ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 23อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 25 / 25อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔

หน้าต่างที่ ๙ / ๙.

               ๙. เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล [๑๕๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระบรมศาสดา เมื่อเสด็จจาริกไป ทรงปรารภพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปูชารเห" เป็นต้น.
               ความพิสดารว่า พระตถาคตเจ้ามีพระสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสีโดยลำดับ เสด็จถึงเทวสถานแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้บ้านโตไทยคาม ในระหว่างทาง.
               พระสุคตเจ้าได้ประทับใกล้เทวสถานนั้น ทรงส่งพระธรรมภัณฑาคาริก (คือพระอานนท์ผู้เป็นขุนคลังแห่งพระธรรม) ให้บอกพราหมณ์ซึ่งกำลังทำกสิกรรม อยู่ในที่ไม่ไกลมาเฝ้า. พราหมณ์นั้นมาแล้วไม่ถวายอภิวาทแด่พระตถาคต แต่ไหว้เทวสถานนั้นอย่างเดียว แล้วยืนอยู่.
               แม้พระสุคตเจ้าก็ตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านสำคัญประเทศนี้ว่าเป็นที่อะไร?"
               พราหมณ์จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าไหว้ด้วยตั้งใจว่า ที่นี้เป็นเจติยสถานตามประเพณีของพวกข้าพเจ้า."
               พระสุคตเจ้าจึงให้พราหมณ์นั้นชื่นชมยินดีว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านไหว้สถานที่นี้ ได้ทำกรรมที่ดีแล้ว." ภิกษุทั้งหลายได้สดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว จึงเกิดสงสัยขึ้นว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พราหมณ์ชื่นชมยินดีอย่างนี้ ด้วยเหตุอะไรหนอ."
               ลำดับนั้น พระตถาคตเจ้าเพื่อทรงปลดเปลื้องความสงสัยของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสเทศนา ฆฏิการสูตร ในมัชฌิมนิกาย แล้วทรงนิรมิตพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล สูงหนึ่งโยชน์ และพระเจดีย์ทองอีกหนึ่งองค์ไว้ในอากาศ ทรงแสดงให้มหาชนเห็นแล้วตรัสว่า
               "ดูก่อนพราหมณ์ การบูชาซึ่งบุคคลควรบูชาชนิดเช่นนี้ ย่อมสมควรกว่าแท้"
               ดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศปูชารหบุคคล ๔ จำพวก มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยนัยดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้นเอง แล้วทรงแสดงโดยพิเศษถึงพระเจดีย์ ๓ ประเภทคือ สรีรเจดีย์ ๑ อุททิสเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑
               (ครั้นแล้ว) ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๙. ปูชารเห ปูชยโต    พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก
                         ปปญฺจสมติกฺกนฺเต    ติณฺณโสกปริทฺทเว
                         เต ตาทิเส ปูชยโต    นิพฺพุเต อกุโตภเย
                         น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุํ    อิเมตฺตมปิ เกนจิ.
                               "ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับบุญของบุคคลผู้บูชาอยู่
                         ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้า หรือว่าพระสาวก
                         ทั้งหลายด้วย ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้
                         แล้ว ผู้มีความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ อันข้าม
                         พ้นแล้ว (หรือว่า) ของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควร
                         บูชาเช่นนั้นเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่
                         ไหนๆ ด้วยการนับแม้วิธีไรๆ ก็ตามว่า บุญนี้มี
                         ประมาณเท่านี้" ดังนี้.

               แก้อรรถ               
               คำว่า บุคคลผู้ควรเพื่อบูชา อธิบายว่า ผู้ควรแล้วเพื่อบูชา ชื่อว่าปูชารหบุคคล ในพระคาถานั้น.
               คำว่า ของบุคคลผู้บูชาอยู่ซึ่งท่านผู้ควรบูชา ความว่า ผู้บูชาอยู่ด้วยการนอบน้อมมีกราบไหว้เป็นต้นและด้วยปัจจัย ๔.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปูชารหบุคคลด้วยคำว่า พุทฺเธ คือ พระพุทธะทั้งหลาย.
               บทว่า พุทฺเธ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               ศัพท์นิบาตว่า ยทิ ได้แก่ ยทิวา อธิบายว่า อถวา คือ ก็หรือว่า. คำว่า ซึ่งพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายก็เป็นอันตรัสไว้แล้วในพระคาถานั้น. (หรือว่า) พระสาวกทั้งหลายด้วย.
               บทว่า ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมได้แล้ว หมายความว่าปปัญจธรรม คือตัณหา ทิฏฐิ มานะ ท่านก้าวล่วงได้แล้ว.
               คำว่า ผู้มีความเศร้าโศกความคร่ำครวญอันข้ามพ้นแล้ว ได้แก่ ผู้มีความโศกและความร่ำไรอันล่วงพ้นแล้ว. อธิบายว่า ข้ามล่วงได้ทั้งสองอย่าง. ความเป็นผู้ควรแก่บูชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยบทวิเสสนะ (คุณบท) เหล่านั้น.
               คำว่า เหล่านั้น ได้แก่ พระพุทธะเป็นต้น.
               คำว่า ผู้เช่นนั้น ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยคุณเช่นนั้น ด้วยอำนาจแห่งคุณดังกล่าวแล้ว.
               คำว่า นิพพานแล้ว ได้แก่ นิพพานด้วยการดับพระพุทธะเป็นต้น.
               ภัยแต่ที่ไหนๆ คือ จากภพหรือจากอารมณ์ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้ควรบูชาเหล่านั้น ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ. ซึ่งท่านผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เหล่านั้น.
               คำว่า อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับบุญได้ ความว่า ไม่อาจเพื่อคำนวณบุญได้.
               หากมีคำถามสอดมาว่า นับอย่างไร?
               พึงแก้ว่า อันใครๆ ไม่อาจเพื่อนับบุญว่านี้มีประมาณเท่านี้
               อธิบายว่า อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้ บุญนี้มีประมาณเท่านี้.
               อปิศัพท์พึงเชื่อมในบทว่า เกนจิ. อธิบายว่า อันบุคคลไรๆ หรือว่าด้วยการนับวิธีไรๆ ในสองคำนั้น
               คำว่า อันบุคคล ได้แก่ อันบุคคลนั้นมีพระพรหมเป็นต้น.
               คำว่า ด้วยการนับ ได้แก่ ด้วยการนับ ๓ อย่าง คือด้วยการคะเน ด้วยการชั่งและด้วยการตวง. การคะเนโดยนัยว่าของนี้มีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าคะเน การชั่งด้วยเครื่องชั่ง ชื่อว่าชั่ง การทำให้เต็ม (ตวง) ด้วยสามารถแห่งกึ่งฟายมือ ฟายมือ แล่ง และทะนานเป็นต้น ชื่อว่าตวง. อันบุคคลไรๆ ไม่อาจเพื่อนับบุญของผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควรบูชามีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ด้วยการนับทั้ง ๓ วิธีเหล่านี้ ด้วยสามารถแห่งวิบากคือผล เพราะเว้นจากที่สุดฉะนี้.
               ผลทานของผู้บูชาในสถานะทั้งสอง เป็นอย่างไรกัน?
               บุญของผู้บูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ ใครๆ ไม่อาจนับได้ก็พอทำเนา. บุญของผู้บูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้เช่นนั้นแม้นิพพานแล้วด้วยขันธปรินิพพาน อันมีกิเลสปรินิพพานเป็นนิมิต ใครๆ ก็ไม่อาจนับได้อีกเล่า เพราะฉะนั้น ควรจะแตกต่างกันบ้าง.
               เพราะเหตุ (ที่จะมีข้อสงสัย) นั้นแหละ ท้าวสักกะจึงกล่าวไว้ในวิมานวัตถุว่า
                                   "เมื่อพระสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี
                         นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตเสมอกัน ผลก็ย่อมเท่ากัน ในเพราะ
                         เหตุคือความเลื่อมใสแห่งใจ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไปสู่สุคติ"
ดังนี้.
               ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา พราหมณ์นั้นได้เป็นพระโสดาบันแล้วแล.
               พระเจดีย์ทองสูงตั้งโยชน์ ได้ตั้ง (เด่น) อยู่ในอากาศนั้นแลตลอด ๗ วัน. ก็สมาคมได้มีแล้วด้วยชนเป็นอันมาก พวกเขาบูชาพระเจดีย์ด้วยประการต่างๆ ตลอด ๗ วัน. ต่อนั้นมา ความแตกต่างแห่งลัทธิของผู้มีลัทธิต่างกันได้เกิดมีแล้ว.
               พระเจดีย์นั้นได้ไปสู่ที่เดิมแห่งตนด้วยพุทธานุภาพ ในขณะนั้น พระเจดีย์ศิลาใหญ่ได้มีขึ้นแล้วในที่นั้นนั่นแล.
               ประชาสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย (คือตรัสรู้ธรรม) แล้วในสมาคมนั้น.

               เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล จบ.               
               พุทธวรรควรรณนา จบ.               
               วรรคที่ ๑๔ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 23อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 24อ่านอรรถกถา 25 / 25อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=748&Z=798
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=1200
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=1200
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :