![]() |
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
![]() |
![]() | |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() บทว่า กุหา ได้แก่ เป็นผู้หลอกลวงด้วยเครื่องหลอกลวงมีการร่ายมนต์เป็นต้น. อธิบายว่า เป็นผู้ทำการลวง เพื่อต้องการประกาศคุณความดีที่ตนไม่มีแล้วให้ผู้อื่นสนเท่ห์. บทว่า ถทฺธา ความว่า เป็นผู้มีใจกระด้าง เพราะความโกรธและมานะ คือเป็นผู้ไม่ทำความยำเกรงอย่างยิ่งในครูทั้งหลายผู้ควรทำความเคารพ ไม่อ่อนน้อม เที่ยวไปมาเหมือนกลืนซี่เหล็กเข้าไปแล้วยืนแข็งทื่ออยู่ฉะนั้น. เพราะความโกรธ ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า๑- คนมักโกรธเป็นผู้มากด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้นิดเดียวก็ข้อจงใจ โกรธ พยาบาท แผ่อำนาจไปดังนี้ด้วย. เพราะความเป็นผู้ว่ายาก ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า๒- คนว่ายากเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับเอาอนุสาสนีด้วยความเคารพดังนี้ด้วย. เพราะความเมาแยกออกเป็นความเมาในชาติเป็นต้น ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า๓- ความเมาในชาติ ความเมาในโคตร ความเมาเพศ ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในความหนุ่มสาว (และ) ความเมาในชีวิตดังนี้ด้วย. ____________________________ ๑- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๖๔ อภิ. ปุ. เล่ม ๓๖/ข้อ ๘๙ ๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๒๒ ๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๔๙ บทว่า ลปา ความว่า เป็นผู้ประจบประแจง คือเป็นผู้สงเคราะห์ตระกูลด้วยอำนาจ อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เป็นผู้พูดเพื่อปัจจัยด้วยสามารถถ้อยคำที่ประดิษฐ์ประดอยแล้ว และด้วยสามารถแห่งอุบายโกง. บทว่า สิงฺคี ความว่า วาจาที่ประกอบด้วยกิเลสที่เด่นชัด เช่นกับเขาสัตว์ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า คำพูดดุจเขาสัตว์ เป็นไฉน. การพูด มีแง่งอน ภาวะที่พูดแง่งอน การพูดเป็นสี่เหลี่ยมสี่คม กิริยาที่พูดเป็นสี่เหลี่ยมสี่คม การพูดมีเหลี่ยมมีคู ภาวะที่พูดมีเหลี่ยมมีคู อันใด นี้เรียกว่าคำพูดดุจเขาสัตว์๔- (มีแง่งอน). ____________________________ ๔- ปาฐะว่า จาตุริยํ ปาริกฺกติยํ แต่ในขุททกวัตถุวิภังค์ อภิธรรม จาตุริยํ ปริกฺขตฺตา ปาริกฺขติยํ จึงแปลตามบาลีในอภิธรรม. อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๘๔๙ บทว่า อนฺนฬา ความว่า ผู้เป็นเหมือนไม้อ้อที่ชูขึ้น คือเที่ยวไปยกตนที่มีใจว่างเปล่าจากคุณวิเศษ คล้ายไม้อ้อที่ชูขึ้นมาอ้าง. บทว่า อสมาหิตา ความว่า เป็นผู้ไม่ได้ แม้เพียงเอกัคคตาจิต. บทว่า น เม เต ภิกฺขเว ภิกฺขู มามกา ความว่า ภิกษุของเราตถาคตเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นคนของเราตถาคต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า มยฺหํ (ของเราตถาคต) นี้ เพราะภิกษุเหล่านั้นบวชอุทิศพระองค์ แต่เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นไม่ปฏิบัติชอบโดยประกอบการหลอกลวงเป็นต้น ฉะนั้น พระองค์จึงไม่ตรัสเรียกว่า มามกะ (เป็นคนของเราตถาคต). ด้วยบทว่า อปคตา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ถึงแม้ว่า ภิกษุเหล่านั้นบวชแล้วในศาสนาของเราตถาคต แต่เพราะไม่ปฏิบัติตามที่เราตถาคตสอน จึงเท่ากับไปแล้วจากพระธรรมวินัยนี้นั่นเอง คือ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าอยู่ไกลแสนไกลจากศาสนานี้. สมจริงดังที่ตรัสคำนี้ไว้ว่า๕- ท้องฟ้ากับพื้นปฐพี นักปราชญ์กล่าวว่าอยู่ไกลกัน และฝั่งมหาสมุทร (ทั้ง ๒) นักปราชญ์ก็กล่าวว่าอยู่ไกลกัน ข้าแต่พระราชา แต่ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษ นักปราชญ์กล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้นเสียอีก. ____________________________ ๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๔๗ ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๖๓ บทว่า วุฑฺฒึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ อาปชฺชติ ความว่า และภิกษุเหล่านั้นผู้มีสภาพหลอกลวงเป็นต้น จะไม่เข้าถึง. อธิบายว่า ไม่ประสบซึ่งความเจริญตามอำนาจของความเจริญด้วยคุณความดีมีศีลเป็นต้น ซึ่งความงอกงามตามสภาพด้วยความไม่หวั่นไหว อยู่ในคุณความดีมีศีลเป็นต้นนั้น ซึ่งความไพบูลย์ด้วยความบริบูรณ์ด้วยธรรมขันธ์มีศีลเป็นต้น โดยความแผ่ไปในที่ทุกแห่ง. บทว่า เต จ โข เม ภิกฺขเว ภิกฺขู มามกา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แม้นอกนี้ว่า เม (ของเราตถาคต) เพราะบวชอุทิศพระองค์. อนึ่ง ตรัสเรียกว่า มามกะ (เป็นคนของเราตถาคต) เพราะเป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว. ธรรมฝ่ายขาวพึงทราบโดยบรรยายที่ผิดไปจากที่กล่าวมาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่างอกงามอยู่ในธรรมมีศีลเป็นต้นนั้นจนถึงอรหัตมรรค. แต่เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้ว จึงจะชื่อว่าถึงความงอกงามไพบูลย์. คาถาเข้าใจง่ายอยู่แล้ว. จบอรรถกถากุหนาสูตรที่ ๙ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จตุกกนิบาต กุหนาสูตร จบ. |