|
อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]    อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑หน้าต่างที่ ๓ / ๙. ๓. เรื่องพระอุตตราเถรี [๑๒๐] ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุตตราเถรี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปริชิณฺณมิทํ รูปํ" เป็นต้น.
พระเถรีอดอาหารเพราะน้ำใจกรุณา
ดังได้สดับมา พระเถรีมีอายุได้ ๑๒๐ ปีโดยกำเนิด เที่ยวบิณฑบาตได้บิณฑบาตแล้ว
เห็นภิกษุรูปหนึ่งในระหว่างถนน ได้ถามโดยเอื้อเฟื้อด้วยบิณฑบาต เมื่อภิกษุนั้นไม่ห้ามรับเอา ก็ถวายทั้งหมด (ส่วนตน) ได้อดอาหารแล้ว.
แม้ในวันที่ ๒ ที่ ๓ ก็ได้ถวายภัตแก่ภิกษุนั้นแหละในที่นั้นเหมือนกัน ได้อดอาหารแล้วอย่างนั้น.
ได้ฟังเทศนาบรรลุโสดาปัตติผล
แต่ในวันที่ ๔ พระเถรีเที่ยวบิณฑบาต พบพระศาสดาในที่แคบแห่งหนึ่ง เมื่อถอยหลังได้เหยียบมุมจีวรของตนซึ่งห้อยอยู่ ไม่สามารถตั้งตัวได้ จึงซวนล้มแล้ว.
พระศาสดาเสด็จไปสู่ที่ใกล้เธอแล้ว ตรัสว่า "น้องหญิง อัตภาพของเธอแก่หง่อมแล้ว ต่อกาลไม่ช้านัก ก็จะแตกสลายไป" ดังนี้แล้ว
ตรัสพระคาถานี้ว่า
๓. | ปริชิณฺณมิทํ รูปํ | โรคนิทฺธํ ปภงฺคุณํ
| | ภิชฺชติ ปูติ สนฺเทโห | มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ.
| | รูปนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เปื่อยพัง,
| | กายของตนเป็นของเน่า จักแตก, เพราะชีวิต
| | มีความตายเป็นที่สุด. |
แก้อรรถ
เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า "น้องหญิง รูปนี้ คือที่นับว่าสรีระของเธอ ชื่อว่าแก่หง่อมแล้ว เพราะความเป็นคนแก่, ก็รูปนั้นแล ชื่อว่าเป็นรังของโรค เพราะอรรถว่า เป็นสถานที่อยู่อาศัยของโรคทุกชนิด;
เปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอกแม้หนุ่ม เขาเรียกว่า "สุนัขจิ้งจอกแก่." เถาหัวด้วนแม้อ่อน เขาเรียกว่า "เถาเน่า" ฉันใด,
รูปนี้ก็ฉันนั้น เกิดในวันนั้น แม้เป็นรูปมีสีเหมือนทองคำ ก็ชื่อว่ากายเน่า เปื่อยพัง เพราะอรรถว่า ไหลออกเป็นนิตย์.
กายของเธอนี้นั้นเป็นของเน่า พึงทราบเถิดว่า "จะแตก คือจักทำลาย ต่อกาลไม่นานนัก." เพราะเหตุไร? เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นคำอธิบายไว้ว่า "เพราะชีวิตของสรรพสัตว์มีความตายเป็นที่สุดทั้งนั้น."
ในกาลจบเทศนา พระเถรีบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.
เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์ แม้แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพระอุตตราเถรี จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ชราวรรคที่ ๑๑ อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
     อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=662&Z=691 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=22&A=1836 The Pali Atthakatha in Roman https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=22&A=1836 - -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]
|