ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 7อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 25 / 9อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ในขุททกปาฐะ

               อรรถกถาติโรกุฑฑสูตร               

               ประโยชน์แห่งการตั้งพระสูตร               
               บัดนี้ ถึงลำดับการพรรณนาความติโรกุฑฑสูตร ที่ยกขึ้นตั้งต่อลำดับรัตนสูตร
               โดยนัยว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เป็นต้น
               จักกล่าวประโยชน์แห่งการตั้งติโรกุฑฑสูตรนั้นไว้ในที่นี้ แล้วจึงจักทำการพรรณนาความ.
               ในข้อนั้น ความจริง ติโรกุฑฑสูตรนี้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ตรัสตามลำดับนี้ แต่ก็ทรงแสดงการปฏิบัติกุศลกรรมนี้ได้ โดยประการต่างๆ ไว้ก่อนพระสูตรนี้ เพราะเหตุที่บุคคลประมาทในการปฏิบัติกุศลกรรมนั้นอยู่ เมื่อเกิดในฐานะ ที่แม้เศร้าหมองกว่านรกและกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ก็ย่อมเกิดในจำพวกเปรตเห็นปานนั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสรัตนสูตร เพื่อแสดงว่าบุคคลไม่ควรทำความประมาทในการปฏิบัติกุศลกรรมนั้น และเพื่อระงับอุปัทวะแห่งกรุงเวสาลี ที่พวกหมู่ภูตเหล่าใดเบียดเบียนแล้ว หรือตรัสเพื่อแสดงว่า ในหมู่ภูตเหล่านั้น มีหมู่ภูตบางพวกมีรูปเห็นปานนั้น
               พึงทราบประโยชน์แห่งการตั้งติโรกุฑฑสูตรนี้ในที่นี้.

               กถาอนุโมทนา               
               แต่เพราะเหตุที่ ติโรกุฑฑสูตร ผู้ใดประกาศ ประกาศที่ใด ประกาศเมื่อใด และประกาศเพราะเหตุใด การพรรณนาความของติโรกุฑฑสูตรนั้น ครั้นประกาศติโรกุฑฑสูตรนั้นหมดแล้ว เมื่อทำตามลำดับ ชื่อว่าทำดีแล้ว ฉะนั้น ข้าพเจ้าก็จักทำการพรรณนาความนั้น อย่างนั้นเหมือนกันแล.
               ข้อว่า ก็ติโรกุฑฑสูตรนี้ใครประกาศ ประกาศที่ไหน ประกาศเมื่อไร
               ขอชี้แจงดังนี้ ติโรกุฑฑสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศ ก็ติโรกุฑฑสูตรนั้นแล ทรงประกาศเพื่อทรงอนุโมทนาแก่พระเจ้ามคธรัฐในวันรุ่งขึ้น เพื่อทำความข้อนี้ให้แจ่มแจ้ง ควรกล่าวเรื่องไว้พิศดารในข้อนี้ดังนี้.
               ในกัปที่ ๙๒ นับแต่กัปนี้ มีนครชื่อกาสี ในนครนั้น มีพระราชาพระนามว่า ชัยเสน พระเทวีของพระราชานั้นพระนามว่า สิริมา. พระโพธิสัตว์พระนามว่า ปุสสะ เกิดในครรภ์ของพระนาง ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณตามลำดับ พระราชาชัยเสนทรงเกิดความรู้สึกถึงความเป็นของพระองค์ว่า โอรสของเราออกทรงผนวชเกิดเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นของเรา พระธรรมก็ของเรา พระสงฆ์ก็ของเรา ทรงอุปฐากด้วยพระองค์เองตลอดทุกเวลา ไม่ยอมประทานโอกาสแก่คนอื่นๆ.
               เจ้าพี่เจ้าน้องของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างพระมารดา ๓ พระองค์พากันดำริว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเสด็จอุบัติ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวง มิใช่เพื่อประโยชน์แก่บุคคลคนเดียวเท่านั้น แต่พระบิดาของเรา ไม่ทรงประทานโอกาสแก่เราและคนอื่นๆ เลย เราจะได้การอุปฐากอย่างไรหนอ.
               พระราชโอรสเหล่านั้นจึงตกลงพระหฤทัยว่า จำเราจะต้องทำอุบายบางอย่าง. ทั้ง ๓ พระองค์จึงให้หัวเมืองชายแดนทำประหนึ่งแข็งเมือง. ต่อนั้น พระราชาทรงทราบข่าวว่า หัวเมืองชายแดนกบฏ จึงทรงส่งพระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ออกไปปราบกบฏ. พระราชโอรสเหล่านั้นปราบกบฏเสร็จแล้วก็เสด็จกลับมา.
               พระราชาทรงดีพระราชหฤทัย พระราชทานพรว่า เจ้าปรารถนาสิ่งใด ก็จงรับสิ่งนั้น. พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์กราบทูลว่า ข้าพระบาทปรารถนาจะอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า เว้นพรข้อนั้นเสีย รับพรอย่างอื่นไปเถิด. พระราชโอรสกราบทูลว่า พวกข้าพระบาทไม่ปรารถนาพรอย่างอื่นดอก พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงกำหนดเวลามาแล้วรับไป. พระราชโอรสทูลขอ ๗ ปี. พระราชาไม่พระราชทาน
               พระราชโอรสจึงทูลขอลดลงอย่างนี้ คือ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน จนถึงไตรมาส พระราชาจึงพระราชทานว่า รับได้.
               พระราชโอรสเหล่านั้นได้รับพระราชทานพรแล้ว ก็ทรงยินดีอย่างยิ่ง เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ประสงค์จะอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดไตรมาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงรับจำพรรษาตลอดไตรมาสนี้สำหรับข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับโดยอาการดุษณีภาพ คือนิ่ง.
               ต่อนั้น พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์ก็ส่งหัตถเลขา ลายพระหัตถ์ไปแจ้งแก่พนักงานเก็บส่วย [ผู้จัดผลประโยชน์] ในชนบทของพระองค์ว่า เราจะอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดไตรมาสนี้ เจ้าจงจัดเครื่องประกอบการอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ให้พร้อมทุกประการ ตั้งแต่สร้างพระวิหารเป็นต้นไป. เจ้าพนักงานเก็บส่วยนั้น จัดการพร้อมทุกอย่างแล้ว ก็ส่งหนังสือรายงานให้ทรงทราบ. พระราชโอรสเหล่านั้น ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ ทรงอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ ด้วยบุรุษไวยาจักร ๒,๕๐๐ คน นำเสด็จสู่ชนบทมอบถวายพระวิหาร ให้ทรงอยู่จำพรรษา.
               บุตรคฤหบดีผู้หนึ่งเป็นพนักงานที่รักษาเรือนคลังของพระราชโอรสเหล่านั้น พร้อมทั้งภรรยา เป็นคนมีศรัทธาปสาทะ เขาได้ปฏิบัติการถวายทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยเคารพ. เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบท พาบุตรคฤหบดีนั้นให้ดำเนินการถวายทานโดยเคารพ พร้อมด้วยบุรุษชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน.
               บรรดาคนเหล่านั้น ชนบางพวกมีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงำ พวกเขาก็พากันทำอันตรายแก่ทาน กินไทยธรรมด้วยตนเองบ้าง ให้แก่พวกลูกๆ เสียบ้าง และเอาไฟเผาโรงอาหาร. ครั้นปวารณาออกพรรษา พระราชโอรสทั้งหลายก็ทรงทำสักการะยิ่งใหญ่แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปเฝ้าพระราชบิดา. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปในที่นั้นแล้ว ก็ปรินิพพาน. พระราชา พระราชโอรส เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบทและเจ้าพนักงานรักษาเรือนคลัง ทำกาละไปตามลำดับ ก็เกิดในสวรรค์พร้อมด้วยบริษัทบริวาร. เหล่าชนที่มีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงำ ก็พากันไปเกิดในนรกทั้งหลาย เมื่อคน ๒ คณะนั้นจากสวรรค์เข้าถึงสวรรค์ จากนรกเข้าถึงนรกด้วยอาการอย่างนี้ กัปก็ล่วงไป ๙๒ กัป.
               ต่อมา ในภัทรกัปนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ชนที่มีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงำเหล่านั้น ก็เกิดเป็นเปรต. ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายถวายทาน อุทิศเพื่อประโยชน์แก่พวกเปรตที่เป็นญาติของตนว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา. เปรตเหล่านั้นก็ได้สมบัติ. ขณะนั้น เปรตแม้พวกนี้เห็นดังนั้น ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทำอย่างไรหนอ พวกข้าพระองค์จึงจะได้สมบัติบ้าง พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัดนี้ พวกท่านยังไม่ได้ดอก ก็แต่ว่า ในอนาคต จักมีพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จักมีพระราชาพระนามว่าพิมพิสาร ท้าวเธอได้เป็นญาติของพวกท่าน นับแต่นี้ไป ๙๒ กัป ท้าวเธอจักถวายทานแด่พระพุทธเจ้า อุทิศส่วนกุศลแก่พวกท่าน ครั้งนั้น พวกท่านจึงจักได้. เขาว่า เมื่อมีพุทธดำรัสอย่างนี้แล้ว พระพุทธดำรัสนั้นได้ปรากฏแก่เปรตเหล่านั้น ประหนึ่งตรัสว่า พวกท่านจักได้ในวันพรุ่งนี้.
               ต่อมา เมื่อล่วงไปพุทธันดรหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา ก็เสด็จอุบัติในโลก. พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์นั้นก็จุติจากเทวโลก พร้อมด้วยบุรุษ ๒,๕๐๐ คนเหล่านั้นไปเกิดในสกุลพราหมณ์ทั้งหลาย ในแคว้นมคธ บวชเป็นฤาษีโดยลำดับ ได้เป็นชฎิล ๓ คน ณ คยาสีสประเทศ. เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบทได้เป็นพระเจ้าพิมพิสาร บุตรคฤหบดี เจ้าพนักงานรักษาเรือนคลังได้เป็นมหาเศรษฐี ชื่อวิสาขะ ภรรยาของเขาได้เป็นธิดาของเศรษฐี ชื่อธรรมทินนา
               บริษัทที่เหลือ เกิดเป็นราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารทั้งหมด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราเสด็จอุบัติในโลก ล่วงไป ๗ สัปดาห์ ก็เสด็จมายังกรุงพาราณสีโดยลำดับ ประกาศพระธรรมจักรโปรดพระภิกษุปัญจวัคคีย์เป็นต้นไป จนถึงทรงแนะนำชฎิล ๓ ท่าน ซึ่งมีบริวาร ๒,๕๐๐ ๑- จึงเสด็จไปกรุงราชคฤห์.
____________________________
๑- ในพระวินัยปิฏกมหาวรรค ๔/ข้อ ๓๗ เป็น ๑,๐๐๐

               ณ กรุงราชคฤห์นั้น โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเสด็จเข้าไปเฝ้าในวันนั้นเอง ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยพราหมณ์และคฤหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์พระเจ้าพิมพิสาร เพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่ง.
               ครั้นวันรุ่งขึ้น อันท้าวสักกะจอมทวยเทพนำเสด็จ ทรงชมเชยด้วยคาถาทั้งหลาย เป็นต้นอย่างนี้ว่า
                                   ทนฺโต ทนฺเตหิ สห ปุราณชฏิเลหิ
                         วิปฺปมุตโต วิปฺปมุตฺเตหิ
                         สิงคินิกฺขสุวณฺโณ
                         ราชคหํ ปาวิสิ ภควา.
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงฝึกแล้ว กับเหล่าปุราณชฎิล
                         ผู้ฝึกแล้ว พระผู้หลุดพ้นแล้ว กับเหล่าปุราณชฎิลผู้หลุดพ้น
                         แล้ว ผู้มีพระฉวีวรรณงามดังแท่งทองสิงคี เสด็จเข้าสู่กรุง
                         ราชคฤห์
ดังนี้.๒-
____________________________
๑- วิ. มหา. ๔/๖๑/๖๙

               เสด็จเข้าสู่กรุงราชคฤห์ ทรงรับมหาทานในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร เปรตเหล่านั้นยืนห้อมล้อมด้วยหวังอยู่ว่า บัดนี้ พระราชาจักทรงอุทิศทานแก่พวกเรา บัดนี้ จักทรงอุทิศทานแก่พวกเรา.
               ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแล้ว ทรงพระดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ทรงพระดำริถึงแต่เรื่องที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น มิได้ทรงอุทิศทานนั้นแก่ใครๆ.
               เปรตทั้งหลายสิ้นหวัง ตอนกลางคืน จึงพากันทำเสียงแปลกประหลาด น่าสะพรึงกลัวอย่างเหลือเกินในพระราชนิเวศน์. พระราชาทรงสลดพระราชหฤทัยหวาดกลัว ต่อรุ่งสว่าง จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินเสียงเช่นนี้ เหตุอะไรหนอ จักมีแก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร โปรดอย่าทรงกลัวเลย จักไม่มีสิ่งชั่วร้ายอะไรๆ แก่มหาบพิตรดอก ก็แต่ว่า พวกพระญาติเก่าๆ ของมหาบพิตร เกิดเป็นเปรตมีอยู่ เปรตเหล่านั้นเที่ยวอยู่สิ้นพุทธันดรหนึ่ง หวังอยู่ต่อมามหาบพิตรว่า จักทรงถวายทานแด่พระพุทธเจ้า แล้วจักทรงอุทิศส่วนกุศลแก่พวกเรา เมื่อวันวาน มหาบพิตรมิได้ทรงอุทิศส่วนกุศลแก่เปรตพวกนั้น เปรตพวกนั้นสิ้นหวังจึงพากันทำเสียงแปลกประหลาดเช่นนั้น.
               พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลว่า พระเจ้าข้า บัดนี้ เมื่อข้าพระองค์ถวายทาน พวกเขาก็ควรได้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร.
               พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงรับนิมนต์เสวยภัตตาหารเช้าพรุ่งนี้ ของข้าพระองค์ด้วยนะ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักอุทิศทานแก่เปรตพวกนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ. พระราชาเสด็จเข้าพระราชนิเวศน์ จัดแจงมหาทาน แล้วให้กราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าภายในพระราชนิเวศน์ ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาจัดไว้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.
               เปรตพวกนั้นพากันไปยืนที่นอกฝาเรือนเป็นต้น ด้วยหวังว่า วันนี้ พวกเราคงได้อะไรกันบ้าง. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำโดยอาการที่เปรตพวกนั้นจะปรากฎแก่พระราชาหมดทุกตน.
               พระราชาถวายน้ำทักษิโณทก ทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา. ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดารดาษด้วยปทุม ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น. เปรตพวกนั้นก็อาบและดื่มในสระโบกขรณีนั้น ระงับความกระวนกระวาย ความลำบากและหิวกระหายได้แล้ว มีผิวพรรณดุจทอง.
               ลำดับนั้น พระราชาถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินเป็นต้น แล้วทรงอุทิศ. ในทันใดนั้นเอง ข้าวยาคูของเคี้ยวและของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น. เปรตพวกนั้นก็พากันบริโภคของทิพย์เหล่านั้น มีอินทรีย์เอิบอิ่ม.
               ลำดับนั้น พระราชาถวายผ้าและเสนาสนะเป็นต้น ทรงอุทิศให้เครื่องอลังการต่างๆ มีผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาดและที่นอนเป็นต้น ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น. สมบัติแม้นั้นของเปรตพวกนั้น ปรากฏทุกอย่างโดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอธิษฐาน (ให้พระราชาทรงเห็น) โดยประการนั้น. พระราชาทรงดีพระทัยยิ่ง. แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ เป็นต้น เพื่อทรงอนุโมทนาแก่พระเจ้ามคธรัฐ.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ มาติกาหัวข้อนี้ว่า เยน ยตฺถ ยทา ยสฺมา ติโรกุฑฺฑํ ปกาสิตํ ปกาสยิตฺวา ตํ สพฺพํ ก็เป็นอันจำแนกแล้วทั้งโดยสังเขปทั้งโดยพิศดาร.
               บัดนี้ จักกล่าวพรรณนาความแห่งติโรกุฑฑสูตรนี้ตามลำดับไป คือ

               พรรณนาคาถาที่ ๑               
               จะพรรณนาความในคาถาแรกก่อน.
               ส่วนภายนอกแห่งฝาทั้งหลายเรียกกันว่า ติโรกุฑฑะ. คำว่า ติฏฺฐนฺติ เป็นคำกล่าวถึงอิริยาบถยืน เพราะห้ามอิริยาบถนั่งเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถึงพวกเปรตที่ยืนอยู่ที่ส่วนอื่นของฝาเรือนไว้ แม้ในที่นี้ว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺฐนฺติ ยืนกันอยู่ที่นอกฝาเรือน เหมือนที่ท่านกล่าวถึงท่านผู้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ซึ่งไป ณ ส่วนอื่นแห่งกำแพง และส่วนอื่นแห่งภูเขาว่า ไปนอกกำแพงนอกภูเขาไม่ติดขัด ฉะนั้น.
               ในคำว่า สนฺธิสึฆาฏเกสุ จ นั้น ทาง ๔ แพร่ง หรือแม้ที่ต่อเรือนที่ต่อฝาและกรอบหน้าต่าง ท่านเรียกว่าสนธิ ทาง ๓ แพร่ง ท่านเรียกว่า สิงฆาฏกะ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำคำนั้นไว้แห่งเดียวกัน เชื่อมกับคำต้น จึงตรัสว่า สนฺธิสึฆาฏเกสุ จ.
               บทว่า ทฺวารพาหาสุ ติฏฺฐนฺติ ได้แก่ ยืนพิงบานประตูพระนครและประตูเรือน. เรือนญาติแต่ก่อนก็ดี เรือนของตนที่เคยครอบครองเป็นเจ้าของก็ดี ชื่อว่า เรือนของตน ในคำว่า อาคนฺตฺวาน สกํ ฆรํ นี้. เพราะเหตุที่เปรตพวกนั้นพากันมาโดยสกสัญญา เข้าใจว่าเป็นเรือนของตน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถึงเรือนทั้งสองนั้นว่า อาคนฺตฺวาน สกํ ฆรํ มายังเรือนของตน.

               พรรณนาคาถาที่ ๒               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงแก่พระราชาถึงเปรตเป็นอันมากที่พากันมายังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร อันเป็นเรือนญาติแต่ก่อน แม้ตนไม่เคยครอบครองมาแต่ก่อน ด้วยสำคัญว่าเรือนของตน ยืนกันอยู่นอกฝาที่ทาง ๔ แพร่งและทาง ๓ แพร่ง และบานประตู เสวยผลแห่งความริษยาและความตระหนี่ บางพวกมีหนวดและผมยาวหน้าดำ มีอวัยวะใหญ่น้อยผูกหย่อนและยาน ผอมหยาบดำ เสมือนต้นตาลถูกไฟป่าไหม้ ยืนต้นอยู่ในที่นั้นๆ บางพวกมีเรือนร่างถูกเปลวไฟที่ตั้งขึ้นจากท้องแลบออกจากปาก เพราะความสีกันแห่งไม้สีไฟ คือความระหาย แผดเผาอยู่ บางพวกไม่ได้รสอื่นนอกจากรส คือความหิวระหาย เพราะถึงได้ข้าวน้ำก็ไม่สามารถบริโภคได้ตามต้องการ เพราะมีหลอดคอมีขนาดเล็กเท่ารูเข็ม และเพราะมีท้องใหญ่ดังภูเขา บางพวกมีเรือนรางไม่น่าดู แปลกประหลาดและน่าสะพึงกลัวเหลือเกิน ได้น้ำเลือดน้ำหนอง ไขข้อเป็นต้นที่ไหลออกจากแผลหัวฝีที่แตก ของกันและกันหรือของสัตว์เหล่าอื่น ลิ้มเลียเหมือนน้ำอมฤต
               จึงตรัสว่า
                                   ฝูงเปรตพากันมายังเรือนตน ยืนอยู่ที่นอกฝา
                         เรือนก็มี ยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่งสามแพร่งก็มี ยืนใกล้
                         บานประตูก็มี.

               เมื่อทรงแสดงความที่กรรมอันเปรตเหล่านั้นทำมาแล้ว เป็นกรรมทารุณ จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า ปหูเต อนฺนปานมฺหิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหูเต ได้แก่ ไม่น้อย. ท่านอธิบายว่า มากจนพอต้องการ. เอา เป็น ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ปหุ สนฺโต น ภรติ ผู้มีมาก ก็ไม่เลี้ยงดู.๑- แต่อาจารย์บางพวกสวดว่า ปหูเต ก็มี พหูเก ก็มี. ปาฐะเหล่านั้น เป็นปาฐะที่เขียนด้วยความพลั้งเผลอ. ข้าวด้วย น้ำด้วย ชื่อว่าข้าวและน้ำ ของเคี้ยวด้วย ของกินด้วย ชื่อว่าของเคี้ยวและของกิน.
____________________________
๑- ขุ. สุ. ๒๕/๓๐๔/๓๔๗

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาหาร ๔ อย่าง คือของกิน ของดื่ม ของเคี้ยวและของลิ้ม ด้วยบทนี้.
               บทว่า อุปฏฺฐิเต ได้แก่ เข้าไปตั้งไว้. ท่านอธิบายว่า จัดแจง ตบแต่ง รวบรวม.
               บทว่า น โกจิ เตสํ สรติ สตฺตานํ ความว่า เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดในปิตติวิสัย ใครๆ ไม่ว่ามารดาหรือบุตรก็ไม่ระลึกถึง.
               เพราะเหตุไร. เพราะกรรมเป็นปัจจัย คือเพราะกรรมคือความตระหนี่ที่ตนทำ ต่างโดยปฏิเสธการรับและการให้เป็นต้นเป็นปัจจัย เพราะว่ากรรมของสัตว์เหล่านั้น ไม่ให้ญาติระลึกถึง.

               พรรณนาคาถาที่ ๓               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงว่าไม่มีญาติไรๆ ที่พอจะระลึกถึง เพราะกรรมที่มีวิบากเป็นทุกข์เผ็ดร้อน ที่สัตว์เหล่านั้นทำไว้เป็นปัจจัยแก่สัตว์ที่เป็นเปรตเหล่านั้น ซึ่งเที่ยวมุ่งหวังต่อญาติทั้งหลายว่า เมื่อข้าวน้ำเป็นต้น แม้ไม่ใช่น้อย ที่ญาติเข้าไปตั้งไว้ [ในสงฆ์] น่าที่ญาติทั้งหลาย จะพึงให้อะไรๆ อุทิศพวกเรากันบ้างอย่างนี้
               จึงตรัสว่า
                                   เมื่อข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของกิน อันเขาเข้าไปตั้ง
                         ไว้เป็นอันมาก [ในสงฆ์] ญาติไรๆ ของสัตว์เหล่านั้น
                         ก็ระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์ทั้งหลายเป็นปัจจัย.

               เมื่อทรงสรรเสริญทานที่พระราชาถวายอุทิศพวกพระประยูรญาติของพระราชา ที่เกิดในปิตติวิสัย [เกิดเป็นเปรต] อีก จึงตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า เอวํ ททนฺติ ญาตีนํ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เป็นคำอุปมา.
               คำว่า เอวํ นั้นสัมพันธ์ความเป็น ๒ นัย คือ
               ๑. ชนเหล่าใดเป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้ข้าวน้ำเป็นต้น เพื่อญาติทั้งหลาย เมื่อญาติไรๆ แม้ระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัยอย่างนี้.
               ๒. ถวายพระพรชนเหล่าใดเป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้ข้าวน้ำอันสะอาด ประณีต เป็นกัปปิยะของควรตามกาล เพื่อญาติทั้งหลายเหมือนอย่างมหาบพิตรถวายทาน ฉะนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ททนฺติ ได้แก่ ให้ อุทิศ มอบให้.
               บทว่า ญาตีนํ ได้แก่ คนที่เกี่ยวเนื่องข้างมารดาและข้างบิดา.
               บทว่า เย ได้แก่ พวกใดพวกหนึ่งไม่ว่า บุตร ธิดา หรือพี่น้อง.
               บทว่า โหนฺติ แปลว่า ย่อมมี
               บทว่า อนุกมฺปกา ได้แก่ ผู้ประสงค์ประโยชน์ ผู้แสวงประโยชน์เกื้อกูล.
               บทว่า สุจึ ได้แก่ ไร้มลทิน ควรชม ชื่นใจ เป็นธรรม ได้มาโดยธรรม.
               บทว่า ปณีตํ ได้แก่ สูงสุด ประเสริฐสุด.
               บทว่า กาเลน ได้แก่ ตามกาลที่พวกเปรตผู้เป็นญาติมายืนอยู่ภายนอกฝาเรือน เป็นต้น.
               บทว่า กปฺปิยํ ได้แก่ ควร เหมาะ สมควรบริโภคของพระอริยะทั้งหลาย.
               บทว่า ปานโภชนํ ได้แก่ น้ำด้วย ข้าวด้วย ชื่อว่า น้ำและข้าว. ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาไทยธรรมทุกอย่าง โดยยกน้ำและข้าวขึ้นนำหน้า.

               การพรรณนาคาถาที่ ๔ สัมพันธ์กับคาถาที่ ๓               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญน้ำและข้าวที่พระเจ้ามคธรัฐทรงถวาย เพื่ออนุเคราะห์หมู่พระประยูรญาติที่เป็นเปรตอย่างนี้
               จึงตรัสว่า
                                   ชนเหล่าใดเป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้น้ำ
                         และข้าวอันสะอาดประณีตเป็นของควรตามกาลอย่างนี้.
               เมื่อทรงแสดงประการที่ทานซึ่งให้แล้ว เป็นอันให้เพื่อญาติเหล่านั้นอีก จึงตรัสกึ่งต้นแห่งคาถาที่ ๔ ว่า อิทํ โว ญาตีนํ โหตุ เป็นต้น.
               พึงสัมพันธ์ความกับกึ่งต้นของคาถาที่ ๓ ว่า
                                   ชนเหล่าใด เป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้น้ำ
                         และข้าวอย่างนี้ว่า ขอทานนี้แล จงมีแก่ญาติทั้งหลาย
                         ขอญาติทั้งหลาย จงประสบสุขเถิด.

               ด้วยเหตุนั้น ตัวอย่างอาการที่พึงให้เป็นอันทรงทำแล้ว ด้วย เอวํ ศัพท์ ที่มีอรรถว่าอาการในคำนี้ว่า ชนเหล่านั้นย่อมให้โดยอาการอย่างนี้ว่า ขอทานนี้แลจงมีแก่ญาติทั้งหลาย ไม่ใช่โดยอาการอย่างอื่น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ เป็นบทแสดงตัวอย่างไทยธรรม.
               บทว่า โว เป็นเพียงนิบาตอย่างเดียว ไม่ใช่ฉัฏฐีวิภัตติ เหมือนในประโยคเป็นต้นอย่างนี้ว่า กจฺจิ ปน โว อนุรุทฺธา สมคฺคา สมฺโมทมานา. ๑- และ เยหิ โว อริยา.
               บทว่า ญาตีนํ โหตุ ความว่า จงมีแก่ญาติทั้งหลายที่เกิดในปิตติวิสัย.
               บทว่า สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย ความว่า ขอพวกญาติที่เข้าถึงปิตติวิสัยเหล่านั้น จงเป็นผู้เสวยผลทานนี้ มีความสุขเถิด.
____________________________
๑- ม. มู. ๑๒/๓๖๒/๓๘๗

               พรรณนาตอนปลายของคาถาที่ ๔               
               สัมพันธ์กับตอนต้นของคาถาที่ ๕               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงประการที่ทานอันญาติพึงให้แก่ญาติทั้งหลายที่เข้าถึงปิตติวิสัย จึงตรัสว่า ขอทานนี้แล จงมีแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงประสบสุขดังนี้ เพราะเหตุที่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขอทานนี้แล จงมีแก่ญาติทั้งหลาย กรรมที่คนหนึ่งทำแล้วย่อมไม่ให้ผลแก่อีกคนหนึ่ง แต่วัตถุนั้นที่ญาติให้อุทิศอย่างนั้นอย่างเดียว ย่อมเป็นปัจจัยแก่กุศลกรรมของญาติทั้งหลาย ฉะนั้น เมื่อทรงแสดงประการที่กุศลกรรม อันให้เกิดผลในทันที เพราะวัตถุนั้นนั่นแลอีก จึงตรัสกึ่งหลังแห่งคาถาที่ ๔ ว่า เต จ ตตฺถ และกึ่งต้นแห่งคาถาที่ ๕ ว่า ปหูเต อนฺนปานมฺหิ.
               กึ่งต้นและกึ่งหลังแห่งคาถาเหล่านั้นมีความว่า ท่านอธิบายไว้ว่า
               เปรตที่เป็นญาติเหล่านั้นมาโดยรอบ มาร่วมกันประชุมอยู่ในที่แห่งเดียวกัน ในที่ๆ ญาติให้ทานนั้น. ท่านอธิบายไว้ว่า เปรตเหล่านั้นมาโดยชอบ มาร่วมกันมาพร้อมกันเพื่อความต้องการอย่างนี้ว่า ญาติทั้งหลายของเราจักอุทิศทานนี้ เพื่อประโยชน์แก่เราทั้งหลาย.
               บทว่า ปหูเต อนฺนปานมฺหิ ความว่า ในข้าวน้ำที่ญาติให้อุทิศเพื่อตนมีมากนั้น.
               บทว่า สกฺกจฺจํ อนุโมทเร ความว่า เปรตเหล่านั้นเชื่อมั่นผลกรรม ไม่ละความยำเกรง มีจิตไม่กวัดแกว่ง ย่อมยินดีอนุโมทนา เกิดปีติปราโมชว่า ทานนี้จงมีผลเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่เราทั้งหลาย.

               พรรณนาตอนปลายของคาถาที่ ๕               
               สัมพันธ์กับตอนต้นของคาถาที่ ๖               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงประการที่กุศลกรรมให้ผลเกิดในทันที แก่ญาติทั้งหลายที่เข้าถึงปิตติวิสัยอย่างนี้ จึงตรัสว่า
                                   ก็พวกเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้นพากันมาในที่นั้น
                         ประชุมพร้อมแล้ว ต่างก็อนุโมทนาโดยเคารพในข้าว
                         น้ำเป็นอันมาก.

               เมื่อทรงแสดงอาการชมเชยปรารภญาติทั้งหลายของเปรตเหล่านั้น ที่เสวยผลแห่งกุศลกรรม อันบังเกิดเพราะอาศัยพวกญาติอีก
               จึงตรัสกึ่งหลังแห่งคาถาที่ ๕ ว่า
                         จิรํ ชีวนฺตุ
               และกึ่งต้นแห่งคาถาที่ ๖ ว่า
                         อมฺหากญฺจ กตา ปูชา.
               กึ่งหลังและกึ่งต้นแห่งคาถาเหล่านั้นมีความว่า
               บทว่า จิรํ ชีวนฺตุ ได้แก่ มีชีวิตอยู่นานๆ มีอายุยืน.
               บทว่า โน ญาตี แปลว่า ญาติทั้งหลายของพวกเรา.
               บทว่า เยสํ เหตุ ได้แก่ เพราะอาศัยญาติเหล่าใด เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด.
               บทว่า ลภามฺหเส แปลว่า ได้. หมู่เปรตกล่าวอ้างสมบัติที่ตนได้ในขณะนั้น.
               จริงอยู่ ทักษิณาย่อมสำเร็จผล คือให้เกิดผลในขณะนั้นได้ ก็ด้วยองค์ ๓ คือ
                         ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย ๑
                         ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย ๑
                         ด้วยการถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล ๑.
               บรรดาองค์ทั้ง ๓ นั้น ทายกทั้งหลายเป็นเหตุพิเศษ ด้วยเหตุนั้น เปรตทั้งหลายจึงกล่าวว่า เยสํ เหตุ ลภามฺหเส ย่อมได้เพราะเหตุแห่งญาติ [ที่เป็นทายก] เหล่าใด.
               บทว่า อมฺหากญฺจ กตา ปูชา ความว่า และญาติทั้งหลายที่อุทิศทานนี้อย่างนี้ว่า ขอทานนี้จงมีแก่ญาติทั้งหลายของเราดังนี้ ชื่อว่าทำการบูชาพวกเราแล้ว.
               บทว่า ทายกา จ อนิปฺผลา ความว่า กรรมที่สำเร็จมาแต่การบริจาค อันทายกทำแล้วในสันดานใด ทายกทั้งหลาย ชื่อว่าไม่ไร้ผล ก็เพราะกรรมนั้นให้ผลในสันดานนั้นเท่านั้น.
               ในข้อนี้ผู้ทักท้วงกล่าวว่า ญาติทั้งหลายที่เข้าถึงปิตติวิสัยได้เท่านั้นหรือ หรือว่าแม้คนอื่นๆ ก็ได้.
               ขอชี้แจงดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกพราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิ ทูลถามแล้ว ก็ทรงพยากรณ์ข้อนี้ไว้ดังนี้ว่า ในข้อนี้ เราจะพึงกล่าวคำอะไร.
               สมจริงดังที่พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ดังนี้ว่า๒-
____________________________
๒- องฺ.ทสก. ๒๔/ข้อ ๑๖๖ ชาณสุโสณีสูตร.

               ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า
                                   ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้า ชื่อว่าพราหมณ์
                         ย่อมให้ทาน ย่อมทำความเชื่อว่า ทานนี้จะสำเร็จผลแก่
                         เปรตทั้งหลายที่เป็นญาติสาโลหิต เปรตทั้งหลายที่เป็น
                         ญาติสาโลหิต จะบริโภคทานนี้. ข้าแต่ท่านพระโคดม
                         ทานนั้นจะสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลายที่เป็นญาติสาโลหิต
                         บ้างไหม เปรตทั้งหลายที่เป็นญาติสาโลหิต จะบริโภค
                         ทานนั้นได้บ้างไหม.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
                                   ดูก่อนพราหมณ์ จะสำเร็จผลในที่เป็นฐานะ
                         ไม่สำเร็จผลในที่เป็นอัฏฐานะ.

               ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า
                                   ข้าแต่ท่านพระโคดม ที่อย่างไรเป็นฐานะ
                         ที่อย่างไรเป็นอัฏฐานะ.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
                                   ดูก่อนพราหมณ์ คนบางคนในโลกนี้ทำปาณาติบาต
                         ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกไป
                         เขาย่อมเข้าถึงนรก อาหารอันใดของเหล่าสัตว์นรก เขา
                         ย่อมยังชีพให้เป็นไปในนรกนั้น ด้วยอาหารอันนั้น เขา
                         ดำรงอยู่ได้ในนรกนั้น ด้วยอาหารอันนั้น.
                                   ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์ผู้
                         ตั้งอยู่ในนรกใด นรกนั้นแล ชื่อว่า อัฏฐานะ.
                                   ดูก่อนพราหมณ์ คนบางคนในโลกนี้ทำปาณาติบาต
                         ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกไป
                         เขาเข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน. อาหารอันใดของเหล่า
                         สัตว์ที่เกิดในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน เขาย่อมยังชีพให้เป็น
                         ไปในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานนั้น ด้วยอาหารอันนั้น ย่อม
                         ดำรงอยู่ได้ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานนั้น ด้วยอาหารอันนั้น.
                                   ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์ผู้
                         ตั้งอยู่ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานใด กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน
                         นั้นแล ชื่อว่า อัฏฐานะ.
                                   ดูก่อนพราหมณ์ คนบางคนในโลกนี้ เว้นขาดจาก
                         ปาณาติบาต ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะ
                         กายแตกไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของหมู่เทวดา
                         อาหารอันใดของหมู่เทวดา เขายังชีพให้เป็นไปในเทวโลก
                         นั้นด้วยอาหารอันนั้น เขาดำรงอยู่ได้ในเทวโลกนั้น ด้วย
                         อาหารอันนั้น.
                                   ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมไม่สำเร็จผลแก่สัตว์ผู้
                         ตั้งอยู่ในเทวโลกใด เทวโลกนี้แล ก็ชื่อว่าอัฏฐานะ
                                   ดูก่อนพราหมณ์ คนบางคนในโลกนี้ทำปาณาติบาต
                         ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกไป
                         เขาย่อมเข้าถึงปิตติวิสัย อาหารอันใดของหมู่สัตว์ที่เข้าถึง
                         ปิตติวิสัย เขาย่อมยังชีพให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้นด้วย
                         อาหารอันนั้น เขาดำรงอยู่ได้ในปิตติวิสัยนั้นด้วยอาหาร
                         อันนั้น ก็หรือว่า หมู่มิตรสหายหรือหมู่ญาติสาโลหิตมอบ
                         ทาน อันใดจากมนุษย์โลกนี้ไปให้แก่เขา เขาย่อมยังชีพ
                         ให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้นด้วยทานอันนั้น เขาดำรงอยู่ได้
                         ในปิตติวิสัยนั้น ด้วยทานอันนั้น
                                   ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้น ย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ผู้
                         ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนี้แลชื่อว่า ฐานะ.

               ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า
                                   ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าหากว่า เปรตผู้เป็นญาติ
                         สาโลหิตนั้น ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าบริโภคทานนั้น.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
                                   ดูก่อนพราหมณ์ หมู่เปรตที่เป็นญาติสาโลหิตแม้
                         เหล่าอื่นของเขา ที่เข้าถึงฐานะนั้นบริโภคทานนั้นนะสิ.

               ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า
                                   ข้าแต่ท่านพระโคดม ทั้งเปรตที่เป็นญาติสาโลหิต
                         ผู้นั้น ก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ทั้งหมู่เปรตที่เป็นญาติสาโลหิต
                         แม้เหล่าอื่นของเขา ก็ไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภค
                         ทานนั้น.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
                                   ดูก่อนพราหมณ์ ฐานะที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิต
                         ผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาลช้านานเช่นนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่
                         โอกาสที่จะมีได้ ก็แต่ว่า แม้ทายกผู้ให้ ย่อมไม่ไร้ผล
                         นะพราหมณ์.

               พรรณนาตอนปลายของคาถาที่ ๖               
               สัมพันธ์กับคาถาที่ ๗               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงชมพระราชา เพราะอาศัยสมบัติของหมู่พระประยูรญาติในชาติก่อนของพระเจ้ามคธรัฐ ที่เข้าถึงปิตติวิสัย จึงทรงแสดงว่า ขอถวายพระพร พระประยูรญาติของมหาบพิตรเหล่านี้ดีใจ พากันชมเชยในทานสัมปทาน
               จึงตรัสว่า
                                   หมู่เปรตพากันชมว่า พวกเราได้สมบัติ เพราะ
                         เหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจง
                         มีชีวิตอยู่ยั่งยืน และญาติเหล่านั้นทำการบูชาพวกเรา
                         แล้ว ทั้งทายกทั้งหลาย ก็ไม่ไร้ผล
ดังนี้.
               เมื่อทรงแสดงความไม่มีเหตุที่ให้ได้สมบัติอย่างอื่น มีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น ของหมู่เปรตที่เข้าถึงปิตติวิสัยเหล่านั้น และความที่เป็นหมู่เปรตเหล่านั้น ยังชีพให้เป็นไปด้วยทาน ที่ญาติให้จากมนุษยโลกนี้
               จึงตรัสกึ่งหลังแห่งคาถาที่ ๖ ว่า
                         น หิ ตตฺถ กสิ อตฺถิ
               และคาถาที่ ๗ นี้ว่า
                         วณิชฺชา ตาทิสี
เป็นต้น.
               ในคาถานั้น พรรณนาความดังนี้
               ขอถวายพระพร ก็ในปิตติวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรมที่หมู่เปรตเหล่านั้นจะอาศัยแล้วได้สมบัติ.
               บทว่า โครกฺเขตฺถ น วิชฺชติ ความว่า ไม่ใช่ไม่มีกสิกรรมอย่างเดียวเท่านั้นดอก ในปิตติวิสัยนั้นก็ไม่มีแม้แต่โครักขกรรม ที่หมู่เปรตเหล่านั้นจะอาศัยแล้วได้สมบัติ.
               บทว่า วณิชฺชา ตาทิสี นตฺถิ ความว่า ไม่มีแม้การค้าขาย ที่จะเป็นเหตุให้ได้สมบัติของหมู่เปรตเหล่านั้น.
               บทว่า หิรญฺเญน กยากยํ ความว่า ในปัตติวิสัยนั้น ไม่มีแม้แต่การซื้อขายด้วยเงิน ซึ่งจะพึงเป็นเหตุให้ได้สมบัติของหมู่เปรตเหล่านั้น.
               บทว่า อิโต ทินฺเนน ยาเปนฺติ เปตา กาลตา ตหึ ความว่า แต่หมู่เปรตย่อมยังชีพให้เป็นไป ยังอัตภาพให้ดำเนินไป ด้วยทานที่หมู่ญาติ หรือหมู่มิตรสหาย ให้ไปจากมนุษยโลกนี้แต่อย่างเดียว.
               บทว่า เปตา ได้แก่ หมู่สัตว์ที่เข้าถึงปิตติวิสัย. บทว่า กาลคตา ได้แก่ ไปตามเวลาตายของตน. อธิบายว่า ทำกาละ ทำมรณะ. บทว่า ตหึ ได้แก่ ในปิตติวิสัยนั้น.

               พรรณนาสองคาถาคือคาถาที่ ๘ และคาถาที่ ๙               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสว่า ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้น ด้วยทานที่หมู่ญาติมิตรสหายให้แล้วจากมนุษยโลกนี้ อย่างนี้แล้ว                บัดนี้ เมื่อทรงประกาศความนั้น ด้วยข้ออุปมาทั้งหลาย
               จึงตรัส ๒ คาถานี้ว่า อุนฺนเต อุทกํ วุฏฺฐํ เป็นต้น.
               คาถานั้น มีความว่า
               น้ำที่หมู่เมฆให้ตกลงบนที่ดอนบนบก บนภูมิภาคที่สูง ย่อมไหลลงที่ลุ่ม คือไหลไปถึงภูมิภาคที่ลุ่มต่ำ ฉันใด ทานที่หมู่ญาติมิตรสหายให้จากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผล                อธิบายว่า บังเกิดผลปรากฎผลแก่หมู่เปรต ฉันนั้นเหมือนกัน.
               จริงอยู่ เปตโลก โลกเปรต ชื่อว่า ฐานะ ที่ตั้งแห่งความสำเร็จผลแห่งทาน เหมือนที่ลุ่มเป็นฐานะที่ขังน้ำอันไหลมา.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ที่ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนั้นแลเป็นฐานะ
ดังนี้
               เหมือนอย่างว่า น้ำที่ไหลมาจากชุมนุมห้วย ซอกเขา คลองใหญ่ คลองซอย หนองบึง เป็นแม่น้ำใหญู่ เต็มเข้าก็ทำให้สาครทะเลเต็มเปี่ยมฉันใด ทานที่ญาติมิตรสหายให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่หมู่เปรตตามนัยที่กล่าวมาก่อนแล้ว แม้ฉันนั้น.

               พรรณนาคาถาที่ ๑๐               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงประกาศความนี้ว่า ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้น ด้วยทานที่ญาติมิตรสหาย ให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ดังนี้แล้ว
               เมื่อทรงแสดงอีกว่า เพราะเหตุที่หมู่เปรตเหล่านั้น หวังเต็มที่ว่าพวกเราจักได้อะไรๆ จากมนุษยโลกนี้ แม้พากันมาถึงเรือนญาติแล้ว ก็ไม่สามารถจะร้องขอว่า ขอท่านทั้งหลาย โปรดให้ของชื่อนี้แก่พวกเราเถิด ฉะนั้น กุลบุตรเมื่อระลึกถึงสิ่งที่ควรระลึกเหล่านั้น พึงให้ทักษิณาเพื่อหมู่เปรตเหล่านั้น
               จึงตรัสคาถานี้ว่า อทาสิ เม เป็นต้น.
               คาถานั้นมีความว่า กุลบุตร เมื่อระลึกทุกอย่างอย่างนี้ว่า ท่านได้ให้ทรัพย์หรือธัญญาหารชื่อนี้แก่เรา ท่านได้พากเพียรด้วยตนเอง ได้กระทำกิจชื่อนี้แก่เรา คนโน้นเป็นญาติ เพราะเกี่ยวเนื่องข้างมารดาหรือข้างบิดาของเรา คนโน้นเป็นมิตร เพราะสามารถช่วยเหลือโดยสิเนหา และคนโน้นเป็นเพื่อนเล่นฝุ่นด้วยกันของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณา พึงมอบทานให้แก่เขาผู้ล่วงลับไปแล้ว.
               มีปาฐะอื่นอีกว่า เปตานํ ทกฺขิณา ทชฺชา. ปาฐะนั้นมีความว่า ชื่อว่า ทัชชา เพราะเป็นของที่พึงให้. ของที่พึงให้นั้นคืออะไร ก็คือทักษิณาเพื่อเขาผู้ล่วงลับไปแล้ว. ด้วยเหตุนั้น กุลบุตร เมื่อระลึกถึงท่าน อธิบายว่า เมื่อนึกถึงกิจที่ท่านทำมาแต่ก่อน โดยนัยว่า ท่านได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ดังนี้เป็นต้น. คำนี้พึงทราบว่าเป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถประสงค์เป็นตติยาวิภัตติ.

               พรรณนาคาถาที่ ๑๑               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงอนุสสรณวัตถุที่เป็นเหตุ ในการมอบให้ซึ่งทักษิณา เพื่อหมู่เปรตทั้งหลายอย่างนี้ จึงตรัสว่า
                                   กุลบุตร เมื่อระลึกถึงกิจที่ท่านทำมาแต่ก่อนว่า
                         ท่านได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำกิจแก่เรา ได้เป็นญาติมิตร
                         สหายของเรา พึงให้ทักษิณาแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว.

               เมื่อทรงแสดงอีกว่า ชนเหล่าใดมีการร้องไห้และเศร้าโศกเป็นต้น เป็นเบื้องหน้า เพราะความตายของญาติ ดำรงอยู่. ผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่ให้อะไรๆ เพื่อประโยชน์แก่ชนเหล่านั้น การร้องไห้และการเศร้าโศกเป็นต้นนั้น ของชนเหล่านั้นมีแต่ทำตัวให้เดือดร้อนอย่างเดียวเท่านั้น ย่อมไม่ยังประโยชน์อะไรๆ ให้สำเร็จแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเลย
               จึงตรัสคาถานี้ว่า น หิ รุณฺณํ วา เป็นต้น
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุณฺณํ ได้แก่ การร้องไห้ ความร่ำไห้ ความที่น้ำตาร่วง. ทรงแสดงความลำบากกายด้วยบทนี้. บทว่า โสโก ได้แก่ ความเศร้า ความโศกเศร้า. ทรงแสดงความลำบากใจด้วยบทนี้. บทว่า ยาวญฺญา ได้แก่ หรือว่านอกจากร้องไห้เศร้าโศกใด.
               บทว่า ปริเทวนา ได้แก่ การพร่ำเพ้อการรำพันถึงคุณ โดยนัยว่า โอ้ ลูกคนเดียว ที่รัก ที่พึงใจอยู่ไหนดังนี้เป็นต้น ของคนที่ถูกความเสื่อมเสียญาติกระทบแล้ว. ทรงแสดงความลำบากวาจาด้วยบทนี้.

               พรรณนาคาถาที่ ๑๒               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการร้องไห้เป็นต้นไม่เป็นประโยชน์ว่า การรำพันอย่างอื่นแม้ทั้งหมด ไม่มีเพื่อประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่แท้มีแต่ทำตัวให้เดือดร้อนอย่างเดียวเท่านั้น ญาติทั้งหลายก็ตั้งอยู่อย่างนั้นดังนี้แล้ว
               เมื่อทรงแสดงความที่ทักษิณาซึ่งพระเจ้ามคธรัฐ ทรงถวายแล้วมีประโยชน์
               จึงตรัสคาถานี้ว่า อยญฺจ โข ทกฺขิณา ดังนี้เป็นต้น.
               คาถานั้น มีความว่า ขอถวายพระพร ทักษิณานี้แล มหาบพิตรถวายอุทิศหมู่พระประยูรญาติของมหาบพิตรในวันนี้ เพราะเหตุที่พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ฉะนั้น ทักษิณานั้นพึงเป็นทักษิณาที่ทรงตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ จึงสำเร็จผล
               ท่านอธิบายว่า สัมฤทธิ์ผลิตผล เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อสุขแก่เปตชนสิ้นกาลนาน.
               ก็บทว่า อุปกปฺปติ ได้แก่ สำเร็จผลโดยฐานะ คือสัมฤทธิ์ผลในขณะนั้นทันที ไม่นานเลย. เหมือนอย่างว่า ข้อที่แจ่มแจ้งในทันทีทันใด ก็ตรัสว่า ก็ข้อนั้นแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยฐานะ ฉันใด ทักษิณาที่สำเร็จผลในทันทีทันใด แม้ในที่นี้ ก็ตรัสว่า สำเร็จผลโดยฐานะฉันนั้น.
               ฐานะใด ตรัสไว้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้น ย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนั้นแล เป็นฐานะดังนี้. ทักษิณาที่สำเร็จผลในฐานะนั้น อันต่างโดยประเภทมีขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวีเปรตและนิชฌามตัณหิกเปรตเป็นต้น ก็ตรัสว่า ย่อมสำเร็จผลโดยฐานะ เหมือนผู้ให้กหาปณะในโลก เขาก็เรียกกันว่าผู้นั้นให้กหาปณะ ฉะนั้น. แต่ในอรรถวิกัปนี้ บทว่า อุปกปฺปติ ได้แก่ ปรากฎผล ท่านอธิบายว่า บังเกิดผล.

               พรรณนาคาถาที่ ๑๓               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงความที่ทักษิณา ซึ่งพระราชาถวายแล้ว มีประโยชน์อย่างนี้ จึงตรัสว่า
                                   ก็ทักษิณานี้แล มหาบพิตรถวายแล้ว เข้าไปตั้ง
                         ไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ ย่อมสำเร็จผลโดยฐานะ เพื่อ
                         ประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตตลอดกาลนาน
ดังนี้.
               เพราะเหตุที่ญาติธรรมอันพระราชาผู้ทรงถวายทักษิณานี้ ทรงแสดงแล้วด้วยทรงทำกิจที่หมู่ญาติควรทำแก่หมู่ญาติ ทรงทำให้ปรากฏแก่ชนเป็นอันมาก หรือทรงยกเป็นตัวอย่างว่า ญาติธรรม แม้ท่านทั้งหลายก็พึงบำเพ็ญด้วยการทำกิจที่หมู่ญาติพึงทำอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่พึงทำตัวให้เดือดร้อนด้วยการร้องไห้เป็นต้น ซึ่งไร้ประโยชน์
               การบูชาหมู่เปรต อันพระราชาผู้ทรงยังหมู่เปรตเหล่านั้นให้ประสพทิพยสมบัติ ทรงทำแล้วอย่างโอฬาร และกำลังของภิกษุทั้งหลาย อันพระราชาผู้ทรงอังคาสเลี้ยงดูภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยข้าวน้ำเป็นต้น ชื่อว่าทรงเพิ่มให้แล้ว และบุญมิใช่น้อย อันพระราชาทรงยังจาคเจตนา มีคุณคือความอนุเคราะห์เป็นต้นเป็นบริวาร ให้เกิดก็ทรงประสพแล้ว ฉะนั้น เมื่อทรงยังพระราชาให้ทรงร่าเริงด้วยคุณตามเป็นจริงเหล่านี้อีก
               จึงทรงจบเทศนา ด้วยพระคาถานี้ว่า
                                   ญาติธรรมนี้นั้น เป็นอันทรงแสดงแล้ว ๑ การ
                         บูชาเปตชน ก็ทรงทำอย่างโอฬาร ๑ กำลังของภิกษุ
                         ทั้งหลาย ก็ทรงเพิ่มให้แล้ว ๑ บุญมิใช่น้อย พระองค์
                         ก็ทรงขวนขวายแล้ว ๑.

               อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้แจงพระราชาด้วยธรรมีกถา ด้วยบทคาถานี้ว่า โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต. ความจริง การแสดงญาติธรรมนี่เอง เป็นการชี้บ่อยๆ ในข้อนี้.
               ทรงชักชวนด้วยบทคาถานี้ว่า เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา ความจริง การสรรเสริญว่า อุฬารา ก็เป็นการชักชวนด้วยการบูชาบ่อยๆ ในข้อนี้
               ทรงให้อาจหาญด้วยบทคาถานี้ว่า พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ. ความจริง การเพิ่มกำลังแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นทานอย่างนี้ [อย่างหนึ่ง] ในข้อนี้. คำว่า พลานุปฺปทานตา เป็นการปลุกให้อาจหาญ ด้วยการเพิ่มอุตสาหะแก่พระราชานั้น.
               ทรงให้ร่าเริงด้วยบทคาถานี้ว่า ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ. ความจริง การระบุถึงการประสพบุญนั่นเอง พึงทราบว่า เป็นการให้เกิดความร่าเริง ด้วยการพรรณนาคุณตามเป็นจริงแก่พระราชานั้นในข้อนี้.
               จบเทศนา การบรรลุธรรมได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ซึ่งสลดใจ เพราะการพรรณนาโทษแห่งการเข้าถึงปิตติวิสัย แล้วตั้งความเพียรโดยแยบคาย.
               แม้วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงติโรกุฑฑสูตรนี้นี่แล แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมอย่างนั้นได้มีถึง ๗ วัน ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาติโรกุฑฑสูตร               
               แห่ง               
               อรรถกถาขุททกปาฐะ ชื่อปรมัตถโชติกา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑกัณฑ์ในขุททกปาฐะ จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 7อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 25 / 9อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=155&Z=194
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=17&A=4684
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=17&A=4684
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :