ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 131อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 132อ่านอรรถกถา 26 / 133อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔
๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ

               อรรถกถาอัมพวนเปตวัตถุที่ ๑๒               
               เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภอัมพเปรต จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า อยญฺจ เต โปกฺขรณี สุรมฺมา ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี มีคฤหบดีคนหนึ่งผู้เสื่อมสิ้นจากโภคสมบัติ. ภริยาของเขาก็ตาย ยังมีธิดาคนเดียวเท่านั้น. เขาได้ให้ธิดานั้นไปอยู่เรือนมิตรของตน เอาเงินที่ยืมมา ๑๐๐ กหาปณะไปซื้อสิ่งของ บรรทุกเกวียนไปค้าขาย ไม่นานนักก็ได้เงิน ๕๐๐ กหาปณะอันเป็นกำไรพร้อมทั้งต้นทุนแล้วกลับมาพร้อมด้วยเกวียน.
               ในระหว่างทาง พวกโจรดักซุ่มปล้นหมู่เกวียน. พวกหมู่เกวียนแตกกระจายหนีไป. ฝ่ายคฤหบดีนั้นซ่อนกหาปณะไว้ที่กอไม้แห่งหนึ่งแล้ว แอบอยู่ในที่ไม่ไกล. พวกโจรจับคฤหบดีนั้นฆ่าทิ้งเสีย. เพราะความโลภในทรัพย์ เขาจึงบังเกิดเป็นเปรตในที่นั้นนั่นเอง.
               พวกพ่อค้าไปยังกรุงสาวัตถี เล่าเรื่องนั้นให้ธิดาของเขาทราบ. ธิดานั้นเกิดโทมนัสอย่างยิ่ง ร่ำไรอย่างหนัก เพราะความตายของบิดา และเพราะภัยแห่งเลี้ยงชีพ.
               ลำดับนั้น กฎุมพีผู้เป็นสหายของบิดานั้น จึงกล่าวปลอบโยนนางว่า ธรรมดาว่า ภาชนะดินทั้งหมดมีความแตกไปเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็มีการแตกไปในที่สุด ฉันนั้นเหมือนกัน. ธรรมดาว่า ความตายย่อมทั่วไปแก่สรรพสัตว์ และไม่มีการตอบแทนได้ เพราะฉะนั้น เจ้าอย่าเศร้าโศก อย่าปริเทวะ ถึงบิดาไปนักเลย เราจะเป็นบิดาของเจ้า เจ้าจงเป็นธิดาของเรา เราจะทำหน้าที่แทนบิดาของเจ้า เจ้าอย่าเสียใจ จงยินดีอยู่ในเรือนนี้ ให้เหมือนเรือนบิดาของเจ้าเถิด.
               หญิงนั้นสงบความเศร้าโศกลงได้ ตามคำของกฎุมพีนั้น เกิดความเคารพและความนับถือมากในกฎุมพีนั้น เหมือนในบิดาเป็นผู้มีปกติทำการขวนขวาย ประพฤติตามกฎุมพีนั้น โดยภาวะที่ตนเป็นคนกำพร้า ปรารถนาจะทำกิจเพื่อผู้ตายอุทิศถึงบิดา จึงต้มข้าวยาคูแล้ว วางผลมะม่วงมีรสอร่อย สุกได้ที่เหมือนสีเหมือนมโนศิลา วางไว้ในถาดสัมฤทธิ์ให้ทาสีถือเอาข้าวยาคู และผลมะม่วง ไปยังวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์จงทำความอนุเคราะห์ ด้วยการรับทักษิณาของหม่อมฉัน.
               พระศาสดามีพระมนัสอันพระมหากรุณากระตุ้นเตือน เมื่อจะทรงทำมโนรถของนางให้เต็มเปี่ยม จะแสดงอาการนั่ง. นางร่าเริงยินดีได้ลาดผ้าอันบริสุทธิ์สะอาดที่ตนน้อมเข้าไปในบวรพุทธอาสน์ที่บรรจงจัดไว้ถวาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งบนอาสนะที่ปูแล้ว.
               ลำดับนั้น หญิงนั้นจึงน้อมข้าวยาคูเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับข้าวยาคูแล้ว. ลำดับนั้นจึงถวายข้าวยาคูแม้แก่ภิกษุทั้งหลาย อุทิศสงฆ์แล้วล้างมือ น้อมผลมะม่วงเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสวยผลมะม่วงเหล่านั้น. นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทักษิณาที่หม่อมฉันบำเพ็ญให้เป็นไปด้วยการถวายเครื่องลาด ข้าวยาคูและผลมะม่วงนั้น ขอจงถึงบิดาของหม่อมฉันเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงสำเร็จอย่างนั้นเถิด แล้วทรงกระทำอนุโมทนา. นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทำประทักษิณแล้วหลีกไป. พอนางอุทิศส่วนบุญ เปรตนั้นก็กลับได้สวนมะม่วง วิมาน ต้นกัลปพฤกษ์ และสระโบกขรณี กับทิพยสมบัติอันใหญ่หลวง.
               ครั้นสมัยต่อมา พ่อค้าเหล่านั้น เมื่อจะไปค้าขายได้เดินไปทางนั้นนั่นแหละ ได้พักแรมคืนหนึ่งในที่ที่ตนได้เคยอยู่มาก่อน.
               เปรตนั้นเห็นพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว จึงแสดงตนแก่พ่อค้าเหล่านั้น พร้อมกับสวนและวิมานเป็นต้น.
               พ่อค้าเหล่านั้นเห็นดังนั้น เมื่อจะถามถึงสมบัติที่เปรตนั้นได้มา จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า :-
                                   สระโบกขรณีของท่านนี้ น่ารื่นรมย์ดี มีพื้นที่
                         ราบเรียบ มีท่างดงาม มีน้ำมาก ดารดาษไปด้วยปทุม
                         ชาติต่างๆ มีดอกอันบานสะพรั่ง เกลื่อนกล่นด้วยหมู่
                         ภมร ท่านได้สระโบกขรณีอันเป็นที่ฟูใจนี้อย่างไร
                                   สวนมะม่วงของท่านนี้น่ารื่นรมย์ดี เผล็ดผล
                         ทุกฤดูกาล มีดอกบานเป็นนิตย์นิรันดร์ เกลื่อนกล่น
                         ไปด้วยหมู่ภมร ท่านได้วิมานนี้อย่างไร.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุรมฺมา แปลว่า น่ารื่นรมย์ดี.
               บทว่า สมา แปลว่า มีพื้นที่ราบเรียบ.
               บทว่า สุติตฺถา ได้แก่ มีท่าดี เพราะมีบันไดแล้วด้วยแก้ว.
               บทว่า มโหทกา แปลว่า มีน้ำมาก.
               บทว่า สพฺโพตุกํ ได้แก่ นำมาซึ่งความสุขทุกฤดูกาล ด้วยต้นไม้ที่สะพรั่งไปด้วยดอกและผลเป็นต้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ย่อมเผล็ดผล ดังนี้.
               บทว่า สุปุปฺผิตํ แปลว่า บานสะพรั่งอยู่เป็นนิตย์.
               เปรตได้ฟังดังนั้น เมื่อจะบอกถึงเหตุแห่งการได้สระโบกขรณีเป็นต้นจึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   สระโบกขรณีมีร่มเงาอันเยือกเย็น น่ารื่นรมย์
                         ใจ ข้าพเจ้าได้ในที่นี้ เพราะทานที่ธิดาของข้าพเจ้า
                         ถวายมะม่วงสุก น้ำ ข้าวยาคูแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
                         และภิกษุสงฆ์.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตน เม อิธ ลพฺภติ ความว่า เพราะทานที่ธิดาของข้าพเจ้าถวายมะม่วงสุก น้ำและข้าวยาคู แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ อุทิศข้าพเจ้า มะม่วงสุกอันเผล็ดผลทุกฤดูกาล ก็ได้สำเร็จเป็นน้ำทิพย์ ในสระโบกขรณีอันเป็นที่ฟูใจ อันเป็นทิพย์นี้ ด้วยการให้ข้าวยาคูและเครื่องลาด ย่อมให้สำเร็จเป็นสระโบกขรณีมีร่มเงาเยือกเย็น น่ารื่นรมย์ใจ ในสวน วิมานและต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นในที่นี้.
               ก็แลเปรตนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงนำพ่อค้าเหล่านั้นไปแสดงทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะนั้น แล้วกล่าวว่า ขอท่านจงรับเอากึ่งหนึ่งจากสวนนี้ จงให้แก่ธิดาของเรา ด้วยประสงค์ว่า นางจงชำระหนี้ที่เรากู้เขามากึ่งหนึ่งแล้วจงเป็นอยู่สบายเถิด.
               พ่อค้าถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว จึงบอกแก่ธิดาของเปรตนั้นแล้วได้ให้ส่วนที่เปรตนั้นได้ให้แก่ตน แก่นางนั้นเอง.
               นางได้ใช้หนี้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะแก่พวกเจ้าหนี้ นอกนั้นได้ให้แก่กฎุมพีนั้นผู้เป็นสหายบิดาตน ส่วนตนเองทำการขวนขวายอยู่อาศัย.
               กฎุมพีนั้นได้ให้คืนแก่นางนั้นนั่นเอง ด้วยพูดว่า จงเป็นทรัพย์ของตัวเธอทั้งหมดเถอะ แล้วแต่งงานนางกับบุตรคนโตของตน.
               เมื่อกาลผ่านไป นางได้บุตรคนหนึ่ง เมื่อจะล้อเล่นกับบุตรจึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
               ขอท่านทั้งหลาย จงดูผลทานที่จะพึงเห็นเอง และผลแห่งความข่มใจ ความสำรวม เราเป็นทาสีอยู่ในตระกูลของลูกเจ้า บัดนี้ มาเป็นลูกสะใภ้ เป็นใหญ่ในตระกูล.
               ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูนางว่ามีญาณแก่กล้า จึงทรงแผ่พระรัศมีไปแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ประหนึ่งประทับอยู่เฉพาะหน้า แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ความว่า :-
                                   ความประมาทย่อมครอบงำ บุคคลผู้ติดอยู่ใน
                         ความยินดียินร้าย ในความรักความชัง ในทุกข์และ
                         สุข.

               ในเวลาจบคาถา นางดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ในวันที่สอง นางได้ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ แล้วแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชนฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอัมพวนเปตวัตถุที่ ๑๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ มหาวรรคที่ ๔ ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 131อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 132อ่านอรรถกถา 26 / 133อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4867&Z=4894
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=31&A=6515
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=31&A=6515
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :