ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 109อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 110อ่านอรรถกถา 26 / 111อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒
๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ

               อรรถกถาอุพพรีเปติวัตถุที่ ๑๓               
               เรื่องนางอุพพรีเปรตนี้ มีคำเริ่มต้นว่า อหุ ราชา พฺรหฺมทตฺโต ดังนี้.
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสิกาคนหนึ่ง.
               เล่ากันมาว่า ในกรุงสาวัตถี ได้มีสามีของอุบาสิกาคนหนึ่งตายไป. อุบาสิกานั้นก็อาดูรเพราะความทุกข์ในการพลัดพรากจากสามี เศร้าโศก เดินร้องไห้ไปยังป่าช้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติแห่งโสดาปัตติผลของนาง ทรงมีพระมนัสอันพระกรุณากระตุ้นเตือน จึงเสด็จไปยังเรือนของนาง ประทับนั่งบนบัญญัตอาสน์.
               อุบาสิกาเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า อุบาสิกา เธอเศร้าโศกไปทำไม. เมื่อนางทูลว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเศร้าโศก เพราะพลัดพรากจากสามีสุดที่รัก ทรงมีพระประสงค์จะให้นางปราศจากความเศร้าโศก จึงได้นำอดีตนิทานมาว่า :-
               ในอดีตกาล ในกปิลนครแคว้นปัญจาละ ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต พระองค์ทรงละการลุแก่อคติ ทรงยินดีในการทำประโยชน์แก่ประชาชนในแว่นแคว้นของพระองค์ ไม่ทรงให้ราชธรรม ๑๐ ประการเสียหายครองราชสมบัติอยู่
               บางคราวประสงค์จะทรงสดับว่า ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีใครพูดอะไรกันบ้างจึงปลอมเป็นช่างหูก พระองค์เดียวไม่มีเพื่อน เสด็จออกจากนคร เที่ยวไปจากบ้านถึงบ้าน จากชนบทถึงชนบท ทรงเห็นแว่นแคว้นทั่วไปไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่ถูกเบียดเบียน (ทั้ง) พวกคนตื่นตัวอยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูเรือน ทรงเกิดความโสมนัสจึงเสด็จกลับมุ่งมายังพระนคร จึงเสด็จเข้าไปยังเรือนของหญิงหม้ายยากจนคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง.
               นางเห็นพระองค์จึงกล่าวถามว่า ดูก่อนเจ้า ท่านเป็นใครและมาจากไหน.
               พระราชาตรัสว่า นางผู้เจริญ ฉันเป็นช่างหูก เที่ยวรับจ้างทำการทอผ้า ถ้าท่านมีกิจในการทอผ้า ท่านจงให้อาหารและค่าจ้าง ฉันจะทำงานให้แม้แก่ท่าน
               หญิงหม้ายกล่าวว่า ฉันไม่มีงานหรือค่าจ้างดูก่อนเจ้า ท่านจงทำงานของคนอื่นเถิด.
               พระราชานั้นประทับอยู่ที่นั้น ๒-๓ วันทรงเห็นธิดาของนางเพียบพร้อมด้วยลักษณะของผู้มีบุญมีโชค จึงตรัสกะมารดาของนางว่า หญิงคนนี้ ใครๆ ทำการหวงแหนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีใครๆ หวงแหน ท่านจงให้เด็กหญิงคนนี้แก่เรา เราสามารถทำอุบายเครื่องเลี้ยงชีพตามความสบายแก่พวกท่านได้.
               หญิงหม้ายนั้นรับคำแล้วได้ถวายธิดานั้นแก่พระราชา.
               พระราชาทรงอยู่กับนางนั้น ๒-๓ วัน จึงพระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่นางแล้วตรัสว่า เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น เราก็จักกลับ แน่ะนางผู้เจริญ เจ้าอย่ากระสันไปเลย ดังนี้แล้วจึงเสด็จไปยังพระนครของพระองค์ ทรงรับสั่งให้สร้างหนทางในระหว่าง พระนครกับบ้านนั้น ให้สม่ำเสมอให้ประดับแล้วเสด็จไปในที่นั้นด้วยราชานุภาพอันใหญ่แล้ว ให้ตั้งนางทาริกานั้นไว้ในกองกหาปณะ แล้วให้อาบด้วยหม้อน้ำทองคำและหม้อน้ำเงิน แล้วให้ตั้งชื่อว่าอุพพรี แล้วทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีและได้ประทานบ้านนั้นแก่พวกญาติของนาง ได้นำนางมายังพระนครด้วยราชานุภาพอันใหญ่ ทรงอภิรมย์กับนาง เสวยรัชชสุขตลอดพระชนมชีพ ในที่สุดแห่งอายุก็เสด็จสวรรคต.
               ก็เมื่อพระราชาสวรรคตแล้ว และทำการถวายพระเพลิงพระศพเสร็จแล้ว พระนางอุพพรีมีหทัยเพียบพร้อมด้วยลูกศรคือความเศร้าโศก เพราะพลัดพรากจากพระสวามี ไปยังป่าช้า บูชาด้วยสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้นอยู่หลายวัน ระบุถึงพระคุณของพระราชา คร่ำครวญรำพันอยู่ ดุจถึงความเป็นบ้า กระทำประทักษิณป่าช้า.
               ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงผนวชเป็นฤาษี บรรลุฌานและอภิญญา อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งใกล้ๆ ขุนเขาหิมพานต์ ทอดพระเนตรเห็นพระนางอุพพรีผู้เพียบพร้อมไปด้วยลูกศรคือความเศร้าโศก ด้วยทิพยจักษุ เสด็จเหาะมา ปรากฏรูป ประทับยืนอยู่ในอากาศ ตรัสถามพวกมนุษย์ผู้อยู่ในที่นั้นว่า นี้เป็นป่าช้าของใครกัน และหญิงนี้คร่ำครวญรำพันอยู่ว่า พรหมทัต พรหมทัต เพื่อต้องการพรหมทัตคนไหน.
               พวกมนุษย์ได้ฟังดังนั้นพากันกล่าวว่า พระราชาของชาวปัญจาละทรงพระนามว่าพรหมทัต ท้าวเธอสวรรคต ในเวลาสิ้นพระชนมายุ นี้เป็นป่าช้าของท้าวเธอ นี้เป็นอัครมเหสีชื่อว่าอุพพรี ของพระองค์คร่ำครวญรำพันระบุถึงพระนามของพระองค์ว่า พรหมทัต พรหมทัต. พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อจะแสดงความนั้น จึงได้ตั้งคาถา ๖ คาถาว่า :-
               พระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ เสวยราชสมบัติในแคว้นปัญจาละราช เมื่อวันคืนล่วงไป พระองค์เสด็จสวรรคต พระนางเจ้าอุพพรีมเหสีเสด็จไปยังพระเมรุมาศ แล้วทรงกรรแสงอยู่ เมื่อพระนางไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัต ก็ทรงกรรแสงว่า พรหมทัต พรหมทัต
               ก็ดาบสผู้เป็นมุนีสมบูรณ์ด้วยจรณญาณ ได้มาที่พระนางอุพพรีประทับอยู่นั้น ท่านได้ถามชนทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นั้นว่า นี้เป็นพระเมรุมาศของใครกันมีกลิ่นหอมต่างๆ ฟุ้งตลบไป หญิงนี้เป็นภริยาของใครกัน ไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ ซึ่งเสด็จไปแล้วไกลจากโลกนี้ คร่ำครวญอยู่ว่า พรหมทัต พรหมทัต
               ชนที่มาประชุมกันอยู่ในที่นั้นกล่าวตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นี้เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ นี้เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต มีกลิ่นหอมฟุ้งตลบไป หญิงนี้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ เมื่อไม่เห็นพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นพระราชสวามี ซึ่งเสด็จไปไกลจากโลกนี้ ทรงกรรแสงอยู่ว่า พรหมทัต พรหมทัต.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหุ แปลว่า ได้มีแล้ว.
               บทว่า ปญฺจาลานํ ได้แก่ชาวปัญจาลรัฐ หรือได้แก่ ปัญจาลรัฐนั่นเอง.
               จริงอยู่ ชนบทแม้หนึ่งชนบท เขาแสดงออกด้วยคำเป็นอันมากว่า ปญฺจาลานํ ด้วยถ้อยคำอันดาดดื่น ด้วยอำนาจแห่งพระราชกุมารชาวชนบท.
               บทว่า รเถสโภ ความว่า ได้เป็นเสมือนผู้ยิ่งใหญ่ในรถ คือรถคันใหญ่.
               บทว่า ตสฺส อาฬาหนํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระราชาพระองค์นั้น.
               บทว่า อิสิ ความว่า ชื่อว่าฤาษี เพราะอรรถว่าแสวงหาซึ่งคุณมีฌานเป็นต้น.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในที่เป็นที่ประทับของพระนางอุพพรีนั้น คือในสุสาน.
               บทว่า อาคจฺฉิ แปลว่า ได้ไปแล้ว.
               บทว่า สมฺปนฺนจรโณ ความว่า ผู้ถึงพร้อมคือผู้ประกอบด้วยคุณ คือ จรณะ ๑๕ ประการเหล่านี้คือ สีลสัมปทา ความเป็นผู้คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ชาคริยานุโยค สัทธรรม ๗ ประการมีศรัทธาเป็นต้น และรูปาวจรฌาน ๔ ประการ.
               บทว่า มุนิ ความว่า ชื่อว่ามุนิ เพราะรู้ คือรู้ชัดซึ่งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น.
               บทว่า โส จ ตตฺถ อปุจฺฉิตฺถ ความว่า พระดาบสนั้นได้สอบถามถึงคนผู้อยู่ในที่นั้น.
               บทว่า เย ตตฺถ สุ สมาคตา ได้แก่ เหล่าคนผู้มาประชุมกันที่ป่าช้านั้น.
               ศัพท์ว่า สุ เป็นเพียงนิบาต. อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า เย ตตฺถาสุํ สมาคตา ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อาสุํ ความว่า ได้มีแล้ว.
               บทว่า นานาคนฺธสเมริตํ ความว่า มีกลิ่นนานาชนิดหอมฟุ้งอบอวลไปโดยรอบ.
               บทว่า อิโต แปลว่า จากมนุษยโลก.
               ด้วยคำว่า ทูรคตํ หญิงนี้กล่าวเพราะค่าที่ตนไปสู่ปรโลก.
               บทว่า พฺรหฺมทตฺตาติ วทติ ความว่า พระนางร้องเรียกด้วยอำนาจความรำพันโดยระบุถึงชื่ออย่างนี้ว่า พรหมทัต พรหมทัต.
               บทว่า พฺรหฺมทตฺตสฺส ภทฺทนฺเต พฺรหฺมทตฺตสฺส มาริส อธิบายว่า ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีกายและจิตปลอดโปร่ง ผู้นิรทุกข์ นี้เป็นพระเมรุมาศของพระเจ้าพรหมทัต หญิงนี้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตพระองค์นั้นนั่นเอง ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน และจงมีแด่พระเจ้าพรหมทัตนั้น ประโยชน์สุขย่อมมีแด่พระมเหสีเช่นนั้น ผู้สถิตอยู่ในปรโลก ด้วยความคิดถึงเนืองนิตย์ถึงหิตประโยชน์.
               ลำดับนั้น พระดาบสนั้น ครั้นสดับคำของคนเหล่านั้นแล้วด้วยอาศัยความอนุเคราะห์ จึงไปยังสำนักของพระนางอุพพรี เพื่อจะบรรเทาความเศร้าโศกของพระนางอุพพรี จึงได้กล่าวคาถาว่า :-
                                   พระราชาทรงพระนามว่าพรหมทัต ถูกเผา
                         ในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์แล้ว บรรดาพระเจ้า
                         พรหมทัตเหล่านั้น พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้า
                         พรหมทัตพระองค์ไหน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฉฬาสีติสหสฺสานิ ความว่า นับได้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์.
               บทว่า พฺรหฺมทตฺตสฺสนามกา ได้แก่ มีชื่ออย่างนี้ว่าพรหมทัต.
               บทว่า เตสํ กมนุโสจสิ ความว่า พระนางทรงพระกรรแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหน บรรดาพระเจ้าพรหมทัตที่นับได้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์นั้น.
               ดาบสถามว่า พระนางเกิดความเศร้าโศก เพราะอาศัยพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหนกัน.
               ก็พระนางอุพพรีถูกฤาษีนั้นถามแล้วอย่างนี้ เมื่อจะบอกถึงพระเจ้าพรหมทัตที่ตนประสงค์ จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชาพระองค์ใด
                         เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี ทรงเป็นใหญ่
                         อยู่ในแคว้นปัญจาละ ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชา
                         พระองค์นั้นผู้เป็นพระราชสวามี ทรงประทานสิ่ง
                         ของที่น่าปรารถนาทุกอย่าง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จูฬนีปุตฺโต ได้แก่ พระโอรสของพระราชาผู้ทรงพระนามอย่างนั้น.
               บทว่า สพฺพกามทํ ได้แก่ ผู้ทรงประทานสิ่งทั้งปวงที่น่าต้องการน่าปรารถนาแก่ดิฉัน หรือผู้ให้สิ่งที่สรรพสัตว์ต้องการ.
               เมื่อพระนางอุพพรีกล่าวอย่างนี้แล้ว ดาบสจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาอีกว่า :-
                                   พระราชาทุกพระองค์ ทรงพระนามว่า
                         พรหมทัตเหมือนกันทั้งหมด ล้วนเป็นพระราช
                         โอรสของพระเจ้าจูฬนี เป็นใหญ่อยู่ในแคว้น
                         ปัญจาละ พระนางเป็นพระมเหสี ของพระราชา
                         เหล่านั้นทั้งหมดโดยลำดับกันมา เพราะเหตุไร
                         พระนางจึงเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ เสีย มา
                         ทรงกรรแสงถึงพระราชาพระองค์หลังเล่า.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพวาเหสุํ ความว่า พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดนับได้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี พระนามว่าพรหมทัต ได้เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ.
               ความพิเศษมีความเป็นพระราชาเป็นต้นเหล่านี้ ไม่ได้มีแต่พระราชาแม้พระองค์เดียวในพระราชาเหล่านั้น.
               บทว่า มเหสิตฺตมการยิ ความว่า ก็ท่านได้กระทำ ให้เป็นพระอัครมเหสีของพระราชาทั้งหมดนั้น โดยลำดับ. อธิบายว่า ถึงโดยลำดับ.
               ด้วยบทว่า กสฺมา พระดาบสถามว่า ท่านเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ ในบรรดาพระราชาเหล่านี้ผู้ไม่พิเศษโดยคุณและโดยเป็นพระสวามี มาทรงกรรแสงถึงพระราชาพระองค์หลังพระองค์เดียวเท่านั้น เป็นเพราะเหตุไร คือด้วยเหตุไร?
               พระนางอุพพรีได้ฟังดังนั้นแล้วเกิดสลดพระทัย จึงกล่าวคาถากะดาบสอีกว่า :-
                                   ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ดิฉันเกิดเป็นแต่หญิง
                         ตลอดกาลนานเท่านั้นหรือ หรือจะเกิดเป็นชาย
                         บ้าง ท่านพูดถึงแต่กาลที่ดิฉันเป็นหญิง ในสงสาร
                         เป็นอันมาก.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาตุเม คือ ในตน.
               บทว่า อิตฺถิภูตาย แปลว่า เกิดเป็นผู้หญิง.
               บทว่า ทีฆรตฺตาย แปลว่า ตลอดกาลนาน.
               จริงอยู่ ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า เมื่อดิฉันเป็นผู้หญิงก็คงเป็นผู้หญิงอยู่ตลอดกาลเท่านั้น หรือว่าจะเป็นผู้ชายได้บ้าง.
               บทว่า ยสฺสา เม อิตฺถิภูตาย ความว่า ข้าแต่ท่านพระมหามุนี ท่านพูดถึงคือกล่าวถึงแต่กาลที่ดิฉันเป็นหญิง เป็นมเหสี ในสงสารมากมายถึงเพียงนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า อาหุ เม อิตฺถิภูตาย ดังนี้ก็มี.
               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า อา เป็นนิบาต ใช้ในอนุสสรณัตถะ.
               บทว่า อาหุ เม ความว่า ดิฉันเองได้ระลึกถึง คือได้รู้ทั่วถึงข้อนี้.
               มีวาจาประกอบความว่า เมื่อดิฉันเป็นหญิง คือเกิดเป็นผู้หญิง ดิฉันเกิดไปๆ มาๆ ตลอดกาลเพียงเท่านี้ ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะเหตุไร? เพราะเมื่อดิฉันเป็นหญิง ท่านได้ทำดิฉันให้เป็นมเหสีของพระราชาทุกพระองค์โดยลำดับ ข้าแต่พระมหามุนี ท่านได้กล่าวถึงฉันในสงสารเป็นอันมาก เพราะเหตุไร?
               พระดาบสครั้นได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงว่า การกำหนดแน่นอนนี้ ไม่มีในสงสารว่า หญิงก็ต้องเป็นหญิง ชายก็ต้องเป็นชาย อยู่นั่นเอง จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   บางคราวพระนางเกิดเป็นหญิง บางคราว
                         ก็เกิดเป็นชาย บางคราวก็เกิดในกำเนิดปสุสัตว์
                         ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีต ย่อมไม่
                         ปรากฏอย่างนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหุ อิตฺถี อหุ ปุริโส ความว่า บางคราวท่านก็เป็นหญิง บางคราวก็เป็นชาย จะเป็นหญิงหรือเป็นชายอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้เกิดในกำเนิดปสุสัตว์บ้าง คือ บางคราวก็ไปสู่ภาวะปสุสัตว์บ้าง คือบางคราวก็เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง.
               บทว่า เอวเมตํ อตีตานํ ปริยนฺโต น ทิสฺสติ ความว่า ที่สุดแห่งอัตภาพอันเป็นอดีต อันเกิดเป็นหญิง เป็นชายและเป็นสัตว์ดิรัจฉานเป็นต้นอย่างนี้ คือตามที่กล่าวแล้วนี้ ย่อมไม่ปรากฏแก่ผู้เห็นด้วยญาณจักษุ คือด้วยความอุตสาหะใหญ่สำหรับพระองค์ คืออย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้ที่สุดแห่งอัตภาพของเหล่าสัตว์ผู้วนเวียนอยู่ในสงสารทั้งหมด ย่อมไม่ปรากฏ คือรู้ไม่ได้ทีเดียว.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ไม่มีที่สุดและ
                         เบื้องต้นอันใครๆ ไปตามอยู่รู้ไม่ได้ เบื้องต้นและ
                         ที่สุดของเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น ผูก
                         พันด้วยตัณหา แล่นไปท่องเที่ยวไป ย่อมไม่ปรากฏ.

               พระมเหสีได้ฟังธรรมที่พระดาบสนั้น เมื่อจะประกาศความที่สงสารไม่มีที่สุดและความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน แสดงไว้แล้วอย่างนี้ มีหทัยสลดในสงสาร และมีใจเลื่อมใสในธรรมปราศจากลูกศรคือความเศร้าโศก.
               เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสและความปราศจากเศร้าโศกของตน จึงกล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
                                   ท่านดับความกระวนกระวายทั้งปวงของดิฉัน
                         ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หายเหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราด
                         ด้วยน้ำมันฉะนั้น
                                   ท่านบรรเทาความเศร้าโศก ถึงพระสวามีของ
                         ดิฉัน ผู้ถูกความเศร้าโศกครอบงำแล้ว ถอนได้แล้ว
                         หนอ ซึ่งลูกศรความเศร้าโศก อันเสียดแทงที่หทัย
                         ของดิฉัน
                                   ข้าแต่ท่านผู้เป็นพระมหามุนี ดิฉันเป็นผู้มี
                         ลูกศรคือความเศร้าโศกอันถอนขึ้นได้แล้ว เป็นผู้
                         เย็นสงบ ดิฉันไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้อีก เพราะได้
                         ฟังคำของท่าน.

               ความของคาถานั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               บัดนี้ พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระนางอุพพรีผู้มีพระหทัยสลด จึงได้ตรัสพระคาถา ๔ พระคาถาว่า :-
                                   พระนางอุพพรีฟังคำสุภาษิตของดาบสผู้เป็นสมณะ
                         นั้นแล้ว ถือบาตรและจีวรออกบวชเป็นบรรพชิต ครั้นออก
                         บวชแล้ว เจริญเมตตาจิตเพื่อเข้าถึงพรหมโลก
                                   พระนางอุพพรีนั้น เมื่อท่องเที่ยวไปสู่บ้านหนึ่งจาก
                         บ้านหนึ่ง สู่นิคมและราชธานีทั้งหลาย ได้เสด็จสวรรคต
                         ที่บ้านอุรุเวลา
                                   พระนางเบื่อหน่ายความเป็นหญิง เจริญเมตตาจิต
                         เพื่อบังเกิดในพรหมโลก จึงได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส ได้แก่ ดาบสนั้น.
               บทว่า สุภาสิตํ ได้แก่ คำอันเป็นสุภาษิต. อธิบายว่า ซึ่งธรรม.
               บทว่า ปพฺพชิตา สนฺตา ได้แก่ เข้าถึงบรรพชาหรือบวชแล้ว เป็นผู้มีกายวาจาสงบ.
               ด้วยบทว่า เมตฺตจิตฺตํ พระนางอุพพรีกล่าวถึงจิตที่เกิดพร้อมด้วยเมตตา คือฌานที่มีเมตตาเป็นอารมณ์ โดยยกจิตขึ้นเป็นประธาน.
               บทว่า พฺรหฺมโลกูปปตฺติยา ความว่า ก็และพระนางเมื่อเจริญเมตตาจิตนั้น ก็เจริญเพื่อเข้าถึงพรหมโลก ไม่ใช่เพื่อเป็นบาทแห่งวิปัสสนาเป็นต้น.
               จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ ดาบสและปริพาชกผู้เจริญธรรมมีพรหมวิหารเป็นต้นก็เจริญเพียงเพื่อภวสมบัติเท่านั้น.
               บทว่า คามา คามํ ได้แก่ จากบ้านหนึ่งไปบ้านหนึ่ง.
               บทว่า อาภาเวตฺวา แปลว่า เจริญแล้ว คือ พอกพูนแล้ว. บางอาจารย์กล่าวว่า อภาเวตฺวา ก็มี. อักษร ของบทว่า อภาเวตฺวา ของอาจารย์บางพวกนั้นเป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า อิตฺถิ จิตฺตํ วิราเชตฺวา ความว่า คลายความคิด คือความมีอัธยาศัย ได้แก่ความชอบใจในความเป็นหญิง คือเป็นผู้มีจิตปราศจากความยินดีในความเป็นหญิง.
               บทว่า พฺรหฺมโลกูปคา ความว่า ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกโดยการถือปฏิสนธิ.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ได้ทรงกระทำความเศร้าโศกของอุบาสิกานั้น โดยจตุสัจจเทศนาเบื้องบน. ในเวลาจบสัจจะ อุบาสิกานั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. และเทศนาได้มีประโยชน์แก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอุพพรีเปติวัตถุที่ ๑๓               
               -----------------------------------------------------               

               รวมเรื่องที่มีในอุพพรีวรรคนี้ คือ
                         ๑. สังสารโมจกเปตวัตถุ
                         ๒. สารีปุตตเถรมาตุเปติวัตถุ
                         ๓. มัตตาเปติวัตถุ
                         ๔. นันทาเปตวัตถุ
                         ๕. มัฏฐกุณฑลีเปตวัตถุ
                         ๖. กัณหเปตวัตถุ
                         ๗. ธนปาลเปตวัตถุ
                         ๘. จูฬเสฏฐีเปตวัตถุ
                         ๙. อังกุรเปตวัตถุ
                         ๑๐. อุตตรมาตุเปตวัตถุ
                         ๑๑. สุตตเปตวัตถุ
                         ๑๒. กรรณมุณฑเปตวัตถุ
                         ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ
               จบอุพพรีวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุพพรีวรรคที่ ๒ ๑๓. อุพพรีเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 109อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 110อ่านอรรถกถา 26 / 111อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=3931&Z=3987
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=3786
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=3786
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :