ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 31อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 25 / 33อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นิรยวรรคที่ ๒๒

หน้าต่างที่ ๔ / ๙.

               ๔. เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ [๒๒๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ ซึ่งเป็นหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "จตฺตาริ ฐานานิ" เป็นต้น.

               เขมกะเป็นนักเลงเจ้าชู้ ถูกจับถึง ๓ ครั้ง               
               ดังได้สดับมา นายเขมกะนั้นเป็นผู้มีรูปสวย. โดยมากหญิงทั้งหลายเห็นเขาแล้ว ถูกราคะครอบงำ ไม่สามารถจะดำรงอยู่ตามภาวะของตนได้. แม้เขาก็ได้เป็นผู้ยินดียิ่งในปรทารกรรม๑- เหมือนกัน.
____________________________
๑- กรรมคือการคบหาซึ่งภรรยาของผู้อื่น.

               ต่อมาในเวลากลางคืน พวกราชบุรุษจับเขานำไปแสดงแด่พระราชา.
               พระราชามิได้ตรัสอะไรกะเขา ด้วยทรงดำริว่า "เราละอายต่อมหาเศรษฐี" แล้วรับสั่งให้ปล่อยไป. ฝ่ายนายเขมกะนั้นก็มิได้งดเว้นเลย. ต่อมา (อีก) พวกราชบุรุษก็จับเขาแล้วแสดงแด่พระราชาถึงครั้งที่ ๒ ที่ ๓. พระราชาก็รับสั่งให้ปล่อยเช่นเคย.
               มหาเศรษฐีทราบเรื่องนั้นแล้ว พาเขาไปสำนักพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นแล้วทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่นายเขมกะนี้"

               พระศาสดาทรงแสดงโทษแห่งปรทารกรรม               
               พระศาสดาตรัสสังเวคกถาแก่เขาแล้ว เมื่อจะทรงแสดงโทษในการเสพภรรยาของคนอื่น
               ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                                   ๔. จตฺตาริ ฐานานิ นโร ปมตฺโต              
                                   อาปชฺชตี ปรทารูปเสวี
                                   อปุญฺญลาภํ นนิกามเสยฺยํ
                                   นินฺทํ ตติยํ นิรยํ จตุตฺถํ.
                                   อปุญฺญลาโภ จ คตี จ ปาปิกา
                                   ภีตสฺส ภีตาย รตี จ โถกิกา
                                   ราชา จ ทณฺฑํ ครุกํ ปเณติ
                                   ตสฺมา นโร ปรทารํ น เสเว.
                         นระผู้ประมาทชอบเสพภรรยาของคนอื่น ย่อมถึงฐานะ
                         ๔ อย่างคือการได้สิ่งที่มิใช่บุญ เป็นที่ ๑ การนอนไม่ได้
                         ตามความปรารถนา เป็นที่ ๒ การนินทา เป็นที่ ๓ นรก
                         เป็นที่ ๔.
                         การได้สิ่งมิใช่บุญอย่างหนึ่ง, คติลามกอย่างหนึ่ง, ความ
                         ยินดีของบุรุษผู้กลัวกับด้วยหญิงผู้กลัว มีประมาณน้อย
                         อย่างหนึ่ง, พระราชาย่อมลงอาชญาอันหนักอย่างหนึ่ง,
                         เพราะฉะนั้น นระไม่ควรเสพภรรยาของคนอื่น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฐานานิ ได้แก่ เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย.
               บทว่า ปมตฺโต ได้แก่ ประกอบด้วยการปล่อยสติ.
               บทว่า อาปชฺชติ คือ ย่อมถึง.
               บทว่า ปรทารูปเสวี ความว่า เข้าไปเสพภรรยาของคนอื่นอยู่ ชื่อว่ามักประพฤตินอกทาง.
               บทว่า อปุญฺญลาภํ ได้แก่ การได้อกุศล.
               บทว่า น นิกามเสยฺยํ ความว่า บุคคลนั้นไม่ได้การนอนอย่างที่ตนปรารถนา ย่อมได้การนอนตลอดกาลนิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งตนไม่ปรารถนา.
               บทว่า อปุญฺญลาโภ จ ความว่า การได้สิ่งอันไม่เป็นบุญนี้อย่างหนึ่ง คติอันลามก กล่าวคือนรก เพราะสิ่งอันไม่เป็นบุญนั้น (เป็นเหตุ) อย่างหนึ่ง ย่อมมีแก่บุคคลนั้น อย่างนี้.
               สองบทว่า รตี จ โถกิกา ความว่า แม้ความยินดีของบุรุษผู้กลัวนั้น กับหญิงผู้กลัวมีประมาณน้อย คือมีนิดหน่อย.
               บทว่า ครุกํ ความว่า อนึ่ง พระราชาย่อมลงอาชญาอย่างหนักด้วยสามารถแห่งการตัดมือเป็นต้น.
               บทว่า ตสฺมา เป็นต้น ความว่า บุคคลผู้เสพภรรยาของคนอื่น ย่อมถึงฐานะทั้งหลายมีสิ่งมิใช่บุญเป็นต้นเหล่านั้น; เพราะฉะนั้น นระจึงไม่ควรเสพภรรยาของคนอื่น.
               ในกาลจบเทศนา นายเขมกะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.
               ตั้งแต่นั้นมา มหาชนยังกาลให้ผ่านไปอย่างสบาย.

               บุรพกรรมของนายเขมกะ               
               ถามว่า "ก็บุรพกรรมของนายเขมกะนั้น เป็นอย่างไร?"
               แก้ว่า "ดังได้สดับมา ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป เขาเป็นนักมวยที่เก่งที่สุด ยกธงทอง ๒ แผ่นขึ้นไว้ที่กาญจนสถูปของพระทศพลแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า "เว้นหญิงที่เป็นญาติสาโลหิตเสีย หญิงที่เหลือเห็นเราแล้วจงกำหนัด."
               นี้เป็นบุรพกรรมของเขาด้วยประการฉะนี้.
               เพราะฉะนั้น หญิงของคนเหล่าอื่น เห็นเขาในที่เขาเกิดแล้ว จึงไม่สามารถเพื่อจะดำรงอยู่ตามภาวะของตนได้ ดังนี้แล.

               เรื่องบุตรของเศรษฐีชื่อเขมกะ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท นิรยวรรคที่ ๒๒
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 31อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 32อ่านอรรถกถา 25 / 33อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1080&Z=1117
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=24&A=2371
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=24&A=2371
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :