ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 326อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 327อ่านอรรถกถา 25 / 328อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค
อุฏฐานสูตร

               อรรถกถาอุฏฐานสูตรที่ ๑๐               
               อุฏฐานสูตร มีคำเริ่มต้นว่า อุฏฺฐหถ ดังนี้.
               ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้ :-
               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ทรงอยู่ในมหาวิหารเชตวันในเวลากลางคืน ในเวลาเช้ามีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี แล้วเสด็จออกจากพระนครทางประตูด้านทิศตะวันออก ได้เสด็จไปยังปราสาทของมิคารมารดา (วัดบุพพาราม) เพื่อประทับในเวลากลางวัน.
               ได้ยินว่า การประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหารในเวลากลางคืนแล้ว เสด็จเข้าไปทรงพักในเวลากลางวัน ในปราสาทของมิคารมารดา และการเสด็จประทับในปราสาทของมิคารมารดาในเวลากลางคืน แล้วเสด็จเข้าไปทรงพักในเวลากลางวันในพระเชตวันวิหาร นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิบัติมาเป็นประจำ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพื่อทรงอนุเคราะห์สกุลทั้งสองนั้นประการหนึ่ง เพื่อประโยชน์จะแสดงถึงคุณแห่งการบริจาคใหญ่ (ของท่านทั้งสองนั้น) อีกประการหนึ่ง.
               ก็ ณ ภายใต้ปราสาทแห่งมิคารมารดาได้มีเรือนยอดอยู่ ๕๐๐ ห้อง ซึ่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปได้อาศัยอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดานั้น เมื่อใดพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ภายใต้ปราสาท (ชั้นล่าง) ในกาลนั้นภิกษุทั้งหลายก็ไม่ขึ้นไปบนปราสาทชั้นบน ด้วยความเคารพต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็ในวันนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังห้องเรือนยอดในปราสาทชั้นบน เพราะเหตุนั้น ภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูปจึงเข้าไปยังห้องทั้ง ๕๐๐ ห้องในปราสาทชั้นล่าง.
               ก็ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเทียว เป็นพระบวชใหม่ ได้มาสู่ธรรมวินัยนี้ยังไม่นาน มีจิตใจฟุ้งซ่านดุจไม้อ้อ มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปยังห้องเหล่านั้นแล้ว ก็นอนหลับในเวลากลางวัน ลุกขึ้นในตอนเย็นประชุมกันที่ลานใหญ่ กล่าวสนทนากันว่า วันนี้ท่านได้อะไรในโรงภัต ท่านได้ไปที่ไหน. ภิกษุเหล่านั้นพากันกล่าวอามิสกถามีประการต่างๆ ทำเสียงดังลั่นว่า ดูก่อนอาวุโส กระผมได้ไปยังปราสาทของพระเจ้าโกศล กระผมได้ไปยังบ้านของอนาถปิณฑิกะ ในพระราชวังของพระเจ้าโกศล และที่บ้านของอนาถบิณฑิกะนั้นมีวิธีจัดโภชนะเห็นปานนี้ และเห็นปานนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงนั้น ทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ทั้งๆ ที่อยู่กับเรา ก็ยังมัวเมาประมาทอย่างนี้ น่าอนาถ ภิกษุเหล่านี้ได้กระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ดังนี้แล้ว จึงทรงดำริถึงการที่จะให้พระมหาโมคคัลลานเถระมา. ในขณะนั้นนั่นเอง ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้มีอายุทราบวาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้มาด้วยฤทธิ์ ได้ถวายบังคม ณ เบื้องพระบาทนั้นเอง.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานเถระนั้นว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เพื่อนสพรหมจารีของเธอเหล่านี้เป็นผู้มัวเมาประมาท ดีละ เธอจงทำภิกษุเหล่านั้นให้สลดใจ.
               พระมหาโมคคัลลานเถระผู้มีอายุนั้นรับสนองพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ได้ พระพุทธเจ้าข้า แล้วจึงเข้าอาโปกสิณในทันใดนั้นเอง ใช้หัวแม่เท้าทำพื้นมหาปราสาทซึ่งตั้งอยู่ในชั้นกามภูมิให้หวั่นไหว พร้อมกับส่วนแห่งแผ่นดินซึ่งปราสาทตั้งอยู่ ประดุจพายุใหญ่ทำนาวาให้หวั่นไหวฉะนั้น.
               ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นกลัวแล้วร้องเสียงลั่น ต่างทิ้งจีวรของตนๆ พากันออกไปจากประตูทั้งสี่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่ภิกษุเหล่านั้น เป็นราวกะว่าเสด็จเข้าไป สู่พระคันธกุฎีทางประตูอื่น ภิกษุเหล่านั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ได้ยืนถวายบังคม. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า พวกเธอกลัวอะไร ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปราสาทของมิคารมารดานี้ ใครทำให้หวั่นไหว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทราบไหมว่าใครทำให้หวั่นไหว. ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ปราสาทหลังนี้โมคคัลลานะทำให้หวั่นไหวเพื่อจะทำบุคคลเช่นกับพวกเธอซึ่งมีสติหลงลืม ไร้สัมปชัญญะ อยู่ด้วยความประมาท ให้สังเวช แล้วจึงได้ตรัสพระสูตรนี้ เพื่อทรงแสดงพระธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฏฺฐหถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้นจากอาสนะ คือว่าจงเพียรพยายาม คือว่าอย่าเกียจคร้าน.
               บทว่า นิสีทถ ความว่า ท่านทั้งหลายจงนั่งคู้บัลลังก์เพื่อตามประกอบกรรมฐาน.
               บาทพระคาถาว่า โก อตฺโถ สุปิเตน โว ความว่า ท่านทั้งหลายซึ่งบวชแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน จะได้ประโยชน์อะไรด้วยการหลับ คือว่าไม่มีใครสามารถจะบรรลุถึงประโยชน์ได้ด้วยการหลับ.
               บาทพระคาถาว่า อาตุรานํ หิ กา นิทฺทา สลฺลวิธาน รุปฺปตํ ความว่า ก็ชื่อว่าในที่ใด ความหลับย่อมไม่มีแก่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ทุรนทุรายด้วยโรคมีโรคตาเป็นต้นซึ่งตั้งขึ้นแล้วที่ส่วนแห่งร่างกายแม้เล็กน้อย ผู้ถูกลูกศรชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาลูกศรเหล็ก ลูกศรกระดูก ลูกศรงา (ฟัน) ลูกศรเขา และลูกศรไม้ซึ่งเข้าไปสู่ร่างกาย แม้สักว่านิ้วเดียว หรือสองนิ้วก็ในที่นั้น ท่านทั้งหลายซึ่งมีจิตและร่างกายอยู่ทั้งสิ้นผู้บริโภคแล้ว กระวนกระวายอยู่ ด้วยโรคคือกิเลสนานัปการ ซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว และผู้ชื่อว่าถูกลูกศรแทงแล้ว เพราะถูกลูกศร ๕ ชนิด มีลูกศรคือราคะเป็นต้น เสียบแทงเข้าไปในหทัยแล้ว ย่อยยับอยู่ จะมีการหลับได้อย่างไร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสดังนี้แล้ว เพื่อจะทำภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นให้อุตสาหะ และให้สังเวชยิ่งๆ ขึ้นอีก จึงได้ตรัสว่า อุฏฺฐหถ ฯเปฯ วสานุเค ดังนี้.
               ในพระคาถานั้น มีการพรรณนาเนื้อความพร้อมทั้งอธิบายและโยชนาดังต่อไปนี้ :-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเธอทั้งหลายถูกลูกศรคือกิเลสเสียบแทงแล้ว อย่างนี้ จะมีเวลามัวเมาประมาทอยู่เพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย พระศาสดา (ทรงประกาศพรหมจรรย์) ที่ยอดเยี่ยมที่สุดนี้มาอยู่เฉพาะหน้า (ของท่านทั้งหลาย) ด้วยว่าในกาลก่อนแต่กาลนี้ เธอทั้งหลายหลับแล้ว อยู่ที่ภูเขาทั้งหลาย และแม่น้ำเป็นเวลานาน หลับแล้วที่ยอดไม้อันไม่เสมอกัน ก็เพราะเหตุที่ไม่ เห็นอริยสัจทั้งหลาย เพื่อทำที่สุดแห่งความหลับนั้น เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่ง และศึกษาเพื่อสันติให้มั่นคง เนื้อความในบาทแห่งพระคาถานั้นมีนัยอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั้นแล.
               ส่วนคำว่า สนฺติ ในบาทที่สอง หมายถึงสันติ ๓ อย่างคือ อัจจันตสันติ (สันติอย่างสูงสุด) ๑ ตทังคสันติ (สันติด้วยองค์นั้น) ๑ สมมติสันติ ๑ (สันติตามสมมติ)
               คำว่า สันติ นี้เป็นชื่อแห่งพระนิพพาน วิปัสสนา และทิฏฐิคตะ แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงอัจจันตสันติ คือพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า เพื่อประโยชน์แก่พระนิพพาน ขอท่านทั้งหลายจงหมั่นศึกษา คือว่าขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความบากบั่นไม่ท้อถอย ศึกษาเถิด.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า พระยามัจจุราชทราบว่าท่านทั้งหลายประมาทแล้ว ก็อย่าได้ทำท่านทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย คือว่ามารอันได้นามว่าพระยามัจจุราชทราบอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ประมาทแล้ว ก็อย่าได้ทำท่านทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจให้ลุ่มหลงเลย. มีคำอธิบายว่า ท่านทั้งหลายย่อมไปสู่อำนาจของพระยามัจจุราชนั้นได้โดยประการใด พระยามัจจุราชนั้นกระทำท่านทั้งหลายผู้อยู่ในอำนาจโดยประการนั้น ก็อย่าให้ท่านทั้งหลายได้ลุ่มหลงเลย.
               เพราะเมื่อบุคคลไปอยู่สู่อำนาจของพระยามารนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความต้องการ อาศัยรูปเป็นต้นดำรงอยู่ได้ด้วยตัณหาใด ท่านทั้งหลายจงข้ามซึ่งตัณหานั้นอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ขณะอย่าได้ล่วงเธอทั้งหลายไปเสีย เพราะว่าผู้ล่วงขณะเสียแล้วเป็นผู้ยัดเยียดกันในนรกย่อมเศร้าโศก
               คือว่า เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้มีความต้องการ ได้แก่ผู้ต้องการรูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะ อาศัยคืออิงอาศัย ได้แก่เป็นผู้แอบแนบซึ่งอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้น ย่อมดำรงอยู่ได้ด้วยตัณหาใด ขอเธอทั้งหลายจงข้าม คือว่าจงข้ามพ้นซึ่งตัณหานั้น ได้แก่ตัณหาในภพและในโภคะ ที่ชื่อว่าซ่านไป เพราะเป็นธรรมชาติที่แผ่ซ่าน กว้างขวางลุ่มลึก และไพศาลในอารมณ์ทั้งหลายมีประการต่างๆ ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย คือว่าขณะแห่งการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านทั้งหลายนี้ อย่าได้ผ่านไปเสีย เพราะว่าขณะเห็นปานนี้นี่แหละของชนทั้งหลายเหล่าใดผ่านพ้นไป และชนทั้งหลายเหล่าใดผ่านพ้นขณะนี้ไปเสีย ชนทั้งหลายเหล่านั้นคือผู้ล่วงขณะไปเสียนั้นแล ยัดเยียดกันอยู่ในนรก ย่อมเศร้าโศก คือว่าดำรงอยู่ในอบายแม้ทั้ง ๔ ที่รู้กันว่านรก เพราะอรรถว่าหาความสุขใจมิได้. ย่อมเศร้าโศกโดยนัยว่า กรรมดี พวกเรามิได้ทำไว้เลยดังนี้เป็นต้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นอุตสาหะและสลดใจอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงติเตียนการที่ภิกษุเหล่านั้นอยู่ด้วยความประมาทนั้น แล้วให้ภิกษุเหล่านั้นทุกรูปเทียวดำรงอยู่ในความไม่ประมาท จึงตรัสพระคาถานี้ว่า ปมาโท รโช ดังนี้เป็นต้น.
               โดยสังเขป ความอยู่ปราศจากสติ ชื่อว่าความประมาทในคาถานั้น ความประมาทนั้น ชื่อว่าเป็นธุลี เพราะอรรถว่าเป็นมลทินของจิต ธุลีนั้นติดตามซึ่งความประมาทนั้น ความผิดซึ่งติดตามความประมาทเกิดขึ้นเพราะความประมาทติดตามมาก็คือความประมาทนั้นเอง ความประมาทแม้นั้นชื่อว่าเป็นธุลี ด้วยว่าแต่ไหนแต่ไรมา ชื่อว่าความประมาทที่ไม่เป็นธุลีไม่มีเลย.
               ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอรรถอะไรไว้ ด้วยบทว่า ปมาโท นั้น.
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอรรถไว้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าได้ถึงความวางใจว่า ขณะนี้พวกเรายังหนุ่มสาวอยู่ก่อน พวกเราจักรู้ได้ในภายหลัง เพราะว่าความประมาทแม้ในเวลาเป็นหนุ่มสาวก็จัดว่าเป็นธุลี ความประมาทในวัยกลางคนก็มี ในวัยแก่ก็มี จัดว่าเป็นธุลีใหญ่ เพราะติดตามความประมาท จึงจัดว่าเป็นกองหยากเยื่อทีเดียว เหมือนกับธุลีที่มีอยู่วันหนึ่งหรือ ๒ วันในเรือน ก็จัดว่าเป็นธุลีอยู่นั้นเอง แต่ธุลีนั้นเมื่อเพิ่มขึ้นเก็บไว้ถึง ๑ ปีก็จัดเป็นกองหยากเยื่อทีเดียว
               แต่แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อภิกษุเรียนพุทธพจน์ในปฐมวัย แล้วเจริญสมณธรรมในมัชฌิมวัยและปัจฉิมวัยอยู่ หรือว่าภิกษุเรียนพุทธพจน์ในปฐมวัยแล้วสดับตรับฟัง (เพิ่มเติม) ในมัชฌิมวัย แม้กระทำสมณธรรมอยู่ในปัจฉิมวัย ก็ยังไม่จัดว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าภิกษุใดอยู่ด้วยความประมาทในวัยทั้งปวง ทั้งนอนตลอดวัน และประกอบคำเพื่อได้อามิส เช่นอย่างท่านทั้งหลายอยู่ ความประมาทในปฐมวัยนั้นของภิกษุนั้นนั่นแล จัดว่าเป็นธุลีและความประมาทใหญ่ ซึ่งติดตามความประมาทในวัยนอกนี้ จัดว่าเป็นธุลีกองใหญ่ทีเดียว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงติเตียนการที่ภิกษุเหล่านั้นอยู่ด้วยความประมาทอย่างนี้ เมื่อจะทรงชักชวนในความไม่ประมาทจึงตรัสว่า อปฺปมาเทน วิชฺชาย อพฺพุฬฺเห สลฺลมตฺตโน ดังนี้.
               เนื้อความแห่งสองบาทพระคาถานั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพระเทศนาให้จบลงด้วยยอดคือพระอรหัตว่า ความประมาทแม้ในกาลทั้งปวงนี้ ชื่อว่าเป็นธุลีอย่างนี้. กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงถอนลูกศร ๕ อย่างมีราคะเป็นต้นที่อาศัยหทัยของตนด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือการอยู่โดยไม่ปราศจากสติ และด้วยวิชชากล่าวคืออาสวักขยญาณ.
               ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ภิกษุเหล่านั้นแม้ ๕๐๐ รูปถึงความสังเวช กระทำไว้ในใจซึ่งพระธรรมเทศนานั้นนั่นแล พิจารณาอยู่ เริ่มเจริญวิปัสสนาแล้วดำรงอยู่ในพระอรหัต ดังนี้แล.

               จบการพรรณนาเนื้อความแห่งอุฏฐานสูตร               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค อุฏฐานสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 326อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 327อ่านอรรถกถา 25 / 328อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=8093&Z=8110
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=3417
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=3417
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :