บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร? ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าอัตถทัสสี ท่านเกิดในกำเนิดของเต่า อาศัยอยู่ในแม่น้ำชื่อว่าวินตา อัตภาพของเต่านั้นได้มีประมาณเท่าเรือลำเล็ก. ได้ยินว่า ในวันหนึ่ง เต่านั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ที่ฝั่งแห่งแม่น้ำ คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าชะรอยจะมีพระพุทธประสงค์เสด็จไปสู่ฝั่งโน้น ประสงค์จะทูลเชิญเสด็จ โดยประทับบนหลังของตน จึงหมอบลงแทบบาทมูล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของเต่านั้น เมื่อจะทรงอนุเคราะห์เขา จึงเสด็จขึ้นประทับ. เขาเกิดปีติโสมนัส ว่ายแหวกคลื่น ยังพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ถึงฝั่งโน้นในทันใดนั้นเอง ดุจลูกศรที่ถูกยิงออกไปด้วยกำลังสาย ฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ผลแห่งบุญนั้น และสมบัติอันจะพึงบังเกิดในบัดนี้ แล้วเสด็จหลีกไป. ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บวชเป็นดาบส ตั้ง ๑๐๐ ครั้งเป็นเวลาไม่น้อย ได้เป็นผู้มีปกติอยู่ในป่าอย่างเดียว. ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ไปเกิดในกำเนิดแห่งนกพิราบอีก เห็นภิกษุผู้อยู่ในป่ารูปหนึ่งมีปกติอยู่ด้วยเมตตา ยังจิตให้เลื่อมใสแล้ว และครั้นจุติจากกำเนิดนกพิราบนั้นแล้วบังเกิดในเรือนมีตระกูล ในพระนครพาราณสี เจริญวัยแล้ว เกิดความสังเวช บวชแล้วเข้าไปสะสมบุญกรรมเป็นอันมาก ล้วนเป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะ เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ในภพนั้นๆ อย่างนี้ แล้วถือปฏิสนธิในเรือนของพราหมณ์นามว่าวัจฉโคตร ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ มารดาของเขามีครรภ์แก่รอบแล้ว เกิดแพ้ท้อง ต้องการจะชมป่า จึงเข้าป่าท่องเที่ยวไป. ในทันใดนั้นเอง ลมกัมมัชวาทของนางปั่นป่วนแล้ว คนทั้งหลายจัดแจงขึงผ้าม่านให้แล้ว. นางคลอดบุตร (สมบูรณ์) ด้วยลักษณะของผู้มีบุญ กุมารนั้นได้เป็นสหายเล่นฝุ่นกับพระโพธิสัตว์ เขาได้มีโคตรและชื่อว่า วัจฉะ (ต่อมา) ปรากฏนามว่า วนวัจฉะ โดยที่มีความยินดีในป่า ในเวลาต่อมา เมื่อพระมหาสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บำเพ็ญมหาปธาน สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นนายกของโลก เป็นพระตถาคต ได้เสด็จไปที่ฝั่งแม่น้ำวินตา เราเป็นเต่า เที่ยวไปในน้ำโผล่จากน้ำ ประสงค์จะทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จข้ามฟาก จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนาถะของโลก (กราบทูลว่า) ขออัญเชิญพระพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีพระนามว่าอัตถทัสสี เสด็จขึ้นหลังข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จักให้พระองค์เสด็จข้ามฟาก ขอพระองค์โปรดทรงกระทำที่สุดแห่งทุกข์แก่ข้าพระองค์เถิด. พระพุทธเจ้าผู้มีพระยศใหญ่ทรงพระนามว่าอัตถทัสสี ทรงทราบถึงความดำริของเรา จึงได้เสด็จขึ้นหลังเรา แล้วประทับยืนอยู่ ความสุขของเราในเวลาที่นึกถึงตนได้และในเวลาที่ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา หาเหมือนกับสุขเมื่อพื้นพระบาทสัมผัสไม่. พระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้มีพระยศใหญ่ เสด็จขึ้นประทับยืนที่ฝั่งแม่น้ำแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า เราข้ามกระแสคงคาชั่วเวลาประมาณเท่าจิตเป็นไป ก็พญาเต่าตัวมีบุญนี้ส่งเราข้ามฟาก ด้วยการส่งพระพุทธเจ้าข้ามฟากนี้ และด้วยความเป็นผู้มีจิตเมตตา เขาจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๑๑๘ กัป จากเทวโลกมามนุษยโลกนี้ เป็นผู้อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว นั่ง ณ อาสนะเดียว จักข้ามพ้นกระแสน้ำคือความสงสัยได้ พืชแม้น้อยที่เขาเอาหว่านลงในเนื้อนาดี เมื่อฝนยังอุทกธารให้ตกอยู่โดยชอบ ผลย่อมทำชาวนาให้ยินดีแม้ฉันใด พุทธเขตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบุญเพิ่มอุทกธารโดยชอบ ผลจักทำเราให้ยินดี เราเป็นผู้มีตนอันส่งไปแล้ว เพื่อความเพียร เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ในกัปที่ ๑๑๘ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการส่งพระพุทธเจ้าข้ามฟาก เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุพระอรหัต แล้วเสด็จประทับอยู่ในพระนครกบิลพัสดุ์ ท่านได้ไปที่พระนครกบิลพัสดุ์นั้น ถวายบังคมพระศาสดา สมาคมกับภิกษุทั้งหลายด้วยสามารถแห่งปฏิสันถาร อันภิกษุทั้งหลายถามว่า ดูก่อนอาวุโส การอยู่ในป่าอย่างผาสุก ท่านได้แล้วหรือ? ก็ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ทั้งป่าและภูเขาน่ารื่นรมย์. เมื่อจะพรรณาถึงป่าที่ตนอยู่แล้ว ได้ภาษิตคาถาว่า ภูเขาทั้งหลายอันล้วนแล้วด้วยหิน มีสีเขียวดังเมฆ ดูรุจิเรกงามดี มีธารวารีเย็นใสสะอาด เป็นที่พำนักของผู้ สะอาด ดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง ภูเขาเหล่านั้นย่อม ทำให้เรารื่นรมย์ใจ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นีลพฺภวณฺณา ความว่า มีสีดังวลาหกที่เขียวขจี และมีสัณฐานดังนีลวลาหก. บทว่า รุจิรา ความว่า มีแสงและรัศมีรุจิเรก. บทว่า สีตวารี ความว่า มีน้ำเย็นฉ่ำใสสะอาด. บทว่า สุจินฺธรา ความว่า ชื่อว่าเป็นที่พำนักของผู้ที่สะอาด เพราะเป็นภูมิภาคที่สะอาดบริสุทธิ์ และเพราะเป็นที่พำนักของพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้มีจิตบริสุทธิ์. ก็เพื่อสะดวกแก่การประพันธ์คาถา ท่านจึงนิเทศนิคหิต เป็น น. ปาฐะว่า สีตวารี สุจินฺธรา ดังนี้ก็มี. ความก็ว่า ทรงไว้ซึ่งน้ำเย็นใสสะอาด (และ) มีแอ่งน้ำเย็นสนิท ใสสะอาด. บทว่า อินฺทโคปกสญฺฉนฺนา ความว่า ดารดาษไปด้วยกิมิชาติสีแดง มีวรรณะดังแก้วประพาฬ อันได้นามว่าแมลงค่อมทอง. ท่านกล่าวอย่างนี้ด้วยสามารถแห่งเวลาที่มีฝนตก. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ได้แก่ ติณชาติที่มีสีแดง นามว่าอินทโคปกะ. อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า ได้แก่ ต้นกรรณิการ์. บทว่า เสลา ได้แก่ ภูเขาล้วนด้วยหิน. อธิบายว่า ภูเขาที่ไม่มีฝุ่น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เปรียบเหมือนภูเขาที่ล้วนด้วยหิน. บทว่า รมยนฺติ มํ ความว่า ยังเราให้ยินดี คือเพิ่มพูนความยินดีในวิเวกแก่เรา. พระเถระเมื่อจะประกาศถึงความยินดีในป่า ที่อบรมมาเป็นเวลานานของตนอย่างนี้ จึงแสดงถึงความยินดีในวิเวก ๓ อย่างเท่านั้น. ในบรรดาวิเวก ๓ อย่างนั้น ด้วยอุปธิวิเวกเป็นอันพระเถระแสดงการพยากรณ์พระอรหัตผลแล้วทีเดียว ฉะนี้แล. จบอรรถกถาวนวัจฉเถรคาถา ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เอกกนิบาต ทุติยวรรค ๓. วนวัจฉเถรคาถา จบ. |