ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 328อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 25 / 331อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค
วังคีสสูตร

               อรรถกถานิโครธกัปปสูตร๑- ที่ ๑๒               
๑- บาลีว่า วังคีสสูตร.

               นิโครธกัปปสูตร มีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น ดังนี้.
               พระสูตรนี้ท่านเรียกว่า วังคีสสูตร ดังนี้ก็มี.
               ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า การเกิดขึ้นแห่งพระสูตรนี้นั่นแล ท่านกล่าวไว้ในนิทานแห่งพระสูตรนั้นแล้ว.
               บรรดาบททั้งหลายเหล่านั้น บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น มีเนื้อความอันข้าพเจ้ากล่าวแล้วนั่นแหละ เพราะข้าพเจ้าได้ทิ้งเนื้อความเช่นนั้นเหล่านั้นและเหล่าอื่นเสีย จักพรรณนาเฉพาะนัยที่ยังมิได้กล่าวไว้แล้วเท่านั้น.
               บทว่า อคฺคาฬเว เจติเย ได้แก่ ที่อัคคาฬวเจดีย์ในเมืองอาฬวี.
               จริงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้น ได้มีเจดีย์เป็นอเนกมีอัคคาฬวเจดีย์และโคตมเจดีย์เป็นต้น ซึ่งเป็นภพที่อยู่ของพวกยักษ์และนาคเป็นต้น (แต่) เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พวกมนุษย์ทั้งหลายก็รื้อเจดีย์เหล่านั้น สร้างเป็นวัดเสีย และมนุษย์ทั้งหลายก็เรียกกันโดยชื่อนั้นนั่นแล.
               มีคำอธิบายว่า เพราะพระเถระอยู่ในวัด กล่าวคืออัคคาฬวเจดีย์.
               แม้คำว่า อายสฺมา ในคำว่า อายสฺมโต วงฺคีสสฺส นี้เป็นคำที่กล่าวด้วยความรัก.
               คำว่า วังคีสะ นั่นเป็นชื่อของพระเถระนั้น พระวังคีสเถระนั้น ชนทั้งหลายพึงทราบกันอย่างนี้ จำเดิมแต่เกิดมา.
               ได้ยินว่า วังคีสะนั้นเป็นบุตรของปริพาชก เกิดในครรภ์ของนางปริพาชิกา ด้วยอานุภาพแห่งวิชาอย่างหนึ่งซึ่งตนรู้ ได้เคาะกะโหลกศีรษะคนตาย แล้วก็รู้คติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย.
               ได้ยินว่า แม้พวกมนุษย์ก็ได้นำกะโหลกศีรษะของพวกญาติของตนซึ่งตายแล้วมาจากป่าช้า แล้วถามคติกำเนิดของญาติเหล่านั้นกะวังคีสะ. ท่านก็ทำนายว่า บุคคลผู้นั้นเกิดในนรกชื่อโน้น บุคคลผู้นั้นเกิดในมนุษยโลกที่โน้น พวกมนุษย์เหล่านั้นอันพระวังคีสะนั้นทำนายแล้ว (ทำให้งงงวยแล้ว) จึงได้ให้ทรัพย์เป็นจำนวนมากแก่เขา ด้วยอาการอย่างนี้ เขาจึงได้ปรากฏ (มีชื่อเสียง) ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.
               วังคีสะนั้นบำเพ็ญบารมีมาแล้ว ๑ แสนกัปบริบูรณ์ด้วยอภินิหาร มีบุรุษห้าพันคนแวดล้อมท่องเที่ยวไปในคาม นิคม ชนบทและราชธานีทั้งหลาย ได้บรรลุถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ.
               ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี พวกชาวเมืองสาวัตถีถวายทานในเวลาก่อนภัตแล้ว ในเวลาหลังภัตต่างก็นุ่งห่มเรียบร้อย ถือดอกไม้และของหอมเป็นต้น ย่อมไปสู่พระเชตวันเพื่อฟังธรรม. วังคีสะนั้นเห็นชาวเมืองเหล่านั้นแล้วก็ถามว่า มหาชนพากันไปไหน.
               ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นก็บอกเขาว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก กำลังทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก พวกเราจะไปในที่นั้น. แม้วังคีสะนั้นพร้อมกับคนเหล่านั้นรวมทั้งบริวารของตนไปแล้ว ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่งแล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกวังคีสะนั้นว่า ดูก่อนวังคีสะ เธอรู้วิชาที่เคาะกะโหลกศีรษะของมนุษย์ทั้งหลายแล้วบอกคติกำเนิดได้หรือดังนี้ วังคีสพราหมณ์ทูลว่า ข้าแต่พระสมณโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบอย่างนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้นำศีรษะของมนุษย์ผู้เกิดแล้วในนรกมาแล้ว ทรงแสดง (แก่วังคีสพราหมณ์นั้น). เขาใช้เล็บเคาะแล้วทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในนรก. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงศีรษะทั้งหลายของมนุษย์ทั้งหลายผู้เกิดแล้วในคติทั้งปวงโดยอาการอย่างนี้ แม้เขาก็ทราบและได้กราบทูลเหมือนอย่างนั้น.
               ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงศีรษะของพระขีณาสพแก่เขา. เขาเคาะแล้วบ่อยๆ ก็ไม่ทราบ (ว่าไปเกิดที่ไหน).
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวังคีสะ ในศีรษะนี้ไม่ใช่วิสัยของเธอ นี้เป็นวิสัยของเรา นี้คือศีรษะของพระขีณาสพ แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า๑-
                                   คติ มิคานํ ปวนํ อากาโส ปกฺขินํ คติ
                                   วิภโว คติ ธมฺมานํ นิพฺพานํ อรหโต คติ.

                         ป่าใหญ่เป็นคติของเนื้อทั้งหลาย อากาศเป็นคติ
                         ของนกทั้งหลาย ความเจริญเป็นคติของธรรม
                         ทั้งหลาย นิพพานเป็นคติของพระอรหันต์
ดังนี้.
____________________________
๑- วิ. ปริ. เล่ม ๘/ข้อ ๑๐๔๔

               วังคีสะสดับคาถาแล้วทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ขอพระองค์จงให้วิชชานี้แก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า วิชชานี้มิได้สำเร็จแก่ชนทั้งหลายผู้ไม่บวช. วังคีสะนั้นทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ให้ข้าพระองค์บวชแล้ว จงกระทำสิ่งที่พระองค์ต้องการ แล้วให้วิชชานี้แก่ข้าพระองค์.
               ในขณะนั้น พระนิโครธกัปปเถระอยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสั่งพระเถระนั้นว่า นิโครธกัปปะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้วังคีสะนี้บวช.
               พระเถระนั้นให้วังคีสะนั้นบวชแล้ว ได้บอกตจปัญจกกรรมฐาน พระวังคีสะได้บรรลุปฏิสัมภิทาโดยลำดับ ได้เป็นพระอรหันต์และเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภิกษุทั้งหลายวังคีสะนี้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเราผู้มีปฏิภาณ.๒-
____________________________
๒- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๘

               อุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะซึ่งได้ร้องเรียกกันอย่างนี้ เป็นพระเถระชื่อว่านิโครธกัปปะ ผู้มีโวหาร (การร้องเรียก) อันได้แล้วอย่างนี้ เพราะไตร่ตรองสิ่งที่มีโทษและไม่มีโทษเป็นต้น.
               คำว่า กัปปะ เป็นชื่อของพระเถระนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านว่า นิโครธกัปปะ เพราะท่านบรรลุพระอรหัตที่โคนต้นนิโครธ ต่อจากนั้นแม้ภิกษุทั้งหลายก็เรียกท่านอย่างนั้น ท่านถึงความเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนา จึงชื่อว่า เถระ.
               หลายบทว่า อคฺคาฬเว เจติเย อจิรปรินิพฺพุโต โหติ ได้แก่ พระนิโครธกัปปเถระนั้นนิพพานแล้วไม่นานที่เจดีย์นั้น.
               บทว่า รโหคตสฺส ปฏิสลฺลีนสฺส ได้แก่ ผู้มีกายหลีกเร้นออกจากหมู่ ผู้มีจิตหวนกลับจากอารมณ์นั้นๆ เร้นอยู่.
               หลายบทว่า เอวํ เจตโส ปริวิตกฺโก อุทปาทิ ได้แก่ เกิดปริวิตกด้วยอาการอย่างนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร จึงเกิดปริวิตกขึ้น.
               ตอบว่า เพราะพระอุปัชฌาย์นั้นไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า และเพราะพระอุปัชฌาย์นั้นอันท่านเห็นแล้ว และมีการคุ้นเคย.
               จริงอยู่ ในเวลาที่พระนิโครธกัปปะนั้นปรินิพพาน พระวังคีสะนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้า แต่การคุ้นเคยในกาลก่อน มีการรำคาญมือเป็นต้นของพระเถระนั้น เป็นผู้ที่พระวังคีสะนั้นเคยเห็นมาแล้ว และการประพฤติเช่นนั้นก็ย่อมมีได้ทั้งแก่ผู้ที่มิใช่ขีณาสพ ทั้งแก่พระขีณาสพทั้งหลาย โดยความประพฤติในกาลก่อน.
               จริงอย่างนั้น พระปิณโฑลภารทวาชะไปสู่อุทยานของพระเจ้าอุเทนเท่านั้น เพื่อประโยชน์แก่การอยู่ในกลางวัน (พักผ่อน) ในภายหลังภัต ด้วยความประพฤติในกาลก่อนนี้คือ ในกาลก่อนท่านเป็นพระราชา ได้ปฏิบัติอยู่ในที่นั้น. พระควัมปติเถระไปยังเทววิมานว่างในดาวดึงส์ภพ ด้วยความประพฤติในกาลก่อนนี้ คือท่านเป็นเทวบุตรปฏิบัติอยู่ในเทววิมานนั้น.
               ภิกษุชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ เรียกผู้อื่นว่า คนถ่อย ด้วยความประพฤติในกาลก่อนนี้คือ ท่านเป็นพราหมณ์อยู่ ๕๐๐ ชาติ ไม่มีกำเนิดอื่นปนเลย ได้กล่าวกะผู้อื่นเหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ความปริวิตกแห่งใจจึงได้บังเกิดขึ้นแก่พระวังคีสะนั้น เพราะท่านมิได้อยู่เฉพาะหน้า เพราะท่านได้เคยเห็นและคุ้นเคยอย่างนี้ว่า อุปัชฌาย์ของเรานิพพานแล้วหรือว่ายังไม่นิพพาน
               ข้อความต่อจากนั้นมีเนื้อความตื้นทั้งนั้น.
               ก็ในคำว่า เอกํสํ จีวรํ กตฺวา นี้ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ ก็เพื่อทำจีวรให้แน่น (รัดกุม) บ่อยๆ.
               ก็คำว่า เอกํสํ นี้ เป็นชื่อของผ้าที่ท่านห่มเฉวียงบ่าข้างซ้ายวางไว้ เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความแห่ง เอกํสํ นี้อย่างนี้ว่า กระทำจีวรโดยประการที่จีวรนั้นจะห่มคลุมบ่าข้างซ้ายวางไว้.
               คำที่เหลือชัดแล้วทั้งสิ้น.
               บทว่า อโนมปญฺญํ ได้แก่ สิ่งที่ต่ำ ท่านเรียกว่าเล็กน้อย เลวทราม ซึ่งพระศาสดาผู้มีปัญญาทรามหามิได้. อธิบายว่า ผู้มีปัญญามาก.
               สองบทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม ได้แก่ โดยประจักษ์นั้นเอง หรืออธิบายว่า ในอัตภาพนี้นั่นเอง.
               บทว่า วิจิกิจฺฉานํ ได้แก่ ความปริวิตกเห็นปานนั้น.
               บทว่า ญาโต ได้แก่ ปรากฏแล้ว.
               บทว่า ยสสฺสี ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยลาภและบริวาร.
               บทว่า อภินิพฺพุตตฺโต ได้แก่ มีจิตอันตนคุ้มครองแล้ว หรือมีจิตอันไฟไม่ไหม้อยู่.
               สองบทว่า ตยา กตํ ความว่า พระองค์กล่าวว่า นิโครธกัปปะก็เพราะท่านนั่งแล้วที่โคนต้นนิโครธ ได้ทรงตั้งชื่อไว้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมพิจารณาด้วยพระองค์โดยประการใด ย่อมตรัสเรียกโดยประการนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียกพระนิโครธกัปปะนั้นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุที่ท่านนั่งแล้วที่ต้นนิโครธนั้นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตที่ต้นนิโครธนั้น.
               ด้วยคำว่า พฺราหฺมณสฺส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงชาติ ได้ยินว่า พระนิโครธกัปปะนั้นออกบวชจากสกุลพราหมณ์มหาศาล.
               สองบทว่า นมสฺสํ อจรึ ความว่า นมัสการอยู่แล้ว.
               บทว่า มุตฺยเปกฺโข ความว่า หวังวิมุตติกล่าวคือพระนิพพาน. อธิบายว่า ปรารถนาพระนิพพาน.
               พระวังคีสะเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทฬฺหธมฺมทสฺสี จริงอยู่ พระนิพพานชื่อว่าเป็นธรรมที่มั่นคง เพราะอรรถว่าไม่แตก ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงพระนิพพานนั้น เพราะเหตุนั้น พระวังคีสะจึงเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่า ทฬฺหธมฺมทสฺสี ผู้แสดงธรรมอันมั่นคง.
               แม้ด้วยบทว่า สกฺกา พระวังคีสะย่อมเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแลด้วยคุณนาม.
               ด้วยสองบทว่า มยมฺปิ สพฺเพ พระวังคีสะสงเคราะห์บริษัทที่เหลือแล้ว แสดงซึ่งตน ย่อมร้องเรียก.
               แม้ด้วยบทว่า สมนฺตจกฺขุ ท่านก็เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแลด้วยสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า สมฺมวฏฺฐิตา ได้แก่ ตั้งไว้แล้วโดยชอบ คือทำให้เป็นหลักตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า โน ได้แก่ ของเราทั้งหลาย.
               บทว่า สวนาย ได้แก่ เพื่ออันฟังไวยากรณ์ปัญหานี้.
               บทว่า โสตา ได้แก่ โสตินทรีย์.
               คำว่า ตุวํ โน สตฺถา ตวมนุตฺตโรสิ นี้ เป็นเพียงคำชมเชยเท่านั้น.
               หลายบทว่า ฉินฺเทว โน วิจิกิจฺฉํ ได้แก่ พระวังคีสะนั้นผู้หมดความสงสัยแล้ว ด้วยความสงสัยในอกุศล แต่ก็พูดหมายถึงความปริวิตกนั้น ซึ่งเปรียบดุจความสงสัยนั่นเอง.
               สองบทว่า พฺรูหิ เมตํ ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นศากยะ พระองค์เป็นผู้ที่ข้าพระองค์ทูลขอแล้ว เพื่อให้บอกซึ่งสาวกใด ขอพระองค์จงตรัสบอกซึ่งสาวกนั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์แม้ทุกคนปรารถนาจะรู้สาวกนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ก็พระองค์เมื่อตรัสบอกอยู่ ก็จงบอกซึ่งพราหมณ์นั้นผู้ปรินิพพานแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปัญญา พระองค์ทรงทราบพระเถระนั้นผู้ปรินิพพานแล้ว ก็จงบอกในท่ามกลางของข้าพระองค์ทั้งหลาย คือจงตรัสบอกในท่ามกลางของข้าพระองค์ทุกคน โดยประการที่ข้าพระองค์ทุกคนจะพึงทราบได้.
               คำว่า สกฺโกว เทวานํ สหสฺสเนตฺโต นี้ เป็นคำชมเชยเท่านั้น.
               คำนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ท้าวสักกะผู้มีดวงตาหนึ่งพัน ผู้มีพระวาจาอันเทพเจ้า เหล่านั้นรับแล้วโดยเคารพ ย่อมตรัสในท่ามกลางแห่งเทวดาทั้งหลายฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์มีพระวาจาอันข้าพระองค์ทั้งหลายรับแล้ว ก็จงตรัสในท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายฉันนั้น.
               พระวังคีสะ เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล เพื่อจะยังความเป็นผู้กล่าวให้เกิดขึ้น จงได้กล่าวคาถาแม้นี้ว่า เยเกจิ เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า
               กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้น พระวังคีสะเรียกว่าเป็นทางแห่งโมหะ ว่าเป็นฝักฝ่ายแห่งความไม่รู้ และว่าเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย เพราะไม่ได้ละโมหะและความสงสัย ในเพราะมิได้ละเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น เครื่องร้อยรัดเหล่านั้นทั้งหมดมาถึงพระตถาคตเจ้าแล้ว ย่อมถูกกำจัด ได้แก่จักพินาศไปด้วยพลังแห่งเทศนาของพระตถาคต.
               ถามว่า เครื่องร้อยรัดเหล่านั้นถูกกำจัดได้ด้วยเหตุไร?
               ตอบว่า กิเลสชาติเหล่านั้นมาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีจักษุพระองค์นี้แล ซึ่งยิ่งกว่านระทั้งหลาย ย่อมถูกกำจัดแล้ว.
               คำอันเป็นบาทพระคาถาว่า จกฺขุมฺหิ เอตํ ปรมํ นรานํ ดังนี้ เป็นคำอันท่านกล่าวไว้ว่า เพราะพระตถาคตเจ้าชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างยิ่งกว่านระทั้งหลาย เพราะทำปัญญาจักษุในการกำจัดกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งปวงให้เกิดขึ้น.
               พระวังคีสเถระเมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล เพื่อจะยังความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะกล่าวให้เกิดขึ้น จึงได้กล่าวคาถาแม้นี้ว่า โน เจ หิ ชาตุ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชาตุ เป็นคำโดยส่วนเดียว.
               บทว่า ปุริโส ท่านพระวังคีสะหมายถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวแล้ว.
               บทว่า โชติมนฺโต ได้แก่ ชนทั้งหลายผู้มาตามพร้อมแล้วด้วยความรุ่งเรืองคือปัญญามีพระสารีบุตรเป็นต้น.
               ท่านกล่าวโดยคาถานี้ไว้ว่า ผิว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่พึงกำจัดกิเลสทั้งหลายด้วยพลังแห่งเทศนา เหมือนกับลมอันต่างด้วยลมมาทางทิศตะวันออกเป็นต้นจะไม่พึงกำจัดเมฆแล้วไซร้ สัตว์โลกแม้ที่ปกปิดด้วยความไม่รู้ก็จะพึงเป็นผู้มืด ประดุจโลกที่ถูกเมฆปกปิดไว้ก็จะเป็นโลกมืด คือมีการมืดมนเป็นอันเดียวกัน
               แม้หรือว่า ชนทั้งหลายเหล่านี้ใดซึ่งมีความรุ่งเรืองในบัดนี้ ปรากฏอยู่มีพระสารีบุตรเป็นต้น แม้ชนทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่พึงเดือดร้อน.
               พระวังคีสเถระ เมื่อชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล เมื่อจะยังความเป็นผู้ใคร่จะกล่าวให้เกิดขึ้นโดยนัยก่อนนั้นแล จึงได้กล่าวคาถาแม้นี้ว่า ธีรา จ เป็นต้น
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า
               ก็บุรุษทั้งหลายผู้เป็นนักปราชญ์คือผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้กระทำความรุ่งเรือง ย่อมให้ความรุ่งเรืองแห่งปัญญาเกิดขึ้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงกล้าหาญ ผู้ประกอบด้วยปธานวิริยะ ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมสำคัญคือว่าย่อมสำคัญพระองค์ว่าเป็นนักปราชญ์และว่าเป็นผู้กระทำความรุ่งเรืองเหมือนอย่างนั้น ด้วยว่าข้าพระองค์ทั้งหลาย เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เห็นแจ่มแจ้ง คือผู้เห็นซึ่งธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอยู่ จึงได้เข้าไปหาพระองค์อย่างนี้. เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงกระทำให้แจ่มแจ้ง คือว่าจงตรัสบอก ฯลฯ ได้แก่จงประกาศซึ่งพระกัปปเถระได้แก่พระนิโครธกัปปะ ในบริษัททั้งหลายแก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย.
               พระวังคีสะ เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล เพื่อจะยังความเป็นผู้ใคร่จะกล่าวให้เกิดขึ้นโดยนัยก่อนนั้นแล จึงกล่าวคาถาแม้นี้ว่า ขิปฺปํ ดังนี้เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระดำรัสอันไพเราะ ขอพระองค์จงเปล่งถ้อยคำอันไพเราะโดยพลัน คือว่าจงอย่าได้ชักช้าอยู่ ซึ่งตรัสพระดำรัสอันไพเราะ คือว่าอันนำมาซึ่งความรื่นรมย์แห่งใจ เปรียบเหมือนสุวรรณหงส์ไปสู่ที่หากิน ได้พบสระที่เกิดเองและราวป่าจึงโก่งคอ เมื่อจะไม่รีบร้อนจึงค่อยๆ เปล่งเสียงด้วยจะงอยปากสีแดง คือร้องด้วยเสียงอันไพเราะฉันใด แม้พระองค์เองก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงค่อยๆ เปล่งด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะอันเป็นมหาปุริสลักษณะอย่างหนึ่งนี้ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ดีแล้ว ได้แก่ที่พระองค์กำหนดตกแต่งไว้ด้วยดี ข้าพระองค์แม้ทั้งปวงเหล่านี้แล เป็นผู้ตรงคือเป็นผู้ไม่มีใจฟุ้งซ่าน จักสดับพระสุรเสียงที่พระองค์ทรงเปล่งแล้ว.
               พระวังคีสะ เมื่อจะชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล เมื่อจะยังความเป็นผู้ใคร่ที่จะกล่าวให้เกิดขึ้นโดยนัยก่อนนั้นแล จึงกล่าวคาถาแม้นี้ว่า ปหีนชาติมรณํ ดังนี้เป็นต้น.
               พึงทราบวิเคราะห์ในคำว่า อเสสํ นั้นว่า บาปใดย่อมไม่เหลืออยู่ เหตุนั้นบาปนั้นชื่อว่าอเสสะ ซึ่งพระองค์ผู้ทรงกำจัดบาปอันไม่มีส่วนเหลือนั้น. มีคำอธิบายว่า ดังพระอริยเจ้ามีพระโสดาบันเป็นต้น ผู้ซึ่งละชาติและมรณะได้ไม่มีอะไรเหลือ ฉะนั้น.
               บทว่า นิคฺคยฺห ได้แก่ ขอร้องด้วยดีแล้ว กล่าวคือรบเร้าแล้ว.
               บทว่า โธนํ ได้แก่ ผู้มีบาปธรรมทั้งปวงอันกำจัดแล้ว.
               บทว่า วาเทสฺสามิ ได้แก่ ข้าพระองค์จะขอให้พระองค์ตรัสพระธรรม.
               บาทพระคาถาว่า น กามกาโร หิ ปุถุชฺชนานํ ความว่า ด้วยว่าการกระทำความใคร่ ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนทั้งหลายเท่านั้น. อธิบายว่า ปุถุชนปรารถนาจะทราบหรือจะกล่าวสิ่งใด ก็ไม่อาจที่จะทราบหรือจะกล่าวสิ่งนั้นได้ทั้งหมด.
               บาทพระคาถาว่า สงฺเขยฺยกาโร จ ตถาคตานํ ความว่า ส่วนการกระทำการพิจารณา คือว่าการกระทำที่มีปัญญาเป็นสภาพถึงก่อน ย่อมมีแก่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย. อธิบายว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นย่อมทรงปรารถนาจะทรงทราบ หรือตรัสสิ่งใดก็สามารถทราบหรือตรัสสิ่งนั้นได้ (ทั้งหมด).
               บัดนี้ พระวังคีสะเมื่อจะประกาศซึ่งการกระทำการพิจารณานั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า สมฺปนฺนเวยฺยากรณํ ดังนี้เป็นต้น.
               เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า
               ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริงอย่างนั้น ไวยากรณ์อันสมบูรณ์มีอันเป็นไปที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วอันพระองค์ผู้มีพระปัญญารุ่งเรือง ทรงเรียนมาดีแล้วในที่นั้นๆ นี้ไม่ผิด อันชนทั้งหลายเห็นแล้วในพระดำรัสทั้งหลายมีพระดำรัสอย่างนี้ว่า สันตติมหาอำมาตย์เหาะขึ้นสู่อากาศชั่วระยะ ๗ ลำตาลแล้วจักปรินิพพาน และว่า สุปปพุทธศากยะจักถูกแผ่นดินสูบในวันที่ ๗ ดังนี้. ก็ต่อจากนั้น พระวังคีสะประนมอัญชลีให้ดียิ่งขึ้นแล้วทูลว่า อัญชลีครั้งหลังนี้อันข้าพระองค์ประนมดีแล้ว คือว่าอัญชลีแม้อีกครั้งหนึ่งนี้อันข้าพระองค์ประนมดีแล้ว ดียิ่งขึ้น.
               บทว่า มา โมหยิ ความว่า พระองค์เมื่อทรงทราบอยู่ คือทรงรู้อยู่ซึ่งคติกำเนิดของพระเถระชื่อว่ากัปปะ ก็อย่าทรงให้ข้าพระองค์ทั้งหลายหลงอยู่ด้วยการไม่ตรัสตอบเลย พระวังคีสะเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำว่า อโนมปัญญา ผู้มีปัญญาไม่ทราม.
               ก็พระวังคีสะเมื่อจะทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงการไม่หลงนั้นแหละปริยายแม้อื่น จึงกล่าวคาถานี้ว่า ปโรวรํ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปโรวรํ ได้แก่ ที่งามและที่ไม่งาม หรือที่อยู่ไกลและที่อยู่ใกล้ ด้วยสามารถแห่งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม.
               บทว่า อริยธมฺมํ ได้แก่ จตุสัจธรรม.
               บทว่า วิทิตฺวา ได้แก่ แทงตลอด.
               บทว่า ชานํ ได้แก่ รู้อยู่ซึ่งไญยธรรมทั้งปวง.
               บทว่า วาจาภิกงฺขามิ ได้แก่ ข้าพระองค์หวังอยู่ซึ่งพระวาจาของพระองค์ ประดุจบุรุษผู้มีตัวอันร้อนในฤดูร้อนลำบากอยู่ สะดุ้งแล้ว หวังอยู่ซึ่งน้ำฉะนั้น.
               บทว่า สุตมฺปวสฺส ได้แก่ ขอพระองค์จงหลั่ง คือว่าจงเปล่ง ได้แก่จงปล่อยซึ่งสัททายตนะกล่าวคือสุตะ คือทำสัททายตนะให้เป็นไป.
               พระบาลีว่า สุตสฺสํ วสฺส ดังนี้ก็มี อธิบายว่าจงโปรยซึ่งฝนแห่งสัททายตนะมีประการอันพระองค์ตรัสแล้ว.
               บัดนี้ พระวังคีสะหวังอยู่ซึ่งวาจาเช่นใด เมื่อจะประกาศซึ่งวาจาเช่นนั้น จึงได้กล่าวคาถาว่า
                                   พระภิกษุชื่อว่า นิโครธกัปปะ ได้ประพฤติ
                         พรหมจรรย์ตามปรารถนา พรหมจรรย์ไรๆ ของ
                         ท่านนั้นมิได้เปล่า ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสส
                         นิพพานแล้ว หรือว่าท่านเป็นผู้นิพพานแล้วด้วย
                         อนุปาทิเสสนิพพาน เหมือนอย่างพระอเสขะทั้ง
                         หลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายจักฟังซึ่งข้อนั้น.
               พระวังคีสะเรียกพระเถระชื่อว่ากัปปะนั้นแล ด้วยสามารถแห่งการบูชานั้นแหละว่า กัปปายนะ.
               บทว่า ยถา วิมุตฺโต ได้แก่ พระวังคีสะทูลถามว่า พระกัปปายนเถระนิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนอย่างพระอเสกขะทั้งหลาย หรือว่าท่านนิพพานแล้วด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหมือนอย่างพระเสกขะทั้งหลาย.
               คำที่เหลือในคาถานี้ชัดแล้วทั้งนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระวังคีสะทูลขอแล้วด้วยคาถา ๑๒ คาถาอย่างนี้ เมื่อจะทรงพยากรณ์เรื่องนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
                                   ภิกษุชื่อว่า นิโครธกัปปะ ได้ตัดตัณหาใน
                         นามรูปนี้ ที่เป็นกระแสแห่งกัณหมาร อันนอน
                         เนื่องแล้วสิ้นกาลนาน เธอข้ามพ้นชาติและมรณะ
                         ได้ ไม่มีส่วนเหลือ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ
                         สุดด้วยอินทรีย์ ๕ เป็นต้นได้ตรัสแล้ว อย่างนี้.
               เนื้อความแห่งบาทต้นในพระคาถานั้นมีดังนี้ก่อน
               ตัณหาอันต่างด้วยกามตัณหาเป็นต้นในนามรูปนี้แม้ใด นอนเนื่องอยู่แล้วสิ้นกาลนาน เพราะอรรถว่าอันบุคคลละไม่ได้แล้ว ท่านเรียกว่ากระแสแห่งมารอันได้นามว่ากัณหะดังนี้ก็มี. พระเถระชื่อว่ากัปปายนะ ตัดแล้วซึ่งตัณหาในนามรูปนี้ที่นอนเนื่องอยู่สิ้นกาลนาน ซึ่งเป็นกระแสแห่งกัณหมารนั้น.
               ก็คำว่า อิติ ภควา นี้ ในคาถานี้เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย.
               ด้วยบาทพระคาถาว่า อตาริ ชาติมรณํ อเสสํ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พระกัปปายนเถระนั้นได้ตัดแล้วซึ่งตัณหานั้น ได้ข้ามแล้วซึ่งชาติและมรณะที่เหลือ ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.
               บาทพระคาถาว่า อิจฺจพฺรวี ภควา ปญฺจเสฏฺโฐ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐกว่าพระปัญจวัคคีย์ผู้เป็นศิษย์รุ่นแรก ๕ องค์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ มีศรัทธาเป็นต้น หรือด้วยธรรมขันธ์ทั้งหลายมีศีลเป็นต้น และเป็นผู้ประเสริฐด้วยพระจักษุที่ประเสริฐอย่างยิ่งอันพระวังคีสะทูลถามแล้ว ได้ตรัสแล้วอย่างนี้.
               คำนี้เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระวังคีสะเมื่อจะชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคาถา เป็นต้นว่า เอส สุตฺวา ดังนี้.
               ในคาถาเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อิสิสตฺตมา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นฤาษีด้วยเป็นที่ ๗ ด้วยเพราะอรรถว่าสูงสุด. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำพระฤาษี ๖ พระองค์มีพระนามว่า วิปัสสี สิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ ให้พระองค์เป็นที่ ๗ ปรากฏแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเป็นพระฤาษีองค์ที่ ๗ พระวังคีสะเมื่อจะเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นว่าเป็นฤาษีพระองค์ที่ ๗ จึงได้กล่าวแล้ว.
               สองบทว่า น มํ วญฺเจสิ ความว่า เพราะเหตุที่พระกัปปายนเถระปรินิพพานแล้ว ฉะนั้น พระองค์จะไม่ลวงข้าพระองค์ผู้ปรารถนาอยู่เพื่อจะทราบความที่พระกัปปายนเถระปรินิพพาน คือว่าขอพระองค์อย่าได้ตรัสให้ผิด.
               คำที่เหลือในคาถานี้ปรากฏแล้ว.
               ในคาถาที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้ :-
               เพราะเหตุที่สาวกของพระพุทธเจ้ามุ่งหวังการหลุดพ้นอยู่แล้ว ฉะนั้น พระวังคีสเถระกล่าวหมายเอาเนื้อความนั้นว่า สาวกของพระพุทธเจ้าเป็นผู้กล่าวอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น.
               บาทพระคาถาว่า มจฺจุโน ชาลํ ตนฺตํ ได้แก่ ข่ายคือตัณหาของมารที่แผ่กว้างออกไปแล้วในวัฏฏะอันประกอบด้วยภูมิ ๓ นั้น.
               บทว่า มายาวิโน ได้แก่ ผู้มีมายามาก. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ผู้มีมายาเหมือนอย่างนั้นดังนี้ก็มี. อธิบายของอาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นว่า มารใดเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้หลายครั้งนับไม่ถ้วนด้วยมายาทั้งหลายเป็นอเนกของมารนั้น คือผู้มีมายาเหมือนมารนั้น.
               ในคาถาที่ ๓ มีวินิจฉัยดังนี้:-
               บทว่า อาทิ ได้แก่ เหตุ. บทว่า อุปาทานสฺส ได้แก่ แห่งวัฏฏะ. จริงอยู่ วัฏฏะ ท่านกล่าวว่าเป็นอุปาทานในที่นี้ เพราะอรรถว่าอันสัตว์พึงยึดมั่น.
               พระวังคีสเถระย่อมกล่าวด้วยประสงค์ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะตรัสอย่างนี้ว่า พระกัปปเถระได้เห็นแล้วซึ่งเหตุแห่งอุปาทานนั้นนั่นแล คือว่าซึ่งเหตุอันต่างด้วยอวิชชาและตัณหาเป็นต้น.
               บทว่า อจฺจคา วต ได้แก่ ก้าวล่วงแล้วหนอ.
               ในคำว่า มจฺจุเธยฺยํ วิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่าบ่วงแห่งมาร เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ.
               คำว่า มจฺจุเธยฺยํ นี้เป็นชื่อแห่งวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิสาม พระวังคีสะเกิดความรู้ขึ้นแล้ว จึงกล่าวว่า พระกัปปายนเถระได้ล่วงบ่วงมารนั้นที่ข้ามได้โดยยากหนอ.
               คำที่เหลือในคาถานี้ชัดเจนแล้วทั้งนั้น ดังนี้แล.

               จบการพรรณนานิโครธกัปปสูตร               
               แห่งขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               ------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรค วังคีสสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 328อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 329อ่านอรรถกถา 25 / 331อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=8135&Z=8219
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=3635
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=3635
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :