ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 178อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 179อ่านอรรถกถา 25 / 180อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต
ปฐมวรรค โลภสูตร

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               เหตุผลที่กล่าว วุตฺตํ ไว้สองครั้ง               
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา ไว้แล้ว จึงกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้อีกเล่า?
               ตอบว่า ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้อีก ก็เพื่อแสดงความแน่นอน โดยปฏิเสธการได้ฟังตามกันมา เหมือนอย่างว่า คนบางคนได้ฟังมาจากคนอื่นแล้วพูด ถ้าว่าเรื่องนั้นคนอื่นนั้นมิได้พูดเอง คือคนอื่นนั้นมิได้พูดเอง เพราะมีคนอื่นพูดไว้อีกทีหนึ่ง และเรื่องนั้นคนอื่นนั้น ก็มิได้พูดเองโดยที่แท้ ได้ฟังมาอีกต่อหนึ่งฉันใด ในที่นี้หาเป็นฉันนั้นไม่ เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงสดับมาจากบุคคลอื่น ตรัสสิ่งที่พระองค์ทรงบรรลุด้วยพระองค์เอง ด้วยพระสยัมภูญาณ เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงความแปลกกันของ วุตฺตํ สองคำนี้ ท่านจึงได้กล่าวคำว่า วุตฺตํ ซ้ำถึงสองครั้ง.
               มีคำอธิบายดังนี้ว่า ก็ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ก็แลข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเองตรัสไว้ หาใช่ผู้อื่นกล่าวไว้ไม่เลย หาใช่พระองค์ได้ทรงสดับต่อมาจากคนอื่นไม่.
               จริงอยู่ การกล่าวซ้ำย่อมช่วยให้เข้าใจความหมายของกันและกัน เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีข้อเสียหายในเพราะการกล่าวซ้ำ.
               แม้ในที่แห่งอื่นจากที่นี้ ก็มีนัยอย่างเดียวกันนี้.
               อนึ่ง ที่ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้ซ้ำถึงสองครั้ง ก็เพื่อแสดงว่าไม่มีการรจนาไว้ก่อน. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมได้เหมาะแก่อัธยาศัยของบริษัทที่มาประชุมกัน เพราะทรงมีปฏิภาณเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เหตุที่ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นไม่มีกิจรจนาเตรียมไว้ก่อน เปรียบเหมือนทานเป็นต้น ก็รจนา (แสดง) ไปตามเหตุการณ์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงคำนี้ไว้ว่า ก็เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ก็แลเรื่องนั้นหาได้ทรงประมวลมาด้วยตักกะ คิดไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยอำนาจการรจนาไว้ก่อนไม่ โดยที่แท้แล้ว พระองค์ตรัสขึ้นมาอย่างฉับพลัน เหมาะสมแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์เลยทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งก็เพื่อแสดงว่าพระดำรัสไม่มีใครปฏิวัติได้. เป็นความจริง พระดำรัสใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ก็เป็นอันตรัสแล้วทีเดียว ใครๆ ไม่สามารถจะคัดค้านพระดำรัสนั้นได้ เพราะอักขระสมบูรณ์ และอรรถก็สมบูรณ์ด้วย.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า๑-
               ธรรมจักรอันยอดเยี่ยมนั่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สมณะหรือพราหมณ์จะปฏิวัติไม่ได้.

               ท่านกล่าวไว้อีกข้อหนึ่งว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พึงมากล่าวในที่นี้ ทุกข์ใดที่พระสมณโคดมบัญญัติไว้ ทุกข์นี้ไม่ใช่อริยสัจ ข้อที่เราตถาคตจักเว้นทุกขอริยสัจนี้แล้ว บัญญัติทุกข์อื่นว่า เป็นอริยสัจ ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ดังนี้เป็นต้น.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้ง ก็เพื่อแสดงว่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีใครปฏิวัติได้
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๑๗ สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๗๑

               อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งก็เพื่อจะแสดงภาวะที่จะให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังทั้งหลาย เป็นความจริง บุคคลผู้มิใช่สัพพัญญูไม่รู้อาสยะเป็นต้นของบุคคลเหล่าอื่น กล่าวคำใดไม่ถูกเทสะหรือไม่ถูกกาละ คำนั้นแม้จะเป็นคำจริง ก็ไม่ชื่อว่ากล่าวไว้เลย เพราะไม่สามารถในอันให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงคำที่ไม่จริงเล่า แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอาสยะเป็นต้นของบุคคลเหล่าอื่น เทสะกาละและความสำเร็จประโยชน์อย่างถูกต้องทีเดียว เพราะพระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสพระดำรัสใดไว้ พระดำรัสนั้นก็ชื่อว่าตรัสไว้เสร็จแล้วทีเดียว เพราะให้สำเร็จประโยชน์ตามทีประสงค์แก่ผู้ฟังทั้งหลายโดยส่วนเดียว การอ้อมค้อมแห่งพระดำรัสนั้นไม่มี เพราะพระองค์มิได้ตรัสไว้. เพราะเหตุนั้น ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งก็เพื่อจะแสดงภาวะที่จะให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังทั้งหลายด้วย.
               อีกประการหนึ่ง คำที่มีความหมายที่ใครๆ เข้าใจไม่ได้ และคำที่ใครๆ ปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ชื่อว่าฟังเสร็จแล้วฉันใด คำที่ใครๆ รับด้วยดีไม่ได้ ไม่ชื่อว่ากล่าวแล้วฉันนั้น. ก็บริษัท ๔ รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดีแล้ว พากันปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งเพื่อแสดงว่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า สาวกรับไว้ด้วยดีทีเดียว
               อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งเพื่อแสดงว่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ขัดแย้งกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย. เหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมแยกประเภทเป็นกุศลอกุศล สาวัชชะ (มีโทษ) และอนวัชชะ (ไม่มีโทษ) ปวัตติ (ความเป็นไป) นิวัตติ (ความหมุนกลับ) สมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ ไม่คลาดเคลื่อน ฉันใด แม้พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระธรรมเสนาบดีเป็นต้นก็ฉันนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม ก็กล่าวคล้อยตามเทศนาของพระองค์ หาได้มีวาทะเป็นต่างๆ กันในเทศนานั้นไม่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว ในกาลต่อมาจากนั้น แม้พระอริยสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ก็กล่าวไว้. ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้อย่างนั้น (ซ้ำสองครั้ง) ก็เพื่อจะแสดงว่าพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ขัดแย้งกับพระอริยเจ้าทั้งหลายดังพรรณนาฉะนี้.
               อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งก็เพื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีนัยอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ตรัสไว้ แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องชาติ โคตร และจำนวนอายุเป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่มีความแตกต่างกันด้วยพระธรรมเทศนา เหมือนกับที่ไม่ทรงมีความแตกต่างกันด้วยพระคุณมีทสพลญาณเป็นต้น.
               พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสไม่ขัดกันเองและตรัสคำหน้าไม่ขัดแย้งกับคำหลังด้วยพระองค์เอง เพราะเหตุนั้น จึงสมด้วยคำที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายในปัจจุบันตรัสไว้แล้วด้วยพระองค์เองเมื่อก่อนเป็นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ก็ตรัสคำนี้ไว้ฉันนั้น.
               ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้สองครั้งเพื่อแสดงว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามีนัยเดียวกับที่พระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ตรัสไว้ และมีนัยเดียวกับที่พระองค์เองตรัสไว้ในพระสูตรอื่นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้. ความไม่ขัดแย้งกันแห่งเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในที่ทุกแห่งเป็นอันท่านแสดงไว้แล้วด้วยคำนั้น.
               อีกประการหนึ่ง คำว่า วุตฺตํ คำที่สองพึงเห็นว่าเป็นคำพูดถึงภาวะ คือความยิ่งใหญ่ มีอธิบายนี้ว่า ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ได้แก่คำพูดที่จะกล่าวต่อไปนี้มีอาทิว่า เอกธมฺมํ ภิกฺขเว พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว.
               อีกประการหนึ่ง คำว่า วุตฺตํ นี้ หมายถึงพูดถึงบทที่สองอีกบทหนึ่ง โดยที่แท้พึงเห็นว่ามีความหมาย หมายถึงการพูด ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงไว้อย่างนี้ว่า ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว ก็แลคำนั้นไม่ใช่สักแต่ว่าตรัสไว้แล้ว คือไม่ใช่สักแต่ว่าทรงบอกไว้แล้ว โดยที่แท้ทรงแสดงถึงกุศลมูลของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย.
               อีกประการหนึ่ง คำว่า วุตฺตํ ที่เป็นบทที่สองนี้ มีความหมายว่าประพฤติ.
               ก็บทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า
               ก็คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว ก็แลคำนั้นไม่ใช่เพียงแต่สักว่าตรัสไว้แล้ว ที่แท้คำนั้นทรงบำเพ็ญ คือทรงประพฤติจนเกิดประโยชน์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีปกติตรัสอย่างใด ก็มีปกติทำอย่างนั้น.
               อีกประการหนึ่ง มีความหมายว่า (คำนั้น) เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้า คือผู้ควรเรียกว่าพระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว.
               อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ (คำแรก) ไว้ หมายถึงการทรงยกขึ้นแสดงถ้อยคำแต่โดยย่อ. กล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้ซ้ำอีกหมายถึงการแสดงขยายถ้อยคำโดยพิสดาร. เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมทั้งโดยย่อทั้งโดยพิสดาร.
               อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา ไว้แล้ว ก็กล่าวคำว่า วุตฺตํ ไว้ซ้ำอีก ก็เพื่อแสดงว่าไม่มีคำพูดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ไม่ดี. เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละโทษทุกอย่างพร้อมทั้งวาสนา (ความเคยชิน) ไว้แล้ว มีครรลองแห่งคำพูดไม่ผิดพลาดจึงไม่มีคำพูดที่ไม่ดีแม้ในกาลไหนๆ เพราะพระองค์ทรงมีวจีกรรมอันคล้อยตามพระญาณอยู่ตลอดเวลา.
               เหมือนอย่างว่า คนบางพวกในโลกพูดอะไรๆ ออกไปเพราะคะนองหรือเพราะความสนุกสนาน เนื่องจากเผลอสติ ต่อมา รู้ตัวก็ทำคำพูดที่พูดไปแล้วตอนก่อนให้เป็นอันไม่ได้พูด ปรับปรุงคำพูดบ้าง ไม่ปรับปรุงบ้างเป็นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเป็นฉันนั้นหามิได้.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคงอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ มีความไม่เผลอสติเป็นธรรมดา และมีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา เมื่อจะทรงประกาศอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นสวนานุตริยะ มีสาระที่น่าสดับให้เป็นเหมือนโปรยฝนอำมฤตแก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้กำลังสดับอรรถที่น้อมนำเข้าไปด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทา อันพระสัพพัญญุตญาณประคับประคองแล้ว อันเป็นโสตายตนะและรสายตนะ เพราะกรณวิญญูอันพิเศษที่ผ่องใสและบริสุทธิ์ซึ่งไม่ทั่วไปแก่บุคคลอื่น เกิดมาจากบุญสมภารอันสั่งสมไว้แล้วตลอดกาลประมาณไม่ได้ ได้ตรัสพระดำรัสเหมาะแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ ด้วยภาษาที่เหมาะแก่สภาวะ ด้วยพระสุรเสียงที่ก้องกังวาลดังเสียงร้องของนกการเวก. ในพระดำรัสนั้นไม่มีความผิดพลาดแม้เพียงปลายขนทราย แล้วโอกาสที่จะตรัสพระดำรัสไม่ดีจักมีมาแต่ไหน?
               เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงว่า คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้ว คำนั้นก็เป็นอันตรัสแล้วทีเดียว ไม่มีพระดำรัสที่ไม่ได้ตรัสไว้หรือตรัสไว้ไม่ดีในกาลไหนๆ ท่านจึงกล่าวว่า ก็คำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วดังนี้แล้ว กล่าวไว้อีกว่าพระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว เพราะเหตุนั้น ในที่นี้จึงไม่มีโทษแห่งคำที่กล่าวซ้ำอีก
               พึงทราบว่า ศัพท์ที่กล่าวซ้ำไว้มีประโยชน์ในที่นี้ดังพรรณนามาฉะนี้.

               อธิบาย อิติศัพท์               
               อิติศัพท์นี้ ในบทว่า อิติ เม สุตํ นี้ แตกต่างกันโดยความหมายเป็นอเนกมีอาทิว่า ความหมายว่าเหตุ ความหมายว่าปริสมาปันนะ ความหมายว่าเป็นเบื้องต้น ความหมายว่าปทัตถปริยยะ (ขยายความหมายของบท) ความหมายว่าปการะ (ประการ) ความหมายว่านิทัสสนะ ความหมายว่าอวธารณะ.
               จริงอย่างนั้น อิติศัพท์นั้น ปรากฏในความหมายว่าเหตุ ในประโยคเป็นต้นว่า๑- ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่เรียกว่ารูป เพราะเหตุที่แตกสลายแล.
               ปรากฏในความหมายว่าปริสมาปันนะ ในประโยคเป็นต้นว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ขอเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราตถาคตในพระศาสนานี้เถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย เราตถาคตมีความอนุเคราะห์ในเธอทั้งหลาย ทำอย่างไร สาวกทั้งหลายของเราตถาคตจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่พึงเป็นอามิสทายาท.
               ปรากฏความหมายว่าเป็นเบื้องต้น ในประโยคเป็นต้นว่า๓- งดเว้นจากการดู การฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรีที่เป็นข้าศึกอย่างนี้ คือเห็นปานนี้เป็นเบื้องต้น.
               ปรากฏในความหมายว่าปทัตถปริยายะ ในประโยคเป็นต้นว่า๔- คำว่า มาคันทิยะ เป็นชื่อ เป็นสมัญญา เป็นบัญญัติ เป็นโวหาร เป็นนาม เป็นการตั้งนาม เป็นนามไธย เป็นภาษา เป็นพยัญชนะ เป็นคำร้องเรียกพราหมณ์นั้น.
               ปรากฏในความหมายว่าปการะ (ประการ) ในประโยคเป็นต้นว่า๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีภัยเฉพาะหน้า บัณฑิตไม่มีภัยเฉพาะหน้า คนพาลมีอุปัทวะ บัณฑิตไม่มีอุปัทวะ คนพาลมีอุปสรรค บัณฑิตไม่มีอุปสรรค ด้วยประการดังพรรณนามานี้แล.
               ปรากฏในความหมายว่านิทัสสนะ ในประโยคเป็นต้นว่า๖- ดูก่อนกัจจานะ ความเห็นที่ว่า มีอยู่แล ก็เป็นที่สุดโต่งอันหนึ่ง ดูก่อนกัจจานะ ความเห็นที่ว่า ไม่มีแล ก็เป็นที่สุดโต่งอันหนึ่ง.
               ปรากฏในความหมายว่าอวธารณะ อธิบายว่า ในการตกลงใจ ในประโยคเป็นต้นว่า๗- หากใครจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชราและมรณะมีเพราะมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย บุคคลนั้นก็จะพึงถูกคัดค้าน ดังนี้ว่า ชราและมรณะมี เพราะมีชาติเป็นปัจจัย.
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๑๕๙
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๑
๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓
๔- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๓๓๑ ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๓๔๑
๕- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๔๐
๖- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๔๔
๗- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๕๗

               ในที่นี้ อิติศัพท์นี้นั้น พึงเห็นว่าปรากฏในความหมายว่า ปการะ นิทัสสนะและอวธารณะ.
               บรรดาความหมายทั้ง ๓ อย่างนั้น ด้วยอิติศัพท์ที่มีความหมายว่าปการะ พระอานนทเถระจึงแสดงความหมายนี้ไว้ว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีความหมายที่ละเอียดด้วยนัยต่างๆ มีสมุฏฐานมาจากอัธยาศัยเป็นอเนก สมบูรณ์ด้วยอรรถ และพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่าง ลึกซึ้งด้วยธรรม (เหตุ) อรรถ (ผล) เทศนา และปฏิเวธ มากระทบคลองแห่งโสตประสาทของสรรพสัตว์ ตามสมควรแก่ภาษาของตนๆ ว่า ใครเล่าจะสามารถเข้าใจได้ครบทุกประการ ข้าพเจ้าแม้ยังความเป็นผู้ประสงค์จะฟังให้เกิดขึ้นด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ก็ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือแม้ข้าพเจ้าก็ฟังมาด้วยประการอย่างหนึ่ง.

               อธิบายบทว่า นานานยนิปุณํ เป็นต้น               
               ในบทว่า นานานยนิปุณํ เป็นต้นนี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้นัยต่างๆ อย่างกัน โดยแยกตามอารมณ์เป็นต้น กล่าวคือ เอกัตตนัย นานัตตนัย อัพยาปารนัย และธัมมตานัย และกล่าวคือนันทิยาวัฏฏนัย ติปุกขลนัย สีหวิกิฬิตนัย ทิสาโลจนนัย และอังกุสนัย ชื่อว่านานานัย (นัยต่างๆ).
               อีกประการหนึ่ง นัยทั้งหลาย ได้แก่คติแห่งบาลี. และคติแห่งบาลีเหล่านั้นก็มีประการต่างๆ กัน ด้วยอำนาจบัญญัตินัย และอนุบัญญัตินัยเป็นต้น ด้วยอำนาจสังกิเลสภาคิยาทินัย โลกิยาทินัย และตทุภยโวมิสสตานัยเป็นต้น ด้วยอำนาจกุสลนัยเป็นต้น ด้วยอำนาจขันธนัยเป็นต้น ด้วยอำนาจสังคหนัยเป็นต้น ด้วยอำนาจสมยวิมุตตินัยเป็นต้น ด้วยอำนาจฐปนนัยเป็นต้น ด้วยอำนาจกุสลนัยเป็นต้น และด้วยอำนาจติกปัฏฐานนัยเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่านานานัย (มีนัยต่างๆ กัน) ความหมายที่ชื่อว่าละเอียดด้วยนัยต่างๆ เพราะหมายความว่า ละเอียด คือละเอียดอ่อน ได้แก่สุขุมด้วยนัยเหล่านั้น.
               อาสยะนั่นแล ชื่ออัชฌาสัย. และอัชฌาสัยนั้นก็มีหลายอย่าง โดยแยกเป็นสัสสตทิฏฐิเป็นต้น และโดยแยกเป็นผู้มีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อยเป็นต้น จึงชื่อว่าอเนกัชฌาสัย (มีอัชฌาสัยเป็นอเนก) อีกประการหนึ่ง อัชฌาสัยเป็นอเนก มีอัชฌาสัยของตนเป็นต้น ชื่อว่าอเนกัชฌาสัย. อเนกัชฌาสัยนั้นเป็นสมุฏฐาน คือเป็นแดนเกิด ได้แก่เป็นเหตุแห่งพระพุทธพจน์นั้น เพราะเหตุนั้น พระพุทธพจน์นั้นจึงชื่อว่ามีอเนกัชฌาสัยเป็นสมุฏฐาน (พระพุทธพจน์) ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยอรรถ เพราะเมื่อมีความถึงพร้อมด้วยอรรถมีกุศลเป็นต้น จึงประกอบด้วยบทแห่งอรรถ ๖ บท คือ สังกาสนะ ปกาสนะ วิวรณะ วิภชนะ อุตตานีกรณะ และบัญญัติ ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยพยัญชนะ เพราะเมื่อมีความถึงพร้อมด้วยพยัญชนะที่ประกาศอรรถนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะ ๖ บท คือ อักขระ บท พยัญชนะ อาการ นิรุกติ และนิเทศ. ชื่อว่ามีปาฏิหาริย์ต่างอย่างกัน เพราะหมายความว่ามีปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่าง คือมากอย่าง โดยแยกเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ และโดยที่ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นั้น ปาฏิหาริย์แต่ละอย่างก็แตกต่างกันไปตามอารมณ์เป็นต้น.

               อธิบายคำว่า ปาฏิหาริย์               
               ในบทว่า วิวิธปาฏิหาริยํ นั้นพึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               ที่ชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์ เพราะนำไปเสียซึ่งกิเลสที่เป็นข้าศึก คือเพราะกำจัดกิเลสมีราคะเป็นต้น เมื่อความหมายมีอยู่ดังว่ามานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่มีกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นที่เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งจะต้องนำไปกำจัด แม้สำหรับปุถุชนทั้งหลาย เมื่อจิตปราศจากอุปกิเลส ประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ ขจัดกิเลสที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว อิทธิวิธี (การแสดงฤทธิ์ได้) จึงเป็นไป เพราะเหตุนั้น ตามโวหารที่เป็นไปในที่นั้น ใครๆ จึงไม่สามารถกล่าวว่าเป็นปาฏิหาริย์ในที่นี้ แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีกิเลสที่มีอยู่ในเวไนยสัตว์เป็นปฏิปักษ์ ฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์ เพราะนำขจัดกิเลสเหล่านั้นไปเสีย.
               อีกประการหนึ่ง คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพวกเดียรถีย์เป็นปฏิปักษ์ ชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์ ก็เพราะนำ (ขจัด) เดียรถีย์เหล่านั้น. อธิบายว่า เดียรถีย์เหล่านั้นถูกพระผู้มีพระภาคเจ้านำ คือขจัดด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะไม่สามารถในการประกาศทิฏฐิ โดยนำขจัดทิฏฐิได้. อีกประการหนึ่ง บทว่า ปฏิ หมายความว่า ภายหลัง. เพราะเหตุนั้น ที่ชื่อว่าเป็นปาฏิหาริย์ เพราะหมายความว่าเป็นสิ่งที่ท่านผู้ทำกิจเสร็จแล้ว พึงนำไป คือพึงให้เป็นไปภายหลัง ในเมื่อจิตตั้งมั่น ปราศจากอุปกิเลสแล้ว. อีกประการหนึ่ง เมื่ออุปกิเลสทั้งหลายของตนถูกมรรคอันประกอบด้วยฌานที่ ๔ นำไป (ขจัด) แล้ว การนำไปในภายหลังชื่อว่าปาฏิหาริย์.
               ปาฏิหาริย์ทั้งหลายมีก็เพราะเหตุที่อิทธิวิธี อาเทสนาวิธี และอนุสาสนีวิธี อันท่านผู้ปราศจากอุปกิเลส และทำกิจเสร็จแล้วพึงให้เป็นไปอีก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ และเพราะเหตุที่เมื่อนำอุปกิเลสทั้งหลายของตนออกได้แล้ว จึงนำอุปกิเลสในสันดานของผู้อื่นออก (ภายหลัง) ปาฏิหาริย์นั่นแล ชื่อว่าปาฏิหาริย์.
               อีกประการหนึ่ง คุณชาติแต่ละอย่างที่มีในเพราะปาฏิหาริย์อันเกิดมาจากอิทธิวิธี อาเทสนาวิธี และอนุสาสนีวิธี ท่านก็เรียกว่าปาฏิหาริย์.
               อีกประการหนึ่ง ฌานที่ ๔ และมรรค ก็ชื่อว่าปาฏิหาริย์ เพราะนำไปซึ่งกิเลสที่เป็นข้าศึก. คุณชาติที่ชื่อว่าปาฏิหาริย์ เพราะเกิดในฌานที่ ๔ และมรรคนั้นบ้าง เพราะเป็นนิมิตในฌานที่ ๔ และมรรคนั้นบ้าง เพราะมาจากฌานที่ ๔ และมรรคนั้นบ้าง. ก็เพราะเหตุที่ตันติตันติเทศนา และอรรถตันติเทศนา กล่าวคือการบรรลุปาฏิหาริย์นั้น หรือกล่าวคือการแทงตลอดเหตุผล และการบัญญัติเหตุผลทั้งสองนั้น ลึกซึ้งด้วยเหตุผล เทศนาและปฏิเวธอันบุคคลผู้มีได้สั่งสมบุญกุศลไว้หยั่งถึงได้ยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรอันสัตว์ทั้งหลายมีกระต่ายเป็นต้น หยั่งถึงได้ยากฉะนั้น และมีที่พึ่งอันบุคคลเหล่านั้นหาไม่ได้ ฉะนั้น จึงชื่อว่าลึกซึ้งด้วยเหตุ ผล เทศนา และปฏิเวธ เพราะประกอบด้วยคัมภีรภาพทั้ง ๔ เหล่านั้น.
               เสียงแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นไปในขณะเดียวกัน เป็นเสียงที่สัตว์ทั้งหลายผู้ต่างภาษากัน รับฟังได้พร้อมกันตามภาษาของตน ย่อมเป็นไปเพื่อให้เข้าใจความหมายได้. เพราะว่าพุทธานุภาพเป็นอจินไตย. นักศึกษาพึงเข้าใจว่า เสียงแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาสู่คลองแห่งโสตประสาท (มากระทบโสตประสาท) ของสรรพสัตว์ตามควรแก่ภาษาของตนๆ.
               ด้วยอิติศัพท์ที่มีความหมายว่า นิทัสสนะ พระอานนทเถระ เมื่อจะออกตัวว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่สยัมภู สูตรนี้ข้าพเจ้ามิได้ทำให้แจ้งด้วยตนเอง จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ คือแม้ข้าพเจ้าเองก็ได้ฟังมาอย่างนี้. พระอานนทเถระแสดงไข (ขยาย) สูตรทั้งหมดที่จะพึงกล่าวในบัดนี้ ด้วยอิติศัพท์ที่มีความหมายว่า นิทัสสนะนี้.
               ด้วยอิติศัพท์ที่มีความหมายว่า อวธารณะ พระอานนทเถระ เมื่อจะแสดงพลังแห่งความทรงจำของตน ซึ่งสมควรแก่ภาวะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญอย่างนี้ว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราตถาคตผู้เป็นพหูสูต มีคติ มีสติ มีธิติ เป็นพุทธอุปัฏฐาก อานนท์นี้เป็นยอด และสมควรแก่ภาวะที่พระธรรมเสนาบดีสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า๒- ท่านพระอานนท์เป็นผู้ฉลาดในอรรถ เป็นผู้ฉลาดในธรรม เป็นผู้ฉลาดในพยัญชนะ เป็นผู้ฉลาดในภาษา เป็นผู้ฉลาดในบทต้นและบทปลาย จึงยังความเป็นผู้ใคร่จะฟังให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ก็แลสูตรนั้น ไม่ขาดไม่เกินทั้งโดยอรรถหรือโดยพยัญชนะ พึงเห็นว่าเป็นอย่างนี้นั้นแล ไม่พึงเห็นว่าเป็นอย่างอื่น.
____________________________
๑- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๙
๒- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๑๖๙

               บทว่า อญฺญถา ความว่า เป็นอย่างอื่นจากอาการที่ได้ฟังมา เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่าไม่ใช่เป็นอย่างอื่นจากอาการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง. ก็เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอานุภาพเป็นอจินไตย เทศนานั้นใครๆ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ครบทุกอย่าง ความนี้ท่านกล่าวไว้ดังพรรณนามานี้แล.
               ก็การที่ไม่ผิดพลาดจากอาการที่ได้ฟังมาเป็นพลังแห่งความทรงจำ.
               ก็ในที่นี้ ไม่มีการใช้ความหมายอย่างอื่น เพราะความหมายทั้งสองมีวิสัยเป็นอย่างเดียวกัน เพราะเมื่อว่าโดยประการนอกนี้ พระเถระก็จะต้องเป็นผู้สามารถ หรือไม่สามารถในการรับเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยประการทั้งปวงแล.

               เมศัพท์ใช้ในอรรถ ๓ อย่าง               
               เมศัพท์ปรากฏในอรรถ ๓ อย่าง จริงอย่างนั้น เมศัพท์นั้นมีความหมายว่า มยา ในประโยคเป็นต้นว่า๑- โภชนะนี้อันเราขับกล่อมคาถาได้มา จึงเป็นของไม่ควรบริโภค.
               มีความหมายว่า มยฺหํ (แก่เรา, แก่ข้าพเจ้า, แก่ฉัน, แก่ข้าพระองค์) ดังในประโยคเป็นต้นว่า๒- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์แต่โดยย่อ.
               มีความหมายว่า มม (ของเรา, ของข้าพเจ้า, ของฉัน, ของข้าพระองค์) ดังในประโยคเป็นต้นว่า๓- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราตถาคตเถิด. แต่ในที่นี้ประกอบในอรรถ ๒ อย่าง คืออันข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว และการฟังมาของข้าพเจ้า
               ก็ในที่นี้ เมศัพท์ทั้ง ๓ อย่าง แม้ถ้าจะปรากฏในความหมายอย่างเดียวกัน เพราะในเมื่อควรจะกล่าวอย่างนี้ว่า บุคคลใดไม่ใช่บุคคลอื่น บุคคลนั้นก็คือตัวเราก็กลับเป็นไปในสันดานของตน กล่าวคือเกิดภายในตนไซร้ ถึงกระนั้น เม ศัพท์นั้นก็ยังมีความหมายที่แตกต่างกันนี้อยู่แล กล่าวคือแตกต่างกันโดยเป็นตติยาวิภัตติและจตุตถีวิภัตติเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เม ศัพท์ปรากฏในความหมาย ๓ อย่าง.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๕๖
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๕๙๙
๓- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๒๑

               อธิบาย สุตะศัพท์               
               สุตะศัพท์ ในบทว่า สุตํ นี้ ที่มีอุปสรรคก็มี ที่ไม่มีอุปสรรคก็มี แตกต่างโดยความหมายเป็นอเนกมีอาทิ คือ คมนะ (การไป) วิสสุตะ (ฟัง) กิลินนะ (เปียกชุ่ม) อุปจิตะ (สั่งสม) อนุยุตตะ (ตามประกอบ, บำเพ็ญ) สุตวิญเญยยะ (รู้ได้ทางโสตะ) โสตทวารานุสาริวิญญาตะ (รู้ได้ตามกระแสแห่งโสตทวาร).
               อธิบายว่า อุปสรรคเป็นตัวขยายกิริยา (ให้มีความหมาย) พิเศษออกไปก็จริง ถึงกระนั้น เมื่ออุปสรรคนั้นแม้มีอยู่ เพราะขยายความให้สุตะศัพท์นั่นแล ก็ยังกล่าวถึงความหมายนั้นๆ อยู่ เพราะเหตุนั้นในการยกความหมายของสุตะศัพท์ที่ไม่มีอุปสรรคขึ้นมา (เป็นตัวอย่าง) ท่านจึงยกเอาสุตะศัพท์ที่มีอุปสรรคขึ้นมา (เป็นตัวอย่าง) ด้วย.
               ในสุตะศัพท์นั้นมีความหมายดังต่อไปนี้
               ๑. มีความหมายว่าไป ในประโยคเป็นต้นว่า ไปในกองทัพ.
               ๒. มีความหมายว่าผู้ฟังธรรมแล้ว ในประโยคเป็นต้นว่า๑- ผู้มีธรรมที่ได้ฟังแล้ว เห็น (ธรรม) อยู่
               ๓. มีความหมายว่า ผู้เปียกชุ่มด้วยกิเลสยินดีการถูกต้องกายของผู้ชายผู้เปียกชุ่มด้วยกิเลส ในประโยคเป็นต้นว่า๒- ภิกษุณีสุนทรีนันทาผู้อันราคะราดรดแล้ว ยินดีการถูกต้องกายของชายผู้ถูกราคะราดรดแล้ว.
               ๔. มีความหมายว่าสั่งสม ในประโยคเป็นต้นว่า๓- บุญเป็นอันท่านทั้งหลายสั่งสมไว้แล้ว มิใช่น้อย.
               ๕. มีความหมายว่าบำเพ็ญฌาน ในประโยคเป็นต้นว่า๔- นักปราชญ์เหล่าใดบำเพ็ญฌาน.
               ๖. มีความหมายว่ารู้แจ้งได้ทางโสตประสาท ในประโยคเป็นต้นว่า๕- รูปอารมณ์ที่ได้เห็นแล้ว สัททารมณ์ที่ได้ฟังแล้ว คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว.
               ๗. มีความหมายว่าทรงจำไว้ซึ่งอารมณ์ที่รู้แจ้งตามแนวแห่งโสตทวาร ในประโยคเป็นต้นว่า๖- บุคคลผู้เป็นพหูสูตทรงจำสิ่งที่ได้ฟังมาแล้ว สั่งสมสิ่งที่ได้ฟังมาแล้วไว้.
____________________________
๑- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๕๑
๒- วิ. ภิกฺขุนี. เล่ม ๓/ข้อ ๑
๓- ขุ. ขุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๘
๔- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๔
๕- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔
๖- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๘๘

               แต่ในที่นี้ สุตะศัพท์นั้นมีความหมายว่า ทรงจำไว้แล้วตามแนวแห่งโสตทวาร หรือการทรงจำไว้ตามแนวแห่งโสตทวาร.
               ก็เมื่อเมศัพท์มีความหมายเท่ากับ มยา (อันข้าพเจ้า) จึงมีเนื้อความว่า อันข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ คืออันข้าพเจ้าทรงจำไว้แล้วตามแนวแห่งโสตทวาร. เมื่อเมศัพท์มีความหมายเท่ากับ มม (ของข้าพเจ้า) จึงมีเนื้อความว่า การฟังของข้าพเจ้า คือการทรงจำไว้ตามแนวแห่งโสตทวาร เป็นอย่างนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบททั้ง ๓ นี้อย่างนี้ว่า
               เพราะเหตุที่ อิติศัพท์นั้นพึงเป็นศัพท์ที่อมความหมายของสุตศัพท์ไว้ และพึงเป็นศัพท์ที่ขยายความของกิริยา คือการฟัง ฉะนั้น บทว่า อิติ จึงแสดงถึงหน้าที่ของวิญญาณเป็นต้น
               บทว่า เม แสดงถึงบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิญญาณดังกล่าวแล้ว แม้ทุกพากษ์ (ทุกประโยค) จึงประกอบด้วยความหมายของ เอวํศัพท์นั่นเอง เพราะมีอวธารณะเป็นผล. ด้วยเหตุนั้น บทว่า สุตํ จึงเป็นคำแสดงถึงการรับเอามาไม่บกพร่อง และไม่ผิดพลาดเพราะปฏิเสธภาวะ คือการไม่ได้ฟัง เปรียบเหมือนว่า สิ่งที่ได้ฟังมาแล้วย่อมควรเป็นสิ่งที่จะพึงพูดว่า ได้ฟังมาแล้วฉันใด การฟังมาด้วยดีนั้นจึงเป็นการรับเอามาไม่บกพร่อง และเป็นการรับเอามาไม่ผิดพลาด ฉันนั้นดังนี้.
               อีกประการหนึ่ง (พึงทราบว่า) ศัพท์ย่อมบอกความหมาย โดยไม่ให้หลงไปในความหมายของศัพท์อื่น เพราะเหตุที่ บทว่า สุตํ นี้มีความหมายดังนี้ว่าไม่ได้ฟังมาหามิได้ ฉะนั้น
               บทว่า สุตํ จึงชื่อว่าแสดงการรับเอามาไม่บกพร่อง และไม่วิปริต เพราะปฏิเสธภาวะ คือการไม่ได้ฟัง.
               มีคำอธิบายดังนี้ว่า เราได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือเราไม่ได้เห็นเอง ไม่ได้ทำให้แจ้งด้วยสยัมภูญาณ หรือไม่ใช่ได้มาโดยประการอื่น และการฟังนั้นก็เป็นการฟังด้วยดีทีเดียว.
               อีกอย่างหนึ่ง อิติ ศัพท์ที่มีอวธารณะเป็นอรรถ (ความหมายห้ามเนื้อความอื่น) มีการ (อธิบาย) ประกอบความดังพรรณนามานี้ เพราะเหตุนั้น สุตะศัพท์ ซึ่งเพ่งถึง อิติ ศัพท์นั้นจึงมีความหมายว่า กำหนด (แน่นอน) เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงทราบการที่สุตะศัพท์ปฏิเสธภาวะคือการไม่ได้ฟัง และการที่สุตะศัพท์แสดงการรับเอามาไม่บกพร่องและไม่วิปริต.
               นักศึกษาพึงเห็นว่า ท่านแต่งอรรถโยชนาของบททั้ง ๓ (เอวมฺเม สุตํ) ด้วยอำนาจเหตุแห่งการฟังและความแปลกกันแห่งการฟังดังพรรณนามานี้.
               อนึ่ง บทว่า อิติ ชื่อว่าประกาศถึงภาวะคือความเป็นไปในอารมณ์มีประการต่างๆ เพราะวิญญาณวิถีที่เป็นไปตามแนวแห่งโสตทวารรับเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ กัน เพราะทำการอธิบายว่า อิติ ศัพท์มีความหมายถึงอาการ.
               บทว่า เม ประกาศถึงตน.
               บทว่า สุตํ ชื่อว่า ประกาศถึงธรรม เพราะวิญญาณวิถีตามที่กล่าวแล้วมีปริยัติธรรมเป็นอารมณ์.
               ก็ในบทนี้มีความย่อดังต่อไปนี้ว่า
               ข้าพเจ้า (พระอานนทเถระ) มิได้ทำสิ่งอื่น คือข้าพเจ้าได้ฟังธรรมนี้ด้วยวิญญาณวิถีที่เป็นไปในอารมณ์มีประการต่างๆ อันเป็นตัวเหตุ. อนึ่ง บทว่า อิติ ชื่อว่าประกาศถึงสิ่งที่ได้แสดงมาแล้ว เพราะสิ่งที่จะพึงแสดงก็ไม่มีภาวะที่จะพึงแสดง (อีก) เพราะอธิบายว่า อิติศัพท์มีนิสสนะเป็นอรรถ. เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าท่านเท้าถึงสูตรทั้งหมดด้วยอิติศัพท์.
               บทว่า เม ประกาศถึงบุคคล.
               บทว่า สุตํ ประกาศถึงกิจของบุคคล. ก็กิริยาคือการฟังที่ได้มาด้วยเสียงที่ได้ยินมา เกี่ยวเนื่องผูกพันอยู่กับสวนวิญญาณ (วิญญาณในการฟัง) ก็ในธรรมประพันธ์ (การเอ่ยถึงธรรม) ที่ประกอบด้วยการกล่าวถึงบุคคลนั้น ย่อมได้กิริยา คือการฟัง. บทนั้นมีความย่อดังนี้ว่า ข้าพเจ้า (พระอานนทเถระ) จักแสดงอ้างสูตรใด สูตรนั้นข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               อนึ่ง บทว่า อิติ เป็นบทมีการรับเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ กัน เพราะความเป็นไปแห่งจิตสันดานใดที่มีอารมณ์ต่างๆ กัน.
               บทว่า อิติ ก็แสดงถึงอาการต่างๆ กัน แห่งจิตสันดานนั้น เพราะทำอธิบายว่า อิติศัพท์มีความหมายถึงอาการ. ด้วยว่าศัพท์ อิติ นี้ชื่อว่าเป็นการบัญญัติถึงอาการ เพราะธรรมทั้งหลายมีสภาวะที่จะต้องบัญญัติโดยอาศัยอาการ คือความเป็นไปนั้นๆ.
               บทว่า เม แสดงถึงกัตตา.
               บทว่า สุตํ แสดงถึงอารมณ์ เพราะว่าธรรมที่จะต้องฟังย่อมเป็นฐานให้บุคคลผู้ทำเป็นไปด้วยอำนาจ กิริยาคือการฟัง ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันท่านแสดงถึงการตกลงใจในการรับอารมณ์ของผู้ทำผู้พรั่งพร้อมด้วยกิริยา คือการฟังนั้น ด้วยจิตสันดานที่เป็นไปแล้ว โดยประการต่างๆ.
               อีกประการหนึ่ง บทว่า อิติ แสดงถึงกิจของบุคคล.
               อธิบายว่า จริงอยู่ ธรรมดาว่ากิจของบุคคลเป็นอันพระอานนทเถระแสดงแล้วด้วยอิติศัพท์ที่มีภาวะประกาศอรรถว่านิทัสสนะ หรือว่าอวธารณะ ที่มีอาการแห่งธรรมทั้งหลายที่ได้ฟังมาแล้ว อันตนรับไว้แล้ว เพราะการทรงจำอาการนั้นเป็นต้นไว้ เป็นความขวนขวายในธรรม ด้วยการยึดมั่น ในโวหารว่าบุคคล
               บทว่า สุตํ แสดงถึงกิจของวิญญาณ.
               อธิบายว่า จริงอยู่ กิริยา คือการฟังแม้ของผู้มีวาทะว่า บุคคลจะไม่เพ่งถึงวิญญาณก็หามิได้.
               บทว่า เม แสดงถึงบุคคลผู้ประกอบด้วยกิจทั้งสอง
               อธิบายว่า จริงอยู่ ก็ความเป็นไปของศัพท์ว่า เม มีธรรมอันวิเศษที่ได้ฟังมาแล้วเป็นอารมณ์ โดยส่วนเดียวเท่านั้น และกิจของวิญญาณก็พึงตั้งลงในอารมณ์นั้นนั่นแล. แต่ในที่นี้มีความย่อดังนี้ว่า อันข้าพเจ้า (พระอานนท์เถระ) คือ อันบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิญญาณที่มีหน้าที่ฟัง ได้ฟังมาแล้วด้วยสามารถแห่งวิญญาณที่ได้โวหารว่า ผู้มีหน้าที่ฟัง.
               อนึ่ง บทว่า อิติ และบทว่า เม เป็นอวิชชมานบัญญัติด้วยอำนาจสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์แห่งความหมายที่แจ่มแจ้งและความหมายที่ยอดยิ่ง เพราะว่า ความหมายที่จะพึงเข้าใจได้ด้วยเสียงทั้งหมดก็ดี บัญญัติทั้งมวลเพราะจะต้องปฏิบัติตามแนวทางแห่งการบัญญัตินั่นเองก็ดี ย่อมมีความไม่ขัดแย้งกันในบัญญัติทั้ง ๖ นั่นแหละ มีวิชชมานบัญญัติเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ความหมายอันใดเป็นความหมายที่ไม่มีอยู่จริง เหมือนมายากลและพยับแดดเป็นต้น และไม่ใช่เป็นความหมายที่ไม่สูงสุด เหมือนอย่างความหมายที่ต้องรับไว้ด้วยการฟังกันสืบๆ มาเป็นต้น ความหมายเป็นปรมัตถสภาวะมีสัททรูปคือเสียงเป็นต้น และมีการแตกสลาย มีการเสวยอารมณ์เป็นต้น มีอยู่ด้วยอำนาจสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์
               ส่วนความหมายอันใดมีความหมายถึงอาการเป็นต้น ที่กำลังกล่าวอยู่ว่า อิติ และว่า เม ความหมายอันนั้นมิใช่ปรมัตถสภาวะ คือไม่ได้ด้วยอำนาจสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์ ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ.
               ถามว่า บรรดาบททั้ง ๓ นี้ บทใดพึงได้การแสดงอ้างว่า อิติ หรือว่า เม บทนั้นมีอยู่โดยปรมัตถ์หรือ?
               ตอบว่า บทว่า สุตํ เป็นวิชชมานบัญญัติ อธิบายว่าอารมณ์ที่ได้รับทางโสตประสาทนั้น มีอยู่โดยปรมัตถ์.
               อนึ่ง บทว่า อิติ จัดเป็นอุปทายบัญญัติ เพราะจะพึงกล่าวด้วยอำนาจการพาดพิงถึงอาการทั้งหลาย มีอาการที่ทรงจำไว้เป็นต้นเหล่านั้นได้ก็โดยอาศัยธรรมทั้งหลายที่มากระทบโสต.
               บทว่า เม ชื่อว่าเป็นอุปาทายบัญญัติ เพราะจะต้องพูดถึงโดยอาศัยขันธ์ทั้งหลายที่นับเนื่องในสันตติ ซึ่งที่สูงสุดโดยพิเศษมีการณะเป็นต้น.
               บทว่า สุตํ ชื่อว่าเป็นอุปนิธายบัญญัติ เพราะจะต้องพูดถึงโดยเปรียบเทียบกับอารมณ์ทั้งหลายมีรูปที่ได้เห็นเป็นต้น โวหารว่า สุตะ แม้เป็นไปในสัททายตนะที่เว้นจากสภาวะของรูปที่ได้เห็นเป็นต้น จะต้องพูดถึงโดยเปรียบเทียบกับรูปที่ได้เห็นเป็นต้น เพราะเป็นสิ่งที่พึงทราบชัดว่า สิ่งใดไม่มุ่งถึงรูปที่ได้เห็น กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้ทราบและอารมณ์ที่ได้รู้แจ้ง สิ่งนั้นจัดเป็นสุตะ* (แปลตามเชิงอรรถ) เปรียบเหมือนโวหารว่า ทุติยฌาน ตติยฌานเป็นต้นจะต้องพูดถึงโดยอาศัยปฐมฌานเป็นต้น ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงประกาศเนื้อความนี้ไว้ว่า ชื่อว่าสุตะ เพราะไม่ใช่ไม่ได้ฟังมา
               อนึ่ง ในที่นี้ ท่านแสดงถึงความไม่หลงลืมออกมาด้วยคำว่า อิติ.
               อธิบายว่า ประการที่แตกต่างกันออกไปแห่งความหมายที่ท่านพระอานนท์พาดพิงถึงในบทว่า อิติ นี้ท่านแทงตลอดแล้ว ความไม่หลงลืมของท่าน จึงเป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยคำว่า อิติ นั้น. เป็นความจริง คนหลงลืมย่อมไม่สามารถแทงตลอดประการต่างๆ ได้ ประการต่างๆ คือการละโลภะเป็นต้น และประการที่แทงตลอดไว้ไม่ดี ท่านแสดงไว้ว่าเป็นสุตะ. ท่านแสดงความไม่เลอะเลื่อนด้วยคำว่า สุตะ เพราะอาการแห่งสุตะเป็นอาการที่เห็นอยู่ตามความเป็นจริง.
               จริงอยู่ ผู้ใดมีสุตะหลงลืมแล้ว ผู้นั้นย่อมปฏิญญาไม่ได้ว่า เราได้ฟังมาแล้วในกาลอื่น เพราะความไม่หลงลืม เพราะไม่มีความหลงลืม หรือเพราะปัญญาที่เกิดในเวลาฟังของพระอานนท์นั้นเอง จึงมีความสำเร็จแห่งปัญญาในกาลอื่นจากนั้น ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะความไม่เลอะเลือน จึงมีความสำเร็จแห่งสติ.
               บรรดาปัญญากับสติทั้งสองนั้น เพราะสติที่เป็นตัวนำปัญญา จึงมีความสามารถทรงจำพยัญชนะไว้ได้. เพราะว่าอาการแห่งพยัญชนะทั้งหลายที่จะพึงแทงตลอดไม่ลึกซึ้งยิ่งนัก การทรงจำไว้ตามที่ได้ฟังมานั่นแล เป็นกรณียกิจในเรื่องนั้น เพราะเหตุนั้น ความปรากฏของสติจึงเป็นของสำคัญ. ปัญญาเป็นคุณ (หนุน) ในข้อนั้น เพราะเหตุที่สติเป็นตัวนำของปัญญา. เพราะปัญญาเป็นตัวนำของสติ จึงมีความสามารถในการแทงตลอดความหมายได้. เพราะว่า อาการแห่งความหมายที่จะพึงแทงตลอดเป็นของลึกซึ้ง เพราะเหตุนั้น ความขวนขวายของปัญญาจึงเป็นของสำคัญ. สติเป็นตัวคุณธรรมในข้อนั้น เพราะเหตุที่ปัญญาเป็นตัวนำของสติ เพราะประกอบด้วยความสามารถทั้งสองนั้น (พระอานนท์) จึงมีความสำเร็จแห่งความเป็นพระธรรมภัณฑาคาริก (พระขุนคลังธรรมะ) เพราะท่านสามารถตามรักษาคลังพระธรรมที่สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะได้.
               อีกนัยหนึ่ง พระอานนท์แสดงการทำไว้ในใจโดยแยบคายด้วยคำว่า อิติ เพราะอรรถแห่งอาการะ นิทัสสนะ และอวธารณะที่กล่าวไว้ด้วยคำว่า อิติ นั้นซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า อันส่องถึงการแทงตลอด โดยประการต่างๆ เป็นอรรถไม่วิปริต ก็มีสัทธรรมที่ไม่วิปริตเป็นอารมณ์.
               อธิบายว่า การแทงตลอด (ธรรม) โดยประการต่างๆ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ใส่ใจโดยแยบคาย. พระอานนท์แสดงความไม่ฟุ้งซ่านด้วยคำว่า สุตํ. การฟังสูตรที่กำลังกล่าวอยู่ ซึ่งจัดเป็นปกรณ์ด้วยอำนาจนิทานและปุจฉา เว้นสมาธิเสียย่อมไม่มี เพราะบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านจะฟังไม่ได้. เป็นความจริง บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แม้อันพระธรรมกถึกกล่าวอยู่ด้วยสมบัติทั้งปวง ก็มักกล่าวว่า ข้าพเจ้ามิได้ฟัง นิมนต์พระคุณเจ้ากล่าวซ้ำอีก.
               อนึ่ง ในที่นี้ บุคคลจะให้อัตตสัมมาปณิธิ และปุพเพกตปุญญตาสำเร็จได้ก็ด้วยโยนิโสมนสิการ เพราะบุคคลผู้มิได้ตั้งตนไว้ชอบ หรือผู้มิได้ทำบุญไว้ในชาติปางก่อนจะมีโยนิโสมนสิการนั้นไม่ได้ บุคคลจะให้สัทธัมมัสสวนะ และสัปปุริสูปัสสยะสำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน เพราะบุคคลผู้มิได้สดับธรรมและผู้เว้นจากการเข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ จะมีความไม่ฟุ้งซ่านนั้นไม่ได้. เป็นความจริง บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านจะไม่สามารถฟังพระสัทธรรมได้เลย และบุคคลผู้ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ จะไม่มีการฟัง (ธรรม) เลย.
               อีกนัยหนึ่ง เพราะจิตสันดานใดเป็นไปโดยอาการต่างๆ กัน จึงมีการรับ (เข้าใจ) อรรถและพยัญชนะต่างๆ ได้ อิติศัพท์ ท่านจึงกล่าวว่าเป็นศัพท์แสดงอาการต่างๆ ของจิตสันดานนั้น.
               ก็เพราะเหตุที่อาการแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่งามอย่างนี้ ที่เป็นเหตุให้ประโยชน์ของผู้อื่นบริบูรณ์ได้ครบถ้วน โดยทำให้ผู้อื่นนั้นหยั่งลงสู่ความสมบูรณ์แห่งพระศาสนาทั้งหมด ด้วยการกำหนดประเภทแห่งอรรถและพยัญชนะได้ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มิได้ตั้งตนไว้ชอบ หรือผู้มิได้ทำบุญไว้ในชาติปางก่อน ฉะนั้น พระอานนท์จึงแสดงความถึงพร้อมแห่งจักร ๒ ข้อหลังของตน โดยอาการอันงามด้วยคำนี้ว่า อิติ. พระอานนท์แสดงความถึงพร้อมแห่งจักร ๒ ข้อข้างต้น เพราะประกอบด้วยการฟัง ด้วยคำว่า สุตํ
               อธิบายว่า การฟัง (ธรรม) ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร หรือผู้เว้นจากการเข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ เพราะจักร ๒ ข้อหลังของพระอานนท์นั้นสำเร็จ ความบริสุทธิ์แห่งอาสยะจึงเป็นอันสำเร็จด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้ บุคคลผู้ตั้งตนไว้ชอบ และทำบุญไว้ในชาติปางก่อน ชื่อว่าเป็นผู้มีอาสยะบริสุทธิ์ เพราะกิเลสทั้งหลายที่เป็นเหตุให้อาสยะไม่บริสุทธิ์นั้นอยู่ไกล
               สมจริงด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า๗-
                         จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำบุคคลนั้นให้ประเสริฐกว่า เหตุนั้น
               และว่า๘-
               ดูก่อนอานนท์ เธอเป็นผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว ขอเธอจงหมั่นประกอบความเพียรเถิด ไม่ช้าก็จักได้เป็นผู้ไม่มีอาสวะ.
____________________________
๗- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๓
๘- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๓๕

               เพราะจักร ๒ ข้อข้างต้นสำเร็จ ความบริสุทธิ์แห่งปโยคะก็เป็นอันสำเร็จด้วย.
               อธิบายว่า พระอานนท์ชื่อว่าเป็นผู้มีปโยคะอันบริสุทธิ์ โดยสาธุชนทั้งหลาย ถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ เพราะการอยู่ในประเทศอันสมควร และเพราะการเข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ. ก็เพราะอาสยะบริสุทธิ์นั้น ความฉลาดในอธิคมสำเร็จได้ ก็เพราะเครื่องเศร้าหมอง คือตัณหาและทิฏฐิถูกชำระให้บริสุทธิ์แล้วในกาลก่อนนั่นแล. เพราะปโยคะบริสุทธิ์ ความฉลาดในอาคมจึงสำเร็จได้.
               อธิบายว่า พระอานนท์มีกายปโยคะ และวจีปโยคะบริสุทธิ์ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีวิปปฏิสาร จึงเป็นผู้แกล้วกล้าในปริยัติ ถ้อยคำของพระอานนท์ ผู้มีปโยคะและอาสยะบริสุทธิ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยอาคมและอธิคม ดังว่ามานี้ สมควรที่จะเป็นคำนำแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนอรุณขึ้นควรมีมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นและโยนิโสมนสิการควรเกิดขึ้นก่อนกุศลกรรม เพราะเหตุนั้น พระอานนท์ เมื่อจะตั้งนิทาน (คำเบื้องต้น) ในที่อันควรจึงกล่าวคำว่า อิติ เม สุตํ เป็นต้นไว้.
               อีกนัยหนึ่ง พระอานนท์แสดงการเกิดมีแห่งสมบัติ คืออัตถปฏิสัมภิทา และปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตน ด้วยคำว่า อิติ นี้ ที่แสดงถึงการแทงตลอดโดยประการต่างๆ ตามนัยที่กล่าวแล้วในกาลก่อน พระอานนท์แสดงการเกิดมีแห่งสมบัติ คือธรรมปฏิสัมภิทา และนิรุตติปฏิสัมภิทา ด้วยคำว่า สุตํ นี้ที่แสดงถึงการแทงตลอดที่แตกต่างจากสิ่งที่ควรสดับ เพราะอมความของอิติศัพท์ไว้ หรือเพราะมุ่งถึงเรื่องที่กำลังกล่าว.
               อนึ่ง พระอานนท์กล่าวคำนี้ว่า อิติ ที่แสดงถึงโยนิโสมนสิการ ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล จึงเท่ากับแสดงว่า ธรรมเหล่านี้ข้าพเจ้าตามเพ่งด้วยใจ ขบคิดแล้วด้วยทิฏฐิ.
               อธิบายว่า ปริยัติธรรมทั้งหลายที่บุคคลตามเพ่งด้วยใจ โดยนัยเป็นต้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลไว้ในสูตรนี้ ตรัสสมาธิไว้ในสูตรนี้ ตรัสปัญญาไว้ในสูตรนี้ ในสูตรนี้มีอนุสนธิเท่านี้ ที่บุคคลกำหนดรูปธรรมและอรูปธรรม ที่กล่าวไว้ในสูตรนั้นๆ ด้วยดี โดยนัยเป็นต้นว่า รูปเป็นอย่างนี้ รูปมีเท่านี้ แล้วขบคิดด้วยทิฏฐิอันเกี่ยวเนื่องกับการตรึกตรองไปตามอาการที่ได้ฟังสืบๆ มา อันเป็นตัวทนต่อการเพ่งพินิจ (พิสูจน์) แห่งธรรมหรือกล่าวคือเป็นญาตปริญญา ย่อมนำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขมาให้ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่นแล.
               พระอานนท์ เมื่อกล่าวคำว่า สุตํ นี้ ที่แสดงถึงการประกอบในการฟัง จึงเท่ากับแสดงว่า ธรรมเป็นอันมากอันข้าพเจ้าพึงทรงจำได้ สั่งสมไว้ด้วยวาจาแล้ว (สาธยาย).
               อธิบายว่า การฟัง การทรงจำ และการสั่งสมปริยัติธรรมไว้ เกี่ยวเนื่องกับการเงี่ยโสตลงสดับ. พระอานนท์แสดงความบริบูรณ์แห่งอรรถและพยัญชนะโดยภาวะที่ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วทั้งสองนั้น จึงทำให้ (ผู้ฟัง) เกิดความเอื้อเฟื้อในการฟัง. จริงอยู่ บุคคลเมื่อไม่ฟังธรรมที่บริบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากประโยชน์เกื้อกูลใหญ่ เพราะเหตุนั้น นักศึกษาพึงทำความเอื้อเฟื้อให้เกิดแล้ว ฟังธรรมเถิด.
               ก็ด้วยคำทั้งหมดนี้ว่า อิติ เม สุตํ ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่ตั้งธรรมวินัยที่พระตถาคตเจ้าประกาศแล้วเพื่อตนเอง ชื่อว่าก้าวสู่ภูมิของอสัตบุรุษ เมื่อปฏิญญาความเป็นพระสาวก ชื่อว่าก้าวลงสู่ภูมิของสัตบุรุษด้วยประการนั้น ท่านพระอานนท์ ชื่อว่ายังจิตให้ออกจากอสัทธรรม ชื่อว่ายังจิตให้สถิตอยู่ในสัทธรรม.
               อนึ่ง ท่านพระอานนท์ เมื่อแสดงว่า คำนั้นคือพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล อันข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วทั้งหมดทีเดียว ชื่อว่าเปลื้องตน อ้างพระศาสดา แนบแน่นคำของพระชินเจ้า ตั้งเป็นแบบธรรมเนียมไว้.
               อนึ่ง ด้วยคำว่า อิติ เม สุตํ ท่านพระอานนท์ เมื่อไม่ปฏิญญาว่า ธรรมตนเองให้เกิดขึ้น เปิดเผยคำพูดเริ่มต้น (ปุริมพจน์) ว่า คำนี้อันข้าพเจ้ารับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้แกล้วกล้าด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ผู้ทรงไว้ซึ่งทสพลญาณ ผู้ทรงดำรงอยู่ในฐานะแห่งบุคคลผู้องอาจ ผู้ทรงมีปกติบันลือสีหนาทผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ ผู้ทรงเป็นพระธรรมิศร ธรรมราชา ธรรมาธิบดี ผู้ทรงเป็นธรรมประทีป ธรรมสรณะ ผู้ทรงหมุนล้อแห่งพระสัทธรรมอันประเสริฐ ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายไม่ควรทำความสงสัยหรือความแคลงใจ ในอรรถหรือธรรมในบทหรือพยัญชนะนี้ ดังนี้ ชื่อว่ายังความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาในธรรมวินัยนี้ให้พินาศ ยังสัทธาสัมปทาให้เกิดขึ้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ไว้ว่า
                         พระสาวกของพระโคดม เมื่อกล่าวว่า เอวมฺเมํ สุตํ ดังนี้
                         ชื่อว่า ยังอศรัทธาให้พินาศ ยังศรัทธาในพระศาสนาให้เจริญ.

               ในที่นี้ อาจารย์บางท่านกล่าวว่า ก็เพราะเหตุไรในสูตรนี้ ท่านจึงไม่กล่าวคำนิทานไว้เหมือนในสูตรอื่นๆ ที่พระอานนท์กล่าวคำนิทานอ้างกาละเทสะ (เวลาและสถานที่) ไว้โดยนัยเป็นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ เล่า.
               ตอบว่า เพราะอาจารย์พวกอื่นได้กล่าวไว้ก่อนแล้ว.
               ก็คำนิทาน (ในสูตรนี้) พระเถระมิได้กล่าวไว้ เพราะมีผู้กล่าวไว้แล้ว.
               อธิบายว่า คำนิทานนี้ ท่านพระอานนท์มิได้กล่าวก่อน แต่นางขุชชุตตราผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งไว้ในเอตทัคคะ เพราะในบรรดาอุบาสิกา นางเป็นพหูสูต เป็นอริยสาวิกาได้บรรลุเสกขปฏิสัมภิทา กล่าวไว้ก่อนแล้วแก่สตรี ๕๐๐ นางซึ่งมีพระนางสามาวดีเป็นประมุข.
               ในเรื่องนั้นมีการเล่าไว้เป็นลำดับ ดังต่อไปนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เอกนิบาต ปฐมวรรค โลภสูตร
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 178อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 179อ่านอรรถกถา 25 / 180อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=4405&Z=4418
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=27&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=27&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๔๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :