ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 120อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 26 / 122อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ

               มหาวรรคที่ ๔               
               อรรถกถาอัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑               
               เรื่องอัมพสักขรเปรตนี้ มีคำเริ่มต้นว่า เวสาลี นาม นครตฺถิ วชฺชีนํ ดังนี้.
               เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร เจ้าลิจฉวีนามว่าอัมพสักขระ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาทะ ครองราชย์ในเมืองเวสาลี.
               ก็สมัยนั้น ในพระนครเวสาลี มีเปือกตมอยู่ในที่ใกล้ร้านตลาดของพ่อค้าคนหนึ่ง. ชนเป็นอันมากในที่นั้นโดดข้ามไปลำบาก บางคนเปื้อนโคลน. พ่อค้านั้นเห็นดังนั้นจึงคิดว่า คนเหล่านี้อย่าเหยียบเปือกตม จึงให้นำกระดูกศีรษะโคอันมีส่วนเปรียบด้วยสีสังข์ปราศจากกลิ่นเหม็น มาวางทอดไว้.
               ก็ตามปกติ เขาเป็นคนมีศีล ไม่มักโกรธ มีวาจาอ่อนหวาน และระบุถึงคุณตามความเป็นจริงของคนเหล่าอื่น.
               วันนั้น เมื่อสหายของตนอาบน้ำ ไม่แลดูด้วยความเลินเล่อ เขาจึงซ่อนผ้านุ่งไว้ด้วยความประสงค์จะล้อเล่น ทำให้เขาลำบากเสียก่อนจึงได้ให้ไป. ก็หลานของเขาขโมยภัณฑะมาจากเรือนของคนอื่น แล้วทิ้งไว้ที่ร้านของเขานั่นเอง. เจ้าของภัณฑะเมื่อตรวจดู จึงแสดงหลานของเขาและตัวเขาพร้อมทั้งภัณฑะแก่พระราชา.
               พระราชาสั่งบังคับว่า พวกท่านจงตัดศีรษะผู้นี้ ส่วนหลานของเขาจงเสียบหลาวไว้.
               พวกราชบุรุษได้กระทำดังนั้น.
               เขาทำกาละแล้วเกิดในภุมเทพ ได้เฉพาะม้าอาชาไนยทิพ มีสีขาว มีความเร็วทันใจ เพราะเอาศีรษะโคทำสะพาน และเพราะการกล่าวสรรเสริญคุณของผู้มีคุณ กลิ่นทิพจึงฟุ้งออกจากกายของเขา แต่เขาได้เป็นผู้เปลือยกาย เพราะเก็บผ้าสาฎกซ่อนไว้.
               เขาตรวจดูกรรมที่ตนทำไว้ในกาลก่อน เห็นหลานของตนถูกเสียบหลาวโดยทำนองนั้น ถูกความกรุณากระตุ้นเตือนจึงขึ้นม้ามีฝีเท้าเร็วทันใจ ในเวลาเที่ยงคืนก็ถึงสถานที่ที่หลานนั้นถูกเสียบไว้บนหลาว จึงยืนอยู่ในที่ไม่ไกล กล่าวทุกวันๆ ว่า จงมีชีวิตอยู่เถอะ พ่อผู้เจริญ ชีวิตเท่านั้นเป็นของประเสริฐ.
               ก็สมัยนั้น พระเจ้าอัมพสักขระเสด็จบนคอช้างเชือกประเสริฐ เสด็จเลียบพระนคร ทรงเห็นหญิงคนหนึ่งเปิดหน้าต่างในเรือนหลังหนึ่งผู้กำลังดูสมบัติของพระราชา ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ จึงให้สัญญาแก่บุรุษผู้นั่งอยู่หลังอาสนะว่า ท่านจงใคร่ครวญเรือนนี้และหญิงนี้ ดังนี้แล้วเสด็จเข้าพระนิเวศน์ของพระองค์โดยลำดับ ส่งบุรุษนั้นไปโดยให้รู้ว่า ไปเถอะพนาย เธอจงรู้ว่า หญิงนั้นมีสามีหรือไม่.
               เขาไป รู้ว่าหญิงนั้นมีสามีแล้ว จึงกราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาเมื่อทรงคิดถึงอุบายที่จะครอบครองหญิงนั้น จึงรับสั่งให้เรียกสามีของนางมาแล้วตรัสว่า มาเถอะ พนาย เธอจงอุปัฏฐากเรา. เขาแม้จะไม่ปรารถนาก็รับอุปัฏฐากพระราชา เพราะกลัวว่า เมื่อเราไม่กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ พระราชาก็จะลงราชทัณฑ์ จึงได้ไปอุปัฏฐากพระราชาทุกวันๆ.
               ฝ่ายพระราชาก็ได้ประทานบำเหน็จรางวัลแก่เธอ โดยล่วงไป ๒-๓ วัน ก็ได้ตรัสกะเธอผู้มายังที่บำรุงแต่เช้าตรู่ อย่างนี้ว่า ไปเถอะ พนายในที่โน้นมีสระโบกขรณีลูกหนึ่ง เธอจงนำดินสีอรุณและดอกอุบลแดงจากสระโบกขรณีนั้นมา ถ้าเธอไม่มาภายในวันนี้ ชีวิตของเธอจะหาไม่. ก็เมื่อเขาไปแล้ว จึงตรัสกะคนผู้รักษาประตูว่า วันนี้ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ทันอัศดงคต เธอจงปิดประตูทุกด้าน.
               ก็สระโบกขรณีนั้นอยู่ในที่สุด ๓๐๐ โยชน์ แต่กรุงเวสาลี. อนึ่ง บุรุษนั้นถูกมรณภัยคุกคาม จึงถึงสระโบกขรณีนั้นแต่เช้าทีเดียว เพราะกำลังเร็วของลม เพราะได้สดับตรับฟังมาก่อนว่า สระโบกขรณีนั้น อมนุษย์หวงแหน เพราะความกลัว เขาจึงเดินเวียนไปรอบๆ ด้วยคิดว่า ในที่นี้จะมีอันตรายอะไรๆ หรือไม่หนอ.
               อมนุษย์ผู้รักษาสระโบกขรณีเห็นเขาแล้วเกิดความกรุณา แปลงเป็นมนุษย์เข้าไปหาแล้วกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านมาที่นี้เพื่อประโยชน์อะไร.
               เขาก็ได้เล่าเรื่องนั้นให้อมนุษย์นั้นฟัง.
               อมนุษย์นั้นจึงกล่าวว่า ถ้าเมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจงถือเอาตามต้องการเถิด ดังนี้แล้วจึงแสดงรูปทิพของตนแล้วหายไป.
               เขาถือเอาดินสีอรุณและดอกอุบลแดงในสระโบกขรณีนั้น ถึงประตูพระนครในเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัศดงคตเลย. ผู้รักษาประตูเห็นเขาแล้ว เมื่อเขาร้องบอกอยู่นั่นแหละ ก็ปิดประตูเสีย.
               เมื่อประตูถูกปิด เขาเข้าไปไม่ได้ เห็นบุรุษผู้อยู่บนหลาวใกล้ประตู จึงได้กระทำให้เป็นสักขีพยานว่า คนเหล่านี้ เมื่อเรามาถึงในเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัศดงคต ร้องขออยู่นั้นเอง ก็ปิดประตูเสีย ถึงท่านก็จงรู้เถิดว่า เรามาทันเวลา เราไม่มีโทษ.
               บุรุษผู้อยู่บนหลาวได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า เราถูกร้อยหลาว เขาจะฆ่า บ่ายหน้าไปหาความตาย จะเป็นพยานให้ท่านได้อย่างไร. ก็ในที่นี้ เปรตตนหนึ่งมีฤทธิ์มากจักมาที่ใกล้เรา ท่านจงทำเปรตนั้นเป็นพยานเถิด.
               บุรุษนั้นถามว่า เราจะเห็นเปรตผู้มีฤทธิ์มากตนนั้นได้อย่างไร.
               บุรุษผู้อยู่บนหลาวกล่าวว่า ท่านจงรออยู่ที่นี้แหละ ท่านจักเห็นด้วยตนเอง.
               เขายืนอยู่ในที่นั้น เห็นเปรตนั้นมาในมัชฌิมยาม จึงได้ทำให้เป็นพยาน.
               ก็เมื่อราตรีสว่าง เมื่อพระราชาตรัสว่า ท่านล่วงอาญาของเรา เพราะฉะนั้น เราจะลงราชทัณฑ์แก่ท่าน. บุรุษนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่ได้ล่วงอาชญาของพระองค์ ข้าพระองค์มาในที่นี้ ในเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคตเลย.
               พระราชาตรัสถามว่า ในข้อนั้น ใครเป็นพยานให้เธอ. บุรุษนั้นจึงอ้างถึงเปรตเปลือยผู้มายังสำนักของบุรุษผู้ถูกหลาวร้อยนั้นว่าเป็นพยาน เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ข้อนั้นเราจะเชื่อได้อย่างไร จึงทูลว่า วันนี้ในเวลาราตรี พระองค์จงส่งบุรุษผู้ควรเชื่อได้ไปกับข้าพระองค์.
               พระราชาได้สดับดังนั้นจึงเสด็จไปในที่นั้นพร้อมกับบุรุษนั้นด้วยพระองค์เอง แล้วประทับยืนอยู่ และเมื่อเปรตมาในที่นั้นกล่าวว่า จงเป็นอยู่เถิดผู้เจริญ ชีวิตเท่านั้นประเสริฐกว่า จึงทรงสอบถามเปรตนั้นด้วยคาถา ๕ คาถาโดยนัยมีอาทิว่า การนอน การนั่งไม่มีแก่ผู้นี้ ดังนี้.
               ก็ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อจะแสดงความสัมพันธ์แห่งคาถาเหล่านั้น พระสังคีติกาจารย์จึงได้ตั้งคาถาว่า เวสาลิ นาม นครตฺถิ วชฺชีนํ ความว่า :-
               มีนครชาววัชชีนครหนึ่งนามว่าเวสาลี ในนครเวสาลีนั้นมีกษัตริย์ลิจฉวีพระนามว่าอัมพสักขระ ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตตนหนึ่งที่ภายนอกพระนคร มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงตรัสถามเปรตนั้นในที่นั้นนั่นเองว่า
               การนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา การลิ้ม การดื่ม การเคี้ยว การนุ่งห่ม แม้หญิงบำเรอของคนผู้ถูกเสียบไว้บนหลาวนี้ ย่อมไม่มี ชนเหล่าใดผู้เป็นญาติ เป็นมิตรสหาย เคยเห็นเคยฟังร่วมกันมา เคยมีความเอ็นดูกรุณาของบุคคลใดมีอยู่ในกาลก่อน เดี๋ยวนี้คนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนบุคคลนั้นก็ไม่ได้ บุรุษนี้มีตนอันญาติเป็นต้นสละแล้ว มิตรสหายย่อมไม่มีแก่คนผู้ตกยาก
               พวกมิตรสหายทราบว่า ผู้ใดขาดแคลนย่อมละทิ้งผู้นั้น และเห็นใครมั่งคั่งบริบูรณ์ก็พากันไปห้อมล้อม คนที่มั่งคั่งด้วยสมบัติ ย่อมมีมิตรสหายมาก ส่วนบุคคลผู้เสื่อมจากทรัพย์สมบัติ เป็นผู้ฝืดเคืองด้วยโภคะ ย่อมหามิตรสหายยาก นี้เป็นธรรมดาของโลก
               บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบนี้มีร่างกายเปื้อนเลือด ตัวทะลุเป็นช่องๆ ชีวิตของบุรุษนี้จักดับไปในวันนี้ พรุ่งนี้ เหมือนหยาดน้ำค้างอันติดอยู่บนปลายหญ้าคาฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงพูดกะบุรุษผู้ถึงความลำบากอย่างยิ่ง นอนหงายบนหลาวไม้สะเดาเช่นนี้ว่า ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นของประเสริฐ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในเมืองเวสาลีนั้น.
               บทว่า นครสฺส พาหิรํ ได้แก่ มีอยู่ในภายนอกพระนคร คือเกิดเป็นไป เกี่ยวพันกันในภายนอกแห่งนครเวสาลีนั่นเอง.
               บทว่า ตตฺเถว คือ ในที่ที่ตนเห็นเปรตนั้นนั่นแล.
               บทว่า ตํ โยค ตํ เปตํ แปลว่า ซึ่งเปรตนั้น.
               บทว่า การณตฺถิโก ได้แก่ เป็นผู้มีความต้องการ ด้วยเหตุเพื่อผลดังกล่าวว่า จงมีชีวิตอยู่เถิด ท่านผู้เจริญ การมีชีวิตอยู่นั่นแหละประเสริฐ.
               บทว่า เสยฺยา นิสชฺชา นยิมสฺส อตฺถิ ความว่า การนอนมีการเหยียดหลังเป็นลักษณะ และการนั่งมีการนั่งคู้บัลลังก์เป็นลักษณะ ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ถูกหลาวเสียบนี้ได้.
               บทว่า อภิกฺกโม นตฺถิ ปฏิกฺกโม จ ความว่า การไปมีการก้าวไปข้างหน้า แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่มีแก่บุคคลนี้.
               บทว่า ปริจาริกา สาปิ ความว่า แม้หญิงผู้บำรุงบำเรออินทรีย์ซึ่งมีลักษณะเช่น การกิน การดื่ม การเคี้ยว การนุ่งผ้าและการใช้สอยเป็นต้นแม้นั้นก็ไม่มีแก่บุคคลนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีว่า ปริหรณา สาปิ ดังนี้ก็มี.
               อธิบายว่า แม้หญิงผู้บริหารอินทรีย์ด้วยสามารถแห่งการบริโภคมีของกินเป็นต้นก็ไม่มีแก่ผู้นี้ เพราะเป็นผู้ปราศจากชีวิต. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปริจารณา สาปิ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ทิฏฺฐสุตา สุหชฺชา อนุกมฺปกา ยสฺส อเหสุํ ปุพฺเพ ความว่า ผู้ที่มีคนเป็นสหายเคยเห็นกันมา และไม่เคยเห็นกันมา เป็นมิตร มีความเอ็นดู ได้มีในกาลก่อน.
               บทว่า ทฏฺฐุมฺปิ ความว่า บุคคลเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมก็ไม่ได้ คือการอยู่ร่วมกัน จักมีแต่ที่ไหน.
               บทว่า วิราชิตตฺโต ได้แก่ ผู้มีสภาวะ อันญาติเป็นต้นสละแล้ว.
               บทว่า ชเนน เตน ได้แก่ อันชนมีชนผู้เป็นญาติเป็นต้นนั้น.
               บทว่า น โอคฺคตตฺตสฺส ภวนฺติ มิตฺตา ความว่า ขึ้นชื่อว่ามิตร ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ปราศจากวิญญาณไปแล้ว คือผู้ตายไปแล้ว เพราะผู้นั้นผ่านพ้นจากกิจที่มิตรจะพึงกระทำต่อมิตร.
               บทว่า ชหนฺติ มิตฺตา วิกลํ วิทิตฺวา ความว่า ผู้ที่ตายแล้วจงยกไว้ก่อน. พวกมิตร พอทราบบุรุษแม้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ขาดแคลนโภคสมบัติ ก็ละทิ้งเขาเสียด้วยคิดว่า สิ่งอะไรๆ ที่ควรถือเอาได้จากบุรุษนี้ ย่อมไม่มีเลย.
               บทว่า อตฺถญฺจ ทิสฺวา ปริวารยนฺติ ความว่า เห็นทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ซึ่งเป็นของของผู้นั้นแล้ว กล่าววาจาน่ารักเห็นแก่หน้า พากันแวดล้อมผู้มั่งคั่งด้วยโภคสมบัตินั้น.
               บทว่า พหุ มิตฺตา อุคฺคตตฺตสฺส โหนฺติ ความว่า บุคคลผู้มีความสำเร็จ มีสภาพมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ย่อมมีมิตรมากมายนี้ เป็นสภาพทางโลก.
               บทว่า นิหีนตฺโต สพฺพโภเคหิ ได้แก่ บุคคลผู้มีตนเสื่อมจากวัตถุอันเป็นเครื่องอุปโภคและบริโภคทั้งหมด.
               บทว่า กิจฺโฉ ได้แก่ เป็นผู้ตกทุกข์.
               บทว่า สมฺมกฺขิโต ได้แก่ ผู้มีร่างกายเปื้อนด้วยเลือด.
               บทว่า สมฺปริภินฺนคตฺโต ได้แก่ ผู้มีตัวถูกหลาวเสียบในภายใน.
               บทว่า อุสฺสาวพินฺทูว ปลิมฺปมาโน ได้แก่ เสมือนหยาดน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า.
               บทว่า อชฺช สุเว ความว่า ชีวิตของบุรุษนี้จักดับศูนย์ในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้ ต่อแต่นั้นไปก็เป็นไปไม่ได้.
               บทว่า อุตฺตาสิตํ ได้แก่ ถูกหลาวร้อย คือเสียบไว้.
               บทว่า ปุจิมนฺทสฺส สูเล ได้แก่ บนหลาวที่เขาทำด้วยท่อนไม้สะเดา.
               บทว่า เกน วณฺเณน แปลว่า ด้วยเหตุไร.
               บทว่า ชีว โภ ชีวิตเมว เสยฺโย ความว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะท่านถูกหลาวเสียบยังมีชีวิตอยู่ในที่นี้ก็ยังประเสริฐกว่า คือดีกว่าชีวิตของบุคคลผู้จุติจากโลกนี้ ตั้งร้อยเท่าพันเท่า.
               เปรตนั้นถูกพระราชานั้นตรัสถามแล้วอย่างนี้ เมื่อจะประกาศความประสงค์ของตน จึงกล่าวคาถา ๔ คาถาว่า :-
               ข้าแต่พระราชา บุรุษนี้เป็นสาโลหิตของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ระลึกถึงชาติก่อน ข้าพระองค์เห็นแล้วมีความกรุณาแก่เขาว่า ขออย่าให้บุรุษผู้เลวทรามนี้ไปตกนรกเลย.
               ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้จุติจากอัตภาพนี้แล้วจักเข้าถึงนรกอันยัดเยียดไปด้วยสัตว์ผู้ทำบาป เป็นสถานที่ร้ายกาจ มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อนให้เกิดความน่ากลัว หลาวนี้ประเสริฐกว่านรกนั้นตั้งหลายพันเท่า ขออย่าให้บุรุษนี้ไปตกนรกอันมีแต่ความทุกข์โดยส่วนเดียว เผ็ดร้อน ให้เกิดความน่ากลัว มีความทุกข์กล้าแข็งอย่างเดียว
               บุรุษนี้ฟังคำของข้าพระองค์อย่างนี้แล้ว ประหนึ่งว่า ข้าพระองค์น้อมเข้าไปสู่ทุกข์ในนรกนั้น จะพึงสละชีวิตของตนเสีย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า ชีวิตของบุรุษนี้อย่าได้ดับไปเสีย เพราะคำของข้าพระองค์เลย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงพูดว่า ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด การมีชีวิตอยู่เป็นของประเสริฐ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาโลหิโต ได้แก่ มีโลหิตเสมอกัน คือเชื่อมกันโดยกำเนิด. อธิบายว่า เป็นญาติกัน.
               บทว่า ปุริมาย ชาติยา คือ ในอัตภาพก่อน.
               บทว่า มา ปาปธมฺโม นิรยํ ปตายํ มีวาจาประกอบความว่า ข้าพระองค์ได้เห็นผู้นี้แล้วได้มีความกรุณาว่า ขออย่าให้บุรุษผู้มีธรรมอันเลวทรามนี้ตกนรกเลย คืออย่าได้เข้าถึงนรกเลย.
               บทว่า สตฺตุสฺสทํ ความว่า หนาแน่นด้วยสัตว์ผู้ทำกรรมชั่ว.
               อีกอย่างหนึ่ง หนาแน่นด้วยเหตุอันหยาบช้ามีการจองจำ ๕ อย่างเป็นต้น ๗ อย่างเหล่านี้คือ การจองจำ ๕ อย่าง คือเทโลหะร้อนๆ เข้าไปในปาก ให้ขึ้นภูเขาอันเต็มด้วยถ่านเพลิง ใส่เข้าในหม้อเหล็ก ให้เข้าไปยังป่าอันพร้อมด้วยดาบ ให้ลงไปในชลาลัยในนรก โยนทิ้งลงไปในมหานรก. อธิบายว่า ก่อสั่งสมจนมากๆ ขึ้นไป.
               บทว่า มหาภิตาปํ ได้แก่ ทุกข์ใหญ่ หรือความเร่าร้อนอันเกิดแต่กองไฟใหญ่.
               บทว่า กฏุกํ แปลว่า ไม่น่าปรารถนา.
               บทว่า ภยานกํ แปลว่า ให้เกิดความกลัว.
               บทว่า อเนกภาเคน คุเณน ได้แก่ ด้วยอานิสงส์หลายส่วน.
               บทว่า อยเมว สูโล นิรเยน เตน ความว่า หลาวนี้แหละประเสริฐกว่านรก อันเป็นที่เกิดของบุรุษนี้นั้น.
               จริงอยู่ บทว่า นิรเยน นี้เป็นตติยาวิภัติ ใช้ในอรรถแห่งปัญจมีวิภัติ.
               บทว่า เอกนฺตติพฺพํ ความว่า มีความทุกข์อันแรงกล้าโดยส่วนเดียวแท้ คือเป็นทุกข์ใหญ่อย่างแน่นอน.
               บทว่า อินญฺจ สุตฺวา วจนํ มเมโส ความว่า บุรุษนี้ฟังถ้อยคำของเรานี้ที่กล่าวโดยนัยมีอาทิว่า อิโต จุโต เคลื่อนจากอัตภาพนี้แล้วเป็นต้น เป็นผู้เข้าถึงทุกข์ เป็นเหมือนเข้าถึงทุกข์ในนรก ตามคำของเรา.
               บทว่า วิชเหยฺย ปาณํ ความว่า พึงสละชีวิตของตน.
               บทว่า ตสฺมา แปลว่า เพราะเหตุนั้น.
               บทว่า มา เม กโต อธิบายว่า เราไม่ได้พูดคำนี้ในที่ใกล้แห่งบุรุษนี้ว่า ขอชีวิตของบุรุษนี้จงอย่าดับพร้อมกับเราเลย. โดยที่แท้ เราพูดเพียงเท่านี้ว่า จงมีชีวิตอยู่เถอะท่านผู้เจริญ เพราะชีวิตนั่นแหละประเสริฐ.

               เมื่อเปรตประกาศความประสงค์ของตนอย่างนี้ พระราชาเมื่อทรงให้โอกาสเพื่อจะถามประวัติของเปรตนั้นอีก จึงตรัสคาถานี้ว่า :-
               เรื่องของบุรุษนี้ เรารู้แล้ว แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่น ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา เราจะขอถามท่าน และท่านไม่ควรโกรธเรา

               เปรตนั้นกราบทูลว่า :-
               ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญญาไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว การไม่บอกย่อมมีแก่ผู้ไม่เลื่อมใส บัดนี้ ข้าพระองค์มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ แม้โดยพระองค์จะไม่ทรงเลื่อมใส เพราะเหตุนั้น ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์เถิด ข้าพระองค์จะกราบทูลตามที่สามารถจะกราบทูลได้.

               นี้เป็นพระคาถาตรัสและคาถาโต้ตอบระหว่างพระราชากับเปรต.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อญฺญโต แปลว่า อันข้าพเจ้ารู้แล้ว.
               บทว่า อิจฺฉามเส แปลว่า ข้าพระองค์ย่อมปรารถนา.
               บทว่า โน แปลว่า แก่พวกเรา.
               บทว่า น จ กุชฺฌิตพฺพํ ความว่า ไม่ควรทำความโกรธว่า คนเหล่านี้ได้ถามสิ่งใดสิ่งหนึ่ง.
               บทว่า อทฺธา แปลว่า โดยส่วนเดียว.
               บทว่า ปฏิญฺญา เม ความว่า เมื่อว่าโดยความรู้ เราได้ปฏิญญาคือให้โอกาสว่า ท่านจงถาม.
               บทว่า ตทา อหุ คือ ได้มีในกาลนั้น คือในการเห็นครั้งแรก.
               บทว่า นาจิกฺขณา อปฺปสนฺนสฺส โหติ ความว่า ไม่ได้พูดแก่ผู้ที่ไม่เลื่อมใส.
               จริงอยู่ ผู้เลื่อมใสเท่านั้นย่อมกล่าวอะไรๆ แก่ผู้เลื่อมใส แต่ในเวลานั้น ท่านไม่มีความเลื่อมใสในเรา และเราก็ไม่มีความเลื่อมใสในท่าน เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่มีความปรารถนาที่จะกล่าวปฏิญญา. แต่บัดนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาท่าน มีวาจาที่จะให้ท่านพอเชื่อถือได้ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นผู้ชื่อว่ามีวาจาพอเชื่อถือได้.
               บทว่า ปุจฺฉสฺสุ มํ กามํ ยถา วิสยฺหํ ความว่า ขอพระองค์จงซักถามเรื่องตามที่พระองค์ทรงปรารถนากะข้าพระองค์เถิด. แต่ข้าพระองค์จักกราบทูลตามสมควรแก่กำลังความรู้ของตน โดยประการที่ข้าพระองค์สามารถจะกราบทูลได้.

               เมื่อเปรตให้โอกาสแก่การถามอย่างนี้ พระราชาจึงตรัสคาถาว่า :-
               เราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยจักษุ เราควรเชื่อสิ่งนั้น แม้ทั้งสิ้น ถ้าเราเห็นสิ่งนั้นแล้วไม่เชื่อ ก็ขอให้ลงโทษ ถอดยศเราเถิด.


               คำแห่งคาถานั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ :-
               เราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยจักษุ เราควรเชื่อสิ่งนั้นแม้ทั้งหมด โดยประการนั้นนั่นแล ก็แลถ้าเราเห็นสิ่งนั้นแล้ว ไม่เชื่อ ดูก่อนเทพยดา ขอท่านจงลงนิยสกรรมและนิคคหกรรมแก่เราเถิด.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยํ กิญฺจหํ จกฺขุนา ปสฺสิสฺสามิ ความว่า เราจักเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยจักษุ เพราะไม่เป็นอารมณ์แห่งจักษุจึงไม่เห็น.
               บทว่า สนฺพมฺปิ ตาหํ อภิสทฺทเหยฺยํ ความว่า เราควรเชื่อสิ่งที่ท่านได้เห็น ได้ยินหรือสิ่งอื่น.
               อธิบายว่า จริงอยู่ เรามีความเชื่อเช่นนั้นในท่าน.
               ส่วนเนื้อความแห่งบทหลัง ก็มีอรรถตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               เปรตได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวคาถาว่า :-
               ขอสัจจปฏิญญาของพระองค์นี้ จงมีแก่ข้าพระองค์ พระองค์ได้ฟังธรรมที่ข้าพระองค์กล่าวแล้วจงทรงได้ความเลื่อมใส ข้าพระองค์มีความต้องการอย่างอื่น ไม่มีจิตคิดประทุษร้ายข้าพระองค์ จักกราบทูลธรรมทั้งหมดที่ข้าพระองค์ได้สดับแล้วบ้าง หรือไม่ได้สดับแล้วบ้าง แก่พระองค์ตามที่ข้าพระองค์รู้.

               เบื้องหน้าแต่นั้น พระราชาและเปรตทั้งสองนั้นจึงมีคาถาเป็นเครื่องตรัสโต้ตอบกันดังนี้ว่า :-
               พระเจ้าอัมพสักขระตรัสว่า :-
               ท่านขี่ม้าอันประดับประดาแล้วเข้าไปยังสำนักของบุรุษที่ถูกเสียบหลาว ม้าขาวตัวนี้เป็นม้าน่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชมนี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร.

               เปรตกราบทูลว่า :-
               ที่กลางเมืองเวสาลีนั้นมีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส เอาศีรษะโคศีรษะหนึ่งวางทอดที่หลุมให้เป็นสะพาน ข้าพระองค์และบุคคลอื่นเหยียบบนศีรษะโคนั้น เดินไปได้สะดวก ม้านี้เป็นม้าน่าอัศจรรย์ น่าดูน่าชม นี้เป็นผลแห่งกรรมนั่นเอง.

               พระเจ้าสักขระตรัสถามว่า :-
               ท่านมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ และมีกลิ่นหอมฟุ้งไป ท่านได้สำเร็จฤทธิแห่งเทวดา เป็นผู้มีอานุภาพมาก แต่เป็นคนเปลือยกาย นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร.

               เปรตนั้นกราบทูลว่า :-
               เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นคนไม่มักโกรธ ทั้งมีจิตเลื่อมใสอยู่เป็นนิตย์ พูดกับคนทั้งหลายด้วยวาจาอ่อนหวาน ข้าพระองค์มีรัศมีเป็นทิพย์ สว่างไสวอยู่เนืองนิตย์ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น ข้าพระองค์เห็นยศและชื่อเสียงของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีจิตเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญ ข้าพระองค์มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไปเนืองนิตย์ นี้เป็นผลแห่งกรรมนั้น.
               เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ ข้าพระองค์ลักเอาผ้าซ่อนไว้บนบก ไม่มีความประสงค์จะลักขโมย และไม่มีจิตคิดประทุษร้าย เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นคนเปลือยกาย เป็นอยู่อย่างฝืดเคือง.

               พระเจ้าอัมพสักขระตรัสถามว่า :-
               ผู้ใดทำบาปเล่นๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ผู้นั้นได้รับผลกรรมเช่นนี้ ส่วนผู้ใดตั้งใจทำบาปจริงๆ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวผลกรรมของผู้นั้นว่าเป็นอย่างไร?

               เปรตกราบทูลว่า :-
               มนุษย์เหล่าใดมีความดำริชั่วร้าย เป็นผู้เศร้าหมองด้วยกายและวาจา เพราะกายแตกตายไป มนุษย์เหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรกในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย.
               ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ ยินดียิ่งในทาน มีอัตภาพอันสงเคราะห์แล้ว เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพโดยไม่ต้องสงสัย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจปฺปฏิญฺญา ตว เมสา โหตุ ความว่า ขอความปฏิญญาของท่านนี้ จงเป็นความสัจจสำหรับข้าพระองค์ว่า ข้าพเจ้าพึงเชื่อสิ่งนั้นทั้งหมด.
               บทว่า สุตฺวาน ธญฺมํ ลภ สุปฺปสาทํ ความว่า ท่านฟังคำที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว จงได้ความเลื่อมใส เป็นอันดี.
               บทว่า อญฺญตฺถิโก ได้แก่ ข้าพระองค์ไม่มีความประสงค์จะรู้.
               บทว่า ยถา ปชานํ ได้แก่ ตามที่คนอื่นรู้อยู่. อธิบายว่า ตามที่พระองค์รู้แล้วหรือว่า ตามที่ข้าพระองค์รู้แล้ว.
               บทว่า กิสฺเสตํ กมฺมสฺส อยํ วิปาโก ความว่า นั่นเป็นผลแห่งกรรมอะไร คือนี้เป็นวิบากแห่งกรรมอะไร.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เอตํ เป็นเพียงนิบาต ก็อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เป็นผลของกรรมอะไรของท่าน.
               บทว่า จิกฺขลฺลมคฺเค แปลว่า ในทางมีโคลน.
               บทว่า นรกํ ได้แก่ บ่อ.
               บทว่า เอกาหํ ตัดเป็น เอกํ อหํ.
               บทว่า นรกสฺมึ นิกฺขิปึ ความว่า เราทอดศีรษะโค ๑ ศีรษะ ในบ่อที่มีโคลนโดยประการที่ผู้เดินจะไม่เหยียบเปือกตม.
               บทว่า ตสฺส ได้แก่ เอาศีรษะโคทำเป็นสะพานนั้น.
               บทว่า ธมฺเม ฐิตานํ ได้แก่ ผู้ประพฤติเป็นธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ.
               บทว่า มนฺเตมิ ได้แก่ กล่าว คือระบุถึง.
               บทว่า ขิฑฺฑตฺถิโก ได้แก่ ประสงค์จะหัวเราะเล่น.
               บทว่า โน จ ปทุฏฺฐจิตฺโต ได้แก่ ไม่มีจิตคิดประทุษร้ายเจ้าของผ้า. อธิบายว่า ไม่มีความประสงค์จะลัก ทั้งไม่ประสงค์จะทำให้เสียหาย.
               บทว่า อกีฬมาโน ได้แก่ ไม่ประสงค์ คือมีจิตคิดประทุษร้าย เพราะความโลภเป็นต้น.
               บทว่า กึ ตสฺส กมฺมสฺส วิปากมาหุ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิบากทุกข์อันเผ็ดร้อนของกรรมชั่วนั้น คือที่ทำไว้อย่างนั้นไว้เพียงไร.
               บทว่า ทุฏฺฐสงฺกปฺปมนา ได้แก่ ผู้มีวิตกทางใจอันประทุษร้ายด้วยอำนาจความดำริในกามเป็นต้น. ด้วยคำว่า ทุฏฺฐสงฺกปฺปมนา นั้น ท่านกล่าวถึงมโนทุจริต.
               บทว่า กาเยน วาจาย จ สงฺกิลิฏฺฐา ได้แก่ มีความเศร้าหมองด้วยกายและวาจาด้วยอำนาจปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า อาสมานา ได้แก่ หวัง คือปรารถนา.

               เมื่อเปรตแสดงจำแนกกรรมและผลแห่งกรรมโดยสังเขปอย่างนี้แล้ว พระราชาไม่ทรงเชื่อข้อนั้น จึงตรัสคาถาว่า :-
               เราจะพึงรู้เรื่องนั้นได้อย่างไรว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่ว หรือเราจะพึงเห็นอย่างไร จึงจะเชื่อถือได้ หรือแม้ใครจะพึงทำให้เราเชื่อถือเรื่องนั้นได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตํ กินฺติ ชาเนยฺยมหํ อเวจฺจ ความว่า เราจะพึงเชื่อโดยไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย ถึงวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วที่เธอกล่าวจำแนกไว้โดยนัยมีอาทิว่า คนผู้มีความดำริชั่วย่อมเศร้าหมองด้วยกายและวาจา และโดยนัยมีอาทิว่า ก็คนเหล่าอื่นย่อมปรารถนาสุคติ ดังนี้นั้นได้อย่างไร คือโดยเหตุไร.
               บทว่า กึ วาหํ ทิสฺวา อภิสทฺทเหยฺยํ ความว่า เราเห็นอย่างไรอันเป็นตัวอย่างที่ประจักษ์จะพึงเชื่อได้.
               บทว่า โก วาปิ มํ สทฺทหาเปยฺย มํ ความว่า หรือใครเป็นวิญญูชน คือเป็นบัณฑิตจะพึงให้เราเชื่อข้อนั้น ท่านจงแนะนำบุคคลนั้น.

               เปรตได้ฟังดังนั้น เมื่อจะประกาศเรื่องนั้นแก่พระราชานั้นโดยเหตุ จึงได้กล่าวคาถาว่า :-
               พระองค์ได้ทรงเห็นแล้วและได้สดับแล้วก็จงเชื่อเถิดว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่ว เมื่อมีกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองก็พึงมีสัตว์ไปสู่สุคติและทุคติ.
               ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ไม่พึงทำกรรมดีและกรรมชั่ว สัตว์ผู้ไปสู่สุคติทุคติอันเลวและประณีต ก็ไม่มีในมนุษยโลกนี้ แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้ ฉะนั้นจึงไปสู่สุคติ ทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง
               นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าววิบากแห่งกรรมทั้งสองนั้นว่า เป็นที่ตั้งแห่งการเสวยสุขและทุกข์ เทวดาย่อมพากันห้อมล้อม พวกชนผู้ได้เสวยผลอันเป็นสุข คนพาลผู้ไม่เห็นบาปและบุญทั้งสอง ย่อมเดือดร้อน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา จ แปลว่า ทั้งได้ทรงเห็นโดยประจักษ์.
               บทว่า สุตฺวา ได้แก่ ทรงสดับธรรมแล้วทรงรู้ คือทรงรู้ตามซึ่งนัยตามแนวแห่งธรรมนั้น.
               บทว่า กลฺยาณปาปสฺส ความว่า จงทรงเชื่อเถิดว่า สุขนี้เป็นวิบากแห่งกุศลกรรม และทุกข์นี้เป็นวิบากแห่งอกุศลกรรม.
               บทว่า อุภเย อสนฺเต ความว่า เมื่อกรรมทั้งสอง คือกรรมดีและกรรมชั่วมีอยู่.
               บทว่า สิยา นุ สตฺตา สุคตา ทุคฺคตา วา ความว่า เนื้อความดังนี้ว่า
               สัตว์เหล่านี้ไปสุคติหรือทุคติ หรือว่าเป็นผู้มั่งคั่งในสุคติหรือเป็นผู้เข็ญใจในทุคติ ดังนี้จะพึงมีอยู่หรือ คือจะพึงเกิดได้อย่างไร.
               บัดนี้ เปรตจะประกาศเนื้อความตามที่กล่าวแล้วโดยผิดแผกกันและโดยคล้อยตามกัน ด้วยคาถา ๒ คาถาว่า โน เจตฺถ กมฺมานิ และ ยสฺมา จ กมฺมานิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หีนา ปณีตา ได้แก่ ผู้เลวและหยิ่งโดยตระกูล รูปร่าง ความไม่มีโรคและบริวารเป็นต้น.
               บทว่า ทฺวยชฺช กมฺมานํ วิปากมาหุ ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมกล่าวคือแสดงวิบากแห่งสุจริต และทุจริตแห่งกรรมทั้งสองอย่างในวันนี้ คือในบัดนี้. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามว่า ข้อนั้นคืออะไร? จึงกล่าวว่า การเสวยสุขและทุกข์. อธิบายว่า ควรจะเสวยอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์.
               บทว่า ตา เทวตาโย ปริจารยนฺติ ความว่า เหล่าชนผู้ได้รับวิบากอันอำนวยสุขโดยส่วนเดียว ย่อมเป็นเทพยดาในเทวโลก เปี่ยมด้วยทิพยสุขบำเรออินทรีย์ทั้งหลาย.
               บทว่า ปจฺเจนฺติ พาลา ทฺวยตํ อปสฺสิโน ความว่า ชนเหล่าใดเป็นคนพาลไม่เห็น คือไม่เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมทั้งสอง ชนเหล่านั้นเป็นผู้ขวนขวายในบาป เมื่อเสวยวิบากอันอำนวยความทุกข์ให้ ย่อมไหม้คือย่อมได้รับทุกข์ เพราะกรรมในนรกเป็นต้น.

               เปรตหมายเอาการย้อนถามว่า ก็ท่านเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างนี้ เพราะเหตุไร จึงเสวยทุกข์เห็นปานนี้ จึงกล่าวคาถาว่า :-
               กรรมที่ข้าพระองค์ทำไว้ในชาติก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้ได้เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น ในบัดนี้มิได้มีแก่ข้าพระองค์ และบุคคลผู้จะให้ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ที่นั่ง ข้าวและน้ำแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย แล้วอุทิศส่วนบุญมาให้แก่ข้าพระองค์มิได้มี เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นผู้เปลือยกาย มีความเป็นผู้ฝืดเคือง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มตฺถิ กมฺมานิ สยํกตานิ ความว่า เพราะเหตุที่บุญกรรมอันตนเองกระทำไว้ในกาลก่อน อันเป็นเหตุให้ได้รับเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นในบัดนี้ ไม่ได้มีปรากฏแก่ข้าพระองค์.
               บทว่า ทตฺวาปิ เม นตฺถิ โย อาทิเสยฺย ความว่า ผู้ใดพึงให้ทานแก่สมณพราหมณ์แล้วพึงอุทิศส่วนบุญแก่ข้าพระองค์ว่า ขอบุญนี้จงถึงแก่เปรตโน้น ผู้นั้นย่อมไม่มี.
               บทว่า เตนมฺหิ นคฺโค กสิรา จ วุตฺติ ความว่า เพราะเหตุทั้งสองนั้น ข้าพระองค์จึงเป็นผู้เปลือยกาย ไม่มีผ้าในบัดนี้ ทั้งมีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง.

               พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อหวังจะให้เปรตนั้นได้เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น จึงกล่าวคาถาว่า :-
               ดูก่อนยักษ์ เหตุอะไรๆ ที่จะให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่มพึงมีอยู่หรือ ถ้าเหตุที่ควรเชื่อ พอจะฟังเป็นเหตุได้มีอยู่ ขอท่านจงบอกเหตุนั้นแก่เรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน ความว่า เหตุอะไรๆ อันเป็นเหตุให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่ม พึงมีอยู่หรือหนอแล. บทว่า ยทตฺถิ ตัดเป็น ยทิ อตฺถิ แปลว่า ถ้ามีอยู่.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 120อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 26 / 122อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4323&Z=4585
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=5073
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=5073
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :