ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 106อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 107อ่านอรรถกถา 26 / 108อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๑๐. อุตตรมาตุเปตวัตถุ

               อรรถกถาอุตตรมาตุเปติวัตถุที่ ๑๐               
               เรื่องของนางเปรตผู้เป็นมารดาของนายอุตตระนี้มีคำเริ่มต้นว่า ทิวาวิหารคตํ ภิกฺขุํ.
               ในเรื่องนั้นมีการขยายความดังต่อไปนี้ :-
               เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อปฐมมหาสังคีติเป็นไปแล้ว ท่านพระมหากัจจายนะพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒ รูปอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงโกสัมพี
               ก็สมัยนั้น อำมาตย์คนหนึ่งของพระเจ้าอุเทน ได้ทำกาละแล้ว. ก็ในกาลก่อน อำมาตย์นั้นได้เป็นผู้จัดตั้งการงานในพระนคร.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้เรียกอุตตรมาณพผู้เป็นบุตรของอำมาตย์นั้นมา แล้วทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่บิดาดำรงอยู่ว่า เจ้าจงดูแลการงานที่บิดาเจ้าจัดตั้งไว้.
               อุตตรมาณพนั้นรับพระดำรัสแล้ว วันหนึ่งได้พานายช่างไปป่า เพื่อต้องการไม้สำหรับซ่อมแซมพระนคร จึงเข้าไปยังที่อยู่ของท่านพระมหากัจจายนะในที่นั้น เห็นพระเถระผู้ทรงบังสุกุลจีวร นั่งเงียบอยู่ในที่นั้น. จึงเลื่อมใสในอิริยาบถ ได้กระทำปฏิสันถารแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระเถระแสดงธรรมแก่เธอ.
               เธอสดับธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงตั้งอยู่ในสรณะแล้วนิมนต์พระเถระด้วยคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลายจงรับภัตตาหารเพื่อจะฉันในวันพรุ่งนี้ โดยความอนุเคราะห์กระผมเถิด.
               พระเถระรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ.
               เธอกลับจากที่นั้นแล้วไปยังนคร ได้บอกแก่อุบาสกเหล่าอื่นว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระเถระเพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ถึงท่านทั้งหลายก็พึงมายังโรงทานของข้าพเจ้า.
               ในวันที่ ๒ เวลาเช้าตรู่ เธอให้จัดขาทนียะและโภชนียะอันประณีต แล้วให้แจ้งเวลา กระทำการต้อนรับพระเถระผู้มาพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย ไหว้แล้วมุ่งหน้าให้เข้าไปยังเรือน.
               ลำดับนั้น เมื่อพระเถระและภิกษุทั้งหลายนั่งบนอาสนะที่ลาดด้วยเครื่องลาดอันเป็นกัปปิยะควรค่ามาก ทำการบูชาด้วยของหอม ดอกไม้และธูป ให้พระเถระและภิกษุเหล่านั้นอิ่มหนำด้วยข้าวน้ำอันประณีต เกิดความเลื่อมใสกระทำอัญชลีฟังอนุโมทนา
               เมื่อพระเถระกระทำอนุโมทนาภัตรเสร็จแล้วไปอยู่ จึงถือบาตรตามส่ง ออกจากนครแล้วเมื่อจะกลับ วิงวอนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายพึง เข้ามายังเรือนของข้าพเจ้าเป็นนิตย์ รู้ว่าพระเถระรับแล้วจึงกลับ.
               เธออุปัฏฐากพระเถระอยู่อย่างนี้ ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว และได้สร้างวิหารถวาย ทั้งกระทำให้ญาติของตนทั้งหมดเลื่อมใสในพระศาสนา.
               ฝ่ายมารดาของเธอมีจิตถูกมลทินคือความตระหนี่กลุ้มรุม จึงได้บริภาษอย่างนี้ว่า เมื่อเรายังต้องการ เจ้าให้สิ่งไรแก่พวกสมณะ สิ่งนั้นจงสำเร็จเป็นโลหิตแก่เจ้าในปรโลก. แต่นางอนุญาตกำหางนกยูงกำหนึ่งที่ให้ในวันฉลองวิหาร นางทำกาละแล้วเกิดในกำเนิดเปรต แต่เพราะนางอนุโมทนาทานด้วยกำหางนกยูง นางจึงมีผมดำสนิทมีปลายตวัดขึ้น ละเอียดและยาว.
               ในคราวที่นางลงแม่น้ำคงคาด้วยคิดว่าจักดื่มน้ำนั้น แม่น้ำคงคาเต็มไปด้วยเลือด นางถูกความหิวกระหายครอบงำเที่ยวไปสิ้น ๕๕ ปี.
               วันหนึ่งได้เห็นพระกังขาเรวตเถระนั่งพักกลางวัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา จึงเอาผมของตนปิดตัวเข้าไปหา ขอน้ำดื่ม ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า :-
               นางเปรตมีผิวพรรณน่าเกลียดน่ากลัว มีผมยาวห้อยลงมาจดพื้นดิน คลุมตัวด้วยผม เข้าไปหาภิกษุผู้อยู่ในที่พักกลางวัน ซึ่งนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ได้กล่าวกะภิกษุนี้ว่า.
               คาถาทั้ง ๒ นี้พระสังคีติกาจารย์ได้ตั้งไว้ในเบื้องต้น ณ ที่นี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภีรุทสฺสนา แปลว่า เห็นเข้าน่ากลัว.
               บาลีว่า รุทฺททสฺสนา ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า เห็นเข้าน่าเกลียดน่ากลัว.
               บทว่า ยาวภูมาวลมฺพเร ได้แก่ มีผมห้อยย้อยลงมาถึงพื้นดิน.
               เมื่อก่อนกล่าวว่าภิกษุ ภายหลังกล่าวว่าสมณะ หมายเอาเฉพาะพระกังขาเรวตเถระนั่นเอง.
               ก็นางเปรตนั้นเข้าไปหาพระเถระแล้ว เมื่อจะขอน้ำดื่ม จึงกล่าวคาถานี้ว่า:-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันตั้งแต่ตายจากมนุษยโลกมา ยังไม่ได้บริโภคข้าวหรือดื่มน้ำเลยตลอดเวลา ๕๕ ปีแล้ว ขอท่านจงให้น้ำดื่มแก่ดิฉันผู้กระหายน้ำด้วยเถิด.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาภิชานามิ ภตฺตํ วา ความว่า ดิฉันไม่ได้บริโภคข้าวหรือดื่มน้ำเลย ในระยะกาลนานอย่างนี้ คือไม่ได้กินและไม่ได้ดื่ม.
               บทว่า ตสิตา แปลว่า ระหาย. มีวาจาประกอบความว่า บทว่า ปานียาย ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้น้ำดื่มแก่ดิฉันผู้เที่ยวไปเพื่อต้องการน้ำดื่ม.
               เบื้องหน้าแต่นี้ พึงทราบคาถาอันว่าด้วยคำและคำโต้ตอบของพระเถระและของนางเปรต ดังต่อไปนี้
               พระเถระกล่าวว่า :-
               แม่น้ำคงคานี้มีน้ำเย็นใสสะอาด ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ ท่านจงตักเอาน้ำจากแม่น้ำคงคานั้นดื่มเถิด จะมาขอน้ำดื่มกะเราทำไม.
               นางเปรตกล่าวว่า :-
               ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าดิฉันตักน้ำในแม่น้ำคงคานี้เองไซร้ น้ำนั้นย่อมกลับกลายเป็นโลหิตปรากฏแก่ดิฉัน เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงขอน้ำดื่มกะท่าน.
               พระเถระถามว่า :-
               ท่านได้กระทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาหรือใจ น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิตปรากฏแก่ท่าน.
               นางเปรตตอบว่า :-
               ดิฉันมีบุตรคนหนึ่งชื่ออุตตระ เป็นอุบาสกมีศรัทธา เขาได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่พระสมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของดิฉัน ดิฉันถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว ด่าเขาว่า เจ้าอุตตระ เจ้าถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัยแก่สมณะทั้งหลาย ด้วยความไม่พอใจของเรานั้นจงกลายเป็นเลือดปรากฏแก่เจ้าในปรโลก เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น น้ำในแม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นโลหิตปรากฏแก่ดิฉัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิมวนฺตโต ได้แก่ จากขุนเขาชื่อว่าหิมวันต์ เพราะมีหิมะมาก.
               บทว่า สนฺทติ แปลว่า ไหลไป.
               บทว่า เอตฺโต ได้แก่ จากแม่น้ำคงคาใหญ่นี้.
               ด้วยบทว่า กึ ท่านแสดงว่า ท่านขอน้ำดื่มกะเราทำไม ท่านจงลงสู่แม่น้ำคงคา ดื่มเอาตามชอบใจเถิด.
               บทว่า โลหิตํ เม ปริวตฺตติ ความว่า น้ำเมื่อไหลไปย่อมกลายคือแปรเป็นโลหิต เพราะผลแห่งกรรมชั่วของดิฉัน น้ำ พอนางเปรตนั้นตักขึ้นก็กลายเป็นโลหิตไป.
               บทว่า มยฺหํ อกามาย แปลว่า เมื่อดิฉันไม่ปรารถนา.
               บทว่า ปเวจฺฉติ แปลว่า ย่อมให้.
               บทว่า ปจฺจยํ ได้แก่ คิลานปัจจัย.
               มีวาจาประกอบความว่า บทว่า เอตํ เป็นต้น ความว่า ด้วยวิบากแห่งกรรมชั่วที่ดิฉันทำไว้ ด้วยอำนาจการสาปแช่งว่า ดูก่อนอุตตระ ปัจจัยมีจีวรเป็นต้นที่เจ้าให้แก่สมณะนี้ จงกลายเป็นโลหิตแก่เจ้าในปรโลก.
               ลำดับนั้น ท่านพระเรวตะได้ถวายน้ำดื่มแก่ภิกษุสงฆ์ อุทิศนางเปรตนั้น เที่ยวไปบิณฑบาต รับภัตต์แล้วได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ถือเอาผ้าบังสุกุลจากกองหยากเยื่อเป็นต้น ซักแล้วทำให้เป็นฟูกและหมอน ถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย. ด้วยเหตุนั้น นางเปรตนั้นจึงได้ทิพยสมบัติ.
               นางไปยังสำนักพระเถระ แสดงทิพยสมบัติที่ตนได้แก่พระเถระ.
               พระเถระประกาศประวัตินั้นแก่บริษัท ๔ ผู้มายังสำนักตน แล้วแสดงธรรมกถา ด้วยเหตุนั้น มหาชนจึงเกิดความสังเวชเป็นผู้ปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน ยินดียิ่งในกุศลธรรมมีทานและศีลเป็นต้น.
               ก็เปตวัตถุนี้ พึงเห็นว่าท่านยกขึ้นสู่สังคายนาในทุติยสังคีติ.

               จบอรรถกถาอุตตรมาตุเปติวัตถุที่ ๑๐               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๑๐. อุตตรมาตุเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 106อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 107อ่านอรรถกถา 26 / 108อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3835&Z=3859
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=3345
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=3345
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :