ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 11อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 25 / 13อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒

หน้าต่างที่ ๒ / ๙.

               ๒. เรื่องกุมภโฆสก [๑๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภเศรษฐี ชื่อกุมภโฆสก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “อุฏฺฐานวโต” เป็นต้น.

               กุมภโฆสกกลัวตายหนีไปอยู่ภูเขา               
               ความพิสดารว่า ในนครราชคฤห์ อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในเรือนของราชคหเศรษฐี. เมื่ออหิวาตกโรคนั้นเกิดขึ้นแล้ว, สัตว์ดิรัจฉานตั้งต้นแต่แมลงวันจนถึงโคย่อมตายก่อน, ถัดนั้นมา ก็ทาสและกรรมกร, ภายหลังเขาทั้งหมด ก็คือเจ้าของเรือน, เพราะฉะนั้น โรคนั้นจึงจับเศรษฐีและภริยาภายหลังเขาทั้งหมด.
               สองสามีภริยานั้น โรคถูกต้องแล้ว แลดูบุตรซึ่งยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ มีนัยน์ตาทั้งสองนองด้วยน้ำตา พูดกะบุตรว่า “พ่อเอ๋ย เขาว่า เมื่อโรคชนิดนี้เกิดขึ้น, ชนทั้งหลายพังฝาเรือนหนีไปย่อมได้ชีวิต, ตัวเจ้าไม่ต้องห่วงใยเราทั้งสองพึงหนีไป (เสียโดยด่วน) มีชีวิตอยู่ จึงกลับมาอีก พึงขุดเอาทรัพย์ ๔๐ โกฏิที่เราทั้งสองฝังเก็บไว้ในที่โน้นขึ้นเลี้ยงชีวิต.”
               เขาฟังคำของมารดาและบิดานั้นแล้ว ร้องไห้ ไหว้มารดาบิดา กลัวต่อภัยคือความตาย ทำลายฝาเรือนหนีไปสู่ชัฏแห่งภูเขา อยู่ในที่นั้นสิ้น ๑๒ ปีแล้ว จึงกลับมายังที่อยู่ของมารดาบิดา.

               เขากลับมาบ้านเดิมไม่มีใครจำได้               
               ครั้งนั้น ใครๆ จำเขาไม่ได้ เพราะความที่ไปในกาลยังเป็นเด็ก กลับมาในกาลมีผมและหนวดขึ้นรุงรัง. เขาไปสู่ที่ฝังทรัพย์ ด้วยสามารถแห่งเครื่องหมายอันมารดาและบิดาให้ไว้ ทราบความที่ทรัพย์ไม่เสียหาย จึงคิดว่า “ใครๆ ย่อมจำเราไม่ได้. ถ้าเราจักขุดทรัพย์ขึ้นใช้สอยไซร้, ชนทั้งหลายพึงคิดว่า ‘คนเข็ญใจผู้หนึ่งขุดทรัพย์ขึ้นแล้ว’, พึงจับเราแล้ว เบียดเบียน ถ้ากระไร เราพึงทำการรับจ้างเป็นอยู่”, ทีนั้น เขานุ่งผ้าเก่าผืนหนึ่ง (เที่ยว) ถามว่า “ใครๆ มีความต้องการด้วยคนรับจ้าง มีอยู่หรือ?” (ไป) ถึงถนนอันเป็นที่อยู่ของคนผู้จ้างแล้ว.

               กุมภโฆสกรับจ้างทำงาน               
               ขณะนั้น พวกผู้จ้างเห็นเขาแล้ว กล่าวว่า “ถ้าเจ้าจักทำการงานของพวกเราได้สักอย่างหนึ่งไซร้, พวกเราจักให้ค่าจ้างสำหรับซื้อภัต.”
               เขาถามว่า “ชื่อว่าการงานอะไร? ที่พวกท่านจักให้ทำ.”
               พวกผู้จ้างตอบว่า “การงานคือการปลุกและการตักเตือน, ถ้าเจ้าอาจ (ทำ) ได้ไซร้, เจ้าจงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เที่ยวบอกว่า “พ่อทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงลุกขึ้น จงตระเตรียมเกวียนทั้งหลาย, จงเทียมโคผู้ ในเวลาที่สัตว์พาหนะต่างๆ มีช้างและม้าเป็นต้นไปเพื่อต้องการกินหญ้า, แม่ทั้งหลาย แม้พวกท่านจงลุกขึ้นต้มยาคู หุงภัต”
               เขารับว่า “ได้จ้ะ.”
               ลำดับนั้น พวกผู้จ้างได้ให้เรือนหลังหนึ่งแก่เขาเพื่อประโยชน์แก่การอยู่ ณ ที่ใกล้. เขาได้การงานนั้นทุกวัน.

               พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบฐานะของกุมภโฆสก               
               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทรงพระนามว่าพิมพิสาร ได้ทรงสดับเสียงของเขาแล้ว. ก็ท้าวเธอได้เป็นผู้ทรงทราบเสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง, เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า “นั่นเป็นเสียงของคนผู้มีทรัพย์มาก.”
               ขณะนั้น นางสนมของท้าวเธอคนหนึ่งยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่ใกล้ คิดว่า “ในหลวงจักไม่ตรัสเหลวๆ ไหลๆ เราควรรู้จักชายนี้.” จึงส่งชายผู้หนึ่งไป (สืบ) ด้วยคำว่า “ไปเถิด พ่อ ท่านจงทราบบุรุษนั่น (แล้วกลับมา).”
               เขารีบไป พบกุมภโฆสกนั้นแล้ว ก็กลับมาบอกว่า “นั้นเป็นมนุษย์กำพร้าคนหนึ่ง ซึ่งทำการรับจ้างของชนผู้จ้างทั้งหลาย.”
               พระราชาทรงสดับถ้อยคำของบุรุษนั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีภาพ๑-, ในวันที่ ๒ ก็ดี ในวันที่ ๓ ก็ดี ครั้นทรงสดับเสียงของกุมภโฆสกนั้นแล้ว ก็ตรัสอย่างนั้นเหมือนกัน.
____________________________
๑- นิ่งเฉย

               นางสนมรับอาสาพระเจ้าพิมพิสาร               
               นางสนมแม้นั้น ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน ส่ง (บุรุษ) ไปหลายครั้ง เมื่อเขาบอกว่า “เป็นมนุษย์กำพร้า” จึงคิดว่า “ในหลวงแม้ทรงสดับคำว่า ‘นั่น มนุษย์กำพร้า’ ก็ไม่ทรงเชื่อ ตรัสย้ำอยู่ว่า ‘นั่นเสียงบุรุษผู้มีทรัพย์มาก’ ในข้อนี้ต้องมีเหตุ; ควรที่เราจะรู้จักชายนั้นตามความจริง.”
               นางสนมนั้นจึงกราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาท เมื่อได้ทรัพย์พันหนึ่งจักพาธิดาไป (ออกอุบาย) ให้ทรัพย์นั่นเข้าสู่ราชสกุลจงได้.”
               พระราชารับสั่งให้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งแก่นางแล้ว. นางรับพระราชทานทรัพย์นั้นแล้ว ให้ธิดานุ่งผ้าค่อนข้างเก่าผืนหนึ่ง ออกจากพระราชมณเฑียรพร้อมกับธิดานั้น เป็นดุจคนเดินทาง ไปสู่ถนนอันเป็นที่อยู่คนรับจ้าง เข้าไปสู่เรือนหลังหนึ่ง พูดว่า “แม่จ๋า ฉันทั้งสองเดินทางมา (เหน็ดเหนื่อย) จักขอพักในเรือนนี้สักวันสองวันแล้ว จักไป.”

               นางสนมกับธิดาพักอยู่ในเรือนกุมภโฆสก               
               หญิงเจ้าของเรือนพูดว่า “แม่ ผู้คนในเรือนมีมาก, แม่ไม่อาจพักในเรือนนี้ได้, เรือนของนายกุมภโฆสกนั้นแน่ะว่าง เชิญแม่ไป (ขอพัก) ในเรือนนั้นเถิด.” นางไปที่เรือนของกุมภโฆสกนั้นแล้ว กล่าวว่า “นายจ๋า ฉันทั้งสองเป็นคนเดินทาง จัก (ขอพัก) อยู่ในเรือนนี้สักวันสองวัน”, แม้ถูกเขาห้ามแล้วตั้งหลายครั้ง ก็พูดอ้อนวอนว่า “นายจ๋า ฉันทั้งสองจัก (ขอพัก) อยู่ชั่ววันนี้วันเดียว พอเช้าตรู่ก็จักไปดอก”, ไม่ปรารถนาจะออกไปแล้ว. นางพักอยู่ในเรือนของกุมภโฆสกนั้นนั่นแล
               วันรุ่งขึ้น ในเวลาเขาจะไปป่า จึงพูดว่า “นายจ๋า ขอนายจงมอบค่าอาหารสำหรับนายไว้แล้วจึงค่อยไป, ฉันจัก (จัดแจง) หุงต้มไว้เพื่อนาย.” เมื่อเขากล่าวว่า “อย่าเลย ฉันจักหุงต้มกินเองก็ได้”, จึงรบเร้าบ่อยๆ เข้า (จนสำเร็จ) ทำทรัพย์ที่เขาให้ ให้เป็นสักว่าอันตนได้รับไว้แล้วทีเดียว ให้นำโภชนะและสิ่งต่างๆ มีข้าวสารที่บริสุทธิ์เป็นต้น มาแต่ร้านตลาดหุงข้าวสุกให้ละมุนละไมดี และปรุงแกงกับ ๒-๓ อย่าง ซึ่งมีรสอร่อยโดยเยี่ยงอย่างหุงต้มในราชสกุล ได้ให้แก่กุมภโฆสกผู้มาจากป่า. ครั้นทราบ (ว่า) เขาบริโภคแล้ว ถึงความเป็นผู้มีจิตเบิกบาน จึงพูดว่า “นายจ๋า ฉันทั้งสองเป็นผู้เมื่อยล้า ขอพักอยู่ในเรือนนี้แล สักวันสองวันเถอะ”, เขารับรองว่า “ได้จ้ะ.”

               กุมภโฆสกเสียรู้นางชาววัง               
               ทีนั้น นางก็ปรุงภัตอย่างเอร็ดอร่อย ทั้งเวลาเย็นทั้งวันรุ่งขึ้น แล้วได้ให้แก่เขา. และครั้นทราบความที่เขาเป็นผู้มีจิตเบิกบานแล้ว ก็วิงวอน (อีก) ว่า “นายจ๋า ฉันทั้งสองจักอยู่ในเรือนนี้แล สัก ๒-๓ วัน” ดังนี้แล้ว อยู่ในเรือนนั้น เอาศัสตราอันคมตัดฐานเตียงของเขาภายใต้แม่แคร่ในที่นั้นๆ. เมื่อเขามา พอนั่งลงเท่านั้น, เตียงก็ยอบลงเบื้องล่าง. เขากล่าวว่า “ทำไม เตียงนี้จึงขาดไปอย่างนี้?”
               นางสนม. นายจ๋า ฉันไม่อาจห้ามพวกเด็กหนุ่มๆ ได้ พวกเขามาประชุมกัน (เล่น) ที่นี้ละซิ.
               กุมภโฆสก. แม่ เพราะอาศัยแก ๒ คน ทุกข์นี้ จึงเกิดแก่ฉัน, เพราะในกาลก่อน ฉันจะไปในที่ไหนๆ ก็ปิดประตูแล้วจึงไป.
               นางสนม. จะทำอย่างไรได้ละ? พ่อ ฉันไม่อาจห้ามได้.
               นางตัด (ฐานเตียง) โดยทำนองนี้แล สิ้น ๒-๓ วัน แม้ถูกเขาตำหนิติเตียนว่ากล่าวอยู่ ก็คงกล่าว (แก้ตัว) อย่างนั้นแล้วตัดเชือกที่เหลือ เว้นเชือกเส้นเล็กๆ ไว้เส้น ๒ เส้น.
               วันนั้น เมื่อเขาพอนั่งลงเท่านั้น, ฐาน (เตียง) ทั้งหมดตกลงไปที่พื้นดิน. ศีรษะ (ของเขา) ได้ (ฟุบลง) รวมเข้ากับเข่าทั้งสอง เขาลุกขึ้นได้ ก็พูดว่า “ฉันจะทำอะไรได้? บัดนี้ จักไปไหนได้? ฉันเป็นผู้ถูกพวกแกทำไม่ให้เป็นเจ้าของแห่งเตียงเป็นที่นอนเสียแล้ว.”
               นางสนมปลอบว่า “จักทำอย่างไรได้เล่า? พ่อ ฉันไม่อาจห้ามเด็กๆ ที่คุ้นเคยได้, ช่างเถอะ อย่าวุ่นวายไปเลย, นายจักไปไหน? ในเวลานี้” ดังนี้แล้ว เรียกธิดามาบอกว่า “แม่หนู เจ้าจงทำโอกาสสำหรับเป็นที่นอนแห่งพี่ชายของเจ้า.”

               กุมภโฆสกได้ลูกสาวของนางสนมเป็นภรรยา               
               ธิดานั้นนอนที่ข้างหนึ่งแล้ว พูดว่า “นายคะ เชิญนายมา (นอน) ที่นี้.” แม้นางสนมก็กล่าวกะกุมภโฆสกนั้นว่า “เชิญพ่อไปนอนกับน้องสาวเถิด พ่อ.” เขานอนบนเตียงเดียวกับธิดานางสนมนั้น ได้นำความเชยชิดกันในวันนั้นเอง.
               นางกุมาริการ้องไห้แล้ว. ทีนั้น มารดาจึงถามเขาว่า “เจ้าร้องไห้ทำไมเล่า? แม่หนู.”
               ธิดา. กรรมชื่อนี้เกิดแล้ว แม่.
               มารดาพูดว่า “ช่างเถอะ แม่หนู เรา อาจทำอะไรได้, เจ้าได้สามีคนหนึ่งก็ดี กุมภโฆสกนี้ได้หญิงผู้บำเรอเท้าคนหนึ่ง๑- ก็ดี ย่อมสมควร” ดังนี้แล้ว ได้ทำกุมภโฆสกนั้นให้เป็นบุตรเขยแล้ว. เขาทั้งสองอยู่ร่วมกันแล้ว.
____________________________
๑- ภรรยา.

               กุมภโฆสกต้องจ่ายทรัพย์เพราะอุบายของนางสนม               
               โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน นางสนมนั้นก็ส่งข่าว (กราบทูล) แด่พระราชาว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ขอฝ่าละอองธุลีพระบาท จงรับสั่งให้ทำการโฆษณาว่า ‘ขอทวยราษฏร์จง (จัด) ทำมหรสพใน (ย่าน) ถนนแห่งคนรับจ้างอยู่, ก็คนใดไม่จัดทำมหรสพในเรือน, สินไหมชื่อประมาณเท่านี้ ย่อมมีแก่คนนั้น.”
               พระราชารับสั่งให้ทำอย่างนั้น. คราวนั้น แม่ยายพูดกะเขาว่า “พ่อเอ๋ย เราจำต้องจัดทำมหรสพในถนนแห่งคนรับจ้างตามพระราชาณัติ๑-, เราจะทำอย่างไร ?”
               กุมภโฆสก. แม่ ฉันแม้ทำการรับจ้างอยู่ ก็แทบจะไม่สามารถเป็นอยู่ได้ จักจัดทำมหรสพอย่างไรได้เล่า?
               แม่ยาย. พ่อเอ๋ย ธรรมดาบุคคลผู้อยู่ครองเรือนทั้งหลาย ย่อมรับเอา๒- แม้หนี้ไว้, พระเจ้าอยู่หัวทรงบังคับ จะไม่ทำ (ตาม) ไม่ได้, อันเราอาจพ้นจากหนี้ได้ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง, ไปเถิดพ่อ จงนำกหาปณะ ๑ หรือ ๒ กหาปณะ แต่ที่ไหนๆ ก็ได้.
____________________________
๑- การบังคับของพระพระราชา.
๒- ต้องเป็นหนี้พระราชา.

               นางสนมส่งทรัพย์ของกุมภโฆสกไปถวายพระราชา               
               เขาตำหนิติเตียนพลางไปนำกหาปณะมาเพียง ๑ กหาปณะแต่ที่ฝังทรัพย์ ๔๐ โกฏิ นางก็ส่งกหาปณะไป (ถวาย) แด่พระราชาแล้ว (จัด) ทำมหรสพด้วยกหาปณะของตน, โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ก็ส่งข่าวไป (ถวาย) อย่างนั้นนั่นแลอีก.
               พระราชาก็ทรงบังคับอีกว่า “ทวยราษฏร์จงจัดทำมหรสพ เมื่อใครไม่ทำ มีสินไหมประมาณเท่านี้” กุมภโฆสกนั้นถูกแม่ยายกล่าวรบเร้าอยู่เหมือนครั้งก่อนนั่นแล จึงไปนำกหาปณะมา ๑ กหาปณะ แม้อีกนางก็ส่งกหาปณะแม้เหล่านั้นไป (ถวาย) แด่พระราชา, โดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน ก็ส่งข่าวไป (ถวาย) อีกว่า “บัดนี้ ขอฝ่าละอองธุลีพระบาททรงส่งบุรุษมา รับสั่งให้เรียกกุมภโฆสกนี้ไป (เฝ้า).” พระราชาทรงส่งบุรุษไปแล้ว.

               กุมภโฆสกถูกฉุดตัวไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว               
               พวกบุรุษไปยังถนนที่คนรับจ้างนั้นอยู่แล้ว ถามหาว่า “คนไหนชื่อกุมภโฆสก” เที่ยวตามหาพบเขาแล้ว บอกว่า “มาเถิด พ่อมหาจำเริญ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้หาพ่อ (ไปเฝ้า).”
               เขากลัวแล้ว พูดคำแก้ตัวเป็นต้นว่า “พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรู้จักตัวฉัน” แล้วไม่ปรารถนาจะไป. ทีนั้น พวกบุรุษจึงจับเขาที่อวัยวะทั้งหลายมีมือเป็นต้น ฉุดมาด้วยพลการ๑-
____________________________
๑- ทำด้วยกำลัง คือทำตามชอบใจ.

               หญิงนั้นเห็นบุรุษเหล่านั้นแล้ว จึง (ทำที) ขู่ตะคอกว่า “เฮ้ย เจ้าพวกหัวดื้อ พวกเจ้าไม่สมควรจับลูกเขยของข้าที่อวัยวะทั้งหลายมีมือเป็นต้น” แล้วปลอบว่า “มาเถิดพ่อ อย่ากลัวเลย, ฉันเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว จักทูลให้ตัดมือของพวกที่จับอวัยวะมีมือเป็นต้นของเจ้าทีเดียว” แล้วพาบุตรีไปก่อน ถึงพระราชมณเฑียรแล้วเปลี่ยนเพศแต่งเครื่องประดับพร้อมสรรพ ได้ยืนเฝ้าอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายกุมภโฆสกถูกเขาฉุดคร่านำมา (ถวาย) จนได้.

               พระราชาทรงซักถามกุมภโฆสก               
               ขณะนั้น พระราชาตรัสกะเขาผู้ถวายบังคมแล้วยืนเฝ้าอยู่ว่า “เจ้าหรือ? ชื่อกุมภโฆสก.”
               กุมภโฆสก. ข้าแต่สมมติเทพ พระเจ้าข้า.
               พระราชา. เพราะเหตุไร เจ้าจึงปกปิดทรัพย์เป็นอันมากไว้ใช้สอย?
               กุมภโฆสก. ทรัพย์ของข้าพระองค์จักมีแต่ไหน? พระเจ้าข้า (เพราะ) ข้าพระองค์ทำการรับจ้างเลี้ยงชีวิต.
               พระราชา. เจ้าอย่าทำอย่างนั้น, เจ้าลวงข้าทำไม?
               กุมภโฆสก. ข้าพระองค์มิได้ลวง พระเจ้าข้า, ทรัพย์ของข้าพระองค์ไม่มี (จริง).
               ทีนั้น พระราชาทรงแสดงกหาปณะเหล่านั้นแก่เขาแล้ว ตรัสว่า “กหาปณะเหล่านี้ ของใครกัน?”

               กุมภโฆสกเผยจำนวนทรัพย์               
               เขาจำ (กหาปณะ) ได้ คิดว่า “ตายจริง! เราฉิบหายแล้ว, อย่างไรหนอ กหาปณะเหล่านี้จึงตกมาถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวได้?” แลไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นหญิงทั้งสองคนนั้นประดับประดายืนเฝ้าอยู่ริมพระทวารห้อง จึงคิดว่า “กรรมนี้สำคัญนัก, ชะรอย พระเจ้าอยู่หัวพึงแต่งหญิงเหล่านี้ (ไปล่อลวงแน่นอน).”
               ขณะนั้น พระราชาตรัสกะเขาว่า “พูดไปเถิด ผู้เจริญ, ทำไม? เจ้าจึงทำอย่างนั้น.”
               กุมภโฆสก. เพราะที่พึ่งของข้าพระองค์ไม่มี พระเจ้าข้า.
               พระราชา. คนเช่นเรา ไม่ควรเป็นที่พึ่ง (ของเจ้า) หรือ?
               กุมภโฆสก. ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าสมมติเทพทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ ก็เป็นการเหมาะดี.
               พระราชา. เป็นได้ซิ ผู้เจริญ, ทรัพย์ของเจ้ามีเท่าไรล่ะ?
               กุมภโฆสก. มี ๔๐ โกฏิ พระเจ้าข้า.
               พระราชา. ได้อะไร (ขน) จึงจะควร?
               กุมภโฆสก. เกวียนหลายๆ เล่ม พระเจ้าข้า.

               กุมภโฆสกได้รับตำแหน่งเศรษฐี               
               พระราชารับสั่งให้จัดเกวียนหลายร้อยเล่มส่งไป ให้ขนทรัพย์นั้นมา ให้ทำเป็นกองไว้ที่หน้าพระลานหลวงแล้ว รับสั่งให้ชาวกรุงราชคฤห์ (มา) ประชุมกันแล้ว ตรัสถามว่า “ในพระนครนี้ ใครมีทรัพย์ประมาณเท่านี้บ้าง?
               เมื่อทวยราษฏร์กราบทูลว่า “ไม่มี พระเจ้าข้า”
               ตรัสถามว่า “ก็เราทำอะไรแก่เขา จึงควร?”
               เมื่อพวกนั้นกราบทูลว่า “ทรงทำความยกย่องแก่เขา สมควร พระเจ้าข้า”
               จึงทรงตั้งกุมภโฆสกนั้น ในตำแหน่งเศรษฐี ด้วยสักการะเป็นอันมาก พระราชทานบุตรีของหญิงนั้นแก่เขาแล้ว เสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาพร้อมกับเขา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า
               “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรบุรุษนี้ ชื่อว่าผู้มีปัญญาเห็นปานนี้ ไม่มี, เขาแม้มีสมบัติถึง ๔๐ โกฏิ ก็ไม่ทำอาการเย่อหยิ่ง หรืออาการสักว่าความทะนงตัว, (ทำ) เป็นเหมือนคนกำพร้า นุ่งผ้าเก่าๆ ทำการรับจ้างที่ถนนอันเป็นที่อยู่ของคนรับจ้าง เลี้ยงชีพอยู่ หม่อมฉันรู้ได้ด้วยอุบายชื่อนี้, ก็แลครั้นรู้แล้ว สั่งให้เรียกมาไล่เลียงให้รับว่ามีทรัพย์แล้ว ให้ขนทรัพย์นั้นมา ตั้งไว้ในตำแหน่งเศรษฐี, (ใช่แต่เท่านั้น) หม่อมฉันยังให้บุตรีแก่เขาด้วย
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนมีปัญญาเห็นปานนี้ หม่อมฉันไม่เคยเห็น.”

               คุณธรรมเป็นเหตุเจริญแห่งยศ               
               พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสว่า
               “มหาบพิตร ชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าเป็นอยู่ประกอบด้วยธรรม, ก็กรรมมีกรรมของโจรเป็นต้น ย่อมเบียดเบียนบีบคั้น (ผู้ทำ) ในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า ชื่อว่าความสุขอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ ก็ไม่มี, ก็บุรุษทำการรับจ้างก็ดี ทำนาก็ดี เลี้ยงชีวิตในกาลเสื่อมทรัพย์นั่นแล ชื่อว่าชีวิตประกอบด้วยธรรม, อันความเป็นใหญ่ย่อมเจริญขึ้นอย่างเดียว แก่คนผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร บริบูรณ์ด้วยสติ มีการงานบริสุทธิ์ทางทวารทั้งหลาย มีกายและวาจาเป็นต้น มีปกติใคร่ครวญด้วยปัญญา แล้วจึงทำผู้สำรวมไตรทวาร มีกายทวารเป็นต้น เลี้ยงชีวิตโดยธรรม ตั้งอยู่ในอันไม่เหินห่างสติเห็นปานนั้น.”
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ๒. อุฏฺฐานวโต สตีมโต                สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
                         สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.
                                        ยศย่อมเจริญโดยยิ่ง แก่คนผู้มีความขยัน
                         มีสติ มีการงานสะอาด มีปกติใคร่ครวญ แล้วจึงทำ
                         สำรวมแล้ว เลี้ยงชีพโดยธรรม และไม่ประมาท.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฏฺฐานวโต คือ ผู้มีความเพียรเป็นเหตุลุกขึ้น.
               บทว่า สตีมโต คือ สมบูรณ์ด้วยสติ.
               บทว่า สุจิกมฺมสฺส คือ ประกอบด้วยการงานทั้งหลาย มีการงานทางกายเป็นต้น อันหาโทษมิได้ คือหาความผิดมิได้.
               บทว่า นิสมฺมการิโน ได้แก่ ใคร่ครวญ คือไตร่ตรองอย่างนี้ว่า “ถ้าผลอย่างนี้จักมี เราจักทำอย่างนี้.” หรือว่า “เมื่อการงานนี้ อันเราทำแล้วอย่างนี้ ผลชื่อนี้จักมี” ดังนี้แล้ว ทำการงานทั้งปวง เหมือนแพทย์ตรวจดูต้นเหตุ (ของโรค) แล้วจึงแก้โรคฉะนั้น.
               บทว่า สญฺญตสฺส ได้แก่ สำรวมแล้ว คือไม่มีช่อง ด้วยทวารทั้งหลายมีกายเป็นต้น.
               บทว่า ธมฺมชีวิโน คือ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เว้นความโกงต่างๆ มีโกงด้วยตาชั่งเป็นต้น เลี้ยงชีวิตด้วยการงานอันชอบทั้งหลาย มีทำนาและเลี้ยงโคเป็นต้น, เป็นบรรพชิต เว้นอเนสนากรรมทั้งหลาย๑- มีเวชกรรม๒- และทูตกรรม๓- เป็นต้น เลี้ยงชีวิตด้วยภิกษาจาร๔- โดยธรรม คือโดยชอบ.
____________________________
๑- กรรม คือการแสวงหา (ปัจจัย) อันไม่ควร.
๒- กรรมของหมอ หรือกรรม คือความเป็นหมอ.
๓- กรรมของคนรับใช้ หรือกรรม คือความเป็นผู้รับใช้.
๔- การเที่ยวเพื่อภิกษา.

               บทว่า อปฺปมตฺตสฺส คือ มีสติไม่ห่างเหิน.
               บทว่า ยโสภิวฑฺฒติ ความว่า ยศที่ได้แก่ความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติและความนับถือ และที่ได้แก่ความมีเกียรติและการกล่าวสรรเสริญ ย่อมเจริญ.
               ในกาลจบพระคาถา กุมภโฆสกดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก ก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.
               เทศนาสำเร็จประโยชน์แก่มหาชนอย่างนี้แล.

               เรื่องกุมภโฆสก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 11อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 25 / 13อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=330&Z=365
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=19&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=19&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :