ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔

หน้าต่างที่ ๔ / ๑๒.

               ๔. เรื่องเรือนจำ [๒๔๓]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเรือนจำ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ตํ ทฬฺหํ" เป็นต้น.

               พวกภิกษุเห็นโจรถูกจองจำนึกแปลกใจ               
               ดังได้สดับมา ในกาลครั้งหนึ่ง พวกราชบุรุษนำพวกโจร ผู้ตัดช่อง ผู้ปล้นในหนทางเปลี่ยว และผู้ฆ่ามนุษย์เป็นอันมาก ทูลเสนอแด่พระเจ้าโกศลแล้ว. พระราชารับสั่งให้จองจำโจรเหล่านั้นไว้ ด้วยเครื่องจองจำคือขื่อ เครื่องจองจำคือเชือก และเครื่องจองจำคือตรวนทั้งหลาย.
               พวกภิกษุชาวชนบท แม้มีประมาณ ๓๐ รูปแล ใคร่จะเฝ้าพระศาสดา มาเฝ้าถวายบังคมแล้ว ในวันรุ่งขึ้นเที่ยวไปในกรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ไปถึงเรือนจำเห็นโจรเหล่านั้น กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้าในเวลาเย็น กราบทูลถามว่า "พระเจ้าข้า วันนี้ พวกข้าพระองค์กำลังเที่ยวไปบิณฑบาต เห็นโจรเป็นอันมากในเรือนจำ ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือขื่อเป็นต้น เสวยทุกข์มาก พวกเขาย่อมไม่อาจเพื่อจะตัดเครื่องจองจำเหล่านั้นหนีไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขึ้นชื่อว่าเครื่องจองจำชนิดอื่น ที่มั่นคงกว่าเครื่องจองจำเหล่านั้น มีอยู่หรือหนอ?"

               เครื่องจองจำคือกิเลสตัดได้ยากยิ่ง               
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เครื่องจองจำเหล่านั้นจะชื่อว่าเครื่องจองจำอะไร ส่วนเครื่องจองจำคือกิเลส กล่าวคือตัณหา ในสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหลาย มีทรัพย์คือ ข้าวเปลือก บุตรและภรรยาเป็นต้น เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคงกว่าเครื่องจองจำคือขื่อเป็นต้นเหล่านั้น ด้วยอันคูณด้วยร้อย คูณด้วยพัน คูณด้วยแสน, แต่โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย ตัดเครื่องจองจำนั่นแม้ชนิดใหญ่ที่ตัดได้ยากด้วยประการดังนี้แล้ว เข้าสู่ป่าหิมพานต์บวช."
               ดังนี้แล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า
               "ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดแล้วในตระกูลคฤหบดีตกยากตระกูลหนึ่ง. เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นเจริญวัย บิดาได้ทำกาละแล้ว. พระโพธิสัตว์นั้นทำการรับจ้างเลี้ยงมารดา.
               ต่อมา มารดากระทำนางกุลธิดาคนหนึ่งไว้ในเรือนเพื่อพระโพธิสัตว์นั้นผู้ไม่ปรารถนาเลย ในกาลต่อมาก็ได้กระทำกาละแล้ว. ฝ่ายภรรยาของพระโพธิสัตว์นั้นตั้งครรภ์แล้ว.
               พระโพธิสัตว์นั้นไม่ทราบว่าครรภ์ตั้งขึ้นเลย จึงกล่าวว่า "นางผู้เจริญ หล่อนจงทำการรับจ้างเลี้ยงชีพเถิด ฉันจักบวช."
               นางกล่าวว่า "นาย ครรภ์ตั้งขึ้นแล้วแก่ดิฉันมิใช่หรือ? เมื่อดิฉันคลอดแล้ว ท่านจักเห็นทารกแล้ว จึงบวช." พระโพธิสัตว์นั้นรับว่า "ดีละ" ในกาลแห่งนางคลอดแล้ว จึงอำลาว่า "นางผู้เจริญ หล่อนคลอดโดยสวัสดีแล้ว บัดนี้ ฉันจักบวชละ." ทีนั้น นางกล่าวกะพระโพธิสัตว์นั้นว่า "ท่านจงรอเวลาที่ลูกน้อยของท่านหย่านมก่อน" แล้วก็ตั้งครรภ์อีก.
               พระโพธิสัตว์นั้นดำริว่า "เราไม่สามารถจะให้นางคนนี้ยินยอมแล้วไปได้, เราจักไม่บอกแก่นางละ จักหนีไปบวช." ท่านไม่บอกแก่นางเลย ลุกขึ้นแล้วในส่วนราตรีหนีไปแล้ว.
               ครั้งนั้น คนรักษาพระนครได้จับท่านไว้แล้ว. ท่านกล่าวว่า "นาย ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้เลี้ยงมารดา ขอท่านทั้งหลายจงปล่อยข้าพเจ้าเสียเถิด" ให้เขาปล่อยตนแล้ว พักอยู่ในที่แห่งหนึ่ง แล้วเข้าไปสู่ป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้เกิดแล้ว เล่นฌานอยู่.
               ท่านอยู่ในที่นั้นนั่นเอง เปล่งอุทานขึ้นว่า "เครื่องผูกคือบุตรและภรรยา เครื่องผูกคือกิเลส อันบุคคลตัดได้โดยยาก ชื่อแม้เห็นปานนั้น เราตัดได้แล้ว."

               พระศาสดาทรงแสดงเครื่องจองจำ ๒ อย่าง               
               พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว เมื่อจะทรงประกาศอุทานที่พระโพธิสัตว์นั้นเปล่งแล้ว
               ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๔.                 น ตํ ทฬฺหํ พนฺธนมาหุ ธีรา
                                        ยทายสํ ทารุชํ ปพฺพชญฺจ
                                        สารตฺตรตฺตา มณิกุณฺฑเลสุ
                                        ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ ยา อเปกฺขา.
                                        เอตํ ทฬฺหํ พนฺธนมาหุ ธีรา
                                        โอหารินํ สิถิลํ ทุปฺปมุญฺจํ
                                        เอตํปิ เฉตฺวาน ปริพฺพชนฺติ
                                        อนเปกฺขิโน กามสุขํ ปหาย.
                                   เครื่องจองจำใด เกิดแต่เหล็ก เกิดแต่ไม้ และ
                         เกิดแต่หญ้าปล้อง ผู้มีปัญญาทั้งหลาย หากล่าวเครื่อง
                         จองจำนั้น ว่าเป็นของมั่นคงไม่. ความกำหนัดใดของ
                         ชนทั้งหลายผู้กำหนัด ยินดียิ่งนัก ในแก้วมณีและตุ้ม
                         หูทั้งหลาย และความเยื่อใยในบุตร๑- แลในภรรยาทั้ง
                         หลายใด, นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวความกำหนัดและ
                         ความเยื่อใยนั่นว่า เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคง มีปกติ
                         เหนี่ยวลง อันหย่อน (แต่) เปลื้องได้โดยยาก.
                                   นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูก แม้นั่นแล้ว
                         เป็นผู้ไม่มีไยดี ละกามสุขแล้วบวช.๒-
____________________________
๑- แปลเติมอย่างอรรถกถา.
๒- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔, ชา. ทุก. ๒๗/ข้อ ๒๕๑; อรรถกถา ชา. ทุก. ๒๗/ข้อ ๒๕๑. พันธนาคารชาดก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธีรา เป็นต้น ความว่า บุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น หากล่าวเครื่องจองจำที่เกิดแต่เหล็ก กล่าวคือตรวน ชื่อว่าเกิดแต่เหล็ก ที่เกิดแต่ไม้ กล่าวคือ ชื่อ คา และเครื่องจองจำคือเชือก ที่เขาเอาหญ้าปล้อง หรือวัตถุอย่างอื่น มีปอเป็นต้น ฟันทำเป็นเชือก ว่า "เป็นของมั่นคง" ไม่ เพราะความเป็นเครื่องจองจำที่บุคคลสามารถตัดด้วยศัสตราทั้งหลาย มีดาบเป็นต้นได้.
               บทว่า สารตฺตรตฺตา ได้แก่ เป็นผู้กำหนัดนักแล้ว. อธิบายว่า ผู้กำหนัดด้วยราคะจัด.
               บทว่า มณิกุณฺฑเลสุ คือ ในแก้วมณีและตุ้มหูทั้งหลาย, อีกอย่างหนึ่ง (คือ) ในตุ้มหูทั้งหลายอันวิจิตรด้วยแก้วมณี.
               บทว่า ทฬฺหํ ความว่า ความกำหนัดใดของชนทั้งหลาย ผู้กำหนัดยินดียิ่งนัก ในแก้วมณีและตุ้มหูทั้งหลายนั่นแล และความเยื่อใย คือความทะยานอยากได้ในบุตรและภรรยาใด, บุรุษผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมกล่าวความกำหนัดและความเยื่อใยนั่น อันเป็นเครื่องผูกซึ่งสำเร็จด้วยกิเลสว่า "มั่น."
               บทว่า โอหารินํ ความว่า ชื่อว่า มีปกติเหนี่ยวลง เพราะย่อมฉุดลง คือนำไปในเบื้องต่ำ เพราะคร่ามาแล้วให้ตกไปในอบาย ๔.
               บทว่า สิถิลํ ความว่า ชื่อว่า หย่อน เพราะย่อมไม่บาดผิวหนังและเนื้อ คือย่อมไม่นำโลหิตออกในที่ที่ผูก ได้แก่ ไม่ให้รู้สึกแม้ความเป็นเครื่องผูก ย่อมให้ทำการงานทั้งหลาย ในที่ทั้งหลายมีทางบกและทางน้ำเป็นต้นได้.
               บทว่า ทุปฺปมุญฺจํ ความว่า ชื่อว่า เปลื้องได้โดยยาก ก็เพราะเครื่องผูกคือกิเลส อันเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งความโลภแม้คราวเดียว ย่อมเป็นกิเลสชาตอันบุคคลเปลื้องได้โดยยาก เหมือนเต่าเปลื้องจากที่เป็นที่ผูกได้ยากฉะนั้น.
               สองบทว่า เอตํปิ เฉตฺวาน ความว่า นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องผูกคือกิเลสนั่น แม้อันมั่นอย่างนั้น ด้วยพระขรรค์คือญาณ เป็นผู้หมดความเยื่อใย ละกามสุขแล้ว เว้นรอบ คือหลีกออก. อธิบายว่า ย่อมบวช.
               ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

               เรื่องเรือนจำ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1162&Z=1243
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :