพระสูตรนี้ พึงทราบความอย่างนี้ว่า ท่านจุติจากเทวโลกนี้แล้วเกิดในหมู่มนุษย์ รู้เดียงสาแล้ว ละทุจริตทุกอย่างมีกายทุจริตเป็นต้น สั่งสมสุจริตทั้งมวลมีกายสุจริตเป็นต้นให้โอฬาร ให้ไพบูลย์ แล้วจงเป็นผู้มีศรัทธาที่มาแล้วด้วยอริยมรรค ก็เพราะเหตุที่เทวดาเหล่านั้นยังปรารถนาปฐมมรรคบ้าง ทุติยมรรคบ้าง ในโลกุตรธรรมทั้งหลาย เพราะเหตุที่ตนยังล่วงการเกิดในเทวโลกไปไม่ได้.
               ฉะนั้น พึงทราบความแห่งบททั้งหลายว่า อปฺปมาณํ นิรูปธึ ด้วยสามารถแม้แห่งกุศลเหล่านั้นว่า กุศลชื่อว่าหาประมาณมิได้ เพราะเข้าไปตัดกิเลสทั้งหลายมีกามราคะอย่างหยาบที่ตั้งอยู่ในที่เดียวกัน ในฐานะเป็นศัตรูเป็นต้น อันกระทำซึ่งประมาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าหาอุปธิมิได้ เพราะละขันธูปธิที่ควรแก่การเกิดขึ้นจากภพที่ ๗ และอภิสังขารูปธิที่เกิดแต่ขันธูปธินั้น ทั้งกิเลสูปธิอันมรรคนั้นๆ พึงฆ่า และเพราะอาศัยพระนิพพาน กล่าวคือธรรมชาติที่ไม่มีอุปธิ เหตุที่อุปธิเหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงกรรมที่ปิดประตูอบายไว้โดยส่วนเดียวอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงกรรมที่จะให้เกิดสวรรคสมบัติ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตโต โอปธิกํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอปธิกํ ได้แก่ ให้เผล็ดผลเป็นอุปธิ.
               อธิบายว่า ให้เกิดสมบัติคืออัตภาพและโภคสมบัติ.
               ก็อัตภาพ ท่านเรียกว่าอุปธิ ดังที่ตรัสไว้ว่า มีอยู่กรรมสมาทานที่เป็นบาปบางอย่าง ที่ขัดขวางอุปธิสมบัติยังไม่ให้ผล ดังนี้.๘- แม้กามคุณก็ตรัสเรียกว่าอุปธิ ดังที่ตรัสไว้ว่า ความเศร้าโศกของนรชนมีเพราะอุปธิ.๙-
____________________________
๘- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๔๐
๙- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๒๗

               ในคำว่า อุปธีหิ นรสฺส โสจนํ นี้ มีอรรถพจน์ดังต่อไปนี้
               อัตภาพและกามคุณ ชื่อว่าอุปธิ เพราะเป็นที่อันสัตว์ทรงไว้ซึ่งสุขและทุกข์ บุคคลชื่อว่าโอปธิกะ เพราะมีอุปธิเป็นเหตุ เป็นปกติ หรือควรซึ่งอุปธิ กระทำบุญนั้นให้มาก คือให้โอฬาร.
               ถามว่า ทำอย่างไร.
               ตอบว่า ทำด้วยทาน เพราะว่า ทานคนนอกนี้ทำได้ง่าย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทว่า ทาเนน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส หมายเอาอภัยทานด้วย ไม่ใช่ตรัสอามิสทานเท่านั้น เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ทรงสงเคราะห์เอาศีลเข้าไว้ด้วย.
               ก็เพราะเหตุที่เทวดาเหล่านั้น ปรารถนาความเสื่อมแห่งกายอสูร และความบริบูรณ์ของกายเทพ โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงอุบายแก่เทพบุตรนั้น จึงประกอบเทพบุตรไว้ในธรรมทาน ด้วยบาทแห่งคาถาว่า อญฺเญปิ มจฺเจ สทฺธมฺเม พฺรหฺมจริเย นิเวสย (ยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ที่เป็นพรหมจรรย์) ดังนี้.
               บทว่า ยทา วิทู ความว่า เวลาใด เทวดาทั้งหลายพึงรู้ คือพึงทราบเทวดาผู้จะจุติ เวลานั้น เทวดาทั้งหลายจะอนุโมทนาด้วยความอนุเคราะห์ คือด้วยความเป็นผู้ใคร่ เพื่อบำบัดทุกข์ตามที่กล่าวแล้วนี้ว่า ดูก่อนเทพ ท่านจงมา คือจงกลับมาสู่เทวกายนี้บ่อยๆ ดังนี้.

               จบอรรถกถาจวมานสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต จตุตถวรรค จวมานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 260อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 261อ่านอรรถกถา 25 / 263อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6074&Z=6109
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=6393
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=6393
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :