ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๒.

               ๑๐. เรื่องท้าวสักกเทวราช [๒๔๙]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺพทานํ" เป็นต้น.

               ปัญหา ๔ ข้อของเทวดา               
               ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง เทพดาในดาวดึงสเทวโลกประชุมกันแล้ว ตั้งปัญหาขึ้น ๔ ข้อว่า
               บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหนหนอแล? บัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม,
               บรรดารสทั้งหลาย รสชนิดไหน? บัณฑิตกล่าวว่ายอด,
               บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหน? บัณฑิตกล่าวว่าเลิศ,
               ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุด เพราะเหตุไร?
               แม้เทพดาองค์หนึ่งก็มิสามารถจะวินิจฉัยปัญหาเหล่านั้นได้. ก็เทพดาองค์หนึ่งถามกะเทพดาองค์หนึ่ง, แม้เทพดาองค์นั้นก็ถามเทพดาองค์อื่นอีก, ก็เทพดาทั้งหลายถามกันและกันอย่างนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ ได้ท่องเที่ยวไปในหมื่นจักรวาลถึง ๑๒ ปี.

               เทวดาพากันไปถามปัญหาท้าวมหาราชทั้ง ๔               
               เทวดาในหมื่นจักรวาลไม่เห็นเนื้อความแห่งปัญหาโดยกาลแม้มีประมาณเท่านี้ ประชุมกันแล้ว ไปยังสำนักของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เมื่อท้าวมหาราชกล่าวว่า "พ่อทั้งหลาย ทำไมจึงมีเทพสันนิบาตกันใหญ่?" จึงกล่าวว่า "พวกผมตั้งปัญหาขึ้น ๔ ข้อแล้ว เมื่อไม่สามารถจะวินิจฉัยได้ จึงมายังสำนักของท่าน"
               เมื่อท้าวมหาราชกล่าวว่า "ชื่อปัญหาอะไรกัน? พ่อ"
               (จึงบอกเนื้อความนั้น) ว่า "พวกผมไม่สามารถวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ได้ คือ ‘บรรดาทาน รสและความยินดี ทาน รสและความยินดีชนิดไหนหนอแล ประเสริฐสุด? ความสิ้นไปแห่งตัณหาเทียว ประเสริฐสุด เพราะเหตุไร?’ จึงมาหา."
               ท้าวมหาราชทั้ง ๔ กล่าวว่า "พ่อทั้งหลาย แม้พวกเราก็หารู้เนื้อความแห่งปัญหาเหล่านี้ไม่ แต่พระราชาของพวกเรา ทรงดำริอรรถที่ชนตั้งพันคิดแล้ว ย่อมทรงทราบโดยขณะเดียวเท่านั้น พระองค์ประเสริฐวิเศษกว่าพวกเราทั้งหลาย ทั้งทางปัญญาและทางบุญ พวกเราจงไปยังสำนักของพระองค์เถิด" แล้วพาหมู่เทพดานั้นนั่นแลไปยังสำนักของท้าวสักกเทวราช
               ถึงเมื่อท้าวสักกเทวราชนั้นตรัสว่า "พ่อทั้งหลาย ทำไมจึงมีเทพสันนิบาตกันใหญ่?" ก็กราบทูลเนื้อความนั้น.

               ท้าวสักกะทรงพาพวกเทวดาไปเฝ้าพระศาสดา               
               ท้าวสักกะตรัสว่า "พ่อทั้งหลาย คนอื่นย่อมไม่สามารถรู้เนื้อความแห่งปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาเหล่านั่นเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า" แล้วตรัสถามว่า "ก็เดี๋ยวนี้ พระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่ไหน?" ทรงสดับว่า "ในพระเชตวันวิหาร" จึงตรัสว่า "พวกเธอมาเถิด พวกเราจักไปยังสำนักของพระองค์" ทรงพร้อมด้วยหมู่เทพดา ให้พระเชตวันทั้งสิ้นสว่างไสวในส่วนแห่งราตรี เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ประทับยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร ทำไมพระองค์จึงเสด็จมาพร้อมกับหมู่เทพดามากมาย?" จึงกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า หมู่เทพดาพากันตั้งปัญหาชื่อเหล่านี้ คนอื่นที่ชื่อว่าสามารถรู้เนื้อความแห่งปัญหาเหล่านี้ได้ หามีไม่ ขอพระองค์ได้ทรงประกาศเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านี้ แก่พวกข้าพระองค์เถิด."

               พระศาสดาทรงแก้ปัญหา               
               พระศาสดาตรัสว่า "ดีละ มหาบพิตร ตถาคตบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ บริจาคมหาบริจาค๑- แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เพื่อตัดความสงสัยของชนผู้เช่นพระองค์นี่แหละ ขอพระองค์จงทรงสดับปัญหาที่พระองค์ถามแล้วเถิด
               บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม,
               บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด,
               บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ
               ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต"
____________________________
๑- หมายถึงบริจาค ๕ คือ:-
               ๑. องฺคปริจฺจาค บริจาคอวัยวะ. ๒. ธนปริจฺจาค บริจาคทรัพย์.
               ๓. ปุตฺตปริจฺจาค บริจาคบุตร. ๔. ทารปริจฺจาค บริจาคเมีย.
               ๕. ชีวิตปริจฺจาค บริจาคชีวิต.

               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               ๑๐.                 สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
                              สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ
                              สพฺพํ รตึ ธมฺมรตี ชินาติ
                              ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ.
                         ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อม
               ชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้ง
               ปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพทานํ เป็นต้น ความว่า
               ก็ถ้าบุคคลพึงถวายไตรจีวรเช่นกับใบตองอ่อนแด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้นั่งติดๆ กันในห้องจักรวาล ตลอดถึงพรหมโลก.
               การอนุโมทนาเทียวที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงทำด้วยพระคาถา ๔ บาทในสมาคมนั้นประเสริฐ; ก็ทานนั้นหามีค่าถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระคาถานั้นไม่ การแสดงก็ดี การกล่าวสอนก็ดี การสดับก็ดีซึ่งธรรมเป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง บุคคลใดให้ทำการฟังธรรม อานิสงส์เป็นอันมากก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้นแท้. ธรรมทานนั่นแหละที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นให้เป็นไปแล้ว แม้ด้วยอำนาจอนุโมทนา โดยที่สุดด้วยพระคาถา ๔ บาท ประเสริฐที่สุดกว่าทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยบิณฑบาต อันประณีตแล้วถวายแก่บริษัทเห็นปานนั้นนั่นแหละบ้าง
               กว่าเภสัชทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใสและน้ำมันเป็นต้น แล้วถวายบ้าง
               กว่าเสนาสนทานที่ทายกให้สร้างวิหารเช่นกับมหาวิหาร และปราสาทเช่นกับโลหปราสาทตั้งหลายแสน แล้วถวายบ้าง
               กว่าการบริจาคที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้นปรารภวิหารทั้งหลาย แล้วทำบ้าง.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะว่า ชนทั้งหลายเมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้น ต่อฟังธรรมแล้วเท่านั้นจึงทำได้ ไม่ได้ฟังก็หาทำได้ไม่. ก็ถ้าว่าสัตว์เหล่านี้ไม่พึงฟังธรรมไซร้ เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณกระบวยหนึ่งบ้าง ภัตประมาณทัพพีหนึ่งบ้าง เพราะเหตุนี้ ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด.
               อีกอย่างหนึ่ง เว้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเสีย แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นผู้ประกอบด้วยปัญญาซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัลป์ทั้งสิ้น ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยธรรมดาของตนได้ ต่อฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณ ด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เพราะเหตุแม้นี้ มหาบพิตร๑- ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุด.
               เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ."
               อนึ่ง รสมีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้นทุกชนิด โดยส่วนสูงแม้รสแห่งสุธาโภชน์ของเทพดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้.
               ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และกล่าวคือโลกุตรธรรม ๙ ประการนี้แหละ ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง.
               เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ."
               อนึ่ง แม้ความยินดีในบุตร ความยินดีในธิดา ความยินดีในทรัพย์ ความยินดีในสตรี และความยินดีมีประเภทมิใช่อย่างเดียว อันต่างด้วยความยินดีในการฟ้อนการขับการประโคมเป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้.
               ส่วนความอิ่มใจซึ่งเกิดขึ้น ณ ภายในของผู้แสดงก็ดี ผู้ฟังก็ดี ผู้กล่าวสอนก็ดี ซึ่งธรรม ย่อมให้เกิดความเบิกบานใจ ให้น้ำตาไหล ให้เกิดขนชูชัน ความอิ่มใจนั้น ย่อมทำที่สุดแห่งสังสารวัฏ มีพระอรหัตเป็นปริโยสาน, ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง.
               เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ."
____________________________
๑- น่าจะเป็นบทเกิน, เพราะใครไม่สามารถทำเนื้อความเช่นนี้ ให้พระดำรัสของพระศาสดาได้.

               ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหา คือพระอรหัตซึ่งเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งตัณหา พระอรหัตนั้นประเสริฐกว่าทุกอย่างแท้ เพราะครอบงำวัฏทุกข์แม้ทั้งสิ้น. เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ."
               เมื่อพระศาสดาตรัสเนื้อความแห่งพระคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้ อยู่นั่นแล ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘ หมื่น ๔ พันแล้ว.
               แม้ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดา แล้วทูลว่า
               "พระเจ้าข้า เพื่อประโยชน์อะไร พระองค์จึงไม่รับสั่งให้ให้ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์ ในธรรมทานอันชื่อว่าเยี่ยมอย่างนี้? จำเดิมแต่นี้ไป ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ภิกษุสงฆ์แล้วรับสั่งให้ๆ ส่วนบุญแก่พวกข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า."
               พระศาสดาทรงสดับคำของท้าวเธอแล้ว รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ตรัสว่า
               "ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พวกเธอทำการฟังธรรมใหญ่ก็ดี การฟังธรรมตามปกติก็ดี กล่าวอุปนิสินนกถาก็ดี โดยที่สุดแม้การอนุโมทนา แล้วพึงให้ส่วนบุญแก่สัตว์ทั้งปวง."

               เรื่องท้าวสักกเทวราช จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1162&Z=1243
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :