บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
บทว่า ยโสโช ในคำว่า ยโสชปฺปมุขานิ นี้ เป็นชื่อของพระเถระนั้น. ภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้น ท่านกล่าวว่ามียโสชภิกษุเป็นหัวหน้า เพราะบวชทำท่านยโสชะให้เป็นหัวหน้า และเพราะเที่ยวไปด้วยกัน. ภิกษุเหล่านั้นมีการประกอบบุญกรรมไว้ในปางก่อน ดังต่อไปนี้ ได้ยินว่า ในอดีตกาล ศาสนาของพระกัสสปทศพล มีภิกษุอยู่ป่ารูปหนึ่ง อยู่ในกุฏิมุงด้วยใบไม้ สร้างไว้ที่ศิลาดาดในป่า. ก็สมัยนั้นโจร ๕๐๐ กระทำการปล้นชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีพแบบโจรกรรม กระทำโจรกรรม ถูกพวกมนุษย์ในชนบทพากันติดตาม หนีเข้าป่าไป ไม่เห็นอะไรๆ ในที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นรกชัฏหรือที่พึ่งอาศัย เห็นภิกษุนั้นนั่งอยู่บนแผ่นหินในที่ไม่ไกล จึงไหว้แล้วบอกเรื่องนั้น อ้อนวอนว่า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่พวกกระผมเถิดขอรับ. พระเถระกล่าวว่า ที่พึ่งอื่นเช่นกับศีลของพวกท่านไม่มี จงสมาทานศีล ๕ กันทั้งหมดเถิด. โจรเหล่านั้นรับคำของท่านแล้ว สมาทานศีล. พระเถระกล่าวว่า ท่านตั้งอยู่ในศีลแล้ว ท่านแม้ถึงชีวิตของตนจะพินาศไป ก็อย่าเกรี้ยวกราดด้วยการเบียดเบียน ดังนี้แล้ว จึงบอกวิธีอุปมาด้วยเลื่อย. โจรเหล่านั้นรับว่า ดีละ. ลำดับนั้น ชาวชนบทเหล่านั้นไปยังที่นั้น ค้นดูข้างโน้นข้างนี้ พบพวกโจรเหล่านั้น ก็ปลงชีวิตเสียทั้งหมด. โจรเหล่านั้นไม่ได้ทำแม้มาตรว่าความแค้นเคืองใจ เทวบุตรเหล่านั้นท่องเที่ยวไปๆ มาๆ สิ้นพุทธันดรหนึ่งในเทวโลก. ในกาลพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา จุติจากเทวโลกแล้ว เทพบุตรผู้เป็นหัวหน้าเกิดเป็นบุตรชาวประมงผู้เป็นนายบ้าน ในตระกูล ๕๐๐ ในเกวัฏคาม ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี. เขาขนานนามท่านว่า ยโสชะ. ฝ่ายเทพบุตรนอกนั้น เกิดเป็นบุตรชาวประมงนอกนั้น. ด้วยบุพเพสันนิวาส คนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นเพื่อนกันเล่นฝุ่นด้วยกัน เจริญวัยโดยลำดับ ยโสชะเป็นเลิศกว่าคนเหล่านั้น. เขารวมกันทั้งหมดถือแหเที่ยวจับปลาในแม่น้ำและในบึงเป็นต้น. วันหนึ่ง เมื่อเขาทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ปลาสีทองติดแห. ชาวประมงทั้งหมดเห็นดังนั้น พากันร่าเริงยินดีว่า ลูกๆ ของพวกเรา เมื่อจับปลา จับได้ปลาทอง. ทีนั้นสหายทั้ง ๕๐๐ คนเหล่านั้น ใส่ปลาลงเรือ หามเรือไปแสดงแด่พระราชา. พระราชาทรงเห็นดังนั้นทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทราบเหตุที่ปลานี้เป็นทอง จึงให้จับปลานั้นไปแสดงแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาตรัสว่า ผู้นี้ เมื่อศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมไป บวชปฏิบัติผิด ทำศาสนาให้เสื่อมเกิดในนรก ไหม้อยู่ในนรกนั้นสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จุติจากอัตภาพนั้น เกิดเป็นปลาในแม่น้ำอจิรวดี ดังนี้ แล้วจึงทรงให้ปลานั้นนั่นแหละ เล่าถึงความที่เขาและมารดาพี่หญิงเกิดในนรก และพระเถระผู้เป็นพี่ชายของเขาปรินิพพานแล้ว จึงทรงแสดงกปิลสูตร เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น บุตรของชาวประมง ๕๐๐ เหล่านั้น สดับเทศนาของพระศาสดาแล้ว เกิดความสังเวช บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า อยู่โดยความสงัด แล้วมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน ยโสชปฺปมุขานิ ปญฺจมตฺตานิ ภิกฺขุสตานิ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตธ ตัดเป็น เต อิธ. บทว่า เนวาสิเกหิ ได้แก่ ผู้อยู่ประจำ. บทว่า ปฏิสมฺโมทมานา ความว่า เมื่อภิกษุเจ้าถิ่นทำการปราศรัย โดยการปฏิสันถารมีอาทิว่า ท่านสบายดีหรือ เมื่อจะปราศรัยอีก จึงปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้น โดยนัยมีอาทิว่า สบายดีขอรับ. บทว่า เสนาสนานิ ปญฺญาปยมานา ความว่า และถามถึงเสนาสนะที่ถึงแก่อาจารย์ อุปัชฌาย์ และแก่ตน พร้อมด้วยภิกษุเจ้าถิ่นเหล่านั้น พากันจัดแจงเสนาสนะแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า นี้ สำหรับอาจารย์ของท่าน นี้ สำหรับอุปัชฌาย์ของท่าน นี้ สำหรับพวกท่านแล้ว ตนเองไปในที่นั้นเปิดประตูและหน้าต่าง ขนเตียงตั่ง และเสื่อลำแพนเป็นต้นออกมาปรบ แล้วตบแต่งตามที่ตั้งอยู่เป็นต้นยังที่เดิม. บทว่า ปตฺตจีวรานิ ปฏิสามยมานา ความว่า ให้เก็บสมณบริขาร ด้วยพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงเก็บบาตร จีวร ภาชนะ กระติกน้ำและไม้เท้าของผมนี้. บทว่า อุจฺจาสทฺทา มหาสทฺทา ความว่า ภิกษุที่ชื่อว่า ผู้มีเสียงดัง เพราะอรรถว่ามีเสียงสูง เหตุแปลง อ อักษร ให้เป็น อา อักษร. ภิกษุที่ชื่อว่า ผู้มีเสียงใหญ่ เพราะอรรถว่าแผ่ไปโดยรอบ. บทว่า เกวฏฺฏา มญฺเญ มจฺฉวิโลเป ได้แก่ ในการแย่งชิงปลาเหมือนชาวประมง. ท่านแสดงว่า ภิกษุเหล่านั้น เป็นเหมือนชาวประมงผู้จับปลาได้นามว่า เกวัฎ เพราะวนเวียนอยู่ในน้ำ คือเป็นไปเพื่อจับปลา ทอดแหลงในน้ำเพื่อจับปลา ได้มีเสียงอึกทึกครึกโครม โดยนัยมีอาทิว่า เข้าหรือไม่เข้า จับได้หรือจับไม่ได้ และเหมือนชาวประมงเหล่านั้น เมื่อมหาชนพากันไปในที่ๆ เขาวางกระเช้าปลาเป็นต้นไว้ แล้วแย่งกันพูดเป็นต้นว่า พวกท่านให้ปลาตัวหนึ่งแก่เรา จงให้ปลาพวงหนึ่งแก่เรา ที่ให้แก่คนโน้นตัวใหญ่ ที่ให้แก่เราตัวเล็ก ดังนี้ และชื่อว่า ผู้มีเสียงอึกทึกครึกโครม โดยการปฏิเสธเป็นต้นของชนเหล่านั้น. บทว่า เตเต ตัดเป็น เต เอเต. บทว่า กินฺนุ แก้เป็น กิสฺส นุ. อธิบายว่า กิมตฺถํ นุ แปลว่า เพื่อเหตุอะไรหนอ. บทว่า เตเม ตัดเป็น เต อิเม. บทว่า ปณาเมมิ แปลว่า นำออก. บทว่า เต แก้เป็น เต ตุมฺเห แปลว่า ท่านเหล่านั้น. บทว่า น โว มม สนฺติเก วตฺถพฺพํ ความว่า พวกท่านอย่าอยู่ในสำนักเรา. ทรงแสดงว่า เธอเหล่าใดมายังที่ประทับของพระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา กระทำเสียงดังอย่างนี้ อยู่ตามธรรมดาของตน จักกระทำให้สมควรอย่างไร คนเช่นพวกเธอไม่มีกิจที่จะอยู่ในสำนักของเรา ดังนี้. ก็บรรดาภิกษุเหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประณามอย่างนี้ แม้รูปเดียวก็ไม่ได้ให้คำตอบว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงประณามข้าพระองค์ ด้วยเหตุเพียงเสียงดัง หรือไม่ได้ให้คำอะไรๆ อื่น ด้วยพุทธคารวะ ภิกษุทั้งหมด เมื่อรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วพากันออกไป ก็ท่านเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราจักเฝ้าพระศาสดา จักฟังธรรม จักอยู่ในสำนักพระศาสดา เพราะฉะนั้น จึงพากันมา แต่พวกเรามายังสำนักพระศาสดาผู้เป็นครูเห็นปานนี้ กระทำเสียงดัง นี้เป็นโทษของพวกเราเท่านั้น พวกเราถูกประณามเพราะโทษ เราไม่ได้อยู่ในสำนักพระศาสดา ไม่ได้ชมพระโฉมมีวรรณะดังทองคำอันนำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้าน ไม่ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ. ภิกษุเหล่านั้นเกิดความน้อยใจอย่างรุนแรง แล้วพากันหลีกไป. บทว่า สํสาเมตฺวา ได้แก่ เก็บงำไว้ด้วยดี. บทว่า วชฺชี ได้แก่ ชนบทอันมีชื่ออย่างนี้. แม้ชนบทหนึ่งอันเป็นที่ประทับของพระราชกุมาร ชาวชนบทชื่อว่า วัชชี เขาจึงเรียกว่า วัชชี นั่นเอง โดยภาษาที่ดาษดื่น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า วชฺชีสุ ดังนี้. แม่น้ำสายหนึ่งซึ่งสมมติกันว่า เป็นบุญของชาวโลกมีชื่ออย่างนี้ว่า วัคคุมุทา. บาลีว่า วัคคมุทา ดังนี้ก็มี. บทว่า อตฺถกาเมน ได้แก่ ปรารถนาแต่ประโยชน์เท่านั้น ไม่มุ่งถึงการประกอบอะไรๆ. บทว่า หิเตสินา ได้แก่ ปรารถนาประโยชน์ คือมีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล กล่าวคืออรรถ หรือที่เป็นเหตุของประโยชน์นั้นว่า สาวกของเรา พึงหลุดพ้นจากวัฏทุกข์เพราะเหตุไร เพราะเหตุนั้นนั่นแล พระองค์จึงชื่อว่า ทรงอนุเคราะห์ เพราะอนุเคราะห์ไปตามสำนักของเวไนยสัตว์แม้ในที่ไกล ไม่คำนึงถึงความลำบากทางพระวรกายเลย เราถูกประณามเพราะอาศัยความอนุเคราะห์ ไม่ใช่ถูกประณาม เพราะหวังความขวนขวายเป็นต้นของตน. เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาค บทว่า ยถา โน วิหรตํ ความว่า เมื่อเราอยู่โดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเป็นผู้มีพระทัยยินดี คืออันพวกเราพึงให้โปรดปรานด้วยสัมมาปฏิบัติบูชา. บทว่า เตเนวนฺตรวสฺเสน ได้แก่ ไม่เลยวันมหาปวารณาในภายในพรรษานั้นนั่นแล. บทว่า ติสฺโส วิชฺชา สจฺฉากํสุ ความว่า ภิกษุ ๕๐๐ ทั้งหมดนั้นนั่นแล ได้กระทำให้ประจักษ์แก่ตน ซึ่งวิชชา ๓ เหล่านี้ คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ ทิพยจักขุญาณ ๑ อาสวักขยญาณ ๑ เพราะอรรถว่าแทงตลอดขันธ์ที่เคยอยู่ในกาลก่อน และขันธ์คือโมหะอันเป็นตัวปกปิด. ในที่นี้ พระองค์ทรงยกวิชชา ๓ ขึ้นแสดง โดยแสดงถึงการที่ภิกษุเหล่านั้นบรรลุ เพื่อแสดงว่า บรรดาโลกิยอภิญญา อภิญญา ๒ นี้เท่านั้นมีอุปการะมากแก่อาสวักขยญาณ ส่วนทิพยโสตญาณ เจโตปริยญาณ และอิทธิวิธญาณหาเป็นเช่นนั้นไม่. จริงอย่างนั้น ในเวรัญชสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงการที่พระองค์ทรงบรรลุ แก่เวรัญชพราหมณ์ จึงทรงแสดงวิชชา ๓ เท่านั้น เพราะไม่มีทิพยโสตญาณเป็นต้น. เมื่อเป็นอย่างนี้ พระองค์จึงไม่ทรงยกทิพยโสตญาณเป็นต้นแม้ที่มีอยู่ขึ้นแสดงแก่ภิกษุแม้เหล่านั้น เพราะภิกษุเหล่านั้นมีอภิญญา ๖. เพราะกระทำอธิบายดังว่ามานี้ พระองค์จึงตรัสถึงการใช้ฤทธิของภิกษุเหล่านั้นว่า ภิกษุเหล่านั้นหายไป ณ ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทามาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในกูฎาคารศาลา. บทว่า ยถาภิรนฺตํ ได้แก่ ตามพอพระทัย คือตามพระอัธยาศัย. จริงอยู่ ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ย่อมไม่มีความยินดี เพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ หรือเสนาสนะอันไม่เป็นที่สบาย หรือความที่พวกมนุษย์ไม่มีศรัทธาเป็นต้น แม้การประทับอยู่นานด้วยทรงพระดำริว่า อยู่ผาสุกเพราะความสมบูรณ์ ก็ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น ตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานศีล บรรพชา หรือบรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นต้น พระศาสดาจึงประทับอยู่ เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นตั้งอยู่ในสมบัติเหล่านั้น เมื่อไม่มีสมบัติอันนั้น พระองค์ก็เสด็จหลีกไป. ก็ในกาลนั้น พระองค์ไม่มีพุทธกิจที่จะพึงกระทำในกรุงสาวัตถี. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ตามพอพระทัยในกรุงสาวัตถี เสด็จหลีกจาริกไปทางกรุงเวสาลี. บทว่า จาริกญฺจรมาโน ได้แก่ เสด็จดำเนินไปทางไกล. ก็ชื่อว่าการเสด็จจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ มี ๒ อย่าง คือ เสด็จจาริกไปโดยรีบด่วน ๑ เสด็จจาริกไปโดยไม่รีบด่วน ๑. ใน ๒ อย่างนั้น การที่พระองค์ทรงเห็นโพธเนยยบุคคลแม้ในที่ไกล ก็รีบเสด็จไปเพื่อให้บุคคลนั้นตรัสรู้ ชื่อว่าเสด็จจาริกไปโดยรีบด่วน. การเสด็จไปโดยรีบด่วนนั้น พึงเห็นในการต้อนรับพระมหากัสสปเป็นต้น. ส่วนการเสด็จจาริกไปอนุเคราะห์สัตว์โลก ด้วยการเสด็จเที่ยวบิณฑบาตเป็นต้น โดยหนทางโยชน์หนึ่งและกึ่งโยชน์ทุกวัน ตามลำดับคามนิคมและราชธานี นี้ชื่อว่าการเสด็จจาริกไปโดยไม่รีบด่วน. ก็การเสด็จจาริกโดยไม่รีบด่วนนี้แหละท่านประสงค์เอาในที่นี้. บทว่า ตทวสริ แก้เป็น เตน อวสริ หรือ ตํ อวสริ คือเสด็จไป อธิบายว่า เสด็จเข้าไปโดยประการนั้น. บทว่า ตตฺร ได้แก่ ใกล้กรุงเวสาลีนั้น. บทว่า สุทํ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า เวสาลิยํ ได้แก่ นครของพวกเจ้าลิจฉวี ซึ่งได้นามว่าเวสาลีเพราะเป็นเมืองขยายให้กว้างขวางถึง ๓ ครั้ง. บทว่า มหาวเน ความว่า ชื่อว่าป่ามหาวัน ได้แก่ป่าที่เกิดเอง ไม่มีใครปลูกสร้าง เป็นป่าใหญ่มีเขตกำหนด. ก็ป่ามหาวันใกล้เคียงเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นป่าไม่มีเขตกำหนดเนื่องเป็นอันเดียวกับป่าหิมวันต์ ตั้งจดมหาสมุทร. ป่ามหาวันนี้ หาเป็นเช่นนั้นไม่. ชื่อว่าป่ามหาวัน เพราะเป็นป่าใหญ่มีเขตกำหนด. บทว่า กูฏาคารสาลายํ ความว่า ในอารามที่สร้างอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าในป่ามหาวันนั้น พระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า สมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง สร้างโดยมุงหลังคาเป็นวงกลมมีทรวดทรงคล้ายหงส์ โดยมีกูฏาคารอยู่ภายใน ชื่อว่ากูฏาคารศาลา. ในกูฏาคารศาลานั้น. บทว่า วคฺคุมุทาตีริยานํ ได้แก่ ผู้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา. บทว่า เจตสา เจโต ปริจฺจ มนสิกริตฺวา ความว่า ทรงมนสิการกำหนดจิตของภิกษุเหล่านั้น ด้วยพระทัยของพระองค์. อธิบายว่า ทรงทราบคุณวิเศษที่ภิกษุเหล่านั้นบรรลุ ด้วยเจโตปริยญาณ หรือสัพพัญญุตญาณ. บทว่า อาโลกชาตา วิย แปลว่า เหมือนเกิดแสงสว่าง. นอกนั้นเป็นไวพจน์ของบทว่า อาโลกชาตา นั้น เหมือนกัน. อธิบายว่า เหมือนแสงสว่างพระจันทร์ ๑,๐๐๐ ดวง และพระอาทิตย์ ๑,๐๐๐ ดวง. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระยโสชะเป็นประมุขนั้น เป็นผู้สว่างไสว เพราะกำจัดมืดคืออวิชชาโดยประการทั้งปวงอยู่. ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น โดยการอ้างถึงการพรรณนาคุณ ในที่ภิกษุเหล่านั้นสถิตอยู่ โดยนัยมีอาทิว่า อานนท์ ทิศนั้นเป็นเหมือนแสงสว่างของเรา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ยสฺสํ ทิสายํ วคฺคุมุทาตีริยา ภิกฺขู วิหรนฺติ ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา อยู่ในทิศใด. บทว่า อปฺปฏิกูลา แปลว่า ไม่น่าเกลียด. อธิบายว่า น่าชอบใจ คือน่ารื่นรมย์ใจ. จริงอยู่ ถิ่นที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้นอยู่นั้น มีอาการดังที่ลุ่มขุลขละไม่สม่ำเสมอก็จริง ถึงกระนั้น สถานที่นั้นก็เป็นที่ฟูใจ น่ารื่นรมย์ใจทีเดียว. สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด ไม่ว่าจะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิที่น่ารื่นรมย์ใจ. บทว่า ปหิเณยฺยาสิ แปลว่า พึงส่งไป. บทว่า สตฺถา อายสฺมนฺตานํ ทสฺสนกาโม นี้ เป็นบทแสดงถึงอาการที่ส่งไปในสำนักของภิกษุเหล่านั้น ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นประโยชน์ที่พระองค์ทรงประณามภิกษุเหล่านั้นถึงที่สุด มีพระทัยยินดี จึงตรัสบอกความประสงค์ที่จะเห็นภิกษุเหล่านั้นแก่พระเถระ. ได้ยินว่า พระองค์ได้มีพระดำริอย่างนี้ว่า เราประณามภิกษุเหล่านี้ เพราะกระทำเสียงดังลั่น เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นก็ถูกท่านอานนท์โจทท้วง เหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญถูกตีด้วยแส้ ได้รับความสลดใจแล้ว จึงเข้าไปยังป่าเพื่อให้เราโปรดปราน เพียรพยายามอยู่ จักทำให้แจ้งพระอรหัตโดยพลันทีเดียว. บัดนี้ พระองค์ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัต มีพระทัยยินดีด้วยการบรรลุพระอรหัตนั้น มีพระประสงค์จะเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงทรงบัญชาท่านพระอานนท์ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริกอย่างนั้น. บทว่า โส ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุรูปหนึ่งผู้ได้อภิญญา ๖ ถูกท่านพระอานนทเถระสั่งดังนั้น. บทว่า ปมุเข แปลว่า ในที่พร้อมหน้า. บทว่า อาเนญฺชสมาธินา ได้แก่ ด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตผลอันมีจตุตถฌานเป็นบาท. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า มีอรูปฌานเป็นบาท ดังนี้ก็มี. บาลีว่า อาเนญฺเชน สมาธินา ด้วยสมาธิอันไม่หวั่นไหว ดังนี้ก็มี. ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบการมาของภิกษุเหล่านั้น ไม่ทรงกระทำปฏิสันถาร ทรงเข้าสมาบัติอย่างเดียว? เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นรู้ว่าพระองค์เข้าสมาบัติจึงเข้าด้วย เพื่อแสดงการอยู่ร่วมของภิกษุเหล่านั้นที่พระองค์ทรงประณามในกาลก่อนว่า เสมอกับพระองค์ในบัดนี้ เพื่อแสดงอานุภาพ และเพื่อแสดงการพยากรณ์พระอรหัตผลโดยเว้นการเปล่งวาจา. อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เพื่อทรงกระทำปฏิสันถารอันไม่ทั่วไปแก่คนอื่น โดยทำความสุขอันยอดเยี่ยมให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุเหล่านั้น ผู้ที่พระองค์ทรงประณามในกาลก่อน บัดนี้มายังสำนักของพระองค์. ท่านแม้เหล่านั้นทราบพระอัธยาศัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเข้าสมาบัตินั้นนั่นแหละ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่ากตเมน นุ โข ภควา วิหาเรน เอตรหิ วิหรติ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ อะไรหนอแล. ก็ในที่นี้ รูปาวจรจตุตถฌาน ถึงความไม่หวั่นไหว เพราะประกอบด้วยโวทานธรรม ๑๖ ประการ มีความไม่ฟุบลงเป็นต้น อันเป็นมูลเหตุแห่งฤทธิ์ เพราะธรรมอันเป็นข้าศึกมีโกสัชชะเป็นต้น อยู่ไกลแสนไกล ท่านเรียกว่า อาเนญชะ เพราะอรรถว่าตนเองก็ไม่หวั่นไหว. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า จิตที่ไม่ฟุบลง ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในโกสัชชะ ๑ จิตที่ไม่ฟูขึ้น ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในอุทธัจจะ ๑ จิตไม่ยินดียิ่ง ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในราคะ ๑ จิตไม่ผลักออก ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในพยาบาท ๑ จิตที่ไม่เกี่ยวเกาะ ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในทิฏฐิ ๑ จิตที่ไม่ผูกพัน ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในฉันทราคะ ๑ จิตที่หลุดพ้น ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในกามราคะ ๑ จิตที่ไม่พัวพัน ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในกิเลส ๑ จิตที่ไม่มีเขตแดนเป็นต้น ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในเขตแดนคือกิเลส ๑ จิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในกิเลสต่างๆ ๑ จิตที่ศรัทธากำกับแล้ว ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในอสัทธิยะ (ความไม่มีศรัทธา) ๑ จิตที่วิริยะกำกับแล้ว ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในโกสัชชะ ๑ จิตที่สติกำกับแล้ว ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในปมาทะ ๑ จิตที่สมาธิกำกับแล้ว ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในอุทธัจจะ ๑ จิตที่ปัญญากำกับแล้ว ชื่อว่าอาเนญชะเพราะไม่หวั่นไหวในอวิชชา ๑ จิตที่ถึงความสว่างแล้ว ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะไม่หวั่นไหวในความมืด (คืออวิชชา) ๑. อนึ่ง พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า การบัญญัติฌาน ๕ เหล่านี้ว่าเป็นอาเนญชะ คือรูปาวจรจตุตถฌานเท่านั้นที่เป็นไปด้วยอำนาจการเจริญการสำรอกรูป ๑ อรูปาวจรฌาน ๔ ที่เป็นไปโดยจำแนกตามอารมณ์. บรรดาฌานเหล่านั้น อรหัตผลสมาบัติที่ทำฌานอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นบาทแล้วจึงเข้า ชื่อว่าอาเนญชสมาธิ. บทว่า อภิกฺกนฺตาย แปลว่า ล่วงไปแล้ว. บทว่า นิกฺขนฺเต แปลว่า ผ่านไปแล้ว. อธิบายว่า ปราศไปแล้ว. บทว่า ตุณฺหี อโหสิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเป็นผู้ บทว่า อุทฺธเสฺต อรุเณ แปลว่า เมื่ออรุณขึ้นไป. ชื่อว่าอรุณ ได้แก่ แสงสว่าง ที่ขึ้นก่อนพระอาทิตย์ขึ้นทีเดียว ในปุรัตถิมทิศ. บทว่า นนฺทิมุขิยา ความว่า เมื่อราตรีเกิดแล้ว สว่างแล้ว เหมือนแสงอรุณที่เป็นประธาน ในการทำเหล่าสัตว์ผู้อาศัยแสงดวงอาทิตย์ให้ร่าเริง เพราะอรุณแห่งราตรีขึ้นนั่นเอง. บทว่า ตมฺหา สมาธิมฺหา วุฏฺฐหิตฺวา ความว่า ออกจากอาเนญชสมาธิ คือจากผลสมาบัติ อันสัมปยุตด้วยอรหัตผลนั้น. ตามเวลาที่กำหนด. บทว่า สเจ โข ตฺวํ อานนฺท ชาเนยฺยาสิ ความว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าท่านพึงรู้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุเหล่านั้นยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่สมาบัติชื่อนี้ ตลอดกาลเพียงเท่านี้ไซร้. ด้วยบทว่า เอตฺตกมฺปิ เต นปฺปฏิภาเสยฺย พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงว่า ความแจ่มแจ้งที่ปรากฏแก่เธอ ๓ ครั้ง โดยนัยมีอาทิว่า ราตรีผ่านไปแล้ว พระเจ้าข้า ดังนี้ ซึ่งหมายถึงการปราศรัยอันเป็นฝ่ายโลกีย์ แม้เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ปรากฏแก่เธอ. ดูก่อนอานนท์ ก็เพราะเหตุที่เธอเป็นเสขบุคคล ไม่รู้สมาบัติวิหารธรรมอันเป็นของพระอเสขะ ฉะนั้น เธอจึงถึงความขวนขวายที่จะให้เราทำการปราศรัยอันเป็นฝ่ายโลกีย์ แก่ภิกษุเหล่านี้. แต่เราพร้อมด้วยภิกษุเหล่านี้ยับยั้งอยู่ตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ด้วยการปราศรัยอันเป็นโลกุตระนั่นแล จึงตรัสว่า อหญฺจ อานนฺท อิมานิ จ ปญฺจ ภิกฺขุสตานิ สพฺเพว อาเนญฺชสมาธินา นิสินฺนมฺหา ดูก่อนอานนท์ เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปทั้งหมดนี้ นั่งด้วยอาเนญชสมาธิ. บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวง ถึงอรรถ คือความที่ภิกษุเหล่านั้นมีความชำนาญ กล่าวคือความสามารถในการเข้าอาเนญชสมาบัติพร้อมกับพระองค์นี้. บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงสภาวะที่ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้สำเร็จในการละราคะเป็นต้นได้เด็ดขาด. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส ชิโต กามกณฺฏโก ความว่า กามคือกิเลส ชื่อว่าเป็นหนาม เพราะอรรถว่าทิ่มแทงธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกุศลธรรม อันเป็นเหตุให้พระอริยบุคคลชนะ คือละได้โดยเด็ดขาด ด้วยคำนั้น พระองค์ทรงแสดงถึงภาวะที่พระอริยบุคคลนั้นไม่มีความยินดี. บาลีว่า คามกณฺฏโก ดังนี้ก็มี. พระบาลีนั้นมีอธิบายดังนี้ หนามในบ้าน ได้แก่วัตถุกามทั้งสิ้นอันเป็นที่ตั้งแห่งหนาม อันพระอริยบุคคลใดชนะแล้ว เพราะฉะนั้น ความชนะของพระอริยบุคคลนั้น พึงทราบโดยการละฉันทราคะอันเนื่องด้วยวัตถุกามนั้น ด้วยคำนั้น เป็นอันพระองค์ตรัสถึงอนาคามิมรรคของภิกษุเหล่านั้น เชื่อมความว่า ก็ความด่าอันพระอริยบุคคลชนะแล้ว. แม้ในบทว่า วโธ จ พนฺธนญฺจ นี้ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ในการด่าเป็นต้นนั้น ทรงแสดงความไม่มีวจีทุจริต ด้วยการชนะการด่า. ทรงแสดงความไม่มีกายทุจริต ด้วยธรรมนอกนี้. ด้วยคำนั้น เป็นอันพระองค์ตรัสมรรคที่ ๓ ด้วยการละพยาบาทอันมีการด่าเป็นต้นนั้นเป็นนิมิตได้โดยเด็ดขาด. อีกอย่างหนึ่ง เป็นอันตรัสถึงมรรคที่ ๓ ด้วยการตรัสถึงชัยชนะการด่าเป็นต้น. การข่มการด่าเป็นต้นได้เด็ดขาด เป็นอันทรงประกาศในมรรคที่ ๓ นั้น. แม้ทั้ง ๒ บท ก็ทรงแสดงถึงความที่ภิกษุเหล่านั้นไม่มีความยินร้าย. บทว่า ปพฺพโต วิย โส ฐิโต อเนโช ความว่า อันตราย คือกิเลสอันเป็นตัวหวั่นไหว ท่านเรียกว่าเอชา. ชื่อว่าอเนชา เพราะไม่มีกิเลสที่เหลืออันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ตั้งอยู่ คือเป็นเช่นกับภูเขาเป็นแท่งทึบ เพราะไม่หวั่นไหวด้วยกิเลสทั้งปวง และด้วยลมคือการว่าร้ายของผู้อื่น เหตุไม่มีความหวั่นไหวนั่นเอง. บทว่า สุขทุกฺเขสุ น เวธติ ส ภิกฺขุ ความว่า ภิกษุนั้น คือผู้ทำลายกิเลสแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวอันมีสุขและทุกข์เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวมถึงความเป็นผู้คงที่ ด้วยการบรรลุพระอรหัตของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงเปล่งอุทานอันมีบุคคลเอกเป็นที่ตั้งด้วยประการฉะนี้แล. จบอรรถกถายโสชสูตรที่ ๓ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน นันทวรรคที่ ๓ ยโสชสูตร จบ. |