ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

               ๕. อรรถกถามงคลสูตร               

               ประโยชน์แห่งบทตั้ง               
               บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความแห่งมงคลสูตรที่ยกเป็นบทตั้ง ต่อลำดับจากกุมารปัญหา.
               ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวประโยชน์แห่งบทตั้งแล้ว จึงจักพรรณนาความแห่งมงคลสูตรนั้น.
               อย่างไรเล่า. ความจริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้มิได้ตรัสตามลำดับนี้ แต่ข้าพเจ้ากล่าวเพื่อแสดงว่าการนับ ถือพระศาสนาด้วยการถึงสรณะ และนัยตามประเภทศีลสมาธิปัญญา ทรงแสดงไว้ด้วยสิกขาบท ทวัตติงสาการและกุมารปัญหานี้ใด แม้ทั้งหมดนั้น ก็เป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะผู้ต้องการมงคล จำต้องทำพากเพียรอย่างยิ่งในมงคลนั้นนั่นแล.
               ส่วนความที่การนับถือพระศาสนาเป็นต้นนั้นเป็นมงคลนั้น บัณฑิตพึงทราบตามแนวพระสูตรนี้. นี้เป็นประโยชน์แห่งบทตั้งในมงคลสูตรนั้น ในที่นี้

               กถาพรรณนาปฐมมหาสังคายนา               
               ก็เพื่อพรรณนาความแห่งมงคลสูตรนั้น ซึ่งยกเป็นบทตั้งไว้อย่างนี้ มีมาติกาหัวข้อ ดังนี้.
                                   ข้าพเจ้าจะกล่าววิธีนี้ อย่างนี้ว่า คำนี้ ผู้ใดกล่าว
                         กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุไร เมื่อจะพรรณนาความ
                         แห่งปาฐะมี เอวํ เป็นต้น ก็จะกล่าวสมุฏฐานที่เกิดมงคล
                         กำหนดมงคลนั้นแล้ว จะชี้แจงความมงคลแห่งมงคลสูตรนั้น.

               ในมาติกานั้น ก่อนอื่น กึ่งคาถานี้ว่า
                         วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา เจตํ วตฺวา อิมํ วิธึ.
               ท่านกล่าวหมายถึงคำคือ
                         เอวมฺเม สุตํ ฯเปฯ ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ.
               จริงอยู่ พระสูตรนี้ ท่านกล่าวโดยฟังต่อๆ กันมา. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นสยัมภู คือเป็นพระพุทธเจ้าเอง ไม่มีอาจารย์ เพราะฉะนั้น คำนี้ [นิทานวจนะ] จึงไม่ใช่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น. เพราะเหตุที่มีคำกล่าวว่า คำนี้ ใครกล่าว กล่าวเมื่อใด และกล่าวเพราะเหตุใด. ฉะนั้น จึงขอกล่าวชี้แจงดังนี้ คำนี้ท่านพระอานนท์กล่าว และกล่าวในเวลาทำมหาสังคายนาครั้งแรก.
               ความจริง การทำมหาสังคายนาครั้งแรกนี้ ควรทราบมาตั้งแต่ต้น เพื่อความฉลาดในนิทานวจนะคำต้นของสูตรทั้งปวง ดังต่อไปนี้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นนาถะที่พึ่งของโลก ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ เริ่มต้นแต่ทรงประกาศพระธรรมจักรจนถึงทรงโปรดสุภัททปริพาชก แล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เวลาใกล้รุ่งวันวิสาขบูรณมีระหว่างต้นสาละคู่ ในสาลวโนทยานอันเป็นที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ใกล้กรุงกุสินารา ท่านพระมหากัสสปะผู้เป็นสังฆเถระของภิกษุประมาณเจ็ดแสนรูปที่ประชุมกัน ในวันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า มาระลึกถึงคำของขรัวตาสุภัททะ กล่าวเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วันว่า “พอทีเถิด ผู้มีอายุ ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกไปเลย อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นดีแล้วจากพระมหาสมณะผู้นั้น แต่ก่อนพวกเราถูกพระมหาสมณะผู้นั้น บังคับจู้จี้ว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอบ้างละ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอบ้างละ’ มาบัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด ก็จักทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น”
               ท่านดำริว่า “พวกภิกษุชั่วเข้าใจว่า” ปาพจน์ คือธรรมวินัย มีศาสดาล่วงไปแล้ว ได้สมัครพรรคพวกก็จะพากันย่ำยีพระสัทธรรมให้อันตรธานไปไม่นานเลย ข้อนี้ย่อมเป็นไปได้. ตราบใด ธรรมวินัยยังดำรงอยู่ ตราบนั้น ปาพจน์ คือธรรมวินัยก็หาชื่อว่ามีศาสดาล่วงไปแล้วไม่
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส๑- ไว้ว่า
                                   ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันใด อันเราตถาคต
                         แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้น
                         จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป ดังนี้.
____________________________
๑- ที. มหา. ๑๐/ข้อ ๑๔๑

               อย่ากระนั้นเลย จำเราจะช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย โดยวิธีที่พระศาสนานี้จะพึงดำรงอยู่ยั่งยืนยาวนาน.
               อนึ่งเล่า เรากัสสปะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณบริโภคในจีวร ตรัสว่า
                                   ดูก่อนกัสสปะ เธอจักครองผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้แล้ว
                         ของเราไหวหรือ และทรงอนุเคราะห์ด้วยทรงสถาปนา
                         เราไว้เสมอๆ กับพระองค์ในอุตตริมนุสสธรรม ธรรม
                         อันยิ่งยวดของมนุษย์ ต่างโดยอนุปุพพวิหาร ๙ และ
                         อภิญญา ๖ โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้ง
                         หลาย เราตถาคตต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัด
                         จากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงใด
                         แม้กัสสปะก็ต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจาก
                         อกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงนั้น.
                         ดังนี้

               เรานั้นจะมีหนี้อื่นอะไรเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กัสสปะผู้นี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของเรา จึงทรงอนุเคราะห์เราด้วยการอนุเคราะห์ที่ไม่ทั่วไปนี้ เหมือนพระราชาทรงอนุเคราะห์พระราชโอรสผู้ดำรงวงศ์ตระกูล ด้วยทรงมอบเกราะและพระราชอิสริยยศ มิใช่หรือ จึงทำความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย
               เหมือนอย่างที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ว่า
                                   ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเล่ากะภิกษุทั้งหลายว่า
                         ผู้มีอายุทั้งหลาย ครั้งหนึ่ง เราเดินทางไกลจากนครปาวามา
                         สู่นครกุสินารา พร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป
ดังนี้.

               สุภัททกัณฑ์ ควรกล่าวให้พิศดารทั้งหมด.
               ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปกล่าวว่า
                                   ผู้มีอายุทั้งหลาย เอาเถิด เรามาช่วยกันสังคายนา
                         ธรรมและวินัย ต่อไปเมื่อหน้า อธรรมรุ่งเรือง ธรรมก็จะ
                         ร่วงโรย อวินัยรุ่งเรือง วินัยก็จะร่วงโรย เมื่อหน้า อธรรม
                         วาทีมีกำลัง ธรรมวาทีก็จะอ่อนกำลัง อวินัยวาทีมีกำลัง
                         วินัยวาทีก็จะอ่อนกำลัง.


               ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระโปรดเลือกภิกษุทั้งหลายเถิด. พระเถระละเว้นภิกษุที่เป็นปุถุชน โสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและพระขีณาสพสุกขวิปัสสก ผู้ทรงพระปริยัติ คือนวังคสัตถุศาสน์ทั้งสิ้น เป็นจำนวนหลายร้อยหลายพันรูป เลือกเอาเฉพาะภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ประเภทเตวิชชาเป็นต้น ผู้ทรงปริยัติ คือพระไตรปิฎกทั้งหมด บรรลุปฏิสัมภิทา มีอานุภาพยิ่งใหญ่โดยมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะ ที่พระสังคีติกาจารย์มุ่งหมายกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปคัดเลือกพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปหย่อนอยู่รูปหนึ่ง ดังนี้.
               ถามว่า ทำไม พระเถระจึงทำให้หย่อนอยู่รูปหนึ่ง.
               ตอบว่า เพื่อไว้ช่องโอกาสแก่ท่านพระอานนท์เถระ เพราะว่า ทั้งร่วมกับท่านพระอานนท์ ทั้งเว้นท่านพระอานนท์เสียไม่อาจทำสังคายนาธรรมได้ ด้วยว่าพระอานนท์นั้นเป็นพระเสขะยังมีกิจที่ต้องทำอยู่ ฉะนั้นจึงไม่อาจร่วมได้ แต่เพราะเหตุที่นวังคสัตถุศาสน์มีสุตตะและเคยยะเป็นต้น ข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งพระทศพลทรงแสดงแล้ว ที่ชื่อว่า ท่านพระอานนท์ไม่ได้รับต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มี ฉะนั้น จึงไม่อาจเว้นเสียได้.
               ผิว่า ท่านพระอานนท์แม้เป็นเสขะอยู่ ก็น่าที่พระเถระจะพึงเลือก เพราะเป็นผู้มีอุปการะมาก ต่อการทำสังคายนาธรรม แต่เพราะเหตุไร พระเถระจึงไม่เลือกเล่า. เพราะจะหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนเสีย. ความจริง พระเถระมีความสนิทสนมอย่างเหลือเกินในท่านพระอานนท์.
               จริงอย่างนั้น ถึงท่านพระอานนท์จะมีศีรษะหงอกแล้ว. พระเถระก็ยังสั่งสอนท่านด้วยวาทะว่า เด็ก ว่า “เด็กคนนี้ ไม่รู้จักประมาณเสียเลย”. อนึ่ง ท่านพระอานนท์นี้เกิดในตระกูลศากยะ เป็นพระอนุชาของพระตถาคต เป็นโอรสของพระเจ้าอา. ในการคัดเลือกท่านพระอานนท์ ภิกษุทั้งหลายจะสำคัญประหนึ่งท่านลำเอียงเพราะรัก จะพึงตำหนิติเตียนว่า พระเถระละเว้นเหล่าภิกษุผู้บรรลุอเสขปฏิสัมภิทาเสีย ไปเลือกพระอานนท์ผู้บรรลุเสขปฏิสัมภิทา. พระเถระเมื่อจะหลีกเลี่ยงคำตำหนิติเตียนนั้น คิดว่า “เว้นพระอานนท์เสีย ก็ไม่อาจทำสังคายนากันได้ เราจะเลือกก็ต่อเมื่อภิกษุทั้งหลายอนุมัติเท่านั้น” ดังนี้ จึงไม่เลือกเอง.
               ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายพากันร้องขอพระเถระเพื่อเลือกท่านพระอานนท์เสียเองเลย
               เหมือนอย่างที่พระอานนท์กล่าวไว้ว่า
                                   ภิกษุทั้งหลาย ได้กราบเรียนท่านพระมหากัสสป
                         อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระอานนท์นี้ ถึงแม้
                         จะเป็นพระเสขะ แต่ก็ไม่ควรจะลำเอียงเพราะรัก เพราะ
                         เกลียด เพราะหลง เพราะกลัว ก็ท่านพระอานนท์นี้ได้
                         ร่ำเรียนธรรมและวินัยมาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า
                         เป็นอันมาก ถ้าอย่างนั้น ขอพระเถระโปรดเลือกท่าน
                         พระอานนท์ด้วยเถิด เจ้าข้า. ครั้งนั้นแล ท่านพระมหา
                         กัสสป จึงได้เลือกท่านพระอานนท์ด้วย
ดังนี้.

               พระเถระจึงได้มีจำนวนครบ ๕๐๐ รูป รวมทั้งท่านพระอานนท์ที่พระเถระเลือก โดยอนุมัติของภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
               ลำดับนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลายปรึกษากันว่า เราจะช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย ที่ไหนเล่าหนอ. ได้ตกลงกันว่า กรุงราชคฤห์ มีโคจรที่หาอาหารมาก มีเสนาสนะมาก ถ้ากระไร เราจะอยู่จำพรรษา ช่วยกันทำสังคายนา ณ กรุงราชคฤห์. ภิกษุเหล่าอื่น [ที่ไม่ได้รับคัดเลือก] ไม่พึงเข้าจำพรรษา ณ กรุงราชคฤห์.
               ก็เหตุไร ภิกษุผู้เถระเหล่านั้นจึงได้ตกลงกันดังนั้น
               เพราะท่านดำริว่า การทำสังคายนานี้ เป็นถาวรกรรมของเรา บุคคลผู้เป็นวิสภาคไม่ถูกกัน จะพึงเข้ามาท่ามกลางสงฆ์ แล้วรื้อถาวรกรรมนั้นเสีย.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปจึงประกาศด้วยญัตติทุติยกรรม.
               คำประกาศนั้น พึงทราบตามนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในสังคีติขันธกะนั่นแล.
               ครั้งนั้น นับแต่พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน เมื่อการเล่นสาธุกีฬา ล่วงไป ๗ วัน การบูชาพระธาตุล่วงไปอีก ๗ วัน พระมหากัสสปเถระรู้ว่า เวลาล่วงไปครึ่งเดือนแล้ว ยังเหลือเวลาเดือนครึ่ง ก็กระชั้นชิดดิถีเข้าจำพรรษา จึงกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เราจะพากันไปกรุงราชคฤห์ ก็พาหมู่ภิกษุครึ่งหนึ่งเดินทางแยกไปทางหนึ่ง แม้พระอนุรุทธเถระก็พาหมู่ภิกษุครึ่งหนึ่งแยกไปอีกทางหนึ่ง ส่วนพระอานนท์เถระถือบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันหมู่ภิกษุแวดล้อม ประสงค์จะไปกรุงสาวัตถี [ก่อน] แล้ว จึงจะไปกรุงราชคฤห์ ก็แยกทางจาริกไปทางกรุงสาวัตถี. ในสถานที่พระอานนท์เถระไปถึงๆ ก็ได้มีเสียงครวญคร่ำรำพันขนานใหญ่ว่า ท่านอานนท์เจ้าข้า ท่านอานนท์เก็บพระศาสดาไว้เสียที่ไหน มาแล้ว. เมื่อพระเถระถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ ได้มีเสียงครวญคร่ำรำพันขนานใหญ่ เหมือนในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน.
               ข่าวว่า สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ ต้องปลอบมหาชนนั้น ด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยอนิจจตาความไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วจึงเข้าไปยังพระเชตวันวิหาร เปิดพระทวารแห่งพระคันธกุฎีที่พระทศพลประทับ แล้วนำเตียงตั่งออกเคาะปัดกวาดพระคันธกุฎี ทิ้งขยะคือดอกไม้แห้ง นำเตียงตั่งเข้าไปตั้งไว้ตามเดิมอีก ได้กระทำวัตรปฏิบัติทุกอย่างที่ควรทำ เหมือนในครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่.
               พระเถระแข็งใจดื่มยาระบายเจือน้ำนมในวันที่ ๒ เพื่อทำกายที่มีธาตุหนักให้เบา เพราะตั้งแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ท่านต้องยืนมาก นั่งมาก จึงนั่งอยู่แต่ในวิหารเท่านั้น ซึ่งท่านอ้างถึง จึงกล่าวกะเด็กหนุ่ม ที่สุภมาณพใช้ไปดังนี้ว่า
               ดูก่อนพ่อหนุ่ม วันนี้ยังไม่เหมาะ เพราะเราดื่มยาถ่าย ต่อพรุ่งนี้เราจึงจะเข้าไป.
               วันที่ ๒ พระเถระมีพระเจตกเถระ เป็นปัจฉาสมณะผู้ติดตาม จึงเข้าไป ถูกสุภมาณพถามปัญหาแล้ว ได้กล่าวสูตรที่ ๑๐ ชื่อ สุภสูตร๒- ในทีฆนิกาย. คราวนั้น พระเถระขอให้สุภมาณพ ช่วยปฏิสังขรณ์สิ่งสลักหักพังในพระเชตวันวิหาร ครั้นจวนจะเข้าพรรษาจึงไปยังกรุงราชคฤห์. พระมหากัสสปเถระและพระอนุรุทธเถระก็อย่างนั้น พาหมู่ภิกษุทั้งหมดไปยังกรุงราชคฤห์เหมือนกัน.
____________________________
๒- ที.สี. ๙/ข้อ ๓๑๔ เป็นต้น

               สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีวัดใหญ่อยู่ ๑๘ วัด ทุกวัดมีหยากเยื่อที่เขาทิ้งตกเรี่ยราดไปทั้งนั้น. เพราะในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพาน ภิกษุทั้งหลายถือบาตรจีวรของตนทอดทิ้งวัดและบริเวณไปกันหมด.
               ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลายคิดกันว่า เราจะช่วยกันปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุดโทรมตลอดเดือนแรกแห่งพรรษา เพื่อบูชาพระพุทธดำรัส และปลดเปลื้องคำตำหนิติเตียนของพวกเดียรถีย์. ด้วยว่า พวกเดียรถีย์พากันติเตียนว่า พวกสาวกของพระสมณโคดม เมื่อศาสดายังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยกันทะนุบำรุง ครั้นศาสดาปรินิพพานแล้ว ก็พากันทอดทิ้งไป.
               ท่านอธิบายว่า พระเถระทั้งหลายคิดกันดังนั้น ก็เพื่อปลดเปลื้องคำตำหนิติเตียนของเดียรถีย์พวกนั้น.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   ภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลาย ปรึกษากันดังนี้ว่า ผู้มี
                         อายุทั้งหลาย การปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุดโทรม
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้ เอาเถิดผู้มีอายุ
                         ทั้งหลาย จำเราจะช่วยกันปฏิสังขรณ์วิหารที่ชำรุดทรุด
                         โทรม ตลอดเดือนแรก เดือนกลางเราจึงจักประชุม
                         ช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย.

               วันที่สอง พระเถระเหล่านั้นพากันไปยืนอยู่ใกล้ประตูพระราชนิเวศน์ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมาทรงไหว้แล้วปวารณาว่า ท่านเจ้าข้า โยมจะช่วยอะไรได้บ้าง พระคุณเจ้าต้องการอะไร. พระเถระทั้งหลายถวายพระพรขอหัตถกรรมงานฝีมือ เพื่อต้องการปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ ๑๘ วัด. พระราชาทรงรับว่า สาธุ ดีละ เจ้าข้า แล้วพระราชทานผู้คนที่เป็นช่างฝีมือ. พระเถระทั้งหลายให้ปฏิสังขรณ์วิหารทั้งหมด ตลอดเดือนแรก.
               ต่อมา จึงกราบทูลพระราชาว่า ขอถวายพระพร งานปฏิสังขรณ์วิหารเสร็จแล้ว บัดนี้ อาตมภาพทั้งหลายจะช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย. พระราชามีพระดำรัสว่า ดีละ เจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าโปรดทำอย่างสบายใจเถิด การอาณาจักรไว้เป็นธุระของโยม ฝ่ายการธรรมจักรเป็นธุระของพระคุณเจ้า โปรดสั่งมาเถิดเจ้าข้า จะให้โยมช่วยอะไร. พระเถระทั้งหลาย ถวายพระพรทูลว่า ถวายพระพร โปรดให้สร้างสถานที่นั่งประชุม สำหรับภิกษุทั้งหลายผู้จะช่วยกันทำสังคายนาธรรม. ตรัสถามว่า จะทำที่ตรงไหนเล่า เจ้าข้า. ทูลว่า ถวายพระพร ทำใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณข้างภูเขาเวภาระน่าจะเหมาะมหาบพิตร.
               พระเจ้าอชาตศัตรูรับสั่งว่า ดีละ เจ้าข้า แล้วโปรดให้สร้างมณฑปใหญ่ มีฝา เสาและบันไดอันจัดไว้อย่างดี วิจิตรด้วยลายดอกไม้และลายเครือเถานานาชนิด เสมือนวิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ แต่มณฑปใหญ่นั้น ให้มีเพดานทองกลมกลืนกับพวงดอกไม้ชนิดต่างๆ อันห้อยย้อยอยู่ งานภาคพื้นดินก็ปรับเสร็จเป็นอันดี งดงามด้วยดอกไม้บูชานานาพันธุ์ ประหนึ่งพื้นทางเดินอันปรับด้วยลูกรังดังมณีรัตนวิจิตร เสมือนวิมานพรหม โปรดให้ปูลาดอาสนะอันเป็นกัปปิยะ ๕๐๐ ที่ มีค่านับมิได้
               ในมณฑปใหญ่นั้น สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้ปูลาดอาสนะพระเถระ หันหน้าทางทิศเหนือ หันหลังทางทิศใต้ ให้ปูลาดธรรมาสน์ที่นั่งแสดงธรรม อันควรเป็นอาสนะสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า หันหน้าทางทิศตะวันออก ท่ามกลางมณฑป วางพัดทำด้วยงาช้างไว้บนธรรมาสน์นั้น แล้วมีรับสั่งให้เผดียงแจ้งแก่ภิกษุสงฆ์ว่า กิจกรรมเสร็จแล้ว เจ้าข้า.
               ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พรุ่งนี้เป็นวันประชุมสงฆ์ ส่วนตัวท่านเป็นเสขะ ยังมีกิจที่จะต้องทำ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงไม่ควรไปประชุม ขอท่านจงอย่าประมาทนะ.
               ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม การที่เรายังเป็นเสขะไปประชุม ไม่สมควรเลย ดังนี้ จึงยับยั้งอยู่ด้วยกายคตาสติตลอดราตรีเป็นอันมาก เวลาใกล้รุ่งจึงลงจากที่จงกรมเข้าไปยังวิหาร นึกถึงกาย หมายจะนอนพัก. เท้าทั้งสองพ้นพื้น และศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนั้น จิตไม่ยึดมั่น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย.
               ความจริง ท่านพระอานนท์นี้ยับยั้งอยู่ภายนอก ด้วยการจงกรม ไม่อาจทำคุณวิเศษให้เกิดได้ จึงดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราไว้มิใช่หรือว่า อานนท์ เธอมีบุญที่ทำไว้แล้ว จงประกอบความเพียรเนืองๆ ก็จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะได้ฉับพลัน ก็ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสไว้ไม่ผิด เราคงปรารถนาความเพียรเกินไป ด้วยเหตุนั้น จิตของเราจึงเป็นไปทางฟุ้งซ่าน เอาเถิด จำเราจะประกอบความเพียรแต่พอดี จึงลงจากที่จงกรมยืน ณ ที่ล้างเท้า ล้างเท้าแล้วก็เข้าวิหาร นั่งบนเตียง คิดจะพักเสียหน่อยหนึ่ง ก็เอนกายลงบนเตียง. เท้าทั้งสองพ้นพื้น และศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน. ในระหว่างนั้น จิตไม่ยึดมั่น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย. พระอรหัตของพระเถระ เว้นจากอิริยาบถ ๔ ด้วยเหตุนั้น เมื่อถามกันว่า ในพระศาสนานี้ ภิกษุรูปไร ไม่นั่ง ไม่นอน ไม่ยืน ไม่เดิน บรรลุพระอรหัต ก็ควรจะตอบว่า พระอานนทเถระ.
               ในวันที่สอง พระภิกษุเถระทั้งหลายฉันภัตตาหาร เก็บงำบาตรจีวรแล้ว ก็ประชุมกัน ณ ธรรมสภา. ส่วนพระอานนทเถระประสงค์จะให้สงฆ์รู้การบรรลุพระอรหัตของตน จึงไม่ไปพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลาย เมื่อนั่งเหนืออาสนะที่ถึงแก่ตนๆ ตามอาวุโส ก็นั่งเว้นอาสนะของพระอานนทเถระไว้. ในที่นั้น เมื่อมีพระเถระบางเหล่าถามว่า นั่นอาสนะของใคร ก็มีเสียงตอบว่า ของพระอานนท์. ถามว่า ก็พระอานนท์ไปไหนเสียเล่า. สมัยนั้น พระเถระดำริว่า บัดนี้ เป็นเวลาที่เราไปได้ละ. ดังนั้น เมื่อสำแดงอานุภาพของตน จึงดำดินไปแสดงตัวเหนืออาสนะของตนเลย. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เหาะมานั่งก็มี.
               เมื่อพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระมหากัสสปเถระจึงปรึกษากะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย เราจะสังคายนาอะไรก่อน ธรรมหรือวินัย.
               ภิกษุทั้งหลายจึงเรียนว่า ข้าแต่ท่านมหากัสสปะ ธรรมดาว่าวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อวินัยยังดำรงอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่าดำรงอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น เราจะสังคายนาวินัยก่อน. พระเถระถามว่า จะมอบให้ใครเป็นธุระสังคายนาวินัยเล่า. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ท่านพระอุบาลี เจ้าข้า. พระเถระถามแย้งว่า พระอานนท์ไม่สามารถหรือ. ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ไม่ใช่ไม่สามารถดอกเจ้าข้า แต่ทว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังดำรงพระชนม์อยู่ ทรงอาศัยการเล่าเรียนพระปริยัติ [ของท่าน] จึงทรงสถาปนาท่านพระอุบาลีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุบาลีเป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกของเราผู้ทรงพระวินัย ดังนี้ เพราะฉะนั้น เราจะถามพระอุบาลีเถระช่วยกันสังคายนาวินัย. แต่นั้น พระเถระจึงสมมติตนด้วยตนเอง เพื่อถามวินัย ฝ่ายพระอุบาลีเถระก็สมมติตน เพื่อตอบวินัย ในข้อนั้น มีบาลีดังนี้
               ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะเผดียงสงฆ์ว่า
               สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อุปาลึ วินยํ ปุจฺเฉยฺยํ.
               ดูก่อนท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะถามวินัยกะท่านอุบาลี.


               แม้ท่านพระอุบาลีก็เผดียงสงฆ์ว่า
               สุณาตุ เม ภนฺเต สงโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อายสฺมตา มหากสฺสเปน วินยํ ปุฏฺโฐ วิสฺสชฺเชยฺยํ.
               ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปะถามแล้ว จะตอบวินัย.

               ท่านพระอุบาลี ครั้นสมมติตนด้วยตนเองอย่างนี้แล้ว ก็ลุกจากอาสนะ หุ่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้พระภิกษุชั้นเถระแล้ว นั่งเหนือธรรมาสน์จับพัดทำด้วยงา ต่อนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระจึงถามวินัยทั้งหมดตั้งแต่ปฐมปาราชิกเป็นต้นไป กะท่านพระอุบาลีเถระ. ท่านพระอุบาลีเถระก็ตอบ พระภิกษุหมดทั้ง ๕๐๐ รูป ก็สวดเป็นหมู่พร้อมๆ กัน ตั้งแต่ปฐมปาราชิกสิกขาบท พร้อมทั้งนิทานไป แม้สิกขาบทนอกนั้น ก็สวดอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พึงถือเรื่องทั้งหมดตามอรรถกถาวินัย. ท่านพระอุบาลีเถระครั้นสังคายนาวินัยปิฎกทั้งสิ้น พร้อมทั้งวิภังค์ทั้งสอง [ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์] พร้อมด้วยคัมภีร์ขันธกะและปริวารโดยนัยนี้แล้ว ก็วางพัดงา ลงจากธรรมาสน์ ไหว้ภิกษุผู้เฒ่าแล้ว ก็นั่งเหนืออาสนะที่ถึงแก่ตน.
               ท่านพระมหากัสสปเถระ ครั้นสังคายนาวินัยแล้วประสงค์จะสังคายนาธรรม จึงถามภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายเมื่อจะสังคายนาธรรม จะมอบบุคคลไรเป็นธุระสังคายนาธรรม. ภิกษุทั้งหลายจึงเรียนว่า มอบท่านพระอานนทเถระให้เป็นธุระ.
               ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงเผดียงสงฆ์ว่า
               สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อานนฺทํ ธมฺมํ ปุจฺเฉยฺยํ.
               ดูก่อนท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าจะถามธรรมกะท่านอานนท์.


               ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ก็เผดียงสงฆ์ว่า
               สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ, ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ อหํ อายสฺมตา มหากสฺสเปน ธมฺมํ ปุฏฺโฐ วิส์สชฺเชยฺยํ.
               ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์โปรดฟังข้าพเจ้า ผิว่า สงฆ์พรักพร้อมแล้ว ข้าพเจ้าอันท่านพระมหากัสสปะถามแล้ว จะตอบธรรม
ดังนี้.
               ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้พระภิกษุชั้นเถระแล้ว ก็นั่งเหนือธรรมาสน์ถือพัดงา. ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปเถระถามธรรมกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ พรหมชาลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ณ ที่ไหน. ตอบว่า ตรัสที่พระตำหนักในพระราชอุทยานชื่ออัมพลัฏฐิกา ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา.
               ถามว่า ทรงปรารภใคร. ตอบว่า ทรงปรารภสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตตมาณพ.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปถามท่านพระอานนท์ถึงนิทานแห่งพรหมชาลสูตร ถามทั้งบุคคล.
               ถามว่า ท่านอานนท์ ก็สามัญญผลสูตรเล่าตรัสที่ไหน. ตอบว่า ที่สวนมะม่วงของหมอชีวก กรุงราชคฤห์ เจ้าข้า.
               ถามว่า ตรัสกับใคร ตอบว่า กับพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร โอรสพระนางเวเทหิ เจ้าข้า.
               ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงถามท่านพระอานนท์ ถึงนิทานแห่งสามัญญผลสูตร ถามทั้งบุคคล ท่านพระมหากัสสปถามแม้ทั้ง ๕ นิกาย โดยอุบายนี้นี่แล ท่านพระอานนท์ถูกถามแล้วถามเล่าก็ตอบได้หมด.
               ปฐมมหาสังคีติสังคายนาใหญ่ครั้งแรกนี้ พระเถระ ๕๐๐ รูปช่วยกันทำ
                                   สเตหิ ปญฺจหิ กตา    เตน ปญฺจสตาติ จ
                                   เถเรเหว กตตฺตา จ    เถริกาติ ปวุจฺจติ.
                                   ปฐมมหาสังคีติ การทำสังคายนาใหญ่ครั้งแรก อัน
                         พระเถระ ๕๐๐ รูปช่วยกันทำ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงเรียกว่า
                         ปัญจสตา และเพราะภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระเถระทั้งนั้น
                         จึงเรียกว่า เถริกา ลัทธิเถรวาท.


               เมื่อปฐมมหาสังคีตินี้ กำลังดำเนินไป เมื่อท่านพระอานนท์ อันท่านพระมหากัสสปะ ครั้นถามคัมภีร์ทีฆนิกายและคัมภีร์มัชฌิมนิกายเป็นต้นหมดแล้ว เมื่อจะถามคัมภีร์ขุททกนิกาย ตามลำดับ ในท้ายคำที่ท่านถามเป็นต้นอย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ มงคลสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ณ ที่ไหน ดังนี้ จึงถามถึงนิทานในคำนี้ว่า ถามทั้งนิทาน ถามทั้งบุคคล.
               ท่านพระอานนท์ประสงค์จะกล่าวนิทานนั้นให้พิศดารว่า ตรัสอย่างใด ผู้ใดฟังมา ฟังเมื่อใด และผู้ใดกล่าว กล่าวที่ใด กล่าวแก่ผู้ใด จะกล่าวข้อความนั้นให้หมด
               เมื่อจะแสดงความนั้นว่า ตรัสไว้อย่างนี้. ข้าพเจ้าฟังมา, ฟังมาสมัยหนึ่ง, พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส, ตรัสที่กรุงสาวัตถี, ตรัสแก่เทวดา ดังนี้
               จึงกล่าวว่า
               เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ฯเปฯ ภควนฺตํ คาถาย อชฺฌภาสิ.

               คำนี้ ท่านพระอานนท์กล่าวไว้อย่างนี้.
               ก็แล คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ในเวลาทำปฐมมหาสังคีติ.
               บัดนี้ จะอธิบายในข้อนี้ว่า ตรัสเพราะเหตุไร. เพราะเหตุที่ท่านพระมหากัสสปะถามถึงนิทาน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิทานนั้นไว้พิศดารตั้งแต่ต้น อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่เทวดาบางเหล่าเห็นท่านพระอานนท์นั่งเหนือธรรมาสน์ ห้อมล้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญ จึงเกิดจิตคิดว่า “ท่านพระอานนท์นี้เป็นเวเทหมุนี แม้โดยปกตินับเพียงอยู่ในศากยตระกูล เป็นทายาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะถึง ๕ สถาน เป็นผู้ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ ประการ เป็นที่รักที่ต้องใจของบริษัท ๔ บัดนี้ เห็นทีจะเป็นรัชทายาทโดยธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดเป็นพุทธะ ผู้รู้” .
               ฉะนั้น ท่านพระอานนท์รู้ทั่วถึงความปริวิตกทางใจของเทวดาเหล่านั้นด้วยใจตนเอง ทนการยกย่องคุณที่ไม่เป็นจริงนั้นไม่ได้ เพื่อแสดงภาวะที่ตนเป็นเพียงสาวก จึงกล่าวว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ฯเปฯ อชฺฌภาสิ. ในระหว่างนี้พระอรหันต์ ๕๐๐ รูปและเทวดาหลายพันก็ชื่นชมท่านพระอานนท์ว่า สาธุ สาธุ. แผ่นพื้นมหาปฐพีก็ไหว ฝนดอกไม้นานาชนิดก็หล่นลงจากอากาศ ความอัศจรรย์อย่างอื่นก็ปรากฏมากมาย และเทวดามากหลายก็เกิดความสังเวชว่า คำใด เราฟังมาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คำนั้นแม้เหตุการณ์ผ่านพ้นสายตามาแล้ว ก็มาเกิดได้. คำนี้ท่านพระอานนท์ แม้จะกล่าวในเวลาทำปฐมมหาสังคีติ ก็พึงทราบว่าท่านกล่าวเพราะเหตุนี้ ด้วยประการฉะนี้. ด้วยการพรรณนามาเพียงเท่านี้ ก็เป็นอันประกาศความแห่งกึ่งคาถานี้ว่า
               วุตฺตํ เยน ยทา ยสฺมา เจตํ วตฺวา อิมํ วิธึ
               กล่าววิธีนี้ว่า ผู้ใดกล่าว กล่าวเมื่อใด กล่าวเพราะเหตุใด

               พรรณนาปาฐะว่า เอวํ เป็นต้น               
               เพื่อประกาศความที่รวบรัดไว้ด้วยหัวข้อเป็นต้นอย่างนี้ว่า เอวมิจฺจาทิปาฐสฺส อตฺถํ นานปฺปการโต ความแห่งปาฐะว่า เอวํ เป็นต้น โดยประการต่างๆ
               บัดนี้ ขออธิบายดังนี้ ศัพท์ว่า เอวํ นี้ พึงเห็นว่า
               ใช้ในอรรถทั้งหลายมีเป็นต้นว่า ความเปรียบเทียบ ความแนะนำ ความยกย่อง ความติเตียน การรับคำ อาการ การชี้แจง การห้ามความอื่น
               จริงอย่างนั้น เอวํ ศัพท์นี้
               ใช้ในความเปรียบเทียบ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เอวํ ชาเตน มจฺเจน กตฺตพฺพํ กุสลํ พหุํ
                         สัตว์เกิดมาแล้ว ควรบำเพ็ญกุศลให้มาก
ฉันนั้น
               ใช้ในความแนะนำ ได้ในประโยคเป็นต้น
                         เอวํ เต อภิกฺกมิตพฺพํ เอวํ เต ปฏิกฺกมิตพฺพํ
                         เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้.

               ใช้ในความยกย่อง ได้ในประโยคเป็นต้น
                         เอวเมตํ ภควา เอวเมตํ สุคต
                         ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ พระสุคต.

               ใช้ในความติเตียน ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         เอวเมวํ ปนายํ วสลี ยสฺมึ วา ตสฺส มุณฺฑกสฺส สมณกสฺส วณฺณํ ภาสติ
                         ก็หญิงถ่อยคนนี้กล่าวสรรเสริญสมณะหัวโล้นนั้น อย่างนี้ อย่างนี้ ทุกหนทุกแห่ง.

               ใช้ในการรับคำ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เอวํ ภนฺเตติ โข เต ภิกฺขู ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ
                         ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

               ใช้ในอาการ ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         เอวํ พฺยา โข อหํ ภนฺเต ภควตา ธมฺมํ เทสิตํ อาชานามิ
                         ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว อย่างนี้ จริง.

               ใช้ในการชี้แจง ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         เอหิ ตฺวํ มาณวก เยน สมโณ อานนฺโท เตนุปสงฺกม. อุปสงฺกมิตฺวา มม วจเนน สมณํ อานนฺทํ อปฺปาพาธํ อปฺปาตงฺกํ ลหุฏฺฐานํ พลํ ผาสุวิหารํ ปุจฺฉ สุโภ มาณโว โตเทยฺยปุตฺโต ภวนฺตํ อานนฺทํ อปฺปาพาธํ อปฺปาตงฺกํ ลหุฏฺฐานํ พลํ ผาสุวิหารํ ปุจฺฉตีติ เอวญฺจ วเทหิ สาธุ กิร ภวํ อานนฺโท เยน สุภสฺส มาณวสฺส โตเทยฺยปุตฺตสฺส นิเวสนํ เตนุปสงฺกมตุ อนุกมฺปํ อุปาทาย.

                         มานี่แน่ะ พ่อหนุ่ม เจ้าจงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วเรียนถามท่านพระอานนท์ ถึงความไม่มีอาพาธ ความไม่มีโรค ความคล่องแคล่ว ความมีกำลัง ความอยู่สำราญ และจงพูดอย่างนี้ว่า สุภมาณพโตเทยยบุตร เรียนถามท่านพระอานนท์ถึงความไม่มีอาพาธ ความไม่มีโรค ความคล่องแคล่ว ความมีกำลัง ความอยู่สำราญ และจงกล่าวอย่างนี้ว่า สาธุ ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพโตเทยยบุตรด้วยเถิด.
               ใช้ในการห้ามความอื่น ได้ในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                                   ตํ กึ มญฺญถ กาลามา อิเม ธมฺมา กุสลา วา อกุสลา วาติ.
                         อกุสลา ภนฺเตติ. สาวชฺชา วา อนวชฺชา วาติ. สาวชฺชา ภนฺเตติ.
                         วิญฺญุครหิตา วา วิญฺญุปฺปสตฺถา วาติ. วิญฺญุครหิตา ภนฺเตติ.
                         สมตฺตา สมาทินฺนา อหิตาย ทุกฺขาย สํวตฺตนฺติ โน วา กถํ โว
                         เอตฺถ โหตีติ. สมตฺตา ภนฺเต สมาทินฺนา อหิตาย ทุกฺขาย
                         สํวตฺตนฺติ เอวํ โน เอตฺถ โหตีติ.
                                   ตรัสถามว่า ดูก่อนชาวกาลามะทั้งหลาย ท่านจะสำคัญ
                         ความข้อนั้นอย่างไร ธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรืออกุศล. ทูลตอบ
                         ว่า เป็นอกุศล พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า มีโทษหรือไม่มีโทษ.
                         ทูลตอบว่า มีโทษ พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า วิญญูชนติเตียน
                         หรือสรรเสริญเล่า. ทูลตอบว่า ติเตียน พระเจ้าข้า. ตรัสถาม
                         ว่า บุคคลสมาทานบริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์
                         เพื่อทุกข์หรือมิใช่ ในข้อนี้ ท่านมีความเห็นอย่างไร. ทูลตอบ
                         ว่า บุคคลสมาทานบริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์
                         เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเห็นในข้อนี้ อย่างนี้ พระเจ้าข้า.


               แต่ในที่นี้ พึงเห็นว่า เอวํศัพท์ ใช้ในอรรถ คืออาการ การชี้แจง และการห้ามความอื่น. ในอรรถทั้ง ๓ นั้น พระเถระแสดงอรรถนี้ด้วย เอวํ ศัพท์ ที่มีอรรถเป็นอาการว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ละเอียดโดยนัยต่างๆ เกิดขึ้นโดยมากอัธยาศัย สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่าง ลุ่มลึกโดยธรรม อรรถ เทศนาและปฏิเวธ มากระทบโสต พอเหมาะแก่ภาษาของตนๆ ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใครจะสามารถรู้ได้โดยประการทั้งปวง แต่ข้าพเจ้าแม้ใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดให้เกิดความอยากจะฟัง ก็ได้ฟังมาอย่างนี้ คือแม้ข้าพเจ้าก็ได้ฟังมาแล้วโดยอาการอย่างหนึ่ง.
               ด้วยเอวํศัพท์ ที่มีอรรถเป็นการชี้แจง พระเถระเมื่อจะเปลื้องตนว่า ข้าพเจ้ามิใช่พระสยัมภู พระสูตรนี้ ข้าพเจ้ามิได้ทำให้แจ้ง จึงแสดงพระสูตรทั้งสิ้นที่ควรกล่าวในบัดนี้ว่า เอวมฺเม สุตํ คือแม้ข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างนี้.
               ด้วยเอวํศัพท์ ที่มีศัพท์เป็นการห้ามความอื่น พระเถระเมื่อแสดงพลังความทรงจำของตน อันควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นยอดของภิกษุสาวกของเรา ซึ่งเป็นพหูสูต มีคติ มีสติ มีธิติ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ดังนี้ ย่อมให้เกิดความอยากฟังแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยกล่าวว่า ข้าพเจ้าฟังมาแล้วอย่างนี้ คำนั้นไม่ขาดไม่เกิน ไม่ว่าโดยอรรถหรือพยัญชนะ บัณฑิตพึงเห็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่พึงเห็นเป็นอย่างอื่น.

               แก้บท เม               
               เมศัพท์ พบกันอยู่ในความ ๓ ความ.
               จริงอย่างนั้น เมศัพท์ มีความว่า มยา อันเรา ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         คาถาภิคีตํ เม อโภชเนยฺยํ
                         โภชนะที่ได้มาด้วยการขับกล่อม อันเราไม่ควรบริโภค.

               มีความว่า มยฺหํ แก่เรา ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         สาธุ เม ภนฺเต ภควา สงฺขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุ
                         ดีละ พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.

               มีความว่า มม ของเรา ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ธมฺมทายาทา เม ภิกฺขเว ภวถ
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด.

               แต่ในที่นี้ เมศัพท์ ย่อมถูกต้องในความทั้งสองคือ
                         เม สุตํ อันข้าพเจ้าฟังมา
                         มม สุตํ การฟังของข้าพเจ้า.

               แก้บท สุตํ               
               สุตศัพท์นี้ มีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรค ต่างกันโดยความหลายความ เช่นมีความว่า ไป ปรากฏ กำหนัด สั่งสม ขวนขวาย เสียงที่รู้ทางโสตะ และรู้ตามแนวโสตทวารเป็นต้น. จริงอย่างนั้น สุตศัพท์นั้น
               มีความว่า ไป ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         เสนาย ปสุโต
                         เคลื่อนทัพไป.

               มีความว่า ปรากฏ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต
                         ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่.

               มีความว่า กำหนัด ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         อวสฺสุตา อวสฺสุตสฺส
                         ภิกษุณีมีความกำหนัด ยินดีการที่ชายผู้มีความกำหนัดมาลูบคลำจับต้องกาย.

               มีความว่า สั่งสม ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ตุมฺเหหิ ปฺญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ
                         ท่านทั้งหลายสั่งสมบุญเป็นอันมาก.

               มีความว่า ขวนขวาย ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         เย ฌานปฺปสุตา
                         ธีรา ปราชญ์เหล่าใดขวนขวายในฌาน.

               มีความว่า เสียงที่รู้ทางโสตะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         ทิฏฺฐํ สุตํ มุตํ
                         รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ทราบ.

               มีความว่า รู้ตามแนวโสตทวาร ได้ในประโยคเป็นต้นว่า
                         สุตธโร สุตสนฺนิจโย
                         ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ.

               แต่ในที่นี้ ศัพท์ว่า สุตะ มีความว่า เข้าไปทรงไว้หรือการทรงจำไว้ด้วยวิถีวิญญาณ ซึ่งมีโสตวิญญาณเป็นหัวหน้า. ในคำนั้น เมื่อใด เมศัพท์ มีความว่า มยา อันข้าพเจ้า เมื่อนั้นก็ประกอบความว่า อันข้าพเจ้าฟังมาแล้ว คือทรงจำไว้แล้วด้วยวิถีวิญญาณ อันมีโสตวิญญาณเป็นหัวหน้า อย่างนี้. เมื่อใด เมศัพท์มีความว่า มม ของข้าพเจ้า เมื่อนั้นก็ประกอบความว่าการฟังของข้าพเจ้าคือการทรงจำไว้ ด้วยวิถีวิญญาณอันมีโสตวิญญาณเป็นหัวหน้า.
               บรรดาบททั้ง ๓ เหล่านั้น ดังพรรณนามานี้ บทว่า เอวํ เป็นบทชี้ถึงกิจ คือหน้าที่ของโสตวิญญาณ. บทว่า มยา เป็นบทชี้ถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยโสตวิญญาณที่กล่าวแล้ว ทว่า สุตํ เป็นบทชี้ถึงการถือเอาไม่ขาดไม่เกินและไม่วิปริต เพราะปฏิเสธภาวะคือการไม่ได้ฟัง.
               นัยหนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงถึงภาวะที่จิตมีจิตคิดจะฟังเป็นต้นเป็นไปในอารมณ์ โดยประการต่างๆ บทว่า เม เป็นบทแสดงถึงตัว. บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงถึงธรรม.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทชี้แจงธรรมที่ควรชี้แจง. บทว่า เม เป็นบทชี้แจงตัวบุคคล. บทว่า สุตํ เป็นบทชี้แจงกิจคือหน้าที่ของตัวบุคคล.
               อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ อธิบายถึงประการต่างๆ ของวิถีจิตทั้งหลาย เป็นอาการบัญญัติ. ศัพท์ว่า เม อธิบายถึงตัวผู้ทำ. ศัพท์ว่า สุตํ อธิบายถึงวิสัย.
               อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ อธิบายถึงกิจหน้าที่ของบุคคล. ศัพท์ว่า สุตํ อธิบายถึงกิจหน้าที่ของวิญญาณ. ศัพท์ว่า เม อธิบายถึงบุคคลผู้กอปรด้วยกิจทั้งสอง.
               อีกนัยหนึ่ง ศัพท์ว่า เอวํ แสดงถึงภาวะ. ศัพท์ว่า เม แสดงถึงบุคคล. ศัพท์ว่า สุตํ แสดงถึงกิจของบุคคลนั้น.
               ในคำเหล่านั้น คำว่า เอวํ และว่า เม เป็นวิชชมานบัญญัติ โดยเป็นสัจฉิกัตถปรมัตถ์. คำว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ.
               อีกนัยหนึ่ง คำว่า เอวํ และ เม ชื่อว่า อุปาทาบัญญัติ เพราะกล่าวอาศัยอารมณ์นั้นๆ. คำว่า สุตํ ชื่อว่า อุปนิธาบัญญัติ เพราะกล่าวอ้างอารมณ์ มีอารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้น.
               ก็ในคำทั้ง ๓ นั้น พระเถระแสดงไม่หลงเลือนด้วยคำว่า เอวํ ความไม่หลงลืมเรื่องที่ฟังมาด้วยคำว่า สุตํ อนึ่ง พระเถระแสดงการใส่ใจโดยแยบคายด้วยคำว่า เอวํ เพราะไม่มีการแทงตลอดโดยประการต่างๆ สำหรับผู้ใส่ใจโดยไม่แยบคาย. แสดงความไม่ฟุ้งซ่านด้วยคำว่า สุตํ เพราะไม่มีการฟังสำหรับผู้มีจิตฟุ้งซ่าน.
               จริงอย่างนั้น บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แม้ท่านจะกล่าวครบถ้วนทุกอย่าง ก็จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ยิน โปรดพูดซ้ำสิ. ก็ในข้อนี้ บุคคลจะให้สำเร็จการตั้งตนไว้ชอบและความเป็นผู้ทำบุญไว้ก่อน ก็ด้วยการใส่ใจโดยแยบคาย จะให้สำเร็จการฟังธรรมของสัตบุรุษ และการพึ่งพาอาศัยสัตบุรุษ ก็ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ก็พระเถระแสดงความถึงพร้อมด้วยจักรธรรม ๒ ข้อหลังของตนด้วยอาการอันงาม ด้วยบทว่า เอวํ นี้ แสดงความถึงพร้อมด้วยจักรธรรม ๒ ข้อต้น ด้วยความเพียรฟัง ด้วยบทว่า สุตํ. อนึ่ง พระเถระแสดงความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย และความบริสุทธิ์แห่งความเพียรอย่างนั้น คือ แสดงความฉลาดในอธิคมด้วยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ทั้งแสดงความฉลาดในปริยัติ ด้วยความบริสุทธิ์แห่งความเพียร.
               อนึ่ง พระเถระแสดงความถึงพร้อมด้วยอรรถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตน ด้วยถ้อยคำอันแสดงปฏิเวธมีประการต่างๆ ด้วยคำว่า เอวํ นี้. แสดงความถึงพร้อมด้วยธรรมปฏิสัมภิทาและนิรุกติปฏิสัมภิทา ด้วยถ้อยคำอันแสดงปฏิเวธอันต่างด้วยข้อที่ควรฟัง ด้วยคำว่า สุตํ นี้ อนึ่ง พระเถระเมื่อกล่าวคำที่แสดงถึงความใส่ใจโดยแยบคายนี้ ก็ประกาศให้เขารู้ว่า ธรรมเหล่านี้ ข้าพเจ้าเพ่งด้วยใจแล้วรู้ทะลุปรุโปร่งแล้วด้วยทิฏฐิ ด้วยคำว่า เอวํ. เมื่อกล่าวคำอันแสดงถึงความเพียรฟังนี้ ก็ประกาศให้เขารู้ว่า ธรรมเป็นอันมาก ข้าพเจ้าฟังแล้วทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว ด้วยคำว่า สุตํ เมื่อแสดงความบริบูรณ์แห่งอรรถและพยัญชนะให้เกิดความเอื้อเฟื้อที่จะฟัง แม้ด้วยคำทั้งสองนี้.
               อนึ่ง ท่านพระอานนท์ไม่ตั้งธรรมที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว เพื่อตน ล่วงเสียซึ่งภูมิของอสัตบุรุษ เมื่อปฏิญาณความเป็นพระสาวก จึงก้าวลงสู่ภูมิของสัตบุรุษ ด้วยคำแม้ทั้งสิ้นว่า เอวํ เม สุตํ นี้. อนึ่ง พระเถระชื่อว่า ยกจิตขึ้นจากสัทธรรม ตั้งจิตไว้ในพระสัทธรรม. อนึ่ง เมื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าฟังมาแล้วอย่างสิ้นเชิง ชื่อว่า เปลื้องตน อ้างพระศาสดา แนบสนิทพระพุทธดำรัส ตั้งแบบแผนธรรมไว้.
               อนึ่งเล่า พระเถระไม่ยอมรับความที่คำว่า เอวํ เม สุตํ ตนทำให้เกิดขึ้น เมื่อเปิดการฟังมาก่อนใคร จึงควรทราบว่า ท่านชื่อว่าทำลายความไม่เชื่อ ทำให้เกิดสัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความเชื่อในพระธรรมนี้แก่มวลเทวดาและมนุษย์ว่า พระดำรัสนี้ ข้าพเจ้ารับมาต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้แกล้วกล้าด้วยจตุเวสารัชญาณ ผู้ทรงทศพล ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งสูงสุด ผู้บันลือสีหนาท ผู้ทรงเป็นยอดของสรรพสัตว์ ทรงเป็นใหญ่ในธรรม ทรงเป็นราชาแห่งธรรม อธิบดีแห่งธรรม ทรงมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทรงหมุนจักรอันประเสริฐ คือสัทธรรม ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะตรัสรู้ชอบลำพังพระองค์ ในบทดำรัสนั้นไม่ควรทำความสงสัยเคลือบแคลงในอรรถหรือธรรม บทหรือพยัญชนะเลย.
               ก็ในข้อนี้มีคำกล่าวว่า
                         วินาสยติ อสทฺธิยํ สทฺธํ วฑฺเฒติ สาสเน
               เอวมฺเม สุตมิจฺเจวํ วทํ โคตมสาวโก.
                         ท่านพระอานนท์ สาวกของพระโคดมพุทธเจ้า
               เมื่อกล่าวคำว่า เอวมฺเม สุตํ ชื่อว่าทำลายอสัทธิยะ
               ความไม่เชื่อ เพิ่มพูนศรัทธาความเชื่อในพระศาสนา.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตรในขุททกปาฐะ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 4อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 5อ่านอรรถกถา 25 / 7อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=41&Z=72
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=2022
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=2022
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :