ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 356อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 358อ่านอรรถกถา 25 / 361อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค
สุนทริกสูตร

               อรรถกถาปูรฬาสสูตร๑-ที่ ๔               
๑- บาลีเป็น สุนทริกสูตร.

               ปูรฬาสสูตรมีบทเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               ถามว่า พระสูตรนี้มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ชื่อสุนทริกภารทวาชะถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัต ทรงทราบว่า เมื่อเราไป ณ ที่นั้นจักได้สนทนากัน จากนั้นเมื่อการสนทนาสิ้นสุดลง พราหมณ์นั้นฟังธรรมเทศนาแล้วจักบวช แล้วจักบรรลุพระอรหัต ดังนี้ จึงเสด็จไป ณ ที่นั้น เริ่มสนทนากัน ได้ตรัสพระสูตรนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวมฺเม สุตํ เป็นต้น เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์.
               บทว่า กึชจฺโจ ภวํ ท่านมีชาติอย่างไร ดังนี้ เป็นคำของพราหมณ์นั้น.
               คำมีอาทิว่า
                                   น พฺราหฺมโณ โนมฺหิ น ราชปุตฺโต
                                   น เวสฺสายโน อุท โกจิ โนมฺหิ
                                   โคตฺตํ ปริญฺญาย ปุถุชฺชนานํ
                                   อกิญฺจโน มนฺตจรามิ โลเก.

                         เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์
                         หรือใครๆ เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนแล้ว
                         ไม่มีความกังวลเที่ยวไปด้วยปัญญาในโลก
ดังนี้.
               เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ประมวลเรื่องทั้งหมดนั้น เรียกว่า ปูรฬาสสูตร. พึงทราบบทเช่นเดียวกันกับที่กล่าวในสูตรนั้นตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล. เราจักพรรณนาบทที่ยังไม่ได้กล่าวไว้ และจะไม่แตะต้องบทที่มีความง่ายเลย.
               บทว่า โกสเลสุ ได้แก่ พระราชกุมารชาวชนบทชื่อว่าโกสล. ชนบทหนึ่งเป็นที่ประทับของพระราชกุมารเหล่านั้น ท่านเรียกว่าโกสล ด้วยรุฬหีศัพท์ ในแคว้นโกศลชนบทนั้น.
               แต่อาจารย์บางพวกพรรณนาไว้ว่า
               ครั้งก่อน พระราชาทรงสดับว่า มหาปนาทราชกุมารทอดพระเนตรการฟ้อนรำแล้ว ไม่ทรงแสดงอาการแม้เพียงทรงพระสรวล จึงรับสั่งว่า ผู้ใดทำโอรสของเราให้หัวเราะได้ เราจะให้เครื่องสรรพาภรณ์กะผู้นั้น. แต่นั้น หมู่มหาชนทิ้งไถประชุมกัน พวกมนุษย์แม้แสดงการเล่นต่างๆ เกิน ๗ ปี ก็ไม่สามารถให้พระราชกุมารนั้นทรงพระสรวลได้.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงส่งนักฟ้อนที่เป็นเทพดาไป. นักฟ้อนที่เป็นเทพดาแสดงการฟ้อนที่เป็นทิพย์แล้วทำให้พระราชกุมารทรงพระสรวลได้. พวกมนุษย์เหล่านั้นจึงพากันกลับที่อยู่ของตนๆ. พวกมนุษย์เห็นมิตรและสหายเป็นต้นสวนทางมาได้ทำปฏิสันถารว่า สบายดีอยู่ดอกหรือท่าน สบายดีอยู่ดอกหรือท่าน ดังนี้. เพราะฉะนั้น ประเทศนั้นจึงเรียกว่า โกสละ หมายถึงเสียงว่า กุสลํ กุสลํ นั้น.
               บทว่า สุนฺทริกาย นทิยา ตีเร คือ ที่ฝั่งแม่น้ำอันมีชื่ออย่างนี้ว่า สุนทริกา.
               บทว่า เตน โข ปน ได้แก่ โดยสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงแนะนำพราหมณ์นั้น จึงเสด็จไปประทับด้วยอิริยาบถนั่งทรงห่มคลุมพระเศียร ณ โคนต้นไม้ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น.
               บทว่า สุนฺทริกภารทฺวาโช ได้แก่ พราหมณ์นั้นอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนั้นและบูชาไฟอยู่.
               อนึ่ง ภารทวาชะเป็นชื่อโคตรของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอย่างนั้น.
               บทว่า อคฺคึ ชูหติ ได้แก่ ให้ไฟโพลงด้วยการใส่เครื่องบูชา.
               บทว่า อคฺคิหุตํ ปริจรติ บำเรอการบูชาไฟ คือ เข้าไปยังที่ก่อไฟด้วยการกวาด ลูบไล้ และพลีกรรมเป็นต้น.
               บทว่า โก นุ โข อิมํ หพฺยเสสํ ภุญฺเชยฺย ใครหนอควรบริโภคข้าวปายาสที่เหลือนี้ ความว่า นัยว่า พราหมณ์นั้นบูชาไฟเห็นข้าวปายาสที่เหลือ จึงคิดว่ามหาพรหมบริโภคข้าวปายาสที่ใส่ลงไปในไฟ แต่ข้าวปายาสนี้ยังมีเหลืออยู่ ผิว่าเราพึงให้ข้าวปายาสนั้นแก่พราหมณ์ ผู้เกิดจากปากของพรหม แม้บุตรพร้อมด้วยบิดาของเราก็จะพึงอิ่มหนำ, ทางไปสู่พรหมโลก พึงเป็นทางที่เราชำระไว้ดีแล้ว เอาเถิด เราจะแสวงหาพราหมณ์.
               ลำดับนั้น ภารทวาชพราหมณ์ลุกจากที่นั่งเพื่อหาพราหมณ์ เหลียวดูทิศทั้งสี่ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคข้าวปายาสที่เหลือนี้.
               บทว่า อญฺญตรสฺมึ รุกฺขมูเล ได้แก่ ที่โคนไม้ต้นอันประเสริฐ ณ ไพรสณฑ์นั้น.
               บทว่า สสีสํ ปารุตํ คือ คลุมกายตลอดศีรษะ ก็เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงทำอย่างนั้น. เหตุมีอยู่ว่า แม้ผู้มีกำลังเทียบพระนารายน์ก็ไม่สามารถจะห้ามหิมะตก หรือความหนาวและลมได้.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงประคับประคองพระวรกายด้วยประการทั้งปวงก็จริง ถึงดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า เมื่อพราหมณ์มาหาจักเปิดศีรษะ ครั้นพราหมณ์เห็นเราก็จักสนทนากัน เมื่อเป็นดังนั้น เราจักแสดงธรรมโดยให้พราหมณ์คล้อยไปตามคำของเรา เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นเพื่อสนทนากัน.
               บทว่า ทิสฺวาน วาเมน ฯเปฯ เตนุปสงฺกมิ พราหมณ์เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งทรงคลุมพระกายตลอดพระเศียรอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง จึงถือเอาข้าวปายาสที่เหลือด้วยมือซ้าย ถือน้ำเต้าด้วยมือขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
               ความว่า นัยว่าพราหมณ์นั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วคิดว่า ท่านผู้นี้คลุมตลอดศีรษะประกอบความเพียรตลอดคืน เราจักให้ทักษิโณทกแล้วให้ข้าวปายาสที่เหลือนี้ สำคัญว่าเป็นพราหมณ์จึงเข้าไปหา.
               บทว่า มุณฺโฑ อยํ ภวํ มุณฺฑโก อยํ ภวํ ท่านผู้นี้เป็นคนโล้นๆ ความว่า พอพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดพระเศียร พราหมณ์เห็นพระเกสาจึงกล่าวว่า มุณฺโฑ คนโล้น. พราหมณ์มองดูอย่างถี่ถ้วนไม่เห็นปลายพระเกสา แม้แต่น้อยจึงเหยียดหยามกล่าวว่า มุณฺฑโก คนโล้นเลี่ยนดังนี้. ด้วยว่า พราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิเห็นปานนี้.
               บทว่า ตโต จ ได้แก่ จากที่ที่ยืนอยู่แล้วได้เห็น. บทว่า มุณฺฑาปิ โหนฺติ ได้แก่ แม้พราหมณ์บางพวกก็เป็นคนโล้นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง.
                อักษรในบทว่า น พฺราหฺมโณ โนมฺหิ นี้ลงในความปฏิเสธ.
               โน อักษรลงในอวธารณะ (ห้ามความอื่น) ดุจในประโยค๒- น โน สมํ ทรัพย์นั้นไม่เสมอด้วยพระตถาคต ดังนี้เป็นต้น. ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เรามิใช่พราหมณ์ดังนี้.
____________________________
๒- ขุ. ขุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๗   ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๑๔

               บทว่า น ราชฺปุตโต เราไม่ใช่ราชโอรส. บทว่า น เวสฺสายโน เราไม่ใช่แพศย์. บทว่า อุท โกจิ โนมฺหิ ศูทรหรือจัณฑาล หรือใครๆ แม้อื่นๆ เราก็ไม่เป็น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามการอ้างคำพูดว่าโดยชาติอย่างสิ้นเชิงอย่างนี้. เพราะเหตุไร เพราะกุลบุตรผู้ได้บรรพชาแล้ว ย่อมสละชื่อและโคตรที่มีมาก่อน เหมือนแม่น้ำไหลลงสู่มหาสมุทรฉะนั้น. ปหาราทสูตรเป็นตัวอย่างในข้อนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคัดค้านคำกล่าวถึงชาติอย่างนี้ ทรงเปิดเผยพระองค์ตามความเป็นจริง ตรัสว่า เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนแล้วไม่มีความกังวล เที่ยวไปด้วยปัญญาในโลก ดังนี้.
               หากมีคำถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดรู้โคตรอย่างไรเล่า.
               ตอบว่า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดเบญจขันธ์ทั้งหลายด้วยปริญญาสาม เมื่อทรงกำหนดรู้เบญจขันธ์เหล่านั้นแล้ว เป็นอันทรงกำหนดรู้โคตรนั่นเอง. พระองค์ไม่มีความกังวล เพราะไม่มีความกังวลมีราคะเป็นต้น. พระองค์ทรงรู้ด้วยปัญญา เที่ยวไปด้วยกายกรรมเป็นต้น อันหมุนไปตามญาณทั้งหลาย. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า โคตฺตํ ฯเปฯ โลเก ดังนี้. ปัญญาท่านเรียกว่า มนฺตา. พระองค์เที่ยวไปด้วยปัญญานั้น ด้วยเหตุนั้นแล ท่านจึงกล่าวว่า มนฺตจรามิ โลเก ทำเป็นรัสสะด้วยอำนาจของฉันท์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงเปิดเผยพระองค์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อทรงค้านคำของพราหมณ์ ด้วยพระดำรัสว่า ท่านเห็นบุคคลผู้มีเพศอันประเสริฐอย่างนี้แล้ว ยังไม่ทราบคำที่ควรถามหรือไม่ควรถาม จึงตรัสว่า สงฺฆาฏิวาสี ฯเปฯ โคตฺตปญฺหํ.
                                   เรานุ่งห่มไตรจีวร ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว
                         มีตนดับความเร่าร้อนแล้ว ไม่คลุกคลีกับมนุษย์
                         ทั้งหลายในโลกนี้ เที่ยวไปอยู่ ท่านถามถึงปัญหา
                         เกี่ยวด้วยโคตรอันไม่สมควรกะเรา
.
               ก็ในคาถานี้มีอธิบายดังนี้ จีวรแม้ ๓ ผืนท่านเรียกว่า สังฆาฏิ เพราะตัดต่อกัน. ชื่อว่า สงฺฆาฏิวาสี เพราะนุ่งห่มจีวรเหล่านั้น.
               บทว่า อคโห แปลว่า ไม่มีเรือน. อธิบายว่า ไม่มีตัณหา. ก็เรือนที่ประทับในพระเชตวันของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีมากมายเป็นต้นว่ามหาคันธกุฎี โรงมณฑลใต้ต้นกุ่มน้ำ กุฎีต้นมะกอก โรงไม้จันทร์ ไม่ควรหมายเอาถึงเรือนประทับนั้น.
               บทว่า นิวุตฺตเกโส ได้แก่ ปลงผม. อธิบายว่า ปลงผมและหนวด.
               บทว่า อภินิพฺพุตตฺโต ได้แก่ มีจิตสงบจากความเร่าร้อนหรือมีจิตคุ้มครองแล้ว.
               บทว่า อลิมฺปมาโน อิธ มาณเวหิ ไม่คลุกคลีกับมนุษย์ คือไม่ติดไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เพราะละความเยื่อใยในของใช้ได้แล้ว คืออยู่อย่างสงัดส่วนเดียว.
               บทว่า อกลฺลํ มํ พฺราหฺมณ ท่านถามปัญหาเกี่ยวด้วยโคตรอันไม่สมควรกะเรา.
               ความว่า เรานุ่งห่มไตรจีวรอย่างนี้ ฯลฯ ไม่คลุกคลีด้วยมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านถามปัญหาเกี่ยวด้วยโคตรอันไม่สมควรกะเราผู้เป็นสมณะเพื่ออะไร.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียน จึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ย่อมถามกับพวกพราหมณ์ด้วยกันว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือหนอ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า พฺราหฺมโณ โน ความว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือหนอ.
               ท่านอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ผู้เจริญ เราจะไม่ถามสิ่งไม่สมควร ในสมัยที่เราเป็นพราหมณ์ พวกพราหมณ์มาประชุมกันกับพวกพราหมณ์ แล้วถามถึงชาติบ้าง โคตรบ้างอย่างนี้ว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือหนอ ท่านเป็นพราหมณ์ภารทวาชโคตรหรือหนอ ดังนี้.
               ครั้นพระองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงประกาศความที่พระองค์ทรงรู้ชัดในมนต์ทั้งหลาย เพื่อจะทำให้พราหมณ์มีจิตอ่อน จึงตรัสว่า
                                   พฺราหฺมโณ เจ ตฺวํ พฺรูสิ ฯเปฯ จตุวีสตกฺขรํ
                         หากท่านกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ แต่ท่านกล่าวกะ
                         เราผู้มิใช่พราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราขอถามสาวิตรี
                         (ชื่อฉันท์) ซึ่งมีบท ๓ มีอักขระ ๒๔ กะท่าน.

               บทนั้นมีความว่า หากท่านกล่าวว่าเราเป็นพราหมณ์ แต่ท่านกล่าวกะเราผู้มิใช่พราหมณ์ เพราะฉะนั้น เราขอถามสาวิตรีกะท่านผู้เจริญ ท่านจงบอกสาวิตรีมีบท ๓ มีอักขระ ๒๔ แก่เรา.
               ก็ในบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงอริยสาวิตรีนี้ว่า
                         พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
                         ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
                         สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

               อันเป็นเบื้องต้นแห่งพระไตรปิฎกซึ่งเป็นพระปรมัตถเวท อันพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ชั้นเยี่ยมประกาศแล้ว สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ. แม้หากว่าพราหมณ์พึงกล่าวอย่างอื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะตรัสกะพราหมณ์นั้นว่า ดูก่อนพราหมณ์ นี้มิใช่สาวิตรีในวินัยของพระอริยะอย่างแน่นอน เพราะเหตุนั้น ครั้นพระองค์ทรงแสดงถึงความไม่ใช่สาวิตรีแก่พราหมณ์นั้น จึงทรงให้พราหมณ์ตั้งอยู่ในสาวิตรีนี้แล.
               แต่พราหมณ์ถามถึงสาวิตรี ครั้นสดับคำนี้ว่ามี ๓ บท มีอักขระ ๒๔ อันเข้ากันได้กับลัทธิของตน เป็นสาวิตรีที่มีลักษณะและพยัญชนะเปล่งออกมาด้วยเสียงดุจเสียงพรหม จึงดูแคลนว่า ท่านผู้นี้เป็นสมณะถึงความสำเร็จในลัทธิของพราหมณ์แน่นอน แต่เรามิใช่พราหมณ์ เพราะไม่รู้ ท่านผู้นี้เป็นพราหมณ์ จึงแน่ใจว่าท่านผู้นี้เป็นพราหมณ์ เป็นคนดีถึงฝั่งแห่งมนต์ คิดว่า เอาเถิด เราจะถามยัญวิธี (วิธีบูชายัญ) และทักขิไณยวิธี (วิธีทำเพื่อทักษิณา) กะสมณะนั้น จึงกล่าวคาถา ไม่เรียบร้อยนักสองบทนี้ว่า กินฺนิสฺสิตา ฯเปฯ โลเก
               ความว่า พวกฤาษี มนุษย์ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นอันมากในโลกนี้อาศัยอะไร ได้กำหนดยัญแก่เทวดาทั้งหลาย.
               บทนั้นมีความว่า พวกฤาษี กษัตริย์ พราหมณ์ มนุษย์เหล่าอื่นอาศัยอะไร คือประสงค์อะไร ปรารถนาอะไร ได้กำหนดยัญเพื่อประโยชน์แก่เทวดาทั้งหลาย.
                อักษรในบทว่า ยญฺญมกปฺปยึสุ เป็นบทสนธิ.
               บทว่า อกปฺปยึสุ ได้แก่ จัดแจงแล้ว คือได้ทำแล้ว. บทว่า ปุถู คือ มาก มีประการไม่น้อยอันต่างด้วยข้าวและน้ำเป็นต้น.
               พราหมณ์ถามด้วยความประสงค์นี้ว่า ฤาษี มนุษย์ กษัตริย์และพราหมณ์เป็นอันมากอาศัยอะไร ได้กำหนดยัญไว้ คือกรรมนั้นจะสำเร็จแก่พวกเขาได้อย่างไร.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงพยากรณ์ความนั้นแก่พราหมณ์ จึงตรัสสองบทที่เหลือนี้ว่า ยทนฺตคู เวทคู ยญฺญกาเล ยสฺสาหุตึ ลเภ ตสฺสิชฺเฌติ พฺรูมิ เราขอบอกว่า ผู้ถึงที่สุดทุกข์ ถึงที่สุดเวท จะพึงได้เครื่องบูชาในเมื่ออาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ใดเข้าไปตั้งไว้ในกาลแห่งยัญ ยัญกรรมของผู้นั้นพึงสำเร็จ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ยทนฺตคู แปลว่า ผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์. แผลง อักษรแห่ง โอ อักษรเป็น อักษรดุจ อักษรในบทมีอาทิว่า อสาธารณมญฺเญสํ๓- ขุมทรัพย์ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น.
               อธิบายว่า เราขอบอกว่าผู้ใดชื่อว่าถึงที่สุดแห่งทุกข์ เพราะถึงที่สุดแห่งวัฏทุกข์ด้วยปริญญา ๓ และชื่อว่าถึงที่สุดแห่งเวท เพราะทำลายกิเลสด้วยเวทคือมรรคญาณ ๔ แล้วถึงที่สุด. ผู้นั้นพึงได้เครื่องบูชาในเมื่ออาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยที่สุดแม้ใบไม้ รากไม้และผลไม้ในป่า เข้าไปตั้งไว้ในกาลแห่งยัญของฤาษี มนุษย์ กษัตริย์และพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง คือพึงได้ไทยธรรมไรๆ จากเครื่องบูชานั้น ยัญกรรมของผู้นั้นพึงสำเร็จ พึงสำเร็จด้วยดี คือพึงมีผลมาก ดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. ขุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๙

               ลำดับนั้น พราหมณ์ฟังเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าสมบูรณ์ด้วยปรมัตถธรรมอันลึกซึ้ง เสียงอันไพเราะยิ่ง และเสียงไม่วิการ สรรเสริญความที่พระองค์เป็นผู้มีพระสรีระสมบัติอันสะอาด และคุณสมบัติทั้งปวงเกิดปีติโสมนัสกล่าวคาถาว่า อทฺธา หิ ตสฺส การบูชาของข้าพเจ้านั้นพึงสำเร็จเป็นแน่ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมโณ เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์. บทที่เหลือเป็นคำของพราหมณ์.
               บทนั้นมีอธิบายว่า พราหมณ์ทูลว่า การบูชาของข้าพเจ้านั้นพึงสำเร็จแน่นอนวันนี้ ไทยธรรมนี้จักสำเร็จ จักสำเร็จด้วยดี จักมีผลมาก เราจักได้เห็นผู้ถึงที่สุดแห่งเวทเช่นนั้น คือเราจักได้เห็นผู้ถึงที่สุดแห่งเวท ผู้เจริญเช่นนั้น.
               จริงอยู่ ท่านนั่นแหละเป็นผู้เลิศกว่าผู้ถึงที่สุดแห่งเวททั้งหลาย.
               อนึ่ง เมื่อก่อนจากนี้ ชนอื่นย่อมบริโภคขนมสำหรับบูชา ข้าวสุกสำหรับบูชาและขนมที่เขาเตรียมยัญเพื่อคนเช่นเรา เพราะยังไม่เห็นผู้ถึงที่สุดแห่งเวทและผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เช่นท่าน.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์ย่อมเลื่อมใสในพระองค์ และรับพระดำรัสแล้ว มีพระประสงค์จะประกาศทักขิไณยบุคคลโดยประการต่างๆ เหมือนอย่างที่ทักขิไณยบุคคลเป็นผู้ปรากฏเป็นอันดีแก่เขา จึงตรัสพระคาถาว่า ตสฺมาติห ตฺวํ ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เพราะท่านเป็นผู้เลื่อมใสในเรา ฉะนั้นแหละท่านจงเข้าไปถามเถิด.
               ก่อนจากนี้ไปควรเชื่อมบทของผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์ ด้วยบทอื่น.
               อธิบายว่า ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์ ท่านอยู่ในที่นี้แหละ อย่าไปไหน จะประสบพบเห็นทักขิไณยบุคคลผู้มีปัญญาดี มีปัญญาประเสริฐ เป็นพระขีณาสพ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบด้วยไฟคือกิเลสอันสมควรแก่ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นั้น. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความโกรธ เพราะสงบความโกรธเสียได้. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความอยาก เพราะไม่มีทุกข์. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความหวัง เพราะไม่มีความหวังหลายๆ อย่าง ในศาสนานี้แน่แท้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระองค์จึงตรัสว่า เพราะท่านเลื่อมใสในเรา ดูก่อนพราหมณ์ ฉะนั้นแหละท่านเป็นผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์ จงเข้าไปถามท่านผู้สงบ ผู้ไม่มีความโกรธ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้ไม่มีความหวังเถิด.
               ในบทนี้พึงทราบโยชนาแก้ไว้ว่า เมื่อถามอย่างนี้ ท่านจะพบทักขิไณยบุคคลผู้มีปัญญาดี ผู้เป็นขีณาสพในศาสนานี้เป็นแน่แท้.
               ลำดับนั้น พราหมณ์ปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน จึงทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ยญฺเญ รโตหํ โภ ฯเปฯ พฺรูหิ เมตํ
               ความว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ายินดีแล้วในยัญ ใคร่จะบูชายัญ แต่ข้าพเจ้ายังไม่ทราบชัด ขอท่านจงพร่ำสอนข้าพเจ้าเถิด ขอท่านจงบอกที่เป็นที่สำเร็จแห่งการบูชาแก่ข้าพเจ้าเถิด.
               บทว่า ยญฺโญ (การเซ่นสรวง) ยาโค (การบูชายัญ) ทานํ (การให้) ในบทว่า ยญฺเญ นั้น โดยความเป็นอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบการประกอบความในบทนี้อย่างนี้ว่า ข้าพเจ้ายินดีแล้วในทาน ประสงค์จะให้ทาน เพราะความยินดีในทานนั่นเอง แต่ข้าพเจ้ายังไม่ทราบชัด ขอท่านจงพร่ำสอนข้าพเจ้าผู้ไม่รู้อย่างนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อท่านจะพร่ำสอน ขอจงบอกที่เป็นที่สำเร็จแห่งการบูชาแก่ข้าพเจ้า โดยนัยที่ง่ายเถิด. ปาฐะว่า ยถา หุตํ ก็มี.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์จะกล่าวแก่พราหมณ์นั้น
               จึงตรัสว่า เตนหิ ฯเปฯ เทสิสฺสามิ ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเงี่ยโสตลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน.
               เพื่อทรงพร่ำสอนพราหมณ์ผู้เงี่ยโสตลงแล้ว จึงตรัสคาถาว่า ตาว มา ชาตึ ปุจฺฉ ท่านอย่าถามถึงชาติก่อนเลย.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มา ชาตึ ปุจฺฉ อย่าถามถึงชาติ.
               ความว่า ผิว่า ท่านหวังความมีผลมากในการบูชา ความสำเร็จและการให้ จงอย่าถามถึงชาติ เพราะการถามถึงชาติไม่ใช่เหตุในการพิจารณาถึงทักขิไณยบุคคล.
               บทว่า จรณํ จ ปุจฺฉ ได้แก่ จงถามแต่ธรรมสำหรับประพฤติ อันได้แก่คุณธรรมมีศีลเป็นต้นเถิด เพราะธรรมสำหรับประพฤตินี้ เป็นเหตุในการพิจารณาถึงทักขิไณยบุคคล.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงชี้แจงความนั้นให้แจ่มแจ้งแก่พราหมณ์นั้น จึงทรงยกตัวอย่างว่า กฏฺฐา หเว ชายติ ชาตเวโท เป็นต้น.
               อธิบายความในบทนั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ไฟย่อมเกิดแต่ไม้แล.
               อนึ่ง ไฟนั้นมิใช่เกิดจากไม้มีไม้สาละเป็นต้นเท่านั้น จึงทำหน้าที่ของไฟได้ ถึงเกิดจากไม้มีแผ่นหินและรางน้ำเป็นต้นก็ทำหน้าที่ไม่ได้ แต่ที่ทำได้เพราะถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติมีเปลวไฟเป็นต้นฉันใด ผู้ที่เป็นทักขิไณยบุคคลก็ฉันนั้น มิใช่ผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์เท่านั้น ทั้งมิใช่เกิดในตระกูลคนจัณฑาลเป็นต้น แม้เกิดในตระกูลต่ำ เกิดในตระกูลสูง ก็เป็นมุนีขีณาสพ มีปัญญา เกียดกันอกุสลได้ด้วยหิริ เป็นบุคคลอาชาไนยได้ เป็นผู้มีชาติโดยคุณสมบัติอันมีปัญญาและหิริเป็นประธาน ก็เป็นทักขิไณยบุคคลผู้สูงสุดได้ เพราะผู้นั้นย่อมทรงคุณธรรมด้วยปัญญา ย่อมเกียดกันโทษทั้งหลายด้วยหิริ.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๔- หิริยา หิ สนฺโต น กโรนฺติ ปาปํ จริงอยู่ สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำความชั่ว เพราะมีหิริ.
____________________________
๔- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๑๐๐

               ด้วยเหตุนั้น เราขอบอกแก่ท่านว่า ท่านถามถึงชาติ จงถามแต่ธรรมสำหรับประพฤติ ไฟย่อมเกิดแต่ไม้แล แม้ผู้เกิดในตระกูลต่ำก็เป็นมุนี มีปัญญา เป็นบุคคลอาชาไนย เกียดกันอกุสลด้วยหิริได้.
               นี้เป็นความสังเขป ส่วนความพิสดารพึงทราบโดยค้นคว้าดูใน อัสสลายนสูตร.๕-
____________________________
๕- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๖๑๓

               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงพร่ำสอนพราหมณ์นั้นด้วยความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔ อย่างนี้แล้ว เพื่อทรงแสดงที่เป็นที่สำเร็จแห่งการบูชายัญ จึงตรัสคาถามีอาทิว่า สจฺเจน ทนฺโต ฝึกตนด้วยสัจจะดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สจฺเจน ได้แก่ ปรมัตถสัจจะ.
               จริงอยู่ ผู้บรรลุปรมัตถสัจจะนั้นชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สจฺเจน ทนฺโต ดังนี้.
               บทว่า ทมสา อุเปโต ได้แก่ ประกอบแล้วด้วยการฝึกฝนอินทรีย์.
               บทว่า เวทนฺตคู ได้แก่ ถึงที่สุดแห่งกิเลสด้วยเวทหรือถึงมรรคญาณที่ ๔ อันเป็นที่สุดแห่งเวททั้งหลาย.
               บทว่า วุสิตพฺรหฺมจริโย ได้แก่ อยู่จบมรรคพรหมจรรย์ เพราะไม่มีกิจที่จะต้องอยู่อีก.
               บทว่า กาเลน ตมฺหิ หพฺยํ ปเวจฺเฉ พึงหลั่งไทยธรรมในทักขิไณยบุคคลนั้นตามกาล.
               ความว่า พึงกำหนดเวลาที่ตนจะเอาไทยธรรมไปตั้งและเวลาที่ทักขิไณยบุคคลนั้นอยู่เฉพาะหน้า แล้วพึงหลั่งคือพึงมอบไทยธรรมในทักขิไณยบุคคลเช่นนั้นตามเวลานั้น.
               บทว่า กาเม ได้แก่ วัตถุกามและกิเลสกาม.
               บทว่า สุสมาหิตินฺทฺริยา คือ มีอินทรีย์ตั้งมั่นแล้วด้วยดี. ท่านอธิบายว่า มีอินทรีย์ไม่ฟุ้งซ่าน. บทว่า จนฺโทว ราหุคฺคหณา ปมุตฺโต ได้แก่ เหมือนพระจันทร์ที่พ้นจากการจับของราหูฉันใด ผู้พ้นจากการจับของกิเลสย่อมเปล่งปลั่งฉันนั้น. บทว่า สตา คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสติ. บทว่า มมายิตานิ ได้แก่ ละตัณหาและทิฏฐิที่คนพาลถือว่าเป็นของเราได้แล้ว.
               บทว่า โย กาเม หิตฺวา ละกามทั้งหลายได้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงพระองค์ตั้งแต่ต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กาเม หิตฺวา คือ ละกิเลสกามได้แล้ว. บทว่า อภิภุยฺยจารี ได้แก่ ชื่อว่าครอบงำวัตถุกามทั้งหลายเที่ยวไป เพราะละวัตถุกามเหล่านั้นได้แล้ว.
               ท่านกล่าวพระนิพพานว่าเป็นที่สุดแห่งชาติและมรณะ.
               บทว่า โย เวทิ คือ รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะนั้นด้วยกำลังปัญญา.
               บทว่า อุทกรหโทว เหมือนห้วงน้ำ ความว่า สระใหญ่ ๗ สระในป่าหิมวันตะ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันตะ สระกุณาละ สระมัณฑากินี สระสีหปปาตะเหล่านี้ใด เย็นอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ถูกความร้อนคือไฟและพระอาทิตย์สัมผัส ผู้รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะชื่อว่าดับความเร่าร้อนได้ เป็นผู้เยือกเย็น เพราะดับความเร่าร้อนคือกิเลสได้ เหมือนห้วงน้ำเหล่านั้นห้วงใดห้วงหนึ่งฉะนั้น.
               บทว่า สโม ได้แก่ เท่ากัน.
               บทว่า สเมหิ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระวิปัสสีเป็นต้น. เพราะพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ท่านกล่าวว่า สมา คือ เป็นผู้เสมอกันเพราะเสมอกันด้วยการตรัสรู้. พระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่มีความต่างกันในคุณที่ควรบรรลุในการตรัสรู้หรือในโทษที่ควรละ. พระพุทธเจ้าเหล่านั้นมีความต่างกันด้วยกาล อายุ ตระกูล ประมาณการบรรพชา ความเพียร ที่ตรัสรู้ และพระรัศมี.
               เป็นความจริงดังนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยกำหนดอย่างต่ำ ทรงบำเพ็ญบารมีมาสี่อสงไขยแสนกัป โดยกำหนดอย่างสูง สิบหกอสงไขยแสนกัป นี้คือความต่างแห่งกาลของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               อนึ่ง โดยกำหนดอย่างต่ำ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติในกาลที่คนมีอายุ ๑๐๐ ปี โดยกำหนดอย่างสูงในกาลที่คนมีอายุแสนปี นี้คือความต่างแห่งอายุ. พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติในตระกูลกษัตริย์ หรือในตระกูลพราหมณ์ นี้คือความต่างกันแห่งตระกูล. พระพุทธเจ้าทั้งหลายสูงประมาณ ๘๘ ศอก หรือต่ำประมาณ ๑๕-๑๘ ศอก นี้คือความต่างแห่งประมาณ.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จออกบรรพชาด้วย ช้าง ม้า รถและวอเป็นต้น หรือโดยทางอากาศ เช่นพระวิปัสสี พระกกุสันธะเสด็จออกบรรพชาด้วยรถม้า พระสิขี พระโกนาคมนะเสด็จออกโดยกองช้าง พระเวสสภูเสด็จออกโดยวอ พระกัสสปเสด็จออกโดยทางอากาศ พระศักยมุนีเสด็จออกโดยหลังม้า นี้คือความต่างกันแห่งการออกบรรพชา.
               พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรเจ็ดวันบ้าง กึ่งเดือนบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง สี่เดือนบ้าง ห้าเดือนบ้าง หกเดือนบ้าง หนึ่งปีบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง หกปีบ้าง นี้คือความต่างกันแห่งความเพียร.
               ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิใบบ้าง ต้นไทรเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง นี้คือความต่างกันแห่งที่ตรัสรู้.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายประกอบด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง พระรัศมี ๘๐ วาและพระรัศมีไม่มีกำหนด ในพระรัศมีเหล่านั้น พระรัศมีวาหนึ่งและ ๘๐ วาเหมือนกันทุกพระองค์ แต่พระรัศมีไม่มีกำหนดแผ่ไปไกลบ้างใกล้บ้างคาวุตหนึ่ง สองคาวุต โยชน์หนึ่ง หลายโยชน์ และสุดจักรวาลบ้าง. พระรัศมีของพระพุทธมงคลแผ่ไปถึงหมื่นจักรวาล. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระรัศมีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมแผ่ไปตามพระประสงค์ เพราะเกี่ยวกับใจคิด นี้คือความต่างกันแห่งพระรัศมี.
               เว้นความต่างกัน ๘ อย่างเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความต่างกันในคุณที่ควรบรรลุถึงการตรัสรู้ที่เหลือหรือในโทษที่ควรละ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมา คือเป็นผู้เสมอกัน. พระตถาคตเป็นผู้เสมอด้วยพระพุทธเจ้าเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า วิสเมหิ ทูเร ห่างไกลจากผู้ไม่เสมอทั้งหลาย คือห่างไกลจากสรรพสัตว์ที่เหลือ มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้นผู้ไม่เสมอ.
               จริงอยู่ แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งขัดสมาธิบำเพ็ญตลอดชมพูทวีปก็ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวด้วยคุณทั้งหลาย จะกล่าวไปทำไมถึงพวกสาวกเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิสเมหิ ทูเร ดังนี้.
               พึงประกอบบทว่า ทูเร ด้วยบททั้งสองว่า ตถาคโต โหติ.
               บทว่า อนนฺตปญฺโญ คือ มีปัญญากำหนดไม่ได้.
               จริงอยู่ ไม่ควรกล่าวเปรียบปัญญาของพระอริยะที่ ๘ ยิ่งกว่าปัญญาของมนุษย์ชาวโลก กล่าวเปรียบปัญญาของพระโสดาบันยิ่งกว่าปัญญาของพระอริยะที่ ๘ กล่าวเปรียบปัญญาของพระปัจเจกพุทธเจ้ายิ่งกว่าปัญญาของพระอรหันต์ กล่าวเปรียบปัญญาของพระตถาคตยิ่งกว่าปัญญาของพระปัจเจกพุทธเจ้า. แต่ควรกล่าวว่า อนนฺตา คือ ไม่มีที่สุด.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนนฺตปญฺโญ พระตถาคตเป็นผู้มีปัญญาไม่มีที่สุด.
               บทว่า อนุปลิตฺโต ได้แก่ ผู้อันเครื่องฉาบทา คือตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว.
               บทว่า อิธ วา หุรํ วา คือ ในโลกนี้หรือโลกอื่น.
               แต่ในบทนี้โยชนาแก้ไว้ว่า พระตถาคตเป็นผู้เสมอด้วยผู้เสมอ อยู่ห่างไกลจากผู้ไม่เสมอ เพราะเหตุไร เพราะพระตถาคตเป็นผู้มีปัญญาไม่มีที่สุด เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาในโลกนี้หรือโลกอื่น ฉะนั้น พระตถาคตจึงย่อมควรเครื่องบูชา.
               บทว่า ยมฺหิ น มายา พระตถาคตไม่มีมายา.
               ก็คาถานี้และคาถาอื่น พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้เช่นนี้เพื่อละความสำคัญในพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยความพินาศมีมายาเป็นต้นว่าเป็นทักขิไณยบุคคล.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อมโม ได้แก่ ละความยึดถือในสัตว์และสังขารทั้งหลายว่า นี้เป็นของเรา. บทว่า นิเวสนํ ได้แก่ ที่อยู่อาศัยคือตัณหาและทิฏฐิ. ด้วยบทนั้น ใจย่อมอยู่อาศัยในภพ ๓ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ละตัณหาทิฏฐิที่อยู่ประจำใจได้แล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ยังอยู่อาศัยในตัณหาและทิฏฐินั้น เพราะไม่สามารถจะละไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นิเวสนํ คือ อยู่อาศัย.
               บทว่า ปริคฺคหา ได้แก่ ตัณหาและทิฏฐินั่นเอง เพราะตัณหาและทิฏฐิเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ตนยึดถือไว้. บทว่า เกจิ คือ มีประมาณน้อย. บทว่า อนุปาทิยมาโน ได้แก่ ไม่ถือมั่นสิ่งไรๆ เพราะไม่มีตัณหาและทิฏฐิเป็นที่อยู่อาศัย. คือตั้งมั่นด้วยมรรคสมาธิ.
               บทว่า อุทตารี คือ ข้ามได้แล้ว. บทว่า ธมฺมมญฺญาสิ คือ ได้รู้ธรรมที่ควรรู้ทั้งหมด. บทว่า ปรมาย ทิฏฐิยา คือ ด้วยสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า ภวาสวา ได้แก่ ภวตัณหาคือราคะสหรคตด้วยความใคร่ในฌานและสัสสตทิฏฐิ. บทว่า วจี ได้แก่ วาจา. บทว่า ขรา ได้แก่ วาจากระด้างหยาบคาย. บทว่า วิธูปิตา คือ เผาเสียแล้ว. บทว่า อตฺถคตา คือ ตั้งอยู่ไม่ได้. บทว่า น สนฺติ ไม่มีอยู่ คือเพราะกำจัดเสียแล้ว เพราะตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว. พึงประกอบทั้งสองบทด้วยบททั้งสอง.
               บทว่า สพฺพธิ คือ ในขันธ์และอายตนะทั้งปวง. บทว่า มานสตฺเตสุ ได้แก่ ในเหล่าสัตว์ผู้มีมานะ. บทว่า ทุกฺขํ ปริญฺญาย ได้แก่ กำหนดรู้ทุกข์ในวัฏฏะด้วยปริญญา ๓. บทว่า สเขตฺวตฺถุํ พร้อมทั้งไร่นาและที่ดิน คือพร้อมด้วยเหตุและปัจจัย. ท่านอธิบายว่า พร้อมด้วยกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า วาสํ อนิสฺสาย คือ ไม่ติดตัณหา. บทว่า วิเวกทสฺสี คือ เห็นพระนิพพาน. บทว่า ปรเวทิยํ คือ จะพึงให้ผู้อื่นรู้. บทว่า ทิฏฺฐิมุปาติวตฺโต ได้แก่ ก้าวล่วงมิจฉาทิฏฐิอันมีประเภท ๖๒. บทว่า อารมฺมณา ได้แก่ ปัจจัย. อธิบายว่า เหตุที่ทำให้เกิดภพใหม่. บทว่า ปโรปรา ได้แก่ ธรรมอื่นๆ ดีๆ หรือธรรมทั้งที่เป็นภายในและภายนอก. บทว่า สเมจฺจ ได้แก่ ตรัสรู้แล้วด้วยญาณ. บทว่า ธมฺมา ได้แก่ ธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น.
               บทว่า อุปาทานกฺขเย วิมุตฺโต น้อมไปในความสิ้นสูญอุปาทาน คือน้อมไปในนิพพาน โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์. อธิบายว่า มีปรกติได้การน้อมไปในอารมณ์คือนิพพาน. บทว่า สํโยชนชาติขยนฺตทสฺสี ได้แก่ เห็นที่สุดความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ และเห็นที่สุดความสิ้นไปแห่งชาติ.
               อนึ่ง ในบทนี้ ท่านกล่าวสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ด้วยที่สุดความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ อนุปาทิเสสนิพพาน ด้วยที่สุดความสิ้นไปแห่งชาติ.
               บทว่า ขยนฺโต นี้ เป็นชื่อของการละได้เด็ดขาดอันเป็นความสิ้นไปโดยส่วนเดียว.
               อนึ่ง ในบทนี้ท่านไม่ลบนิคคหิต ดุจในบทมีอาทิว่า วิเวกชมฺปีติสุขํ ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก.
               บทว่า โย ปานุทิ คือ พระตถาคตทรงบรรเทาได้แล้ว.
               บทว่า ราคปถํ ได้แก่ มีราคะเป็นอารมณ์ หรือราคะเท่านั้น. จริงอยู่ แม้ราคะท่านก็เรียกว่า ราคปโถ ทางแห่งราคะ เพราะเป็นทางแห่งทุคติดุจกรรมบถ.
               บทว่า สุทฺโธ นิทฺโทโส วิมโล อกาโม เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน ไม่มีความใคร่. ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์. ชื่อว่าไม่มีโทษ เพราะไม่มีโทษที่ท่านกล่าวว่าหมู่สัตว์นี้มีราคะโทสะโมหะเป็นโทษ. ชื่อว่าปราศจากมลทิน เพราะไม่มีมลทินเข้าไปกล้ำกราย. ชื่อว่าไม่มีความใคร่ เพราะไม่มีอุปกิเลส.
               จริงอยู่ ผู้ที่ถูกอุปกิเลสเข้าไปทำให้ขุ่นมัว ท่านเรียกว่า สกาโม มีความใคร่. คนไม่ทำบาป เพราะเป็นผู้ปราศจากมลทิน ชื่อว่าไม่มีความใคร่. จริงอยู่ การทำบาปท่านเรียกว่า กาโม เพราะทำความเคียดแค้น.
               บทว่า อตฺตนา อตฺตานํ นานุปสฺสติ ไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน.
               ความว่า พระตถาคตทรงเห็นแจ้งด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณไม่ทรงพิจารณาเห็นสิ่งอื่นที่ชื่อว่าตนในขันธ์ทั้งหลายของตน พิจารณาเห็นเพียงขันธ์เท่านั้น ไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน เพราะไม่มีทิฏฐิเกิดขึ้นโดยความเป็นของจริงแท้แก่พระตถาคตนั้นว่า เรารู้ชัดตนโดยความเป็นตนทีเดียว ย่อมพิจารณาเห็นขันธ์ทั้งหลายด้วยปัญญาโดยถ่องแท้. พระตถาคตมีจิตตั้งมั่นด้วยมรรคสมาธิ ทรงปฏิบัติตรงเพราะไม่มีความคดทางกายเป็นต้น ทรงดำรงตนมั่น เพราะไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งหลาย ไม่มีความอยากไม่มีกิเลสดุจไม้อ้อ ไม่มีความสงสัย เพราะไม่มีความอยากอันได้แก่ตัณหา ไม่มีกิเลสดุจไม้อ้อทางจิต ๕ และเพราะไม่มีความสงสัยในสิ่งอันไม่ใช่ฐานะ ๘ อย่าง.
               บทว่า โมหนฺตรา ได้แก่ มีโมหะเป็นเหตุเป็นปัจจัย.
               บทนี้เป็นชื่อของกิเลสทุกชนิด.
               บทว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ ญาณทสฺสี เห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง.
               ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ ทรงเห็นญาณในธรรมทั้งปวง ทรงทำให้แจ้งว่า เราบรรลุแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สพฺเพสุ ธมฺเมสุ จ ญาณทสฺสี ดังนี้.
               บทว่า สมฺโพธึ ได้แก่ พระอรหัต. บทว่า อนุตฺตรํ ยอดเยี่ยม คือ สัมโพธิญาณไม่ทั่วไปด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย. บทว่า สิวํ ได้แก่ เกษม ไม่มีอันตราย หรือมีสิริ. บทว่า ยกฺขสฺส ได้แก่ บุรุษ.
               บทว่า สุทธิ ได้แก่ ความผ่องแผ้ว. ก็ในบทว่า สุทฺธิ นี้ ได้แก่ ไม่มีโทษทุกชนิด เพราะไม่มีโมหะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ด้วยบทว่า สุทฺธิ นั้น พระตถาคตตัดเหตุได้เด็ดขาด ทรงสรีระไว้ในชาติสุดท้าย มีคุณธรรมทั้งปวงเพราะเห็นได้ด้วยญาณ ด้วยบทนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนุตฺตรํ สมฺโพธึ พระตถาคตบรรลุสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยม ต่อจากนั้นจะไม่มีสิ่งควรละหรือสิ่งควรบรรลุ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เอตฺตาวตา ยกฺขสฺส สุทฺธิ ความบริสุทธิ์ของบุรุษย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่านี้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์เมื่อจะทำอาการเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจึงทูลว่า หุตญฺจ มยฺหํ ก็การบูชาของข้าพระองค์ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีความว่า พราหมณ์ทูลขอร้องว่า เมื่อก่อนนี้ข้าพระองค์นึกถึงพราหมณ์บูชาด้วยไฟ การบูชาของข้าพระองค์นั้นจะเป็นการบูชาจริงหรือเป็นการบูชาหลอกลวงข้าพระองค์ไม่รู้ แต่วันนี้การบูชาของข้าพระองค์เป็นการบูชาจริง เพราะข้าพระองค์ยืนอยู่ ณ ที่นี้ ได้บุคคลผู้ถึงเวทเป็นผู้เจริญเช่นนั้น เมื่อจะน้อมเครื่องบูชาที่เหลือเข้าไปถวาย จึงทูลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพรหมผู้เห็นเองแท้ ขอได้โปรดทรงรับ ครั้นรับแล้ว โปรดบริโภคเครื่องบูชาของข้าพระองค์เถิด.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสองคาถาโดยนัยที่กล่าวแล้วในกสิภารทวาชสูตร.
               แต่นั้น พราหมณ์ไม่เข้าใจความแห่งคาถาอย่างนี้ว่า พระตถาคตนี้ไม่ปรารถนาด้วยตนเอง ยังกล่าวหมายถึงผู้อื่นว่าท่านจงบำรุงพระขีณาสพผู้บริบูรณ์ด้วยคุณทั้งปวง ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ผู้สงบความคะนองแล้ว ด้วยข้าวน้ำเถิด ประสงค์จะรู้ความนั้นจึงทูลว่า สาธาหํ ภควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอประทานวโรกาส.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สาธุ เป็นนิบาตลงในอรรถว่า วิงวอน. บทว่า ตถา คือ โดยประการที่พระองค์ตรัส. บทว่า วิชญฺญํ แปลว่า พึงรู้. บทว่า ยํ ได้แก่ แสวงหาผู้เป็นทักขิไณยบุคคลในกาลแห่งยัญ. บทว่า ปปฺปุยฺย แปลว่า ถึงแล้ว. บทว่า ตว สาสนํ ได้แก่ โอวาทของท่าน.
               ท่านอธิบายไว้ว่า พราหมณ์ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ถึงคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว พึงรู้แจ่มแจ้งอย่างที่พระองค์บอกแก่ข้าพระองค์ ขอพระองค์จงทรงแสดงทักขิไณยบุคคลผู้พึงบริโภคทักษิณาของบุคคลเช่นข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์จะพึงแสวงหาบำรุงอยู่ในกาลแห่งยัญแก่ข้าพระองค์เถิด หากพระองค์จะไม่บริโภค.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงทักขิไณยบุคคลเห็นปานนั้นแก่พราหมณ์ตามนัยที่ปรากฏแล้ว จึงตรัสสองคาถาว่า สารมฺภา ยสฺส นอบน้อมผู้ปราศจากความแข่งดี ดังนี้เป็นต้น
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สีมา ในบทว่า สีมนฺตานํ วิเนตารํ ได้แก่ มารยาทอันเป็นความประพฤติของคนดี กิเลสทั้งหลายท่านกล่าวว่า สีมนฺตา เพราะมีส่วนอันเป็นที่สุดของมารยาทนั้น. อธิบายว่า นำกิเลสนั้นออกเสียได้.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า บทว่า สีมนฺตา คือ เสกขบุคคลและปุถุชนที่เป็นพุทธเวไนย นำกิเลสเหล่านั้นออกเสียได้ดังนี้บ้าง.
               บทว่า ชาติมรณโกวิทํ ผู้ฉลาดในชาติและมรณะ คือฉลาดในชาติและมรณะนี้ว่า ชาติเป็นอย่างนี้ มรณะเป็นอย่างนี้.
               บทว่า โมเนยฺยสมฺปนฺนํ ได้แก่ สมบูรณ์ด้วยปัญญา หรือสมบูรณ์ด้วยความฉลาดทางกายเป็นต้น.
               บทว่า ภกุฏึ วินยิตฺวาน พึงกำจัดความสยิ้วหน้า คนปัญญาทรามบางคนเห็นยาจกแล้วทำหน้าสยิ้ว พึงกำจัดความสยิ้วหน้านั้นเสีย. อธิบายว่า เป็นผู้มีหน้าผ่องใส.
               บทว่า ปญฺชลิกา คือ เป็นผู้ประคองอัญชลี.
               ลำดับนั้น พราหมณ์เมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลว่า พุทฺโธ ภวํ พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อายาโค คือ ผู้ควรบูชา. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอายาโค เพราะมาจากที่นั้นๆ แล้วควรบูชาบ้าง. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้สมควรรับไทยธรรมทั้งหลาย.
               บทที่เหลือในสูตรนี้ บทใดที่มิได้พรรณนาไว้ในคาถาต้นบทนั้น แม้ไม่พรรณนาไว้ก็สามารถจะรู้ได้ เพราะมีความง่ายอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่พรรณนา.
               ส่วนบทต่อจากนี้มีนัยดังได้กล่าวแล้วในกสิภารทวาชสูตรนั่นแล.

               จบอรรถกถาปูรฬาสสูตรที่ ๔               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค สุนทริกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 356อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 358อ่านอรรถกถา 25 / 361อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=8535&Z=8678
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5007
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5007
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :