ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               บทว่า ภควา เป็นคำบ่งถึงครู.
               จริงอยู่ ชาวโลกเรียกครูว่า ภควา. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นครูของสรรพสัตว์ เพราะเป็นผู้วิเศษโดยคุณทั้งปวง เพราะฉะนั้น พระองค์ บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่า ภควา. แม้พระโปราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวไว้ว่า
                         ภควาติ วจนํ เสฏฺฐํ    ภควาติ วจนมุตฺตมํ
                         ครุคารวยุตฺโต โส    ภควา เตน วุจฺจติ.
                                   คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐสุด คำว่า ภควา
                         เป็นคำสูงสุด พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้ควรแก่ความ
                         เคารพโดยฐานครู เพราะฉะนั้น พระองค์ บัณฑิตจึง
                         เฉลิมพระนามว่า ภควา ดังนี้.

               ในคำเหล่านั้น คำกล่าวว่า ประเสริฐสุด ท่านกล่าวว่าเสฏฐะ เพราะเพียบพร้อมด้วยพระคุณอันประเสริฐ. อีกอย่างหนึ่ง อรรถชื่อว่าวจนะ เพราะอันเขากล่าว.
               บทว่า ภควาติ วจนํ เสฏฺฐํ ความว่า อรรถที่ควรกล่าวด้วยคำว่า ภควา นี้เป็นอรรถประเสริฐ. แม้ในคำว่า ภควาติ วจนมุตฺตมํ นี้ พึงทราบอรรถโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ.
               บทว่า คารวยุตฺโต ได้แก่ ชื่อว่าประกอบด้วยความเป็นครู เพราะประกอบด้วยคุณฐานครู หรือชื่อว่าประกอบด้วยความเคารพ เพราะมีพระกรุณาฐานครูเป็นพิเศษ ภควา นี้ พึงทราบว่าเป็นชื่อของผู้วิเศษด้วยคุณผู้สูงสุดกว่าสัตว์และผู้ควรเคารพโดยฐานครู.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอรรถแห่งบทว่า ภควา โดยในที่มาแล้วในนิเทศว่า
                                   ภคี ภชี ภาคี วิภตฺตวา อิติ
                                   อกาสึ ภคฺคนฺติ ครูติ ภาคฺยวา
                                   พหูหิ ญาเยหิ สุภาวิตตฺตโน
                                   ภวนฺตโค โส ภควาติ วุจฺจติ
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัณฑิตเฉลิมพระนามว่า
                         ภควา เพราะเป็นผู้มีโชค เป็นผู้เสพที่สงัด เป็นผู้มีส่วน
                         ควรรับปัจจัย เป็นผู้จำแนก ได้กระทำการหักภคธรรม
                         เป็นครู เป็นผู้มีบุญบารมี เป็นผู้อบรมพระองค์อย่างดี
                         ด้วยญายธรรมอันมาก และเป็นผู้ถึงที่สุดภพ.
               และด้วยอำนาจแห่งคาถานี้ว่า
                         ภาคฺยวา ภคฺควา ยุตฺโต    ภคฺเคหิ จ วิภตฺตวา
                         ภตฺตวา วนฺตคมโน    ภเวสุ ภควา ตโต.
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตเฉลิมพระนามว่า
                         ภควา เพราะเป็นผู้มีภาคยะ เป็นผู้หักกิเลส เป็นผู้
                         ประกอบด้วยภคธรรม เป็นผู้จำแนก เป็นผู้คบและ
                         เป็นผู้คายการไปในภพเสียได้.

               ก็อรรถแห่งบทว่า ภควา นั้นๆ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคโดยอาการทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั้นเทอญ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภควา เพราะคบภาคธรรม หรือคายภคธรรม.
               จริงอยู่ เพราะตถาคตย่อมคบ สมาคม เสพ ทำให้มากซึ่งบารมีธรรม มีทานและศีลเป็นต้น และอุตตริมนุสสธรรมมีฌานและวิโมกข์เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าภควา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภควา เพราะคบ คือปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งธรรมเหล่านั้นนั่นแหละว่า อย่างไรหนอ ธรรมเหล่านี้จะพึงเกิดขึ้นในสันดานของเวไนยสัตว์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภควา เพราะคาย คือถ่ายออกซึ่งความเป็นใหญ่และยศ กล่าวคือภคธรรม ไม่อาลัยคายทิ้งเสีย เหมือนบุคคลคายทิ้งก้อนเขฬะฉะนั้น
               จริงอย่างนั้น พระตถาคตสำคัญสิริราชสมบัติแห่งจักรพรรดิอันอยู่ในพระหัตถ์ ความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ เช่นกับความเป็นใหญ่ในเทวโลก และยศอันรุ่งโรจน์ด้วยรัตนะ ๗ อย่างเป็นที่อาศัยแห่งจักรพรรดิสมบัติ ว่าเหมือนถูกไฟไหม้ ไม่ทรงอาลัยละ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงเฉลิมพระนามว่าภควา เพราะคายภคธรรมมีสิริเป็นต้นแม้เหล่านี้.
               ชื่อว่า ภคา เพราะไป คือเป็นไปพร้อมนักษัตร ชื่อว่า ภา เหล่านั้น คือเป็นความงามอันอาศัยโลกอันเป็นที่รองรับ เช่น ภูเขาสิเนรุ ภูเขายุคนธร อุตตรกุรุทวีป และป่าหิมพานต์เป็นต้น เพราะเป็นที่ตั้งอยู่ตลอดกัป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคาย คือละภคธรรมแม้เหล่านั้น ด้วยการละฉันทราคะอันเนื่องกับภคธรรมนั้น เพราะก้าวล่วงการอยู่ของสัตว์ผู้อาศัยอยู่ในโลกนั้นแล. แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็พึงทราบอรรถของบทว่า ภควา โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อว่าภควา เพราะคายภคธรรม
               ก็ด้วยเหตุเพียงนี้ บรรดาคำเหล่านั้น ด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ พระเถระเมื่อจะกล่าวธรรมตามที่สดับมา จึงกระทำโครงร่างแห่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประจักษ์. เพราะฉะนั้น พระเถระจึงปลอบโยนชนผู้เบื่อหน่ายด้วยการไม่ได้เฝ้าพระศาสดา ให้เบาใจว่า นี้ไม่ใช่ปาพจน์ คือธรรมวินัยที่พระศาสดาล่วงไปแล้ว นี้เป็นศาสดาของพวกท่าน.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า
               อานนท์ ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นพระศาสดาของพวกเธอ ต่อเมื่อเราล่วงไปแล้ว.

               ด้วยคำว่า เอกํ สมยํ ภควา นี้ พระเถระเมื่อแสดงว่า ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงพระชนม์อยู่ จึงสาธกการปรินิพพานด้วยรูปกาย. ด้วยเหตุนั้น พระเถระให้ชนผู้มัวเมาเพราะมัวเมาในชีวิตให้สลดใจ และให้เกิดความอุตสาหะในพระสัทธรรมว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมมีหลายอย่างเช่นนี้ ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณ มีพระกายเสมอด้วยโครงร่างเพชร เสด็จปรินิพพานแล้ว ใครอื่นจะพึงให้เกิดความหวังในชีวิต.
               อนึ่ง เมื่อกล่าวว่า เอวํ จึงแสดงอ้างเอาเทศนาสมบัติ เพราะพระสูตรทั้งสิ้นที่กล่าวอยู่แสดงอ้างถึงบทว่า เอวํ ดังนี้.
               ด้วยบทว่า เม สุตํ นี้ พระเถระแสดงถึงสาวกสมบัติและสวนสมบัติ เพราะแสดงถึงภาวะที่ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเป็นธรรมภัณฑาคาริก อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาไว้ในเอตทัคคะในฐานะทั้ง ๕ สดับมาแล้ว และเพราะแสดงความนี้ว่า ก็พระสูตรนั่นแลเราได้สดับมาแล้วมิใช่ไม่ได้สดับ และไม่ใช่นำโดยสืบๆ กันมาเท่านั้น.
               ด้วยบทว่า เอกํ สมยํ นี้ พระเถระแสดงถึงกาลสมบัติ เพราะแสดงถึงภาวะที่ประดับด้วยพุทธุปบาทกาลตรงกับสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา.
               ก็กาลสัมปทามีพุทธุปบาทกาลเป็นที่ยิ่ง.
               ด้วยบทว่า ภควา นี้ พระเถระแสดงถึงเทสกสมบัติ เพราะแสดงถึงภาวะที่พระองค์เป็นผู้วิเศษด้วยคุณ เป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์และเป็นครู.
               บทว่า อุรุเวลายํ ได้แก่ ใกล้กองทรายใหญ่ อธิบายว่า ที่กองทรายใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรายท่านเรียกว่า อุรุ. เขตแดนท่านเรียกว่า เวลา. พึงเห็นเนื้อความในคำนี้อย่างนี้ว่า ทรายที่เขานำมาเพราะล่วงเขตแดน ชื่อว่า อุรุเวลา.
               เล่ากันมาว่า ในอดีตกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น ดาบสหมื่นหนึ่งอยู่ในประเทศนั้นกระทำกติกาวัตรว่า กายกรรมและวจีกรรม ย่อมปรากฏแม้แก่ชนเหล่าอื่น ส่วนมโนกรรมไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ผู้ใดตรึกถึงมิจฉาวิตก ผู้นั้นชื่อว่าจงโจทย์ตนด้วยตนเอง จงใช้ใบไม้ม้วน ตักทรายมาเกลี่ยลงในที่นี้ นี้เป็นทัณฑกรรมของผู้นั้น.
               ต่อแต่นั้น ผู้ใดตรึกถึงวิตกเช่นนั้น ผู้นั้นจะนำทรายมาด้วยห่อที่ทำด้วยใบไม้แล้วเกลี่ยลงในที่นั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเกิดเป็นกองทรายใหญ่โดยลำดับในที่นั้น. แต่นั้น ปัจฉิมาชนตาชน ล้อมกองทรายใหญ่นั้นสร้างเป็นเจดีย์สถาน ท่านหมายเอาสถานที่นั้น จึงได้กล่าวดังนี้ว่า บทว่า อุรุเวลายํ ได้แก่ ใกล้กองทรายใหญ่ พึงเห็นความว่า ที่กองทรายใหญ่.
               บทว่า วิหรติ เป็นบทแสดงความพรั่งพร้อมด้วยวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาอิริยาบถวิหาร ทิพยวิหาร พรหมวิหาร และอริยวิหารโดยไม่แปลกกัน. แต่ในที่นี้ บทว่า วิหรติ พึงทราบว่า เป็นบทแสดงการประกอบอิริยาบถ กล่าวคือการนั่งในบรรดาอิริยาบถ เช่น การยืน การนั่ง การเดิน และการนอน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิหรติ นั้น พึงทราบว่าเป็นการแสดงความพรั่งพร้อมแห่งอริยวิหาร. ในอิริยาบถเหล่านั้น เพราะเหตุที่บุคคลตัดความลำบากอิริยาบถหนึ่งด้วยอิริยาบถหนึ่ง แล้วนำอัตภาพไป คือให้เป็นไปโดยไม่ให้ทรุดโทรม
               เพราะฉะนั้น ในที่นี้พึงทราบอรรถบทว่า วิหรติ โดยอิริยาบถวิหาร. ก็เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำไป ทรงนำเข้าไป ทรงนำเข้าไปใกล้ ได้แก่ ให้เกิดหิตประโยชน์หลายประการแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพยวิหารเป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อว่าด้วยทิพยวิหารเป็นต้น พึงทราบอรรถอย่างนี้ว่า นำไปต่างๆ.
               บทว่า นชฺชา ความว่า ชื่อว่านที เพราะไหล คือไหลไป. การไหลไปของแม่น้ำนั้น อธิบายว่า แม่น้ำที่ไหลไป. บทว่า เนรญฺชราย ความว่า น้ำของแม่น้ำนั้นไม่มีโทษ เพราะฉะนั้น เมื่อควรจะกล่าวว่า เนลํชลาย กล่าวเสียว่า เนรญฺชราย เพราะแปลง อักษรให้เป็น อักษร.
               อธิบายว่า น้ำเว้นจากโทษมีเปือกตมสาหร่ายและแหนเป็นต้น. อาจารย์บางพวกกล่าวว่าเมื่อควรพูดว่า นีลชลาย กล่าวเสียว่า เนรญฺชราย อีกอย่างหนึ่ง ชื่อนั้นนั่นแหละพึงทราบว่า เป็นชื่อแม่น้ำนั้น. เพื่อแสดงสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โพธิรุกฺขมูเล ดังนี้.
               ในบทว่า โพธิรุกฺขมูเล นั้น
               มรรคญาณเรียกว่า โพธิ ในประโยคนี้ว่า โพธิ วุจฺจติ จตูสุ มคฺเคสุ ญาณํ ดังนี้.
               สัพพัญญุตญาณเรียกว่า โพธิ ในประโยคนี้ว่า ปปฺโปติ โพธึ วรภูริเมธโส ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน อันประเสริฐบรรลุโพธิญาณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุโพธิแม้ทั้งสองอย่างนี้ที่ต้นไม้นั้น เพราะเหตุนั้น แม้ต้นไม้นั้นย่อมได้นามว่า โพธิพฤกษ์.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า โพธิ เพราะตรัสรู้โพชฌงค์ ๗ แม้ต้นไม้นั้นก็ได้นามว่าโพธิพฤกษ์ เพราะพระองค์เมื่อตรัสรู้จำต้องอาศัยต้นไม้นั้น แห่งโพธิพฤกษ์นั้น.
               บทว่า มูเล แปลว่า ที่ใกล้.
               จริงอยู่ ศัพท์ว่า มูล นี้ปรากฏที่มูลคือรากเดิม ในประโยคมีอาทิว่า พึงถอนราก โดยที่สุดแม้เพียงก้านแฝก.
               ปรากฏในเหตุอันไม่ทั่วไป ในประโยคมีอาทิว่า โลภเจตสิก เป็นอกุศลมูล.
               ปรากฏในที่ใกล้ ในประโยคมีอาทิว่า เวลาเที่ยงวันเงาแผ่ไป เวลาอับลม ใบไม้ร่วงหล่นมีกำหนดเพียงใด ใกล้ต้นไม้ มีกำหนดเพียงนั้น.
               มูลศัพท์แม้ในที่นี้ ก็ประสงค์เอาในที่ใกล้ เพราะฉะนั้น พึงเห็นความในข้อนี้อย่างนี้ว่า ที่ควงคือที่ใกล้แห่งโพธิพฤกษ์.
               บทว่า ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ ได้แก่ เป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งเป็นครั้งแรก อธิบายว่า ก่อนกว่าเขาทั้งหมดทีเดียว.
               ด้วยลำดับคำเพียงเท่านี้ พระเถระผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก เมื่อเริ่มตั้งคำเริ่มต้นแห่งอุทานเทศนา จึงเป็นอันประกาศ แสดงอ้างถึงกาล ประเทศ และผู้แสดงถึงกาลและประเทศพร้อมคุณพิเศษ.
               ในข้อนี้ มีผู้ทักท้วงว่า ก็เพราะเหตุไร เมื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย จึงกล่าวถึงคำเริ่มต้น, ควรทำการรวบรวมเฉพาะพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วมิใช่หรือ?
               เฉลยว่า เพื่อให้พระธรรมเทศนาถึงพร้อมด้วยความดำรงมั่น ไม่ฟั่นเฟือน และเป็นที่ตั้งศรัทธา. จริงอยู่ เทศนาที่ดำรงโดยสืบต่อกันมาด้วยกาล ประเทศ ผู้แสดง และวัตถุเป็นต้น ดำรงอยู่ตลอดกาล ไม่ฟั่นเฟือนและเป็นที่ตั้งศรัทธา ดุจการวินิจฉัยข้อบัญญัติที่ผูกพันด้วยประเทศ กาล ผู้ทำเหตุ และนิมิต.
               ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล เมื่อพระมหากัสสปะทำการถามในประเทศเป็นต้น โดยอาทิว่า ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทานครั้งแรกไว้ที่ไหน? ท่านพระอานนท์ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก เมื่อจะทำการวิสัชนาปัญหาเหล่านั้น จึงกล่าวคำเริ่มต้นแห่งอุทานโดยนัยมีอาทิว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวถึงคำเริ่มต้นเป็นการประกาศสัตถุสมบัติ ความพร้อมมูลแห่งพระศาสดา. ความสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าย่อมมี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตถาคต ไม่มีการรจนาไว้ก่อน การอนุมาน การเล่าเรียนนิกาย และการคาดคะเน.
               ด้วยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีความต้องการ ด้วยการรจนาไว้ก่อนเป็นต้น เพราะพระองค์มีประมาณเป็นเอกในไญยธรรม เหตุที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระญาณอันไม่มีปัจจัยอะไรๆ ขัดขวางในที่ทุกสถาน. ความสำเร็จเป็นพระขีณาสพ ย่อมมี เพราะไม่มีความติดอยู่ ในอาจริยมุฏฐิ (ปิดบังอำพราง) ธรรมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม) คำสอน และสาวก. เพราะว่า ผู้สิ้นอาสวะโดยประการทั้งปวง แม้ในที่ไหนๆ ก็ไม่มีอาจริยมุฏฐิเป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้บริสุทธิ์ดี จึงดำเนินการอนุเคราะห์เหล่าสัตว์.
               ดังนั้น ความสำเร็จเวสารัชชญาณ ๒ ข้อแรก ย่อมมีได้ด้วยความบริสุทธิ์และหมดจดดี อันส่องถึงความไม่มีอวิชชาและตัณหา อันประทุษร้ายทิฏฐิสมบัติ และศีลสมบัติเป็นโทษในการแสดง และปรากฏชัดโดยญาณสัมปทากับปหานสัมปทา
               อนึ่ง ความสำเร็จเวสารัชชญาณ ๒ ข้อหลังย่อมมี เพราะสำเร็จโดยความไม่มีความงมงายในอันตรายิกธรรมและนิยยานิกธรรมนั้นแล. ความประกอบด้วยเวสารัชชญาณ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และการบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์และประโยชน์ส่วนผู้อื่น เป็นอันประกาศแล้วด้วยคำเริ่มต้น เพราะแสดงถึงพระธรรมเทศนา ด้วยปฏิภาณอันเกิดขึ้น ตามฐานะโดยสมควรแก่อัธยาศัยของบริษัทผู้ประชุมกันในที่นั้นๆ.
               แต่ในที่นี้พึงประกอบความว่า ด้วยการประกาศการเสวยวิมุตติสุข และมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาท. เพราะฉะนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า กล่าวคำเริ่มต้น เพื่อประกาศสัตถุสมบัติ.
               อนึ่ง กล่าวคำเริ่มต้น เพื่อประกาศศาสนสมบัติ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้บำเพ็ญกิจทั้งปวง ซึ่งกำหนดด้วยพระปัญญาคุณและพระกรุณาคุณ ไม่มีข้อปฏิบัติที่ไร้ประโยชน์ หรือ (มุ่ง) ประโยชน์ส่วนพระองค์. เพราะฉะนั้น กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมแม้ทั้งสิ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งปวง อันเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเดียว ที่ตรัสอยู่ตามที่เป็นไป ชื่อว่าศาสนา เพราะตามสอนสัตว์ทั้งหลายตามสมควรด้วยประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ใช่เป็นคำรจนาของกวี พระพุทธจริยานี้นั้น ท่านประกาศไว้ตามสมควร ด้วยคำเริ่มต้นในที่นั้นๆ พร้อมกับกาละ เทสะ ผู้แสดงและประเทศ. แต่ในที่นี้พึงประกอบว่า ด้วยการเสวยวิมุตติสุขในการตรัสรู้ยิ่ง และด้วยมนสิการปฏิจจสมุปบาท. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กล่าวคำเริ่มต้นเพื่อประกาศศาสนสมบัติ.
               อีกอย่างหนึ่ง การกล่าวคำเริ่มต้น เพื่อแสดงภาวะที่พระศาสนาเป็นประมาณ ด้วยการประกาศภาวะที่ศาสดาเป็นประมาณ. และการแสดงภาวะที่พระศาสนาเป็นประมาณนั้น พึงทราบตามกระแสแห่งนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง.
               จริงอยู่ ด้วยคำว่า ภควา นี้ เป็นอันประกาศความนี้โดยประการทั้งปวง ด้วยการแสดงถึงการละมลทิน คือกิเลสทั้งปวง มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น และการละโทษมีทุจริตเป็นต้น ด้วยการแสดงความที่พระตถาคตเป็นผู้สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ และด้วยการแสดงถึงการประกอบด้วยคุณวิเศษ มีพระปัญญาคุณ และพระกรุณาคุณเป็นต้น อันไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำแสดงเพียงมุขแห่งการประกอบคำเริ่มต้นในข้อนี้.
               ก็พึงทราบคำที่ท่านเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ จนถึงคำว่า อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ นี้เป็นคำเริ่มต้นของอุทานนี้. จริงอย่างนั้น คำนั้นเป็นคำที่พระสังคีติกาจารย์กล่าวไว้ในคราวสังคายนา เพื่อประกาศการปฏิบัติทางกายและทางใจของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จำเดิมแต่ต้น ตามที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาจนเปล่งพระอุทานนี้.
               ถามว่า ก็คำว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เป็นต้น ควรเป็นคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น เพราะคนอื่นนอกจากพระศาสดาแล้ว ไม่สามารถจะแสดงปฏิจจสมุปบาทได้มิใช่หรือ?
               ตอบว่า ข้อนั้นจริง เหมือนอย่างว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำปฏิจจสมุปบาทไว้ในพระทัย โดยการพิจารณาสภาวธรรมที่ควงแห่งโพธิพฤกษ์ ฉันใด พระธรรมสังคาหกมหาเถระทั้งหลาย สังคายนาคำเริ่มต้นแห่งอุทานนี้ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ในปฏิจจสมุปบาทและสีหนาทสูตร เป็นต้น เพื่อปลุกเหล่าสัตว์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งสัตว์ผู้ควรจะตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาทนั้น และตรัสมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ ด้วยสามารถแห่งการกระทำตามอาการแห่งพระดำรัสที่ทรงแสดงไว้ เพราะเหตุนั้น พึงตกลงในข้อนี้ว่า คำตามที่กล่าวไว้เป็นคำของพระสังคีติกาจารย์นั่นเอง แม้ในสูตรอื่นจากนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในข้อนี้ พึงทราบสุตตนิกเขปบท (การตั้งพระสูตร) ๔ ประการ คือ
                         เกิดด้วยอัธยาศัยของตน ๑
                         เกิดด้วยอัธยาศัยของผู้อื่น ๑
                         เกิดด้วยอำนาจคำถาม ๑
                         เกิดด้วยการเกิดเรื่องขึ้น ๑.
               เหมือนอย่างว่า พระสูตรแม้ต่างโดยหลายร้อยหลายพันสูตร ก็ไม่ล่วงเลยภาวะ ๑๖ อย่าง โดยปัฏฐานนัย มีสังกิเลสภาคิยนัยเป็นต้น ฉันใด พระสูตรแม้ทั้งหมดนั้นก็ฉันนั้น ไม่ล่วงเลยภาวะ ๔ ประการ โดยสุตตนิกเขปนัย มีอัตตัชฌาสยนัย (อัธยาศัยของตน) เป็นต้นแล.
               ก็ในข้อนี้ การตั้งพระสูตรอันเกิดด้วยอัธยาศัยของตน และเกิดด้วยการเกิดเรื่องขึ้น ย่อมมีประเภทของการเกี่ยวข้องกับที่เกิดด้วยอัธยาศัยของผู้อื่นและที่เกิดด้วยอำนาจคำถาม เพราะเกิดด้วยอนุสนธิแห่งอัธยาศัย และอนุสนธิแห่งคำถาม ก็จริง ถึงอย่างนั้น การตั้งพระสูตรที่เกิดจากอัธยาศัยของตน และที่เกิดด้วยการเกิดเรื่องขึ้น จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกันและกัน เพราะฉะนั้น ปัฏฐานนัยจึงไม่มีส่วนเหลือเลย. อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า สุตตนิกเขป ๔ ด้วยอำนาจมูลนิกเขปแห่งนิกเขปที่เหลือซึ่งมีอยู่ เพราะหยั่งลงในภายในแห่งปัฏฐานนัยนั้น.
               ในข้อนั้น มีวจนัตถะดังต่อไปนี้
               การตั้งลง ชื่อนิกเขป นิกเขปแห่งพระสูตร ชื่อว่าสุตตนิกเขป อธิบายว่า สุตตเทศนา อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่านิกเขป เพราะเขาตั้งไว้ นิกเขปคือสูตร ชื่อว่าสุตตนิกเขป. อัธยาศัยของตน ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ สุตตนิกเขปนั้น ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ เพราะมีอัธยาศัยแห่งตนเป็นเหตุ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ เพราะมีตนเป็นอัธยาศัย.
               แม้ในอัธยาศัยของผู้อื่นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อำนาจแห่งคำถาม ชื่อปุจฉาวสะ สุตตนิกเขปนั้น ชื่อว่าปุจฉาวสิกะ เพราะมีอำนาจแห่งคำถาม. การเกิดขึ้นแห่งเนื้อความอันเป็นเรื่องแห่งสุตตเทศนา ชื่อว่าอัตถุปปัตติ สุตตนิเขปชื่อว่าอัตถุปปัตติกะ เพราะมีการเกิดเรื่องขึ้น. อีกอย่างหนึ่ง อัตถุปปัตตินั้นแหละ ชื่ออัตถุปปัตติกะ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่านิกเขป เพราะเป็นเหตุตั้งพระสูตร คืออัธยาศัยของตนเป็นต้น. ส่วนในการกำหนดอรรถนี้ พึงทราบอรรถในข้อนี้อย่างนี้ว่า อัธยาศัยของตน ชื่อว่าอัตตัชฌาสยะ อัธยาศัยของผู้อื่น ชื่อว่าปรัชฌาสยะ. ชื่อว่าปุจฉา เพราะเขาถาม คือเรื่องที่จะต้องถาม. คำของผู้รับธรรมที่เป็นไปด้วยคำถาม ชื่อว่าปุจฉาวสะ ปุจฉาวสะนั่นแหละ ท่านกล่าวเป็นปุงลิงค์ว่า ปุจฉาวสิโก โดยมุ่งถึงศัพท์ว่า นิกเขป. อนึ่ง อัตถุปปัตตินั่นแหละ ชื่อว่าอัตถุปปัตติกะ.
               ก็ในข้อนี้มีคำถามสอดเข้ามาว่า เพราะไม่มุ่งถึงเหตุมีความแก่กล้าอินทรีย์เป็นต้น ของคนอื่น จึงควรมีภาวะแห่งสุตตนิกเขปแผนกหนึ่งของอัตตัชฌาสยะ เพราะประกาศเทศนา เพื่อตั้งแบบแผนแห่งธรรมตามอัธยาศัยของตนอย่างเดียวเท่านั้น
               ก็สุตตนิกเขปที่เกิดด้วยอัธยาศัยของคนอื่น และที่เกิดด้วยคำถาม เป็นไปในการเกิดขึ้นแห่งอัธยาศัยและคำถามของผู้อื่น อันเป็นเหตุให้ประกาศธรรมเทศนาอย่างไรจึงไม่ผิด ในการเกิดเรื่องขึ้น หรือว่าเมื่อสุตตนิกเขปที่เกิดด้วยอำนาจคำถาม และที่เกิดด้วยการเกิดเรื่องขึ้น เป็นไปโดยคล้อยตามอัธยาศัยของผู้อื่น อย่างไรจึงไม่ผิดในอัธยาศัยของผู้อื่น? ข้อนั้นไม่จำต้องทักท้วง. ก็เพราะท่านถือเอาการเกิดขึ้นอันเป็นเหตุแสดงพระสูตร ซึ่งพ้นจากอภินิหาร และการสอบถามเป็นต้น และการวินิจฉัยเป็นต้นของคนอื่น โดยเป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่องขึ้น จึงถือเอาสุตตนิกเขปที่เกิดด้วยอัธยาศัยของผู้อื่น และที่เกิดด้วยอำนาจคำถามไว้ส่วนหนึ่งต่างหาก.
               จริงอย่างนั้น เหตุในการแสดงคุณและโทษ และการเกิดขึ้นแห่งอามิส แห่งพรหมชาลสูตร และธรรมทายาทสูตร เป็นต้น ท่านเรียกว่า อัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่องขึ้น. เว้นคำถามของคนอื่นเสีย อรรถที่ท่านแสดงเฉพาะอัธยาศัยให้เป็นนิมิต นี้ปรากฏว่า ปรัชฌาสยะ เกิดจากอัธยาศัยของผู้อื่น ที่ท่านแสดงด้วยอำนาจคำถาม นี้ปรากฏว่า ปุจฉาวสิกะ เกิดด้วยอำนาจคำถามแล.
               ในนิกเขป ๔ อย่างนั้น อุทานเหล่านี้คือ โพธิสูตร ๓ สูตร มีสูตรแรกเป็นต้น มุจจลินทสูตร อายุสังขาโรสัชชนสูตร ปัจจเวกขณสูตร และปปัญจสัญญาสูตร จัดเป็นอัตตัชฌาสยนิกเขป.
               อุทานเหล่านี้คือ หูหุงกสูตร พราหมณชาติกสูตร พาหิยสูตร จัดเป็นปุจฉาวสิกนิกเขป.
               อุทานเหล่านี้คือ ราชสูตร สักการสูตร อุจฉาทนสูตร ปิณฑปาติกสูตร สิปปสูตร โคปาลกสูตร สุนทริกาสูตร มาตุสูตร สังฆเภทสูตร อุทปานสูตร ตถาคตุปปาทสูตร โมเนยยสูตร ปาฏลิคามิยสูตร และทัพพสูตร ๒ สูตร จัดเป็นอัตถุปปัตติกนิกเขป.
               อุทานเหล่านี้คือ ปาลิเลยยสูตร ปิยสูตร นาคสมาลสูตร และวิสาขาสูตร เป็นทั้งอัตตัชฌาสยนิกเขป และปรัชฌาสยนิกเขป.
               สูตรที่เหลืออีก ๕๑ สูตร จัดเป็นปรัชฌาสยนิกเขป. พึงทราบความแปลกกันแห่งนิกเขปของอุทานเหล่านั้น ด้วยอำนาจอัตตัชฌาสยนิกเขปเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในที่นี้ อุทานเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสต่อหน้าภิกษุทั้งหลาย อุทานเหล่านั้นเป็นพระสูตรตามที่ตรัสไว้ ภิกษุเหล่านั้นท่องให้คล่องปาก เพ่งได้ด้วยใจ ตรัสไว้แก่ท่านพระธรรมภัณฑาคาริก. ส่วนอุทานเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสต่อหน้าภิกษุทั้งหลาย แม้อุทานเหล่านั้น ภายหลัง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ท่านธรรมภัณฑาคาริกอีก.
               พึงทราบว่า อุทานเหล่านั้นแม้ทั้งหมดดังกล่าวมานี้ ท่านพระอานนท์ทรงจำได้หมด และบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย ภายหลังต่อมา ได้ยกขึ้นสู่สังคายนาว่า อุทานนั่นเอง ในคราวทำมหาสังคายนาครั้งแรก.
               ก็บทว่า เตน สมเยน ในบทมีอาทิว่า เตน โข ปน สมเยน เป็นตติยาวิภัตติใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า โข ปน เป็นนิบาต อธิบายว่า ตสฺมึ สมเย ในสมัยนั้น. ก็ในสมัยไหน? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ครั้งแรก ประทับอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ตลอดสมัยใด ในสมัยนั้น.
               บทว่า สตฺตาหํ แปลว่า ๗ วัน คือสัปดาห์หนึ่ง. บทว่า สตฺตาหํ นี้ เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งอัจจันตสังโยคะ แปลว่า ตลอด. เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำราญอยู่ด้วยสุขอันเกิดผลสมาบัติส่วนเดียว โดยไม่ขาดสายตลอดสัปดาห์นั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวทุติยาวิภัตติด้วยอำนาจอัจจันตสังโยคะว่า สตฺตาหํ แปลว่าตลอดสัปดาห์.
               บทว่า เอกปลฺลงฺเกน ความว่า โดยนั่งขัดสมาธิท่าเดียวเท่านั้น ไม่ได้เสด็จลุกขึ้นสักคราวเดียว ตั้งแต่เวลาที่ประทับนั่งบนวชิราอาสน์อันเป็นอปราชิตบัลลังก์อันประเสริฐ ในเวลาพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต ในวันวิสาขปุณณมี เพ็ญเดือน ๖.
               บทว่า วิมุตฺติสุขํ ปฏิสํเวที ความว่า พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข คือสุขเกิดแต่ผลสมาบัติ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิมุตฺติ ได้แก่ วิมุตติ ๕ คือ ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ นิสสรณวิมุตติ
               บรรดาวิมุตติ ๕ เหล่านั้น ความหลุดพ้นโดยหลุดพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกนั้นๆ ด้วยองคคุณนั้นๆ มีการบริจาคไทยธรรมเป็นต้น และด้วยองค์แห่งวิปัสสนา มีการกำหนดนามรูปเป็นต้น ตราบเท่าที่องค์นั้นๆ ยังเป็นไปโดยไม่มีการเสื่อม จัดเป็นปหานะ การละ คือการหลุดพ้นจากมัจฉริยะ และโลภะ เป็นต้น ด้วยทาน, จากปาณาติบาตเป็นต้นด้วยศีล, จากสักกายทิฏฐิด้วยการกำหนดนามรูป, จากทิฏฐิที่ไม่มีเหตุและมีเหตุ ไม่เสมอกันด้วยการกำหนดปัจจัยและธรรมที่ไม่ใช่ปัจจัย, จากความเป็นผู้สงสัยด้วยการข้ามพ้นความสงสัย อันเป็นส่วนอื่นของนามรูปนั้นนั่นแหละ, จากการยึดถือว่าเรา ว่าของเรา ด้วยการพิจารณาถึงรูปกลาปะ รูปเป็นกลุ่มเป็นก้อน, จากความสำคัญในธรรมที่ไม่ใช่มรรคว่าเป็นมรรค ด้วยการกำหนดว่ามรรคและมิใช่มรรค, จากอุจเฉททิฏฐิด้วยการเห็นความเกิดแห่งรูปนาม, จากสัสสตทิฏฐิด้วยการเห็นความดับรูปนาม, จากความสำคัญในสิ่งที่มีภัยว่าไม่เป็นภัย ด้วยการเห็นว่าเป็นภัย, จากความสำคัญว่าน่ายินดี ด้วยการเห็นว่าเป็นโทษ, จากความสำคัญรูปว่าน่าเพลิดเพลิน ด้วยการเห็นรูปว่าน่าเบื่อหน่าย, จากความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะหลุดพ้น ด้วยมุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณคือความใคร่เพื่อจะหลุดพ้น, จากความไม่วางเฉย ด้วยอุเบกขาญาณ, จากภาวะอันเป็นปฏิโลม (คือแย้ง) ในธรรมฐิติและพระนิพพาน ด้วยอนุโลมญาณ และพ้นจากภาวะมีสังขารเป็นนิมิตด้วยโคตรภูญาณ
               นี้ชื่อว่า ตทังควิมุตติ.
               อนึ่ง ความหลุดพ้นที่หมายรู้ด้วยการไม่เกิดขึ้นแห่งนิวรณ์ มีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น และปัจจนิกธรรม ธรรมที่เป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้น ด้วยสมาธิอันต่างด้วยอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ตราบเท่าที่สมาธินั้นดำเนินไปโดยไม่เสื่อม นี้ชื่อว่า วิกขัมภนวิมุตติ.
               ความหลุดพ้นด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน โดยภาวะที่เกิดขึ้นไม่ได้โดยสิ้นเชิงอีก แห่งการยึดถือด้วยกิเลสฝ่ายสมุทัยที่กล่าวไว้ โดยนัยมีอาทิว่า ทิฏฺฐิคตานํ ปหาย เพราะละทิฏฐิ ตามสมควรในสันดานแห่งพระอริยเจ้าผู้ดำรงอยู่ในมรรคนั้นๆ เพราะท่านทำอริยมรรค ๔ ให้เกิด นี้ชื่อว่า สมุจเฉทวิมุตติ.
               ก็ภาวะที่กิเลสสงบระงับไปในขณะแห่งผลจิต นี้ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ.
               จิตที่หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง ชื่อว่าพระนิพพาน เพราะสลัดสังขตธรรมทั้งปวง นี้ชื่อว่า นิสสรณวิมุตติ.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาการหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งผลจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งมีพระนิพพานเป็นอารมณ์.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า สุขปฏิสํเวที ความว่า เป็นผู้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข คือสุขเกิดแต่ผลสมาบัติ.
               และบทว่า วิมุตฺตํ ได้แก่ ภาวะที่จิตหลุดพ้นด้วยอำนาจสงบ ระงับอุปกิเลส. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบจิตนั่นแหละว่าหลุดพ้นแล้วอย่างนั้น. สุขอันเกิดหรือสัมปยุตด้วยวิมุตตินั้น ชื่อว่าวิมุตติสุข.
               ก็ในที่นี้ แม้อุเบกขา ก็พึงทราบว่าสุขเหมือนกัน เพราะพระบาลีว่า
               ยายํ ภนฺเต อุเปกฺขา สนฺเต สุเข วุตฺตา ภควตา
               ท่านผู้เจริญ อุเบกขานี้ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ในเมื่อสุขมี.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาสัมโมหวิโนทนีว่า
               อุเปกฺขา ปน สนฺตตฺตา สุขมิจฺเจว ภาสิตา
               ก็อุเบกขา ท่านกล่าวว่าสุขเหมือนกัน เพราะมีความสงบ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้าอรหัตสมาบัติอันประกอบด้วยฌานที่ ๔ ไม่เข้าสมาบัติอื่น. อีกอย่างหนึ่ง ความเข้าไปสงบสังขารทุกข์ ท่านเรียกว่าสุข เหมือนในประโยค มีอาทิว่า เตสํ วูปสโม สุโข การเข้าไปสงบสังขารเป็นสุข ฉันใด เฉพาะปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ได้ในผลอันเลิศ (อรหัตผล) เพราะเป็นความสงบกิเลสและทุกข์ทั้งสิ้น พึงทราบว่าสุขในที่นี้ ฉันนั้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน โพธิวรรคที่ ๑ โพธิสูตรที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 25 / 1อ่านอรรถกถา 25 / 36อรรถกถา เล่มที่ 25 ข้อ 38อ่านอรรถกถา 25 / 39อ่านอรรถกถา 25 / 440
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1425&Z=1445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :