ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔

หน้าต่างที่ ๖ / ๑๒.

               ๖. เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน [๒๔๕]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภอุคคเสน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มุญฺจ ปุเร" เป็นต้น.

               อุคคเสนรักใคร่หญิงนักฟ้อน               
               ได้ยินว่า เมื่อครบปีหรือ ๖ เดือนแล้ว พวกนักฟ้อนประมาณ ๕๐๐ ไปยังกรุงราชคฤห์ ทำมหรสพ (ถวาย) แด่พระราชาตลอด ๗ วัน ได้เงินและทองเป็นอันมาก การตกรางวัลในระหว่างๆ ไม่มีสิ้นสุด. มหาชนต่างก็ยืนบนเตียงเป็นต้น ดูมหรสพ.
               ลำดับนั้น ธิดานักหกคะเมนคนหนึ่ง ขึ้นไปสู่ไม้แป้น หกคะเมนเบื้องบนของไม้แป้นนั้น เดินฟ้อนและขับร้องบนอากาศ ณ ที่สุดแห่งไม้แป้นนั้น.
               สมัยนั้น บุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน ยืนอยู่บนเตียงที่ (ตั้ง) ซ้อนๆ กันกับด้วยสหาย แลดูหญิงนั้น มีความรักเกิดขึ้นในอาการทั้งหลาย มีการแกว่งมือและเท้าเป็นต้นของนาง ไปสู่เรือนแล้วคิดว่า "เราเมื่อได้นางจึงจักเป็นอยู่, เมื่อเราไม่ได้ก็จะตายเสียในที่นี้แหละ" ดังนี้แล้ว ก็ทำการตัดอาหาร นอนอยู่บนเตียง, แม้ถูกมารดาบิดาถามว่า "พ่อ เจ้าเป็นโรคอะไร?" ก็บอกว่า "เมื่อฉันได้ลูกสาวของนักฟ้อนคนนั้น ก็จะมีชีวิตอยู่, เมื่อฉันไม่ได้ ก็จะตายเสียในที่นี้นี่แหละ" แม้เมื่อมารดาปลอบว่า "พ่อ เจ้าอย่าทำอย่างนี้เลย พวกเราจักนำนางกุมาริกาคนอื่น ซึ่งสมควรแก่ตระกูลและโภคะของพวกเรา มาให้แก่เจ้า" ก็ยังนอนกล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน.

               อุคคเสนได้นางนักฟ้อนสมประสงค์               
               ลำดับนั้น บิดาของเขาแม้อ้อนวอนเป็นอันมาก เมื่อไม่สามารถจะให้เขายินยอมได้ จึงเรียกสหายของนักฟ้อนมา ให้ทรัพย์พันกหาปณะแล้ว ส่งไปด้วยสั่งว่า "ท่านจงรับเอากหาปณะเหล่านี้แล้ว ให้ลูกสาวของท่านแก่บุตรชายของฉันเถิด."
               นักฟ้อนนั้นกล่าวว่า "ข้าพเจ้ารับเอากหาปณะแล้วก็ให้ไม่ได้ ก็ถ้าว่า บุตรชาย (ของท่าน) นั้นไม่ได้ลูกสาว (ของข้าพเจ้า) นี้แล้ว ไม่อาจจะเป็นอยู่ไซร้ ถ้ากระนั้น บุตรของท่านจงเที่ยวไปกับด้วยพวกข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักให้ลูกสาวแก่เขา."
               มารดาบิดาบอกความนั้นแก่บุตรแล้ว. เขาพูดว่า "ฉันจักเที่ยวไปกับพวกนักฟ้อนนั้น" ไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคำของมารดาบิดาเหล่านั้น แม้ผู้อ้อนวอนอยู่ ได้ออกไปยังสำนักของนักฟ้อนแล้ว.
               นักฟ้อนนั้นให้ลูกสาวแก่เขาแล้ว เที่ยวแสดงศิลปะในบ้านนิคมและราชธานี กับด้วยเขานั่นแหละ.
               ฝ่ายนางนั้น อาศัยการอยู่ร่วมกับบุตรเศรษฐีนั้น ต่อกาลไม่นานนักก็ได้บุตร เมื่อจะเย้าบุตรนั้น จึงพูดว่า "ลูกของคนเฝ้าเกวียน, ลูกของคนหาบของ, ลูกของคนไม่รู้อะไรๆ."
               ฝ่ายบุตรเศรษฐีนั้นขนหญ้ามาให้โคทั้งหลาย ในที่แห่งชนเหล่านั้นทำการกลับเกวียนพักอยู่แล้ว (และ) ยกเอาสิ่งของที่ได้ในที่แสดงศิลปะแล้วนำไป นัยว่า หญิงนั้นหมายเอาบุตรเศรษฐีนั้นนั่นเอง เมื่อจะเย้าบุตร จึงกล่าวอย่างนั้นนั่นแล. บุตรเศรษฐีนั้นทราบความที่นางขับร้องปรารภตน จึงถามว่า "หล่อนพูดหมายถึงฉันหรือ?"
               ภรรยา. จ้ะ ฉันพูดหมายถึงท่าน.
               บุตรเศรษฐี. เมื่อเช่นนั้น ฉันจักหนีละ.
               นางกล่าวว่า "ก็จะประโยชน์อะไรของฉัน ด้วยท่านผู้หนีไปหรือมาแล้ว" ดังนี้แล้ว ก็ขับเพลงบทนั้นนั่นแลเรื่อยไป.
               ได้ยินว่า นางอาศัยรูปสมบัติของตน และทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้ จึงมิได้เกรงใจบุตรเศรษฐีนั้น ในเรื่องอะไรๆ.
               บุตรเศรษฐีนั้นคิดอยู่ว่า "นางนี้ มีการถือตัวเช่นนี้ เพราะอาศัยอะไรเล่าหนอ?" ทราบว่า "เพราะอาศัยศิลปะ" จึงคิดว่า "ช่างเถิด เราก็จักเรียนศิลปะ" แล้วก็เข้าไปหาพ่อตา เรียนศิลปะอันเป็นความรู้ของพ่อตานั้น แสดงศิลปะ ในบ้านนิคมเป็นต้นอยู่ มาถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ให้ป่าวร้องว่า "ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ บุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน จักแสดงศิลปะแก่ชาวพระนคร."

               อุคคเสนแสดงศิลปะ               
               ชาวพระนครให้ผูกเตียงซ้อนๆ กันเป็นต้นแล้ว ประชุมกันในวันที่ ๗.
               ฝ่ายอุคคเสนนั้นได้ขึ้นไปสู่ไม้แป้น (สูง) ๖๐ ศอก ยืนอยู่บนปลายไม้แป้นนั้น.
               ในวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุคคเสนนั้น เข้าไปในข่ายคือพระญาณของพระองค์ จึงทรงใคร่ครวญอยู่ว่า "เหตุอะไรหนอ? จักมี" ได้ทราบว่า "พรุ่งนี้ บุตรเศรษฐีจักยืนบนปลายไม้แป้น ด้วยหวังว่า ‘จักแสดงศิลปะ’ มหาชนจักประชุมกันเพื่อดูเขา, เราจักแสดงคาถาประกอบด้วยบท ๔ บทในสมาคมนั้น การบรรลุธรรมจักมีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ เพราะฟังธรรมนั้น แม้อุคคเสนก็จักตั้งอยู่ในพระอรหัต."
               ในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงกำหนดเวลาแล้ว มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต. ฝ่ายอุคคเสน เมื่อพระศาสดายังไม่ทันเสด็จเข้าไปภายในพระนครนั่นแล จึงให้สัญญาด้วยนิ้วมือแก่มหาชน เพื่อต้องการให้เอิกเกริก ยืนบนปลายไม้แป้นหกคะเมนในอากาศนั่นเองสิ้น ๗ ครั้ง ลงมาแล้วได้ยืนบนปลายไม้แป้นอีก.

               อุคคเสนแสดงศิลปะแก่พระมหาโมคคัลลานะ               
               ขณะนั้น พระศาสดากำลังเสด็จไปสู่พระนคร ทรงกระทำโดยอาการที่บริษัทไม่แลดูเขา ให้ดูเฉพาะพระองค์เท่านั้น.
               อุคคเสนแลดูบริษัทแล้ว ถึงความเสียใจว่า "บริษัทจะไม่แลดูเรา" จึงคิดว่า "ศิลปะนี้เราพึ่งแสดง (ประจำ) ปี ก็เมื่อพระศาสดาเสด็จเข้าไปยังพระนคร บริษัทไม่แลดูเรา แลดูแต่พระศาสดาเท่านั้น การแสดงศิลปะของเราเปล่า (ประโยชน์) แล้วหนอ."
               พระศาสดาทรงทราบความคิดของเขา จึงตรัสเรียกพระมหาโมคคัลลานะมาแล้ว ตรัสว่า "โมคคัลลานะ เธอจงไปพูดกะบุตรเศรษฐีว่า ‘นัยว่า ท่าน๑- จงแสดงศิลปะ.’"
____________________________
๑- คำว่า ‘ท่าน’ ในที่นี้ เป็นปฐมบุรุษ.

               พระเถระไปยืนอยู่ ณ ภายใต้ไม้แป้นนั่นแล เรียกบุตรเศรษฐีมาแล้ว กล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   "เชิญเถิด อุคคเสน บุตรคนฟ้อน ผู้มีกำลังมาก
                         เชิญท่านจงดู, เชิญท่านทำความยินดีแก่บริษัทเถิด,
                         เชิญท่านทำให้มหาชนร่าเริงเถิด."

               เขาได้ยินถ้อยคำของพระเถระแล้ว เป็นผู้มีใจยินดี หวังว่า "พระศาสดามีพระประสงค์จะดูศิลปะของเรา" จึงยืนบนปลายไม้แป้นแล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   "เชิญเถิด ท่านโมคคัลลานะ ผู้มีปัญญามาก
                         มีฤทธิ์มาก เชิญท่านจงดู กระผมจะทำความยินดี
                         แก่บริษัท จะยังมหาชนให้ร่าเริง."

               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ก็กระโดดจากปลายไม้แป้น ขึ้นสู่อากาศ หกคะเมน ๑๔ ครั้งในอากาศแล้ว ลงมายืนอยู่บนปลายไม้แป้น (ตามเดิม).
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า "อุคคเสน ธรรมดาบัณฑิตต้องละความอาลัยรักใคร่ในขันธ์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันเสียแล้ว พ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีชาติเป็นต้น จึงควร"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
                         ๖.                 มุญฺจ ปุเร มุญฺจ ปจฺฉโต
                                        มชฺเฌ มุญฺจ ภวสฺส ปารคู
                                        สพฺพตฺถ วิมุตฺตมานโส
                                        น ปุน ชาติชรํ อุเปหิสิ.
                         ท่านจงเปลื้อง (อาลัย) ในก่อนเสีย จงเปลื้อง (อาลัย)
                         ข้างหลังเสีย จงเปลื้อง (อาลัย) ในท่ามกลางเสีย จึง
                         เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวง
                         จะไม่เข้าถึงชาติและชราอีก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า มุญฺจ ปุเร ความว่า จงเปลื้องอาลัย คือความยินดี หมกมุ่น ปรารถนา ขลุกขลุ่ย ความถือ ลูบคลำ ความอยาก ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอดีตเสีย.
               บทว่า ปจฺฉโต ความว่า จงเปลื้องอาลัยเป็นต้น ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอนาคตเสีย.
               บทว่า มชฺเฌ ความว่า จงเปลื้องอาลัยเหล่านั้น ในขันธ์ทั้งหลายแม้ที่เป็นปัจจุบันเสีย.
               สองบทว่า ภวสฺส ปารคู ความว่า เมื่อปฏิบัติได้อย่างนั้น จักเป็นผู้ถึงฝั่ง คือไปแล้วสู่ฝั่งแห่งภพแม้ทั้ง ๓ อย่างได้ ด้วยอำนาจแห่งอันกำหนดรู้ ละ เจริญ และทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง มีใจพ้นแล้วในสังขตธรรมทั้งปวง ต่างด้วยขันธ์ ธาตุ อายตนะเป็นต้นอยู่ ต่อไปไม่ต้องเข้าถึงชาติ ชราและมรณะ.
               ในกาลจบเทศนา การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่สัตว์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ แล้ว.

               อุคคเสนทูลขอบรรพชาอุปสมบท               
               ฝ่ายบุตรเศรษฐีกำลังยืนอยู่บนปลายไม้แป้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาแล้ว ลงจากไม้แป้นมาสู่ที่ใกล้พระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาตรัสกะนายอุคคเสนนั้นว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด." อุคคเสนนั้นได้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบริขาร ๘ ประหนึ่งพระเถระมีพรรษาตั้ง ๖๐ ในขณะนั้นนั่นเอง.
               ต่อมา พวกภิกษุถามท่านว่า "คุณอุคคเสน เมื่อคุณลงจากปลายไม้แป้น (สูง) ตั้ง ๖๐ ศอก ขึ้นชื่อว่าความกลัว ไม่ได้มีหรือ?" เมื่อท่านตอบว่า "คุณ ความกลัวย่อมไม่มีแก่ผมเลย" จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระอุคคเสนพูดอยู่ว่า ‘ผมไม่กลัว’ เธอพูดไม่จริง ย่อมอวดคุณวิเศษ"
               พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุผู้มีสังโยชน์อันตัดได้แล้ว เช่นกับอุคคเสนผู้บุตรของเรา หากลัว หาพรั่นพรึงไม่"
               ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ในพราหมณวรรคว่า :-
                                   "เรากล่าวผู้ที่ตัดสังโยชน์ทั้งหมดได้ ไม่สะดุ้ง
                         ผู้ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ไม่ประกอบด้วยโยคะกิเลส
                         แล้วว่า เป็นพราหมณ์."

               ในกาลจบเทศนา การบรรลุธรรมพิเศษได้มีแล้วแก่ชนเป็นอันมาก.
               รุ่งขึ้นวันหนึ่ง พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย เหตุคือการอาศัยลูกสาวนักฟ้อน เที่ยวไปกับด้วยนักฟ้อนของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตอย่างนี้ เป็นอย่างไรหนอแล? เหตุแห่งอุปนิสัยพระอรหัตเป็นอย่างไร?"

               พระศาสดาตรัสบอกอุปนิสัยของพระอุคคเสน               
               พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไร?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้" ดังนี้แล้ว
               ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เหตุแม้ทั้งสองนั่น อันอุคคเสนนี้ผู้เดียวทำไว้แล้ว"
               เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงทรงชักอดีตนิทานมา (ตรัส) ว่า :-
               ดังได้สดับมา ในอดีตกาล เมื่อสุพรรณเจดีย์สำหรับพระกัสสปทศพล อันเขากระทำอยู่ พวกกุลบุตรชาวพระนครพาราณสี บรรทุกของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากในยานทั้งหลาย กำลังไปสู่เจดีย์สถาน ด้วยตั้งใจว่า "พวกเราจักทำหัตถกรรม" พบพระเถระองค์หนึ่งกำลังเข้าไปเพื่อบิณฑบาตในระหว่างทางแล้ว.
               ลำดับนั้น นางกุลธิดาคนหนึ่ง แลเห็นพระเถระแล้ว จึงกล่าวกะสามีว่า "นาย พระผู้เป็นเจ้าของเราเข้ามาอยู่เพื่อบิณฑบาต อนึ่ง ของเคี้ยวของบริโภคของเราในยาน มีเป็นอันมาก, นายจงนำบาตรของท่านมา เราทั้งสองจักถวายภิกษา."
               สามีนำบาตรมาแล้ว ภรรยายังบาตรนั้นให้เต็ม ด้วยของควรเคี้ยวของควรบริโภคแล้ว ให้สามีวางลงในมือของพระเถระ แม้ทั้งสองคนทำความปรารถนาว่า "ท่านเจ้าข้า ดิฉันทั้งสองคนพึงมีส่วนแห่งธรรมอันท่านเห็นแล้วนั่นเทียว."
               พระเถระแม้นั้นเป็นพระขีณาสพ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเล็งดู ทราบภาวะ คืออันจะสำเร็จความปรารถนาของเขาทั้งสองนั้นแล้ว ได้ทำการยิ้ม.
               หญิงนั้นเห็นอาการนั้นเข้า จึงพูดกะสามีว่า "นาย พระคุณเจ้าของเราย่อมทำอาการยิ้ม ท่านจักเป็นเด็กนักฟ้อน." ฝ่ายสามีของนางตอบว่า "นางผู้เจริญ ก็จักเป็นอย่างนั้น" ดังนี้แล้ว หลีกไป. นี้เป็นบุรพกรรมของเขาทั้งสองนั้น.
               สามีภรรยานั้นดำรงอยู่ในอัตภาพนั้นชั่วอายุแล้ว ก็เกิดในเทวโลก เคลื่อนจากที่นั้นแล้ว หญิงนั้นเกิดในเรือนของคนนักฟ้อน ชายเกิดในเรือนของเศรษฐี.
               พระอุคคเสนนั้น เพราะความที่ให้คำตอบแก่ภรรยานั้นว่า "จักเป็นอย่างนั้น นางผู้เจริญ" จึงต้องเที่ยวไปกับพวกนักฟ้อน อาศัยบิณฑบาตที่ถวายแล้วแก่พระเถระผู้ขีณาสพ จึงบรรลุพระอรหัตแล้ว.
               ฝ่ายธิดาของนักฟ้อนนั้น คิดว่า "อันใดเป็นคติของสามีของเรา อันนั้นเองก็เป็นคติแม้ของเรา" ดังนี้แล้ว บรรพชาในสำนักของภิกษุณีทั้งหลายแล้ว ดำรงอยู่ในพระอรหัต ดังนี้แล.

               เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1162&Z=1243
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :