ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 51อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 52อ่านอรรถกถา 25 / 53อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ ราชสูตร

               อรรถกถาราชสูตร               
               ราชสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า สมฺพหุลานํ ความว่า โดยสำนวนพระวินัยภิกษุ ๓ รูป เรียกว่า สัมพหุลา เลยจากนั้น เรียกว่าสงฆ์. แต่โดยสำนวนพระสูตร ๓ คนก็คงเรียกว่า ๓ คนนั่นเอง ถัดจากนั้น เรียกว่า สัมพหุลา. เพราะฉะนั้น แม้ในที่นี้ ว่าโดยสำนวนพระสูตรพึงทราบว่า สัมพหุลา.
               บทว่า อุปฏฺฐานสาลายํ ได้แก่ ในมณฑปอันเป็นที่ประชุมฟังธรรม.
               จริงอยู่ ธรรมสภานั้นท่านเรียกว่า อุปัฏฐานศาลา เพราะเป็นที่ที่พวกภิกษุกระทำอุปัฏฐากพระตถาคตผู้เสด็จมาแสดงธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง ศาลาก็ดี มณฑปก็ดี ซึ่งเป็นที่ที่เหล่าภิกษุวินิจฉัยวินัยแสดงธรรม ประชุมธรรมสากัจฉา และเป็นที่เข้าไปประชุมตามปกติโดยการประชุมกัน ท่านก็เรียกว่า อุปัฏฐานศาลา เหมือนกัน.
               จริงอยู่ แม้ในที่นั้น ก็เป็นอันพระองค์ทรงบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นนิตย์ทีเดียว. จริงอยู่ ข้อนี้เป็นจารีตของเหล่าภิกษุในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่.
               บทว่า สนฺนิสินฺนานํ ได้แก่ นั่งประชุมโดยการนั่ง.
               บทว่า สนฺนิปติตานํ ได้แก่ ผู้ประชุมกัน โดยมาจากที่นั้นๆ แล้วประชุม. อีกอย่างหนึ่ง ผู้ประชุมโดยมุ่งเอาพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แล้วนั่งประชุมกันโดยเคารพ เพื่อให้เกิดความเอื้อเฟื้อ เหมือนประชุมอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา คือเพราะมีอัธยาศัยเสมอกัน จึงประชุมตามอัธยาศัยแห่งกันและกัน และด้วยการตกลงกันด้วยดีโดยชอบ.
               ด้วยบทว่า อยํ ท่านแสดงถึงคำที่กำลังกล่าวอยู่ในขณะนี้.
               บทว่า อนฺตรากถา ได้แก่ ถ้อยคำอันหนึ่ง คืออย่างหนึ่งในระหว่างกิจ มีมนสิการกรรมฐาน อุเทศ และการสอบถามเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อันตรากถา เพราะเป็นไปในระหว่างแห่งสุคโตวาทที่ได้ในเวลาเที่ยงวัน และในระหว่างการฟังธรรมที่จะพึงได้ในเวลาเย็น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อันตรากถา เพราะเป็นคาถาอย่างหนึ่ง คืออันหนึ่ง ที่เป็นไปในระหว่างแห่งสมณสมาจารนั่นเอง.
               บทว่า อุทปาทิ แปลว่า เกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า อิเมสํ ทฺวินฺนํ ราชูนํ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถนิทธารณะ.
               ในคำว่า มหทฺธนตโร วา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ชื่อว่ามีทรัพย์มาก เพราะผู้นั้นมีทรัพย์มาก กล่าวคือสะสมรัตนะทั้ง ๗ ฝังไว้ในแผ่นดิน. ชื่อว่าผู้มีทรัพย์มากกว่า เพราะบรรดาราชาทั้งสององค์ องค์นี้มีทรัพย์อย่างดียิ่ง.
               วาศัพท์เป็นวิกัปปัตถะ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนความแปลกกันมีดังนี้ ชื่อว่า ผู้มีโภคะมาก เพราะผู้นั้นมีโภคะมาก คือมีเครื่องบริโภคมาก โดยมีทุนทรัพย์เครื่องใช้สอยเป็นนิจ ชื่อว่า มีคลังมาก เพราะมีคลังมาก โดยมีรายได้เข้าทุกวัน.
               ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ทรัพย์อันเป็นวัตถุที่หวงแหนอันต่างโดยประเภทแห่งแก้วมณี ทรัพย์อันเป็นสาระ ทรัพย์อันเกิดจากกระพี้ และทรัพย์อันเกิดจากพุ่มไม้เป็นต้น อันนำรายได้เข้าทุกวันทรัพย์นั่นแหละ เขาเก็บไว้ในห้องอันเป็นสาระเป็นต้น ชื่อโกสะ.
               แก้วมณี ๒๔ อย่าง คือ วชิระ มหานีละ อินทนิล มรกต ไพฑูรย์ ปทุมราค (ทับทิม) ปุสสราค (บุษราคัม) กักเกตนะ ผุลากะ วิมละ โลหิตังกะ ผลึก ประพาฬ โชติรส โคมุตตกะ โคเมทกะ โสคันธิกะ มุกดา สังข์ อัญชนมูละ ราชาวัฏฏะ อมตังสกะ สัสสกะ และพราหมณี ชื่อว่า มณี. โลหะ ๗ ชนิด และกหาปณะ ชื่อว่าทรัพย์เป็นสาระ.
               วัตถุต่างๆ มีที่นอน เครื่องนุ่งห่ม และผ้าแดงเป็นต้น ชื่อว่า เผคคุ.
               รุกขชาติต่างๆ มีไม้จันทน์ กฤษณา หญ้าฝรั่น กลัมพักและการบูรเป็นต้น ชื่อว่าคุมพะ.
               ในบทเหล่านั้น ด้วยอาทิศัพท์อันเป็นบทแรก ท่านสงเคราะห์วัตถุทั้งหมดอันเป็นเครื่องอุปโภค บริโภคของเหล่าสัตว์ ตั้งต้นแต่ชนิดธัญชาติ อันต่างด้วยบุพพัณชาติ มีข้าวสาลีเป็นต้น และอปรัณชาติ มีถั่วเขียวและถั่วราชมาษเป็นต้น. ชื่อว่ามหาวิชิตะ เพราะท่านมีแว่นแคว้นคือประเทศใหญ่. ชื่อว่ามหาวาหนะ เพราะท่านมีพาหนะมาก มีช้างและม้าเป็นต้น. ชื่อว่า มหัพพละ เพราะท่านมีกำลังกองทัพ และกำลังคือเรี่ยวแรงมาก. ชื่อว่ามหิทธิกะ เพราะท่านมีฤทธิ์มากอันสำเร็จด้วยบุญกรรม กล่าวคือ ความสำเร็จตามที่ประสงค์. ชื่อว่ามหานุภาวะ เพราะท่านมีอานุภาพมาก กล่าวคือเดช หรือความอุตสาหะ มีมนต์ ความเป็นใหญ่ และความสามารถ.
               ก็บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทต้น เป็นอันพระราชาเหล่านั้นทรงประกาศอายสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยรายได้). ด้วยบทที่ ๒ ประกาศถึงความสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปกรณ์อันวิจิตร, ด้วยบทที่ ๓ ประกาศถึงความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ, ด้วยบทที่ ๔ ประกาศถึงความสมบูรณ์ด้วยชนบท, ด้วยบทที่ ๕ ประกาศถึงความสมบูรณ์ด้วยยานพาหนะ, ด้วยบทที่ ๖ ประกาศถึงอัตตสมบัติกับบริวารสมบัติ, ด้วยบทที่ ๗ ประกาศถึงบุญสมบัติ, ด้วยบทที่ ๘ ประกาศถึงความเป็นผู้มีอำนาจ.
               เพราะเหตุนั้น ปกติสัมปทาที่พระราชาพึงปรารถนาทั้ง ๗ อย่าง คือ สามิสมบัติ อำมาตยสมบัติ เสนาสมบัติ รัฐสมบัติ วิภวสมบัติ มิตรสมบัติ และทุคตสมบัติ ทั้งหมดนั้น พึงทราบว่า ท่านแสดงไว้แล้วตามสมควร.
               ชื่อว่า ราชา เพราะทำให้บริษัทยินดีด้วยสังคหวัตถุ ๔ มีทานเป็นต้น. ชื่อว่า มาคโธ เพราะท่านเป็นอิสระของชนชาวมคธ. ชื่อว่า เสนิโย เพราะประกอบด้วยกองทัพใหญ่ หรือเพราะมีโคตรเนื่องมาจากแม่ทัพ. ทองคำท่านเรียกว่า พิมพิ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า พิมพิสาร เพราะมีสีดังทองอันเป็นสาระ.
               ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระราชานั้นมีชื่ออย่างนั้นแหละ. ชื่อว่า ปเสนทิ เพราะชนะปัจจามิตร คือกองทัพอันเป็นปรปักษ์. ชื่อว่า โกสล เพราะเป็นอธิบดีแห่งโกศลรัฐ.
               ศัพท์ จรหิ ในบทว่า อยญฺจรหิ นี้ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า วิปฺปกตา แปลว่า ยังไม่สิ้นสุด. อธิบายว่า อันตรากถานี้ของภิกษุเหล่านั้นยังไม่จบ.
               บทว่า สายณฺหสมยํ คือสมัยหนึ่งในตอนเย็น.
               บทว่า ปฏิสลฺลานา วุฏฺฐิโต ความว่า ออกจากอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ จากการเก็บจิตจากผลสมาบัติ กล่าวคือ การหลีกเร้น ตามเวลาที่กำหนดไว้.
               จริงอยู่ ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า แวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังกรุงสาวัตถี เสวยพระกระยาหารที่พวกภิกษุจัดบิณฑบาตที่ตนได้มาด้วยดีถวาย เสด็จออกจากกรุงสาวัตถีพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายแล้ว เสด็จเข้าพระวิหาร ประทับยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงประทานสุคโตวาทตามที่ยกขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มายืนอยู่แล้ว
               เมื่อภิกษุเหล่านั้นไป ยังที่พักกลางวันมีโคนไม้ในป่าเป็นต้น จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎียับยั้งอยู่ ตลอดวันด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ แล้วเสด็จออกจากสมาบัติตามเวลาที่กำหนดไว้ ทรงพระดำริว่า บริษัท ๔ รอคอยเรา เข้าไปนั่งเต็มวิหารทั้งสิ้น บัดนี้ ถึงเวลาที่เราจะเข้าไปยังธรรมสภามณฑล เพื่อแสดงธรรมดังนี้ แล้วจึงเสด็จลุกจากอาสนะออกจากพระคันธกุฎีอันหอมตลบ ประดุจไกรสรราชสีห์ออกจากถ้ำทอง มีพระดำเนินเยื้องกรายสง่างามด้วยพระวรกายอันไม่โยกโคลง เหมือนช้างตัวประเสริฐซึ่งซับมันเข้าสู่โขลงฉะนั้น ทรงกระทำวิหารทั้งสิ้นให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน ด้วยรูปกายสมบัติอันรุ่งโรจน์ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ ประกอบความงามอันแวดล้อมด้วยพระรัศมีด้านละวา ประดับด้วยเกตุมาลาอันประภัสสร ฉายพระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ คือ เขียว เหลือง แดง ขาว หงสบาท และประภัสสร มีอานุภาพเป็นอจินไตย ประกอบด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ เสด็จเข้าไปยังอุฏฐานศาลา.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อถ โข ภควา ฯเปฯ เตนุปสงฺกมิ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเสด็จเข้าไปอย่างนี้แล้ว ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นนั่งแสดงวัตรเงียบอยู่ ทรงพระดำริว่า เมื่อเราไม่กล่าว ภิกษุเหล่านี้ก็จักไม่กล่าวแม้ (แต่ความคิด) ตลอดอายุกัป เพราะความเคารพในพระพุทธเจ้า เพื่อจะตั้งเรื่องขึ้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า กาย นุตฺถ ภิกฺขเว ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาย นุตฺถ แก้เป็น กตมาย นุ ภวถ พวกเธอสนทนากันเรื่องอะไรหนอ. บาลีว่า กาย โนตฺถิ ดังนี้ก็มี เนื้อความก็อันนั้นเหมือนกัน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กาย เนฺวตฺถ ดังนี้ก็มี.
               บาลีนั้นมีความว่า กตมาย นุ เอตฺถ. ในข้อนั้น มีความสังเขปดังต่อไปนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปวารณาด้วยปวารณาของพระสัพพัญญูอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันในที่นี้ด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องของพวกเธอเป็นไฉนยังไม่จบลง เพราะการมาของเราเป็นเหตุ พวกเธอพึงให้เรื่องนั่นจบลงเถิด.
               บทว่า น เขฺวตํ ตัดเป็น น โข เอตํ อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า น โขตํ ดังนี้ก็มี มีการแยกบทว่า น โข เอตํ ดังนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กุลปุตฺตานํ ได้แก่ กุลบุตรผู้มีมารยาทประจำชาติ.
               บทว่า สทฺธา ได้แก่ ด้วยศรัทธา คือด้วยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม และด้วยการเชื่อพระรัตนตรัย.
               บทว่า อคารสฺมา แปลว่า จากเรือน อธิบายว่า จากความเป็นคฤหัสถ์.
               บทว่า อนคาริยํ แปลว่า การบรรพชา.
               บทว่า ปพฺพชิตานํ ได้แก่ ผู้เข้าถึง.
               บทว่า ยํ เป็นกิริยาปรามาส. ในข้อนั้น มีบทโยชนาดังต่อไปนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธข้อที่ไม่สมควรของบรรพชิตผู้ประชุมกันอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ใช่ถูกพระราชาบังคับ ไม่ใช่ถูกโจรบังคับ ไม่ใช่มีคดีเพราะเป็นหนี้ ไม่ใช่เพื่อเลี้ยงชีวิตจึงบวช
               โดยที่แท้ พวกเธอออกจากเรือนบวชในศาสนาของเราด้วยศรัทธา
               บัดนี้ พวกเธอกล่าวเดียรัจฉานกถาอันเกี่ยวด้วยพระราชาเห็นปานนี้ ข้อที่กล่าวเรื่องเห็นปานนั้น ไม่เหมาะไม่ควรแก่พวกเธอเลย
               บัดนี้ เมื่อจะทรงอนุญาตข้อปฏิบัติอันสมควรแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย กิจ ๒ อย่างที่พวกเธอผู้ประชุมกันพึงกระทำ คือกล่าวธรรมีกถา หรือเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โว แปลว่า ของพวกเธอ. ก็บทว่า โว นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งกัตตุ คือผู้ทำ มุ่งถึงบทว่า กรณียํ เพราะฉะนั้น บทว่า โว จึงแปลว่า อันเธอทั้งหลาย.
               บทว่า ทฺวยํ กรณียํ ได้แก่ พึงกระทำ ๒ อย่าง.
               บทว่า ธมฺมีกถา ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่ปราศจากธรรม คือสัจจะ ๔ อธิบายว่า ธรรมเทศนาอันแสดงถึงการเป็นไป (ทุกขสัจ) และการไม่กลับ (นิโรธสัจ). ก็ธรรมกถา กล่าวคือกถาวัตถุ ๑๐ เป็นเอกเทศของธรรมเทศนานั้นเองแล.
               บทว่า อริโย ความว่า ชื่อว่าอริยะ เพราะนำประโยชน์มาอย่างแท้จริง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอริยะ เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ คือสูงสุด.
               บทว่า ตุณฺหีภาโว คือการไม่พูดอันเป็นตัวสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา.
               แต่อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ทุติยฌาน เป็นความนิ่งอย่างประเสริฐ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อวจีสังขาร.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า จตุตถฌานเป็นความนิ่งอย่างประเสริฐ.
               ก็ในที่นี้มีอธิบายดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมีกายสงัดอยู่ในสุญญาคารเพื่อพอกพูนจิตวิเวก ถ้าจะประชุมกันบางครั้ง ครั้นพวกเธอประชุมกันอย่างนี้ พึงให้ธรรมกถาที่เกี่ยวด้วยอนิจจลักษณะเป็นต้น แห่งสภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้นเป็นไปโดยเป็นอุปการะแก่กันและกัน ตามนัยที่กล่าวไว้ว่า ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง หรือย่อมทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้เข้าใจชัด หรือพึงอยู่ด้วยฌานสมาบัติ เพื่อจะไม่เบียดเบียนกันและกัน.
               บรรดากรณียะทั้งสองนั้น ด้วยกรณียะแรก ทรงแสดงอุบายอันเป็นเหตุหยั่งลงในพระศาสนา สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้หยั่งลง ด้วยกรณียะหลัง ทรงแสดงอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสงสาร สำหรับผู้ที่หยั่งลงแล้ว. หรือด้วยกรณียะแรก ทรงชักชวนในความเป็นผู้เชี่ยวชาญในอาคม (พระสูตร) ด้วยกรณียะหลัง ทรงชักชวนในความเป็นผู้เชี่ยวชาญในอธิคม (มรรคผลที่จะพึงบรรลุ). อีกอย่างหนึ่ง ด้วยกรณียะที่ ๑ ทรงแสดงถึงเหตุที่สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นครั้งที่หนึ่ง ด้วยกรณียะที่ ๒ ทรงแสดงถึงเหตุที่สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นครั้งที่สอง
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
                         ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๒ ประการ ปัจจัย ๒ ประการเหล่านี้
               เป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ คือการได้ยินได้ฟังจาก
               ผู้อื่น ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ๑.

               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยกรณียะแรก ทรงประกาศมูลเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิ ฝ่ายโลกิยะ. ด้วยกรณียะหลัง ทรงแสดงถึงมูลเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิฝ่ายโลกุตระ พึงทราบอรรถโยชนา โดยนัยมีอาทิดังกล่าวมาฉะนี้.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวง ถึงความนี้ว่า สมบัติมีฌานเป็นต้น ยังสงบกว่าและประณีตกว่า สมบัติที่น่าใคร่อันภิกษุเหล่านั้นระบุถึง.
               บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานอันแสดงอานุภาพของสุขอันเกิดแต่อริยวิหารนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า โลก ในบทว่า ยญฺจ กามสุขํ โลเก นี้ มาในสังขารมีอาทิว่า ขันธโลก อายตนโลก ธาตุโลก. มาในโอกาสมีอาทิว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์หมุนเวียนส่องทิศให้สว่างไสวอยู่ตราบใด โอกาสโลก ๑,๐๐๐ ย่อมเป็นไปอยู่ตราบนั้น อำนาจของท่านยังเป็นไปอยู่ในโอกาสโลกนี้. มาในสัตว์ทั้งหลาย มีอาทิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นแล้วแล.
               แต่ในที่นี้ พึงทราบศัพท์ว่า โลก ในความหมายว่าสัตวโลก และโอกาสโลก. เพราะฉะนั้น ในโลกนี้ภายใต้จำเดิมแต่อเวจีขึ้นไปเบื้องบน จำเดิมแต่รูปพรหมโลกลงมา สุขชื่อว่าเกิดพร้อมด้วยกาม เพราะอาศัยวัตถุกาม เกิดขึ้นด้วยกิเลสกาม.
               บทว่า ยญฺจิทํ ทิวิยํ สุขํ ความว่า สุขอันเป็นทิพย์และสุขอันเกิดจากรูปสมาบัติของพรหมและของมนุษย์ อันได้ด้วยทิพยวิหารนี้ใด.
               บทว่า ตณฺหกฺขยสุขสฺส ความว่า สุขอันเกิดจากผลสมาบัติที่เป็นไป เพราะกระทำพระนิพพานซึ่งตัณหามาถึงแล้วสิ้นไปให้เป็นอารมณ์ และเพราะสงบระงับตัณหาเสียได้ ชื่อว่าสุขอันเกิดจากความสิ้นตัณหา. แห่งสุขอันเกิดจากความสิ้นตัณหานั้น.
               บทว่า เอเต เป็นบทแสดงไข ลิงควิปลาส. อธิบายว่า เอตานิ สุขานิ สุขเหล่านี้. อาจารย์บางพวกยึดสุขแม้ทั้งสองโดยเป็นสุขสามัญทั่วไป แล้วกล่าวว่า เอตํ. พึงมีปาฐะของเกจิอาจารย์เหล่านั้นว่า กลํ นาคฺฆนฺติ.
               บทว่า โสฬสึ แปลว่า เป็นที่เต็มของ ๑๖ ส่วน. ก็ในข้อนี้ มีความสังเขปดังต่อไปนี้.
               กามสุขที่เกิดในกามโลกทั้ง ๑๑ ประการ คือ สุขของมนุษย์ในมนุษยโลกทั้งหมด ตั้งต้นแต่สุขของพระเจ้าจักรพรรดิ สุขอันนาคเป็นต้น พึงเสวยในโลกนาคและครุฑเป็นต้น และกามสุข ๖ อย่าง ในเทวโลกมีชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น.
               และสุขอันเกิดแต่โลกิยฌานซึ่งได้นามว่า ทิวิยํ (ในทิพย์) เพราะเกิดในเทพชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร และในรูปฌานและอรูปฌานที่เป็นทิพยวิหาร แม้สุขทั้งสิ้นทั้งสองอย่างนั้นก็ยังไม่ถึงเสี้ยว กล่าวคือส่วนหนึ่งที่ได้ในการคูณให้เป็น ๑๖ ส่วน (เอาเพียง) ส่วนเดียวจาก ๑๖ ส่วนนั้น โดยแบ่งสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ กล่าวคือสุขอันเกิดแต่ความสิ้นตัณหาให้เป็น ๑๖ ส่วน.
               ก็การพรรณนาอรรถนี้ ท่านกล่าวไว้โดยความเสมอกันแห่งผลสมาบัติ เพราะธรรมเป็นที่สิ้นตัณหามาในพระบาลีโดยไม่แปลกกัน. โลกิยสุขไม่ถึงเสี้ยวแม้แห่งสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติที่หนึ่งเลย
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
                                   โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน
                         กว่าการไปสวรรค์ หรือกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งมวล.

               แม้ในโสดาปัตติสังยุตก็ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิปัตย์แห่งทวีปทั้ง ๔ เบื้องหน้าแต่สวรรคต ย่อมเสด็จเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์มีนางอัปสรแวดล้อม และเพียบพร้อม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์บำเรออยู่ในนันทนวันนั้น แต่พระองค์ไม่ประกอบด้วยธรรม ๔ แม้โดยแท้ ถึงอย่างนั้น พระองค์ก็ไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน จากเปรตวิสัย จากอบาย ทุคติ วินิบาต,
               ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยคำข้าว และทรงผ้าเปื้อน และเธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน จากเปรตวิสัย จากอบาย ทุคติ วินิบาต.
               ธรรม ๔ ประการอะไรบ้าง?
               ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ ฯลฯ แม้เพราะเหตุนี้ พระองค์ทรงเป็นผู้ตื่นแล้ว เบิกบานแล้ว ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม
               เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ฯลฯ อันวิญญูชน พึงทราบเฉพาะตน.
               เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฯลฯ เป็นบุญเขตของโลก. เป็นผู้ประกอบด้วยอริยกันตศีลไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อสมาธิ.
               พระอริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ เหล่านี้.
               ภิกษุทั้งหลาย การได้ทวีปสี่ ๑ การได้ธรรมสี่ ๑ การได้ทวีป ๔ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของการได้ธรรมสี่.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกโลกิยสุขว่ายิ่ง ว่าเป็นไปกับด้วยความดียิ่ง ทรงจำแนกเฉพาะโลกุตรสุขว่ายอดเยี่ยม ว่าดียิ่ง ในที่ทุกสถานด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาราชสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ ราชสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 51อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 52อ่านอรรถกถา 25 / 53อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1722&Z=1752
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=2378
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=2378
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :