ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔

หน้าต่างที่ ๗ / ๑๒.

               ๗. เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต [๒๔๖]               
               ข้อความเบื้องต้น               
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง
               ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "วิตกฺกมถิตสฺส" เป็นต้น.

               ภิกษุหนุ่มรักใคร่หญิงรุ่นสาว               
               ดังได้สดับมา ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจับสลากของตนในโรงสลาก ถือเอาข้าวต้มตามสลากไปสู่โรงฉัน ดื่มอยู่. ภิกษุนั้นไม่ได้น้ำในโรงฉันนั้น ได้ไปยืนยังเรือนหลังหนึ่ง เพื่อต้องการน้ำ หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งในเรือนนั้น พอเห็นภิกษุนั้น ก็เกิดความสิเนหา กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ เมื่อมีความต้องการด้วยน้ำดื่ม ท่านพึงมาในเรือนนี้แหละ แม้อีก."
               ตั้งแต่นั้น ภิกษุนั้นไม่ได้น้ำดื่มในกาลใด ก็ไปเรือนนั้นนั่นแล ในกาลนั้น.
               ฝ่ายหญิงนั้นรับบาตรของเธอแล้ว ถวายน้ำดื่ม. เมื่อกาลล่วงไปด้วยอาการอย่างนั้น รุ่งขึ้นวันหนึ่ง นางถวายแม้ข้าวต้มแล้วนิมนต์ให้นั่งในเรือนนั้นแล ได้ถวายข้าวสวยแล้ว. นางนั่ง ณ ที่ใกล้ภิกษุนั้นแล้ว เอ่ยถ้อยคำขึ้นว่า "ท่านผู้เจริญ ในเรือนนี้ อะไรๆ ชื่อว่า ย่อมไม่มี หามีไม่, ดิฉันยังไม่ได้แต่คนจัดการเท่านั้น."
               ภิกษุนั้นสดับถ้อยคำของหญิงนั้นแล้ว โดย ๒-๓ วันเท่านั้นก็กระสันแล้ว.

               ภิกษุหนุ่มถูกนำตัวไปเฝ้าพระศาสดา               
               ต่อมาวันหนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะพบภิกษุนั้น จึงถามว่า "ผู้มีอายุ เหตุไร? ท่านจึงเป็นผู้ผอมเหลืองหนักขึ้น" เมื่อภิกษุนั้นตอบว่า "ผู้มีอายุ ผมเป็นผู้กระสัน" จึงนำไปสู่สำนักพระอาจารย์และอุปัชฌายะ. อาจารย์และอุปัชฌายะแม้เหล่านั้น ก็นำภิกษุนั้นไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลความนั้นแล้ว.

               พระศาสดาทรงแสดงบุรพกรรมของภิกษุหนุ่มนั้น               
               พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุ นัยว่า เธอเป็นผู้กระสันจริงหรือ?"
               เมื่อภิกษุนั้นทูลว่า "จริง"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุ เหตุไร? เธอบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ปรารภความเพียรเช่นดังเรา จึงไม่ให้เขาเรียกตนว่า ‘พระโสดาบัน’ หรือ ‘พระสกทาคามี’ กลับให้เขาเรียกว่า ‘เป็นผู้กระสัน’ ได้ เธอทำกรรมหนักเสียแล้ว"
               จึงทรงซักถามว่า "เพราะเหตุไร? เธอจึงเป็นผู้กระสัน"
               เมื่อภิกษุนั้นทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หญิงคนหนึ่งพูดกะข้าพระองค์อย่างนี้"
               จึงตรัสว่า "ภิกษุ กิริยาของนางนั่น ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะในกาลก่อน นางละบัณฑิตผู้เลิศในชมพูทวีปทั้งสิ้นแล้ว ยังความสิเนหาในบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งตนเห็นครู่เดียวนั้นให้เกิดขึ้น ทำบัณฑิตผู้เลิศนั้นให้ถึงความสิ้นชีวิต"
               อันภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงประกาศเรื่องนั้น
               จึงทรงทำให้แจ้งซึ่งความที่จูฬธนุคคหบัณฑิตเรียนศิลปะในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ในกรุงตักกสิลา พาธิดาผู้อันอาจารย์นั้นยินดีให้แล้ว ไปสู่กรุงพาราณสี เมื่อตนฆ่าโจรตาย ๔๙ คน ด้วยลูกศร ๔๙ ลูก ที่ปากดงแห่งหนึ่ง เมื่อลูกศรหมดแล้ว จึงจับโจรผู้หัวหน้าฟาดให้ล้มลงที่พื้นดิน. กล่าวว่า "นางผู้เจริญ หล่อนจงนำดาบมา"
               นาง (กลับ) ทำความสิเนหาในโจรซึ่งตนเห็นในขณะนั้นแล้ว วางด้ามดาบไว้ในมือโจร ให้โจรฆ่าแล้วในกาลเป็นจูฬธนุคคหบัณฑิต ในอดีตกาล และภาวะคือโจรพาหญิงนั้นไป พลางคิดว่า "หญิงนี้เห็นชายอื่นแล้ว จักให้เขาฆ่าเราบ้างเช่นเดียวกับสามีของตน, เราจักต้องการอะไรด้วยหญิงนี้" เห็นแม่น้ำสายหนึ่ง จึงพักนางไว้ที่ฝั่งนี้ ถือเอาห่อภัณฑะของนางไป สั่งว่า "หล่อนจงรออยู่ ณ ที่นี้แหละ จนกว่าฉันนำห่อภัณฑะข้ามไป" ละนางไว้ ณ ที่นั้นนั่นเอง (หนี) ไปเสีย
               แล้วตรัสจูฬธนุคคหชาดก๑- นี้ในปัญจกนิบาต ให้พิสดารว่า :-
                                   "พราหมณ์ ท่านถือเอาภัณฑะทั้งหมด ข้ามฝั่ง
                         ได้แล้ว, จงรีบกลับมารับฉัน ให้ข้ามไปในบัดนี้โดยเร็ว
                         บ้างนะ ผู้เจริญ."
                                   "แม่นางงามยอมแลกฉัน ผู้ไม่ใช่ผัว ไม่ได้เชย
                         ชิด ด้วยผัวผู้เชยชิดมานาน, แม่นางงามพึงแลกชายอื่น
                         แม้ด้วยฉัน, ฉันจักไปจากที่นี้ให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้."
                                   "ใครนี้ทำการหัวเราะอยู่ที่กอตะไคร้น้ำ, ในที่นี้
                         การฟ้อนก็ดี การขับก็ดี การประโคมก็ดี ที่บุคคลจัดตั้ง
                         ขึ้น มิได้มี, แม่นางงามผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย ทำไมเล่า?
                         แม่จึงซิกซี้ในกาลเป็นที่ร้องไห้.๒-"
                                   "สุนัขจิ้งจอก ชาติชัมพุกะ ผู้โง่เขลา ทรามปัญญา
                         เจ้ามีปัญญาน้อย, เจ้าเสื่อมจากปลาและชิ้น (เนื้อ) แล้ว
                         ก็ซบเซาอยู่ ดุจสัตว์กำพร้า."
                                   "โทษของคนเหล่าอื่น เห็นได้ง่าย, ส่วนโทษของ
                         ตน เห็นได้ยาก, หล่อนนั่นเอง เสื่อมทั้งผัวทั้งชู้ ซบเซา
                         อยู่ แม้ (ยิ่ง) กว่าเรา."
                                   "พระยาเนื้อ ชาติชัมพุกะ เรื่องนั่นเป็นเหมือนเจ้า
                         กล่าว. ฉันนั้นไปจากที่นี้แล้ว จักเป็นผู้ไปตามอำนาจของ
                         ภัสดาแน่แท้."
                                   "ผู้ใดพึงนำภาชนะดินไปได้, แม้ภาชนะสำริด
                         ผู้นั้นก็พึงนำไปได้ หล่อนทำชั่วจนช่ำ ก็จักทำชั่วอย่าง
                         นั้นแม้อีก."

               แล้วตรัสว่า "ในกาลนั้น จูฬธนุคคหบัณฑิตได้เป็นเธอ, หญิงนั้นได้เป็นหญิงรุ่นสาวนี้ในบัดนี้, ท้าวสักกเทวราชผู้มาโดยรูปสุนัขจิ้งจอก ทำการข่มขี่นางนั้น เป็นเรานี่แหละ"
               แล้วทรงโอวาทภิกษุนั้นว่า "หญิงนั้นปลงบัณฑิตผู้เลิศในชมพูทวีปทั้งสิ้น จากชีวิต เพราะความสิเนหาในชายคนหนึ่งซึ่งตนเห็นครู่เดียวนั้นอย่างนี้ ภิกษุเธอจงตัดตัณหาของเธอ อันปรารภหญิงนั้นเกิดขึ้นเสีย" ดังนี้แล้ว
____________________________
๑- ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๘๑๘. อรรถกถา ขุ. ชา. เล่ม ๒๗/ข้อ ๘๑๘.
๒- โดยพยัญชนะ แปลว่า ในกาลใช่กาลเป็นที่หัวเราะ.

               เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป จึงทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
                         ๗.                 วิตกฺกมถิตสฺส ชนฺตุโน
                                        ติพฺพราคสฺส สุภานุปสฺสิโน
                                        ภิยฺโย ตณฺหา ปวฑฺฒติ
                                        เอส โข ทฬฺหํ กโรติ พนฺธนํ.
                                        วิตกฺกูปสเม จ โย รโต
                                        อสุภํ ภาวยตี สทา สโต
                                        เอส โข วฺยนฺติกาหติ
                                        เอสจฺเฉจฺฉติ มารพนฺธนํ.
                         ตัณหา ย่อมเจริญยิ่งแก่ชนผู้ถูกวิตกย่ำยี มีราคะจัด
                         เห็นอารมณ์ว่างาม, บุคคลนั่นแล ย่อมทำเครื่องผูก
                         ให้มั่น. ส่วนภิกษุใดยินดีในธรรมเป็นที่เข้าไประงับ
                         วิตก เจริญอสุภฌานอยู่ มีสติทุกเมื่อ, ภิกษุนั่นแลจัก
                         ทำตัณหาให้สูญสิ้นได้ ภิกษุนั่นจะตัดเครื่องผูกแห่ง
                         มารได้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิตกฺกมถิตสฺส ได้แก่ ผู้ถูกวิตก ๓ มีกามวิตกเป็นต้นย่ำยียิ่ง.
               บทว่า ติพฺพราคสฺส คือ ผู้มีราคะหนาแน่น.
               บทว่า สุภานุปสฺสิโน ความว่า ชื่อว่าผู้ตามเห็นอารมณ์ว่า "งาม" เพราะความเป็นผู้มีใจอันตนปล่อยไป ในอารมณ์อันน่าปรารถนาทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการยึดถือโดยสุภนิมิตเป็นต้น.
               บทว่า ตณฺหา เป็นต้น ความว่า บรรดาฌานเป็นต้น แม้ฌานหนึ่งย่อมไม่เจริญแก่บุคคลผู้เห็นปานนั้น. โดยที่แท้ ตัณหาเกิดทางทวาร ๖ ย่อมเจริญยิ่ง.
               บทว่า เอส โข ความว่า บุคคลนั่นแล ย่อมทำเครื่องผูกคือตัณหา ชื่อว่าให้มั่น.
               บทว่า วิตกฺกูปสเม ความว่า บรรดาอสุภะ ๑๐ ในปฐมฌาน กล่าวคือธรรมเป็นที่ระงับมิจฉาวิตกทั้งหลาย.
               สองบทว่า สทา สโต ความว่า ภิกษุใด เป็นผู้ยินดียิ่งในปฐมฌานนี้ ชื่อว่ามีสติ เพราะความเป็นผู้มีสติตั้งมั่นเป็นนิตย์ เจริญอสุภฌานนั้นอยู่.
               บทว่า พฺยนฺติกาหติ๑- ความว่า ภิกษุนั่น จักทำตัณหาอันจะให้เกิดในภพ ๓ ให้ไปปราศได้.
               บทว่า มารพนฺธนํ ความว่า ภิกษุนั่น จักตัดแม้เครื่องผูกแห่งมาร กล่าวคือวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ เสียได้.
               ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บุคคลผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
____________________________
๑- บาลีเป็น วฺยนฺติกาหติ.

               เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ตัณหาวรรคที่ ๒๔
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 33อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 34อ่านอรรถกถา 25 / 35อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1162&Z=1243
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=25&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=25&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :