|
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔หน้าต่างที่ ๓ / ๑๒. ๓. เรื่องวิพภันตกภิกษุ [๒๔๒] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภวิพภันตกภิกษุ๑- รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย นิพฺพนฏฺโฐ" เป็นต้น.
____________________________
๑- ภิกษุผู้หมุนไปผิด (สึก).
เธอสึกออกไปทำโจรกรรมเลี้ยงชีพ
ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ แม้ยังฌาน ๔ ให้เกิดขึ้นแล้ว เห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสภาค (ข้าศึก) ในเรือนของนายช่างทองผู้เป็นลุงของตน มีจิตปฏิพัทธ์ในรูปารมณ์นั้น สึกแล้ว.
ต่อมา เพราะความเป็นผู้เกียจคร้าน พวกมนุษย์จึงไล่เขาผู้ไม่ปรารถนาจะทำการงาน ออกเสียจากเรือน. เขาเที่ยวเลี้ยงชีพอยู่ด้วยโจรกรรม เพราะการคลุกคลีด้วยมิตรชั่ว.
ต่อมาในวันหนึ่ง พวกราชบุรุษจับเขาได้แล้ว มัดแขนไพล่หลัง ผูกอย่างมั่นคง เฆี่ยนด้วยหวายทุกๆ ทาง ๔ แพร่ง แล้วนำไปสู่ตะแลงแกง.
พระเถระเข้าไปเพื่อเที่ยวบิณฑบาต เห็นเขาถูกพวกราชบุรุษนำไปโดยประตูด้านทักษิณ จึงขอให้พวกราชบุรุษผ่อนเครื่องจองจำให้หย่อนแล้ว พูดว่า "เธอจงระลึกถึงกัมมัฏฐานที่เธอเคยสั่งสมแล้วในก่อนอีก."
เขาได้ความเกิดขึ้นแห่งสติเพราะโอวาทนั้นแล้ว ได้ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นอีก.
ลำดับนั้น พวกราชบุรุษนำเขาไปสู่ตะแลงแกง ให้เขานอนหงายบนหลาว ด้วยคิดว่า "พวกเราจักฆ่าเสีย" เขาไม่กลัว ไม่สะดุ้ง.
พวกมนุษย์ประหลาดใจเพราะเห็นเขาไม่กลัว
ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในทิศาภาคนั้นๆ แม้เงือดเงื้อ เครื่องประหารทั้งหลายมีดาบ หอก และโตมร๑- เป็นต้นแก่เขา เห็นเขามิได้สะดุ้งเลย
ต่างพูดว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงดูบุรุษคนนี้เถิด เขาไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้านในท่ามกลางแห่งบุรุษผู้มีอาวุธในมือแม้หลายร้อยคน,
โอ! น่าอัศจรรย์จริง" ดังนี้แล้ว เกิดมีความอัศจรรย์และประหลาดใจ บันลือลั่นสนั่น (ไป) กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา.
____________________________
๑- โตมร หอกซัด.
พระราชาทรงสดับเหตุนั้นแล้ว ตรัสว่า "พวกท่านจงปล่อยเขาเสียเถิด" ดังนี้แล้ว เสด็จไปแม้ยังสำนักพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว.
พระศาสดาทรงเปล่งพระโอภาสไปแล้ว
เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่เขา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๓. | โย นิพฺพนฏฺโฐ วนาธิมุตฺโต
| | วนมุตฺโต วนเมว ธาวติ
| | ตํ ปุคฺคลเมว ปสฺสถ
| | มุตฺโต พนฺธนเมว ธาวติ.
| | บุคคลใด มีอาลัยดุจหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่าออกแล้ว
| | น้อมไปในป่า (คือตปธรรม) พ้นจากป่าแล้ว ยังแล่นไปสู่
| | ป่าตามเดิม, ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น นั่นแล; เขาพ้น
| | แล้ว (จากเครื่องผูก) ยังแล่นไปสู่เครื่องผูก ตามเดิม. |
แก้อรรถ
เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า "บุคคลใด ชื่อว่ามีอาลัยดุจหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่าออกแล้ว
เพราะความที่ตนละทิ้งหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่า กล่าวคืออาลัยในความเป็นคฤหัสถ์แล้วบวช น้อมไปในป่าคือตปะ
กล่าวคือวิหารธรรม เป็นผู้พ้นจากป่าคือตัณหา ซึ่งจัดเป็นเครื่องผูกคือการครองเรือนแล้ว ยังแล่นไปหาป่าคือตัณหานั่นแหละ อันเป็นเครื่องผูกคือการครองเรือนนั้นอีก,
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้นอย่างนั้น บุคคลนั่นพ้นจากเครื่องผูกคือการครองเรือนแล้ว ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกคือการครองเรือนอีกทีเดียว.
เขานั่งฟังธรรมเทศนานี้อยู่บนปลายหลาว ในระหว่างพวกราชบุรุษนั่นแล เริ่มตั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว ยก (จิต) ขึ้นสู่ไตรลักษณ์
พิจารณาอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลาย บรรลุโสดาปัตติผลแล้วเสวยสุขเกิดแต่สมาบัติอยู่ เหาะขึ้นสู่เวหาสมาสู่สำนักพระศาสดาทางอากาศนั่นเอง
ถวายบังคมพระศาสดา แล้วบวช ได้บรรลุพระอรหัต ณ ท่ามกลางบริษัท พร้อมด้วยพระราชานั่นเอง ดังนี้แล.
เรื่องวิพภันตกภิกษุ จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔ อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1162&Z=1243 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=1 The Pali Atthakatha in Roman https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=1 - -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
|