ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 332อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 354อ่านอรรถกถา 25 / 355อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค
ปัพพชาสูตร

               อรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาต               
               มหาวรรคที่ ๓               
               อรรถกถาปัพพชาสูตรที่ ๑               
               ปัพพชาสูตรมีคำเริ่มต้นว่า ปพฺพชฺชํ กิตฺติยิสฺสามิ ดังนี้.
               ถามว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นดังต่อไปนี้.
               ตอบว่า มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ท่านพระอานนทเถระเกิดปริวิตกว่า การบรรพชาของพระมหาสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้นได้รับการสรรเสริญ พวกภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ทราบเรื่องที่เขาสรรเสริญกัน แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีใครสรรเสริญ ถ้ากระไรเราพึงสรรเสริญเองดังนี้. พระอานนท์นั่งถือพัดวิชนีอันวิจิตรอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมื่อจะสรรเสริญบรรพชาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวสูตรนี้ว่า
                                   ปพฺพชฺชํ กิตฺตยิสสามิ ยถา ปพฺพชิ จกฺขุมา
                                   ยถา วีมํสมาโน โส ปพฺพชฺชํ สมโรจยิ.

                                   ข้าพเจ้าจักสรรเสริญบรรพชาอย่างที่พระพุทธเจ้า
                         ผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา ข้าพเจ้าจักสรรเสริญบรรพชา
                         อย่างที่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงไตร่ตรองอยู่ จึงทรง
                         พอพระทัยบรรพชาด้วยดี
ดังนี้.
               ความในคาถานั้นมีดังนี้
               พระอานนท์กล่าวว่า เพราะอันผู้สรรเสริญบรรพชาควรสรรเสริญบรรพชานั้นอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรพชา. อนึ่ง อันผู้สรรเสริญบรรพชานั้น อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรพชา ควรสรรเสริญบรรพชานั้นอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไตร่ตรองอยู่ ทรงพอพระทัยบรรพชา ฉะนั้นเราจักสรรเสริญบรรพชา แล้วจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยถา ปพฺพชฺชิ ดังนี้.
               บทว่า จกฺขุมา ความว่า ถึงพร้อมด้วยจักษุ ๕.
               บทที่เหลือในคาถาต้นง่ายทั้งนั้น.
               บัดนี้ พระอานนท์เมื่อจะประกาศความนั้นว่า ยถา วีมํสมาโน จึงกล่าวว่า สมฺพาโธยํ ฆราวาสนี้คับแคบ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมฺพาโธ คือ หมดโอกาสบำเพ็ญกุศล เพราะบีบคั้นด้วยบุตรและภรรยาเป็นต้น เพราะบีบคั้นด้วยกิเลส.
               บทว่า รชสฺสายตนํ ความว่า ฆราวาสเป็นที่เกิดของธุลีมีราคะเป็นต้น ดุจนครกัมโพชะเป็นต้นเป็นที่เกิดของม้าทั้งหลาย. บทว่า อพฺโภกาโส ความว่า บรรพชาปลอดโปร่งดุจอากาศ เพราะตรงกันข้ามกับความคับแคบดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อิติ ทิสฺวาน ปพฺพชิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระทัยอันชราพยาธิและมรณะคอยตักเตือนอยู่ด้วยดีในฆราวาสและบรรพชา ทรงเห็นโทษและอานิสงส์แล้ว จึงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เอาพระขรรค์ตัดพระเกศา ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ทันใดนั้นมีพระเกศาและพระมัสสุสมควรแก่สมณะตั้งอยู่เพียงสององคุลี ทรงรับบริขาร ๘ ที่ฆฏิการพรหมน้อมเข้าไปถวาย ไม่มีใครๆ สอนว่าพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ ทรงศึกษาโดยการสั่งสมในบรรพชาของพระองค์เป็นไปแล้วหลายพันชาติ จึงทรงบรรพชา.
               ท่านอธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ทรงกระทำจีวรขันธ์ คล้องบาตรดินที่พระอังสา ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต.
               คำที่เหลือในบทนี้มีความง่ายทั้งนั้น.
               พระอานนท์ ครั้นสรรเสริญการบรรพชาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้แล้ว ต่อแต่นี้ไป เพื่อจะประกาศข้อปฏิบัติของบรรพชาและการละฝั่งแม่น้ำอโนมา เสด็จไปเพื่อบำเพ็ญเพียร จึงกล่าวคำทั้งหมดมีอาทิว่า ปพฺพชิตฺวาน กาเยน ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า กาเยน ปาปกมฺมํ วิวชฺชยิ ได้แก่ ทรงเว้นกายทุจริต ๓ อย่าง. บทว่า วจีทุจฺจริตํ ได้แก่ วจีทุจริต ๔ อย่าง. บทว่า อาชีวํ ปริโสธยิ ได้แก่ ทรงละมิจฉาชีวะทรงประกอบสัมมาชีวะ.
               พระพุทธเจ้าทรงชำระศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ อย่างนี้แล้ว ได้เสด็จถึงกรุงราชคฤห์ ประมาณ ๓๐ โยชน์จากฝั่งแม่น้ำอโนมา โดยเพียง ๗ วัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนั้นว่า
               อันที่จริงพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้เป็นพระพุทธเจ้าในขณะที่เสด็จไปกรุงราชคฤห์ นั่นเป็นบุพจริยาของพระพุทธเจ้าที่กล่าวอย่างนั้นก็เหมือนคำกล่าวของชาวโลกว่า พระราชาประสูติที่เมืองนี้ ได้รับราชสมบัติที่เมืองนี้เป็นต้น.
               บทว่า มคธาน ท่านอธิบายว่าเป็นนครของชนบทแห่งแคว้นมคธ แม้บทว่า คิริพฺพชํ นี้ ก็เป็นชื่อของแคว้นมคธนั้น. ก็คิริพชนครนั้นตั้งอยู่ดุจคอก ในท่ามกลางภูเขา ๕ ลูกที่มีชื่อว่า ปัณฑวะ ๑ คิชฌกูฏ ๑ เวภาระ ๑ อิสิคิลิ ๑ เวปุลละ ๑ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า คิริพชนคร.
               บทว่า ปิณฺฑาย อภิหาเรสิ คือ เสด็จไปในนครนั้นเพื่อบิณฑบาต.
               มีเรื่องเล่ามาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับยืน ณ ประตูพระนคร ทรงดำริว่า หากเราจะพึงให้ข่าวการมาของเราแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า สิทธัตถกุมาร โอรสของพระเจ้าสุทโธทนะมา พระเจ้าพิมพิสารก็จะทรงนำปัจจัยมาให้เรามาก ก็การบอกรับปัจจัยนั้นไม่สมควรแก่สมณะ เอาเถอะ เราจะเที่ยวไปบิณฑบาต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มผ้าบังสุกุลจีวรที่เทวดาประทานให้ ทรงถือบาตรดิน เสด็จเข้าพระนครทางประตูด้านทิศตะวันออก ได้เสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับเรือน. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต.
               บทว่า อากิณฺณวรลกฺขโณ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระลักษณะงามดำรงอยู่ หรือมีพระลักษณะประเสริฐมากมายดุจกระจายไปทั่วพระวรกาย แม้ความไพบูลย์ ท่านก็เรียกว่า อากิณฺณํ คือ กระจายไป. ดังที่ท่านกล่าวว่า คนโลภมาก สกปรกเหมือนผ้าพี่เลี้ยง (เปื้อนด้วยอุจจาระปัสสาวะ).๑- อธิบายว่า โลภจัด.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๗๙๘   ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๙๔๗

               บทว่า ตมทฺทส ความว่า ได้ยินว่าในพระนครได้มีการโฆษณาเล่นนักษัตรตลอด ๗ วันก่อนจากนั้น. แต่ในวันนั้นตีกลองเที่ยวประกาศว่า นักขัตฤกษ์ล่วงเลยไปแล้ว ควรประกอบการงานกันเถิด. ครั้งนั้น มหาชนประชุมกันที่พระลานหลวง. แม้พระราชาก็ทรงดำริว่า เราจักเตรียมการงาน ทรงเปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรดูหมู่กำลังพล ได้ทรงเห็นพระมหาสัตว์เสด็จออกบิณฑบาต. ด้วยเหตุนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า พระเจ้าพิมพิสารประทับอยู่บนปราสาท ได้ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               บัดนี้ พระอานนท์เมื่อจะแสดงพระราชดำรัสที่พระเจ้าพิมพิสารตรัสแก่อำมาตย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า อิมํ โภนฺโต ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อิมํ ได้แก่ พระราชานั้นทรงแสดงถึงพระโพธิสัตว์. บทว่า โภนฺโต ทรงเรียกพวกอำมาตย์. บทว่า นิสาเมถ แปลว่า จงดู. บทว่า อภิรูโป คือมีพระรูปน่าดู. บทว่า พฺรหา คือ สมบูรณ์ด้วยส่วนสูงและส่วนกว้าง. บทว่า สุจิ คือมีพระฉวีวรรณบริสุทธิ์. บทว่า จรเณน คือ ด้วยการดำเนินไป.
               บทว่า นีจกุลามิว ความว่า ภิกษุรูปนี้หาเหมือนผู้บวชจากสกุลต่ำไม่. อักษร เป็นบทสนธิ. บทว่า กุหึ ภิกฺขุ คมิสฺสติ ความว่า พระเจ้าพิมพิสารตรัสโดยมีพระประสงค์ว่า พวกราชทูตจงรีบไปเพื่อรู้ว่า ภิกษุรูปนี้จักไปไหน วันนี้จักอยู่ ณ ที่ไหน เพราะเราประสงค์จะเห็นภิกษุรูปนั้น.
               บทว่า คุตฺตทฺวาโร คือ ทรงคุ้มครองทวารสำรวมดีแล้วด้วยพระสติ เพราะมีจักษุทอดลง หรือทรงคุ้มครองทวารด้วยสติ คือสำรวมด้วยดี ด้วยการครองสังฆาฏิ และจีวรน่าเลื่อมใส.
               บทว่า ขิปฺปํ ปตฺตํ อปูเรสิ ได้แก่ ได้ทรงยังบาตรให้เต็มเร็วโดยบริบูรณ์ ด้วยพระอัธยาศัยว่า ไม่รับเกินไป หรือเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว เพราะมีสติสัมปชัญญะ.
               บทว่า มุนี ความว่า ชื่อว่ามุนี เพราะปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ฉลาด. อีกอย่างหนึ่ง กล่าวโดยโวหารของชาวโลกว่า แม้ยังไม่ถึงความเป็นผู้ฉลาด ก็เป็นมุนี. เพราะชาวโลกทั้งหลายกล่าวถึงนักบวชที่ยังไม่ถึงพร้อมด้วยความฉลาดว่าเป็นมุนี.
               บทว่า ปณฺฑวํ อภิหาเรสิ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นไปยังภูเขาปัณฑวะ.
               ได้ยินว่า ราชทูตถามพวกมนุษย์ว่า ที่นครนี้มีบรรพชิตอยู่ที่ไหน. พวกมนุษย์จึงบอกแก่เขาว่า มีภิกษุรูปหนึ่งอยู่ที่เงื้อมเขาด้านทิศตะวันออก บนเขาปัณฑวะ เพราะฉะนั้น พระราชาจึงเสด็จขึ้นไปยังภูเขาปัณฑวะนั้น ทรงดำริอย่างนี้ว่า ณ ภูเขานี้คงจักเป็นที่อยู่.
               บทว่า พยคฺฆุสโภว สีโหว คิริคพฺภเร คือ เหมือนเสือโคร่ง เหมือนโคอุสุภราช และเหมือนราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำภูเขา. เพราะสัตว์ทั้ง ๓ เหล่านี้เป็นสัตว์ประเสริฐที่สุด ไม่กลัวภัย อาศัยอยู่ในถ้ำ เพราะฉะนั้น ราชทูตจึงได้เปรียบเทียบอย่างนี้.
               บทว่า ภทฺรยาเนน คือ ด้วยยานอันสูงสุดมียานช้าง ม้า รถและวอเป็นต้น.
               บทว่า ส ยานภูมึ ยายิตฺวา คือ เสด็จไปตลอดพื้นที่สามารถจะเสด็จไปด้วยยาน มีช้างและม้าเป็นต้น. บทว่า อาสชฺช คือ ถึงแล้ว. อธิบายว่า เสด็จไปใกล้ภูเขานั้น. บทว่า อุปาวิสิ คือ ประทับนั่ง.
               บทว่า ยุวา คือ ยังเป็นหนุ่ม. บทว่า ทหโร คือ เป็นหนุ่มโดยชาติ.
               บทว่า ปฐมุปฺปตฺติโต สุสู ท่านยังเป็นหนุ่มแน่นตั้งแต่ปฐมวัย นี้เป็นวิเสสนะของทั้งสองบทนั้น.
               บทว่า ยุวา สุสู คือ เป็นหนุ่มมาตั้งแต่ปฐมวัย. บทว่า ทหโร จาปิ คือ เมื่อยังมีความเป็นหนุ่ม ย่อมปรากฏเหมือนหนุ่มอ่อน. บทว่า อณีกคฺคํ ได้แก่ หมู่พลพร้อมหน้า.
               ในบทว่า ททามิ โภเค ภุญฺชสฺสุ นี้ พึงทราบการเชื่อมความอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจะให้โภคสมบัติในแคว้นอังคะมคธะแก่ท่านเท่าที่ท่านต้องการ ท่านยังหมู่พลให้งดงาม แวดล้อมด้วยหมู่ผู้ประเสริฐ ขอจงบริโภคสมบัติเถิด.
               บทว่า อุชุ ชนปโท ราชา ความว่า นัยว่า ครั้นพระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าจะให้โภคสมบัติ ขอท่านจงบริโภคโภคสมบัติเถิด ข้าพเจ้าถาม ขอท่านจงบอกชาติกำเนิดแก่ข้าพเจ้าเถิด. พระมหาบุรุษทรงดำริว่า หากเราพึงปรารถนาราชสมบัติ แม้ทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชิกาเป็นต้น ก็จะพึงนิมนต์เราด้วยราชสมบัติของตน.
               อีกอย่างหนึ่ง เราตั้งอยู่ในเรือนก็จะพึงครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่พระราชานี้ไม่รู้จักเราจึงตรัสอย่างนั้น เอาเถิด เราจะให้พระราชาทรงรู้จักเรา จึงทรงเปล่งพระวาจา แจ้งถึงทิศทางที่พระองค์เสด็จมา ตรัสว่า อุชุ ชนปโท ราชา ดังนี้เป็นอาทิ.
               พระมหาบุรุษ เมื่อตรัสว่า หิมวนฺตสฺส ปสฺสโต ข้างหิมวันตประเทศ ทรงแสดงถึงความไม่ขาดแคลนข้าวกล้าและสมบัติ. เพราะว่า แม้ศาลาใหญ่มีช่องหินอาศัยหิมวันตประเทศ ก็เจริญด้วยความเจริญห้าอย่าง จะกล่าวไปทำไมถึงข้าวกล้าที่หว่านลงในนา.
               พระมหาบุรุษเมื่อตรัสว่า ธนวิริเยน สมฺปนฺโน สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และความเพียร จึงทรงแสดงถึงความไม่ขาดแคลนด้วยรัตนะ ๗ และความที่มีวีรบุรุษมากมาย ซึ่งราชศัตรูไม่ล่วงล้ำได้ถวายให้พระราชาทรงทราบ.
               พระมหาบุรุษ เมื่อตรัสว่า โกสลสฺส นิเกติโน ชนบทแห่งแคว้นโกศลเป็นที่อยู่ดังนี้ ทรงปฏิเสธความเป็นพระราชาองค์ใหม่ เพราะพระราชาองค์ใหม่ท่านไม่เรียกว่า นิเกตี. ชนบทอันเป็นที่อยู่อาศัยโดยสืบต่อกันมาตั้งแต่ต้น ท่านจึงเรียกว่า นิเกตี เป็นที่อยู่.
               พระมหาบุรุษตรัสว่า โกสลสฺส นิเกติโน ทรงหมายถึงพระเจ้าสุทโธทนะ. ด้วยเหตุนั้น พระมหาบุรุษทรงแสดงถึงโภคสมบัติที่ตกทอดกันมา.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระมหาบุรุษทรงแสดงถึงโภคสมบัติของพระองค์ และทรงบอกชาติสมบัติด้วยบทนี้ว่า อาตมภาพโดยโคตรชื่ออาทิตย์ โดยชาติชื่อศากยะ
               เมื่อจะทรงปฏิเสธพระดำรัสที่พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าจะให้โภคสมบัติ ขอท่านจงบริโภคโภคสมบัติเถิด ดังนี้. จึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพบวชจากตระกูลนั้นไม่ปรารถนาราชสมบัติ ดังนี้. ผิว่า อาตมภาพพึงปรารถนาสุขก็จะไม่ทอดทิ้งตระกูลอันมากมายด้วยวีรบุรุษแปดหมื่นสองพัน สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และความเพียรเช่นนี้เลย.
               นัยว่า นี้เป็นอธิบายในข้อนี้.
               พระมหาสัตว์ ครั้นทรงปฏิเสธคำทูลของพระราชาอย่างนี้แล้ว ต่อจากนั้นเมื่อจะทรงแสดงถึงเหตุแห่งการบรรพชาของพระองค์ จึงตรัสว่า อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นบรรพชาเป็นที่ปลอดโปร่ง.
               ควรเชื่อมด้วยบทนี้ว่า เอวํ ปพฺพชิโตมฺหิ อาตมภาพจึงบวชด้วยเหตุนี้. ในบทเหล่านั้นบทว่า ทฏฺฐุ แปลว่า เห็นแล้ว.
               บทที่เหลือในสูตรนี้พึงทราบว่า ในคาถาต้นจากคาถานี้ บททั้งปวงที่ยังมิได้วิจารณ์มีเนื้อความง่ายทั้งนั้น จึงไม่วิจารณ์.
               พระมหาสัตว์ตรัสเหตุแห่งบรรพชาของพระองค์อย่างนี้แล้ว มีพระประสงค์จะเสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่ความเพียร เมื่อจะตรัสบอกพระราชา จึงตรัสว่า อาตมภาพจักไปเพื่อความเพียร ใจของอาตมภาพยินดีในความเพียรนี้.
               อธิบายความของบทนั้นว่า
               มหาบพิตร เพราะอาตมภาพเห็นบรรพชาเป็นที่ปลอดโปร่ง จึงออกบวช ฉะนั้น อาตมภาพปรารถนาบรรพชาอันมีประโยชน์อย่างยิ่งนั้น เป็นอมตนิพพานอันชื่อว่า ปธานะ เพราะเลิศกว่าธรรมทั้งปวง จักไปเพื่อประโยชน์แก่ความเพียร ใจของอาตมภาพยินดีในความเพียรนี้ดังนี้.
               เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาจึงตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ หม่อมฉันได้ยินมาก่อนแล้วว่า ได้ยินว่า สิทธัตถกุมารโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงเห็นบุรพนิมิต ๔ ประการ ออกบวชจักเป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้ ข้าแต่พระคุณเจ้า หม่อมฉันเห็นอัธยาศัยของพระองค์จึงเลื่อมใสอย่างนี้ พระองค์จักบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ดีแล้ว พระเจ้าข้า พระองค์บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอเชิญเสด็จมาเยี่ยมแคว้นของหม่อมฉันก่อนเถิด.

               จบอรรถกถาปัพพชาสูตรที่ ๑               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค ปัพพชาสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 332อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 354อ่านอรรถกถา 25 / 355อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=8388&Z=8435
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=4520
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=4520
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :