ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               สุต ศัพท์ในบทว่า สุตํ นี้ ทั้งมีอุปสรรคและไม่มีอุปสรรค มีประเภทแห่งอรรถเป็นอันมาก เช่น คมนะ วิสสุตะ กิลินนะ อุปจิตะ อนุโยคะ โสตวิญเญยยะ โสตทวารานุสารวิญญาตะ เป็นต้น.
               จริงอยู่ อุปสรรคย่อมทำกิริยาให้พิเศษขึ้นก็จริง ถึงกระนั้น แม้เมื่อมีอุปสรรค สุต ศัพท์นั่นแหละก็บ่งถึงอรรถนั้น เพราะส่องถึงอรรถ เพราะฉะนั้น ในการขยายความของ สุต ศัพท์ที่ไม่มีอุปสรรค จะถือเอาสุตมีอุปสรรค ก็ไม่ผิด.
               ในคำว่า สุตํ นั้น สุต ศัพท์มีอรรถว่าไป ในประโยคมีอาทิว่า เสนาย ปสุโต ไปด้วยกองทัพ. สุต ศัพท์มีอรรถว่า วิสสุตธรรม ในประโยคมีอาทิว่า สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว เห็นอยู่. สุต ศัพท์มีอรรถว่า กิเลเสน กิลินฺนา กิลินฺนสฺส ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุณีผู้กำหนัดด้วยราคะ ต่อบุรุษผู้กำหนัดด้วยราคะ. สุตศัพท์มีอรรถว่า สั่งสมในประโยคมีอาทิว่า ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ ท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อย. สุตศัพท์มีอรรถว่า ฌานานุยุตฺตา ในประโยคมีอาทิว่า เย ฌานปสุตา ธีรา ชนเหล่าใดเป็นนักปราชญ์ประกอบในฌาน. สุตศัพท์มีอรรถว่า โสตวิญเญยยะ ในประโยคมีอาทิว่า ทิฏฺฐํ สุตํ มุตํ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ. สุตศัพท์ที่มีอรรถว่าทรงความรู้ตามกระแสแห่งโสตทวาร ในประโยคมีอาทิว่า สุตธโร สุตสนฺนิจโย ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมสุตะ. แต่ในที่นี้ สุตศัพท์นั้นมีอรรถว่า อุปธาริตํ อันท่านทรงไว้ หรือ อุปธารณํ การทรงไว้ตามกระแสแห่งโสตทวาร.
               จริงอยู่ เมื่อเมศัพท์มีมยาศัพท์เป็นอรรถ ความว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือทรงไว้ตามกระแสแห่งโสตทวาร ดังนี้ จึงจะควร. เมื่อเมศัพท์ มีมมศัพท์เป็นอรรถ ความว่า การฟังของข้าพเจ้าอย่างนี้ คือ การทรงจำตามกระแสแห่งโสตทวารดังนี้ จึงจะถูก.
               บรรดาบททั้ง ๓ ตามที่กล่าวมานั้น เพราะเหตุที่เอวํศัพท์ใช้เคียงกับสุตศัพท์ พึงส่องถึงกิริยา คือการฟัง ฉะนั้น บทว่า เอวํ๑- เป็นคำแสดงไขถึงกิจแห่งวิญญาณที่เป็นไปทางโสตทวาร มีโสตวิญญาณและสัมปฏิจฉนะเป็นต้น และแห่งวิญญาณที่เป็นไปทางมโนทวาร อันวิญญาณทางโสตทวารนั้นนำมา.
____________________________
๑- สิงหลว่า- ฉะนั้น บทว่า เอวํ เป็นคำแสดงถึงกิจแห่งวิญญาณทางมโนทวารอันเกิดขึ้นแล้ว ในลำดับแห่งวิญญาณทางโสตทวาร มีโสตวิญญาณและสัมปฏิจฉนะเป็นต้น
..................................................

               บทว่า เม เป็นบทแสดงไขถึงบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวิญญาณดังกล่าวแล้ว. จริงอยู่ พากย์คือคำพูดที่เป็นประโยคทุกพากย์ประกอบด้วยอรรถแห่ง เอวํ อักษรนั่นเอง เพราะพากย์เหล่านั้น มีอวธารณะเป็นผล.
               บทว่า สุตํ เป็นบทแสดงไขถึงการถือเอา ไม่ยิ่งไม่หย่อนและไม่วิปริต จากการปฏิเสธการไม่ได้ยิน. เหมือนอย่างว่า การฟังควรจะกล่าวว่า สุตเมว ฉันใด การฟังนั้นก็ฉันนั้น เป็นการฟังถูกต้อง คือเป็นการถือเอาไม่หย่อน ไม่ยิ่งและไม่วิปริต.
               อีกอย่างหนึ่ง เสียงที่บ่งถึงอรรถโดยส่องถึงอรรถในลำดับแห่งเสียง เพราะเหตุนั้น ในฝ่ายนี้ เพราะเหตุที่สุตศัพท์นี้มีอรรถที่ท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า อสุตํ น โหติ การไม่ได้ยิน ไม่มี ฉะนั้น
               บทว่า สุตํ จึงเป็นบทแสดงไขถึงการถือเอาไม่หย่อน ไม่ยิ่ง และไม่วิปริต โดยปฏิเสธภาวะที่ไม่ได้ยิน.
               พระเถระกล่าวอธิบายคำนี้ไว้ดังนี้ เราได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ เราไม่ได้เห็น เราไม่ทำให้แจ้งด้วยสยัมภูญาณ หรือเราไม่ได้มาโดยประการอื่น. อีกอย่างหนึ่ง เราได้ฟังมาแล้วทีเดียว และการฟังนั้นแลเป็นการฟังชอบแท้. อีกอย่างหนึ่ง ในเอวํศัพท์ซึ่งมีอวธารณะเป็นอรรถ ก็มีอรรถโยชนา การประกอบความดังว่ามานี้. สุตศัพท์ที่เพ่งถึงเอวํศัพท์นั้น มีอรรถแน่นอน เพราะฉะนั้น สุตศัพท์ซึ่งบ่งถึงเอวํศัพท์นั้น พึงทราบว่า ปฏิเสธภาวะที่ไม่ได้ยิน และว่าเป็นการแสดงไขถึงการถือเอาไม่หย่อน ไม่ยิ่ง และไม่วิปริต ดังนั้น พึงเห็นว่าท่านกระทำอรรถโยชนาแห่งศัพท์ทั้ง ๓ แม้ด้วยอำนาจแห่งการฟัง เหตุแห่งการฟัง และความแปลกกันแห่งการฟัง.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นการประกาศภาวะแห่งวิญญาณวิถีที่เป็นไป ตามกระแสแห่งโสตวิญญาณนั้น เป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ โดยการยึดเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ เพราะทำอธิบายว่า เอวํศัพท์ มีอาการเป็นอรรถ. บทว่า เม เป็นบทประกาศอรรถ. บทว่า สุตํ เป็นบทประกาศธรรม เพราะวิญญาณวิถีตามที่กล่าวแล้วมีปริยัติธรรมเป็นอารมณ์. จริงอยู่ ในข้อนี้มีความสังเขปดังต่อไปนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้กระทำกิจอย่างอื่น แต่กระทำกิจนี้ ธรรมนี้ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วด้วยวิญญาณวิถีอันเป็นไปในอารมณ์โดยประการต่างๆ อันเป็นตัวเหตุ.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นการประกาศอรรถที่พึงแสดงไข เพราะอธิบายว่า เอวํ ศัพท์มีนิทัสสนะเป็นอรรถ เพราะจะต้องแสดงไขอรรถที่ควรแสดงไข. เพราะฉะนั้น พระสูตรแม้ทั้งสิ้นพึงทราบว่ายึดเอาแล้วด้วยเอวํศัพท์. บทว่า เม เป็นการประกาศบุคคล. บทว่า สุตํ เป็นการประกาศกิจของบุคคล.
               จริงอยู่ กิริยาที่ฟัง เมื่อได้ด้วยสุตศัพท์ย่อมเนื่องด้วยโสตวิญญาณจิต และในข้อนั้น ย่อมได้การบัญญัติถึงบุคคล แต่ในสิ่งที่เนื่องกับธรรมอันเว้นจากบัญญัติถึงบุคคล ย่อมไม่ได้กิริยาคือการฟัง. สุตศัพท์นั้น มีเนื้อความโดยย่อดังนี้ว่า ข้าพเจ้าจักแสดงไขพระสูตรใด พระสูตรนั้นข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ เป็นบทแสดงอาการต่างๆ ของจิตสันดานที่ยึดเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ โดยความเป็นไปแห่งอารมณ์ต่างๆ เพราะอธิบายว่า เอวํศัพท์มีอาการเป็นอรรถนั้นเอง. จริงอยู่ การบัญญัติอาการว่า เอวํ นี้ เพราะอาศัยอาการแห่งความเป็นไปนั้นๆ ของธรรมทั้งหลายแล้วจึงบัญญัติขึ้นเป็นสภาวะ. บทว่า เม เป็นการแสดงถึงกัตตุผู้ทำ. บทว่า สุตํ เป็นการแสดงถึงอารมณ์.
               จริงอยู่ ธรรมที่ควรฟังเป็นที่ตั้งแห่งความเป็นไปด้วยสามารถแห่งกิริยา คือการฟังของบุคคลผู้กระทำกิริยาคือการฟัง. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันแสดงความตกลงแห่งการรับอารมณ์ของผู้ทำผู้พรั่งพร้อมด้วยกิริยา คือการฟังนั้น ด้วยจิตสันดานอันเป็นไปโดยประการต่างๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอวํ แสดงกิจของบุคคล. จริงอยู่ ด้วยเอวํศัพท์มีการประกาศนิทัสสนะหรืออวธารณะ อันมีอาการยึดเอาธรรมที่ได้ฟังแล้วเป็นสภาวะ เป็นอันแสดงไขถึงกิจของบุคคลโดยภาวะแห่งการยึดถือบัญญัติว่าบุคคล และการขวนขวายในธรรมของการทรงอาการนั้น เป็นต้นแล.
               บทว่า สุตํ แสดงไขกิจของวิญญาณ. จริงอยู่ กิริยาคือการฟัง แม้ของผู้มีวาทะว่าบุคคล ไม่มุ่งถึงวิญญาณก็หามิได้. บทว่า เม เป็นการแสดงถึงบุคคลผู้ประกอบกิจทั้งสอง. จริงอยู่ ความเป็นไปแห่งศัพท์ว่า เม เป็นอารมณ์พิเศษแห่งสัตว์โดยส่วนเดียวเท่านั้น และกิจของวิญญาณก็พึงประชุมลงในที่นั้นนั่นแล. ส่วนความย่อในข้อนี้มีดังนี้ ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว โดยโวหารแห่งสวนกิจที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยโสตวิญญาณกิจได้แล้วด้วยอำนาจวิญญาณ.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ และ เม ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ บัญญัติในสิ่งที่ไม่มีด้วยอำนาจสัจฉิกัตถปรมัตถ์. ก็เพราะประโยชน์ทั้งปวงที่จะพึงบรรลุด้วยศรัทธา จำต้องปฏิบัติโดยมุขแห่งบัญญัติเท่านั้น ชื่อว่าเป็นความผิดพลาดแห่งบัญญัติทั้งปวง และในบัญญัติ ๖ มีวิชชมานบัญญัติเป็นต้น เพราะฉะนั้น อรรถที่ไม่เป็นจริงอันใดเหมือนกลลวง มีมายาและพยับแดดเป็นต้น และอรรถมิใช่อุดมเหมือนจะพึงถือเอาด้วยอาการที่ฟังตามกันมาเป็นต้น หามีไม่ อรรถนั้นมีสภาวะเป็นปรมัตถ์ มีรูปารมณ์ สัททารมณ์ และรสารมณ์เป็นต้น และมีการสลาย การเสวยอารมณ์เป็นต้น ย่อมมีโดยสัจฉิกัตถปรมัตถ์.
               ก็อรรถคืออาการเป็นต้นที่กล่าวว่า เอวํ และ เม มีสภาวะมิใช่ปรมัตถ์ เมื่อไม่เข้ากับสัจฉิกัตถปรมัตถ์ ชื่อว่าอวิชชมานบัญญัติ. เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท่านทั้งหลายได้นิทเทสว่า เอวํ หรือ เม จะมีอยู่โดยปรมัตถ์ได้อย่างไร. บทว่า สุตํ ได้แก่ วิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีอยู่ จริงอยู่ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้โดยโสตวิญญาณนั้น โดยปรมัตถ์ ชื่อว่าวิชชมานบัญญัติแล.
               อนึ่ง บทว่า เอวํ ชื่อว่าอุปาทายบัญญัติ โดยอาศัยธรรมที่มาปรากฏทางโสตทวาร แล้วยึดเอาอาการคือการทรงจำธรรมเหล่านั้นเป็นต้น. บทว่า เม ชื่อว่าอุปาทายบัญญัติ เพราะจำต้องกล่าวอาศัยขันธ์ที่นับเนื่องในสันตติอันพิเศษโดยความแปลกกันแห่งการกระทำเป็นต้น. บทว่า สุตํ ชื่อว่าอุปนิธานบัญญัติ เพราะจำกล่าวเข้าไปยึดเอาทิฏฐิเป็นต้น. บัญญัติว่าสุตะแม้เป็นไปในสัททายตนะที่เว้นจากสภาวะ มีรูปที่เห็นแล้วเป็นต้น ก็จำต้องกล่าวยึดเอารูปที่เห็นเป็นต้น เพราะไม่เพ่งรูปที่เห็นแล้ว อารมณ์ที่ทราบแล้ว และธรรมที่รู้แจ้งแล้ว ก็รู้แจ้งว่า สิ่งนั้นเราฟังแล้วเหมือนโวหารว่าที่ ๒ และที่ ๓ เป็นต้น ก็จำต้องกล่าวยึดเอาที่ ๑ เป็นต้น.
               ก็บทว่า สุตํ ในคำว่า อสุตํ น โหติ นี้มีอรรถที่ท่านกล่าวไว้เพียงเท่านี้แล.
               ก็ในคำเหล่านั้น ด้วยคำว่า เอวํ พระเถระแสดงถึงความไม่หลงลืม.
               จริงอยู่ ความแปลกกันโดยประการแห่งพระสูตรที่ตนรู้แจ้งแล้ว ท่านพระอานนท์ยึดเอาในคำว่า เอวํ นี้ ย่อมเป็นอันท่านพระอานนท์แสดงถึงความไม่หลงลืมด้วย เอวํ ศัพท์นั้น.
               จริงอยู่ ท่านผู้หลงลืมย่อมไม่สามารถเพื่อจะแทงตลอดโดยประการต่างๆ. ท่านแสดงประการต่างๆ และประการที่รู้ได้ยากด้วยอำนาจปัจจยาการว่า พระสูตร.
               ด้วยคำว่า สุตํ ท่านแสดงถึงความไม่หลงลืมเรื่องที่ได้ฟังมาแล้ว เพราะอาการแห่งเรื่องที่ได้ฟังมาแล้ว ท่านแสดงไว้ตามความเป็นจริง. ก็พระสูตรที่ผู้ใดฟังมาแล้วลืมเสีย ผู้นั้นย่อมปฏิญญาไม่ได้ว่า เราได้ฟังมาแล้วในกาลอื่น. ดังนั้น ความสำเร็จแห่งปัญญาในกาลยิ่งกว่านั้นย่อมมีด้วยความไม่หลงลืมของพระเถระ คือไม่มีความหลงลืม หรือด้วยปัญญานั้นเองอันเกิดแต่การสดับ ความสำเร็จแห่งสติย่อมมีด้วยความไม่หลงลืมเหมือนกัน. พึงทราบอธิบายในข้อนั้นว่า สติซึ่งมีปัญญาเป็นประธาน สามารถห้ามความอื่นโดยพยัญชนะ.
               จริงอยู่ อาการของพยัญชนะที่จะพึงรู้แจ้งแทงตลอด เป็นอาการไม่ลึกนัก การทรงจำสุตะตามที่ได้ฟังมา จึงเป็นกรณียกิจในข้อนั้น เพราะฉะนั้น สติจึงมีความขวนขวายยิ่งกว่า ส่วนปัญญาเป็นตัวคุณในความพยายามของสตินั้น เพราะอธิบายว่า เป็นตัวนำของปัญญา. พึงทราบความที่ปัญญามีสติเป็นตัวนำ สามารถแทงตลอดอรรถได้.
               จริงอยู่ อาการที่จะพึงแทงตลอดอรรถได้เป็นอาการลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีความพยายามยิ่ง ส่วนสติเป็นตัวคุณในความพยายามของปัญญานั้น เพราะอธิบายว่า เป็นตัวนำแห่งสติ. พึงทราบความสำเร็จแห่งความเป็นธรรมภัณฑาคาริก ด้วยความสามารถตามรักษาคลังธรรมอันสมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ เพราะประกอบด้วยความสามารถของสติและปัญญาทั้งสองนั้น.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านแสดงโยนิโสมนสิการด้วยคำว่า เอวํ ก็ความสำเร็จอันไม่วิปริตแห่งอรรถของอาการ นิทัสสนะ และอวธารณะ ที่กล่าวด้วยบทว่า เอวํ นั้น ส่องถึงการแทงตลอดมีประการต่างๆ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า เพราะมีธรรมเป็นอารมณ์.
               ความจริง การแทงตลอดโดยประการต่างๆ โดยอโยนิโสมนสิการ ย่อมมีไม่ได้. ท่านแสดงถึงความไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยคำว่า สุตํ. การฟังพระสูตรที่กล่าวไว้ที่จัดเป็นปกรณ์ด้วยอำนาจคำถามมีอาทิว่า ปฐมโพธิสูตร ท่านกล่าวไว้ในที่ไหน เว้นความตั้งมั่นเสียแล้ว ย่อมมีไม่ได้ เพราะจิตฟุ้งซ่าน
               จริงอย่างนั้น บุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน แม้เขาจะกล่าวด้วยสมบัติทุกอย่างก็พูดว่า เราไม่ได้ยิน ท่านจงพูดใหม่. ก็ด้วยการใส่ใจโดยแยบคายในข้อนี้ ย่อมยังอัตตสัมมาปณิธิและปุพเพกตปุญญตาให้สำเร็จ เพราะผู้ที่มิได้ตั้งตนไว้ชอบและมิได้ทำบุญไว้ในปางก่อนไม่มีโยนิโสมนสิการนั้น. เพราะความไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้สำเร็จการฟังพระสัทธรรมและการคบหาสัปบุรุษ เพราะผู้ที่ไม่ได้สดับและไม่คบหาสัปบุรุษไม่มีโยนิโสมนสิการนั้น. ด้วยว่า ผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่สามารถฟังได้และผู้ที่ไม่คบหาสัปบุรุษก็ไม่มีการได้ฟังแล.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านกล่าวว่า (นั้น) เป็นการแสดงไขจิตสันดานที่ถือเอาอรรถและพยัญชนะต่างๆ ด้วยความเป็นไปโดยประการต่างๆ. ก็เพราะเหตุที่จิตสันดานนั้น คืออาการอันเจริญอย่างนี้ เป็นเครื่องกระทำประโยชน์เกื้อกูลของผู้อื่นให้บริบูรณ์ทุกอย่าง ด้วยการหยั่งลงสู่ศาสนสมบัติทั้งสิ้น ด้วยการกำหนดประเภทอรรถและพยัญชนะแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ตั้งตนไว้ชอบ หรือผู้มิได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ฉะนั้น ด้วยอาการอันเจริญว่า เอวํ นี้ พระเถระแสดงจักรสมบัติ ๒ ข้อหลังของตน ด้วยการประกอบการฟังว่า สุตํ พระเถระแสดงจักรสมบัติ ๒ ข้อแรก.
               ความจริง ผู้อยู่ในประเทศอันไม่สมควร หรือผู้เว้นจากการคบสัปบุรุษ ย่อมไม่มีการฟัง. ดังนั้น ความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัยของพระเถระย่อมสำเร็จด้วยสำเร็จแห่งจักร ๒ ข้อหลัง. ผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบและผู้ได้บำเพ็ญบุญไว้ในปางก่อน ย่อมเป็นผู้มีอัธยาศัยบริสุทธิ์ เพราะกิเลสอันเป็นเหตุไม่บริสุทธิ์นั้นอยู่ห่างไกล.
               จริงอย่างนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร จิตที่ตั้งไว้ชอบ พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่านั้น
               และว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเป็นผู้ได้ทำบุญแล้วจงหมั่นประกอบความเพียร เธอจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยเร็วพลัน.
               ความสำเร็จแห่งการประกอบ เพราะความสำเร็จแห่งจักร ๒ ข้อแรก. ก็การประกอบอันบริสุทธิ์ ย่อมมีได้ด้วยการดำเนินตามทิฏฐานุคติของสาธุชน โดยการอยู่ในประเทศอันสมควร และโดยการคบหาสัปปุรุษ. ก็การสำเร็จด้วยการเป็นผู้เชี่ยวชาญในอธิคม ย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัยนั้น เพราะตนได้ชำระสะสางสังกิเลส คือตัณหาและทิฏฐิ ในกาลก่อนเรียบร้อยแล้ว การสำเร็จด้วยการเชี่ยวชาญในอาคม ย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์แห่งการประกอบ.
               จริงอยู่ บุคคลผู้มีกายประโยคและวจีประโยคอันบริสุทธิ์ดีแล้ว ชื่อว่ามีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เพราะไม่มีความเดือดร้อน ย่อมเป็นผู้ฉลาดในปริยัติ. ดังนั้น คำของผู้บริสุทธิ์ด้วยการประกอบและอัธยาศัย ผู้สมบูรณ์ด้วยอาคมและอธิคม จึงควรจะเป็นเบื้องต้นแห่งพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนอรุณขึ้นเป็นเบื้องต้นแห่งพระอาทิตย์ขึ้น และเหมือนโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์เมื่อจะตั้งนิทาน (คำเริ่มต้น) ในฐานะอันควร จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เอวมฺเม สุตํ.
               อีกนัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์แสดงสภาวะแห่งสมบัติ คือ อัตถปฏิสัมภิทาและปฏิภาณปฏิสัมภิทาของตน ด้วยคำอันแสดงถึงความรู้แจ้งด้วยประการต่างๆ โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อน ด้วยคำว่า เอวํ นี้. แสดงสภาวะคือสมบัติแห่งธัมมปฏิสัมภิทาและนิรุตติปฏิสัมภิทา โดยการเทียบเคียง เอวํ ศัพท์ หรือโดยคำที่แสดงถึงการแทงตลอดประเภทที่ควรฟัง ด้วยการเพ่งคำที่จะกล่าวถึง ด้วยคำว่า สุตํ นี้.
               ก็พระเถระ เมื่อจะกล่าวถึงคำที่แสดงโยนิโสมนสิการว่า เอวํ นี้ โดยนัยดังกล่าวแล้ว จึงแสดงว่า ธรรมเหล่านี้ เราเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ.
               จริงอยู่ ปริยัติธรรม เราเพ่งด้วยใจโดยนัยมีอาทิว่า ศีลตรัสไว้ในที่นี้ สมาธิตรัสไว้ในที่นี้ ปัญญาตรัสไว้ในที่นี้ อนุสนธิในที่นี้มีประมาณเท่านี้ กำหนดแทงตลอดด้วยดี ซึ่งรูปธรรมและอรูปธรรม ซึ่งตรัสไว้ในที่นั้นๆ โดยนัยมีอาทิว่า รูปมีดังนี้ รูปมีประมาณเท่านี้ ด้วยทิฏฐิอันประกอบด้วยการตรึกตามอาการที่ได้ฟังกันมา อันเป็นการทนต่อการเพ่งธรรม หรือกล่าวคือญาตปริญญาย่อมนำหิตสุขแก่ตนและคนเหล่าอื่น.
               พระเถระ เมื่อจะกล่าวคำอันแสดงถึงการประกอบในการฟังว่า สุตํ นี้ จึงแสดงว่าธรรมเป็นอันมากเราได้ฟังแล้ว ทรงจำไว้แล้วคล่องปากแล้ว.
               จริงอยู่ การฟัง การทรงจำและการสะสมพระปริยัติธรรม เนื่องด้วยการเงี่ยโสตสดับ. แม้ด้วยบททั้งสองนั้น พระเถระ เมื่อแสดงความบริบูรณ์แห่งอรรถและพยัญชนะ โดยความเป็นธรรมที่พระองค์ตรัสดีแล้ว ชื่อว่าให้เกิดความเอื้อเฟื้อในการฟัง.
               จริงอยู่ คนที่ไม่ได้ฟังธรรมที่สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะโดยเอื้อเฟื้อ ย่อมเป็นผู้เหินห่างจากประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น พึงให้เกิดความเอื้อเฟื้อก่อนแล้ว จึงสดับธรรมโดยเคารพ.
               ก็ด้วยคำทั้งสิ้นว่า เอวมฺเม สุตํ นี้ ท่านพระอานนท์เมื่อไม่ทรงจำธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วสำหรับตน ย่อมก้าวไปสู่ภูมิอสัปปุรุษ เมื่อปฏิญาณตนว่าเป็นสาวก ชื่อว่าก้าวลงสู่ภูมิสัปบุรุษ. อนึ่ง ชื่อว่าย่อมทำจิตให้ออกจากอสัทธรรม และทำจิตให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม.
               พระเถระ เมื่อจะแสดงว่าสูตรนี้เราฟังมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเอง ชื่อว่าย่อมปลดเปลื้องตน อ้างถึงพระศาสดา ยึดมั่นพระดำรัสของพระชินเจ้าให้แบบแผนธรรมประดิษฐานอยู่.
               อีกอย่าง เมื่อไม่ปฏิญาณว่าตนให้เกิดขึ้นเองด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ เมื่อจะเปิดเผยคำที่ฟังมาก่อน จึงคิดว่าคำนี้เราได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้แกล้วกล้าในเวสารัชชญาณ ๔ ผู้ทรงทศพลญาณ ผู้ดำรงอยู่ในฐานผู้องอาจ ผู้บันลือสีหนาท ผู้สูงสุดแห่งสรรพสัตว์ ผู้เป็นธรรมิศร ธรรมราชา ผู้เป็นอธิบดีในธรรม ผู้เป็นประทีปแห่งธรรม ผู้เป็นธรรมสรณะ ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งพระสัทธรรมอันประเสริฐ ผู้ตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง ในข้อนี้ เราไม่ควรทำความกังขา หรือความเคลือบแคลงในอรรถ ธรรม บท หรือพยัญชนะ ทำความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาในธรรมนี้ ของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงให้พินาศ ให้เกิดสัทธาสัมปทาขึ้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         วินาสยติ อสฺสทฺธํ สทฺธํ    วฑฺเฒติ สาสเน
                         เอวมฺเม สุตมิจฺเจวํ    วทํ โคตมสาวโก.
                                   สาวกของพระโคดม เมื่อกล่าวคำอย่างนี้ว่า
                         เอวมฺเม สุตํ ย่อมชื่อว่ายังความไม่มีศรัทธาให้
                         พินาศ ยังศรัทธาให้เจริญในพระศาสนา.

               บทว่า เอกํ เป็นการแสดงไขกำหนดการนับ.
               จริงอยู่ เอก ศัพท์นี้ปรากฏในอรรถว่า อัญญะ เสฏฐะ อสหายะ และสังขยา เป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น เอก ศัพท์นี้ปรากฏในอรรถว่า อัญญะ (อื่น) ในประโยคมีอาทิว่า คนอีกพวกหนึ่งกล่าวย้ำดังนี้ว่า อัตตาและโลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า. ปรากฏในอรรถว่า เสฏฐะ (ประเสริฐสุด) ในประโยคมีอาทิว่า ความที่จิตเป็นเอกผุดขึ้น. ปรากฏในอรรถว่า อสหายะ (ไม่มีเพื่อน) ในประโยคมีอาทิว่า ผู้เดียว หลีกออกแล้ว. ปรากฏในอรรถว่า สังขยา (นับ) ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะและสมัยหนึ่งแล เพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.
               แม้ในที่นี้ พึงเห็นว่าใช้ในการนับนั่นแหละ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า เอกํ เป็นการแสดงกำหนดการนับ.
               บทว่า สมยํ เป็นบทแสดงไขเวลาที่กำหนดไว้.
               บทว่า เอกํ สมยํ เป็นการแสดงเวลาที่ไม่กำหนดแน่นอน.
               ในคำว่า เอกํ สมยํ นั้น สมยศัพท์ใช้ในอรรถ ๙ อย่าง คือ สมวายะ ๑ ขณะ ๑ กาล ๑ สมุหะ ๑ เหตุ ๑ ทิฏฐิ ๑ ปฏิลาภะ ๑ ปหานะ ๑ ปฏิเวธะ ๑
               จริงอย่างนั้น สมยศัพท์นั้น มี สมวายะ (พร้อมเพรียง) เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ผิไฉนหนอ แม้พรุ่งนี้ เราพึงอาศัยกาลและความพร้อมเพรียงเข้าไปหา. อธิบายว่า ได้กาลอันควร และความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย เพราะฉะนั้น พึงทราบปัจจยสมวายะ (ความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัย).
               มี ขณะ เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ขณะและสมัยอันหนึ่งแล เพื่อความอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อธิบายว่าโอกาส. จริงอยู่ โอกาสของมรรคพรหมจรรย์ มีการอุบัติขึ้นแห่งพระตถาคตเป็นต้น เพราะเป็นเหตุให้ได้มรรคพรหมจรรย์นั้นเป็นปัจจัย. อธิบายว่า ก็สมัยคือขณะที่ท่านเรียกว่าขณะและสมัยนั้นเป็นอันเดียวกันนั่นเอง.
               มี กาล (เวลา) เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า เวลาร้อน เวลากระวนกระวาย.
               มี สมุหะ (ประชุม) เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า มีการประชุมใหญ่ในป่าใหญ่. จริงอยู่ บทว่า มหาสมโย ความว่า เป็นที่ประชุมใหญ่แห่งภิกษุและเทวดาทั้งหลาย.
               มี เหตุ เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า
               ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุแล เป็นอันท่านมิได้แทงตลอดแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าแล ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักทราบว่า ภิกษุชื่อว่าภัททาลิ ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขาในศาสนาของพระศาสดา
               ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แล เป็นอันเธอไม่ได้แทงตลอดแล้ว.
               จริงอยู่ เหตุแห่งสิกขาบทท่านประสงค์เอาว่า สมยะ ในที่นี้.
               มี ทิฏฐิ เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า ก็โดยสมัยนั้นแล อุคคาหมานปริพาชก สมณมุณฑิกาบุตร อาศัยอยู่ในอารามของพระนางมัลลิกามีศาลาหลังเดียว มีต้นมะพลับเรียงราย เป็นที่สอนทิฏฐิ. จริงอยู่ เดียรถีย์ทั้งหลายนั่งที่อาราม ซึ่งมีศาลาหลังเดียวนั้น บอกสมัยกล่าวคือทิฏฐิของตนๆ เพราะฉะนั้น อารามของปริพาชกนั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นที่สอนทิฏฐิ.
               มี ปฏิลาภะ (การได้เฉพาะ) เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า
                         นักปราชญ์ท่านเรียกว่าบัณฑิต เพราะได้ประโยชน์
               ทั้ง ๒ คือประโยชน์ในปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ในภพหน้า ๑.

               จริงอยู่ บทว่า อตฺถาภิสมยา ความว่า เพราะได้ประโยชน์ทั้งสองนั้น. มีปหานะ (การละ) เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า ท่านทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะโดยชอบ. อภิสมัยชื่อว่าปหานะ ในคำว่าอธิกรณะ (การทำให้ยิ่ง) สมยะ (การละ) วูปสมะ (การเข้าไปสงบ) อปคมะ (การไปปราศ).
               มี ปฏิเวธะ (การแทงตลอด) เป็นอรรถ ในประโยคมีอาทิว่า ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอรรถว่าทำให้เร่าร้อน มีอรรถว่าแปรปรวน มีอรรถว่าแทงตลอด. จริงอยู่ การแทงตลอดชื่อว่าอภิสมยะ เพราะจำต้องแทงตลอด. อรรถ คืออภิสมยะ ชื่อว่าอภิสมยัฏฐะ เพราะเหตุนั้น ทุกข์มีการบีบคั้นเป็นต้น ท่านกล่าวรวมเป็นอันเดียวกัน เพราะจำต้องรู้แจ้งแทงตลอด.
               อีกอย่างหนึ่ง อรรถอันเป็นอารมณ์แห่งอภิสมยะ คือการแทงตลอด ชื่อว่าอภิสมยัฏฐะ อรรถคือการแทงตลอด เพราะเหตุนั้น การบีบคั้นเป็นต้นนั้นนั่นแหละ ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนั้นโดยความเป็นอันเดียวกัน. ในอรรถเหล่านั้น ทุกขสัจเบียดเบียนคนผู้พรั่งพร้อมด้วยทุกขสัจนั้น คือกระทำให้เจริญไม่ได้ ชื่อว่าเบียดเบียน. ความแผดเผา คือความเร่าร้อนด้วยอำนาจทุกข์ และความเป็นทุกข์เป็นต้น ชื่อว่าความเร่าร้อน.
               ก็ในข้อนี้ สมัยชื่อว่าสมวายะ เพราะความสำเร็จ เพราะมีเหตุที่มีการกระทำร่วมกัน ย่อมพร้อมกัน คือพร้อมเพรียงกัน. สมัยชื่อว่าขณะ เพราะเป็นที่พร้อมกันคือมาพร้อมกันแห่งมรรคพรหมจรรย์ โดยบุคคลผู้ทรงไว้ซึ่งมรรคพรหมจรรย์นั้น. สมัยชื่อว่ากาล เพราะเป็นที่ไปพร้อมกัน หรือเป็นเหตุไปร่วมกันแห่งสัตว์หรือแห่งสภาวธรรม โดยขณะมีอุปาทขณะเป็นต้น หรือโดยสัมปยุตธรรมมีสหชาตธรรมเป็นต้น.
               จริงอยู่ เมื่อว่าโดยอรรถ กาลแม้จะไม่มีจริงโดยภาวะสักว่าเป็นไปตามธรรม ท่านเรียกโดยความสมควรอันสำเร็จมาเพียงความดำริแห่งความเป็นไปของธรรม เหมือนอธิกรณะ (เป็นที่) และกรณสาธนะ (เป็นเหตุ) แล.
               สมัยชื่อว่าสมุหะ เพราะไป คือเป็นไป ความตั้งอยู่แห่งอวัยวะทั้งหลายเสมอกันหรือพร้อมกัน เหมือนการประชุมแล. จริงอยู่ การตั้งลงพร้อมกันแห่งอวัยวะนั้นแหละ ชื่อสมุหะ (การประชุม) สมัยชื่อว่าเหตุ เพราะเป็นแดนไป คือเกิดขึ้นเป็นไปแห่งผล ในเมื่อมีการประชุมแห่งปัจจัยทั้งหมด เหมือนสมุทัย แดนเกิดขึ้นแล. สมัยชื่อว่าทิฏฐิ เพราะไปพร้อมกัน คือเกี่ยวพันกันไปโดยภาวะเป็นสังโยชน์ เป็นไปในอารมณ์ของตน. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเครื่องประกอบโดยภาวะยึดมั่นไป คือเป็นไปตามที่ยึดมั่นของสัตว์ทั้งหลาย. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายถูกทิฏฐิสังโยชน์ผูกมัดไว้อย่างเหนียวแน่นแล. สมัยชื่อว่าปฏิลาภะ เพราะการประชุม การประจวบ การรวมลง. สมัยชื่อว่าปหานะ เพราะหายไป สาบสูญไป ปราศจากไป. อนึ่ง สมัยชื่อว่าอภิสมยะ เพราะเป็นสมัยยิ่งโดยละได้เด็ดขาด เหมือนอภิธรรมแล. ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะพึงถึง คือพึงบรรลุโดยญาณเฉพาะหน้า ได้แก่หยั่งรู้ถึงสภาวะแห่งธรรมที่ไม่แปรผัน. ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะไป คือบรรลุ ตรัสรู้โดยภาวะเฉพาะหน้า คือโดยชอบ ได้แก่ความหยั่งรู้สภาวะตามเป็นจริงแห่งธรรม. พึงทราบความเป็นไปแห่ง สมยศัพท์ ในอรรถนั้นๆ ด้วยอาการอย่างนี้.
               พึงทราบเหตุในการขยายอรรถแห่ง สมยศัพท์ เพิ่ม อภิสมยศัพท์เข้าโดยนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล. แต่ในที่นี้ สมยศัพท์ชื่อว่ามีกาลเป็นอรรถ เพราะอรรถทั้ง ๙ มีสมวายะเป็นต้นไม่มี. พึงทราบสมยศัพท์นั้นว่าเป็นกาล ในภาวะแห่งคำเริ่มต้นของเทศนา เหมือนสถานที่ผู้แสดงและบริษัทแล. ก็เพราะเหตุที่ท่านประสงค์เอากาลว่าสมัยในที่นี้ ฉะนั้น พระเถระจึงแสดงว่า สมัยหนึ่ง บรรดาสมัยอันเป็นประเภทแห่งกาลเช่นปี ฤดู เดือน ครึ่งเดือน กลางคืน กลางวัน เวลาเช้า เที่ยง เย็น ปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม และครู่หนึ่งเป็นต้น.
               หากมีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะเหตุไร ในที่นี้ ท่านจึงแสดงไขถึงกาลโดยไม่กำหนดแน่นอนทีเดียวนั่นแล แล้วกำหนดแสดงไขโดยฤดูและปีเป็นต้นก็หามิได้.
               เฉลยว่า บรรดาสมัยมีปีเป็นต้นเหล่านั้น สูตรใดๆ ที่ท่านกล่าวไว้ใน ปี ฤดู เดือน ปักษ์ ส่วนราตรีหรือส่วนวันใดๆ ทั้งหมดนั้น พระเถระรู้แจ้งแล้ว คือใช้ปัญญากำหนดด้วยดีแล้ว. ก็เพราะเหตุที่ท่านกล่าวแล้วอย่างนี้ว่า เราได้ฟังแล้วอย่างนี้ในปีโน้น ฤดูโน้น ปักษ์โน้น ส่วนราตรีหรือส่วนวันโน้น ใครๆ ไม่อาจทรงจำแสดงเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงได้โดยง่าย ทั้งจะต้องกล่าวมากไป ฉะนั้น ท่านจึงประชุมอรรถนั้นด้วยบทเดียวเท่านั้น แล้วกล่าวว่า เอกํ สมยํ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเถระแสดงว่า สมัยหนึ่ง กล่าวคือสมัยแสดงธรรม บรรดาสมัยเหล่านี้ที่มีประเภทของกาลมากมายทีเดียว อันเป็นการประกาศอย่างยิ่งในหมู่เทวดาและมนุษย์ สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้ามีอาทิอย่างนี้ว่า
               สมัยเสด็จลงสู่พระครรภ์ สมัยประสูติ สมัยสลดพระทัย สมัยเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ สมัยทำทุกรกิริยา สมัยชำนะมาร สมัยตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ สมัยประทับอยู่สำราญในปัจจุบัน สมัยแสดงธรรม และสมัยปรินิพพาน.

               อีกอย่างหนึ่ง พระเถระกล่าวว่า สมัยหนึ่ง หมายเอาสมัยอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาสมัยเหล่านี้ คือในสมัยบำเพ็ญกิจแห่งพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณ สมัยบำเพ็ญกิจแห่งพระกรุณาคุณ ในสมัยบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์และประโยชน์ผู้อื่น สมัยบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่น ในสมัยพระกรณียกิจทั้งสองสำหรับผู้ประชุมกัน สมัยแสดงธรรมกถา ในสมัยแสดงธรรมและปฏิบัติธรรม สมัยแสดงธรรม.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในสุตตันตปิฎกนี้ ท่านกระทำนิเทศด้วยทุติยาวิภัตติ ในอรรถแห่งอัจจันตสังโยคว่า เอกํ สมยํ ไม่กระทำเหมือนอย่างที่ท่านกระทำนิเทศด้วยสัตตมีวิภัตติในอภิธรรมว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ โหติ ดังนี้ และในสุตตบทอื่นจากอภิธรรมนี้ว่า ยสฺมึ สมเย ภิกฺขเว ภิกฺขุ วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ดังนี้ และในพระวินัย ท่านกระทำนิเทศด้วยตติยาวิภัตติว่า เตน สมเยน พุทฺโธ ภควา ดังนี้?
               ตอบว่า เพราะในพระอภิธรรมและพระวินัยนั้นมีอรรถเป็นอย่างนั้น แต่ในพระสูตรนี้มีอรรถเป็นอย่างอื่น.
               จริงอยู่ ในปิฎกทั้ง ๓ นั้น อรรถแห่งอธิกรณสาธนะ กล่าวคืออาธาระและวิสยะ ในอภิธรรมปิฎก และในสุตตันตปิฎก นอกจากอภิธรรมปิฎกนี้ และอรรถแห่งลักษณะแห่งภาวะด้วยภาวะ กล่าวคือลักษณะแห่งกิริยาอื่นด้วยกิริยาย่อมมี.
               จริงอยู่ สมัยที่มีกาลเป็นอรรถ และมีสมุหะเป็นอรรถ จัดเป็นอธิกรณะ. อนึ่ง กาลแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้นตามที่กล่าวแล้วในอรรถทั้งสองนั้น แม้ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์เพราะเป็นเพียงความเป็นไปของสภาวธรรม ก็ปรากฏโดยภาวะแห่งอาธาระ เพราะธรรมที่เป็นไปในขณะนั้นไม่มีในกาลก่อนและอื่นจากนั้น เหมือนประโยคมีอาทิว่า ปุพฺพณฺเห ชาโต (เกิดเวลาเช้า) สายณฺเห ชาโต (เกิดเวลาเย็น) อรรถว่าสมุหะ พ้นจากส่วนประกอบแม้ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ก็ย่อมปรากฏโดยภาวะแห่งอาธาระของส่วนประกอบทั้งหลาย โดยรูปสำเร็จเพียงความดำริ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า กิ่งที่ต้นไม้ ข้าวเหนียวตั้งขึ้นที่กองข้าวเหนียว.
               กุศลจิตฝ่ายกามาวจร ย่อมเกิดในกาลใดและกลุ่มธรรมใด แม้สัมปยุตธรรมมีผัสสะเป็นต้น ย่อมมีในกาลนั้นและกลุ่มธรรมนั้นนั่นแหละ. ในข้อนั้นมีอธิบายเพียงเท่านี้.
               อนึ่ง ภาวธรรมมีผัสสะเป็นต้นที่กล่าวไว้ในอภิธรรมนั้น ท่านกำหนดด้วยภาวะแห่งสมยศัพท์ กล่าวคือ ขณะ สมวายะ และเหตุ.
               เหมือนอย่างว่า ท่านกำหนดกิริยาไปด้วยการกระทำการรีดน้ำนมโค ในคำว่า เมื่อแม่โคถูกรีดน้ำนมแล้ว นายโคบาลก็ไป เมื่อแม่โคมีน้ำนม นายโคบาลก็มานี้ฉันใด
               แม้ในพระอภิธรรมนี้ก็ฉันนั้น เมื่อกล่าวว่า ยสฺมึ สมเย เป็นอันเข้าใจเนื้อความดังนี้ว่า สำหรับปรมัตถ์จะเว้นสัตว์ก็ไม่ได้ จะไม่มีสัตว์ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สมยศัพท์ ท่านกำหนดกิริยา คืออุปาทขณะแห่งจิต และกิริยาคือการเสวยสภาวธรรมมีผัสสะเป็นต้น โดยมิใช่กิริยาแห่งสัตว์.
               อนึ่ง เมื่อสมัยใด เมื่อขณะที่ ๙ ใด เมื่อเหตุมีโยนิโสมนสิการเป็นต้นใด หรือเมื่อความพรั่งพร้อมแห่งปัจจัยใด มีอยู่ กามาวจรกุศลจิตย่อมเกิดขึ้น แม้สภาวธรรมมีผัสสะเป็นต้น ก็มีในสมัยนั้นในขณะนั้นในเหตุนั้น และในความพรั่งพร้อมแห่งปัจจัยนั้นแล เพราะฉะนั้น จึงทำนิเทศด้วยสัตตมีวิภัตติ เพื่อส่องอรรถนั้น.
               ส่วนในพระวินัย สมยศัพท์มีเหตุเป็นอรรถ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า บุคคลย่อมอยู่เพราะเหตุแห่งข้าว เพราะเหตุแห่งการเชื้อเชิญ และมีกรณะเป็นอรรถ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า บุคคลย่อมตัดด้วยขวาน ย่อมขุดด้วยจอบ.
               จริงอยู่ สมัยในการบัญญัติสิกขาบทอันใด แม้พระธรรมเสนาบดีเป็นต้น ก็เข้าใจได้ยาก ด้วยสมัยนั้น อันเป็นกรณะและเป็นเหตุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบการล่วงละเมิด จึงให้ประชุมภิกษุสงฆ์ สอบถามและติเตียนบุคคลผู้เป็นต้นเหตุ เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบทโดยไม่ล่วงเลยเวลา กล่าวคือสมัยที่ก่อเรื่องนั้นๆ และไม่เพ่งถึงเหตุแห่งการบัญญัติสิกขาบท เหมือนบัญญัติตติยปาราชิกเป็นต้น แล้วประทับอยู่ในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงทำนิเทศด้วยตติยาวิภัตติไว้ในพระวินัย เพื่อส่องอรรถนั้น.
               แต่สมยศัพท์ที่มีอัจจันตสังโยคเป็นอรรถย่อมมีในที่นี้ และในที่อื่นซึ่งมีกำเนิดอย่างนี้. จริงอยู่ ในสมัยใด อุทานนี้เกิดพร้อมด้วยเหตุอันเป็นสมุฏฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ด้วยการพิจารณาธรรมอันมีอริยวิหารธรรมเป็นประธาน ตลอดสมัยนั้นโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น จึงกระทำนิเทศด้วยทุติยาวิภัตติ ในพระสูตรนี้ เพื่อส่องอรรถแห่งอุปโยคะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า มาสํ อชฺเฌติ (ย่อมสาธยายตลอดเดือน).
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         ตํ ตํ อตฺถมเวกฺขิตฺวา    ภุมฺเมน กรเณน จ
                         อญฺญตฺถ สมโย วุตฺโต    อุปโยเคน โส อิธ.
                                   ท่านพระอานนท์พิจารณาถึงอรรถนั้นๆ แล้วกล่าว
                         สมยศัพท์ไว้ในสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก ด้วยสัตตมี
                         วิภัตติและตติยาวิภัตติ สมยศัพท์นั้น ท่านพระอุบาลีกล่าว
                         ไว้ในวินัยปิฎกนี้ ด้วยทุติยาวิภัตติ.

               ส่วนพระโปราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาไว้ว่า นิเทศนั่นเป็นความต่างกันเพียงโวหารว่า ยสฺมึ สมเย, ว่า เตน สมเยน, หรือว่า เอกํ สมยํ มีอรรถเป็นสัตตมีวิภัตติทุกๆ บท. เพราะฉะนั้น แม้เมื่อท่านกล่าว เอกํ สมยํ ก็พึงทราบความว่า เอกสฺมึ สมเย ดังนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1425&Z=1445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :