ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 91อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 93อ่านอรรถกถา 25 / 97อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยวรรคที่ ๔ ชุณหสูตร

               อรรถกถาชุณหสูตร               
               ชุณหสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กโปตกนฺทรายํ ได้แก่ ในวิหารมีชื่ออย่างนั้น. ได้ยินว่า เมื่อก่อน นกพิราบเป็นอันมากอยู่ในซอกเขานั้น ด้วยเหตุนั้น ซอกเขานั้นจึงเรียกกันว่า กโปตกันทรา. ภายหลังถึงเขาสร้างวิหารไว้ในที่นั้น ก็ยังปรากฏว่า กโปตกันทรา อยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กโปตกนฺทรายนฺติ เอวํนามเก วิหาเร.
               บทว่า ชุณฺหาย รตฺติยา ได้แก่ ในราตรีศุกลปักษ์. บทว่า นโวโรปิเตหิ เกเสหิ ได้แก่ มีผมที่ปลงไม่นาน ก็คำว่า เกเสหิ นี้เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในลักษณะอิตถัมภูต.
               บทว่า อพฺโภกาเส ได้แก่ ที่เนินกลางแจ้งที่ไม่มีเครื่องมุงหรือเครื่องบัง.
               ในพระเถระเหล่านั้น ท่านพระสารีบุตรมีวรรณดุจทองคำ ท่านมหาโมคคัลลานะมีวรรณดังดอกอุบลเขียว ก็พระมหาเถระทั้งสององค์นั้นเป็นชาติพราหมณ์โดยเฉพาะ สมบูรณ์ด้วยอภินิหารสิ้นหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป บรรลุปฏิสัมภิทา ๖ เป็นพระขีณาสพผู้ใหญ่ ได้สมาบัติทุกอย่าง ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ ๖๗ ประการ ทำกโปตกันทราวิหารแห่งเดียวกันให้สว่างไสวไพโรจน์ เหมือนสีหะ ๒ ตัวอยู่ถ้ำทองแห่งเดียวกัน เหมือนเสือโคร่ง ๒ ตัวหยั่งลงสู่พื้นที่เหยียดกายแห่งเดียวกัน เหมือนพญาช้างฉัททันต์ ๒ เชือกเข้าป่าสาลวันซึ่งมีดอกบานสะพรั่งแห่งเดียวกัน เหมือนพญาครุฑ ๒ ตัวอยู่ป่าฉิมพลีแห่งเดียวกัน เหมือนท้าวเวสวัณ ๒ องค์ขึ้นยานสำหรับพาคนไปยานเดียวกัน เหมือนท้าวสักกะ ๒ องค์ประทับนั่งบนบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์เดียวกัน เหมือนท้าวมหาพรหม ๒ องค์อยู่ในวิมานเดียวกัน เหมือนดวงจันทร์ ๒ ดวง และพระอาทิตย์ ๒ ดวงอยู่ในท้องฟ้าเดียวกันฉะนั้น.
               ในท่านเหล่านั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้นั่งนิ่ง ฝ่ายท่านพระสารีบุตรเข้าสมาบัติ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อญฺญตรํ สมาธึ สมาปชฺชิตฺวา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญตรํ สมาธึ ได้แก่ อุเบกขาพรหมวิหารสมาบัติ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ. ฝ่ายอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า ผลสมาบัติอันมีอรูปฌานเป็นบาท.
               จริงอยู่ สมาบัติทั้ง ๓ นี้แหละเป็นสมาบัติที่สามารถรักษากาย. ในสมาบัติเหล่านั้น การเกิดโดยปริยายแห่งสมาธิของนิโรธสมาบัติ ได้กล่าวไว้ในหนหลังแล้วแล. แต่อาจารย์ทั้งหลายพรรณนาสมาบัติครั้งสุดท้ายเท่านั้น.
               บทว่า อุตฺตราย ทิสาย ทกฺขิณทิสํ คจฺฉนฺติ ความว่า ไปสู่สมาคมยักษ์ในอุตรทิศ แล้วไปทักษิณทิศเพื่อไปยังภพของตน.
               บทว่า ปฏิภาติ มํ ได้แก่ จิตของเราปรากฏ.
               จริงอยู่ บทว่า มํ เป็นทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ เพราะประกอบด้วยปฏิศัพท์ ความว่า จิตของเราเกิดขึ้นเพื่อจะตีศีรษะพระเถระนี้.
               ได้ยินว่า ยักษ์นั้นผูกอาฆาตพระเถระมาแต่ชาติก่อน เพราะเหตุนั้น พอเห็นพระเถระเขาจึงมีจิตคิดประทุษร้ายอย่างนั้น. ฝ่ายยักษ์ผู้สหายเป็นผู้มีปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อจะห้ามยักษ์นั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อย่าเลย สหาย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา อาสาเทสิ ได้แก่ อย่าพยายาม อธิบายว่า จงอย่าประหาร. บทว่า อุฬาโร ความว่า ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้นอันยิ่ง คือสูงสุด.
               บทว่า อนาทิยิตฺวา ความว่า ไม่กระทำความเอื้อเฟื้อ คือไม่เชื่อถือคำของยักษ์ผู้เป็นสหายนั้น. ก็เพราะเหตุที่ยักษ์ไม่เชื่อคำของยักษ์ผู้สหายนั้น จึงชื่อว่าไม่เอื้อเฟื้อยักษ์นั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตํ ยกฺขํ อนาทิยิตฺวา.
               บทว่า สีเส ปหารํ อทาสิ ความว่า ทำความอุตสาหะให้เกิดด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ยืนอยู่บนอากาศนั่นแหละ โขกที่ศีรษะ อธิบายว่า เอากำปั้นตีศีรษะ. บทว่า ตาว มหา ความว่า ได้ประหารอย่างหนักปานนั้นด้วยเรี่ยวแรงอย่างมากมาย. บทว่า เตน ปหาเรน ได้แก่ ด้วยการประหารนั้นอันเป็นตัวเหตุ. บทว่า สตฺตรตนํ ได้แก่ ๗ ศอกโดยศอกของบุรุษปานกลาง. บทว่า โส ได้แก่ ยักษ์. บทว่า นาคํ ได้แก่ พญาช้าง.
               บทว่า โอสาเทยฺย ได้แก่ พึงให้จมลง คือพึงให้ดิ่งลงในแผ่นดิน.
               ปาฐะว่า โอสาเรยฺย พึงให้ประชุมลง ดังนี้ก็มี อธิบายว่า พึงกระทำให้แหลกละเอียด.
               บทว่า อฑฺฒฏฺฐมรตนํ ความว่า เป็นที่เต็มแห่งวัตถุ ๘ ด้วยทั้งกึ่ง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่ ๘ ทั้งกึ่ง, ศอกที่ ๘ ทั้งกึ่งเป็นขนาดของช้างนั้น เหตุนั้น ช้างนั้นมีขนาด ๗ ศอกกึ่ง ซึ่งช้างนั้นมีขนาด ๘ ศอกกึ่ง.
               บทว่า มหนฺตํ ปพฺพตกูฏํ ได้แก่ ยอดเขาอันกว้างขวางประมาณเท่ายอดเขาไกรลาศ. บทว่า ปทาเลยฺย ได้แก่ พึงทำลายโดยอาการให้เป็นสะเก็ด เชื่อมความว่า ให้จมลงไปบ้าง ให้ทลายไปบ้าง.
               ก็ในขณะนั้นนั่นเอง ความเร่าร้อนใหญ่เกิดขึ้นในร่างของยักษ์นั้น. ยักษ์นั้นอาดูรด้วยเวทนา เมื่อไม่อาจจะดำรงอยู่ในอากาศได้ จึงตกลงที่พื้นดิน. ในขณะนั้นนั่นเอง มหาปฐพีหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ รองรับขุนเขาสิเนรุซึ่งสูง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ ประหนึ่งไม่อาจจะรองรับสัตว์ชั่วนั้นได้ จึงได้เปิดช่องให้. เปลวไฟพลุ่งขึ้นจากอเวจีมหานรก จับยักษ์นั้นซึ่งกำลังคร่ำครวญอยู่นั่นแล. ยักษ์นั้นกำลังคร่ำครวญบ่นเพ้อตกไป.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ยักษ์นั้นจึงกล่าวว่า ร้อน ร้อน แล้วได้จมลงในมหานรกนั้นนั่นเอง.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวฏฺฐาสิ แปลว่า ได้ตกไปแล้ว.
               ถามว่า ก็ยักษ์นั้นตกนรก ด้วยทั้งอัตภาพยักษ์นั่นแหละหรือ?
               ตอบว่า ไม่ตก. ก็ในที่นี้ เพราะพลังแห่งบาปกรรมซึ่งอำนวยผลในปัจจุบัน ยักษ์จึงเสวยทุกข์มหันต์ในอัตภาพเป็นยักษ์.
               อนึ่ง เพราะอุปปัชชเวทนียกรรมอันเป็นอนันตริยกรรม ยักษ์จึงเกิดในนรกถัดจากจุติ แต่ร่างกายของพระเถระที่ถูกพลังแห่งสมาบัติสนับสนุน จึงไม่มีวิการอะไรเลย.
               ความจริง ยักษ์ประหารท่าน ในเวลาที่ท่านยังไม่ออกจากสมาบัติ. ท่านพระมหาโมคคัลลานะเห็นยักษ์นั้นประหารอยู่อย่างนั้น ด้วยทิพยจักษุ จึงเข้าไปหาพระธรรมเสนาบดี. และพร้อมกับเวลาที่เข้าไปหานั่นแหละ พระธรรมเสนาบดีก็ออกจากสมาบัติ. ในลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะจึงถามถึงความดูแคลนนั้นกะท่านพระธรรมเสนาบดี.
               ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีก็ได้พยากรณ์แก่ท่าน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นแล้วแล ฯลฯ ก็แต่ว่าศีรษะของผมมีทุกข์นิดหน่อย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โถกํ ทุกฺขํ ความว่า ศีรษะของผมเป็นทุกข์ คือได้รับความทุกข์นิดหน่อย คือมีประมาณน้อยนิดคล้ายหยดเทียน. จริงอยู่ ศีรษะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ท่านเรียกว่า มีทุกข์
               บาลีว่า สีเส โถกํ ทุกฺขํ เป็นทุกข์นิดหน่อยที่ศีรษะ ดังนี้ก็มี.
               ถามว่า ก็เมื่อสรีระถูกพลังแห่งสมาบัติสนับสนุน ศีรษะของพระเถระเป็นทุกข์น้อยหนึ่งอย่างไร?
               ตอบว่า เพราะท่านออกจากสมาบัติไม่นานเลย.
               จริงอยู่ ทุกข์ไม่ปรากฏในภายในสมาบัติเหมือนยุงเป็นต้น ปรากฏแก่ผู้หลับ ปรากฏหน่อยหนึ่งแก่ผู้ตื่นขึ้น เพราะเนื่องด้วยกาย. เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะเกิดความคิดอัศจรรย์ขึ้นว่า ขึ้นชื่อว่าความวิการ ย่อมไม่มีแม้ในร่างกายที่ถูกยักษ์มีกำลังมากประหารเอาด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมดเช่นนั้น ประกาศความที่ท่านพระธรรมเสนาบดีมีอานุภาพมาก โดยนัยมีอาทิว่า น่าอัศจรรย์นะ สารีบุตร.
               ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีก็แสดงความที่ตนละได้เด็ดขาดซึ่งมลทินมีริษยาตระหนี่และอหังการเป็นต้น โดยการประกาศว่า ตนมีอิทธานุภาพมากแก่พระมหาโมคคัลลานะนั้น โดยนัยมีอาทิว่า น่าอัศจรรย์นะ โมคคัลลานะ.
               บทว่า ปํสุปิสาจกมฺปิ น ปสฺสาม ความว่า พวกเรามองไม่เห็นแม้ซึ่งขุททกเปรตผู้เที่ยวไปตามสถานที่มีกองหยากเยื่อเป็นต้น. ดังนั้น พระมหาเถระผู้เป็นยอดแห่งผู้ปรารถนามรรคผล จึงได้กล่าวหมายถึงความไม่เห็นเปรตเหล่านั้น เพราะไม่ได้คำนึงถึงในกาลนั้น. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า เอตรหิ ในบัดนี้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน ได้สดับการเจรจาปราศรัยนี้ ของพระอัครสาวกทั้งสองด้วยทิพยโสตญาณ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อสฺโสสิ โข ภควา ดังนี้เป็นต้น. คำนั้นมีอรรถดังที่กล่าวไว้แล้วนั่นแล.
               บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ได้แก่ ทรงทราบความที่ท่านพระสารีบุตรผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งสมาบัติ มีอิทธานุภาพมากนี้. บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ แสดงถึงการที่พระสารีบุตรนั้นนั่นแล ถึงความเป็นผู้คงที่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺส เสลูปมํ จิตฺตํ ฐิตํ นานุปกมฺปติ ความว่า จิตของพระขีณาสพใด อุปมาด้วยภูเขาอันล้วนแล้วด้วยหินเป็นแท่งทึบ ตั้งอยู่โดยถึงความเป็นวสี เพราะไม่มีกิเลสเครื่องเอนเอียงทั้งหมด ย่อมไม่หวั่น คือย่อมไม่ไหวด้วยโลกธรรมแม้ทั้งปวง.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงอาการที่พระขีณาสพนั้นไม่มีความหวั่นไหว พร้อมด้วยเหตุ จึงตรัสคำมีอาทิว่า วิรตฺตํ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิรตฺตํ รชนีเยสุ ความว่า ผู้ปราศจากความยินดีในธรรมที่เป็นไปในภูมิสามแม้ทั้งหมด อันเป็นเหตุเกิดราคะ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ด้วยอริยมรรค คือวิราคธรรม. อธิบายว่า ตัดราคะได้เด็ดขาดโดยประการทั้งปวง ในธรรมที่เป็นไปในภูมิสามนั้น.
               บทว่า โกปเนยฺเย ความว่า ย่อมไม่โกรธ คือย่อมไม่ขัดเคือง ได้แก่ไม่ถึงอาการอันผิดแผกในอาฆาตวัตถุแม้ทั้งหมดอันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง.
               บทว่า ยสฺเสวํ ภาวิตํ จิตฺตํ ความว่า จิตอันพระอริยบุคคลตามที่กล่าวแล้วใด อบรมแล้ว โดยภาวะอันนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ด้วยอาการอย่างนี้ คือโดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า กุโต ตํ ทุกฺขเมสฺสติ ความว่า ทุกข์จักเข้าถึงซึ่งบุคคลผู้สูงสุดนั้นแต่ที่ไหน คือแต่สัตว์หรือสังขาร. อธิบายว่า บุคคลเช่นนั้น ย่อมไม่มีทุกข์.

               จบอรรถกถาชุณหสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยวรรคที่ ๔ ชุณหสูตร จบ.
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 91อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 93อ่านอรรถกถา 25 / 97อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=2618&Z=2661
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=26&A=5823
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=26&A=5823
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :