ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค
ขัคควิสาณสูตร

หน้าต่างที่ ๔ / ๕.

               วรรคที่ ๓               
               คาถาที่ ๒๑               
               คาถาว่า ทิฏฺฐีวิสูกานิ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งในกรุงพาราณสี เสด็จไปในที่ลับ ทรงพระราชดำริว่า ร้อนเป็นต้นซึ่งกำจัดหนาวเป็นต้นมีอยู่ฉันใด วิวัฏฏะซึ่งกำจัดวัฏฏะฉันนั้น มีอยู่หรือว่าไม่มีดังนี้.
               พระองค์จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านรู้วิวัฏฏะหรือ?
               อำมาตย์เหล่านั้นทูลว่า รู้ พระมหาราช.
               พระราชาตรัสถามว่า นั้นเป็นอย่างไร. แต่นั้น อำมาตย์ทั้งหลายทูลบอกสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ โดยนัยมีอาทิว่า โลกมีที่สุด.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงทราบว่า อำมาตย์เหล่านี้ย่อมไม่รู้ อำมาตย์เหล่านี้แม้ทั้งหมดเป็นคนเจ้าทิฏฐิ ทรงเห็นความที่อำมาตย์เหล่านั้นเป็นผู้แย้ง และไม่ควรด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงพระราชดำริว่า วิวัฏฏะซึ่งกำจัดวัฏฏะมีอยู่ เราพึงแสวงหาวิวัฏฏะนั้น แล้วทรงสละราชสมบัติผนวช ทรงเห็นแจ้ง ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ก็ตรัสอุทานคาถานี้ และพยากรณคาถา ในท่ามกลางพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า
                                   ทิฏฺฐีวิสูกานิ อุปาติวตฺโต
                                   ปตฺโต นิยามํ ปฏิลทฺธมคฺโค
                                   อุปฺปนฺนญาโณมฺหิ อนญฺญเนยฺโย
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         เราล่วงพ้นทิฏฐิอันเป็นข้าศึกได้แล้ว ถึงความ
                         เป็นผู้เที่ยง ได้มรรคแล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้น
                         แล้ว อันผู้อื่นไม่พึงแนะนำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               คาถานั้นมีเนื้อความว่า บทว่า ทิฏฺฐีวิสูกานิ ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ อย่าง.
               จริงอยู่ ทิฏฐิเหล่านั้นชื่อว่าเป็นข้าศึก เพราะอรรถว่าเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิในมรรค เพราะอรรถว่าขัดแย้ง และเพราะอรรถว่าทิ่มแทง. ชื่อว่าทิฏฐิวิสูกะ เพราะอรรถว่าเป็นข้าศึกต่อทิฏฐิอย่างนี้ หรือทิฏฐินั้นนั่นเองเป็นข้าศึก จึงชื่อว่าทิฏฐิวิสูกะ.
               บทว่า อุปาติวตฺโต คือ ก้าวล่วงแล้วด้วยทัสสนมรรค.
               บทว่า ปตฺโต นิยามํ ความว่า บรรลุแล้วซึ่งความเป็นผู้เที่ยง เพราะไม่มีความตกต่ำเป็นธรรมดา และเพราะมีการตรัสรู้ชอบเป็นเบื้องหน้า หรือบรรลุปฐมมรรค กล่าวคือความเที่ยงที่สมบูรณ์แล้ว.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวความสำเร็จในปฐมมรรค และการได้เฉพาะซึ่งปฐมมรรค ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ บัดนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงแสดงการได้เฉพาะซึ่งมรรคที่เหลือ ด้วยบทนี้ว่า ปฏิลทฺธมคฺโค ดังนี้.
               บทว่า อุปฺปนฺนญาโณมฺหิ ความว่า เป็นผู้มีปัจเจกพุทธญาณเกิดขึ้นแล้ว.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงผลด้วยบทนี้.
               บทว่า อนญฺญเนยฺโย ความว่า อันบุคคลเหล่าอื่นไม่พึงแนะนำว่า สิ่งนี้จริง สิ่งนี้ไม่จริง.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงความเป็นผู้รู้เองด้วยบทนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดล่วงพ้นความไม่มีแห่งความเป็นผู้อันผู้อื่นไม่พึงแนะนำในปัจเจกโพธิญาณที่บรรลุแล้ว หรือล่วงพ้นทิฏฐิอันเป็นข้าศึกได้แล้วด้วยสมถวิปัสสนาด้วยตนเอง ถึงความเป็นผู้เที่ยงด้วยมรรคต้น มีมรรคอันได้เฉพาะแล้วด้วยมรรคที่เหลือทั้งหลาย หรือมีญาณเกิดแล้วด้วยผลญาณ ได้บรรลุแล้วซึ่งญาณทั้งปวงด้วยตนเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้นั้นชื่อว่า อนญฺญเนยฺโย อันผู้อื่นไม่พึงแนะนำ.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ทิฏฐิวิสูกคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๒               
               คาถาว่า นิลฺโลลุโป ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า วิเสท (พ่อครัว) ของพระเจ้าพาราณสี ปรุงพระกระยาหารในระหว่างน้อมเข้าถวายด้วยความปรารถนาว่า การเห็นโภชนะที่ฟูใจ เป็นรสที่ประเสริฐ ทำอย่างไรหนอ พระราชาพึงพระราชทานทรัพย์แก่เรา. พระกระยาหารนั้นยังความประสงค์ที่จะเสวยให้เกิดขึ้นแก่พระราชาด้วยกลิ่นเท่านั้น จึงทำให้พระเขฬะเกิดขึ้นในพระโอษฐ์ แต่พอพระองค์ทรงใส่พระกระยาหารคำแรกลงในพระโอษฐ์ ประสาทสำหรับรับรส ๗ พัน ก็ซาบซ่านดุจถูกน้ำอมฤตฉะนั้น.
               วิเสทคิดว่า บัดนี้ พระราชาจักทรงพระราชทานแก่เรา.
               ฝ่ายพระราชาทรงพระราชดำริว่า พ่อครัวสมควรแก่สักการะ แต่ครั้นทรงลิ้มรสแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เกียรติศัพท์ที่ชั่วพึงระบือถึงเราผู้สักการะว่า พระราชานี้เป็นผู้โลภติดในรส จึงไม่ตรัสอะไร.
               ฝ่ายวิเสทก็คิดว่า พระราชาจักพระราชทานรางวัลในบัดนี้ จนกระทั่งเสวยพระกระยาหารเสร็จอย่างนี้ แม้พระราชาก็ไม่ตรัสอะไร เพราะทรงกลัวการติเตียน.
               ลำดับนั้น วิเสทคิดว่า พระราชานี้ไม่มีชิวหาวิญญาณ ในวันที่ ๒ จึงนำพระกระยาหารไม่ดีเข้าทูลถวาย. พระราชาเมื่อเสวยอยู่แม้ทรงรู้ว่า วันนี้ พ่อครัวควรแก่การตะคอก ควรแก่การข่ม ทรงพิจารณาดุจในก่อนก็ไม่ตรัสอะไร เพราะทรงกลัวการติเตียน.
               แต่นั้น วิเสทคิดว่า พระราชาไม่ทรงรู้พระกระยาหารที่ดีที่ไม่ดีดังนี้แล้ว ถือเอาสิ่งของที่ตนสั่งสมไว้ทั้งหมด ปรุงพระกระยาหารอย่างใดอย่างหนึ่งถวายแด่พระราชา.
               พระราชาทรงเบื่อหน่ายว่า โอหนอ! ความโลภ เราบริโภคตลอด ๒๐,๐๐๐ ปี ก็ไม่ได้แม้มาตรว่าภัต เพราะความโลภของพ่อครัวนี้ ดังนี้แล้ว ทรงสละพระราชสมบัติ ทรงผนวช เห็นแจ้งอยู่ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ ตรัสพระคาถานี้โดยนัยก่อนนั่นแลว่า
                                   นิลฺโลลุโป นิกฺกุโห นิปฺปิปาโส
                                   นิมฺมกฺโข นิทฺธฺนตกสาวโมโห
                                   นิราสโย สพฺพโลเก ภวิตฺวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่มีความกระหาย
                         ไม่ลบหลู่ มีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว
                         ไม่มีความอยาก ครอบงำโลกทั้งปวงได้แล้ว
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า นิลฺโลลุโป ได้แก่ ผู้ไม่มีความโลภ เพราะบุคคลใดถูกความอยากในรสครอบงำแล้ว บุคคลนั้นย่อมโลภจัดและโลภบ่อยๆ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า โลลุโป ผู้มีความโลภ. เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเมื่อจะปฏิเสธความโลภนั้น จึงกล่าวว่า นิลฺโลลุโป ผู้ไม่โลภ.
               ในบทนี้ว่า นิกฺกุโห นี้ บุคคลใดไม่มีเรื่องหลอกลวง ๓ อย่าง บุคคลนั้นเรียกว่า นิกฺกุโห ผู้ไม่หลอกลวง แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นในคาถานี้ มีอธิบายอย่างนี้ว่า ไม่หลอกลวง เพราะไม่ถึงความกระหยิ่มในโภชนะอันฟูใจเป็นต้น.
               ในบทว่า นิปฺปิปาโส นี้ ความอยากดื่ม ชื่อว่าความกระหาย ชื่อว่าไม่มีความกระหาย เพราะไม่มีความกระหายนั้น.
               อธิบายว่า เว้นแล้วจากความเป็นผู้ใคร่จะบริโภคด้วยความโลภในรสดี.
               ในบทว่า นิมฺมกฺโข นี้ การลบหลู่มีการยังคุณของคนอื่นให้เสื่อมเสียเป็นลักษณะ. ชื่อว่าไม่ลบหลู่ เพราะไม่มีการลบหลู่นั้น.
               พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวหมายถึงความไม่มีการลบหลู่คุณของพ่อครัว ในกาลที่ตนยังเป็นคฤหัสถ์.
               ในบทว่า นิทฺธนฺตกสาวโมโห นี้ ธรรม ๖ อย่าง คือ ๓ อย่างมีราคะเป็นต้น และ ๓ อย่างมีกายทุจริตเป็นต้น
               พึงทราบว่า กสาวะ น้ำฝาด ด้วยอรรถว่าไม่เลื่อมใสตามความเป็นจริง และด้วยอรรถว่าให้ละภาวะตน ให้ถือภาวะอื่น.
               เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า๑-
               ในธรรม ๖ อย่างนั้น กสาวะ ๓ เป็นไฉน
               กสาวะ ๓ เหล่านี้ คือ ราคกสาวะ โทสกสาวะ โมหกสาวะ.
               กสาวะ ๓ แม้อื่นอีก คือ กายกสาวะ วจีกสาวะ มโนกสาวะ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๔๘

               ชื่อว่ามีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว เพราะกำจัดโมหะอันเป็นมูลรากแห่งกสาวะ ๕ เว้นโมหะ ในบรรดากสาวะ ๖ นั้น และกำจัดกสาวะ ๖ อย่างเหล่านั้นทั้งหมดเสียแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีโมหะดุจน้ำฝาดอันกำจัดเสียแล้ว เพราะกำจัดกายกสาวะ วจีกสาวะและมโนกสาวะทั้ง ๓ อย่างนั้น และโมหะเสียแล้ว. ในบรรดากสาวะนอกนี้ ความที่บุคคลกำจัดราคกสาวะได้แล้ว ก็เป็นอันกำจัดโทสกสาวะได้ด้วย เพราะไม่ลบหลู่สำเร็จแล้ว ด้วยความเป็นผู้ไม่โลภเป็นต้นนั่นเทียว.
               บทว่า นิราสโย คือ ไม่มีตัณหา.
               บทว่า สพฺพโลเก ได้แก่ ในโลกทั้งสิ้น. อธิบายว่า ในภพทั้ง ๓ หรือในอายตนะ ๑๒ คืองดเว้นภวตัณหาและวิภวตัณหาแล้ว.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง นักศึกษาครั้นกล่าวบาททั้ง ๓ แล้วพึงทำการเชื่อมในบาทนี้แม้อย่างนี้ว่า พึงเที่ยวไปผู้เดียว หรือแม้อย่างนี้ว่า พึงอาจเพื่อเที่ยวไปผู้เดียว ดังนี้.
               นิลโลลุปคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๓               
               คาถาว่า ปาปํ สหายํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งในกรุงพาราณสี ทรงกระทำประทักษิณพระนครอยู่ด้วยอานุภาพแห่งพระราชาอันยิ่งใหญ่ ทรงเห็นมนุษย์ทั้งหลายขนข้าวเปลือกเก่าเป็นต้นออกจากยุ้งฉางไว้ในภายนอก จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า ดูก่อนพนาย นี้อะไร? อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช บัดนี้ ข้าวเปลือกใหม่จักเกิดขึ้น มนุษย์เหล่านี้จึงทิ้งข้าวเปลือกเก่า เพื่อทำที่ว่างสำหรับข้าวเปลือกใหม่เหล่านั้น.
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพนาย วัตถุสำหรับนางสนมและพลกายเป็นต้น บริบูรณ์แล้วหรือ?
               อ. อย่างนั้น พระมหาราช บริบูรณ์แล้ว.
               ร. ดูก่อนพนาย ถ้าอย่างนั้น จงให้สร้างโรงทาน เราจักให้ทาน อย่าให้ข้าวเปลือกเหล่านี้เสียไปเปล่าๆ
               ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งทูลว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล พวกพาลและพวกบัณฑิตแล่นไป ท่องเที่ยวไปจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังนี้แล้ว ทูลห้ามพระราชานั้น.
               แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวเธอก็ทรงเห็นคนทั้งหลายยื้อแย่งยุ้งฉาง จึงตรัสสั่งอย่างนั้นเหมือนกัน.
               แม้ครั้งที่ ๓ อำมาตย์เจ้าทิฏฐินั้นก็ทูลห้ามพระราชาพระองค์นั้นว่า ข้าแต่มหาราช ทานนี้ คนโง่บัญญัติไว้ ดังนี้เป็นต้น.
               พระองค์ทรงเบื่อหน่ายว่า เราไม่ได้เพื่อให้แม้ของตนเอง เราจะมีประโยชน์อะไรกับสหายผู้ลามกเหล่านี้ ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชแล้ว ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ และทรงติเตียนสหายผู้ลามกนั้น จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   ปาปํ สหายํ ปรวชฺชเยถ
                                   อนตฺถทสฺสึ วิสเม นิวิฏฺฐํ
                                   สยํ น เสเว ปสุตํ ปมตฺตํ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         กุลบุตรพึงเว้นสหายผู้ลามก ไม่พึงเสพด้วยตนเองซึ่ง
                         สหายผู้ชี้บอกความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ใน
                         กรรมอันไม่เสมอ ผู้ข้องอยู่ ผู้ประมาท พึงเที่ยวไปผู้
                         เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               คาถานั้น มีความสังเขปดังนี้
               สหายนี้ใด ชื่อว่าลามก เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิ ๑๐ อย่าง.
               ชื่อว่าอนัตถทัสสี เพราะอรรถว่าชี้บอกความฉิบหายแม้แก่คนเหล่าอื่น และตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ มีกายทุจริตเป็นต้น.
               กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์พึงเว้นสหายผู้ลามกนั้น ไม่พึงเสพด้วยตนเองซึ่งสหายผู้ชี้บอกความฉิบหาย ผู้ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ.
               อธิบายว่า ไม่พึงคบด้วยอำนาจของตนด้วยประการนี้ ก็ถ้าตกอยู่ในอำนาจของคนอื่นไซร้ ตนเองจะอาจทำอะไรได้เล่า.
               บทว่า ปสุตํ ได้แก่ ผู้ซ่านไป.
               อธิบายว่า ผู้ข้องแล้วในอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจทิฏฐิ.
               บทว่า ปมตฺตํ ได้แก่ ผู้ปล่อยจิตในกามคุณทั้งหลาย หรือผู้เว้นจากกุศลภาวนา. กุลบุตรไม่พึงเสพ คือไม่พึงคบ ไม่พึงเข้าไปใกล้สหายนั้น คือผู้เป็นเช่นนั้น โดยที่แท้พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น ดังนี้แล.
               ปาปสหายคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๔               
               คาถาว่า พหุสฺสุตํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกาลก่อน ปัจเจกโพธิสัตว์ ๘ องค์บวชแล้วในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป. บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรแล้วเกิดในเทวโลก.
               เรื่องทั้งหมดเป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในอนวัชชโภชิคาถานั่นแล.
               ส่วนความแปลกกัน ดังนี้ :-
               พระราชาทรงให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว จึงตรัสว่า พวกท่านชื่อว่าอะไร.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทูลว่า ดูก่อนมหาบพิตร พวกอาตมาชื่อว่าพหูสูต.
               พระราชาทรงมีพระราชหฤทัยยินดีว่า เราชื่อว่าสุตพรหมทัต ย่อมไม่ถึงความอิ่มด้วยสุตะ เอาเถิด เราจักฟังสัทธรรมเทศนาอันมีนัยวิจิตรในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ดังนี้แล้วถวายน้ำทักขิโณทก ทรงอังคาสแล้ว ในที่สุดแห่งภัตกิจ ทรงรับบาตรของพระสังฆเถระ ทรงไหว้ ประทับนั่งข้างหน้า ด้วยพระดำรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงธรรมกถาเถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นทูลว่า มหาบพิตร ขอมหาราชจึงมีความสุข จงสิ้นราคะเถิด แล้วลุกไป.
               พระราชาทรงพระราชดำริว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ไม่ใช่พหูสูต องค์ที่ ๒ จักเป็นพหูสูต จึงทรงนิมนต์เพื่อฉันในพรุ่งนี้ ด้วยพระราชดำริว่า เราจักฟังพระธรรมเทศนาอันวิจิตรในวันพรุ่งนี้ พระองค์ทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดจนถึงลำดับองค์สุดท้ายด้วยประการอย่างนี้.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแม้ทั้งหมดแสดงบทหนึ่งให้แปลกกันแล้ว กล่าวบทที่เหลือเป็นเช่นกับบทต้นว่า ขอพระมหาราชจงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้นตัณหา ดังนี้แล้ว จึงลุกไป.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงพระราชดำริว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้กล่าวว่าพวกอาตมาเป็นพหูสูต แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่มีกถาอันวิจิตรเลย คำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกล่าวแล้วจะมีประโยชน์อะไร ทรงปรารภแล้ว เพื่อทรงพิจารณาอรรถแห่งถ้อยคำของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
               ครั้นทรงพิจารณาอยู่ว่าจงสิ้นราคะดังนี้ ก็ทรงทราบว่า เมื่อราคะสิ้นแล้ว โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสทั้งหลายอื่นก็ดี ย่อมเป็นอันสิ้นแล้วด้วย จึงทรงพอพระราชหฤทัยว่า พระสมณะเหล่านี้เป็นพหูสูตโดยตรง เปรียบเหมือนบุรุษชี้แสดงแผ่นดินใหญ่ หรืออากาศด้วยนิ้วมือ ก็ไม่เป็นอันชี้แสดงประเทศสักนิ้วมือเลย แต่ความจริงแล เป็นอันชี้แสดงแผ่นดินและอากาศเหมือนกันฉันใด พระสมณะเหล่านี้ เมื่อชี้แสดงอรรถองค์ละข้อก็เป็นอันชี้แสดงอรรถอันหาปริมาณไม่ได้ ฉันนั้น.
               แต่นั้นท้าวเธอทรงปรารถนาอยู่ซึ่งความเป็นพหูสูต เห็นปานนั้นว่า ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราจักเป็นพหูสูตอย่างนี้ ทรงสละราชสมบัติ ผนวชแล้วเห็นแจ้งอยู่ ได้ทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   พหุสฺสุตํ ธมฺมธรํ ภเชถ
                                   มิตฺตํ อุฬารํ ปฏิภาณวนฺตํ
                                   อญฺญาย อตฺถานิ วิเนยฺย กงฺขํ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
                         ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์
                         ทั้งหลาย กำจัดความสงสัยได้แล้ว พึงเที่ยว
                         ไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในคาถานั้น มีเนื้อความโดยย่อดังนี้
               บทว่า พหุสฺสุตํ ความว่า มิตรผู้พหูสูตมี ๒ อย่าง คือ ผู้พหูสูตทางปริยัติ เชี่ยวชาญโดยเนื้อความในไตรปิฎก ๑ ผู้พหูสูตทางปฏิเวธ เพราะความที่มรรค ผล วิชชา และอภิญญาอันตนแทงตลอดแล้ว ๑.
               ผู้มีอาคมมาแล้ว ชื่อว่าผู้ทรงธรรม. ก็ผู้ประกอบพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอันยิ่ง ชื่อว่าผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม. ผู้มียุตตปฏิภาณ ๑ ผู้มีมุตตปฏิภาณ ๑ ผู้มียุตตมุตตปฏิภาณ ๑ ชื่อว่ามีปฏิภาณ.
               พึงทราบผู้มีปฏิภาณ ๓ อย่างด้วยอำนาจแห่งปริยัติปฏิภาณ ปริปุจฉาปฏิภาณและอธิคมนปฏิภาณ.
               จริงอยู่ ปริยัติย่อมแจ่มแจ้งแก่มิตรใด มิตรนั้นชื่อว่าปริยัติปฏิภาณ.
               การสอบถามย่อมแจ่มแจ้งแก่มิตรใด ผู้สอบถามอรรถ ญาณ ลักษณะและฐานาฐานะ มิตรนั้นชื่อว่าปริปุจฉาปฏิภาณ.
               ธรรมมีมรรคเป็นต้นอันมิตรใดแทงตลอดแล้ว มิตรนั้นชื่อว่าปฏิเวธปฏิภาณ.
               บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม ผู้ยิ่งด้วยคุณธรรม มีปฏิภาณนั้นคือมีรูปเห็นปานนั้น แต่นั้นรู้จักประโยชน์ทั้งหลายมีอเนกประการ โดยต่างด้วยประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่นและประโยชน์ทั้งสอง หรือโดยต่างด้วยทิฏฐธัมมิกประโยชน์ สัมปรายิกประโยชน์และปรมัตถประโยชน์ด้วยอานุภาพแห่งมิตรนั้น แต่นั้นกำจัดความสงสัยได้แล้ว ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยทั้งหลายมีอาทิว่า ในอดีตกาล เราได้มีแล้วหรือหนอ ดังนี้แล้วนำออกไปซึ่งความเคลือบแคลงให้หมดไป มีกิจทั้งปวงอันทำแล้วอย่างนี้ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้นแล.
               พหุสสุตคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๕               
               คาถาว่า ขิฑฺฑํ รตึ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ในกรุงพาราณสี พระราชาพระนามว่า วิภูสกพรหมทัต เสวยยาคูหรือพระกระยาหารแต่เช้าตรู่ ทรงให้ตกแต่งพระองค์ ด้วยเครื่องประดับนานาชนิด ทรงส่องพระวรกายทั้งสิ้นในพระฉายใหญ่ ทรงเอาเครื่องประดับที่ไม่ต้องการออกเสีย ให้พนักงานตกแต่งด้วยเครื่องประดับอย่างอื่น.
               ในวันหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงกระทำอย่างนี้ ก็ถึงเวลาเสวยพระกระยาหารตอนเที่ยง ครั้งนั้นพระองค์ยังตกแต่งไม่เสร็จเลย ก็ทรงโพกพระเศียรด้วยผืนผ้า แล้วเสด็จเข้าที่บรรทมในกลางวัน เมื่อพระองค์เสด็จลุกขึ้น ทรงกระทำอย่างนั้นแม้อีก พระอาทิตย์ก็อัสดง.
               ในวันที่ ๒ ก็ดี ในวันที่ ๓ ก็ดีก็ทรงกระทำอย่างนั้น เมื่อพระองค์ทรงขวนขวายในการตกแต่งอย่างนั้นก็เกิดพระโรคปวดในพระปฤษฎางค์.
               พระองค์ทรงพระราชดำริดังนี้ว่า โอ! โธเอ๋ย เราแม้ตกแต่งอยู่ด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ก็ไม่พอใจในเครื่องประดับที่สมควรนี้ ยังความโลภให้เกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นชื่อว่าความโลภนั้น ทำให้คนถึงอบาย เอาเถอะ เราจะข่มความโลภนั้น ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ก็ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว จึงตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   ขิฑฺฑํ รตึ กามสุขญฺจ โลเก
                                   อนลงฺกริตฺวาน อนเปกฺขมาโน
                                   วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลไม่พอใจการเล่น ความยินดีและกามสุขในโลก
                         แล้วไม่เพ่งเล็งอยู่ เว้นจากฐานะแห่งการประดับ มีปกติ
                         กล่าวคำสัตย์พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               การเล่น ความยินดีในคาถานั้น ได้กล่าวแล้วในกาลก่อนเทียว.
               บทว่า กามสุขํ ได้แก่ ความสุขในวัตถุกาม.
               จริงอยู่ วัตถุกามทั้งหลาย เรียกว่าสุข เพราะเป็นอารมณ์เป็นต้นของความสุข. เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑- รูปมีอยู่ ความสุข ติดตามสุข ดังนี้. บุคคลไม่พอใจ คือไม่กระทำว่าพอละซึ่งการเล่น ความยินดี และกามสุขนั่นในโอกาสโลกนี้อย่างนี้แล้ว ไม่ถือสิ่งนั่นว่า ก่อความเดือดร้อน หรือไม่ถือสิ่งนั้นว่าเป็นสาระ.
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๓๑

               บทว่า อนเปกฺขมาโน ความว่า มีปกติไม่เพ่งเล็ง คือไม่มีความอยาก ไม่มีความทะยานอยาก.
               ในคำว่า วิภูสนฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที เอโก จเร นี้ พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า เครื่องประดับมี ๒ อย่าง คือเครื่องประดับสำหรับฆราวาส ๑ เครื่องประดับสำหรับบรรพชิต ๑.
               ก็เครื่องประดับสำหรับฆราวาสมีผ้าสาฎก ผ้าโพก ดอกไม้และของหอมเป็นต้น ส่วนเครื่องประดับสำหรับบรรพชิตมีเครื่องตกแต่ง คือบาตรเป็นต้น เครื่องประดับนั่นเอง ชื่อว่าวิภูสนัฏฐานะ เว้นจากฐานะแห่งการประดับนั้นด้วยวิรัติแม้ ๓ อย่าง.
               ชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ เพราะพูดไม่ผิด ดังนี้แล.
               วิภูสนัฏฐานคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๖               
               คาถาว่า ปุตฺตญฺจ ทารํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
               ได้ยินว่า พระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ทรงอภิเษกแล้วในกาลยังทรงพระเยาว์นั้นเทียว เสวยราชสมบัติ. พระองค์ทรงเสวยพระสิริราชสมบัติ ดุจพระปัจเจกโพธิสัตว์ที่กล่าวแล้วในปฐมคาถา.
               ในวันหนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า เราเสวยราชสมบัติย่อมทำทุกข์แก่ชนมาก เราจะมีประโยชน์อะไรด้วยบาปนี้ เพื่อประโยชน์แก่การเสวยคนเดียวเล่า เราจะยังสุขใหญ่ให้เกิดขึ้นดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณแล้ว ได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   ปุตฺตญฺจ ทารํ ปิตรญฺจ มาตรํ
                                   ธนานิ ธญฺญานิ พนฺธวานิ
                                   หิตฺวาน กามานิ ยโถธิกานิ
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลละบุตร ภรรยา บิดา มารดา ทรัพย์
                         ข้าวเปลือก พวกพ้อง และกามซึ่งตั้งอยู่
                         ตามส่วนแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
                         นอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนานิ ได้แก่ รัตนะทั้งหลายมีแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทองเป็นต้น.
               บทว่า ธญฺญานิ ได้แก่ อปรธัญชาติ ๗ อย่าง อันต่างด้วยข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือยและหญ้ากับแก้.
               บทว่า พนฺธวานิ ได้แก่ พวกพ้อง ๔ ประเภท คือ ญาติ โคตร มิตรและเพื่อนเรียนศิลปะ.
               บทว่า ยโถธิกานิ คือ ซึ่งตั้งอยู่ตามส่วนของตนๆ นั่นเทียว.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               ปุตตทารคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๗               
               คาถาว่า สงฺโค เอโส ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า ปาทโลลพรหมทัต. ท้าวเธอเสวยยาคู หรือพระกระยาหารแต่เช้าตรู่ ทรงชมนักฟ้อน ๓ ประเภทในปราสาททั้ง ๓.
               คำว่า นักฟ้อน ๓ ประเภท ได้แก่ นักฟ้อนที่มาจากพระราชาในอดีต ๑ นักฟ้อนที่มาจากพระราชาถัดมา ๑ นักฟ้อนที่ตั้งขึ้นในรัชกาลของพระองค์ ๑.
               ในวันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นสาวแต่เช้าตรู่ สตรีนักฟ้อนทั้งหลายคิดว่า พวกเราจักให้พระราชาทรงรื่นเริง จึงประกอบการฟ้อนรำ ขับร้อง และการประโคมอันน่าจับใจยิ่ง ดุจพวกนางอัปสรของท้าวสักกะจอมทวยเทพฉะนั้น พระราชาไม่ทรงพอพระราชหฤทัยว่า การฟ้อนรำของนักฟ้อนรุ่นสาวทั้งหลายนั่นไม่อัศจรรย์ จึงเสด็จไปสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นกลาง สตรีนักฟ้อนแม้เหล่านั้นก็ได้กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน. พระองค์ไม่พอพระราชหฤทัยในสตรีนักฟ้อนรุ่นกลางแม้นั้นเหมือนกัน จึงเสด็จไปสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นใหญ่ สตรีนักฟ้อนแม้เหล่านั้นก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน.
               พระราชาทรงเห็นการฟ้อนรำเป็นเช่นกับการเล่นกระดูก เพราะสตรีนักฟ้อนเหล่านั้นเป็นคนแก่เฒ่าล่วง ๒-๓ รัชกาลมาแล้ว และทรงฟังเสียงขับร้องอันไม่ไพเราะ จึงเสด็จสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นสาว ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นกลางไปๆ มาๆ อย่างนี้ ก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในที่แห่งไหนเลย ทรงพระราชดำริว่า สตรีนักฟ้อนเหล่านี้ประสงค์จะให้เรารื่นเริง ดุจเหล่านางอัปสรของท้าวสักกะจอมทวยเทพฉะนั้น จึงประกอบการฟ้อนรำ การขับร้องและการประโคม เต็มความสามารถทุกอย่าง เรานั้นไม่พอใจในที่แห่งไหนเลย ทำให้โลภะเจริญขึ้นเท่านั้น ก็ขึ้นชื่อว่าโลภะนั้นเป็นธรรมพึงให้ไปสู่อบาย เอาเถิด เราจะข่มโลภะ ดังนี้แล้วทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชแล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่ก็ทรงทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   สงฺโค เอโส ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ
                                   อปฺปสฺสาโท ทุกฺขเมตฺถ ภิยฺโย
                                   คณฺโฑ เอโส อิติ ญตฺวา มติมา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บัณฑิตทราบว่า ความเกี่ยวข้องในเวลาบริโภค
                         เบญจกามคุณนี้ มีสุขน้อย มีความยินดีน้อย
                         มีทุกข์มาก ดุจหัวฝีดังนี้แล้ว มีความรู้ พึงเที่ยว
                         ไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               คาถานั้นมีอรรถว่า บทว่า สงฺโค เอโส ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงการอุปโภคของตน ด้วยว่าความเกี่ยวข้องนั้น ชื่อว่าสังคะ เพราะอรรถว่าสัตว์ทั้งหลายข้องอยู่ในเบญจกามคุณนั้น ดุจช้างตกอยู่ในเปือกตมฉะนั้น.
               บทว่า ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ ความว่า ในกาลแห่งบริโภคเบญจกามคุณนี้ ชื่อว่ามีสุขน้อย เพราะอรรถว่าลามก โดยให้เกิดความสำคัญผิด หรือโดยเนื่องด้วยกามาวจรธรรม.
               มีอธิบายว่ามีนิดหน่อย คือมีชั่วคราว ดุจสุขในการชมดูการฟ้อนรำที่แสงฟ้าแลบให้สว่างขึ้นฉะนั้น.
               โทษของกามทั้งหลาย พึงทราบว่ามีความยินดีน้อย เป็นเพียงหยดน้ำ เมื่อเทียบกับทุกข์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยนัยอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในโลกนี้ย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการประกอบศิลปะใด คือการคิด การนับ๑- ดังนี้เป็นต้น โดยที่แท้มีทุกข์ยิ่งคือมาก เป็นเช่นกับน้ำในสมุทรทั้งสี่.
               เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดังนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๙๘

               บทว่า คณฺโฑ เอโส ความว่า เบญจกามคุณนี้เปรียบเหมือนเบ็ด ด้วยสามารถแสดงความยินดีแล้วคร่ามา.
               บทว่า อิติ ญตฺวา มติมา ความว่า บุรุษผู้บัณฑิตที่มีความรู้ รู้อย่างนี้แล้วก็พึงละกามทั้งหมดเสีย เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้นแล.
               สังคคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๘               
               คาถาว่า สนฺทาลยิตฺวาน ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในพระนครพาราณสี มีพระราชาพระนามว่า อนิวัตตพรหมทัต. ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่สงครามทรงปราชัยแล้วไม่เสด็จกลับ หรือทรงปรารภพระราชกิจอย่างอื่นยังไม่สำเร็จ ก็ไม่เสด็จกลับ เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงเรียกพระองค์อย่างนั้น.
               ในวันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน. ก็โดยสมัยนั้น ไฟป่าได้ลุกไหม้ ไฟนั้นไหม้ไม้แห้งและวัตถุมีหญ้าเป็นต้นที่ตกหล่น ลามไปไม่หวนกลับ พระราชาทรงเห็นไฟนั้นแล้ว ทรงยังนิมิตอันเปรียบด้วยไฟนั้นให้เกิดขึ้นว่า ไฟป่านี้ฉันใด ไฟ ๑๑ อย่างก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไหม้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไปไม่หวนกลับ ก่อทุกข์ใหญ่ให้เกิดขึ้น ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราเพื่อไม่ให้ทุกข์นี้หวนกลับ พึงเผาไหม้กิเลสทั้งหลายด้วยไฟคืออริยมรรคญาณ เหมือนไฟนี้ไปไม่หวนกลับ.
               แต่นั้น พระองค์เสด็จไปสักครู่ ทรงเห็นชาวประมงทั้งหลายกำลังจับปลาในแม่น้ำ ปลาใหญ่ตัวหนึ่งติดข่ายของชาวประมงเหล่านั้น ได้ทำลายข่ายหนีไป. ชาวประมงเหล่านั้นร้องว่า ปลาทำลายข่ายหนีไปแล้ว. พระราชาทรงฟังคำแม้นั้น จึงยังนิมิตอันเปรียบเทียบด้วยปลานั้นให้เกิดขึ้นว่า ชื่อในกาลไหนหนอ แม้เราพึงทำลายข่ายคือตัณหาและทิฏฐิ ด้วยอริยมรรคญาณไปไม่ติดขัดดังนี้.
               พระราชานั้นทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชแล้ว ปรารภวิปัสสนา ได้กระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณและตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   สนฺทาลยิตฺวาน สํโยชนานิ
                                   ชาลํ ว เฉตฺวา สลิลมฺพุจารี
                                   อคฺคี ว ทฑฺฒํ อนิวตฺตมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลพึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลาย
                         เหมือนปลาทำลายข่ายหนีไป
                         เหมือนไฟไม่หวนกลับมาสู่ที่ไหม้แล้ว
                         พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทที่ ๒ แห่งคาถานั้น วัตถุที่สำเร็จด้วยด้ายเรียกว่า ชาลํ ข่าย.
               น้ำ เรียกว่า อัมพุ. ชื่อว่า อัมพุจารี ปลา เพราะอรรถว่าว่ายไปในน้ำนั้น. คำว่า อัมพุจารี นั้นเป็นชื่อของปลา ปลาที่ว่ายไปในน้ำ ชื่อว่า สลิลัมพุจารี.
               มีอธิบายว่า ดุจปลาทำลายข่ายในน้ำแห่งนทีนั้น.
               ในบาทที่ ๓ สถานที่ถูกไฟไหม้ เรียกว่า ทฑฺฒํ แปลว่าที่ไหม้แล้ว.
               มีอธิบายว่า ไฟย่อมไม่หวนกลับไปสู่สถานที่ไหม้แล้ว คือไม่มาในที่ไหม้แล้วนั้นโดยแท้ฉันใด บุคคลไม่กลับสู่ที่แห่งกามคุณที่ไฟ คือมรรคญาณไหม้แล้ว คือไม่มาในที่แห่งกามคุณนั้นโดยแท้ ฉันนั้น.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               สันทาลนคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๒๙               
               คาถาว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในพระนครพาราณสี พระราชาพระนามว่า จักขุโลลพรหมทัต ทรงโปรดการดูนักฟ้อน เหมือนพระเจ้าปาทโลลพรหมทัต.
               ส่วนความแปลกกัน ดังนี้ :-
               พระเจ้าปาทโลลพรหมทัตทรงไม่พอพระราชหฤทัยแล้ว เสด็จไป ณ ที่นั้นๆ พระเจ้าจักขุโลลพรหมทัตนี้ทรงเห็นนักฟ้อนนั้นๆ แล้ว ทรงเพลิดเพลินยิ่งนัก เสด็จเที่ยวทำตัณหาให้เจริญอยู่ ด้วยการทอดพระเนตรดูนักฟ้อนที่เยื้องกราย
               ได้ยินว่า พระองค์ทรงเห็นภริยาของกุฎุมพีคนหนึ่งที่มาดูนักฟ้อน ทรงยังราคะให้เกิดขึ้น แต่นั้น ทรงสลดพระราชหฤทัยว่า เรายังตัณหานี้เจริญอยู่อีก จักเป็นผู้เต็มในอบาย เอาเถิด เราจักข่มราคะนั้นดังนี้แล้ว ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ.
               เมื่อจะทรงติเตียนความประพฤติในครั้งก่อนของพระองค์ จึงตรัสอุทานคาถานี้ เพื่อทรงแสดงคุณอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการประพฤตินั้นว่า
                                   โอกฺขิตฺตจกฺขุ น จ ปาทโลโล
                                   คุตฺตินฺทฺริโย รกฺขิตมานสาโน
                                   อนวสฺสุโต อปริฑยฺหมาโน
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลผู้มีจักษุทอดลงแล้ว ไม่คะนองเท้า
                         มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว มีใจอันรักษา
                         แล้ว ผู้อันกิเลสไม่รั่วรดแล้ว และไฟคือ
                         กิเลสไม่แผดเผาอยู่ พึงเที่ยวไปผู้เดียว
                         เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ ได้แก่ ผู้มีจักษุทอดลงต่ำ.
               มีอธิบายว่า ผู้วางที่ต่อทั้ง ๗ ตามลำดับแล้ว เพ่งดูชั่วแอก เพื่องดเว้นและดูสิ่งที่ควรละ แต่ไม่ใช่เอากระดูกคางกระทบกับกระดูกอก เพราะผู้มีจักษุทอดลงอย่างนี้ ไม่สมควรแก่สมณะ.
               บทว่า น จ ปาทโลโล ความว่า ไม่เดินส่ายไป ดุจลากเท้าจ้ำไป เพราะรีบจะเข้าไปในท่ามกลางหมู่อย่างนี้ว่า ที่ ๒ สำหรับคนหนึ่ง ที่ ๓ สำหรับคน ๒ คน หรือเว้นจากการเที่ยวไปนานและการเที่ยวไปไม่กลับ.
               บทว่า คุตฺตินฺทฺริโย ได้แก่ มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ ด้วยอำนาจที่กล่าวไว้แผนกหนึ่งในคาถานี้.
               บทว่า รกฺขิตมานสาโน ความว่า มานัสนั่นเองชื่อว่ามานสานะ มานสานะนั้นอันบุคคลนั้นรักษาแล้ว เพราะเหตุนั้น บุคคลนั้นจึงชื่อว่า รกฺขิตมานสาโน แปลว่ามีใจอันตนรักษาแล้ว.
               มีอธิบายว่า มีจิตอันตนรักษาแล้วโดยประการที่จิตไม่แปดเปื้อนด้วยกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า อนวสฺสโต ความว่า ผู้เว้นจากการรั่วรดของกิเลสในอารมณ์นั้นๆ ด้วยการปฏิบัตินี้.
               บทว่า อปริฑยฺหมาโน ความว่า เพราะเว้นจากการรั่วรดอย่างนี้เอง อันไฟคือกิเลสทั้งหลายไม่แผดเผาอยู่ หรืออันไฟคือกิเลสทั้งหลายไม่รั่วรดแล้วในภายนอก ไม่แผดเผาอยู่ในภายใน.
               บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               โอกขิตตจักขุคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               

               คาถาที่ ๓๐               
               คาถาว่า โอหารยิตฺวา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี พระราชาพระนามว่า จาตุมาสิกพรหมทัต พระองค์อื่นนี้ เสด็จไปทรงกีฬาในพระราชอุทยานทุก ๔ เดือน. ในวันหนึ่ง ท้าวเธอเมื่อเสด็จเข้าพระราชอุทยาน ในเดือนท่ามกลางแห่งฤดูร้อน ทรงเห็นต้นทองหลางดุจต้นปาริฉัตรในสวรรค์ซึ่งมีคาคบสะพรั่งด้วยดอก สล้างด้วยใบ ใกล้พระทวารแห่งพระราชอุทยาน จึงทรงเด็ดเอาดอกหนึ่งแล้ว เสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน.
               แต่นั้น อำมาตย์แม้คนหนึ่งคิดว่า พระราชาทรงเด็ดเอาดอกงาม จึงยืนขึ้นบนคอช้างนั่นแล เด็ดเอาดอกหนึ่ง.
               โดยอุบายนั่นเทียว พลกายทั้งหมดจึงเด็ดเอาบ้าง ผู้ไม่ได้ดอกก็เด็ดเอาแม้ซึ่งใบ ต้นไม้นั้นจึงปราศจากใบและดอก เหลือแต่ลำต้นเท่านั้น.
               ในสมัยเย็น พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ทรงเห็นต้นไม้นั้น ทรงพระราชดำริอยู่ว่า ต้นไม้นี้ใครกระทำหรือ ในเวลาเรามาก็สะพรั่งด้วยดอกสวยงามเป็นเช่นกับแก้วประพาฬ ในระหว่างกิ่งซึ่งมีสีดุจแก้วมณี บัดนี้กลายเป็นต้นไม้ปราศจากใบและดอกเสียแล้ว ทรงเห็นต้นไม้ไม่ผลิดอกมีใบเหลืองหล่นเกลื่อนกล่น ในที่ใกล้ต้นไม้นั้นแล ก็ครั้นทรงเห็นแล้ว พระองค์ทรงพระราชดำริดังนี้ว่า ต้นไม้นี้เป็นที่ตั้งแห่งความโลภของชนมาก เพราะมีกิ่งสะพรั่งด้วยดอก เพราะเหตุนั้น จึงถึงความย่อยยับเพียงชั่วครู่เท่านั้น.
               ส่วนต้นไม้อื่นนี้คงดำรงอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ราชสมบัติแม้นี้พึงเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ เหมือนต้นไม้ที่มีดอก.
               ส่วนความเป็นภิกษุไม่พึงเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ เพราะฉะนั้น ราชสมบัติแม้นี้ยังไม่ถูกแย่งชิง เหมือนต้นไม้นี้ตราบใด เราพึงเป็นผู้ปกปิดด้วยผ้ากาสาวะ ดุจต้นทองหลางอื่นนี้ เกลื่อนกล่นด้วยใบเหลืองแล้ว บวชตราบนั้น.
               พระราชานั้นทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ทรงกระทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิญาณ แล้วตรัสอุทานคาถานี้ว่า
                                   โอหารยิตฺวา คิหิพฺยญฺชนานิ
                                   สญฺฉินฺนปตฺโต ยถา ปาริฉตฺโต
                                   กาสายวตฺโถ อภินิกฺขมิตฺวา
                                   เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

                         บุคคลละเพศแห่งคฤหัสถ์ ดุจต้นทองหลางมีใบร่วง
                         หล่นแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต
                         เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น
ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทนี้ว่า กาสายวตฺโถ อภินิกฺขมิตฺวา ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ออกจากเรือนแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ.
               บทที่เหลืออาจเพื่อรู้ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้กล่าวให้พิสดาร.
               ปาริจฉัตตกคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์               
               วรรคที่ ๓ จบ               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค ขัคควิสาณสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 295อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 296อ่านอรรถกถา 25 / 297อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=6971&Z=7101
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1095
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1095
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :