ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 410อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 411อ่านอรรถกถา 25 / 412อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค
สุทธัฏฐกสูตร

               อรรถกถาสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔               
               สุทธัฏฐกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ปสฺสามิ สุทฺธํ เราเห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ดังนี้.
               พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
               มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาล ครั้งศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ กุฎุมพีคนหนึ่งชาวกรุงพาราณสีได้ไปยังปัจจันตชนบทพร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มเพื่อหาสินค้า ณ ที่นั้น กุฎุมพีได้ทำความสนิทสนมกับพรานป่าให้ของใช้แก่เขาแล้วถามว่า สหาย ท่านเคยเห็นแก่นจันทน์บ้างไหม เมื่อพรานป่าตอบว่าเคยเห็น จึงเข้าไปป่าไม้จันทน์กับเขาทันทีบรรทุกแก่นจันทน์แดงจนเต็มเกวียนทุกเล่ม แล้วกล่าวกะพรานป่านั้นว่า สหาย เมื่อใดท่านมากรุงพาราณสี เมื่อนั้นท่านพึงเอาแก่นจันทน์แดงมาด้วย แล้วก็กลับไปกรุงพาราณสี.
               ครั้นต่อมาพรานป่านั้นก็เอาแก่นจันทน์ไปเรือนกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีเห็นพรานป่า จึงต้อนรับเป็นอย่างดี ตอนเย็นให้บดแก่นจันทน์ใส่สมุดจนเต็มแล้วกล่าวว่า สหายจงไปอาบน้ำแล้วกลับมาเถิด แล้วส่งเขาไปท่าน้ำกับคนของตน.
               ตอนนั้นที่กรุงพาราณสีกำลังมีมหรสพ. ชาวกรุงพาราณสีตอนเช้าตรู่ถวายทาน ตอนเย็นนุ่งผ้าเนื้อดีถือดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไปไหว้พระมหาเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ.
               พรานป่านั้นเห็นคนทั้งหลายเหล่านั้นจึงถามว่า เขาไปไหนกัน. พรานป่าได้ฟังว่าเขาไปวิหารเพื่อไหว้พระเจดีย์จึงได้ไปด้วยตนเอง ณ ที่นั้นพรานป่าเห็นผู้คนทำการบูชาพระเจดีย์โดยวิธีต่างๆ ด้วยหรดาลและมโนศิลาเป็นต้น ตนเองไม่รู้จะทำอะไรๆ ให้สวยงามได้จึงเอาไม้จันทน์นั้นทำเป็นวงกลมประมาณเท่าถาดสำริดไว้ข้างบนอิฐทองในมหาเจดีย์.
               ครั้งนั้น ณ ที่นั้นได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้น รัศมีพระอาทิตย์ส่องแสง. เขาเห็นดังนั้นจึงเสื่อมใสได้ทำการปรารถนาว่า แม้เกิดในที่ใดๆ ขอให้รัศมีเช่นนี้ จงผุดที่อกของเรา. พรานป่าได้ทำกาละแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รัศมีได้ผุดขึ้นที่อกของเขาเป็นวงกลมไพโรจน์ที่อกของเขา ดุจวงกลมของพระจันทร์.
               ชนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า จันทาภเทพบุตร.
               จันทาภเทพบุตรนั้นยังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไปโดยกลับไปกลับมาเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้นด้วยสมบัตินั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงอุบัติ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในกรุงสาวัตถี. ที่อกของเขาได้มีรัศมีวงกลมเช่นกับวงกลมของพระจันทร์ ในวันตั้งชื่อของเขาพวกพราหมณ์กระทำการมงคล เห็นรัศมีวงกลมนั้นจึงประหลาดใจว่ากุมารนี้ลักษณะเป็นผู้มีบุญ จึงตั้งชื่อว่าจันทาภะเหมือนกัน.
               พราหมณ์ทั้งหลายพากุมารผู้เจริญวัยแล้ว ตกแต่งใส่เสื้ออย่างดีให้ขึ้นรถพากันบูชาว่านี้มหาพรหมของเรา แล้วเที่ยวประกาศไปทั่วตามนิคมราชธานีว่า ผู้ใดเห็นจันทาภะ ผู้นั้นจักได้ยศและทรัพย์เป็นต้นตายแล้วจักไปสวรรค์ ในที่ที่ไปแล้วๆ. พวกชนพากันมามากขึ้นๆ ด้วยได้ข่าวที่เขาประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กุมารชื่อจันทาภะนี้ ผู้ใดเห็นผู้นั้นจักได้ยศทรัพย์และสวรรค์เป็นต้นหวั่นไหวไปทั่วทั้งชมพูทวีป. พวกพราหมณ์ไม่แสดงแก่คนที่มามือเปล่า แสดงเฉพาะคนที่ถือทรัพย์ ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ มาให้เท่านั้น. พวกพราหมณ์พาจันทาภกุมารเที่ยวไปอย่างนี้จนถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐได้ เสด็จมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เมื่อจะทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จึงประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารในกรุงสาวัตถี.
               ครั้งนั้น จันทาภกุมารไปถึงกรุงสาวัตถีมิได้ปรากฏดุจแม่น้ำน้อยไหลไปในมหาสมุทร ฉะนั้น แม้ผู้ที่จะพูดถึงจันทาภะก็ไม่มี ในตอนเย็นจันทาภะเห็นหมู่ชนพากัน ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นมุ่งหน้าไปเชตวันมหาวิหารจึงถามว่า พวกท่านจะไปไหนกัน. มหาชนตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เราจะไปพระวิหารเชตวันเพื่อฟังธรรม.
               จันทาภะแวดล้อมด้วยคณะพราหมณ์ได้ฟังคำนั้นก็ได้ไป ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น. ก็ในตอนนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ในธรรมสภา. จันทาภะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิสันถารด้วยคำไพเราะแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ทันใดนั้นเอง แสงสว่างของจันทาภะก็หายไป. เพราะ ณ ที่ใกล้พระรัศมีของพระพุทธเจ้า รัศมีอื่นจะครอบงำไม่ได้ภายใน ๘๐ ศอก จันทาภะนั้นไม่นั่งด้วยคิดว่ารัศมีของเราหายไปเสียแล้ว จึงได้ลุกขึ้นเตรียมจะกลับ.
               ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งกล่าวกะจันทาภะว่า จันทาภะผู้เจริญ ท่านกลัวพระสมณะหรือจึงจะกลับ. จันทาภะตอบว่า เราไม่กลัวดอก จะกลับละ อีกประการหนึ่งรัศมีของเราหายไปด้วยเดชของพระสมณะนี้.
               จันทาภะกลับนั่งข้างหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นความสมบูรณ์มีพระรูป พระรัศมีและพระลักษณะเป็นต้น ตั้งแต่ฝ่าพระบาทจนถึงปลายพระเกษา มีใจเลื่อมใสอย่างยิ่งว่า พระสมณโคดมมีศักดิ์มาก รัศมีเพียงเล็กน้อยผุดขึ้นที่อกของเราแม้เพียงเท่านั้น พวกพราหมณ์ยังพาเราเที่ยวไปจนทั่วชมพูทวีปอย่างนี้แล้ว พระสมณโคดมผู้ประกอบด้วยความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะอันงาม ยังมิได้เกิดความถือพระองค์เลย พระสมณะนี้จักประกอบด้วยคุณสมบัติอันงาม พระองค์จักเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นแน่ จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบวช.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธดำรัสกะพระเถระรูปหนึ่งว่า เธอจงบวชให้จันทาภะนี้. พระเถระนั้นครั้นบวชให้จันทาภะภิกษุแล้ว ก็บอกตจปัญจกกรรมฐานให้. จันทาภภิกษุเริ่มเจริญวิปัสสนาแล้วไม่ช้านักก็บรรลุพระอรหัต ได้ชื่อว่าจันทาภเถระ.
               ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันปรารภพระจันทาภเถระนั้นว่า อาวุโสทั้งหลาย ผู้ที่เห็นจันทาภะแล้วจะได้ยศหรือทรัพย์ หรือได้ไปสวรรค์ หรือได้ถึงความบริสุทธิ์ด้วยเห็นรูปทางจักษุทวารนั้นหรือหนอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ในเพราะเกิดเรื่องของพระจันทาภเถระนั้น.
               ในสูตรนั้นพึงทราบความในคาถาต้นก่อน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์มิได้มีด้วยการเห็น เห็นปานนี้เลย อีกประการหนึ่ง คนพาลผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเห็นจันทาภพราหมณ์หรือบุคคลอื่นอย่างเดียวกัน ผู้ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์เพราะเศร้าหมองด้วยกิเลส ผู้ชื่อว่ามีโรคเพราะไม่ปราศจากโรคคือกิเลส แล้วสำคัญเอาเองว่าเราได้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่หาโรคมิได้ ความหมดจดด้วยดีย่อมมีแก่นรชนด้วยการเห็นอันได้แก่การที่ตนได้เห็นแล้วนั้นดังนี้. เมื่อคนพาลนั้นสำคัญเอาเองอย่างนี้ รู้ว่า ความเห็นนั้นเป็นความเห็นยิ่ง แม้เป็นผู้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์เนืองๆ ในความเห็นนั้น ก็ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นมรรคญาณ. แต่ความเห็นนั้นมิใช่เป็นมรรคญาณ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทิฏฺเฐน เจ สุทฺธิ หากความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการเห็นดังนี้.
               พึงทราบความแห่งคาถาที่สองต่อไปนี้
               ผิว่า ความบริสุทธิ์แห่งกิเลสย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็นอันได้แก่การเห็นรูปนั้น หรือนรชนนั้นย่อมละทุกข์มีชาติเป็นต้นได้ด้วยญาณนั้น. เมื่อเป็นอย่างนั้น นรชนนั้นย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยมรรคอันไม่บริสุทธิ์อย่างอื่นจากอริยมรรค นรชนผู้เป็นอย่างนี้ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น คนมีทิฏฐิย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของคนผู้กล่าวอย่างนั้น คนมีทิฏฐินั้นย่อมกล่าวความเห็นนั้นว่าผู้นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่อาจารย์บางพวกกล่าวอย่างนั้นโดยนัยมีอาทิว่า สสฺสโต โลโก โลกเที่ยงดังนี้.
               พึงทราบคาถาที่สามว่า น พฺราหฺมโณ ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้
               ก็ผู้ใดชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะเป็นผู้ลอยบาปได้แล้ว ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ขีณาสพถึงความสิ้นอาสวะด้วยมรรค ไม่กล่าวความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ ที่เกิดขึ้นในเพราะรูปที่ได้เห็นอันได้แก่รูปสมมติว่าเป็นมงคลยิ่ง ในเพราะเสียงที่ได้ฟังอันได้แก่เสียงเป็นอย่างนั้น ในเพราะศีลอันได้แก่ความไม่ล่วง ในเพราะพรตมีตำราดูช้างเป็นต้น และในเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบมีปฐวีธาตุเป็นต้น.
               บทที่เหลือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อยกย่องพราหมณ์นั้น. พราหมณ์นั้นมิได้ติดอยู่ในบุญอันมีธาตุสามและในบาปทั้งปวง ชื่อว่าละความเห็นว่าเป็นตนเสียได้ เพราะละทิฎฐิว่าเป็นตนได้แล้ว หรือเพราะละการยึดถือไรๆ ได้ ท่านกล่าวว่าเป็นผู้ไม่กระทำในบุญและบาป เพราะไม่กระทำปุญญาภิสังขารเป็นต้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญพราหมณ์นั้นจึงตรัสอย่างนี้.
               อนึ่ง พึงทราบการเชื่อมความแห่งบททั้งหมดนั้นด้วยบทต้นดังนี้
               พราหมณ์ไม่ติดในบุญและบาป ละความเห็นว่าเป็นตนเสียได้ไม่กระทำในบุญและบาปนี้ พราหมณ์ไม่กล่าวถึงความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสว่าพราหมณ์ไม่กล่าวถึงความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณแล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงความไม่ปลอดภัยแห่งทิฏฐินั้นของพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิกล่าวถึงความบริสุทธิ์อย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ จึงตรัสคาถาว่า ปุริมํ ปหาย ละศาสดาเบื้องต้นดังนี้.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีวาทะว่าบริสุทธิ์จากอริยมรรคอื่น ละศาสดาเบื้องต้นเป็นต้นเสีย อาศัยศาสดาอื่นด้วยทิฏฐิที่พ้นจากการยึดเพราะยังละไม่ได้ อันตัณหาคือความอยากครอบงำ ย่อมข้ามธรรมเป็นเครื่องข้องมีราคะเป็นต้นไปไม่ได้ เมื่อข้ามธรรมอันเป็นเครื่องข้องนั้นๆ ไม่ได้ ชื่อว่าถือเอาธรรมนั้นด้วย สละธรรมนั้นด้วย เหมือนวานรจับและปล่อยกิ่งไม้ที่ตรงหน้าเสียเพื่อจับกิ่งอื่นฉะนั้น.
               ท่านกล่าวการเชื่อมความคาถาที่ห้าว่า ก็ผู้มีทิฏฐิย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของผู้กล่าวอย่างนั้น ด้วยบทว่า สยํ สมาทาย สมาทานเอง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สยํ แปลว่า เอง. บทว่า สมาทาย คือถือเอา.
               บทว่า วตานิ ได้แก่ ตำราดูลักษณะช้างเป็นต้น.
               บทว่า อุจฺจาวจํ ศาสดาดีและเลว คือเลือกหาศาสดาเป็นต้นแล้วๆ เล่าๆ หรือเลวและประณีตจากศาสดา.
               บทว่า สญฺญสตฺโต ผู้ข้องอยู่ในสัญญา คือติดอยู่ในกามสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า วิทฺวา จ เวเทหิ สเมจฺจ ธมฺมํ ผู้มีความรู้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมด้วยเวท. ความว่า ผู้รู้แจ้งปรมัตถธรรม เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ธรรมคืออริยสัจ ๔ ด้วยเวทคือมรรคญาณ ๔.
               บทที่เหลือชัดแล้ว.
               บทว่า ส สพฺพธมฺเมส วิเสนิภูโต ยํกิญฺจิ ทิฏฺฐํว สุตํ มุตํ วา พระขีณาสพนั้นครอบงำมารและเสนาในธรรมทั้งปวง คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็นได้ฟังหรือได้ทราบ. ความว่า พระขีณาสพผู้มีปัญญานั้น ชื่อว่าเป็นผู้ครอบงำมารและเสนา เพราะยังมารและเสนาให้พินาศไปในธรรมทั้งปวงเหล่านั้น คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็น ได้ฟังหรือได้ทราบ.
               บทว่า ตเมว ทสฺสึ คือ พระขีณาสพนั้นผู้เห็นความบริสุทธิ์อย่างนี้.
               บทว่า วิวฏํ จรนฺตํ เป็นผู้มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว เพราะปราศจากหลังคาคือตัณหาเป็นต้น เที่ยวไปอยู่.
               บทว่า เกนิธ โลกสฺมึ วิกปฺเปยฺย พึงกำหนดพระขีณาสพด้วยการกำหนดด้วยตัณหาและทิฏฐิอะไรในโลกนี้.
               ความว่า ใครๆ พึงกำหนดพระขีณาสพด้วยการกำหนดด้วยตัณหา หรือด้วยการกำหนดด้วยทิฏฐิอะไรในโลกนี้ หรือพึงกำหนดด้วยราคะเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น เพราะละตัณหาและทิฏฐิได้แล้ว.
               พึงทราบการเชื่อมความและความแห่งคาถาว่า น กปฺปยนฺติ ไม่กำหนด มีอะไรที่จะควรกล่าวยิ่งไปกว่านั้น คือเพราะพระขีณาสพเหล่านั้นเป็นผู้สงบไม่กำหนดด้วยตัณหาและทิฏฐิ ไม่กระทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่าความบริสุทธิ์ล่วงส่วน ด้วยอกิริยทิฏฐิและสัสสตทิฏฐิอันไม่เป็นความบริสุทธิ์ล่วงส่วนทีเดียว เพราะยังไม่ปราศจากความบริสุทธิ์ล่วงส่วนโดยปรมัตถ์.
               บทว่า อาทานคนฺถํ คธิตํ วิสชฺช ความว่า ท่านสละคือตัดคันถะกิเลสเครื่องร้อยรัดอันทำให้ถือมั่น เพราะเป็นเหตุให้ถือมั่นรูปเป็นต้นแม้ ๔ อย่างอันผูกรัดติดอยู่ในสันดานของตนได้ด้วยศาสตรา คืออริยมรรค.
               บทว่า สีมาติโค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยเทศนาอันเป็นบุคลาธิษฐานอย่างเดียว. พึงทราบการเชื่อมคาถานั้นเช่นกับคาถาก่อนนั่นแล. คือพึงทราบอย่างเดียวกันกับอรรถกถา.
               มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น
               ท่านอธิบายไว้ว่า พระขีณาสพผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินเช่นนี้ชื่อว่าล่วงแดนกิเลสได้เพราะล่วงแดนกิเลส ๔ อย่างได้ ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะเป็นผู้ลอยบาปเสียแล้ว ไม่มีความยึดถือยึดมั่นวัตถุหรืออารมณ์อะไร เพราะได้รู้ด้วยญาณคือรู้จิตผู้อื่นและรู้การระลึกชาติได้ หรือเพราะได้เห็นด้วยมังสจักษุและทิพยจักษุ. พราหมณ์นั้นเป็นผู้ไม่มีความยินดีด้วยราคะเพราะไม่มีกามราคะ เป็นผู้ปราศจากราคะหมดกำหนัดแล้ว เพราะไม่มีรูปราคะและอรูปราคะ. พราหมณ์นั้นไม่มีความยึดถือวัตถุและอารมณ์ไรๆ ว่าสิ่งนี้เป็นของยิ่งในโลกนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต.

               จบอรรถกถาสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔               
               แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย               
               ชื่อปรมัตถโชติกา               
               --------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัฏฐกวรรค สุทธัฏฐกสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 410อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 411อ่านอรรถกถา 25 / 412อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=10038&Z=10076
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=8077
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=8077
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :