ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 361อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 364อ่านอรรถกถา 25 / 373อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค
สภิยสูตร

               อรรถกถาสภิยสูตรที่ ๖               
               สภิยสูตรมีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               การเกิดขึ้นนี้กล่าวไว้แล้วในนิทานของสูตรนั้น.
               อนึ่ง สูตรนี้แม้ในลำดับแห่งการพรรณนาความก็พึงทราบว่าเช่นกับสูตรก่อน มีนัยดังได้กล่าวไว้แล้วในสูตรก่อนนั่นแล. แต่บทใดยังไม่ได้กล่าวไว้ เราจักเรียบเรียงบทที่กล่าวไว้ไม่ชัดเจน พรรณนาบทนั้น.
               บทว่า เวฬฺวนํ ในบทว่า เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป เป็นชื่อของสวนนั้น.
               ได้ยินว่า สวนนั้นได้ล้อมไว้ด้วยไม้ไผ่ ทั้งมีสีเขียวน่ารื่นรมย์ ประกอบด้วยซุ้มประตูและป้อมตามกำแพง ๑๘ ศอก ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า เวฬุวัน. ที่สวนนั้น ชนทั้งหลายได้ให้เหยื่อแก่กระแต ด้วยเหตุนั้นจึงเรียกว่า กลันทกนิวาปะ. กระแตทั้งหลายท่านเรียกว่า กลันทกะ.
               มีเรื่องเล่าว่า ครั้งก่อนพระราชาองค์หนึ่งเสด็จมาประพาสพระอุทยาน ณ ที่นั้น ทรงเมาด้วยฤทธิ์สุราบรรทมหลับในตอนกลางวัน. พวกบริวารของพระองค์รู้ว่าพระราชาบรรทมหลับ จึงเลี่ยงไปเก็บดอกไม้และผลไม้จากข้างโน้นข้างนี้.
               ลำดับนั้น งูเห่าได้กลิ่นสุราจึงเลื้อยออกจากโพรงไม้ต้นหนึ่ง เลื้อยไปทางพระราชา. รุกขเทวดาเห็นดังนั้นจึงคิดว่าเราจักให้ชีวิตพระราชา จึงแปลงเป็นกระแตกระซิบที่พระกรรณ. พระราชาทรงตื่นบรรทม งูเห่าเลื้อยกลับ พระราชาทอดพระเนตรเห็นกระแตนั้น ทรงดำริว่ากระแตนี้ให้ชีวิตเรา จึงทรงให้จัดหาเหยื่อไว้ให้กระแตที่พระราชอุทยานนั้น และให้ประกาศพระราชอุทยานนั้นเป็นเขตให้อภัยแก่กระแต เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นั้นมาพระราชอุทยานนั้นจึงชื่อว่า กลันทกนิวาปสถาน สถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต.
               คำว่า สภิยะ ในบทว่า สภิยสฺส ปริพฺพาชกสฺส เป็นชื่อของปริพาชกนั้น.
               บทว่า ปริพฺพาชโก ท่านกล่าวหมายถึงนักบวชภายนอก.
               บทว่า โปราณสาโลหิตาย เทวตาย เทวดาผู้เป็นสาโลหิตเก่า คือ ไม่ใช่มารดา ไม่ใช่บิดา แต่เป็นดุจมารดาและบิดา เทพบุตรนั้นท่านกล่าวว่าเป็นเทวดาผู้เป็นสาโลหิตเก่า เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยเกื้อกูล.
               มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะปรินิพพานแล้ว ได้ประดิษฐานสุวรรณเจดีย์ขึ้นแล้ว. กุลบุตร ๓ คนบวชในสำนักของสาวกซึ่งยังอยู่กันพร้อมหน้า เรียนกรรมฐานอันสมควรแก่ความประพฤติไปสู่ชนบทชายแดน บำเพ็ญสมณธรรมในราวป่า เข้าเมืองเป็นครั้งคราวเพื่อไหว้พระเจดีย์และเพื่อฟังธรรม.
               ครั้นต่อมา ภิกษุเหล่านั้นไม่ชอบออกไปจากป่า จึงไม่ประมาท อยู่ในป่านั้นเอง. แม้อยู่อย่างนี้ก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งได้.
               ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงคิดกันว่า เราออกไปบิณฑบาตแล้วๆ เล่าๆ ชื่อว่าเป็นผู้มุ่งหวังในชีวิต อันผู้มุ่งหวังในชีวิตไม่สามารถจะบรรลุโลกุตรธรรมได้ การตายเมื่อยังเป็นปุถุชนเป็นทุกข์ เอาเถิด เราจะพาดบันไดขึ้นสู่ภูเขาไม่มุ่งหวังในร่างกายและชีวิต บำเพ็ญสมณธรรมดังนี้.
               ภิกษุเหล่านั้นได้ทำอย่างนั้นแล้ว.
               ครั้งนั้น บรรดาภิกษุเหล่านั้น พระมหาเถระเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในทันทีนั้นเอง พระมหาเถระจึงไปสู่หิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เที่ยวไปบิณฑบาตในอุตรกุรุ ฉันอาหารเสร็จแล้วได้ไปยังที่อื่นต่อไป ได้ภัตตาหารเต็มบาตรแล้ว เอาน้ำที่สระอโนดาต และแปรงสีฟันชื่ออนาคลดามาหาภิกษุเหล่านั้น กล่าวว่า อาวุโสทั้งหลาย ท่านจงดูอานุภาพยิ่งใหญ่ บิณฑบาตนี้นำมาจากแคว้นอุตรกุรุ น้ำและแปรงสีฟันนี้นำมาจากหิมวันตประเทศ ท่านทั้งหลายจงฉันภัตตาหารนี้บำเพ็ญสมณธรรมเถิด ผมจะอุปัฏฐากพวกท่านอย่างนี้ตลอดไป.
               ภิกษุเหล่านั้นได้ฟังแล้วจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พระคุณเจ้าทำกิจเสร็จแล้ว พวกกระผมแม้เพียงสนทนากับพระคุณเจ้าก็เสียเวลาอยู่แล้ว บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าอย่ามาหาพวกกระผมอีกเลย. พระมหาเถระนั้น เมื่อไม่สามารถจะให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอมได้โดยวิธีไรๆ ก็หลีกไป.
               แต่นั้นบรรดาภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่ง โดยล่วงไป ๒-๓ วันได้เป็นพระอนาคามีได้อภิญญา ๕. ภิกษุนั้นก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน ครั้นถูกภิกษุอีกรูปหนึ่งห้ามก็กลับไปเช่นเดียวกัน. ภิกษุนั้นพยายามห้ามอยู่อย่างนั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ จากวันที่ขึ้นไปสู่ภูเขาก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษไรๆ ครั้นมรณภาพแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก. ฝ่ายพระเถระผู้เป็นขีณาสพก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง. ท่านที่เป็นพระอนาคามีได้บังเกิดในสุทธาวาส. เทพบุตรเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นกลับไปกลับมา
               ครั้นถึงศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราได้จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในครรภ์ของปริพาชิกาผู้หนึ่ง นัยว่า ปริพาชิกาผู้นั้นเป็นราชธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง. พระชนกชนนีได้ทรงมอบราชธิดานั้นแก่ปริพาชกผู้หนึ่ง ด้วยตั้งพระทัยว่าธิดาของเราจงรู้เรื่องลัทธิเถิด. ปริพาชกผู้เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของปริพาชกนั้น ประพฤติเมถุนกรรมกับราชธิดานั้น.
               พระนางได้ตั้งครรภ์ ปริพาชิกาทั้งหลายเห็นราชธิดานั้นมีครรภ์จึงพากันไล่ออกไป. พระนางเสด็จไปในที่แห่งหนึ่ง ทรงคลอดที่หอประชุมในระหว่างทาง. ด้วยเหตุนั้น กุมารนั้นจึงมีชื่อว่า สภิยะ เกิดที่หอประชุม.
               สภิยะนั้นครั้นเติบโตแล้วก็บวชเป็นปริพาชก เล่าเรียนศาสตร์ต่างๆ เป็นผู้มีวาทะมาก เที่ยวไปตลอดชมพูทวีป เพื่อโต้วาทะ ไม่เห็นนักพูดเช่นกับตนจึงให้สร้างอาศรมไว้ที่ประตูพระนคร สั่งสอนศิลปะแก่ขัตติยกุมารเป็นต้น อาศัยอยู่ ณ ที่นั้น.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเผยแผ่พระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหารกลันทกนิวาปสถาน. แต่สภิยปริพาชกไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว.
               ลำดับนั้น สุทธาวาสพรหม ครั้นออกจากสมาบัติแล้วรำพึงว่า เราได้บรรลุคุณวิเศษนี้ ด้วยอานุภาพของใคร รำลึกถึงผู้ร่วมบำเพ็ญสมณธรรมและสหายเหล่านั้น ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสปะ บรรดาสหายเหล่านั้นรูปหนึ่งปรินิพพานแล้ว รำพึงต่อไปว่า บัดนี้อีกรูปหนึ่งอยู่ที่ไหน ครั้นรู้แล้วว่า ภิกษุรูปนั้นจุติจากเทวโลกแล้วไปเกิดในชมพูทวีป และไม่รู้ว่าแม้พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว จึงคิดว่า เอาเถิดเราจะชักชวนเขาเพื่อเข้าถึงพระพุทธเจ้า จึงแต่งปัญหา ๒๐ ข้อตอนกลางคืน ได้มายังอาศรมของสภิยปริพาชกนั้นยืนอยู่บนอากาศ ร้องเรียกว่าสภิยะ ดังนี้.
               สภิยปริพาชกกำลังหลับได้ยินเสียงร้องเรียกอยู่ ๓ ครั้งจึงออกไป เห็นแสงสว่างจึงยืนประนมมือ. ลำดับนั้น พรหมได้กล่าวกะสภิยปริพาชกนั้นว่า ดูก่อนสภิยะ เรานำปัญหา ๒๐ ข้อมาเพื่อท่าน ท่านจงเรียนปัญหาเหล่านั้น สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดถูกท่านถามปัญหานี้แล้วพยากรณ์ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของผู้นั้นเถิด.
               บทว่า ปุราณสาโลหิตาย เทวตาย ปญฺหา อุทฺทิฏฺฐา โหนฺติ เทวดาผู้เป็นสาโลหิตเก่าได้แสดงปัญหานี้ ท่านกล่าวหมายถึงเทพบุตรนี้.
               บทว่า อุทฺทิฏฺฐา ท่านกล่าวเพียงหัวข้อแสดงเท่านั้นมิได้กล่าวโดยจำแนก.
               เมื่อพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว สภิยะได้เรียนปัญหาเหล่านั้นตามลำดับบท ด้วยการกล่าวครั้งเดียวเท่านั้น. ครั้งนั้น พรหมแม้รู้อยู่ก็ยังไม่บอกว่า พระพุทธเจ้าเกิดแล้วแก่สภิยะนั้น.
               พรหมกล่าวอย่างนี้ว่า โย เต สภิย ฯเปฯ จเรยฺยาสิ ดูก่อนสภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้วพยากรณ์ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของผู้นั้นเถิด ด้วยความประสงค์นี้ว่า สภิยปริพาชกเมื่อแสวงหาประโยชน์ จักรู้จักพระศาสดาด้วยตนเอง และความที่ภายนอกศาสนานี้ว่างจากสมณพราหมณ์ดังนี้.
               แต่เกจิอาจารย์กล่าวพรรณนาเรื่องราวของพระสภิยเถระไว้ในเถรคาถาในจตุกกนิบาต๑- ว่า มารดาของท่านสภิยเถระนั้นคิดถึงการปฏิบัติผิดของตน จึงรังเกียจการปฏิบัติผิดนั้น ยังฌานให้เกิดแล้วไปบังเกิดในพรหมโลก มารดาผู้เป็นเทพชั้นพรหมได้แสดงปัญหาเหล่านั้นดังนี้.
____________________________
๑- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๒๕

               บทว่า เย เต เป็นบทยกขึ้นแสดงถึงบุคคลที่ควรกล่าวถึงในบัดนี้.
               บทว่า สมณพฺราหฺมณา ได้แก่ ผู้เป็นสมณะและพราหมณ์ด้วยการเข้าไปบรรพชาและด้วยโลกสมมติ.
               บทว่า สงฺฆิโน คือ เป็นเจ้าหมู่.
               บทว่า คณิโน เป็นเจ้าคณะ คือผู้ปฏิญญาอย่างนี้ว่า เราเป็นศาสดา เป็นสัพพัญญู.
               บทว่า คณาจริยา เป็นคณาจารย์ คือเป็นอาจารย์ของคณะบรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วยการเรียนการถามเป็นต้น.
               บทว่า ญาตา มีชื่อเสียง คือรู้จักกันมาก. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้ปรากฏ.
               บทว่า ยสสฺสิโน มีเกียรติยศ คือสมบูรณ์ด้วยลาภและบริวาร.
               บทว่า ติตฺถกรา เป็นเจ้าลัทธิ คือเป็นเจ้าทิฏฐิอันผู้ถึงทิฏฐานุคติคล้อยตาม.
               บทว่า สาธุสมฺมตา พหุชนสฺส ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือชนส่วนมากยกย่องว่าท่านเหล่านี้เป็นคนดี คือเป็นสัตบุรุษ.
               บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาตลงในความนี้ว่า หากมีคำว่า ท่านเหล่านั้น คือใคร.
               คำว่า ปูรโณ เป็นชื่อ. คำว่า กสฺสโป เป็นโคตร. นัยว่าปูรณกัสสปนั้น โดยชาติเป็นทาสคือเป็นทาสมา ๙๙ ชาติ เกิดแล้วยังความเป็นทาส ๙๙ ชาติ ให้เต็ม (๑๐๐) เพราะเหตุนั้นเขาจึงได้ชื่อว่า ปูรณะ แต่หนีไปบวชในสำนักชีเปลือย แสดงโคตรว่า เราเป็นกัสสปโคตรและได้ประกาศความเป็นสัพพัญญู.
               บทว่า มกฺขลิ เป็นชื่อ. เรียกว่าโคสาละบ้าง เพราะเกิดในโรงโค. นัยว่า มักขลิโคศาลนั้นโดยชาติเป็นทาสเหมือนกัน หนีไปบวชและได้ประกาศความเป็นสัพพัญญู.
               บทว่า อชิโต เป็นชื่อ. เพราะเป็นผู้มีความมักน้อยจึงนุ่งห่มผ้าเกสกัมพล (ผ้าทำด้วยผมคน) เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกกันว่า เกสกัมพล. อชิตะนั้นก็ประกาศความเป็นสัพพัญญู.
               บทว่า ปกุโธ เป็นชื่อ. บทว่า กจฺจายโน เป็นโคตร. ด้วยความเป็นผู้มักน้อย และด้วยสำคัญว่าในน้ำมีสัตว์มีชีวิต จึงไม่อาบน้ำไม่ล้างหน้าเป็นต้น. ปกุธะนั้นก็ประกาศความเป็นสัพพัญญู.
               บทว่า สญฺชโย เป็นชื่อ. บิดาของเขาชื่อเวลัฏฐะ. เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า เวลัฏฐบุตร. สัญชัยนั้นก็ประกาศความเป็นสัพพัญญู.
               บทว่า นิคฺคณฺโฐ ได้แก่ เรียกชื่อเมื่อบวช. บทว่า นาฏปุตฺโต เรียกชื่อบิดา. นัยว่า บิดาของเขาชื่อนาฏะ. ชื่อว่า นาฏบุตร เพราะเป็นบุตรของนาฏะ. นาฏบุตรนั้นก็ประกาศความเป็นสัพพัญญู. ทั้งหมดนั้นมีศิษย์เป็นบริวารคนละ ๕๐๐.
               บทว่า เต ได้แก่ ศาสดาทั้ง ๖. บทว่า เต ปญฺเห ได้แก่ ปัญหา ๒๐ ข้อเหล่านั้น. บทว่า เนว สมฺปายนฺติ คือ แก้ไม่ได้.
               บทว่า โกปํ โกรธ คือความที่จิตและเจตสิกขุ่นมัว. บทว่า โทสํ ความเคือง คือความเป็นผู้มีจิตประทุษร้าย. แม้ทั้งสองบทนั้นก็เป็นชื่อของความโกรธทั้งอย่างอ่อนและรุนแรง.
               บทว่า อปฺปจฺจยํ ได้แก่ ความไม่พอใจ. ท่านกล่าวว่า ได้แก่ความเสียใจ.
               บทว่า ปาตุกโรนฺติ คือ แสดงกายวิการและวจีวิการให้ปรากฏ.
               บทว่า หีนาย เพื่อความเป็นคนเลว คือความเป็นคฤหัสถ์. จริงอยู่ คฤหัสถ์ท่านกล่าวว่าเลว เพราะเทียบกับบรรพชาแล้วเลวจากคุณมีศีลเป็นต้นหรือเพราะเสพกามสุขอันเลว. บรรพชาเป็นของสูง.
               บทว่า อาวตฺติตฺวา เวียนมา คือถอยหลัง. บทว่า กาเม ปริภุญฺเชยฺยํ ได้แก่ เสพกาม.
               ได้ยินว่า สภิยะนั้นได้เห็นพวกนักบวชแม้ปฏิญญาความเป็นสัพพัญญูก็เหลวเปล่าทั้งนั้น. ครั้งนั้นแล สภิยปริพาชกผู้มาด้วยความปริวิตกที่เกิดขึ้นแล้วพิจารณาอยู่บ่อยๆ ได้มีความดำริว่า พระสมณโคดมนี้แลว่า สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น และไม่ควรดูหมิ่นสมณะว่ายังเป็นหนุ่มดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ชิณฺณา เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. บทว่า เถรา ได้แก่ ผู้ถึงความมั่นคงในสมณธรรมของตน. บทว่า รตฺตญฺญู รู้ราตรีนาน คือรู้รัตนะ หรือรู้ราตรีมากที่โลกสมมติด้วยปฏิญญาของตนอย่างนี้ ว่า เรารู้รัตนะคือนิพพาน. ชื่อว่า จิรปพฺพชิตา เพราะบวชมานาน.
               บทว่า น อุญฺญาตพฺโพ คือ ไม่ควรดูหมิ่น. ท่านอธิบายว่า ไม่ควรดูหมิ่นว่าเป็นคนชั้นต่ำ.
               บทว่า น ปริโภตพฺโพ คือ ไม่ควรดูแคลน. ท่านอธิบายว่า ไม่ควรถืออย่างนี้ว่าท่านผู้นี้จักรู้อะไร.
               บทว่า กงฺขี เวจิกิจฺฉี มีความสงสัย มีความเคลือบแคลง. ความว่า สภิยปริพาชกชื่นชมอยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้า สรรเสริญความเป็นสัพพัญญู อันสมบูรณ์ด้วยพระรูป มีความสงบและสะอาดของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ เป็นผู้ปราศจากความฟุ้งซ่าน จึงกล่าวว่า กงฺขี เวจิกิจฺฉี ดังนี้.
               ในสองบทนั้น ชื่อว่า กฺงขี เพราะสงสัยในการพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราจะพึงได้การพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้หรือหนอ. ชื่อว่า เวจิกิจฺฉี เพราะเคลือบแคลงอย่างนี้ว่า ความของปัญหานี้ๆ จะเป็นอย่างไรหนอ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กงฺขี เพราะสงสัยความของปัญหาเหล่านั้นด้วยความสงสัยอย่างอ่อน. ชื่อว่า เวจิกิจฺฉี เพราะค้นคว้าด้วยความสงสัยอย่างแรงกล้าก็ยังลำบากอยู่นั่นเอง คือไม่สามารถจะตกลงใจได้.
               บทว่า อภิกงฺขมาโน คือ ปรารถนาอย่างยิ่ง. บทว่า เตสนฺตกโร ได้แก่ กระทำปัญหาเหล่านั้นให้ถึงที่สุด.
               สภิยปริพาชกเมื่อจะแสดงว่า ภวนฺโตว เอวํ ภวาหิ พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว จึงทูลว่า ปญฺเห เม ปุฏฺโฐ ฯเปฯ พฺยากโรหิ เม ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ตามลำดับให้สมควรแก่ธรรมเถิด.
               บทว่า อนุปุพฺพํ คือ ตามลำดับแห่งปัญหา. บทว่า อนุธมฺมํ ได้แก่ อ้างบาลีให้เหมาะแก่ความ. บทว่า พฺยากโรหิ เม คือ ขอทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด.
               บทว่า ทูรโต แต่ไกล. นัยว่า สภิยปริพาชกนั้นท่องเที่ยวไปเมืองโน้น เมืองนี้มาแต่ทาง ๗๗ โยชน์ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ท่านมาแต่ไกล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะสภิยปริพาชกว่า ท่านมาแต่ไกล เพราะมาแต่ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ.
               บทว่า ปุจฺฉ มํ จงถามเราเถิด คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาซึ่งสัพพัญญูปวารณาแก่สภิยะด้วยคาถานี้. บทว่า มนสิจฺฉสิ ได้แก่ ปรารถนาด้วยใจ.
               บทว่า ยํ วตาหํ ตัดบทเป็น ยํ วต อหํ. บทว่า อตฺตมโน มีใจชื่นชม คือมีจิตอันปีติปราโมทย์และโสมนัสถูกต้องแล้ว. บทว่า อุทคฺโค ฟูขึ้น คือฟูขึ้นทางกายและทางจิต. แต่บทนี้ ใช่มีในปาฐะทั้งหมด.
               บัดนี้ สภิยปริพาชก เมื่อจะแสดงธรรมที่ตนชื่นชม จึงกล่าวว่า ปมุทิโต ปีติโสมนสฺสชาโต เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส.
               บทว่า กึ ปตฺตินํ คือภิกษุถึงอะไร บรรลุอะไร. คำว่า โสรตํ คือ ผู้สงบระงับด้วยดี. ปาฐะว่า สุรตํ บ้าง. อธิบายว่าเข้าไปยินดีด้วยดี. บทว่า ทนฺตํ ผู้ฝึกตนแล้ว คือทรมานตน. บทว่า พุทฺโธ คือ ผู้รู้แจ้ง หรือผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า.
               สภิยปริพาชกกระทำคาถาหนึ่งๆ ให้เป็นอย่างละสี่ๆ แล้วทูลถามปัญหา ๒๐ ข้อด้วย ๕ คาถา. แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำปัญหาหนึ่งๆ ของสภิยปริพาชก ด้วยคาถาหนึ่งๆ แล้วทรงพยากรณ์ด้วยคาถา ๒๐ คาถาด้วยยอดธรรมคือพระอรหัต.
               วินิจฉัยในคาถานั้นว่า
               เพราะภิกษุผู้ทำลายกิเลสได้แล้วเป็นภิกษุชั้นยอดและภิกษุนั้นเป็นผู้ถึงพระนิพพานแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหานี้ของสภิยปริพาชกว่า
               กึ ปตฺตินมาหุ ภิกฺขูนํ บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นภิกษุ ดังนี้
               จึงตรัสคำมีอาทิว่า ปชฺเชน ด้วยมรรค.
               บทนั้นมีความว่า
               บุคคลใดถึงปรินิพพานด้วยมรรคที่ตนอบรมแล้ว คือบรรลุถึงการดับกิเลส เพราะถึงปรินิพพาน จึงชื่อว่าเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย ละความไม่เป็นและความเป็น อันมีประเภทเป็นวิบัติสมบัติ ความเสื่อมความเจริญ ความสูญความเที่ยง บาปและบุญอยู่ด้วยมรรค เป็นผู้ควรแก่คำชมว่า ขีณปุนพฺภโว มีภพใหม่สิ้นแล้วดังนี้ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ.
               ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สงบเสงี่ยม เพราะความเป็นผู้สงบเสงี่ยมด้วยดีจากการปฏิบัติผิด และเพราะสงบจากกิเลสมีประการต่างๆ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงตรัสพยากรณ์ปัญหาที่สอง โดยนัยมีอาทิว่า สพฺพตฺถ อุเปกฺขโก วางเฉยในอารมณ์มีรูปเป็นต้นทั้งหมด.
               บทนั้นมีความว่า
               ผู้ใดวางเฉยในอารมณ์มีรูปเป็นต้นทั้งหมด ด้วยอุเบกขามีองค์ ๖ อันเป็นไปแล้วอย่างนี้ว่า เห็นรูปด้วยจักษุ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ.๒- ชื่อว่ามีสติ เพราะสติถึงความไพบูลย์ ไม่เบียดเบียนสัตว์อันมีประเภทที่มีความสะดุ้งกลัวและมั่นคงเป็นต้นไรๆ เป็นผู้ข้ามได้แล้วเพราะข้ามโอฆะในโลกทั้งปวง ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบจากบาป ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ขุ่นมัว เพราะละความดำริในความขุ่นมัวเสียได้ ชื่อว่าไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลสทุกชนิด ทั้งอย่างหยาบหรืออย่างละเอียด.
____________________________
๒- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๙๕

               ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้สงบเสงี่ยมด้วยความสงบด้วยดีจากการปฏิบัติผิด เพราะมีธรรมเป็นเครื่องอยู่คืออุเบกขา เพราะมีสติไพบูลย์และเพราะไม่เบียดเบียนและด้วยการสงบกิเลสมีประการต่างๆ มีโอฆะเป็นต้นนี้.
               ก็เพราะผู้มีอินทรีย์อบรมแล้ว ไม่มีภัย ไม่วิการ เป็นผู้ฝึกตนแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ด้วยคาถาว่า ยสฺสินทฺริยานิ ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้วดังนี้.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้
               ผู้ใดยกอินทรีย์ทั้ง ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ด้วยโคจรภาวนาแล้วถือเอากลิ่น คือสติสัมปชัญญะด้วยวาสนาภาวนา เจริญแล้วแทงตลอด คือรู้ ตรัสรู้โลกนี้และโลกอื่น อันได้แก่โลกคือขันธ์อันเป็นไปในสันดานของตน และโลกคือขันธ์อันเป็นไปในสันดานของผู้อื่นด้วยโคจรภาวนาทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวงว่า ความบกพร่องของอินทรีย์ทั้งหลายก็ดี ความเกิดจากความบกพร่องก็ดีในอารมณ์ใดๆ อบรมอินทรีย์แล้วด้วยการไม่เพ่งเป็นต้นในอารมณ์นั้นๆ ดังนี้ แล้วประสงค์จะตายช้าๆ หวังถึงกาลคือรอคอยเวลาสิ้นชีวิต ไม่กลัวต่อความตาย.
               ดังที่พระเถระกล่าวไว้ว่า
                                   มรณํ เม ภยํ นตฺถิ นิกฺกนฺติ นตฺถิ ชีวิเต๓-
                                   นาภิกงฺขามิ มรณํ นาภิกงฺขามิ ชีวิตํ
                                   กาลํ จ ปฏิกงฺขามิ นิพฺพิสํ ภตโก ยถา.๔-

                         เราไม่กลัวความตาย ความใคร่ในชีวิตไม่มี
                         เราไม่ปรารถนาความตาย เราไม่ปรารถนา
                         ชีวิต แต่เรารอความตาย เหมือนคนรับจ้าง
                         รอคอยค่าจ้าง
ฉะนั้น.
____________________________
๓- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๑๕๗
๔- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๗๗

               บทว่า ภาวิโต ส ทนฺโต คือ ผู้ที่อบรมอินทรีย์แล้ว ผู้นั้น บัณฑิตกล่าวว่าผู้ฝึกตนแล้ว.
               เพราะธรรมดาพระพุทธเจ้า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา มีกิเลสหลับและทรงรู้แจ้ง ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาข้อที่ ๔ ด้วยคาถาว่า กปฺปานิ ตลอดกัป ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กปฺปานิ ได้แก่ กัปคือตัณหาและทิฏฐิ. จริงอยู่ ตัณหาและทิฏฐิท่านเรียกว่า กัป เพราะกำหนดเอาอย่างนั้นๆ. บทว่า วิเจยฺย คือ พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. บทว่า เกวลานิ คือ ทั้งสิ้น. บทว่า สํสารํ ได้แก่ พิจารณาสงสารทั้งสิ้นอันได้แก่ลำดับขันธ์เป็นต้น อย่างนี้ว่า
                                   ขนฺธานญฺจ ปฏิปาฏิ ธาตุอายตนาน จ
                                   อพฺโพจฺฉินฺนํ วตฺตมานา สํสาโรติ ปวุจฺจติ.

                         ลำดับแห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งหลาย
                         ยังเป็นไปอยู่ ไม่ขาดสาย ท่านเรียกว่าสงสาร.

               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ท่านกล่าวถึงวิปัสสนาในวัฏฏะแม้ ๓ อย่างนี้ คือในกรรมวัฏและกิเลสวัฏอันเป็นมูลเหตุแห่งขันธ์ทั้งหลาย และในขันธ์ทั้งหลาย.
               บทว่า ตทุภยํ จุตูปปาตํ ได้แก่ พิจารณาคือรู้ทั้งจุติและอุปบัติทั้งสองนี้ของสัตว์ทั้งหลาย. ท่านกล่าวถึงจุตูปปาตญาณ ด้วยบทว่า จุตูปปาตํ นี้.
               บทว่า วิคตรชมนงฺคณํ วิสุทฺธํ ปราศจากธุลีไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ผู้หมดจด.
               ความว่า ชื่อว่าปราศจากธุลีไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ผู้หมดจด เพราะปราศจากธุลีมีราคะเป็นต้น เพราะไม่มีกิเลสเครื่องยียวน เพราะปราศจากมลทิน.
               บทว่า ปตฺตํ ชาติกฺขยํ ถึงความสิ้นไปแห่งชาติความเกิด ได้แก่บรรลุถึงพระนิพพาน.
               บทว่า ตมาหุ พุทฺธํ ผู้นั้น บัณฑิตกล่าวว่าผู้รู้.
               ความว่า ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้รู้ถึงความสิ้นชาติ เพราะถึงพร้อมด้วยความรู้ คือส่วนแห่งจุตูปปาตญาณ ด้วยโลกุตรวิปัสสนานี้ และเพราะเป็นผู้บริสุทธิ์จากความหลับคือกิเลส เพราะปราศจากกิเลสมีธุลีเป็นต้นนี้ด้วยปฏิปทานั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กปฺปานิ วิเจยฺย เกวลานิ พิจารณาตลอดกัปทั้งสิ้น.
               ความว่า พิจารณาโดยนัยเป็นต้นว่า อเนเกปิ สํวฏฺฏวิวฏฺฏกปฺเป อมุตฺราสึ๕- ความว่า ไม่พ้นสังวัฏกัปและวิกัฏกัปไม่น้อย. ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงวิชชาต้น (คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ).
____________________________
๕- วิ. มหา. เล่ม ๑/ข้อ ๓   องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๑๙๘   ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗๙

               บทว่า สํสารํ ตทุภยํ จุตูปปาตํ พิจารณาสงสารทั้งสองอย่าง.
               ความว่า พิจารณาสงสารทั้งสองอย่างนี้ คือจุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า อิเม วต โภนฺโต สตฺตา สัตว์ทั้งหลายผู้เจริญเหล่านี้หนอดังนี้. ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงวิชชาที่สอง คือจุตูปปาตญาณ
               ด้วยบทที่เหลือ ท่านกล่าวถึงวิชชาที่สาม (คืออาสวักขยญาณ) ความเป็นผู้ปราศจากธุลีเป็นต้น และการบรรลุพระนิพพานย่อมมีได้ด้วยอาสวักขยญาณ.
               บทว่า ตมาหุ พุทฺธํ ผู้นั้น เรากล่าวว่าเป็นพระพุทธเจ้า.
               ความว่า เรากล่าวผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาคือวิชชาสามอย่างนี้ว่า เป็นพระพุทธเจ้า.
               แม้ในปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาที่พราหมณ์ถามด้วยคาถาแรกอย่างนี้แล้ว จึงตรัสด้วยคาถาที่สอง เพราะผู้ที่ถึงความเป็นพรหม ความเป็นผู้ประเสริฐ เป็นพราหมณ์ชั้นยอด เป็นผู้ลอยบาปทั้งหมดได้แล้ว ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาแรกด้วยคาถาว่า พาหิตฺวา ลอยแล้ว ดังนี้.
               บทนั้นมีความว่า
               ผู้ใดลอยบาปทั้งหมดได้แล้วด้วยมรรคที่สี่ ดำรงตนมั่น อธิบายว่ามั่นคง เป็นผู้ปราศจากมลทินเพราะลอยบาปได้แล้ว ถึงความเป็นผู้ไม่มีมลทิน ความเป็นพรหม ความเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยดีด้วยอรหัตผลสมาธิ เพราะสงบมลทินคือกิเลสอันทำให้สมาธิซัดส่าย ก้าวล่วงสงสารได้แล้วด้วยการก้าวล่วงเหตุแห่งสงสาร เป็นผู้สำเร็จกิจเพราะทำกิจเสร็จแล้ว ผู้นั้นท่านกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีสิ่งอาศัย เพราะอันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว และเป็นผู้คงที่ เพราะไม่ทำให้ผิดปรกติไปด้วยโลกธรรม ด้วยประการฉะนี้ ผู้นั้นท่านกล่าวว่าเป็นพรหม เป็นพราหมณ์ ควรแก่สรรเสริญ.
               เพราะท่านกล่าวว่าเป็นสมณะ เพราะเป็นผู้ลอยบาปได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ล้างบาป เพราะล้างบาปได้แล้ว ชื่อว่าเป็นนาค เพราะไม่ทำความชั่วทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สามด้วยคาถา ๓ คาถาอื่นอีก.
               บทว่า สมิตาวี เป็นผู้สงบกิเลส คือสงบกิเลสด้วยอริยมรรคตั้งอยู่ ท่านกล่าวว่าเป็นสมณะเพราะเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นผู้เป็นอย่างนั้นจึงเรียกว่าสมณะ.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว. คำที่เหลือเป็นคำสรรเสริญ เพื่อให้สภิยปริพาชกเกิดความนับถือในสมณะนั้นให้มาก.
               จริงอยู่ ผู้ใดเป็นผู้มีความสงบ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสดุจธุลี เพราะปราศจากกิเลสดุจธุลี เพราะละบุญและบาปได้ด้วยไม่กระทำการสืบต่อบุญและบาป เป็นผู้ก้าวล่วงชาติและมรณะได้ เพราะรู้โลกนี้และโลกอื่นด้วยสามารถแห่งลักษณะมีความไม่เที่ยงเป็นต้น และเป็นผู้คงที่.
               อนึ่ง ในคาถานี้ว่า นินฺนฺหาย ฯเปฯ นฺหาตโก ผู้ใดล้างบาปได้หมดในอายตนโลกทั้งปวง คือในภายในและภายนอกแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้สมควรกับกัปคือตัณหาและทิฏฐิ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่าผู้ล้างบาป.
               พึงทราบความอย่างนี้ว่า ผู้ใดล้างคือชำระบาปทั้งหมดอันควรจะเกิดด้วยอารมณ์ภายในและภายนอกในอายตนโลกแม้ทั้งหมด กล่าวคือทั้งภายในและภายนอกด้วยมรรคญาณไม่มาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้สมควรด้วยกัปคือตัณหาและทิฏฐิ เพราะล้างบาปได้แล้วนั้น บัณฑิตกล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้ล้างบาป.
               แม้ในคาถาที่สี่ก็พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า อาคุํ น กโรติ กิญฺจิ โลเก ผู้ใดไม่กระทำบาปอะไรๆ ในโลก.
               ความว่า ผู้ใดไม่ทำบาป อันเป็นความชั่วแม้มีประมาณน้อยในโลก ท่านกล่าวผู้นั้นว่าเป็นนาค เพราะเหตุดังนั้น.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว. คำที่เหลือเป็นคำสรรเสริญโดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแหละ
               จริงอยู่ ผู้ใดไม่ทำความชั่วเพราะละความชั่วได้ด้วยมรรค ผู้นั้นสลัดออกคือละเครื่องผูกทั้งหมด อันได้แก่สังโยชน์ ๑๐ ในสังโยชน์ทั้งหมดมีกามราคะเป็นต้น ไม่ข้องอยู่ด้วยความข้องไรๆ ในขันธ์เป็นต้นทั้งปวง และหลุดพ้นได้เด็ดขาดด้วยวิมุตติทั้งสอง และเป็นผู้คงที่.
               แม้ในปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ปัญหาที่พราหมณ์ถามด้วยคาถาที่สองอย่างนี้แล้ว จึงตรัสด้วยคาถาที่สามต่อไป เพราะอายตนะทั้งหลายท่านกล่าวว่า เขตฺตานิ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า จกฺขุเปตํ จกฺขฺวายตนมุเปตํ ฯเปฯ เขตฺตมฺเปตํ วตฺถุมฺเปตํ๖- นี่ก็เป็นจักษุ นี่ก็เป็นจักขวายตนะ ฯลฯ นี่ก็เป็นเขต นี่ก็เป็นวัตถุ. ผู้ใดชนะ คือครอบงำเขตเหล่านั้น.
____________________________
๖- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๑๖

               อีกอย่างหนึ่ง พิจารณาคือกำหนดเขตทั้งสิ้น คือไม่มีเหลือโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น แต่โดยความต่างกัน เขตที่เป็นของทิพย์ เขตของมนุษย์และเขตของพรหม มีการเกี่ยวข้องกันเป็นเหตุ เขตใดเป็นของทิพย์มี ๑๒ ประเภท เขตที่เป็นของมนุษย์ก็เหมือนอย่างนั้น
               อนึ่ง เขตใดเป็นเขตของพรหมมีประเภทคืออายตนะ ๑๒ มีจักขวายนตะเป็นต้น ในอายตนะ ๖ พึงปราบปรามหรือพึงพิจารณาเขตทั้งหมดนั้น แต่นั้นเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งเขตทั้งหมด มีอวิชชา ตัณหาและภพเป็นต้นเป็นเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งเขตทั้งปวง ชื่อว่าเป็นผู้ชนะเขตทั้งปวง เพราะเขตเหล่านั้นอันตนชนะได้แล้วหรือพิจารณาแล้วอย่างนี้
               ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพยากรณ์ปัญหาแรกด้วยคาถานี้ว่า เขตฺตานิ ดังนี้.
               ในบทว่า เขตฺตานิ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กรรมทั้งหลายชื่อว่าเป็นเขต (เนื้อนา) เพราะบาลีว่า กมฺมํ เขตฺตํ วิญฺญาณํ พีชํ ตณฺหา สิเนโห.๗- กรรมเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยางเหนียว.
____________________________
๗- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๑๖

               อนึ่ง ในบทว่า ทิพฺพํ มานุสกญฺจ พฺรหฺมกฺเขตฺตํ นี้ ท่านพรรณนาไว้ว่า กรรมอันเป็นเขตของทิพย์เข้าถึงเทวโลก กรรมอันเป็นเขตของมนุษย์เข้าถึงมนุษย์ กรรมอันเป็นเขตของพรหมเข้าถึงพรหมดังนี้.
               บทที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ก็เพราะกรรมทั้งหลายท่านกล่าวโกสะ เพราะคล้ายกะเปาะฟองที่ตั้งในตน ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด เพราะตัดคือตัดขาดกะเปาะฟองเหล่านั้นได้ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สองด้วยคาถาว่า โกสานิ กะเปาะฟอง ดังนี้.
               บทนั้นมีความดังนี้
               ผู้ใดพิจารณากะเปาะฟอง (กรรม) ทั้งสิ้นอันได้แก่กุศลกรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น โดยอารมณ์และโดยกิจ ด้วยโลกิยวิปัสสนาและโลกุตรวิปัสสนา แต่โดยความต่างกันออกไป พิจารณากะเปาะฟองที่เป็นของทิพย์ และกะเปาะฟองของมนุษย์ มีต่างด้วยกามาวจรกุศลเจตนา ๘ อันเป็นเหตุเกี่ยวข้องกัน และกะเปาะฟองของพรหมอันต่างด้วยมหัตคตกุศลเจตนา ๙ แต่นั้นหลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งกะเปาะฟองทั้งหมดมีประเภทคืออวิชชาและภวตัณหาเป็นต้น ด้วยมรรคภาวนา. ท่านกล่าวว่าเป็นผู้ฉลาด เพราะกำจัดกะเปาะฟองเหล่านั้นได้ด้วยประการฉะนี้ และเป็นผู้คงที่เห็นปานนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบภพ ๓ และอายตนะ ๑๒ ว่าเป็นโกสะ เพราะเป็นเช่นกับฝักดาบ ด้วยอรรถว่าเป็นที่อยู่ของสัตว์และธรรมทั้งหลาย.
               ในบทนี้พึงประกอบด้วยคาถาด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะท่านกล่าวว่าเป็นบัณฑิตด้วยบทนี้ว่า น เกวลํ ปณฺฑติ มิใช่ฉลาดอย่างเดียว. แต่โดยที่แท้ ท่านกล่าวว่าบัณฑิต เพราะถึงคือเข้าถึงอายตนะทั้งหลาย ยึดอยู่ด้วยปัญญาเป็นเครื่องค้นคว้า ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สามด้วยคาถาว่า ทุภยานิ อายตนะทั้งสอง ดังนี้.
               บทนั้นมีความดังนี้
               ผู้ใดพิจารณาอายตนะทั้งสองอย่างนี้ คือทั้งภายในและภายนอก โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า ปณฺฑรานิ ได้แก่ อายตนะทั้งหลาย. ท่านกล่าวอย่างนั้น เพราะบริสุทธิ์โดยปรกติและเพราะงอกงาม ผู้พิจารณาอายตนะเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาบริสุทธิ์ เพราะกำจัดมลทินออกเสียได้ด้วยการปฏิบัตินี้ ท่านกล่าวว่าเป็นบัณฑิตเพราะเหตุนั้น. เพราะเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งอายตนะเหล่านั้นด้วยปัญญา.
               บทที่เหลือเป็นคำสรรเสริญของพราหมณ์นั้น ผู้นั้นเป็นผู้ก้าวล่วงธรรมดำและธรรมขาว อันได้แก่บาปและบุญได้แล้วและเป็นผู้คงที่ ฉะนั้น พราหมณ์จึงสรรเสริญอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เพราะญาณท่านเรียกว่า โมนะ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ยา ปญฺญาปชานนา ฯเปฯ สมฺมาทิฏฺฐิ เตน ญาเณน สมนฺนาคโต มุนิ๘- มุนีประกอบด้วยปัญญาความรู้ ฯลฯ สัมมาทิฏฐิ ดังนี้ ฉะนั้นเมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สี่ด้วยคาถาว่า อสตญฺจ ธรรมของอสัตบุรุษ ดังนี้.
____________________________
๘- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๖๗

               บทนั้นมีความดังนี้
               ผู้ใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและสัตบุรุษทั้งที่เป็นอกุศลและกุศลในโลกทั้งปวงนี้คือในภายในและภายนอกดำรงอยู่ ล่วงคือก้าวล่วงธรรมอันเป็นเครื่องข้อง ๗ อย่างโดยประเภทมีราคะเป็นต้น และข่ายสองอย่างโดยประเภทคือตัณหาและทิฏฐิ เพราะผู้นั้นได้รู้แล้ว ท่านกล่าวผู้นั้นว่าเป็นมุนี เพราะประกอบด้วยญาณเป็นเครื่องค้นคว้าอันได้แก่โมนะนั้น.
               บทว่า เทวมนุสฺเสหิ ปูชิโย อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว นี้เป็นคำสรรเสริญของพราหมณ์นั้น.
               จริงอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้ควรแก่การบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเป็นมุนีสิ้นอาสวะแล้ว ฉะนั้น พราหมณ์จึงสรรเสริญอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ปัญหาที่พราหมณ์ถามด้วยคาถาที่สาม พระองค์จึงตรัสด้วยคาถาที่สี่ เพราะผู้นั้นทำความสิ้นกิเลสถึงแล้วด้วยเวท คือมรรคญาณ ๔ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ถึงเวทโดยปรมัตถ์.
               อนึ่ง ผู้ใดพิจารณาเวททั้งหลายที่รู้ว่าเป็นศาสตร์ของสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ด้วยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นโดยกิจด้วยมรรคภาวนานั้นเอง ก้าวล่วงเวททั้งปวงนั้น ด้วยการละความพอใจและความกำหนัดในเวทนั้น เวทนาใดเกิดขึ้นเพราะเวทเป็นปัจจัย หรือโดยประการอื่น เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาเหล่านั้น คือในเวทนาทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้นมิได้ตรัสว่า อิทํ ปตฺตินํ นี้ของผู้บรรลุเวท ดังนี้ แต่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่หนึ่งด้วยคาถาว่า เวทานิ เวททั้งหลาย ดังนี้. เพราะผู้พิจารณาเวททั้งหลายด้วยปัญญาเป็นเครื่องค้นคว้านั้น ก้าวล่วงเวททั้งปวง ด้วยการละความพอใจและความกำหนัดในเวทนั้น ผู้นั้นถึงรู้และก้าวล่วงเวททั้งหลายที่รู้กันว่าเป็นศาสตร์ ผู้ใดปราศจากราคะในเวทนาทั้งหลาย แม้ผู้นั้นถึงและก้าวล่วงเวททั้งหลายที่รู้อยู่ว่าเป็นเวทนา ผู้นั้นชื่อว่าเวทคู เพราะเป็นไปแล้วสู่เวททั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความแม้นั้นมิได้ตรัสว่า อิทํ ปตฺตินํ แล้วทรงพยากรณ์ปัญหาที่หนึ่งด้วยคาถานี้.
               ก็เพราะในปัญหาที่สองท่านกล่าวว่า อนุวิทิโต ได้แก่ ผู้รู้ตาม ผู้นั้นใคร่ครวญนามรูปที่ทำให้เนิ่นช้า อันเป็นภายใน อันได้แก่ธรรมอันทำให้เนิ่นช้า อันต่างด้วยตัณหามานะและทิฏฐิในสันดานของตน และนามรูปอันมีธรรมที่ทำให้เนิ่นช้านั้นเป็นปัจจัย ด้วยอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น มิใช่ใคร่ครวญธรรมที่เป็นภายในอย่างเดียว ยังใคร่ครวญธรรมที่เป็นมูลรากแห่งโรคในภายนอกด้วย ได้แก่ใคร่ครวญธรรมอันเป็นมูลรากมีอวิชชาและภวตัณหาเป็นต้น ของนามรูปและโรคนี้ ในสันดานของคนอื่น หรือเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งโรคทั้งหลายทั้งปวงด้วยภาวนานั้น หรือจากเครื่องผูกอันเป็นมูลรากทั้งปวงแห่งโรคทั้งหลาย หรือจากธรรมอันทำให้เนิ่นช้า ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สองด้วยคาถาว่า อนุวิจฺจ ใคร่ครวญแล้วดังนี้.
               ก็ในบทว่า กถญฺจ วิริยวา บุคคลผู้มีความเพียรด้วยอาการอย่างไรนี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               เพราะผู้ใดเว้นจากบาปทั้งปวงด้วยอริยมรรค. อนึ่ง เพราะเป็นผู้เว้นอย่างนั้นได้ จึงก้าวล่วงทุกข์ในนรก เพราะไม่มีปฏิสนธิต่อไป ดำรงอยู่ อยู่ด้วยความเพียร มีความเพียรเป็นที่อาศัย ผู้นั้นเป็นขีณาสพ ย่อมควรที่จะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความเพียรดังนี้ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สามด้วยคาถาว่า วิรโต เป็นผู้งดเว้นดังนี้.
               บทว่า ปธานวา ธีโร ตาทิ บุคคลนั้นมีความเพียร มีปัญญา ผู้คงที่ นี้เป็นคำสรรเสริญของพราหมณ์นั้น เพราะผู้นั้นชื่อว่าผู้มีความเพียร เพราะความเพียรพยายามในมรรคและฌาน ชื่อว่าผู้มีปัญญา เพราะสามารถกำจัดกิเลสเป็นต้นได้ ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะไม่ทำให้แปลกออกไป ฉะนั้น พราหมณ์จึงสรรเสริญด้วยประการฉะนี้.
               บทที่เหลือควรกล่าวประกอบกัน.
               ในบทว่า อาชานิโย กินฺติ นาม โหติ บุคคลเป็นอาชาไนยด้วยอาการอย่างไร นี้พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า ม้าก็ดี ช้างก็ดี รู้เหตุอันควรและไม่ควร ท่านกล่าวว่าเป็นอาชาไนยในโลก แต่อาชาไนยนั้นยังละโทษไม่หมดสิ้นเชิงทีเดียว แต่พระขีณาสพละโทษเหล่านั้นได้หมด ฉะนั้น จึงควรที่จะกล่าวว่าเป็นอาชาไนยโดยปรมัตถ์ดังนี้.
               ทรงพยากรณ์ปัญหาที่สี่ด้วยคาถาว่า ยสฺส ดังนี้.
               บทนั้นมีความดังนี้
               บทว่า อชฺฌตฺตํ พหิทฺธา จ ทั้งภายในภายนอก. ความว่า ผู้ใดตัดเครื่องผูกอันได้แก่สังโยชน์ทั้งภายในภายนอกได้แล้ว คือตัดทำลายด้วยศัสตราคือปัญญา.
               บทว่า สงฺคมูลํ รากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้อง. ความว่า เครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าด้วยการเกี่ยวข้อง ไม่ก้าวล่วงธรรมอันเป็นเครื่องข้องในวัตถุเหล่านั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดตัดเครื่องผูกมีราคะเป็นต้น อันเป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว ผู้นั้นหลุดพ้นจากเครื่องผูกทั้งปวง อันเป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้อง หรืออันเป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง ท่านกล่าวผู้นั้นว่าเป็นอาชาไนยและเป็นผู้คงที่เห็นปานนั้น.
               แม้ในปัญหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ปัญหาที่ตรัสไว้แล้ว ในคาถาที่สี่แล้วตรัสด้วยคาถาที่ห้า เพราะจินตกวีทั้งหลายพรรณนาความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสุตะ ด้วยเหตุเพียงการเชี่ยวชาญในฉันท์ ผู้นั้นเป็นผู้สมบูรณ์เพียงโวหารสุตะ แต่พระอริยะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปรมัตถสุตะ เพราะเป็นพหูสูตและเพราะไม่มีสุตะอันลามก ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงไม่ตรัสว่า อิทํ ปตฺตินํ ทรงพยากรณ์ปัญหาแรกด้วยคาถาว่า สุตฺวา ผู้ฟังแล้ว ดังนี้.
               บทนั้นมีความดังนี้
               ผู้ใดฟังด้วยกิจคือสุตมยปัญญาในโลกนี้ หรือฟังด้วยกิจที่ควรทำ รู้ยิ่งธรรมทั้งปวงอันเข้าถึงวิปัสสนาด้วยความไม่เที่ยงเป็นต้น ครอบงำธรรมอันมีโทษและไม่มีโทษอะไรๆ และธรรมเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสด้วยปฏิปทานี้นับได้ว่า อภิภู ผู้ครอบงำฟังดังนั้นแล้วรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครอบงำธรรมที่มีโทษและธรรมที่ไม่มีโทษอะไรๆ ท่านเรียกผู้นั้นว่าผู้สมบูรณ์ด้วยสุตะ เพราะเป็นผู้สดับแล้ว.
               อนึ่ง เพราะผู้ใดไม่มีความสงสัย พ้นแล้วจากเครื่องผูกคือกิเลส และเป็นผู้ไม่มีทุกข์ด้วยทุกข์ทั้งหลายมีราคะเป็นต้นในที่ทั้งปวง คือในธรรมทั้งปวงมีขันธ์และอายตนะเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวผู้นั้นผู้ไม่มีความสงสัย ผู้หลุดพ้นแล้ว ผู้ไม่มีทุกข์ในธรรมทั้งปวงว่าเป็น โสตติยะ ผู้สมบูรณ์ด้วยสุตะ ดังนี้แล.
               ก็เพราะผู้ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะอันชนผู้ใคร่ประโยชน์เกื้อกูลพึงบูชา.
               อธิบายว่า ควรเข้าถึงฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงคุณที่เป็นอริยะ จึงพยากรณ์ปัญหาที่สองด้วยคาถาว่า เฉตฺวา ตัดแล้ว.
               บทนั้นมีความว่า
               บุคคลนั้นเป็นผู้รู้ เป็นผู้มีรัศมี เป็นผู้รู้มรรค ๔ ตัดแล้วคือทำลายอาสวะ ๔ อาลัย ๒ ด้วยศัสตราคือปัญญา ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์ด้วยอำนาจภพใหม่ คือไม่เข้าถึงกำเนิดไรๆ บรรเทาสัญญา ๓ อย่างมีกามเป็นต้น และเปือกตม คือกามคุณ ย่อมไม่มาสู่กัปอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งตัณหากัปและทิฏฐิกัป ท่านกล่าวผู้นั้นผู้ประกอบด้วยคุณมีการตัดอาสวะเป็นต้นอย่างนี้ว่าเป็นอริยะ หรือว่าชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากบาปทั้งหลาย และชื่อว่าอนริยะ เพราะไม่มีการเคลื่อนไหวด้วยความทุกข์ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความแม้นั้น จึงทรงพยากรณ์ด้วยปัญหาที่สองแห่งคาถานี้.
               จริงอยู่ ธรรมลามกมีอาสวะเป็นต้น สมมติว่าเป็นทุกข์ ธรรมลามกเหล่านั้นอันเขาตัดแล้วบรรเทาแล้ว ทั้งไม่หวั่นไหวด้วยธรรมลามกเหล่านั้น จึงชื่อว่าเขาเป็นผู้ไกลธรรมเหล่านั้นและไม่เคลื่อนไปในธรรมเหล่านั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวผู้นั้นว่าเป็นอริยะด้วยแนวนี้ว่า เขาเป็นผู้ไกลจากธรรมอันลามก ด้วยแนวนี้ว่า เขาไม่เคลื่อนไหวไปในความทุกข์.
               ในบทนี้พึงทราบว่าโยชนาแก้ไว้อย่างนี้.
               บทว่า วิทวา โส น อุเปติ คพฺภเสยฺยํ เขารู้แล้วย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์นี้ เป็นคำสรรเสริญในการกำหนดความนี้.
               ก็และในบทนี้ว่า จรณวา ผู้มีจรณะ เป็นอย่างไร. เพราะผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุด้วยจรณะทั้งหลาย ย่อมควรที่จะพึงกล่าวว่า จรณวา ผู้มีจรณะ ดังนี้ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงบทว่า จรณวา นั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สามด้วยคาถาว่า โย อิธ ผู้ใดในศาสนานี้ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โย อิธ คือ ผู้ใดในศาสนานี้. บทว่า จรเณสุ เพราะธรรม ๑๕ อย่างที่ท่านกล่าวไว้แล้วในเหมวตสูตร๙- มีศีลเป็นต้น. บทว่า จรเณสุ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถตติยาวิภัตติ.
____________________________
๙- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๖๗

               บทว่า ปตฺติปตฺโต คือ บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ. ท่านอธิบายว่า ผู้ใดบรรลุพระอรหัตที่ควรบรรลุ เพราะมีจรณะเป็นนิมิต มีจรณะเป็นเหตุ มีจรณะเป็นปัจจัย. บทว่า จรณวา โส ผู้นั้นท่านกล่าวว่ามีจรณะ เพราะบรรลุธรรมที่ควรบรรลุนี้ด้วยจรณะทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันพยากรณ์ปัญหา. บทที่เหลือเป็นคำสรรเสริญของพราหมณ์นั้น.
               อธิบายว่า ผู้ใดในศาสนาเป็นผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะมีจรณะผู้นั้นเป็นผู้ฉลาด ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมคือนิพพานในกาลทุกเมื่อ เพราะมีจิตน้อมไปในนิพพาน ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง มีจิตพ้นแล้วด้วยวิมุตติทั้งสอง และไม่มีปฏิฆะ ดังนี้.
               ก็เพราะผู้ชื่อว่าเป็นปริพาชก เพราะขับไล่กรรมเป็นต้นออกไปได้.
               ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงความนั้น จึงทรงพยากรณ์ปัญหาที่สี่แห่งคาถาว่า ทุกฺขเวปกฺกํ กรรมมีทุกข์เป็นผล ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนั้นดังนี้
               วิบากนั่นแหละชื่อว่า เวปกฺกํ. ที่ชื่อว่า ทุกฺขเวปกฺกํ เพราะมีทุกข์เป็นผล. ทุกข์แม้ทั้งหมดพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กรรมอันประกอบด้วยธาตุ ๓ เพราะเหตุเกิดแห่งทุกข์ในปวัตติ.
               บทว่า อุทฺธํ คือ อดีต. บทว่า อโธ คือ อนาคต. บทว่า ติริยํ วาปิ มชฺเฌ คือ ปัจจุบัน.
               ก็บทว่า ติริยํ วาปิ มชฺเฌ ได้แก่ ไม่ใช่เบื้องบน ไม่ใช่เบื้องต่ำ ท่านกล่าวว่าขวาง ในระหว่างเบื้องบนเบื้องต่ำทั้งสองนั้น ท่านกล่าวว่าในท่ามกลาง.
               บทว่า ปริพฺพาชยิตฺวา ขับไล่ คือให้ออกไป กำจัดเสีย.
               บทว่า ปริญฺญาจารี ได้แก่ กำหนดด้วยปัญญาเที่ยวไป.
               นี้เป็นเพียงพรรณนาบทที่ยังไม่เคยมีมา แต่โยชนาอธิบายบทนี้ดังนี้
               ผู้ใดยังความเยื่อใยคือตัณหาและอวิชชาให้เหี่ยวแห้งไป ด้วยอริยมรรค ขับไล่กรรมอะไรๆ ทั้งหมดที่ทำให้เกิดทุกข์ แม้เนื่องด้วยกาล ๓ โดยกระทำไม่ให้ปฏิสนธิ.
               อนึ่ง ครั้นขับไล่ไปแล้วชื่อว่ามีปรกติกำหนดด้วยปัญญาเที่ยวไป เพราะกำหนดกรรมนั้นเที่ยวไป ไม่ใช่กรรมอย่างเดียว กำหนดการละธรรมแม้เหล่านี้ คือ มายา มานะ โลภ โกรธ ก็ชื่อว่าเป็นผู้กำหนดด้วยปัญญาเที่ยวไป ได้กระทำนามรูปให้ถึงที่สุด และกระทำที่สุดแห่งนามรูป คือขับไล่ไป มีความด้วยประการฉะนี้แล ท่านกล่าวผู้นั้นว่าเป็นปริพาชก เพราะขับไล่กรรมเป็นต้นเหล่านี้เสียได้.
               บทว่า ปตฺติปตฺตํ บรรลุธรรมที่ควรบรรลุนี้ เป็นคำสรรเสริญของสภิยปริพาชกนั้น.
               ในคาถาสรรเสริญมีอาทิว่า ยานิ จ ตีณิ ทิฏฐิ ๓ ของสภิยปริพาชกผู้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหาอย่างนี้.
               บทว่า โอสรณานิ ได้แก่ หยั่งลงสู่ลัทธิ.
               อธิบายว่า ทิฏฐิทั้งหลาย. เพราะทิฏฐิเหล่านั้นรวมกันเป็น ๖๓ เพราะถือเอาทิฏฐิ ๖๓ ที่กล่าวแล้วในพรหมชาลสูตรกับสักกายทิฏฐิ และเพราะทิฏฐิเหล่านั้นเป็นวาทะของสมณะผู้เป็นเดียรถีย์อื่น อาศัยคัมภีร์ด้วยการอ้าง มิใช่ด้วยการเกิด แต่อาศัยอักขระคือความหมายรู้กัน คือมีชื่อเรียกว่าหญิงชายโดยการเกิด. สัญญาวิปริตย่อมเกิดแก่คนพาลทั้งหลายว่า ตนควรเป็นเช่นนี้ดังนี้ ด้วยมิจฉาปริวิตก และได้ยินว่า ทิฏฐิที่อาศัยทั้งสองอย่างนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจของสมณะผู้เป็นเดียรถีย์อื่นเหล่านั้น ไม่ใช่เห็นด้วยตนเอง
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำจัดคือนำออกซึ่งทิฏฐิเหล่านั้น ทรงก้าวล่วงความมืดคือโอฆะได้แล้ว. พระองค์ทรงก้าวล่วงที่สุดแห่งโอฆะได้แล้ว ฉะนั้น จึงตรัสว่า ยานิ จ ตีณิ ฯเปฯ ตมคา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พระองค์ทรงกำจัดทิฏฐิ ๓ และ ๖๐ ที่อาศัยคัมภีร์อันเป็นวาทะ เป็นประธานของสมณะผู้ถือลัทธิอื่น ที่อาศัยอักขระคือความหมายรู้กัน (ว่าหญิง ว่าชาย) และสัญญาอันวิปริต ทรงก้าวล่วงความมืด.
               ต่อจากนั้น สภิยปริพาชกกล่าวว่า อนฺตคูสิ ปารคู ทุกฺขสฺส พระองค์เป็นผู้ถึงที่สุด ถึงฝั่งแห่งทุกข์ดังนี้ หมายถึงที่สุดและฝั่งแห่งทุกข์ในวัฏฏะคือนิพพาน เพราะไม่เกิด เพราะไม่มีทุกข์และเพราะตรงกันข้ามกับทุกข์ในวัฏฏะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ควรทราบการผูกในประโยคนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง เพราะถึงพระนิพพานแล้ว.
               สภิยปริพาชก เมื่อจะกราบทูลกะพระองค์ จึงกราบทูลว่า ปารคู อนฺตคูสิ ทุกฺขสฺส พระองค์ถึงฝั่งคือถึงที่สุดแห่งทุกข์ ดังนี้.
               ชื่อว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ เพราะตรัสรู้โดยชอบ และตรัสรู้เอง.
               บทว่า ตํ ตํ มญฺเญ สำคัญพระองค์ว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว. ความว่า อาจารย์บางพวกกล่าวด้วยความเคารพยิ่งว่า ตเมว มญฺญามิ น อญฺญํ ข้าพเจ้าสำคัญพระองค์เท่านั้น ไม่สำคัญผู้อื่น.
               บทว่า ชุติมา มีความรุ่งเรือง คือถึงพร้อมด้วยความสว่างโดยกำจัดความมืดของผู้อื่น. บทว่า มติมา มีความรู้ คือถึงพร้อมด้วยความรู้คือปัญญาสามารถรู้สิ่งที่ควรรู้ อันเป็นปัจจัยแห่งความรู้อื่นๆ. บทว่า ปหูตปญฺโญ มีพระปัญญามาก คือมีพระปัญญาหาที่สุดมิได้.
               ในบทนี้ ท่านประสงค์เอาสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า ทุกฺขสฺสนฺตกรา ทรงช่วยข้าพระองค์ผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ สภิยปริพาชกกราบทูลเรียกจึงกล่าวดังนั้น. บทว่า อตาเรสิ มํ พระองค์ยังข้าพระองค์ให้ข้ามได้แล้ว คือยังข้าพระองค์ให้ข้ามพ้นจากความสงสัย.
               สภิยปริพาชกกล่าวถึงการกระทำความนอบน้อมด้วยกึ่งคาถาว่า ยมฺเม ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า กงฺขิตํ พ้นความสงสัย สภิยปริพาชกกล่าวหมายถึงความอันอาศัยปัญหา ๒๐ ข้อ เพราะสภิยปริพาชกนั้นได้มีความสงสัยด้วยความนั้น.
               บทว่า โมนปเถสุ ในทางแห่งมุนี คือในทางแห่งญาณ.
               บทว่า วินฬีกตา ผู้ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ. คือปราศจากกิเลสเพียงดังหลักตอ. ท่านอธิบายว่า ตัดขาดแล้ว.
               บทว่า นาคนาคสฺส พระองค์ผู้เป็นพระนาคผู้ประเสริฐยิ่ง นี้เป็นคำร้องเรียกอย่างหนึ่ง สัมพันธ์ด้วยคำนี้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐตรัสอยู่พวกปริพาชกย่อมชื่นชม. บาลีว่า ธมฺมเทสนํ เป็นบาลีเกิน.
               บทว่า สพฺเพ เทวา เทวดาทั้งปวง ได้แก่อากาสัฏฐเทวดาและภุมมัฏฐเทวดา.
               บทว่า นารทปพฺพตา นัยว่า หมู่เทวดาทั้งสองนั้นแม้นั้นเป็นผู้มีปัญญา ก็ยังอนุโมทนา เพราะเหตุนั้น สภิยปริพาชกจึงกล่าวทำความนอบน้อมด้วยความเลื่อมใสทั้งหมด
               สภิยปริพาชกสดับความสมบูรณ์แห่งพยากรณ์อันสมควรแก่การอนุโมทนา จึงประคองอัญชลีกล่าวว่า นโม เต ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ดังนี้.
               บทว่า ปุริสาชญฺญา ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย คือ ข้าแต่พระองค์ผู้สมบูรณ์ด้วยชาติในบรรดาบุรุษทั้งหลาย.
               บทว่า ปฏิปุคฺคโล ได้แก่ บุคคลผู้มีส่วนเปรียบเสมอพระองค์. พระองค์ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะแทงตลอดอริยสัจ ๔ พระองค์ชื่อว่าเป็นพระศาสดา เพราะทรงพร่ำสอน และเพราะนำคำสอนมาให้ พระองค์ชื่อว่าเป็นผู้ครอบงำมาร เพราะครอบงำมาร ๔ พระองค์ชื่อว่าเป็นมุนี คือเป็นมุนีผู้ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า อุปธิ ได้แก่ อุปธิ ๔ อย่าง คือ ขันธ์ กิเลส กาม และอภิสังขาร.
               บทว่า วคฺคุ คือ มีรูปงาม.
               บทว่า ปญฺเญ จ ได้แก่ โลกิยปัญญา พระองค์ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาป เพราะไม่ทำบุญและบาปเหล่านั้นบ้าง เพราะไม่มีการเสวยผลของบุญและบาปที่ทำในกาลก่อนต่อไปบ้าง เพราะฉาบทาด้วยตัณหาและทิฏฐิอันมีบุญและบาปนั้นเป็นนิมิตบ้าง.
               สภิยปริพาชกกล่าวอย่างนี้ว่า วนฺท ติ สตฺถุโน สภิยะขอถวายบังคมพระบาทของพระศาสดาแล้วหมอบลง ณ ข้อพระบาท ถวายบังคมด้วยเบญจาประดิษฐ์
               บทว่า อญฺญติตฺถิยปุพฺโพ คือ อัญญเดียรถีย์นั่นเอง. บทว่า อากงฺขติ แปลว่า ย่อมปรารถนา. บทว่า อารทฺธจิตฺตา พอใจ คือยินดีแล้ว.
               บทว่า อปิจ เมตฺถ ปุคฺคลเวมตฺตตา วิทิตา ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้.
               ความว่า เรารู้ความต่างแห่งบุคคลในการอยู่ปริวาสนี้ของอัญเดียรถีย์ทั้งหลาย ไม่ใช่ควรอยู่ปริวาสทั้งหมด.
               ก็เพราะเหตุไร จึงไม่ควรอยู่ปริวาสทั้งหมด.
               อันชฎิลผู้บูชาไฟ และอันเจ้าศากยะโดยชาติ ละเพศมาแล้ว.
               อนึ่ง ผู้ใดแม้ยังไม่ละเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุเพื่อได้มรรคและผล แม้มาแล้วเช่นสภิยปริพาชกนั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนสภิยะ ท่านไม่มีเหตุจะต้องอยู่ปริวาสเพื่อบำเพ็ญวัตรของเดียรถีย์ ท่านต้องการประโยชน์ สมบูรณ์ด้วยเหตุเพื่อได้มรรคผล ข้อนั้นเรารู้แล้ว.
               เมื่อจะทรงอนุญาตให้สภิยปริพาชกบรรพชา จึงตรัสว่า อปิจ เมตฺถ ปุคฺคลเวมตฺตา วิทิตา ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้ ดังนี้.
               ฝ่ายสภิยะ เมื่อจะแสดงความเคารพของตน จึงกราบทูลว่า สเจ ภนฺเต ดังนี้.
               บททั้งหมดและบทอื่นจะไม่พรรณนาในที่นี้ เพราะมีความง่าย และเพราะมีนัยดังได้กล่าวแล้วในหนก่อน พึงทราบอย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในหนก่อนนั่นแล.

               จบอรรถกถาสภิยสูตรที่ ๖               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อ ปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต มหาวรรค สภิยสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 361อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 364อ่านอรรถกถา 25 / 373อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=8782&Z=9006
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=5488
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=5488
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :