ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 139อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 140อ่านอรรถกถา 26 / 141อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ปฐมวรรค
๓. กังขาเรวตเถรคาถา

               อรรถกถากังขาเรวตเถรคาถา               
               คาถาของท่านพระกังขาเรวตะ เริ่มต้นว่า ปญฺญํ อิมํ ปสฺส.
               เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
               ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ แม้พระเถระนี้ก็เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล กรุงหงสาวดี.
               วันหนึ่งในเวลาแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เขาไปวิหารพร้อมกับมหาชนโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌาน คิดว่า ในอนาคตแม้เราก็ควรเป็นเช่นกับภิกษุรูปนี้ดังนี้
               ในเวลาจบเทศนา นิมนต์พระศาสดา กระทำมหาสักการะโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยการกระทำอธิการนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอย่างอื่น ก็นับแต่นี้ไปในวันสุดท้ายของวันที่ ๗ พระองค์ตั้งภิกษุรูปนั้นไว้ในตำแหน่งของภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เพ่งฌานฉันใด ในอนาคตกาล แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เพ่งฌาน ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ดังนี้แล้วตั้งความปรารถนาไว้.
               พระบรมศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาลแล้ว ทรงเห็นความสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ จักเสด็จอุบัติในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคตกาลดังนี้ แล้วเสด็จหลีกไป.
               เขากระทำแต่กรรมดีจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดเวลาแสนกัป บังเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก ณ กรุงสาวัตถี ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ไปสู่วิหารพร้อมด้วยมหาชนผู้เดินไปเพื่อฟังธรรม ภายหลังภัตร ยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมกถาของพระทศพลแล้ว ได้เฉพาะซึ่งศรัทธา บวชแล้วได้อุปสมบทแล้ว ให้อาจารย์บอกกัมมัฏฐาน กระทำบริกรรมฌาน เป็นผู้ได้ฌาน กระทำฌานให้เป็นบาทแล้วบรรลุพระอรหัต.
               โดยมากท่านจะเข้าสมาบัติที่พระทศพลทรงเข้า ได้เป็นผู้มีชำนาญที่สั่งสมแล้วในฌานทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืน.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุผู้เพ่งฌานทั้งหลาย โดยพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกังขาเรวตะเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้เพ่งฌาน ดังนี้.
               สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
               ในกัปที่แสนนับแต่ภัทรกัปนี้ พระพิชิตมารทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นนายก มีพระหนุเหมือนราชสีห์ มีพระสุรเสียงเหมือนพรหม มีสำเนียงคล้ายหงส์และกลองใหญ่ เสด็จดำเนินเยื้องกรายดุจช้าง มีพระรัศมีประหนึ่งรัศมีของจันทเทพบุตรเป็นต้น มีพระปรีชามาก มีความเพียรมาก มีความเพ่งพินิจมาก มีพละมาก ประกอบด้วยพระมหากรุณา เป็นที่พึ่งของสัตว์ กำจัดความมืดใหญ่ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
               คราวหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าไตรโลก เป็นมุนี ทรงรู้วารจิตของสัตว์ พระองค์นั้นทรงแนะนำเวไนยสัตว์เป็นอันมาก ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่ พระพิชิตมารตรัสสรรเสริญภิกษุผู้เพ่งพินิจ ยินดีแล้วในฌาน มีความเพียรสงบระงับ ไม่ขุ่นมัวในท่ามกลางบริษัท ทรงทำให้ประชาชนยินดี.
               ครั้งนั้น เราเป็นพราหมณ์เรียนจบไตรเพท อยู่ในพระนครหงสาวดี ได้สดับพระธรรมเทศนาก็ชอบใจจึงปรารถนาฐานันดรนั้น ทีนั้น พระพิชิตมารผู้เป็นสังฆปริณายกยอดเยี่ยมได้ตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางสงฆ์ว่า จงดีใจเถิดพราหมณ์ ท่านจักได้ฐานันดรนี้สมดังมโนรถปรารถนา ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคตมะ ผู้สมภพในวงศ์ของพระเจ้าโอกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นพระโอรสอันธรรมเนรมิต เป็นสาวกของพระศาสดา มีชื่อว่า "เรวตะ"
               เพราะกรรมที่ทำไว้ดี และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.
               ในภพสุดท้าย ในบัดนี้ เราเกิดในตระกูลกษัตริย์อันมั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มากมายในโกลิยนคร ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาในพระนครกบิลพัสดุ์ เราเลื่อมใสในพระสุคตเจ้า จึงออกบวชเป็นบรรพชิต
               ความสงสัยของเราในสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะนั้นๆ มีมากมาย พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันอุดม แนะนำข้อสงสัยทั้งปวงนั้น ต่อแต่นั้น เราก็ข้ามพ้นสงสารได้ เป็นผู้ยินดีความสุขในฌานอยู่
               ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นเรา จึงได้ตรัสพุทธภาษิตนั่นว่า
                                   ความสงสัยในโลกนี้หรือโลกอื่น ในความรู้ของ
                         ตนหรือในความรู้ของผู้อื่น อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น อัน
                         บุคคลผู้มีปกติเพ่งพินิจ มีความเพียรเผากิเลสประพฤติ
                         พรหมจรรย์ ย่อมละได้ทั้งสิ้น.

               กรรมที่ทำไว้ในกัปที่แสน ได้แสดงผลแก่เราในอัตภาพนี้ เราพ้นกิเลสแล้วเหมือนลูกศรที่พ้นจากแล่ง ได้เผากิเลสของเราเสียแล้ว
               ลำดับนั้น พระมุนีผู้มีปรีชาใหญ่ เสด็จถึงที่สุดของโลก ทรงเห็นว่าเรายินดีในฌาน จึงทรงแต่งตั้งว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ได้ฌาน
               เราเผากิเลสทั้งหลายสิ้นแล้ว ถอนภพขึ้นได้หมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกพัน ดังช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การที่เราได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำเสร็จแล้ว คุณพิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำเสร็จแล้ว ดังนี้.
               ก็พระมหาเถระนี้ผู้กระทำกิจเสร็จแล้วอย่างนั้น พิจารณาดูข้อที่ตนมีความคิดสงสัยอยู่เป็นปกติ และข้อที่ตนปราศจากความสงสัยได้โดยประการทั้งปวง ในบัดนี้ บังเกิดความพอใจเป็นอันมากว่า อานุภาพของพระศาสดาของเราน่าชื่นใจนัก ด้วยอานุภาพของพระองค์นั้นทำให้เราปราศจากความสงสัย มีจิตสงบระงับแล้วในภายในอย่างนี้ ดังนี้
               เมื่อจะสรรเสริญปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวคาถานี้ว่า
               ท่านจงดูปัญญานี้ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายดังไฟอันรุ่งเรือง ในเวลาพลบค่ำ พระตถาคตเหล่าใดย่อมกำจัดความสงสัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลายผู้มาเฝ้าถึงสำนักของพระองค์ พระตถาคตเหล่านั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้ให้แสงสว่าง เป็นผู้ให้ดวงตา
ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺญํ ความว่า ธรรมชาติชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ซึ่งประการทั้งหลาย และเพราะยังคนอื่นให้รู้โดยประการทั้งหลาย.
               อธิบายว่า รู้ประการมี อาสยะ อนุสัย จริยาและอธิมุตติของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย และรู้ประการอันจะพึงแสดง ในบรรดาธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้นและขันธ์เป็นต้น คือแทงตลอดตามความเป็นจริง และยังผู้อื่นให้รู้โดยประการนั้น.
               ก็ในคาถานี้ ท่านประสงค์เอาญาณคือพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อิมํ ดังนี้.
               อธิบายว่า เทศนาญาณนั้น ท่านกล่าวว่า อิมํ โดยถือเอาปัญญาที่ปรากฏแล้ว ดุจเห็นได้เฉพาะหน้า โดยการถือเอาซึ่งนัย ด้วยกำลังแห่งเทศนาอันสำเร็จแล้วในตน.
               อีกอย่างหนึ่ง เทศนาญาณของพระศาสดาอันสาวกทั้งหลายย่อมถือเอาโดยนัย ด้วยมรรคผลอันเลิศใด แม้ปฏิเวธญาณ ในวิสัยของตนอันพระสาวกทั้งหลายก็ถือเอาได้โดยนัย ด้วยมรรคผลอันเลิศนั้นเหมือนกัน.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระธรรมเสนาบดีจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้สภาพที่คล้อยตามธรรมอันข้าพระองค์รู้แจ้งแล้ว ดังนี้.
               บทว่า ปสฺส ความว่า ผู้ที่หมดความสงสัยแล้วย่อมเรียกร้องกันโดยคำที่ไม่กำหนดแน่นอน. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ จิตของตนนั่นเอง. เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะเปล่งอุทานก็ตรัสว่า ท่านจงดูโลกนี้ สัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมากถูกอวิชชาครอบงำ หรือยินดีแล้วในขันธบัญจกที่เกิดแล้ว ไม่พ้นไปจากภพ ดังนี้.
               บทว่า ตถาคตานํ ความว่า ชื่อว่า ตถาคต ด้วยอรรถว่าเสด็จมาแล้วอย่างนั้นเป็นต้น.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการเหล่านี้ คือ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จมาแล้วอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไปแล้วอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้จริง ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริงตามความเป็นจริง ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะความเป็นผู้มีปกติเห็นอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะความเป็นผู้มีปกติตรัสอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะความเป็นผู้มีปกติกระทำอย่างนั้น ๑ ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าครอบงำ ๑.
               ในอธิการนี้ มีความสังเขปดังนี้ว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการแม้อย่างนี้คือ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จมาแล้ว โดยอาการอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไปแล้ว โดยอาการอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จไปแล้วสู่ลักษณะอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จมาแล้วสู่ความเป็นอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเป็นอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะทรงเป็นไปแล้วอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะเสด็จมาแล้ว โดยอาการอย่างนั้น ๑ ชื่อว่าตถาคต เพราะความเป็นผู้เสด็จไปแล้ว โดยอาการอย่างนั้น ๑
               ส่วนความพิสดาร พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถาอุทาน และในอรรถกถาอิติวุตตกะ ชื่อว่าปรมัตถทีปนี.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงคุณพิเศษอันไม่ทั่วไปแห่งพระปัญญานั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อคฺคิ ยถา ดังนี้.
               บทว่า ยถา อคฺคิ เป็นคำอุปมา.
               บทว่า ยถา เป็นคำแสดง ถึงบทว่า อคฺคิ นั้นเป็นอุปมา.
               บทว่า ปชฺชลิโต แสดงถึงข้อความที่เนื่องกันโดยอุปไมย.
               บทว่า นิสีเถ เป็นคำแสดงถึงเวลาที่ทำกิจ.
               ก็ในบทว่า นิสีเถ นี้ มีอธิบายดังนี้. เมื่อความมืดอันประกอบด้วยองค์ ๔ ในยามพลบค่ำคือยามราตรีย่างมาถึง ไฟที่ลุกโพลงแล้วในที่ดอนย่อมกำจัดความมืดตั้งอยู่ในประเทศนั้นฉันใด ท่านจงดูพระปัญญาที่กำจัดความมืด คือความสงสัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง กล่าวคือเทศนาญาณนี้ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกันฉะนี้แล.
               พระปัญญา ชื่อว่าให้แสงสว่าง เพราะเป็นเหตุให้ซึ่งแสงสว่างอันสำเร็จด้วยญาณแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยลีลาแห่งพระธรรมเทศนา. ชื่อว่าผู้ให้ดวงตา เพราะให้ซึ่งจักษุอันสำเร็จด้วยปัญญานั่นเอง.
               พระเถระเมื่อจะแสดงถึงปัญญาแม้ทั้ง ๒ ทำให้เป็นปทัฏฐานของการกำจัดความสงสัยเสียได้เหมือนกัน จึงกล่าวว่า เย อาคตานํ วินยนฺติ กงฺขํ ดังนี้
               พระตถาคตเจ้าเหล่าใดย่อมกำจัด คือขจัดบำบัดเสียซึ่งกังขาคือความสงสัยอันมีวัตถุ ๑๖ อันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ในอดีตอันยาวนาน เราได้เคยมีมาแล้วหรือหนอ และมีวัตถุ ๘ ประการอันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ย่อมสงสัยในพระพุทธ ย่อมสงสัยในพระธรรมดังนี้ แก่เหล่าไวเนยสัตว์ผู้เข้าถึงคือเข้าไปยังสำนักของพระองค์ โดยไม่มีส่วนเหลือด้วยอานุภาพแห่งเทศนา.
               อีกนัยหนึ่ง ไฟที่รุ่งเรือง คือมีแสงสว่างจ้า ลุกโชติช่วง ในยามพลบค่ำคือยามราตรี ย่อมกำจัดความมืด ให้แสงสว่าง มองเห็นที่เสมอและไม่เสมอได้ชัดเจนแก่ผู้ที่อยู่บนที่สูง. แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในที่ต่ำ เมื่อกระทำแสงสว่างนั้นให้ปรากฏดีแล้ว ชื่อว่าย่อมให้ซึ่งดวงตา เพราะกระทำกิจคือการเห็นฉันใด พระตถาคตเจ้าทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อทรงกำจัดความมืดคือโมหะแก่ผู้ที่ตั้งอยู่ในที่ไกลจากธรรมกายของพระองค์ คือผู้ที่มีอธิการยังไม่ได้กระทำไว้ ด้วยแสงสว่างคือปัญญา แล้วทรงยังความเสมอและไม่เสมอ มีความเสมอทางกายและความไม่เสมอทางกายเป็นต้น ให้แจ่มแจ้ง ชื่อว่าย่อมให้แสงสว่าง. แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในที่ใกล้ เมื่อมอบธรรมจักษุให้แก่ผู้ที่มีอธิการอันกระทำแล้ว ชื่อว่าย่อมให้ซึ่งดวงตา.
               ประกอบความว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเหล่าใดผู้เป็นอย่างนี้ ย่อมกำจัดความสงสัยของผู้มากไปด้วยความสงสัย แม้เช่นเราผู้มาฟังพระโอวาทของพระองค์ คือขจัดเสียได้ด้วยการยังพระอริยมรรคให้เกิดขึ้น ท่านจงดูพระปัญญาที่มีพระญาณอันดียิ่งของพระตถาคตเจ้าเหล่านั้น.
               แม้คาถานี้ก็จัดเป็นคาถาพยากรณ์อรหัตผลของพระเถระ โดยประกาศถึงการก้าวล่วงความสงสัยของตน.
               ก็พระเถระนี้ในเวลาที่เป็นปุถุชน เป็นผู้มีความรังเกียจแม้ในของที่เป็นกัปปิยะ จึงปรากฏนามว่า "กังขาเรวตะ" เพราะความเป็นผู้มากไปด้วยความสงสัย. ภายหลังแม้ในเวลาที่เป็นพระขีณาสพ คนทั้งหลายก็เรียกท่านอย่างนั้นเหมือนกัน.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า ได้ยินว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้. คำนั้นมีเนื้อความดังข้าพเจ้ากล่าวแล้วแล.

               จบอรรถกถากังขาเรวตเถรคาถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ปฐมวรรค ๓. กังขาเรวตเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 139อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 140อ่านอรรถกถา 26 / 141อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=4985&Z=4991
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=32&A=1037
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=32&A=1037
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :