|
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕หน้าต่างที่ ๔ / ๑๒. ๔. เรื่องพระธรรมารามเถระ [๒๕๕] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระธรรมารามเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ธมฺมาราโม ธมฺมรโต" เป็นต้น.
พวกภิกษุปรึกษาเรื่องปรินิพพานของพระศาสดา
ดังได้สดับมา เมื่อพระศาสดาตรัสบอกว่า "การปรินิพพานของเราจักมีโดยล่วงไป ๔ เดือน๑- ตั้งแต่เดือนนี้" ภิกษุหลายพันรูปเที่ยวแวดล้อมพระศาสดาแล้ว.
____________________________
๑- น่าจะเป็น ๓ เดือน ตามนัยแห่งพระสูตรชื่อมหาปรินิพพานสูตร.
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนไม่อาจเพื่อจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้. ธรรมสังเวชเกิดแก่ภิกษุผู้ขีณาสพแล้ว.
ภิกษุทั้งปวงปรึกษากันว่า "เราจักทำอย่างไรหนอแล?" ดังนี้แล้ว ก็เที่ยวไปโดยรวมกันเป็นพวกๆ.
พระธรรมารามะไม่เกี่ยวข้องด้วย
ส่วนภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่าธรรมารามะ ไม่เข้าไปสู่สำนักของภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุทั้งหลายพูดว่า "อย่างไร? ผู้มีอายุ" ก็ไม่ให้แม้คำตอบ
คิดว่า "ข่าวว่า พระศาสดาจักปรินิพพานโดยล่วงไป ๔ เดือน ส่วนเราเป็นผู้มีราคะยังไม่ไปปราศแล้ว เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นี้แหละ
จักพยายามบรรลุพระอรหัต" ดังนี้แล้ว ก็เป็นผู้ๆ เดียวเท่านั้นอยู่ นึก คิด ระลึกถึงธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูล (เรื่องนั้น) แด่พระตถาคตว่า "พระเจ้าข้า พระธรรมารามะมิได้มีแม้สักว่าความเยื่อใยในพระองค์
ไม่ทำแม้สักว่าการปรึกษากับพวกข้าพระองค์ว่า "ข่าวว่า พระศาสดาจักปรินิพพาน พวกเราจักทำอย่างไรกันเล่า?""
พระศาสดารับสั่งให้หาตัว
พระศาสดารับสั่งให้เรียกเธอมาแล้ว ตรัสถามว่า "ข่าวว่า เธอทำอย่างนั้น จริงหรือ?"
พระธรรมารามะ. จริง พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เพราะเหตุอะไร?.
พระธรรมารามะ. ข่าวว่า พระองค์จักปรินิพพานโดยกาลล่วงไป ๔ เดือน ส่วนข้าพระองค์เป็นผู้มีราคะไม่ไปปราศ
เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นี้แหละ ข้าพระองค์จักพยายามบรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงนึก คิด ระลึกถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วอยู่.
พระศาสดาทรงอนุโมทนาด้วย
พระศาสดาประทานสาธุการแก่เธอว่า "ดีละๆ" แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีความรักใคร่ในเราแม้รูปอื่น พึงเป็นเช่นภิกษุธรรมารามะนี้แหละ.
แท้จริง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อทำการบูชาด้วยระเบียบและของหอมเป็นต้น หาชื่อว่าทำการบูชาแก่เราไม่, ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่าบูชาเรา"
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๔. | ธมฺมาราโม ธมฺมรโต | ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ
| | ธมฺมํ อนุสฺสรํ ภิกฺขุ | สทฺธมฺมา น ปริหายติ.
| | ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
| | ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่ ย่อมไม่เสื่อม
| | จากพระสัทธรรม. |
แก้อรรถ
พึงทราบวิเคราะห์ในบทเหล่านั้นว่า :-
ธรรมคือสมถะและวิปัสสนา เป็นที่มายินดีของภิกษุนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่ เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีธรรมเป็นที่มายินดี
ผู้ยินดีแล้วในธรรมนั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้ยินดีแล้วในธรรม. ชื่อว่าผู้ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม เพราะนึกถึงธรรมนั้นนั่นแหละบ่อยๆ. อธิบายว่า ผู้นึกถึงธรรมนั้นอยู่.
บทว่า อนุสฺสรํ ได้แก่ ระลึกถึงธรรมนั้นนั่นแหละอยู่.
บทว่า สทฺธมฺมา ความว่า ภิกษุเห็นปานนั้น ย่อมไม่เสื่อมจากโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประเภท และจากโลกุตรธรรม ๙.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นตั้งอยู่แล้วในพระอรหัต.
เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพระธรรมารามเถระ จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕ อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1244&Z=1300 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=949 The Pali Atthakatha in Roman https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=949 - -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
|