ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 30อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 25 / 32อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑

               ๒๑. ปกิณณกวรรควรรณนา               
               ๑. เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ [๒๑๔]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภบุรพกรรมของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มตฺตาสุขปริจฺจาคา" เป็นต้น.

               เกิดภัย ๓ อย่างในเมืองไพศาลี               
               ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง เมืองไพศาลีได้เป็นเมืองมั่งคั่งกว้างขวาง มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น. ก็ในเมืองไพศาลีนั้นได้มีกษัตริย์ครอบครองราชสมบัติตามวาระกันถึงเจ็ดพันเจ็ดร้อยพระองค์. ปราสาทเพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับของกษัตริย์เหล่านั้น ก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน, เรือนยอดก็มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน, สถานที่รื่นรมย์และสระโบกขรณี เพื่อประโยชน์เป็นที่ประทับอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้มีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน.
               โดยสมัยอื่นอีก เมืองไพศาลีนั้นได้เป็นเมืองมีภิกษาหาได้ยาก ข้าวกล้าเสียหาย. ทีแรก พวกมนุษย์ที่ขัดสนในเมืองไพศาลีนั้น ได้ตายแล้ว (มากกว่ามาก) เพราะโทษคือความหิว. พวกอมนุษย์ก็เข้าไปสู่พระนคร เพราะกลิ่นซากศพของมนุษย์เหล่านั้น อันเขาทิ้งไว้ในที่นั้นๆ, มนุษย์ทั้งหลายได้ตายมากกว่ามาก เพราะอุปัทวะที่เกิดจากอมนุษย์. อหิวาตกโรคเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะความปฏิกูลด้วยกลิ่นศพแห่งมนุษย์เหล่านั้น.
               ภัย ๓ อย่าง คือ "ภัยเกิดแต่ภิกษาหาได้ยาก ๑ ภัยเกิดแต่อมนุษย์ ๑ ภัยเกิดแต่โรค ๑" เกิดขึ้นแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ชาวนครประชุมกันแล้ว กราบทูลพระราชาว่า "มหาราช ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นแล้วในพระนครนี้, ในกาลก่อนแต่กาลนี้ จนถึงพระราชาชั้น ๗ ชื่อว่าภัยเห็นปานนี้ไม่เคยเกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าในรัชกาลของพระราชาผู้ทรงธรรมทั้งหลาย ภัยเห็นปานนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น."
               พระราชารับสั่งให้ทำการประชุมชนทั้งปวงในท้องพระโรงแล้ว ตรัสว่า "ถ้าว่าความไม่ทรงธรรมของเรามีอยู่ไซร้, ท่านทั้งหลายจงตรวจดูซึ่งเหตุนั้น." ชาวเมืองไพศาลีตรวจดูประเพณีทุกอย่าง ไม่เห็นโทษอะไรๆ ของพระราชา จึงกราบทูลว่า "มหาราช โทษของพระองค์ไม่มี" จึงปรึกษากันว่า "อย่างไรหนอแล ภัยของพวกเรานี้พึงถึงความสงบ?"
               บรรดาชนเหล่านั้น เมื่อบางพวกกล่าวว่า "ภัยพึงถึงความสงบด้วยการพลีกรรม ด้วยการบวงสรวง ด้วยการกระทำมงคล" ชนเหล่านั้นทำพิธีนั้นทั้งหมด ก็ไม่อาจป้องกันได้.
               ชนพวกอื่นกล่าวกันอย่างนี้ว่า "ครูทั้ง ๖ มีอานุภาพมาก, พอเมื่อครูทั้ง ๖ มาในที่นี้แล้ว ภัยพึงสงบไป." อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์; เมื่อพระองค์เสด็จมาในที่นี้แล้ว ภัยเหล่านี้พึงถึงความสงบได้." ชนแม้ทุกจำพวกชอบใจถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า "เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอแล?"

               ชาวเมืองไพศาลีให้ไปทูลเชิญพระศาสดา               
               ก็ในกาลนั้น เมื่อดิถีเป็นที่เข้าจำพรรษาใกล้เข้ามาแล้ว พระศาสดาทรงประทานปฏิญญาแก่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วเสด็จอยู่ในพระเวฬุวัน.
               ก็โดยสมัยนั้น เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลี ทรงบรรลุโสดาปัตติผล พร้อมด้วยพระเจ้าพิมพิสารในสมาคมแห่งพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งในที่ใกล้แห่งบริษัทนั้น. ชาวเมืองไพศาลีตระเตรียมบรรณาการใหญ่ ส่งเจ้ามหาลีลิจฉวีและบุตรของปุโรหิตไปด้วยสั่งว่า "ท่านทั้งหลายจงยังพระเจ้าพิมพิสารให้ยินยอมแล้ว นำพระศาสดามาในพระนครนี้." เจ้ามหาลีลิจฉวีและบุตรปุโรหิตเหล่านั้นไปแล้ว ถวายบรรณาการแด่พระราชา กราบทูลความเป็นไปนั้นให้ทรงทราบแล้วอ้อนวอนว่า "มหาราช ขอพระองค์ทรงส่งพระศาสดาไปยังพระนครแห่งข้าพระองค์."
               พระราชาตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงรู้เอาเองเถิด" แล้วไม่ทรงรับ (บรรณาการนั้น). ชนเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถวายบังคมแล้ว ทูลอ้อนวอนว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเมืองไพศาลีเกิดภัย ๓ อย่าง, เมื่อพระองค์เสด็จไป ภัยเหล่านั้นก็จักสงบ เชิญเสด็จเถิด พระเจ้าข้า. ข้าพระองค์ทั้งหลายจะไป."
               พระศาสดาทรงสดับคำของชนเหล่านั้นแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ ก็ทรงทราบว่า "ในเมืองไพศาลี เมื่อเราสวดรัตนสูตร, อาชญาจักแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล ในกาลจบพระสูตร การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พัน ภัยเหล่านั้นก็จักสงบไป" แล้วทรงรับถ้อยคำของชนเหล่านั้น.

               พระศาสดาเสด็จเมืองไพศาลี               
               พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับข่าวว่า "นัยว่า พระศาสดาทรงรับการเสด็จไปยังเมืองไพศาลี" แล้ว รับสั่งให้ทำการป่าวร้องในพระนครเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า "พระองค์ทรงรับการเสด็จไปเมืองไพศาลีหรือ พระเจ้าข้า?" เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "ขอถวายพระพร มหาบพิตร" ทูลว่า "ถ้ากระนั้น ขอพระองค์ทรงรอก่อน พระเจ้าข้า, ข้าพระองค์จัดแจงหนทางก่อน" แล้วรับสั่งให้ปราบพื้นที่ ๕ โยชน์ในระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคา (ต่อกัน) ให้สม่ำเสมอ ให้จัดแจงวิหารไว้ในที่โยชน์หนึ่งๆ จึงกราบทูลกาลเป็นที่เสด็จไปแด่พระศาสดา.
               ครั้งนั้น พระศาสดาเสด็จเดินทางกับภิกษุ ๕๐๐ รูป. พระราชารับสั่งให้โปรยดอกไม้ ๕ สี โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า ในระหว่างโยชน์หนึ่งๆ แล้วให้ยกธงชัย ธงแผ่นผ้า และต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ คันซ้อนกันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า กั้นเศวตฉัตรแก่ภิกษุรูปละคันๆ พร้อมทั้งบริวาร ทรงทำบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ทรงอาราธนาพระศาสดาให้ประทับอยู่ในวิหารแห่งหนึ่งๆ ถวายมหาทานแล้ว ให้เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำคงคาโดย ๕ วัน ทรงประดับเรือในที่นั้น พลางทรงส่งข่าวไปแก่ชาวเมืองไพศาลีว่า "ชาวเมืองไพศาลีจงจัดแจงหนทาง ทำการรับรองพระศาสดาเถิด."

               ชาวเมืองไพศาลีจัดการต้อนรับพระศาสดา               
               ชาวเมืองไพศาลีเหล่านั้น คิดว่า "เราทั้งหลายจักทำการบูชาทวีคูณ (๒ เท่า) แล้วปราบพื้นที่ประมาณ ๓ โยชน์ ในระหว่างเมืองไพศาลีและแม่น้ำคงคา (ต่อกัน) ให้สม่ำเสมอ แล้วตระเตรียมเศวตฉัตรซ้อนๆ กัน ด้วยเศวตฉัตร เพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ๔ คัน เพื่อภิกษุรูปละ ๒ คัน ทำการบูชาอยู่ ได้มายืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว.
               พระเจ้าพิมพิสารทรงขนานเรือ ๒ ลำ ให้ทำพลับพลา ให้ประดับด้วยพวงดอกไม้เป็นต้น ปูลาดพุทธอาสน์ สำเร็จด้วยรัตนะทุกอย่างไว้. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุทั้งหลายก็ขึ้นสู่เรือ นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
               พระราชา เมื่อตามส่งเสด็จลงไปสู่น้ำประมาณเพียงพระศอ กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาตราบใด, หม่อมฉันจักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้นั่นแหละตราบนั้น" ส่งเรือไปแล้วก็เสด็จกลับ. พระศาสดาเสด็จไปในแม่น้ำคงคา สิ้นทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง จึงถึงแดนของชาวเมืองไพศาลี.
               เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงต้อนรับพระศาสดา ลุยน้ำประมาณเพียงพระศอ นำเรือเข้ายังฝั่งแล้ว เชิญเสด็จพระศาสดาให้ลงจากเรือ.
               พอเมื่อพระศาสดาเสด็จขึ้นจากเรือเหยียบฝั่งแม่น้ำเท่านั้น มหาเมฆตั้งขึ้นยังฝน โบกขรพรรษให้ตกแล้ว. ในที่ทุกๆ แห่ง น้ำประมาณเพียงเข่า เพียงขา เพียงสะเอวเป็นต้น ไหลบ่าพัดพาเอาซากศพทั้งปวง ให้เข้าไปในแม่น้ำคงคาแล้ว. ภูมิภาคได้สะอาดแล้ว.
               เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทูลให้พระศาสดาประทับอยู่ในที่โยชน์หนึ่งๆ ถวายมหาทานทำการบูชาให้เป็น ๒ เท่า นำเสด็จไปสู่เมืองไพศาลี โดย ๓ วัน.
               ท้าวสักกเทวราชอันหมู่เทวดาแวดล้อมได้เสด็จมาแล้ว. อมนุษย์ทั้งหลายหนีไปโดยมาก เพราะเทวดาทั้งหลายผู้มีศักดิ์ใหญ่ประชุมกันแล้ว.

               น้ำมนต์แห่งพระปริตรมีอำนาจมาก               
               พระศาสดาประทับยืนที่ประตูพระนครในเวลาเย็น ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาแล้ว ตรัสว่า "อานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้แล้ว เที่ยวไปกับเจ้าลิจฉวีกุมารทั้งหลาย ทำพระปริตรในระหว่างกำแพง ๓ ชั้นในเมืองไพศาลี."
               พระเถระเรียนรัตนสูตรที่พระศาสดาประทานแล้ว เอาบาตรสำเร็จด้วยศิลาของพระศาสดาตักน้ำ ยืนอยู่ที่ประตูพระนครแล้ว. ระลึกถึงพระพุทธคุณของพระตถาคตเหล่านี้ทั้งหมด
               จำเดิมแต่ตั้งความเพียรไว้ว่า "พระบารมี ๓๐ ถ้วน คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓ คือ โลกัตถจริยา ๑ ญาตัตถจริยา ๑ พุทธัตถจริยา ๑ การก้าวลงสู่พระครรภ์ในภพที่สุด การประสูติ การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ การทรงประพฤติความเพียร การชำนะมาร การแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณเหนือบัลลังก์ไม้โพธิ์ การยังพระธรรมจักรให้เป็นไป และพระโลกุตรธรรม ๙" แล้วเข้าไปยังพระนคร เที่ยวทำพระปริตรในระหว่างกำแพงทั้ง ๓ ตลอด ๓ ยามแห่งราตรี.
               เมื่อคำสักว่า "ยงฺกิญฺจิ" เป็นต้น อันพระเถระนั้นกล่าวแล้วเท่านั้น น้ำที่สาดขึ้นไปเบื้องบน ตกลงบนกระหม่อมของอมนุษย์ทั้งหลาย.
               จำเดิมแต่การกล่าวคาถาว่า "ยานีธ ภูตานิ" เป็นต้น หยาดน้ำเป็นราวกะว่าเทริดเงินพุ่งขึ้นในอากาศ แล้วตกลง ณ เบื้องบนแห่งมนุษย์ทั้งหลายผู้ป่วย. มนุษย์ทั้งหลายหายโรคในทันใดนั่นเอง แล้วลุกขึ้นแวดล้อมพระเถระ.
               ก็จำเดิมแต่บทว่า "ยงฺกิญฺจิ" เป็นต้น อันพระเถระกล่าวแล้ว อมนุษย์ทั้งหลายถูกเมล็ดน้ำกระทบแล้วๆ ยังไม่หนีไปก่อน ที่อาศัยกองหยากเยื่อและส่วนแห่งฝาเรือนเป็นต้น ก็หนีไปแล้วโดยประตูนั้นๆ. ประตูทั้งหลายไม่มีช่องว่างแล้ว. อมนุษย์เหล่านั้นเมื่อไม่ได้โอกาส ก็ทำลายกำแพงหนีไป. มหาชนประพรมท้องพระโรงในท่ามกลางพระนครด้วยของหอมทั้งปวง ผูกผ้าเพดานอันวิจิตรด้วยดาวทองเป็นต้นในเบื้องบน ตกแต่งพุทธอาสน์ นำเสด็จพระศาสดามาแล้ว.
               พระศาสดาประทับนั่งบนอาสนะอันตกแต่งแล้ว. ทั้งภิกษุสงฆ์ ทั้งหมู่เจ้าลิจฉวีนั่งแวดล้อมพระศาสดาแล้ว. แม้ท้าวสักกเทวราชอันหมู่เทวดาแวดล้อมแล้ว ได้ประทับยืนในโอกาสสมควร.
               ฝ่ายพระเถระเที่ยวไปสู่พระนครทั้งสิ้นโดยลำดับแล้ว มากับมหาชนผู้หายโรค ถวายบังคมพระศาสดานั่งแล้ว พระศาสดาทรงตรวจดูบริษัทแล้ว ได้ทรงภาษิตรัตนสูตรนั้นนั่นเอง.
               ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นสี่พันแล้ว.
               พระศาสดาทรงแสดงรัตนสูตรนั้นเหมือนกันตลอด ๗ วัน คือแม้ในวันรุ่งขึ้น ก็ทรงแสดงอย่างนั้น ทรงทราบความที่ภัยทั้งปวงสงบแล้ว ตรัสเตือนหมู่เจ้าลิจฉวีแล้ว เสด็จออกจากเมืองไพศาลี. เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงทำสักการะทวีคูณ นำเสด็จพระศาสดาไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคาโดย ๓ วันอีก.

               พวกพระยานาคทำการบูชาพระศาสดา               
               พระยานาคทั้งหลายผู้เกิดในแม่น้ำคงคา คิดว่า "มนุษย์ทั้งหลายย่อมทำสักการะแด่พระตถาคต เราทั้งหลายจะทำอะไรหนอ?" พระยานาคเหล่านั้นนิรมิตเรือสำเร็จด้วยทองคำ เงิน และแก้วมณี จัดตั้งบัลลังก์สำเร็จด้วยทองคำ เงิน และแก้วมณี ทำน้ำให้ดาดาษด้วยดอกปทุม ๕ สี แล้วทูลอ้อนวอนพระศาสดา เพื่อประโยชน์เสด็จขึ้นเรือของตนๆ ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงทำการอนุเคราะห์แม้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด." มนุษย์และนาคทั้งหลายย่อมทำการบูชาพระตถาคต.
               เทวดาทั้งปวง ตั้งต้นแต่เทวดาผู้สถิต ณ ภาคพื้น ตลอดถึงพรหมโลกชั้นอกนิฏฐ์คิดว่า "พวกเราจะทำอะไรหนอ?" แล้วทำสักการะ. บรรดามนุษย์และอมนุษย์เหล่านั้น นาคทั้งหลายยกฉัตรซ้อนๆ กันขึ้นประมาณโยชน์หนึ่ง. ฉัตรที่ซ้อนๆ กัน อันมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย คือนาคภายใต้ มนุษย์ที่พื้นดิน ภุมมัฏฐกเทวดาที่ต้นไม้ กอไม้ และภูเขาเป็นต้น อากาสัฏฐกเทวดาในกลางหาว ต่างก็ยกขึ้นแล้ว ตั้งต้นแต่นาคภพ ตลอดถึงพรหมโลก โดยรอบจักรวาลด้วยประการฉะนี้.
               ในระหว่างฉัตรมีธงชัย, ในระหว่างธงชัยมีธงแผ่นผ้า, ในระหว่างๆ แห่งธงเหล่านั้นได้มีเครื่องสักการะมีพวงดอกไม้ จุณเครื่องอบ และกระแจะเป็นต้น.
               เทพบุตรทั้งหลายประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือเพศแห่งคนเล่นมหรสพ ป่าวร้องเที่ยวไปในอากาศ.
                ได้ยินว่า สมาคม ๓ แห่งเท่านั้น คือ "สมาคมในเวลาแสดงยมกปาฏิหาริย์ ๑ สมาคมในเวลาเสด็จลงจากเทวโลก ๑ สมาคมในเวลาลงสู่คงคานี้ ๑" ได้เป็นสมาคมใหญ่.

               พระเจ้าพิมพิสารให้เตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าอีก               
               ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารทรงตระเตรียมสักการะทวีคูณ จากสักการะอันพวกเจ้าลิจฉวีทำ ได้ทรงยืนแลดูการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ที่ฝั่งโน้น. พระศาสดาทอดพระเนตรการบริจาคใหญ่ของพระราชาทั้งหลายใน ๒ ฝั่งแห่งแม่น้ำคงคา และทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายมีนาคเป็นต้น แล้วทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตพระองค์หนึ่งๆ มีภิกษุองค์ละ ๕๐๐ เป็นบริวารไว้ที่เรือลำหนึ่งๆ. พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันหมู่นาคแวดล้อมแล้ว ได้ประทับนั่ง ณ ภายใต้แห่งเศวตฉัตรคันหนึ่งๆ และต้นกัลปพฤกษ์และพวงระเบียบดอกไม้. ทรงนิรมิตพระพุทธนิรมิตพระองค์หนึ่งๆ พร้อมทั้งบริวารในโอกาสแห่งหนึ่งๆ แม้ในเทวดาทั้งหลายมีเทวดาชั้นภุมมัฏฐกะเป็นต้น. เมื่อห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นประหนึ่งว่ามีมหรสพอันเดียวและมีการเล่นอันเดียว ด้วยประการฉะนี้แล้ว,
               พระศาสดา เมื่อจะทรงทำการอนุเคราะห์แก่นาคทั้งหลาย ได้เสด็จขึ้นสู่เรือแก้วลำหนึ่ง. แม้บรรดาภิกษุทั้งหลายรูปหนึ่งๆ ก็ขึ้นสู่เรือลำหนึ่งๆ เหมือนกัน.
               พระยานาคทั้งหลายนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้เข้าไปสู่นาคภพ ฟังธรรมกถาในสำนักของพระศาสดาตลอดคืนยังรุ่ง ในวันที่ ๒ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยของควรเคี้ยวด้วยของควรบริโภคอันเป็นทิพย์. พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้วออกจากนาคภพ อันเทวดาในจักรวาลทั้งสิ้นบูชาอยู่ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาด้วยเรือ ๕๐๐ ลำแล้ว.
               พระราชาทรงต้อนรับ อัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จลงจากเรือ ทรงทำสักการะทวีคูณ จากสักการะอันเจ้าลิจฉวีทั้งหลายทำในเวลาเสด็จมา นำพระศาสดามาสู่กรุงราชคฤห์ โดย ๕ วัน โดยนัยก่อนนั่นแล.

               พวกภิกษุชมพุทธานุภาพ               
               ในวันที่ ๒ พวกภิกษุกลับจากบิณฑบาตแล้ว ในเวลาเย็นนั่งประชุมกันในโรงธรรม สนทนากันว่า "น่าชม! อานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าประหลาดใจ! เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันเลื่อมใสในพระศาสดา พระราชาทั้งหลายทรงทำพื้นที่ให้สม่ำเสมอในหนทาง ๘ โยชน์ ทั้งฝั่งนี้ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา เกลี่ยทรายลงลาดดอกไม้มีสีต่างๆ โดยส่วนสูงประมาณเพียงเข่า ด้วยความเลื่อมใสอันเป็นไปแล้วในพระพุทธเจ้า, น้ำในแม่น้ำคงคาก็ดาดาษด้วยดอกปทุม ๕ สี ด้วยอานุภาพนาค, เทวดาทั้งหลายก็ยกฉัตรซ้อนๆ กันขึ้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ, ห้องจักรวาลทั้งสิ้นเกิดเป็นเพียงดังว่ามีเครื่องประดับเป็นอันเดียว และมีมหรสพเป็นอันเดียว."
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เครื่องบูชาและสักการะนี้ มิได้บังเกิดขึ้นแก่เราด้วยพุทธานุภาพ มิได้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพนาคและเทวดาและพรหม แต่ว่าเกิดด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อยในอดีต"
               อันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว ใคร่จะประกาศเนื้อความนั้น
               จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า :-

               เรื่องสุสิมมาณพ               
               ในอดีตกาล ในเมืองตักกสิลา ได้มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อสังขะ. เขามีบุตร (คนหนึ่ง) เป็นมาณพชื่อสุสิมะ มีอายุย่างเข้า ๑๖ ปี.
               ในวันหนึ่ง สุสิมมาณพนั้นเข้าไปหาบิดาแล้ว กล่าวว่า "พ่อ ผมปรารถนาจะเข้าไปสู่เมืองพาราณสีท่องมนต์." ลำดับนั้น บิดากล่าวกะเขาว่า "พ่อ ถ้ากระนั้น พราหมณ์ชื่อโน้นเป็นสหายของพ่อ เจ้าจงไปสู่สำนักของสหายนั้น แล้วเรียนเถิด." เขารับคำว่า "ดีละ" แล้วถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปหาพราหมณ์นั้นแล้ว บอกความที่ตนอันบิดาส่งมาแล้ว.
               ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นรับเขาไว้ ด้วยคิดว่า "บุตรสหายของเรา" แล้วเริ่มบอกมนต์กะเขา ผู้มีความกระวนกระวายอันระงับแล้วโดยวันเจริญ๑-
____________________________
๑- คืนวันดี เป็นวันมงคล.

               สุสิมมาณพนั้น เรียนเร็วด้วย เรียนได้มากด้วย ทรงจำมนต์ที่เรียนแล้วๆ ไม่ให้เสื่อมไป ราวกะว่าน้ำมันสีหะอันเขาเทไว้ในภาชนะทองคำ ต่อกาลไม่นานนัก ได้เรียนมนต์ทั้งหมดอันตนพึงเรียนจากปากของอาจารย์ ทำการสาธยายอยู่ ย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางแห่งศิลปที่ตนเรียนแล้วเท่านั้น, (แต่) ไม่เห็นที่สุด. เขาเข้าไปหาอาจารย์แล้ว กล่าวว่า "ผมย่อมเห็นเบื้องต้นและท่ามกลางแห่งศิลปนี้เท่านั้น ย่อมไม่เห็นที่สุด"
               เมื่ออาจารย์กล่าวว่า "พ่อ แม้ฉันก็ไม่เห็น" จึงถามว่า "ข้าแต่อาจารย์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครจะรู้ที่สุด" เมื่ออาจารย์กล่าวว่า "พ่อ ฤษีทั้งหลายเหล่านี้ย่อมอยู่ในป่าอิสิปตนะ ฤษีเหล่านั้นพึงรู้ เจ้าเข้าไปสู่สำนักของท่านแล้วจงถามเถิด"
               จึงเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ถามว่า "ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายย่อมรู้ที่สุดหรือ?"
               ปัจเจก. เออ เราทั้งหลายย่อมรู้
               สุสิมะ. ถ้ากระนั้น ขอท่านทั้งหลาย จงบอกแก่ข้าพเจ้า.
               ปัจเจก. เราทั้งหลายย่อมไม่บอกแก่คนไม่ใช่บรรพชิต ถ้าท่านมีประสงค์ด้วยที่สุด จงบวชเถิด.
               สุสิมมาณพนั้นรับว่า "ดีละ" แล้วบวชในสำนักพระปัจเจกพุทธะเหล่านั้น.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธะเหล่านั้นกล่าวแก่ท่านว่า "เธอจงศึกษาข้อนี้ก่อน" แล้วบอกอภิสมาจาริกวัตร โดยนัยเป็นต้นว่า "ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้."
               ท่านศึกษาอยู่ในอภิสมาจาริกวัตรนั้น เพราะความที่ตนมีอุปนิสัยสมบูรณ์ ต่อกาลไม่นานนักก็ตรัสรู้ปัจเจกสัมโพธิ ปรากฏในเมืองพาราณสีทั้งสิ้น เป็นราวกะว่าพระจันทร์เต็มดวงปรากฏอยู่ในท้องฟ้า ได้เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ.
               ท่านได้ปรินิพพานต่อกาลไม่นานเลย เพราะความที่แห่งกรรมซึ่งอำนวยผลให้เป็นผู้มีอายุน้อยอันตนทำแล้ว.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธะทั้งหลายและมหาชน (ช่วยกัน) ทำสรีรกิจของท่านแล้ว ถือเอาธาตุประดิษฐานพระสถูปไว้ใกล้ประตูพระนคร.
               ฝ่ายสังขพราหมณ์ คิดว่า "บุตรของเราไปนานแล้ว เราจักรู้ความเป็นไปของเขา" ปรารถนาจะเห็นบุตรนั้น จึงออกจากเมืองตักกสิลา ถึงเมืองพาราณสีโดยลำดับ เห็นหมู่มหาชนประชุมกันแล้ว คิดว่า "ในชนเหล่านี้ แม้คนหนึ่งจักรู้ความเป็นไปแห่งบุตรของเราเป็นแน่."
               จึงเข้าไปหาแล้ว ถามว่า "มาณพชื่อสุสิมะมาในที่นี้ ท่านทั้งหลายทราบข่าวคราวของเขาบ้างหรือหนอ?"
               มหาชนตอบว่า "เออ พราหมณ์ เรารู้ สุสิมมาณพนั้นสาธยายไตรเพท ในสำนักของพราหมณ์ชื่อโน้น บวชแล้ว ทำให้แจ้งซึ่งปัจเจกโพธิปัญญา ปรินิพพานแล้ว นี้สถูปของท่านอันเราทั้งหลายให้ตั้งเฉพาะแล้ว."
               สังขพราหมณ์นั้นประหารพื้นดินด้วยมือ ร้องไห้คร่ำครวญแล้ว ไปยังลานพระเจดีย์ ถอนหญ้าขึ้นแล้ว เอาผ้าห่มนำทรายมา เกลี่ยลงที่ลานพระเจดีย์ ประพรมด้วยน้ำในลักจั่น ทำบูชาด้วยดอกไม้ป่า ยกธงแผ่นผ้าด้วยผ้าสาฎก ผูกฉัตรของตนในเบื้องบนแห่งพระสถูป แล้วก็หลีกไป.

               อานิสงส์แห่งการบริจาคสุขพอประมาณ               
               พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้วตรัสว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย ในกาลนั้นเราได้เป็นสังขพราหมณ์ เราได้ถอนหญ้าในลานพระเจดีย์ของพระปัจเจกพุทธะชื่อสุสิมะ ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงทำหนทาง ๘ โยชน์ให้ปราศจากตอและหนามทำให้สะอาด มีพื้นสม่ำเสมอ,
               เราได้เกลี่ยทรายลงในลานพระเจดีย์นั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงเกลี่ยทรายลงในหนทาง ๘ โยชน์แล้ว
               เราทำการบูชาด้วยดอกไม้ป่าที่พระสถูปนั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ชนทั้งหลายจึงโปรยดอกไม้สีต่างๆ ลงในหนทาง ๘ โยชน์, น้ำในคงคาในที่ประมาณโยชน์หนึ่งจึงดาดาษไปด้วยดอกปทุม ๕ สี,
               เราได้ประพรมพื้นที่ในลานพระเจดีย์นั้น ด้วยน้ำในลักจั่น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ฝนโบกขรพรรษจึงตกลงในเมืองไพศาลี
               เราได้ยกธงแผ่นผ้าขึ้นและผูกฉัตรไว้บนพระเจดีย์นั้น ด้วยผลแห่งกรรมของเรานั้น ห้องจักรวาลทั้งสิ้น จึงเป็นราวกะว่ามีมหรสพเป็นอันเดียวกัน ด้วยธงชัย ธงแผ่นผ้า และฉัตรซ้อนๆ กัน เป็นต้นตลอดถึงอกนิฏฐภพ.
               ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุดังนี้แล บูชาสักการะนั่นเกิดขึ้นแก่เรา ด้วยพุทธานุภาพก็หาไม่ เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งนาคเทวดาและพรหมก็หาไม่ แต่ว่า เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการบริจาคมีประมาณน้อย ในอดีตกาล" ดังนี้แล้ว
               เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๑. มตฺตาสุขปริจฺจาคา    ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ
                         จเช มตฺตาสุขํ ธีโร    สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ.
                         ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณเสีย,
                         ผู้มีปัญญา เมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์ก็พึงสละสุขพอประมาณเสีย
                         (จึงจะได้พบสุขอันไพบูลย์).

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตฺตาสุขปริจฺจาคา ความว่า เพราะสละสุขเล็กน้อยพอประมาณ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "มตฺตาสุขํ." สุขอันโอฬาร ได้แก่สุขคือพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุขอันไพบูลย์ ความว่า ถ้าบุคคลพึงเห็นสุขอันไพบูลย์นั้น.
               ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า
               ก็ชื่อว่าสุขพอประมาณ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ให้จัดแจงถาดโภชนะถาดหนึ่ง แล้วบริโภคอยู่, ส่วนชื่อว่านิพพานสุข อันไพบูลย์ คืออันโอฬาร ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สละสุขพอประมาณนั้นเสียแล้ว ทำอุโบสถอยู่บ้าง ให้ทานอยู่บ้าง เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเห็นสุขอันไพบูลย์ เพราะสละสุขพอประมาณนั้นเสีย อย่างนั้น, เมื่อเช่นนั้น บัณฑิตเมื่อเห็นสุขอันไพบูลย์นั่นโดยชอบ ก็พึงสละสุขพอประมาณนั้นเสีย.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องบุรพกรรมของพระองค์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปกิณณกวรรคที่ ๒๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 30อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 31อ่านอรรถกถา 25 / 32อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1035&Z=1079
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=1721
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=1721
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :